fbpx

เมื่อเวเนซุเอลาจะเขมือบกายอานา: เปิดปูมความขัดแย้งเหนือดินแดนพิพาท Essequibo ระหว่างสองประเทศ

ในปัจจุบัน ถ้าเราพูดถึงเวเนซุเอลาในการเมืองโลก เรามักจะคิดถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร กับผู้นำฝ่ายค้านคนต่างๆ จนทำให้ประเทศนี้เต็มไปด้วยความไม่สงบสุขโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ผมจะเล่าในบทความนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นสดร้อนๆ กล่าวคือในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ประชาชนชาวเวเนซุเอลาได้เดินทางออกมาลงประชามติด้วยเสียงถึงร้อยละ 95.9 ในการที่จะผนวกดินแดนซึ่งมีพื้นที่ราวสองในสามของประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออกอย่างกายอานา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวเนซุเอลา โดยดินแดนนี้มีชื่อว่า ‘เอสเซกีโบ’ (Essequibo) อดีตอาณานิคมหนึ่งเดียวของอังกฤษในดินแดนอเมริกาใต้

ภาพที่ 1: ภาพแสดงพื้นที่สีน้ำตาลเทาที่เวเนซุเอลาประกาศจะยึดครองเป็นพื้นที่ของตนเอง
ที่มา: https://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-67583582

เอสเซกีโบมีเนื้อที่ประมาณ 159,500 ตารางกิโลเมตร หรือ 61,600 ตารางไมล์ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 125,000 คนจากประชากรทั้งหมดของกายอานาที่มีอยู่ทั้งสิ้น 800,000 คน ความสำคัญของพื้นที่นี้คือการมีน้ำมันดิบอยู่เป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเหนือดินแดนนี้ระหว่างสามารถย้อนหลังไปได้เป็นร้อยปี กล่าวคือใน ค.ศ. 1899 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้ตัดสินให้พื้นที่นี้เป็นของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกายอานาในขณะนั้น ก่อนที่ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เวเนซุเอลาพยายามที่จะเรียกร้องให้ดินแดนนี้เป็นของตัวเอง โดยในปี 1966 ซึ่งเป็นปีที่กายอานาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทั้งอังกฤษและเวเนซุเอลาได้บรรลุข้อตกลง The Geneva Agreement ในการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทนี้ แต่ก็ไม่มีความก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศในประเด็นนี้ ได้รับความสนใจอีกครั้งในปี 2015 เมื่อบริษัท ExxonMobil ได้ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งของเอสเซกีโบ โดยในปี 2018 กายอานาได้นำประเด็นพิพาทนี้ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตัดสินความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่อมาในปี 2020 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังคงยืนยันว่ากายอานามีอภิสิทธิ์ในการควบคุมดินแดนดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าเวเนซุเอลาไม่ยอมรับในการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศทวีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อรัฐบาลกายอานาเปิดประมูลการขอสัมปทานน้ำมันดิบเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ทางด้านเวเนซุเอลานั้นเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก แต่ถูกรัฐบาลอเมริกันบอยคอตมาตั้งแต่ปี 2019 ขณะเดียวกันรัฐบาลเวเนซุเอลาของประธานาธิบดีมาดูโร ซึ่งขึ้นครองอำนาจตั้งแต่ปี 2013 ก็ได้รับการกดดันจากนานาชาติให้จัดการเลือกตั้งที่เป็นธรรมในปี 2024 นี้ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าการที่ประธานาธิบดีมาดูโรทำประชามติในครั้งนี้เป็นยุทธวิธีในการดึงฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้

อย่างไรก็ตาม การลงประชามติที่จะยึดเอสเซกีโบจากกายอานาในครั้งนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ขณะที่กายอานาออกมาประณามว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับและอาจนำไปสู่สงครามได้ และรองประธานาธิบดีกายอานา บารัต แจ็คดีโอ ก็อ้างว่ากายอานามีสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีกายอานา เอียฟาร์น อาลี ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เอสเซกีโบพร้อมกับผู้นำเหล่าทัพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และประกาศว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยสันติวิธี นอกจากนั้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ประกาศให้เวเนซุเอลาห้ามคุกคามพื้นที่ Essequibo โดยเด็ดขาด

คำถามในการลงประชามตินั้นมีทั้งหมดห้าข้อ ซึ่งประธานาธิบดีมาดูโร เรียกร้องให้ประชาชนยอมรับในคำถามทั้งห้า ข้อนั้น โดยในคำถามข้อที่ 5 ซึ่งเป็นปัญหามากที่สุดนั้นถามว่า “จะมีการจัดตั้งรัฐ Guayana Esequiba และจะเขียนในแผนที่ของประเทศว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของเวเนซุเอลา” โดยประชาชนให้การยอมรับในคำถามดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยประธานาธิบดีมาดูโร กล่าวว่าผลจากการลงประชามติในครั้งนี้เป็นการทวงพื้นที่ดินแดนของเวเนซุเอลาคืน ซึ่งการที่ผลการลงประชามติได้คะแนนในระดับที่สูงมากนั้น เพราะประชาชนเวเนซุเอลาเกือบทั้งประเทศให้การสนับสนุนการยึดพื้นที่เอสเซกีโบ

เมื่อเวเนซุเอลาจะเขมือบกายอานา: เปิดปูมความขัดแย้งเหนือดินแดนพิพาท Essequibo ระหว่างสองประเทศ
ภาพที่ 2: ภาพแสดงข้อความในภาษาสเปนว่าดินแดน Essequibo เป็นของพวกเรา (ในที่นี้หมายถึงเวเนซุเอลา)
ภาพโดย Federico PARRA / AFP

ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง เอลวิส อโมโรโส ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีมาดูโร กล่าวว่ามีประชาชนกว่า 10.5 ล้านคนออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติ จากผู้มีสิทธิออกเสียง 20.7 ล้านคน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติการณ์ของเวเนซุเอลา ขณะเดียวกันประชาชนชาวกายอานาต่างก็ออกมาเดินขบวนเพื่อยืนยันว่าดินแดนเอสเซกีโบนั้นเป็นของตัวเองในวันเดียวกันกับที่เวเนซุเอลาทำประชามติในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ขณะเดียวกันประธานาธิบดีอาลีได้ออกแถลงการณ์ทาง Facebook ว่าไม่มีอะไรที่ชาวกายอานาต้องกลัว และเขาจะปกป้องดินแดนของกายอานาอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ เขายังได้พูดคุยกับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่าการลงประชามติของเวเนซุเอลาครั้งนี้ถือเป็นการคุกคามอำนาจอธิปไตยของกายอานาเหนือดินแดนเอสเซกีโบ

ทางฝั่งเวเนซุเอลานั้น ประธานาธิบดีมาดูโรก็ได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันของประเทศออกประมูลสัมปทานบัตรน้ำมันดิบใน เอสเซกีโบ แถมยังเรียกร้องให้รัฐสภาเวเนซุเอลาออกกฎหมายผนวกดินแดนเอสเซกีโบโดยเร็ว ขณะเดียวกันกองทัพของบราซิลก็ได้เคลื่อนพลเข้าประจำการบริเวณชายแดนของประเทศที่ติดกับเวเนซุเอลาและกายอานา

ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีทั้งสองประเทศได้พบปะหารือกันที่ประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างตกลงที่จะไม่ใช้กำลังเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้และจะหาทางเจรจาอย่างสันติวิธี รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมในระดับรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และตกลงที่จะพบกันอีกครั้งหนึ่งที่บราซิล โดยประธานาธิบดีอาลีได้กล่าวในที่ประชุมว่า กายอานาไม่ใช่ประเทศที่แก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง กายอานาไม่ต้องการสงคราม อย่างไรก็ตามกายอานามีสิทธิที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยเศรษฐกิจของกายอานานั้นเติบโตเป็นอย่างมากหลังจากมีการขุดพบแหล่งน้ำมันดิบในประเทศ และมีการคาดการณ์กันว่าการขุดน้ำมันดิบจากระดับปัจจุบันที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าคือ 1,200,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2027

ภาพที่ 3: ภาพแสดงการพบปะกันของประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร (ทางด้านขวา) กับประธานาธิบดีเอียฟาร์น อาลี (ทางด้านซ้าย)
ภาพโดย MARCELO GARCIA / Venezuelan Presidency / AFP

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อังกฤษได้ส่งเรือรบ HMS Trent ไปที่กายอานาเพื่อแสดงการสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับอดีตอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาใต้ โดยกายอานานั้นเป็นสมาชิกของเครือจักรภพอังกฤษ และเป็นประเทศเดียวในทวีปที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เรือรบ HMS Trent ได้เข้าไปจอดที่กรุงจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของกายอานา และทำความร่วมมือทางการทหาร โดยมีการสนับสนุนการป้องกันทางชายฝั่งของประเทศ

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ลอร์ด คาเมรอนได้ให้สัมภาษณ์ว่า อังกฤษต้องการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้เพื่อเป็นการประกันเอกราชของกายอานา ขณะเดียวกัน เดวิด รูทเล รัฐมนตรีช่วยของอังกฤษที่ทำหน้าที่ดูแลทวีปอเมริกา ก็ได้เดินทางไปเยือนจอร์จทาวน์ในวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือเป็นผู้นำระดับสูงของกลุ่ม G7 คนแรกที่เดินทางไปเยือนกายอานา หลังจากที่เวเนซุเอลาประกาศที่จะยึดครองพื้นที่เอสเซกีโบ โดยเขาได้กล่าวไว้ว่าปัญหาเรื่องพื้นที่เอสเซกีโบ ได้รับการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 1899 แล้ว และควรจะต้องได้รับการเคารพจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะเวเนซุเอลา

ขณะเดียวกันนี่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับเวเนซุเอลาเป็นอย่างมาก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวเนซุเอลา ยีวาน กิล ได้โพสต์ใน X ว่าอังกฤษนั้นเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับดินแดน Guayana Esequiba ทำให้เวเนซุเอลาต้องสูญเสียดินแดนดังกล่าวให้กับกายอานา ถึงเวลาแล้วที่ชาวเวเนซุเอลาทุกคนจะต้องทวงคืนดินแดน Guayana Esequiba กลับมา

นอกจากนั้นเวเนซุเอลาได้จัดให้มีการซ้อมรบในประเทศเพื่อเป็นการโต้ตอบการที่อังกฤษส่งเรือรบ HMS Trent มายังกายอานา โดยประธานาธิบดีมาดูโรกล่าวทางโทรทัศน์ว่าการซ้อมรบครั้งนี้เป็นการโต้ตอบการแทรกแซงของอังกฤษที่คุกคามความปลอดภัยและดินแดนของเวเนซุเอลา และอาจส่งผลต่อข้อตกลงของทั้งเวเนซุเอลาและกายอานาที่จะไม่ใช้กำลังต่อกันดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ขณะที่รองประธานาธิบดีกายอานา บารัต แจ็คดีโอ กล่าวว่าการเดินทางมาถึงของเรือรบ HMS Trent ถือเป็นเรื่องปกติและถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการป้องกันตัวเองของกายอานา พวกเขาไม่มีแนวความคิดที่จะบุกเวเนซุเอลา ดังนั้นประธานาธิบดีมาดูโร ไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว

เหตุการณ์ความสัมพันธ์ของเวเนซุเอลาและกายอานาในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าต้องติดตามกันต่อไปในปีนี้ หากจะมีการรบกันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรหาทางหลีกเลี่ยง เพราะกายอานาคงไม่ยอมเสียดินแดนสองในสามของประเทศให้เวเนซุเอลาเป็นแน่แท้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save