fbpx
‘สองนครา หนึ่งธาตุแท้’ : อเมริกายุคโควิด-19 บุก

‘สองนครา หนึ่งธาตุแท้’ : อเมริกายุคโควิด-19 บุก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ผมนั่งติดตามข่าวเรื่องการรับมือและจัดการกับปัญหาวิกฤตไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 อย่างใจจดใจจ่อ เพราะรู้สึกว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ระดับโลกที่มีผลกระเทือนต่อคนจำนวนมาก จากที่เคยอ่านเจอแต่ในหนังสือหรือเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่บรรยายถึงเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างที่คนรุ่นหลังไม่อาจจินตนาการได้ว่าของจริงมีหน้าตาและอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร  ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองโลก เหตุการณ์ที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น การปฏิวัติอเมริกา 1776 การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การปฏิวัติรัสเซีย 1917 และการปฏิวัติจีน 1949

เหตุการณ์ใหญ่ๆ เหล่านี้มีสิ่งร่วมกันคือ ผลสะเทือนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงคนจำนวนมากในประเทศเหล่านั้น และยังขยายผลข้างเคียงไปยังประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา ทั้งหมดเรารับรู้โดยผ่านการอ่านเป็นสำคัญ แม้ต่อมาจะมีการทำเป็นหนัง ละคร และนิยาย เช่น สงครามและสันติภาพ ของตอลสตอย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ขั้นที่ 2 คือเราไม่ได้รับรู้และมีประสบการณ์โดยตรงกับเหตุการณ์เหล่านั้นเลย มันจึงเป็นความรู้ทางอ้อม ไม่ใช่ความรู้ทางตรง

แล้วมันมีความจำเป็นหรือความสำคัญอะไรที่เราต้องมีความรู้ทางตรงในเรื่องนั้นๆ ด้วย?

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีวิชาชีพและหน้าที่ในการค้นหาและนำเสนอคำบรรยายเพื่อบอกเล่าและสร้างเรื่องที่เกิดขึ้นให้แก่คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล และอย่างที่มักอ้างถึงบ่อยๆ คือ อย่างที่มันเป็นจริง หรือใกล้ความจริงมากที่สุด การมีประสบการณ์ทางตรงจนถึงได้ความรู้ขั้นแรกเลยนั้นอาจไม่ใช่ความจำเป็นมากนัก ก็ยังสามารถประกอบอาชีวะและการงานของตนไปได้อย่างดี แต่สำหรับคนที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เอาจริงๆ แล้วรวมไปถึงวรรณกรรมและปรัชญาด้วยก็ได้นั้น การมีประสบการณ์ทางตรงในเรื่องหนึ่งๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการประกอบอาชีพของตนให้มีประสิทธิผลและความหมายสมตามนิยามและจารีตของความรู้ดังกล่าว ที่สำคัญคือต่อการสร้างมโนทัศน์หรือทฤษฎีสำหรับใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมได้อย่างเป็นระบบ

 

อเมริกาหน้าตาแบบทรัมป์

 

ก่อนการมาถึงของโควิด-19 มีหลายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังก่อตัวและสร้างแรงสะเทือนในหลายมิติและพื้นที่ของการเมืองอเมริกัน ส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติและกิจกรรมของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สำแดงความมีอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศ อย่างที่หาอดีตประธานาธิบดีคนอื่นเทียบได้ยาก แม้กระทั่งริชาร์ด นิกสัน ที่ผู้สนใจการเมืองสมัยโน้นลงมติว่าเลวและโกงสุดๆ ก็ตาม ก็ยังไม่อาจเทียบระดับความเถื่อนดิบได้เท่า แต่ทั้งหมดไม่มีอะไรสั่นสะเทือนฐานเสียงและแฟนคลับของทรัมป์ลงได้เลย

นับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง (ทางอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง) จนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2016 มาจนบัดนี้ก็ครบ 3 ปีแล้ว ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2020 เขาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ฉีกและแหวกแนวไปจากจารีตและธรรมเนียม กระทั่งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายบริหารใช้ในการปกครองประเทศอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรที่อดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ ไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำ หรือทำไม่ได้ เพราะผิดหรือละเมิดธรรมเนียมอันดีงามในการเมืองอเมริกัน ทรัมป์ลงมือทำได้หมด และทำอย่างตั้งใจด้วย

ในหลายเรื่องผู้สังเกตการณ์คิดว่าอาจเป็นเพราะเขาไม่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงในเวทีการเมือง เนื่องจากเขาใช้ชีวิตด้วยการเป็นนักธุรกิจเต็มตัวมาตลอดชีวิตการทำงาน จึงอาจไม่ตระหนักหรือไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรผิดไปจากผู้นำประเทศคนอื่นๆ แต่เมื่อมาพิจารณาอย่างใกล้ชิด ทุกคนพากันลงความเห็นในแนวเดียวกันหมดว่า ทรัมป์รู้และตระหนักอยู่เต็มอกว่าเขาได้กระทำการอันละเมิดกฎหมายระดับรัฐและรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การประกาศคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีเรื่องการห้ามคนต่างด้าวจากประเทศที่ระบุเข้าสหรัฐฯ จนนำไปสู่การฟ้องร้องศาลสหพันธ์และในที่สุดเรื่องก็ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว เช่น การใช้โรงแรมและสนามกอล์ฟส่วนตัวของเขามาเป็นบ้านรับรองแขกต่างประเทศ แล้วส่งใบเสร็จเก็บเงินไปยังรัฐบาล และการไม่ยอมโอนทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ให้เป็นทรัสต์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ขัดกัน รวมถึงการแต่งตั้งลูกสาวและลูกเขยให้เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสในทำเนียบขาว ทั้งให้ไปติดต่อสร้างนโยบายระดับโลกหลายเรื่องในตะวันออกกลาง อย่างไม่เกรงใจใคร ด้วยการเอาซาอุดิอาระเบียขึ้นมาเป็นพันธมิตรหลักในการแก้ปัญหาตะวันออกกลาง และยกฐานะอิสราเอลให้เหนือกว่าปาเลสไตน์

อีกปริมณฑลที่ทรัมป์ลงไปกำกับ คือการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสหพันธ์และศาลสูงสุด เขาแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีจุดยืนและโลกทรรศน์อนุรักษ์และไม่เสรีนิยมเป็นหลัก เขามีคดีความที่มีคนฟ้องศาลเป็นสิบๆ คดี และยังไม่หมด มีคนเตรียมไปทำเรื่องจะฟ้องศาลอีกหลายเรื่อง แต่คดีก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะตอนนี้อำนาจของทรัมป์ได้แผ่กระจายไปครอบคลุมเหนือสถาบันหลักของประเทศได้แล้ว จนในที่สุดพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นฝ่ายค้านสามารถรวบรวมหลักฐานการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องการใช้อำนาจไปในทางที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ในกรณีการไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือแก่ประเทศยูเครน แต่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีก็จบลงด้วยชัยชนะของทรัมป์ เนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่นั่นเอง

หน้าตาท่าทางของการเมืองอเมริกันภายใต้การปกครองของโดนัลด์ ทรัมป์ ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับของโลกที่สามเสียนี่กระไร

กล่าวได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์และปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจอะไรที่สามารถสั่นคลอนหรือสร้างแรงกระเทือนต่อฐานะอำนาจของทรัมป์แม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้แสดงฝีมือและความสามารถในการบริหาร ในการนำและสร้างความเชื่อมั่นแก่คนอเมริกันและคนทั้งโลกแต่ประการใด แทบทุกเรื่องและนโยบายที่เขานำเสนอ ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ล้วนสร้างภาพลักษณ์ด้านลบและความไม่พอใจให้แก่ผู้นำและผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศเป็นอย่างมาก

เขาเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกและคงเป็นคนสุดท้ายที่ไล่ผู้บริหารระดับสูง เช่น คณะรัฐมนตรี ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงในทำเนียบขาว โฆษกทำเนียบขาว ที่ปรึกษาอาวุโสและฝ่ายกฎหมายประจำทำเนียบขาว ไปถึงผู้อำนวยการเอฟบีไอ ออกจากตำแหน่งเพราะไม่ทำตามความพอใจของเขา นับดูแล้ว เป็นจำนวนมากมายเกือบร้อยคนอย่างไม่น่าเชื่อ

กระทั่งเมื่อปีศาจตนสุดท้ายมาเยือนสหรัฐฯ — ไวรัสโคโรนา จึงถือเป็นครั้งแรกที่สามารถต่อกรห้ำหั่นกับโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อย่างถึงลูกถึงคน

สภาพการณ์ในอเมริกาทวีความแหลมคมอย่างคาดไม่ถึงเมื่อโควิด-19 มาถึง สำแดงอิทธิฤทธิ์ และก่อผลที่ไม่อาจคาดหรือควบคุมได้เหมือนอย่างปัจจัยแทรกแซงอื่นๆ ด้วยการพิฆาตชีวิตผู้คนอย่างไม่ปราณีและไม่ไว้หน้าใครอีกต่อไป

กล่าวได้ว่าหากโควิดจะมีความหมายและนัยทางการเมืองอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าผลสะเทือนต่อการเมืองอเมริกาโดยเฉพาะต่อประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สุดของโควิด-19

 

ความไม่ลงตัวระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ

ผู้คนเริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยเรียนและเชื่อกันว่า ระบบประชาธิปไตยอเมริกานั้นดำรงอยู่และทำให้รัฐบาลปกครองบ้านเมืองมาได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ก็สืบเนื่องมาจากการมีสถาบันการเมือง เช่น ระบบรัฐสภาคองเกรส ระบบการเลือกตั้ง ระบบยุติธรรม และรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสมัชชารัฐธรรมนูญ โดยที่อำนาจอธิปไตยนั้นมีการแบ่งแยกและถ่วงดุลกันอย่างดี ทำให้ระบบการเมืองมีความมั่นคง  แต่สภาพความเป็นจริงในช่วงที่ทรัมป์เข้ามาครองอำนาจและใช้อำนาจการเมือง เรากลับได้เห็นความจริงเบื้องหลังระบบการเมืองอเมริกันว่า เมื่อเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีผู้ใช้อำนาจอย่างไม่เคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญ กระทำตัวราวกับอยู่เหนือกฎหมายและระเบียบสังคมทั้งปวง สถาบันตามทฤษฎีและตำราก็เริ่มออกอาการไปไม่ถูกทางเหมือนกัน ทุกอย่างเริ่มไม่อาจดำเนินไปด้วยดีเหมือนก่อนนี้ได้อีกต่อไป

สภาพของการเมืองอเมริกันภายใต้ทรัมป์ ทำให้ผมคิดไปถึงปมแห่งปัญหาความล้าหลังทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สาม ที่ผ่านมามีงานศึกษาค้นคว้ามากมายหลายตู้หนังสือ สร้างงานและอาชีพให้แก่นักวิชาการตะวันตกที่มาศึกษาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองในโลกที่สามกันไปหลายร้อยคน

ผมกำลังสรุปให้ตัวเองว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว รูปแบบของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในแต่ละประเทศ เป็นผลรวมอันยาวนานของการจัดตั้งระบบและระเบียบในการปกครองและเศรษฐกิจ จนเกิดเป็นสถาบันที่สืบทอดต่อเนื่อง จนกลายเป็นจารีตและแบบแผนที่คนในประเทศยอมรับและปฏิบัติกันต่อๆ มา ไม่ใช่เพราะว่ามีรัฐธรรมนูญ รัฐสภาคองเกรส วุฒิสภา สภาผู้แทน และการเลือกตั้งก่อน หากบรรดากิจกรรมและสถาบันเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการดำรงชีวิตและการหาทางอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนชนชั้นต่างๆ ในประเทศ จนหารูปแบบและวิธีการที่ลงตัวที่สุด แม้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดก็ตาม ทั้งหมดนี้ผมสรุปได้จากการสังเกตพฤติการณ์และการปฏิบัติของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีและประธานกรรมการใหญ่ของชนชั้นกระฎุมพี ที่แสดงบทบาทอันไม่ปกปิด ทั้งยังซ่อนเร้นเจตนารมณ์และความต้องการของเขาและของชนชั้นนายทุนอเมริกันด้วย

 

ปัญหาการใช้อำนาจในวิกฤตโควิด

มีการพูดเชิงเปรียบเทียบกันมากระหว่างการจัดการปัญหาโควิด-19 แบบจีน กับสหรัฐฯ และยุโรป ทำนองว่าแบบจีนคือระบบอำนาจนิยมไม่เสรีประชาธิปไตย สั่งอย่างเดียว จากชั้นบนลงชั้นล่าง จากปักกิ่งสู่อู่ฮั่น ไม่มีการวิจารณ์หรือแสดงความเห็นอะไรทั้งสิ้น ทำอย่างเดียวและทำให้สำเร็จ ผลที่เราได้เห็น (ถ้าข้อมูลเป็นความจริงเกือบหมด) คือการประสบความสำเร็จในเวลาอันแน่นอน ไม่ปล่อยให้สถานการณ์และการระบาดของไวรัสดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน หากตัดวงจรและระบบที่ให้มันผลิตซ้ำต่อไปจนหมดสิ้นทันที

ตรงกันข้าม โมเดลและวิธีการทำงานแก้วิกฤตแบบตะวันตก อย่างที่เราได้เห็นในภาพข่าวโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย คือการไม่เด็ดขาดในตอนแรก แต่ฝ่ายทรัมป์เริ่มออกมาตอบโต้แล้วในประเด็นนี้ โดยโยนความผิดกลับไปให้ทางการจีน ว่าปกปิดไม่ยอมให้ข้อมูลและความจริงแต่เนิ่นๆ สมคบร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ช่วยกันปกปิดความร้ายแรงของไวรัสนี้ เพราะเกรงจะทำให้จีนเสียหาย ผลคือฝั่งตะวันตกไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของไวรัสนี้แต่ประการใด ทรัมป์เองยังคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากกรณีไวรัสนี้อย่างไรในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามคือพรรคเดโมแครตและสื่อมวลชนก้าวหน้าทั้งหลายในอเมริกา

ผลในขั้นแรกคือ ยุโรปและอเมริกาเสียท่าและพ่ายแพ้ต่อการโจมตีของโควิด-19 ไม่อาจป้องกันคนในประเทศจากการติดโรค และแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนโรงพยาบาลและหมอพยาบาลไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที จำนวนคนตายจึงพุ่งสูงอย่างที่ไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเครื่องประจานความไร้น้ำยาของระบบสาธารณสุขตะวันตกไปเสียอีก

สองนครา หนึ่งธาตุแท้

 

ผมคิดว่าประเด็นน่าสนใจของสองโมเดลนี้ ไม่ใช่เพียงว่าเป็นการปะทะกันระหว่างระบบประชาธิปไตยเสรีกับระบบคอมมิวนิสต์ หากอยู่ที่วิกฤตไวรัสนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงธาตุแท้ของระบบสังคมเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันว่ามีลักษณะและธรรมชาติอะไร แนวทางและวิธีการที่แต่ละประเทศใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตนี้สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละสังคมอย่างไร และอาจบอกถึงหนทางและแนวทางในการดำเนินระบบการปกครองเหล่านั้นต่อไปได้

 

ปัญหาโครงสร้างอำนาจการเมือง

มิติแรกที่ทุกประเทศต้องใช้คืออำนาจทางการเมืองในการจัดการแก้ปัญหา รูปแบบหลักๆ ที่พบเห็นคือแบบรวมศูนย์อำนาจ เน้นส่วนกลางเป็นสำคัญ กับแบบกระจายอำนาจ มีการถ่วงดุลระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ระหว่างภาครัฐกับเอกชน แน่นอนแบบแรกที่รวมศูนย์เห็นได้ในประเทศนอกตะวันตกแทบทั้งนั้นเลย มีตั้งแต่จีน (แบบคอมมิวนิสต์) สิงคโปร์ (แบบพรรคเดียว) อินเดีย และไทย (แบบพ่อขุนอุปถัมภ์) ส่วนแบบหลังก็พบมากในประเทศตะวันตก เช่น ยุโรปและสหรัฐฯ

 

ปัญหาโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจ

หลังจากการปิดประเทศในระยะแรกของมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทุกประเทศต่างเริ่มคิดหาทางในการเปิดประเทศและให้คนออกมาทำกิจกรรมในที่สาธารณะกันต่อไป ในประเด็นนี้อเมริกามีสีสันมากกว่าใครเพื่อน เพราะมีประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เปิดเมืองและธุรกิจ มีการประท้วงคำสั่งของผู้ว่าการมลรัฐที่สั่งปิดเมืองและชีวิตทางสังคมทั้งหลายลง ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ใช่การเมือง หากแต่เป็นเรื่องความปลอดภัยไร้โรคของคนส่วนใหญ่ แต่คนอเมริกันก็หาทางออกมาประท้วงและต่อต้านแบบอารยะขัดขืน ซึ่งถือกันว่าเป็นจารีตของการเมืองภาคสังคมในอเมริกาอย่างแท้จริง

จริงๆ แล้วเรื่องการประท้วงและต่อต้านอำนาจมลรัฐ ยังเป็นปัญหาพิเศษในการเมืองอเมริกาอีกด้วย เพราะคนที่ยุยงและหนุนให้ชาวบ้านในมลรัฐต่างๆ ออกมากระทำการนั้นคือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เอง ไม่ใช่มือที่สามที่ไหน หากแต่เป็นมือที่หนึ่งและกระทำอย่างเปิดเผยด้วยการทวีตให้ “ปลดปล่อยมิชิแกน” “ปลดปล่อยวิสคอนซิน”  ทรัมป์อ้างว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการสั่งการทุกมลรัฐได้ แต่หลังจากคำประกาศของเขาแล้ว ทุกรัฐและผู้ว่าการรัฐก็ออกมาต่อต้านและวิจารณ์คำพูดของทรัมป์ว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ทรัมป์เสียหน้าไป เขาจึงหันไปปลุกระดมชาวบ้านให้ออกมาเดินขบวนเสียเลย

รัฐบาลทรัมป์ไม่ลังเลในการทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปในตลาดทุนและการเงินของประเทศเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจทุนให้ดำเนินต่อไปอย่างปกติได้ ก่อนหน้าจะมีวิกฤต ทรัมป์ก็สั่งให้ธนาคารกลาง (Federal Reserve) ใส่เงินเข้าไปในระบบ หรือไม่ก็ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ธุรกิจและทุนอุตสาหกรรมเข้มแข็งและขยายทุนต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด หากจะมีใครที่ตระหนักและเข้าใจตรรกะของระบบทุนได้ดีคงไม่มีใครเกินทรัมป์ไปได้ ทั้งชีวิตการทำธุรกิจ เขาหาเงินและใช้เงินลงทุนอยู่ตลอดเวลา เขาคือวิญญาณของระบบทุนนิยมสมัยใหม่

ด้วยการที่รัฐบาลทรัมป์มีหน้าตาของนายทุนเต็มตัว ทำให้การต่อต้านและการต่อสู้ของฝ่ายพรรคเดโมแครตสามารถเอียงไปทางฝั่งประชาชนและนายทุนน้อยทั้งหลายได้ง่ายขึ้น ในโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด เดโมแครตพยายามบล็อกไม่ให้เงินส่วนมากตกไปสู่นายทุนใหญ่และอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เท่านั้น หากยังเสนอให้จัดงบความช่วยเหลือแก่คนชั้นล่างและผู้ประกอบการเสรีระดับเล็กๆ ให้ได้รับเงินช่วยเหลือนี้ด้วยอย่างเต็มที่  การต่อสู้เรื่องนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนรวยหรือคนจนจะดำเนินต่อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ตรงนี้ก็จะเป็นประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤตที่แตกต่างกันระหว่างรัฐเสรีประชาธิปไตยกับรัฐอำนาจนิยมเผด็จการ ที่ในที่สุดผลพวงระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากการโต้แย้งและประเมินน้ำหนักว่าแนวทางไหนจะมีคนสนับสนุนมากกว่ากัน ในระยะยาวผลพวงเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงและประสิทธิผลของระบบการปกครองต่อไป

พูดกันมากว่า หลังจากโควิดผ่านพ้นไป โลกจะเข้าสู่ภาวการณ์อยู่อย่างปกติใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจีนเป็นฐานการผลิตใหญ่มาก ผมคิดว่าสังคมที่จะปรับตัวและระบบการผลิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี น่าจะได้แก่สังคมที่คนหลากหลายความคิดและความรู้ได้ร่วมกันแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างวิถีการผลิตใหม่ โมเดลแบบยุโรปและอเมริกาน่าจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีใหม่นี้ได้ราบรื่นกว่าโมเดลแบบอำนาจรัฐรวมศูนย์แบบจีนและไทย

อนาคตเราจะมีเพียงแค่ระบบทุนอุตสาหกรรมแบบเสรีกับแบบรัฐรวมศูนย์ โดยที่ระบบการเมืองทั้งสองแบบจะประคับประคองวิถีการผลิตดังกล่าวต่อไป ระบบทุนไม่เพียงแต่ผลิตและสร้างทุนต่อไปอีก หากยังสร้างคนงานอันมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกเวลา คนจนเมืองและผู้อพยพต่างชาติจะเป็นแรงงานราคาถูกนอกระบบทุนต่อไป คนเหล่านี้จะมีแรงสั่นและนำไปสู่การสร้างนโยบายและเนื้อหาการเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐและการเข้าสู่อำนาจว่าแตกต่างกันระหว่างสองรูปแบบนี้อย่างไร  กรณีของสหรัฐฯ การต่อสู้ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ เดโมแครตกับรีพับลิกัน จะประสานปัญหาและผลประโยชน์ที่โควิด-19 เปิดโปงออกมาอย่างล่อนจ้อน นั่นคือปัญหาและการกดขี่ที่คนจนเมือง คนผิวสี และคนต่างชาติทั้งหลายที่อพยพมาอยู่และใช้แรงงานในอเมริกา จะพากันออกมาเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์และความเป็นธรรมมากขึ้น โดยรีพับลิกันจะเป็นตัวแทนและกระบอกเสียงให้แก่ทุนใหญ่ ทุนการเงินวอลสตรีท ในขณะที่เดโมแครตจะหันเข้าหาคนชั้นล่างมากขึ้น

อนาคตเศรษฐกิจการเมืองอเมริกาจะเดินไปบนสองขาของทุนกับแรงงาน สองปัจจัยหลักที่ผลักดันการขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมนับแต่กำเนิดมาได้สองศตวรรษแล้ว

ประชาธิปไตยในอเมริกาจึงมีอยู่และดำเนินต่อมาเพื่อรองรับการขยายและสะสมทุนที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของปัจเจกชนต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save