fbpx

โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ: ตีโจทย์ความเหลื่อมล้ำไทยในยุคสมัยโลกล้ำ คนล้า

‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ การพูดถึงและการตระหนักถึงการมีอยู่ของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็จับจองพื้นที่การถกเถียงสาธารณะในสังคมไทยมาหลายสิบปี อย่างน้อยที่สุดก็เวียนมาเป็นประเด็นทุกครั้งในฤดูเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคการเมืองมักจะงัดนโยบายแก้ความเหลื่อมล้ำมาเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นช่องว่างระหว่างชนชั้นในไทยยิ่งมีแต่จะถ่างกว้างขึ้น

แม้จะมีความพยายามและการพูดคุยหาทางออกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายระดับ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำที่ฉุดรั้งการพัฒนาในองค์รวมไว้ได้ จนเป็นที่ตั้งคำถามว่าหรือที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่สามารถทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างถ่องแท้จึงยังหาทางแก้ไม่เจอ

ท่ามกลางโลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความท้าทาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย การติดอาวุธเพื่อรับมือกับความผันแปรจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่เท่าทันบริบทของยุค เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

101 ชวนทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำจากหลากมิติ สำรวจข้อถกเถียงใหม่ในแวดวงวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์ หาทางออกให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเก็บความจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #1 “โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ” ร่วมเปิดประเด็นโดย ธนสักก์ เจนมานะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี, สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา, สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) เป็นผู้ชวนเสวนา

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีแรกในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมตีโจทย์นโยบายและโจทย์วิจัย เพื่อตอบอนาคตสังคมเศรษฐกิจไทย และหาคำตอบว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยเปลี่ยน โจทย์นโยบายและโจทย์วิจัยควรเปลี่ยนไปอย่างไร

YouTube video

ความเหลื่อมล้ำในมิติประวัติศาสตร์: ตัวแปรที่หายไปจากสมการแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำ – อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งต้นการเสวนาด้วยการพิจารณาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในระดับที่ ‘หนักหน่วงกว่าที่เคยประสบมา’ ใน 3 มิติ คือแรงกดทับจากความเหลื่อมล้ำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ความอดทนที่จะอยู่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง และปัญหาที่เป็นส่วนต่อขยายจากความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ในสภาวการณ์ที่นับวันความเหลื่อมล้ำจะยิ่งบดขยี้ผู้คนในสังคม อรรถจักร์เสนอให้หันมาพิจารณาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นมิติที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักเมื่อมีการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“หากจะทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผมจะบอกว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่ใช่แค่การศึกษาความเหลื่อมล้ำในวันนี้หรือบางเสี้ยวเท่านั้น เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ลึกลงไปในประวัติศาสตร์การขยายตัวของทุนนิยมคือประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสังคมยังขาดความรู้ตรงนี้อีกมาก

“ประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำคือประวัติศาสตร์แกนกลางของชาติไทยเสียด้วยซ้ำไป การจัดตั้งทางสังคมของไทยและโลกตั้งอยู่บนความเหลื่อมล้ำ การผนึกรวมระหว่างกลุ่มทุนและระบบราชการทำให้กลุ่มทุนขยายตัวอย่างมาก ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็สูงตามไปด้วย ฉะนั้นหากจะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำ เราจำเป็นต้องเข้าใจไปจนถึงมิติทางวัฒนธรรมที่จรรโลงความเหลื่อมล้ำไว้ ประวัติศาสตร์ที่ผู้อยู่ข้างบนสามารถผลักดันลงไปและทำให้ผู้อยู่ข้างล่างยอมรับหรืออดทนอยู่กับความเหลื่อมล้ำนั้น”

ในทัศนะของอรรถจักร์แล้ว ความเหลื่อมล้ำเป็นมากกว่าข้อมูลสถิติ ตัวเลข หรือทฤษฎีต่างๆ แต่เป็นวัฒนธรรม ชุดความคิดและความเชื่อที่แฝงฝังอยู่ในทุกมิติของประวัติศาสตร์ในทุกยุคทุกสมัย  โดยมีกระบวนการประกอบสร้างทางสังคมหลักๆ 3 ประการที่ช่วยจรรโลงโครงสร้างอันกดทับและทำให้คนอยู่กับความเหลื่อมล้ำได้

ประการแรก กระบวนการสร้างหรือจัดลำดับชั้นทางอำนาจ (hierarchicalization of power) เป็นกระบวนการจัดความสัมพันธ์ของอำนาจที่ทำให้อำนาจซึ่งอยู่ข้างบนมีความชอบธรรมและดำรงอยู่ในสถานะผู้มีความเมตตาโดยการจัดวางกรอบอารมณ์ความรู้สึกที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาปัญหาความเหลื่อมล้ำ อรรถจักร์ชี้ว่าในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราได้เห็นความพยายามจะละเลยหรือเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำว่าความเหลื่อมล้ำด้วยเหตุผลที่สัมพันธ์อยู่กับอารมณ์ความรู้สึก

“ผมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลใหม่ไม่ใช้คำว่าความเหลื่อมล้ำเลย เพราะคำนี้มันจะบาดอารมณ์ บาดหัวใจคน สิ่งที่เขาทำคือทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนว่าคนข้างบนมีความเมตตาที่ช่วยให้ประชาชนพ้นความยากจนและความทุกข์ยากต่างๆ”

นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีการที่ทำให้เกิดการขยายตัวของ ‘อาณาจักรความกลัว’ ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน โดยทำให้สังคมไทยรู้สึกถูกจับจ้องมากขึ้น ทำให้การออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นใดก็ตามแผ่วกำลังลง เนื่องจากความกลัวที่รัฐทำให้ขยายตัวได้เข้ามาลดทอนความกล้าหาญของประชาชน

ประการที่สอง กระบวนการทำให้ชะตากรรมของคนเป็นเรื่องของปัจเจกชน (individualization of human destiny) อรรถจักร์ยกตัวอย่างสยามในช่วงหลังรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาทำให้ชะตากรรมของคนกลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล “หากเราตกอยู่ในสถานะอันต้อยต่ำหรือเป็นชนชั้นล่าง เราก็จะโทษว่าเป็นกรรมเก่าของตัวเองมากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคม” สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถูกขับเน้นให้ทรงพลังด้วยกระบวนการที่สาม ที่ทำให้ปัญหาของสังคมเป็นเรื่องของปัจเจกชน (individualization of social problems)

กระบวนการทั้งสามนี้ลดทอนความเหลื่อมล้ำให้ตกอยู่บนบ่าของปัจเจกชน ซึ่งเป็นชุดความคิดที่สมควรได้รับการสังคายนาเพื่อเปิดจินตนาการใหม่ในการพิจารณาความเหลื่อมล้ำ เช่นนั้นแล้ว ก้าวที่ต้องคิดต่อในสนามของงานวิจัยคือการหาทางออกว่าจะลดทอนพลังของกรอบความคิดเหล่านี้ลงได้อย่างไร โดยต้องเริ่มที่การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำให้ถ่องแท้

“ในระยะหลังดูเหมือนเราจะเข้าใจความเหลื่อมล้ำมากขึ้น มีงานวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเผยแพร่ออกมามากมายนับร้อยชิ้น แต่ขณะเดียวกันเราขาดพลังในการกระตุ้นทางสังคม ที่ผ่านมาเราทำให้สังคมรู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำ แล้วก็จบกันไป เพราะเราขาดการทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำในเชิงประวัติศาสตร์ ในแง่ที่ว่าความเหลื่อมล้ำสัมพันธ์กับอำนาจและวัฒนธรรมอย่างไร”

อรรถจักร์กล่าวว่าโจทย์งานวิจัยที่อยากเห็นคืออยากให้มีงานวิจัยที่บูรณาการระหว่างสังคมศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจ ‘ระบอบอารมณ์ความรู้สึก’ (emotional regimes) ซึ่งเป็นสิ่งที่กำกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการตัดสินใจ ไม่ว่าโจทย์การวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำจะตั้งจากมิติใดก็ตาม แต่ภาพที่อยากเห็นคือการเชื่อมโยงกับเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอารมณ์ความรู้สึก อรรถจักร์ยกตัวอย่างงานวิจัย Elite Perceptions of Poverty and Inequality ที่สำรวจทัศนะชนชั้นนำต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศบราซิล, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, เฮติ และแอฟริกาใต้ ซึ่งไทยยังคงขาดการศึกษาการรับรู้ของชนชั้นนำในลักษณะนี้ อรรถจักร์กล่าวว่าก่อนที่จะนำไปสู่นโยบาย เช่น แก้ปัญหาความยากจนด้วยมาตรการภาษี ต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกร่วมกันว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นคือความอยุติธรรม “ไม่ใช่เพราะจน โง่ กินเหล้า ขี้เกียจ” การศึกษาในมิตินี้จะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของตัวแสดงที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชุดอารมณ์ในสังคมได้

อรรถจักร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐบาลชุดนี้เป็นประดิษฐกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเกาะแน่นกันของกลุ่มทุน รัฐ ระบบราชการ และกลุ่มอำนาจทางประเพณี เพราะฉะนั้นกลไกทั้งหมดของรัฐบาลนี้ก็คงจะไม่เปิดโอกาสให้มีเสียงอื่นดังขึ้น คงจะพยายามทุกอย่างให้เสียงอื่นไม่เกิด แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าเราจะหมดหวัง อยากฝากถึงการศึกษาสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยว่าจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการเปลี่ยนแนวทางการศึกษา ขณะเดียวกันการให้ทุนวิจัยแบบตามใจตามนโยบายของรัฐจะต้องยุติ คืนความอิสระทางวิชาการให้แก่วงการวิจัย”

‘ข้อมูล’ คือหัวใจของการออกแบบนโยบาย: ธนสักก์ เจนมานะ

ธนสักก์ เจนมานะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดเห็นเช่นเดียวกับอรรถจักร์ในประเด็นที่ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลหรือตัวเลข และจำเป็นจะต้องถูกสะท้อนผ่านประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะหากดูสถิติที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำจะเห็นว่าสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองและการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลก

ธนสักก์ชวนพิจารณาวิวัฒนาการความเหลื่อมล้ำตลอด 200 ปี ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของทุนนิยมโลกในทศวรรษ 1820 จนถึงปี 2020 สถิติโดย World Inequality Lab เผยให้เห็นว่าในยุคทุนนิยมตั้งไข่ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในโลกส่วนใหญ่มาจากช่องว่างระหว่างประเทศของประเทศรวยและประเทศจนประมาณ 90% และช่องว่างนี้ค่อยๆ ลดลงจนความเหลื่อมล้ำในประเทศที่ผูกโยงอยู่กับความมั่งคั่งระหว่างชนชั้นกลายเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา

“ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย สมมติมีเด็กกำลังจะเกิด แล้วให้เลือกว่าจะเกิดประเทศไหน โดยไม่ทราบว่าในชนชั้นใด กับจะเลือกเกิดในชนชั้นไหน โดยไม่ระบุว่าเกิดที่ประเทศไหน ถ้าเป็นเด็กในช่วงปี 1820 ส่วนใหญ่ก็คงจะเลือกตอบว่าเกิดอยู่อังกฤษดีกว่าไปเกิดในชนชั้นคนรวยในสยาม แต่ถ้าในปัจจุบัน คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปในแง่ที่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้ขอแค่ได้เกิดเป็นคนชนชั้นสูงในประเทศนั้น”

แม้ความเหลื่อมล้ำจะมีเหตุปัจจัยหลักมาจากความเหลื่อมล้ำภายใน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องว่างของความมั่งคั่งที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนย้ายทุนในระดับโลก เช่น บรรษัทข้ามชาติมีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ในภาพรวม ตั้งแต่ปี 1970-1980 ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุที่ต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ดังนั้นความท้าทายที่ทุกชาติเผชิญร่วมกันในปัจจุบันคือความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่โลกกำลังเดินหน้าแก้ปัญหานี้แบบไปไม่ถูกทางนัก เนื่องจากแต่ละประเทศเน้นแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ทางออกที่ยั่งยืนคือต้องแก้ร่วมกัน และกำหนดมาตรการหรือนโยบาย เช่น มาตรการภาษี เพื่อขจัดต้นตอของความเหลื่อมล้ำ

ขยับมาพิจารณาความท้าทายของความเหลื่อมล้ำในไทย ธนสักก์มองว่าไทยมีองค์ความรู้หลายอย่างที่พร้อมจะต่อยอดอยู่แล้ว เช่น การปรับระดับการแข่งขันในตลาดของไทย การลดอำนาจทุนผูกขาดอย่างไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐสามารถเอาไปปรับใช้ได้หรือไม่

อีกความท้าทายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำไทยในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเข้าถึงข้อมูล

“ในปัจจุบันไทยยังมีช่องว่างทางข้อมูลอยู่มากพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่าง เราต้องการจะปฏิรูปนโยบายภาษีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น เช่น ปัจจุบันคนที่มีทรัพย์สินสูงจะเสียภาษีน้อยกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ แต่เราจะออกแบบนโยบายได้ยาก เพราะเราไม่ทราบว่ามูลค่าทรัพย์สินในไทยมีอยู่เท่าไหร่ ครัวเรือนไทยมีองค์ประกอบทรัพย์สินอย่างไรบ้าง การขาดข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราออกแบบนโยบายที่ถูกต้องได้ค่อนข้างยาก”

ธนสักก์เสนอว่าโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำไทย สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่

รูปแบบแรกคือการลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงสร้างตลาด โครงสร้างสถาบันในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย ไม่ว่าจะในประเด็นการแข่งขัน การมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบาง และแรงงาน ซึ่งกรณีของไทยเป็นประเด็นที่ชวนคิดกันต่อในประเด็นการแข่งขัน “ไม่ว่าจะในตลาดการค้าปลีกหรือการมีส่วนร่วมในการออกนโยบาย เราจะทำอย่างไรให้การแข่งขันเกิดขึ้นจริงในสภาพการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนก็ต้องไปแตะเรื่องระบอบการเมืองหรือเรื่องระบบราชการ การแก้ไขในระดับนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว”

รูปแบบที่สองคือลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับภาษี ซึ่งธนสักก์เน้นย้ำว่าความท้าทายคือข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงขาดสารตั้งต้นในการออกแบบนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงเป้า “เราอยู่ในวงจรที่ออกแบบนโยบายไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูล ในขณะเดียวกันเราก็ไม่มีข้อมูลเพราะไม่มีนโยบาย เช่น ไทยไม่เคยมีนโยบายต้องเก็บภาษีทรัพย์สินมาก่อนหรือไม่เคยมีความพยายามในอดีตที่จะปฏิรูประบบภาษีที่ดินเป็นต้น ทำให้การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่เกิดขึ้น”

ฉะนั้นแล้ว โจทย์งานวิจัยที่สำคัญในทัศนะของธนสักก์นั้นเริ่มจากการตั้งคำถามว่าหากรอข้อมูลไม่ได้ ควรจะออกนโยบายอย่างไรให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่นำไปสู่ผลกระทบ เช่น การออกนโยบายเก็บภาษีครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่ควรจะเสียหรือไม่ ขณะเดียวกันโจทย์ที่ต้องคิดไปพร้อมกันก็คือจะสร้างข้อมูลอย่างไร

“ถ้าพูดถึงการนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบนโยบายโดยตรง เพื่อจะสร้างระบบนโยบายสาธารณะที่พร้อมรองรับปัญหาในอนาคต คิดว่าช่องว่างในปัจจุบันคือเราไม่มีข้อมูลของคนจำนวนมาก ยกตัวอย่างช่วงโควิด เราขาดข้อมูลของกลุ่มแรงงานนอกระบบอยู่มาก สำหรับแรงงานในระบบเราจะมีข้อมูลชัดเจนว่ารายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ มีเงินเก็บอย่างน้อยในรูปแบบของทุนประกันสังคมเท่าไหร่ ถ้าต้องกรอกภาษีเรารู้หมดว่ามีรายได้อะไรเท่าไหร่ พอถึงเวลาวิกฤตเราสามารถบอกได้ทันท่วงทีว่าวิกฤตจะกระทบคนในระบบเท่าไหร่และควรจะช่วยเหลืออย่างไร แต่ในกรณีของแรงงานนอกระบบ เรามีความเข้าใจน้อย เพราะขาดข้อมูล จึงยากจะประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ และไม่รู้ข้อมูลการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ท้ายสุดก็ยากจะเยียวยาให้ทั่วถึง”

ธนสักก์ทิ้งท้ายว่าความโปร่งใสในข้อมูลของรัฐคือหัวใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยและออกแบบนโยบายได้ง่ายขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐ ความโปร่งใสของข้อมูลจึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถหาทางออกของปัญหาได้ด้วยกัน

ในโลกแสนล้ำที่ขับเคลื่อนโดยชนชั้นล้า และทอดทิ้งชนชั้นลืม: สร้างนวัตกรรมทางสังคมอย่างไร? – สมบัติ บุญงามอนงค์

โลกในศตวรรษที่ 21 มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต กลับเป็นโลกที่เจริญในทางวัตถุแต่ไม่สามารถโอบอุ้มผู้คนหมู่มากที่ค้ำยันความก้าวหน้าเหล่านี้ไว้ได้ สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่าหากจะพิจารณาความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยนี้ต้องตั้งต้นจาก 3 คำ ได้แก่ ‘ล้ำ-ล้า-ลืม’

เริ่มที่ ‘ความล้ำ’ ซึ่งเป็นสิ่งขับเคลื่อนโลกให้พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ วันที่มีเทคโนโลยีและวิทยาการล้ำสมัยมาช่วยแก้ปัญหาหรือทลายขีดจำกัดเดิมๆ ของมนุษย์ แต่บนโลกแสนล้ำนี้ คนหมู่มากในสังคมไทยกลับใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ‘ความล้า’ หรือที่สมบัติเรียกว่า ‘ชนชั้นล้า’ ซึ่งเป็นชนชั้นที่แบกความล้าไว้เต็มพิกัด ทำการผลิตให้กับคนที่อยู่ชนชั้นล้ำ โดยที่ชนชั้นล้ำดูดซับมูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นล้าไป และยังมีกลุ่มคนที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบของสังคม ไกลจนพ้นสายตาจากความล้ำที่โลกพึงปรารถนา คือ ‘คนที่ถูกลืม’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มูลนิธิกระจกเงาทำงานด้วย

“งานที่ผมทำอยู่ในกลุ่มคนที่ถูกลืม เช่นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ข้างถนน ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในบ้าน ซึ่งคนแทบไม่รู้เลย ผมช็อกมากตอนรู้สถิติว่าประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 3 ล้านคน แต่ทำไมคนมองไม่เห็นเลย ก็เพราะว่าเขาถูกลืมและถูกซ่อนไว้ในบ้าน ไม่ให้ออกมามีชีวิต เราจึงไม่เห็นเขาและเราก็ลืมจนคิดว่าเขาไม่อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีนวัตกรรมทางสังคมที่ชัดเจนว่าจะทำให้เขาไม่ถูกลืมอย่างไร”

มูลนิธิกระจกเงาเคยทำให้ ‘คนที่ถูกลืม’ ปรากฏชัดขึ้นในการรับรู้ของสังคมในตอนที่ไปแจกอาหารและน้ำดื่มแก่คนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน แต่นั่นตามมาด้วยข้อครหารว่าการแจกจ่ายปัจจัยพื้นฐานเช่นนี้ “ทำให้ปริมาณคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น” ตามมาด้วยเสียงร้องเรียนจากชุมชนในละแวกที่ว่า “ยิ่งแจก ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาอยู่ข้างถนน” แม้เหตุผลอาจฟังไม่ขึ้น แต่จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นเป็นความจริง สมบัติจึงประเมินแนวทางนี้ว่าไม่อาจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน จึงเปลี่ยนมาเป็นการ ‘ให้งาน’ กับคนเหล่านี้เพื่อให้เขามีรายได้ในการดำรงชีวิต เป็นที่มาของโครงการ ‘จ้างวานข้า’ โดยมูลนิธิกระจกเงา ที่จ้างงานกลุ่ม ‘คนที่ถูกลืม’ หรือคนที่ระบบการผลิตไม่ต้อนรับแล้ว ซึ่งมักจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายว่าเป็นคนชราที่ไร้ที่พึ่ง ให้เขาได้ใช้ศักยภาพและพละกำลังที่เหลืออยู่ไปกับงานที่พอทำได้ และสร้างรายได้กลับคืนมา

“คนพวกนี้ไม่ได้เป็นคนจนมาโดยตลอด เขาเคยอยู่ในระบบการผลิตที่ล้ำ เป็นแรงงานอยู่ในภาคการผลิตหรือแม้แต่ผู้ประกอบการ เป็นฟันเฟืองที่ทำให้สังคมนี้มีส่วนที่ล้ำได้ เขาเคยมีความหวัง เคยคิดว่าจะล้ำแต่ก็ไม่ได้ล้ำ และเป็นกลุ่มคนที่เคยล้า แล้วก็หมดแรงที่จะล้าแล้ว

“หรือถ้าเรียกว่าคนกลุ่มนี้คือคนยากจน ก่อนจะยากจนมันต้องมีคำว่า ‘ยาก’ ก่อน ฉะนั้นคนจะจนได้ก็ต้องใช้ชีวิตยากก่อน เช่นเดียวกับคนจะถูกลืมได้ก็ต้องล้าจนหมดสภาพก่อน พอหมดสภาพเมื่อไหร่ก็จะถูกเตะออกไป ระบบการผลิตก็ปฏิเสธคนกลุ่มนี้ด้วยเนื่องจากว่ามูลค่าหรือค่าแรงที่จ่ายไปไม่เท่ากับความคาดหวังของสิ่งที่ได้รับ”

สมบัติชี้ชวนให้พิจารณาถึงระบบการผลิตในปัจจุบันที่ต้องการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยที่สุด สะท้อนผ่านนโยบาย เช่น การกำหนดอายุเกษียณงานในภาคเอกชนที่ลดจาก 60 ปี เหลือ 55 ปี นี่เป็นอีกสาเหตุให้กลุ่มคนซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ค่อยๆ กลายเป็นชนชั้นลืม ในขณะเดียวกันก็มีเพดานอายุในการรับสมัครงานที่ต่ำลงเรื่อยๆ เช่น ไม่รับพนักงานที่อายุเกิน 35 ปี ระบบเช่นนี้กำลังสร้างภาระให้คนที่ล้านั้นต้องล้ายิ่งขึ้นจากการดูแลคนที่ถูกลืม และผลิตคนที่ถูกลืมซึ่งต้องต่อสู้อย่างลำพังออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

สมบัติกล่าวว่าหัวใจในการแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ที่ผู้ถือครองอำนาจรัฐ ที่ต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของคนที่ถูกลืมและนำเขากลับเข้าสู่ระบบการผลิต จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาในฐานะภาคประชาสังคม มักจะเจออุปสรรคจากระบบราชการและความจำกัดของงบประมาณ สมบัติกล่าวว่า “ไม่ใช่แค่คนที่ล้า แต่ระบบรัฐก็ล้าด้วย ไม่ใช่ล้าธรรมดา แต่มันล้าหลัง ดังนั้นเวลามีอะไรใหม่ๆ เสนอไปจึงมักไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

นวัตกรรมเชิงนโยบายที่สมบัติอยากเสนอคือ “ทำให้คนที่ล้ำ ล้ำยิ่งขึ้น แต่คนที่ล้า ต้องไม่ล้าไปมากกว่าเดิม” เนื่องจากที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าการเสนอนโยบายที่จะลดทอนความมั่งคั่งของชนชั้นนำแล้วกระจายให้กับชนชั้นล่างมักจะมีแรงเสียดทานตามมา เห็นได้จากมาตรการเก็บภาษีความมั่งคั่งที่ถูกคัดค้านจากเหล่าชนชั้นนำ

“เราต้องหาว่าทำยังไงถ้าคุณอยากจะล้ำ ด้วยกำลังที่มีอยู่ก็ทำไปเลยไม่ว่ากัน แต่ต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้พวกล้านั้นลดความล้าลง เงื่อนไขว่าคนจะต้องไม่ถูกลืม มีที่ทาง มีความเป็นมนุษย์ ใช้ชีวิตสุดทางที่เขาจะพอมีชีวิตอยู่ได้ ทุกวันนี้เรารู้ดีว่าคนอายุยืนขึ้น เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ไม่ใช่ความผิดใครเลย การไปแปะป้ายว่าคนชราเป็นภาระมันไม่ใช่ ทั้งที่ตอนหนุ่มสาวเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและสร้างความล้ำเหมือนกัน”

สมบัติทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะทางนโยบายที่อยากให้รัฐสำรองอาชีพสำหรับคนชรา ในวิชาชีพที่เขาสามารถทำได้ ยกตัวอย่างโมเดลในสหรัฐอเมริกาที่มีโควตาพนักงานคิดเงินให้กับผู้สูงอายุ พนักงานเข็นรถในสนามบินญี่ปุ่น หรือพนักงานในศูนย์อาหารในสิงคโปร์ การสำรองอาชีพให้คนล้าที่ถูกลืมเหล่านี้เป็นก้าวที่เป็นไปได้และสามารถทำได้ในการพยุงเขาไว้ในโลกที่ต้องการจะล้ำยิ่งขึ้น

แก้ความเหลื่อมล้ำอย่างเด็ดขาดต้องไม่ขี้ขลาดในการทลายทุนผูกขาด – วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี ชี้ว่าแกนกลางที่ค้ำยันความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ยังดำรงอยู่คือรัฐและกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์ยึดโยงกันอย่างแยกไม่ขาด ในส่วนของรัฐ วิฑูรย์กล่าวถึงนวัตกรรมทางสังคมของภาคประชาสังคม เช่น โครงการจ้างวานข้าโดยมูลนิธิกระจกเงาดังที่สมบัติได้กล่าวไปว่ามีอุปสรรคจากรัฐในการผลักดันนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งวิฑูรย์กล่าวว่ารัฐและทุนไม่ยินยอมให้ผู้ที่มีนวัตกรรมทางสังคมที่จะเป็นอีกทางเลือกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหา หรือยอมได้แค่ในระดับที่ไม่คุกคามผลประโยชน์

พิจารณาในระดับทุน วิฑูรย์กล่าวว่าระบบการผูกขาดเป็นระบบที่ผลิตคนว่างงานทั้งหลายขึ้นมา ยกตัวอย่างการควบรวมกิจการค้าปลีกโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งอยู่นอกเครือข่ายไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ ขณะเดียวกันการมีอยู่ของทุนยักษ์ใหญ่เช่นนี้ก็ปิดประตูแห่งโอกาสสำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าสู่สนาม

วิฑูรย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศตระหนักดีถึงการมีอยู่ของปัญหาความเหลื่อมล้ำ สะท้อนผ่านเอกสารหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ แต่หากพิจารณาถึงรายละเอียด จะพบว่ามีการพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเพียงผิวเผิน โดยชี้ถึงต้นตอปัญหาจาก 2-3 ปัจจัย เช่น การขาดที่ดินทำกิน ขาดการศึกษา นำมาสู่การขาดรายได้ ซึ่งถือว่าแตะไม่ถึงรากของปัญหาซึ่งก็คือโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด

“ถ้าให้ผมมองแผนของสภาพัฒน์ในฐานะระบบกระบวนการกำหนดนโยบายของประเทศ สภาพัฒน์เขียนดีมากๆ เขาเขียนเอาไว้ตั้งแต่แผน 12 แล้วว่าความเหลื่อมล้ำของเราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี สังคมสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พูดตั้งแต่แผน 12 แล้วว่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่มันจบแค่การแตะสาเหตุของปัญหาใหม่ แต่สิ่งสำคัญก็คือไม่ได้พูดถึงว่าการขยายความเหลื่อมล้ำหมายความว่าอะไร มันมีโครงสร้างและประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำอยู่ ซึ่งก็ไม่แตะ การไม่กล่าวถึงนี้เองที่จะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา

“กระทรวงเกษตร ซึ่งดูแลภาคที่ถือว่าเหลื่อมล้ำที่สุด เขียนแย่กว่าเสียอีก แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนที่ 12 (2560-2564) กระทรวงเกษตรเขียนว่าสาเหตุความเหลื่อมล้ำนอกเหนือจากเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงซึ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำแล้ว ยังเกิดขึ้นจากกระแสบริโภคนิยมและพฤติกรรมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากขึ้น และประชากรภาคเกษตรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ถ้อยคำเหล่านี้สะท้อนของการดูถูกคนในภาคเกษตรมาก”

นอกจากทัศนคติที่ปฏิเสธว่าทุนผูกขาดคือรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำจะฝังแน่นอยู่ในระบบรัฐราชการ ทัศนคติดังกล่าวยังแพร่หลายในหมู่สาธารณชน ดังจะเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ในโพสต์ที่วิจารณ์นโยบายเกี่ยวกับทุนผูกขาด ซึ่งวิฑูรย์เห็นด้วยกับอรรถจักร์ที่ว่าการมองความเหลื่อมล้ำในมิติของระบอบอารมณ์มีความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในสังคม

ในเชิงนโยบาย ความหวังที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาผลักดันนโยบายทลายทุนผูกขาดก็ค่อยๆ เลือนหายไปหลังพรรคก้าวไกลที่ชูนโยบายนี้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ วิฑูรย์กล่าวด้วยความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยว่า “ถ้าไปดูแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีคำว่าทุนผูกขาด ไม่มีคำว่าส่งเสริมการแข่งขันเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมเลย ผมเอาเรื่องนี้ไปเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเราชอบวิจารณ์กันว่ามันล้าหลัง แต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ยังเขียนเรื่องนี้ไว้ สิ่งที่รัฐบาลตอนนี้ทำมันล้าหลังยิ่งกว่า คือไม่กล้าแตะ กลัวแตะแล้วอยู่ไม่ได้”

วิฑูรย์กล่าวว่าตนไม่เห็นความหวังในการปฏิรูปโครงสร้างที่เอื้อทุนผูกขาดโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นพลังทางการเมืองที่เริ่มแตะประเด็นนี้มากขึ้น แต่พลังเหล่านี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิฑูรย์จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและต่อแวดวงการวิจัยในระดับที่อาจจะไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประการแรกคือ ‘การปฏิรูปการเข้าถึงข้อมูล’

“การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มันส่งเสริมความไม่เป็นธรรม ในโฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำมันมีโฉมหน้าเก่าอยู่ด้วย ปัญหาบางเรื่องที่ควรจะหายไปได้แล้วแต่ก็ไม่หายไป เช่นปัญหาเรื่องที่ดิน การเข้าถึงข้อมูลการถือครองที่ดินในไทยทุกวันนี้ยังเข้าถึงไม่ได้เลย ข้อมูลแบบนี้ควรต้องทำให้เป็นสาธารณะแบบเดียวกับแผนที่พื้นที่การเกษตร ซึ่งเทคโนโลยีทำได้แล้ว แต่โครงสร้างมันยังไปไม่ได้ ข้อมูลสารเคมีทางการเกษตรก็ด้วย เปิดเผยแค่ว่ามีการนำเข้าแต่ไม่บอกว่าบริษัทไหนนำเข้ามา

“การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ มันตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารทรัพยากร ขั้นแรกของวงวิชาการ วิจัยไม่ต้องทำอะไรมากเลย ให้คนเข้าถึงข้อมูลเรื่องความไม่ชอบธรรมในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ให้ได้ก่อนแล้วการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้”

ข้อเสนอเรื่องงานวิจัยต่อมาคือการตั้งโจทย์ว่าทุนผูกขาดส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการว่างงาน วิฑูรย์ชี้ชวนให้พิจารณาตั้งต้นจากการจ้างงานในร้านสะดวกซื้อ

“มองอย่างง่ายที่สุดคือการจ้างงานในเซเว่นหนึ่งสาขา ผมดูตัวเลขแล้วพบว่าหนึ่งสาขาจะใช้คนประมาณ 10-15 คน ไม่ใช่พนักงานเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงคนที่อยู่ในระบบขนส่งด้วย ขณะที่ถ้าอยู่ในระบบค้าแบบดั้งเดิมจะจ้างคนได้มากกว่า 20 เท่าตัว วงการวิจัยควรจะหาคำตอบว่าถ้าคุณทำระบบนี้ต่อไปมันจะกระทบยังไงบ้าง”

ข้อเสนอที่สามคือโจทย์เกี่ยวกับผลกระทบจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี วิฑูรย์กล่าวว่าปรากฏการณ์การเคลื่อนไหว CPTPP เมื่อปี 2020 เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการกระจายข้อมูล เปิดพื้นที่การถกเถียง และตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการผูกขาดหรือรวมศูนย์เมล็ดพันธุ์ ที่อาจกระเพื่อมไปถึงการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจใหม่และอาชีพใหม่ อีกทั้งยังมีวิกฤตด้านสภาพอากาศเข้ามาเป็นตัวแปรที่ควรได้รับการศึกษามากกว่านี้

วิฑูรย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันส่งผลกระทบแล้วทั้งในกติกาการค้าระหว่างประเทศและข้อตกลงความร่วมมืออื่นๆ รวมถึงนโยบายของรัฐด้วย แต่กระบวนการแก้ปัญหาที่ไม่เห็นโครงสร้างของปัญหาความเหลื่อมล้ำและประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำ มันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำฉิบหายยิ่งขึ้น ประเทศจะเละเทะมากขึ้น เช่นโมเดล BCG ที่สอดไส้ผลประโยชน์ทุนผูกขาดและโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหญ่สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการผลักดันกระบวนการทางนโยบายที่ให้ประชาชนซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ได้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการออกแบบนโยบาย เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องทำ”

ฝ่าความเหลื่อมล้ำ x ความไม่เป็นธรรม: งานวิจัยต้องแตะปัญหาเชิงโครงสร้าง – สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ชวนย้อนมองนโยบายของรัฐไทยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนว่ายังเดินมาไม่ถูกทางอยู่อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก รัฐไทยมีเพียงแผนลดช่องว่างทางชนชั้น แต่ไม่เคยมีนโยบายที่จะทำให้เกิดระบบที่สร้างความเป็นธรรมในสังคม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยนโยบาย เช่น บัตรคนจน ไม่ถือว่าเป็นการจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การไปให้สุดทางในการแก้ปัญหาโครงสร้างในทัศนะสมศักดิ์คือต้องแตะให้ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ สร้างระบบที่เพิ่มโอกาสลดการเอาเปรียบ เสริมศักยภาพผู้เสียเปรียบ

ประการต่อมา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ไปถึงระดับความเป็นธรรมในสังคม จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐ แต่ที่ผ่านมาสังคมเรามีอำนาจรัฐที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวมากนัก

ประการที่สาม สังคมไทยยังไม่มีพลังมากพอที่จะเผชิญหน้ากับโครงสร้างที่ถูกครอบด้วยวิธีคิดดังที่อรรถจักร์ชี้ให้เห็นในตอนต้น สมศักดิ์อภิปรายเสริมในประเด็นที่ว่าความเหลื่อมล้ำของไทยไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ความยากจน และรายได้ แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี

“ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผนวกด้วยความไม่เป็นธรรมในสังคม มันไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งนี้ไม่ได้ แต่มันมีปัญหาไปถึงเรื่องความรู้สึกว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรมและมันดีกว่านี้ได้ ฉะนั้นคุณจะลดช่องว่างยังไงถ้าคุณไม่แก้ปัญหาเรื่องความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม” สมศักดิ์กล่าวว่าการรื้อวิธีคิดและวิธีมองปัญหาความเหลื่อมล้ำถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวิธีคิดและวัฒนธรรมที่ไม่มองแค่ว่าความเหลื่อมล้ำคือปัญหาเฉพาะปัจเจก

นอกจากปัญหาที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยอำนาจรัฐในการเปลี่ยนแปลง สมศักดิ์กล่าวว่าในแวดวงวิชาการและการวิจัยก็ควรมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เช่นกัน สมศักดิ์ชี้ให้เห็นปัญหาที่งานวิจัยยังไปไม่ถึงในระดับโครงสร้าง เช่น นักวิจัยมักจะชอบสร้างโมเดล มุ่งหาคำตอบสำเร็จรูป หรือสร้างแผนวิจัยและพัฒนาระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นการยากที่จะขยายผลได้ทั่วไป เนื่องจากแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบทต่างกันออกไป งานวิจัยเช่นนี้ที่มีอยู่จำนวนมากจึงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากนี้สมศักดิ์ยังชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทัศนะนักวิจัย

“เราอาจจะต้องมีจินตนาการว่านักวิชาการหรือนักวิจัยไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ไปอ้อนวอนขอร้องผู้มีอำนาจว่ามาใช้องค์ความรู้ฉันหน่อยนะ เรามีหน้าที่ทำเพื่อประชาชนและเพื่อสังคม ผู้มีอำนาจอาจจะใจดีรับข้อเสนอเราไป แต่สักพักเขาก็ลืม เขาทำไปสักพักแล้วเขาก็ไป แต่ถ้างานอิงอยู่กับผลประโยชน์ของสังคมอาจจะดีกว่าหรือเปล่า การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนว่าคนให้ทุนต้องไม่ให้เป็นโปรเจ็กต์ แล้วก็ไม่ใช่มาแข่งกันไปแข่งกันมา แต่ต้องสร้างทีม สร้างภาคีร่วมพัฒนาสังคม”

สมศักดิ์ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับนักวิจัยในลักษณะที่เรียกได้ว่า ‘ขายให้เป็น’ คือทำให้นักวิจัยนโยบายในไทยมีความสามารถในการบริหารจัดการความรู้ มีความสามารถในการตีความและสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายจากข้อค้นพบทางการวิจัยและเผยแพร่สู่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ต้องให้รายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่านโยบายนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น หากได้ข้อสรุปว่าควรขึ้นภาษี ก็ต้องบอกว่าขึ้นประมาณเท่าไหร่ หรือใช้เงินสักประมาณเท่าไหร่ หรือถ้าจะต้องลงทุนเพิ่ม ก็ต้องบอกว่าลงทุนทำอะไรบ้าง สมศักดิ์ยกตัวอย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสนอต่อพรรคไทยรักไทยเพื่อให้ผลักดันเป็นนโยบาย ก็มีรายละเอียดประกอบว่าหากรัฐรับนโยบายนี้ต้องทำอะไรบ้าง และฝ่ายผู้ปฏิบัติจะทำอะไรอย่างไร กล่าวคือมีรายละเอียดที่พร้อมปฏิบัติ

ในส่วนของประเด็นการศึกษาวิจัยด้านความเหลื่อมล้ำ สมศักดิ์เสนอแง่มุมที่ควรพิจารณามากขึ้น 4 มิติ ดังต่อไปนี้

มิติแรก ความเหลื่อมล้ำในระบบเกษตรและอาหาร ที่แม้ปัจจุบันไทยจะภาคภูมิใจว่าเป็นอู่ข้าว อู้น้ำ แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดจะพบว่าภาคการเกษตรเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นสายยันปลายน้ำ ระหว่างเกษตรกร เจ้าของที่ดิน เจ้าของเทคโนโลยี รวมถึงผู้บริโภค

มิติที่สอง การศึกษากลไกในการลดช่องว่างทางการศึกษาในปัจจุบันยังมีไม่มากพอ อีกทั้งระบบการศึกษายังบั่นทอนพลังผู้เรียนมากกว่าจะสร้างแรงผลักดันให้ผู้เรียนอยากพัฒนาศักยภาพตนเอง

มิติที่สาม ความไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม และไม่เป็นธรรมของบริการทางสังคม ที่แม้จะบอกว่าปัจจุบันมีการสร้างระบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ในทางปฏิบัติ ระบบราชการยังกีดกันคนหลายกลุ่มให้เข้าไม่สิทธิ์

สมศักดิ์ทิ้งท้ายว่า มิติสุดท้ายคือประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงการตัดสินใจและอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายในภาพรวม


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเสวนาได้ ที่นี่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save