fbpx
ปลดล็อค ‘กรงขังความคิด’ ปิด ‘โรงงานขอทาน’ คุยกับ ต่อพงศ์ เสลานนท์

ปลดล็อค ‘กรงขังความคิด’ ปิด ‘โรงงานขอทาน’ คุยกับ ต่อพงศ์ เสลานนท์

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการมากถึง 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงสามแสนคนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ส่วนอีก 1.6 ล้านคนยังคงมีศักยภาพที่สามารถส่งเสริมและทำงานร่วมกับคนทั่วไปได้ หากได้รับการส่งเสริมให้พวกเขาก้าวเดินต่อไปอย่างสุดความสามารถ ทว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง กลับมีคนพิการที่มีงานทำเพียงสามแสนคนเท่านั้น ขณะที่คนพิการอีกจำนวน 1.3 ล้านคนซึ่งมีศักยภาพ กลับกลายเป็นคนว่างงานและเป็นภาระให้กับครอบครัว

เมื่อแรงกดทับทางสภาพเศรษฐกิจบีบบังคับเพื่อปากท้อง คนพิการส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจก้าวข้ามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เข้าสู่อาชีพขอทานข้างถนน ซึ่งเปรียบเสมือน ‘หลุมดำ’ ที่มีความใจบุญของคนไทยเป็นแรงดึงดูดให้ถลำลึกลงไป จนยากจะพาตัวเองก้าวย้อนกลับมาประกอบอาชีพบนศักยภาพที่เหลืออยู่อย่างภาคภูมิใจอีกครั้ง

คำถามสำคัญ ณ วันนี้คือ ถ้าสังคมไทยจะช่วยกันปิดโรงงานขอทาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถยืนหยัดในอาชีพที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราจะจับมือก้าวเดินกันอย่างไร

ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย อดีตเด็กวัยรุ่นผู้สูญเสียการมองเห็นจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ตั้งแต่อายุ 16 ปี เป็นคนหนึ่งที่เลือกทุ่มเทชีวิตให้กับการ ‘จุดเทียนเปลี่ยนชุดความคิด’ เพื่อยกระดับคนพิการในสังคมไทยมาตลอดเวลายี่สิบปี จะมาช่วยตอบคำถามอย่างละเอียดในบทสัมภาษณ์ที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้

ต่อพงศ์ เสลานนท์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์

ดูเหมือนปัญหาคนพิการกับอาชีพขอทาน ดูเหมือนจะอยู่คู่สังคมไทยมานานแล้ว ถ้าต้องการปิดโรงงานผลิตขอทาน เราต้องเริ่มจากตรงไหน

ผมคิดว่าเรื่องนี้มันมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับปัญหาหลายอย่างในสังคมไทย โดยเฉพาะชุดความคิดที่มีต่อคนพิการ ผมขอเริ่มจากมุมมองของสังคมไทยต่อคนพิการตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานในฐานะประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทย เมื่ิอปลายปี 2541 แล้วกัน

ตอนนั้นสังคมยังไม่ค่อยรู้จักคนพิการมากนัก เพราะคนพิการจะถูกแยกออกไปเรียนในโรงเรียนสำหรับคนพิการตั้งแต่เด็ก คนทั่วไปจะรู้จักคนพิการในฐานะวัตถุแห่งการทำบุญ รอรับการบริจาคจากคนทั่วไปอยู่ตามโรงเรียนหรือมูลนิธิสำหรับคนพิการ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งไม่ดีนะ แต่มันดีด้านเดียว เพราะเด็กจะถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รับเป็นฝ่ายเดียว เด็กกลุ่มนี้จึงอาจไม่มีจิตสาธารณะ (public mind) เพราะสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนสอนเด็กพิการหล่อหลอมมาแบบนั้น แต่ความเป็นจริงของคนในสังคม การเป็นผู้ให้และผู้รับเป็นของคู่กัน

พอผมเริ่มเข้ามาทำงานตรงนี้ ผมจึงเริ่มพาคนตาบอดไปเข้าร่วมกับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น ไม่ต้องรอให้เขามาหาเราเพียงฝ่ายเดียว เพราะถ้าเราแยกให้คนพิการไปตั้งสมาคมของตนเอง ทำงานกับคนพิการกันเอง แล้วเมื่อไหร่สังคมจะยอมรับคนพิการ หลังจากนั้นพอได้เข้ามาทำงานกับสมาคมคนตาบอดเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2543 ในฐานะโฆษกสมาคมฯ ผมก็ยังสานต่อความคิดเดิมคือพาคนตาบอดออกมาร่วมกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น เพราะนอกจากคนทั่วไปจะเข้าใจคนตาบอดและคนพิการมากขึ้นแล้ว คนพิการก็ได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันกับคนทั่วไปมากขึ้นด้วย เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องอยู่ในสังคมเดียวกัน

ผมได้เริ่มต้นเรียนรู้การทำงานกับคนทั่วไปจากการเข้าร่วมกิจกรรม Art for All ได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหาร่วมกันกับคนทั่วไป ทำให้ผมมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเองมากขึ้น และอยากพาเพื่อนพิการออกมาทำงานร่วมกับคนในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

ชุดความคิดในการมองคนพิการแตกต่างจากคนทั่วไป มีต้นตอมาจากไหน

ผมอยากเล่าให้เห็นภาพความซับซ้อนของชุดความคิดแบบนี้ละกัน สมมติว่ามีเด็กตาบอดคนหนึ่งลืมตาดูโลกขึ้นมาในชุมชนแห่งหนึ่ง ถ้าเด็กคนนี้อยากเรียนหนังสือ เขาก็จะต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียนคนตาบอดที่มีอยู่ทั้งหมด 15 แห่งในประเทศไทย เขาจะถูกตัดขาดจากครอบครัวและชุมชนตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่เด็กในชุมชนก็จะไม่เคยเห็นเด็กตาบอดเรียนหนังสือในโรงเรียนเดียวกันมาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความผิดของโรงเรียนตาบอดที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ แต่มันเป็นความไม่สมบูรณ์แบบของการจัดการศึกษาในชุมชน ที่ไม่สามารถจัดสรรการเรียนการสอนให้เด็กตาบอดหรือเด็กพิการให้เรียนร่วมกับเด็กทั่วไปในชุมชนของตนเองได้ ทั้งๆ ที่ระยะเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนเข้าเรียนชั้นประถม โรงเรียนในชุมชนแห่งนั้นมีเวลาเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษานานถึงหกปี

หากรัฐสามารถสนับสนุนงบประมาณให้เด็กตาบอดคนนั้นสามารถเรียนในชุมชนใกล้บ้านร่วมกับเด็กทั่วไป เด็กคนนั้นก็ไม่ต้องแยกจากครอบครัวและชุมชน เมื่อทั้งเด็กตาบอดและเด็กทั่วไปเติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาก็จะไม่รู้สึกว่าการทำงานร่วมกับคนตาบอดหรือคนพิการเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเขาใช้ชีวิตร่วมกันมาตั้งแต่เด็ก ถ้าตราบใดที่เรายังไม่สามารถแยกดินแดนที่มีคนพิการออกจากดินแดนคนทั่วไป หรือแยกจังหวัดออกมาเป็นจังหวัดคนพิการได้ เราก็ควรจะให้คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยตั้งแต่ยังเด็ก ให้เขาได้เรียนหนังสือร่วมกันและเติบโตร่วมกัน อย่าแยกเขาออกจากครอบครัวและชุมชน

แน่นอนว่า การสอนเด็กตาบอดหรือเด็กพิการนั้นต้องการทักษะบางอย่างเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้เขาได้เรียนรู้ร่วมกัน แต่ถ้าเราสามารถเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ได้ เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กตาบอดหรือเด็กพิการแยกออกมาต่างหาก ซึ่งการแยกเขามาเรียนในโรงเรียนเด็กพิการ จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา

การแยกคนพิการออกมาอยู่ในสังคมของคนพิการด้วยกัน ทำให้คนพิการกลายเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมไทย ปัญหาต่างๆ จึงโยงใยกันไม่จบสิ้น อาทิ การถูกหล่อหลอมให้เป็น ‘ผู้รับบริจาค’ เพียงด้านเดียว หรือการถูกมองว่าเป็น ‘วัตถุแห่งการทำบุญ’ ในสายตาคนทั่วไป รวมไปถึงปัญหาการมองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง จนอาจนำไปสู่การก้าวข้ามพรมแดนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สู่อาชีพขอทานในที่สุด

เหตุผลหนึ่งของการไม่เปิดรับคนพิการเข้าทำงาน เพราะว่าสังคมทั่วไปไม่เคยชินในการอยู่ร่วมกับคนพิการหรือเปล่า

ใช่ครับ เราต้องยอมรับว่าชุดความคิดแบบนี้ มันเป็นชุดความเชื่อที่เป็นเสมือนรากแก้วของปัญหาการยอมรับคนพิการในสังคมไทยเลย แล้วปัญหามันไม่ได้จบอยู่แค่ระบบการศึกษา พอคนพิการต้องเข้าไปทำงานกับคนทั่วไป มันเลยเกิดความไม่เคยชินในการยอมรับความสามารถคนพิการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดวันหนึ่งมีคนพิการขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนทั่วไป คนจะยอมรับได้ไหม เพราะสังคมไทยแยกส่วนให้คนมองคนพิการเป็นพลเมืองชั้นสองมาตั้งแต่เด็ก

เราจะทำอย่างไรให้คนในสังคมยอมรับความสามารถของคนพิการ โดยเฉพาะคนตาบอด

เริ่มแรกเราต้องให้คนตาบอดเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองก่อน ทุกวันนี้เรามีคนตาบอดสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เชื่อมั่นว่าคนตาบอดทำอะไรได้หลายอย่าง กับกลุ่มที่มักตั้งคำถามว่า คนตาบอดจะทำได้เหรอ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นได้จากหลายครอบครัวที่ดูแลคนตาบอดเหมือนไข่ในหิน ด้วยทัศนคติสงสารและเป็นห่วงว่าจะประสบอุบัติเหตุและถูกหลอกลวง

สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือน ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่สร้าง ‘กรงขัง’ ไม่ให้คนตาบอดออกมาสู่โลกที่มีอิสระในการพึ่งพาตนเอง และมันไม่ใช่ชีวิตจริงของมนุษย์ ซึ่งทุกคนมีโอกาสบาดเจ็บได้ เกิดอุบัติเหตุได้ พลาดได้ ล้มเหลวได้

จริงๆ คนตาบอดก็เป็นเหมือนคนทั่วไปที่ต้องเรียนรู้ชีวิตจริง ถ้าเรามองคนตาบอดต่างจากคนทั่วไป เขาก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ ยกตัวอย่างเช่น เคยมีคนเห็นคนตาบอดกินเหล้าแล้วพูดว่า “คนตาบอดกินเหล้าด้วยเหรอ” เพราะคนทั่วไปมักมีชุดความคิดว่า คนตาบอดเป็นคนมีเวรกรรมอยู่แล้วยังมากินเหล้าอีก แต่ถ้าเรามองเขาด้วยชุดความคิดเดียวกับคนทั่วไปว่า ถึงเขาจะพิการหรือไม่พิการ เมื่อกินเหล้าแล้วเขาก็ต้องประคองสติตนเองให้ได้ และต้องยอมรับความเสี่ยงในสิ่งที่เขาทำ ยิ่งถ้าเขาตาบอด โอกาสเสี่ยงที่จะพลาดพลั้งก็จะเยอะมากขึ้น เขาก็ต้องยอมรับในผลของการกระทำของตนเองเช่นเดียวกับคนทั่วไป

ต่อพงศ์ เสลานนท์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์

ปัจจุบันจำนวนคนพิการแต่ละประเภทในสังคมไทยมีจำนวนเท่าไหร่ และอัตราที่เพิ่มขึ้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร

ผมจะนำตัวเลขคนพิการในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้ดู ในปี 2558 มีตัวเลขอ้างอิง 1.6 ล้านคน หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนคน จนถึงปีนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขอ้างอิง 1.9 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้พิการตอนโต โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุ การเสื่อมสภาพตามวัย และโรคภัยไข้เจ็บ

กลุ่มคนพิการที่เยอะสุด คือ คนพิการทางการเคลื่อนไหว นับเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคน หรือ 50%

รองลงมาอันดับสอง คือ คนหูหนวก ประมาณ 3 แสนคน

อันดับสาม คือ คนตาบอดประมาณ 2 แสนคน

อันดับสี่ เป็นกลุ่มใหม่ที่แซงขึ้นมา คือ พิการทางจิต ประมาณ 1.4 แสนคน

อันดับห้า เป็นกลุ่มพิการทางสติปัญญา ประมาณ 1.3 แสนคน

อันดับหก เป็นกลุ่มที่มีภาวะออทิสติก

ในภาพรวม เราพบว่าจำนวนคนพิการทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ที่น่าแปลกใจคือกลุ่มผู้พิการทางจิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งเกิดขึ้นทีหลัง แต่ปัจจุบันแซงหน้าผู้พิการทางสติปัญญาขึ้นมาแล้ว และมีแนวโน้มว่าในอนาคตคนกลุ่มนี้อาจแซงหน้าคนตาบอดหรือหูหนวกก็ได้

สำหรับตัวเลขกลุ่มผู้พิการทางสายตา ทุกวันนี้ อัตราการเกิดของเด็กตาบอดลดลง การสาธารณสุขดีขึ้น แต่การเสื่อมสภาพตามวัย โรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุ ทำให้มีคนตาบอดตอนโตมากขึ้น บางปีมีประมาณกว่า 10% หรือปีละเกือบสองหมื่นคน เดือนละเกือบสองพันคน ตัวเลขล่าสุดเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณหนึ่งพันห้าร้อยคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เป็นผู้สูงอายุประมาณ 50% รองลงมาคืออุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บรวมกัน ตาบอดแต่กำเนิดเหลือน้อยมาก ใน 190,000 คน จะมีคนตาบอดแต่กำเนิดรายใหม่ไม่ถึงหมื่นคน นี่เป็นตัวเลขที่เรารู้ แต่มีตัวเลขที่เราไม่รู้อีกจำนวนหนึ่ง เพราะเป็นคนที่ไม่ออกมาปรากฎตัว ไม่ยอมรับสภาพตัวเอง

ในทัศนคติของผม การเพิ่มขึ้นของคนพิการจำนวนหนึ่งแสนคนทุกปี เป็นเรื่องที่หนักใจมาก เพราะการมีคนพิการเพิ่มขึ้นหนึ่งคน นั่นหมายถึงสังคมไทยมีครอบครัวที่มีความทุกข์เพิ่มขึ้นหนึ่งครอบครัว ดังนั้น ปัจจุบันเรากำลังมีครอบครัวที่มีคนพิการที่กำลังมีความทุกข์มากถึง 1.9 ล้านครอบครัว ซึ่งมันเยอะมากนะ แล้วผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะตัวคนพิการคนเดียว เพราะบางครอบครัวจะต้องมีคนเสียแรงงานอีกคนหนึ่งเพื่อมาดูแลคนพิการ

ตัวเลขคนพิการมีจำนวนเยอะมากขนาดนี้ รัฐจะส่งเสริมอาชีพให้คนพิการได้อย่างไร

เราควรแยกกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้จริงๆ ออกมาก่อน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่มที่ยังมีศักยภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยแรงงานหรือเป็นผู้สูงวัย รัฐต้องส่งเสริมให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้จนสุดความสามารถเลย เพื่อที่สุดแล้วคนที่ต้องการความช่วยเหลือ จะได้เหลือน้อยเท่าที่ควรจะเป็น แล้ววันนั้นเงินของรัฐจะเพียงพอที่จะไปช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ถ้าเราไม่แยกระดับความพิการออกมา ตัวหารจะเยอะมาก แล้วจัดสรรงบเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะตัวเลขคนพิการเพิ่มขึ้นปีละแสนคน ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญมาก

ปัญหาสำคัญคือตลาดแรงงานสำหรับคนพิการในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด แม้ว่าตอนนี้เราจะมีกฎหมายจ้างงานคนพิการบังคับใช้อยู่ คือ องค์กรที่มีคนทำงาน 100 คนต้องจ้างคนพิการ 1 คน ซึ่งปัจจุบันตัวเลขที่รับคนพิการเข้าทำงานได้มากที่สุดก็แค่ 77,000 คนเท่านั้นเอง ยังเหลืออีกเป็นล้านคนที่ไม่มีงานทำ

ปัจจุบันเรามีคนพิการทั้งหมดจำนวน 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 3 แสนคนที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากสภาพความพิการรุนแรงหรือมีความพิการซ้ำซ้อน

ส่วนที่เหลืออีก 1.6 ล้านคน เป็นคนพิการที่เราสามารถพัฒนาศักยภาพให้เขาพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีงานทำอยู่แล้วประมาณ 3 แสนคน แสดงว่ายังเหลืออีก 1.3 ล้านคนที่มีศักยภาพพึ่งพาตนเองได้ และต้องการได้รับการส่งเสริมทักษะจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสร้างตลาดแรงงานคนพิการให้คนกลุ่มนี้มีงานทำและมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตนเองมากขึ้น

ถ้าเราสามารถจัดสรรให้คนพิการจำนวน 1.3 ล้านคน ย้ายมาอยู่ในซีกที่สามารถทำงานพึ่งพาตนเองได้ คนกลุ่มนี้ก็จะเดินเข้าสู่อาชีพขอทานน้อยลง นี่เป็นทางออกหนึ่งของการลดจำนวนปริมาณขอทานในสังคมไทย เพราะเขามีทางเลือกประกอบอาชีพที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากกว่า

ทำไมคนที่ตัดสินใจเป็นขอทานแล้วเลิกยาก

คนที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นขอทาน ส่วนใหญ่จะมีกรอบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กำกับอยู่ หรือการเคารพตนเองกำกับอยู่ แต่คนที่ตัดสินใจเป็นขอทาน เขาอาจโดนกระทำด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ จนเขารู้สึกว่าปากท้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือเรื่องอื่นมาทีหลัง พอเขาเดินข้ามเส้นนี้ไปได้ และเจอดินแดนของผู้ใจบุญที่เห็นคนพิการแล้วทนไม่ได้ ต้องควักเศษเหรียญในกระเป๋ามาให้ทุกครั้ง ทำให้หลายกรณีมีรายได้ดีมาก การตัดสินใจเลิกเป็นขอทานก็จะยากมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้เขาไม่ก้าวข้ามเส้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะถ้าข้ามไปแล้วจะย้อนกลับมาที่เดิมยาก อาชีพขอทานมันเหมือน ‘หลุมดำ’ สำหรับสังคมไทย เป็นดินแดนของผู้ใจบุญที่ดึงดูดขอทานเอาไว้ไม่ให้หลุดออกมา

เส้นทางเข้าสู่กระบวนการขอทานของคนพิการเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องเชื่อโดยสนิทใจก่อนว่า เขาไม่อยากเป็นขอทานตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เกิดมาเพื่อเป็นขอทาน คงไม่มีใครมีลูกแล้วบอกลูกว่าโตขึ้นไปขอทานนะลูก ฉะนั้นเราต้องย้อนกลับไปถามว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เขาต้องเดินมาสู่เส้นทางนี้

เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งสังคมไทยยังมีชุดความคิดเดิมๆ ที่เป็นกรงขังคนพิการโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีลูกตาบอด ตอนพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดว่า ลูกตาบอดคนเดียวพ่อแม่ดูแลได้ หลังจากนั้นพ่อแม่ก็หาเลี้ยงลูกตาบอดโดยไม่ให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครอบครัวเลย พอถึงวัยชราก่อนพ่อแม่จะตาย ก็สั่งเสียลูกๆ คนอื่นว่าให้ดูแลพี่หรือน้องตาบอดด้วย หลังจากนั้นพี่น้องคนอื่นก็มีลูกหลานของตนเอง เวลาผ่านไปเมื่อมีความรุนแรงทางเศรษฐกิจเข้าไปกดทับครอบครัวที่มีคนตาบอด รายได้ไม่พอเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว หากพี่น้องต้องเลือกดูแลระหว่างลูกตนเองกับพี่หรือน้องตาบอด เขาก็ต้องเลือกลูกตนเองก่อน

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคือ คนตาบอดเหล่านี้ก็มักจะถูกหลานๆ พูดว่า “ทำไมลุงถึงไม่เคยช่วยทำมาหากินอะไรเลย วันๆ เอาแต่อยู่เฉยๆ ต้องรอให้คนอื่นหาเลี้ยง” ด้วยแรงกดดันเหล่านี้ ทำให้คนตาบอดถูกขับออกมาจากครอบครัวในที่สุด โดยไม่มีทักษะอาชีพใดๆ ติดตัวเลย ทางออกเดียวที่จะยังชีพอยู่ได้ คืออาชีพขอทาน และถ้าไปขออาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐก็ลำบากอีก เพราะมันล้นทะลักจากนโยบายปราบขอทาน นี่คือภาพสะท้อนที่เห็นชัดเจนว่า ระบบความช่วยเหลือหรือระบบที่ส่งเสริมและพัฒนาเขา มันไม่ครบวงจร

สิ่งที่เล่ามาสะท้อนให้เห็นว่า จุดเริ่มต้นของโรงงานผลิตขอทานในสังคมไทยมาจาก ‘กรงขังความคิด’ อันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ ที่ไม่ยอมให้ลูกพิการพึ่งพาตนเองได้

ใช่ครับ ผมกล้าพูดได้เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานผลิตขอทานในสังคมไทย ถ้าเราอยากปิดโรงงานผลิตขอทาน เราต้องปลดล็อค ‘กรงขังความคิด’ และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวที่มีคนพิการก่อนเป็นอันดับแรก

เรามองว่าครอบครัวคนพิการในชนบทส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรม ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนนี้ คือการเอาความรู้ด้านการเกษตรไปให้ครอบครัวคนตาบอด ซึ่งตอนนี้มีโครงการนำร่อง 200 ครอบครัว จากที่เขาเคยเป็นคนตาบอด สร้างภาระให้ครอบครัว เรากำลังทำให้เขาเป็นช่องทางนำโอกาสใหม่ๆ มาสู่ครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวและชุมชนมองเห็นคุณค่าของคนตาบอดมากขึ้น โดยให้คนตาบอดนำผลผลิตทางเกษตรที่เหลือจากการขายไปร่วมกิจกรรมชุมชนงานบุญต่างๆ เพื่อในอนาคตที่เขาแก่ชรา ถ้าพ่อแม่ตายจากไปแล้ว คนในชุมชนก็จะได้ช่วยดูแลเขาต่อไป

เราได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนในการฝึกอบรม เพราะความรู้และการปฏิบัติต้องมาคู่กัน มีบางส่วนที่เราทำแปลงเกษตรหรือโรงเพาะเห็ดให้ แต่เรามีเงื่อนไขว่า ในวันที่คุณมีรายได้ คุณต้องแยกให้ออกว่าตรงไหนคือต้นทุน ตรงไหนคือแรงงาน ถ้าเขามีรายได้เขาต้องลงทุนต่อด้วยตนเอง เขาต้องออมเงินไว้สำหรับส่งไปแปรรูปขาย ส่วนที่เราไปส่งเสริมคือเรื่องการตลาด

ผมคิดว่านอกจากทำให้เขาอยู่เองได้ แล้วเขามั่นคง มีส่วนร่วมกับชุมชน ควรจะทำให้เขาเติบโตไปพร้อมกับเรา ตัวสมาคมก็จะกลายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป เราได้กำไรจากการจำหน่ายอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องเอาไปช่วยครอบครัวอื่นต่อไป เพราะปริมาณคนต้องการความช่วยเหลือมีเยอะมาก สิ่งที่ทำจึงถูกขับเคลื่อนด้วยชุมชนคนตาบอดในพื้นที่ต่างๆ

โครงการนำร่องสร้างอาชีพให้ครอบครัวคนตาบอด เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘โอกาส” เพื่อลดจำนวนโรงงานผลิตขอทาน | ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์
โครงการนำร่องสร้างอาชีพให้ครอบครัวคนตาบอด เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘โอกาส” เพื่อลดจำนวนโรงงานผลิตขอทาน | ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์
โครงการนำร่องสร้างอาชีพให้ครอบครัวคนตาบอด เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘โอกาส” เพื่อลดจำนวนโรงงานผลิตขอทาน
โครงการนำร่องสร้างอาชีพให้ครอบครัวคนตาบอด เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘โอกาส” เพื่อลดจำนวนโรงงานผลิตขอทาน | ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์

หลังจากเริ่มโครงการนี้ มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ‘ชุดความคิด’ เดิมเกี่ยวกับคนพิการอย่างไร 

ตอนนี้เราเริ่มเห็นปรากฎการณ์ใหม่ในหลายชุมชนที่เป็นโครงการนำร่องของเรา ครอบครัวคนตาบอดที่มีวินัยสามารถช่วยกันทำเกษตรกรรมที่เราลงทุนและจัดหาตลาดให้ บางครอบครัวเริ่มมีเงินเก็บหลายหมื่นบาทแล้ว จนเริ่มมีเพื่อนบ้านพูดว่า เมื่อไหร่บ้านตนเองจะมีคนตาบอดหรือคนพิการ ครอบครัวของเขาจะได้โอกาสแบบนี้บ้าง นี่คือก้าวที่หนึ่ง แต่เป็นก้าวที่สำคัญมาก เพราะเรากำลังเปลี่ยนแปลงชุดความคิดที่มองคนพิการในสังคมไทย จากคนที่เป็นภาระของครอบครัวสู่คนที่สร้างโอกาสให้ครอบครัว

คำถามที่เชื่อว่าหลายคนสงสัย คือ คนตาบอดทำเกษตรด้วยตนเองได้จริงหรือ

ผมอยากให้ทุกคนมองคนตาบอดเป็น ‘หนึ่งหน่วยครอบครัว’ เพราะถ้าคุณแยกเขาออกมาอยู่กลางป่ากลางดอยให้เขาทำเกษตรคนเดียว เขาก็ทำไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรามองเห็นคนตาบอดกับครอบครัวเป็นภาพเดียวกัน เขาจะทำได้แน่นอน เพราะสิ่งไหนที่คนตาบอดทำไม่ได้ ก็ให้สมาชิกครอบครัวที่เป็นคนตาดีทำสิครับ ไม่เห็นยากเลย

สิ่งที่สังคมควรเปลี่ยนชุดความคิดให้ได้อีกเรื่องหนึ่งคือ  การฉายภาพซ้ำเรื่องความน่าเวทนาของคนพิการ จนทำให้คนในสังคมหวาดกลัวความพิการ หมายความว่าถ้าวันหนึ่งคุณต้องกลายเป็นคนพิการ หรือมีญาติพี่น้องเป็นคนพิการ มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสุดในชีวิต ชีวิตคุณไม่ได้จบลงเพียงเพราะความพิการบางอย่าง เพราะคุณยังมี ‘ความไม่พิการ’ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นภาระของใคร

ทราบมาว่าทางสมาคมได้จัดทำโครงการ ‘ถนนสู่ดวงดาว’ หรือ ‘From Street to Star’ เพื่อเปลี่ยนแปลงชุดความคิดที่มองคนตาบอดเป็น ‘วณิพกพเนจร’ สู่ ‘ศิลปินเปิดหมวก’ อยากให้ช่วยอธิบายเป้าหมายของโครงการนี้ให้ฟังหน่อย

เราทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนชุดความคิดที่มองคนตาบอดร้องเพลงข้างถนน จากขอทานสู่ศิลปินเปิดหมวก โดยทางสมาคมฯ ผลักดันให้มีการแก้กฎหมายมาเป็นสิบปี จนสำเร็จเมื่อปี 2559 เพื่อแยกคนสองกลุ่มออกจากกัน คือ กลุ่มขอทานซึ่งเป็นอาชีพผิดกฎหมาย กับ ผู้แสดงความสามารถซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องส่งเสริม ไม่จำเป็นต้องเป็นคนตาบอดหรือคนพิการ คนทั่วไปก็สามารถขึ้นทะเบียนในโครงการนี้ได้

การแยกสถานะที่ชัดเจน จะทำให้เราอพยพคนตาบอดและคนพิการที่อยู่ในซีกขอทาน มาอยู่ที่ซีกของผู้แสดงความสามารถ ด้วยการออกบัตรผู้แสดงความสามารถให้คนกลุ่มนี้ โดยพวกเขาต้องมาเข้ารับการอบรมและขึ้นทะเบียนกับเรา โครงการนี้ได้รับความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับค่ายเพลงทั้งหลายที่อนุญาตให้ร้องเพลงของค่ายเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้จดทะเบียนทั้งหมด 2,500 คน เป็นคนตาบอด 1,300 คน ที่เหลือเป็นคนพิการอื่นๆ และคนทั่วไป โดยเรารวมความสามารถทุกประเภทที่เปิดแสดงในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ร้องเพลง เล่นดนตรี กายกรรม ลิเก วาดภาพ โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคนพิการ ใครสนใจเข้าร่วมโครงการนี้สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมของทุกจังหวัด ถ้าในกรุงเทพฯ ติดต่อที่บ้านมิตรไมตรีแถวดินแดง

คนที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องยกระดับพัฒนาตนเองให้ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินเปิดหมวกมากขึ้น เช่น พัฒนาคุณภาพเสียงร้อง ทักษะการแสดงดนตรี หรือการจัดสถานที่แสดงให้มีลักษณะเหมือนศิลปินเปิดหมวก เพื่อไม่ให้คนทั่วไปรู้สึกว่ากำลังให้เงินขอทานเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ไม่ถูกดำเนินคดีในฐานะขอทานอีกต่อไป นี่เป็นอีกหนทางหนึ่งที่เราพยายามลดจำนวนขอทานในสังคมไทย ด้วยการยกระดับให้พวกเขาเป็นศิลปินเปิดหมวกที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น

‘โครงการถนนสู่ดวงดาว’ หรือ ‘From Street to Star’ ยกระดับอาชีพคนพิการ จากขอทานสู่ศิลปินเปิดหมวก
‘โครงการถนนสู่ดวงดาว’ หรือ ‘From Street to Star’ ยกระดับอาชีพคนพิการ จากขอทานสู่ศิลปินเปิดหมวก | ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์
‘โครงการถนนสู่ดวงดาว’ หรือ ‘From Street to Star’ ยกระดับอาชีพคนพิการ จากขอทานสู่ศิลปินเปิดหมวก
‘โครงการถนนสู่ดวงดาว’ หรือ ‘From Street to Star’ ยกระดับอาชีพคนพิการ จากขอทานสู่ศิลปินเปิดหมวก | ภาพจาก เฟซบุ๊ก ต่อพงศ์ เสลานนท์

ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนสังคมไทยให้มีขอทานน้อยลง อยากให้สรุปในส่วนของแต่ละภาคส่วนว่าต้องไปทางไหน

หนึ่ง เราต้องตั้งต้นจากประชาชนทั่วไปก่อน ถ้าวันนี้คุณให้เงินขอทานสิบบาท วันต่อไปให้ลดเหลือห้าบาท แล้วเดือนต่อไปให้เหลือบาทเดียว วันนี้คุณให้สิบคน คุณต้องให้น้อยลงเรื่อยๆ คุณต้องถอนความเคยชินของตัวเองก่อน ต้องใจแข็ง พยายามทนให้ได้กับสภาวะที่เขาน่าสงสาร เพราะถ้าเขายังสามารถทำงานอื่นได้ การให้เงินเขา ก็เหมือนเราเป็นคนป้อนยาพิษเพื่อรักษาโรค

สอง รัฐกับเอกชนต้องจับมือกัน โดยรัฐเองก็ต้องมีกระบวนการในการฝึกอาชีพ ส่วนเอกชนก็ต้องเป็นคนบอกว่า ต้องการอะไร เพราะเอกชนคือตลาด รัฐคือคนป้อนแรงงานกับผลผลิตเข้าสู่ตลาด ผมพยายามเปรียบเทียบให้เห็นสองภาคส่วน คือ ส่วนที่เป็น Demand กับ Supply ซึ่งมันไม่สมดุลกัน เพราะทุกวันนี้เรามีคนพิการเพิ่มขึ้นปีละหนึ่งแสนคน ขณะที่ความต้องการแรงงานพิการมีน้อยมาก

ถ้าคนพิการไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้สุดทาง เขาก็จะไม่มองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ เพราะฉะนั้นการที่คุณไม่มีวิธีการหนุนเสริมให้เขากลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ในทัศนคติของผมมันร้ายแรงมาก เพราะสุดท้ายเราก็ต้องแบกทั้งคนที่ช่วยตนเองได้และคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไปพร้อมกัน แล้วก็แบกไปไม่ไหว อันนี้เป็นปัญหาโดยภาพรวมของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของบ้านเรา ถ้าจะปฏิรูปก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดอันนี้ อย่ามองว่านี่เป็นการช่วยเหลือ แต่ควรมองว่าเป็นการลงทุนกับคน ผลที่ได้ไม่ใช่แค่เงิน แต่ได้ใจด้วย

ถ้าคุณไม่ช่วยคนพิการเหล่านี้ เวลาคุณเดินไปไหนคุณก็จะเห็นแต่ขอทานเต็มเมือง ซึ่งคุณจะไปโทษภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน รัฐก็ทำเต็มที่ของเขา แต่ถ้าเราสามารถส่งคนจากสถานสงเคราะห์เข้าไปฟื้นฟูสร้างอาชีพ แล้วเอกชนก็รับผลผลิตของเขาไปได้ คนเหล่านี้ก็จะมีเงินซื้อบ้านการเคหะ มีเงินกลับไปอยู่กับพี่น้องครอบครัว ทำให้คนอยู่ในที่ของตนเองได้ โดยไม่ต้องออกมานั่งทนแดด ทนฝุ่น ทนร้อน ทนสายตาดูถูกดูแคลน ภาครัฐและภาคเอกชนต้องจับมือกัน ทำงานร่วมกัน มองเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศชาติไปด้วยกัน

ปัญหาใหญ่คือ สิ่งที่เราพูดถึงนี้ ตอนนี้มันยังทำแยกส่วนกันอยู่ ถ้าวันนี้คนสี่ห้าคนมาจับมือกัน กางโป้งเลย เห็นภาพนี้พร้อมๆ กันเลย ภาคเอกชนมีความต้องการแรงงานเป็นพันเป็นหมื่นคน ขอทานก็จะเห็นความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น แล้วถ้าคนทั่วไปให้เงินขอทานน้อยลง เขาก็จะมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนอาชีพจากขอทานมาเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้นในตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ต้องทำพร้อมกัน แต่ทุกวันนี้เราทำไม่พร้อมกัน มันถึงเปลี่ยนไม่ได้

สิ่งที่อยากฝากถึงสังคมไทย

เราอย่าไปแยกเขาออกมาจากครอบครัว อย่าไปแยกเขาออกจากชุมชน อย่าให้เขาอยู่ในสังคมที่มีเฉพาะคนตาบอดหรือคนพิการเท่านั้น ถ้าเราให้เขาอยู่ร่วมกับคนในสังคมทั่วไป ให้เขาได้ทำงานร่วมกับคนทั่วไป คนพิการจะมีงานทำเพิ่มมากขึ้นอยากแน่นอน เพราะยังมีงานอีกมากมายที่คนพิการทำได้ดี ขอเพียงแค่เปิดโอกาสให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

อย่าคิดว่าถ้าจ้างคนพิการต้องกดค่าแรงให้ต่ำกว่าคนทั่วไป ถ้าสังคมเปิดโอกาสให้คนพิการทำงานตามศักยภาพที่เขามีอยู่อย่างเต็มที่ ให้เขาได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป คนพิการก็จะไม่เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมไทย เราจะสามารถปิดโรงงานขอทานในสังคมไทยได้อย่างแน่นอน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018