fbpx

‘แอรโดก์อาน อะเกน’ เปิดม่านการเมืองตุรกีหลังเลือกตั้งใหญ่ กับ ยาสมิน ซัตตาร์

14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันตัดสินอนาคตประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งใหญ่ ไกลออกไปยังฝั่งตะวันตกของเอเชีย ติดกับยุโรป ‘ตุรกี’ ประเทศที่มีบทบาทโดดเด่นในการเมืองระหว่างประเทศ แต่กลับปรากฏในการรับรู้ของคนไทยค่อนข้างเบาบาง ก็มีการจัดเลือกตั้งระดับชาติเช่นกัน การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตามองจากทั่วโลกว่าจะเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองขึ้นหรือไม่ หลังจากผลงานของรัฐบาลในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นข้อผิดพลาดมากมายจนหลายคนคิดว่าพรรครัฐบาลไม่น่าได้ไปต่อ

การแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสีระหว่าง เรเจป ทัยยิบ แอรโดก์อาน ผู้นำที่ครองอำนาจมา 20 ปี จากพรรค Justice and Development Party (AKP) กับ เคมาล คึลึชดาร์โอก์ลู แคนดิเดตของแนวร่วมฝ่ายค้าน จากพรรค Republican People’s Party (CHP) ผลการเลือกตั้งออกมาว่าไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกิน 50% โดยแอรโดก์อานได้รับคะแนน 49.4% มากกว่าคึลึชดาร์โอก์ลูอยู่ราว 3% ทำให้ต้องไปตัดเชือกกันในการเลือกตั้งรอบที่สอง ซึ่งจัดห่างออกไป 2 สัปดาห์ ท้ายสุดชัยชนะก็ยังเป็นของแอรโดก์อาน ทำให้เขาก้าวเข้าสู่สมัยที่ 3 ในฐานะผู้นำประเทศ

หากวิกฤตคือเครื่องพิสูจน์ฝีมือของผู้นำ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงทำให้หลายนักวิชาการ หลากนักวิเคราะห์ เห็นตรงกันว่าวิกฤตที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน ประชาชนหลักล้านต้องไร้ถิ่นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานพังทลายไม่เหลือสภาพ น่าจะปิดฉากชีวิตทางการเมืองของแอรโดก์อาน

ย้อนไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรค AKP ของแอรโดก์อานผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเหตุการณ์ ทั้งโรคระบาด อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงทุบสถิติ สงครามในประเทศข้างเคียง ความขัดแย้งกับกลุ่มชาวเคิร์ด ที่สั่นสะเทือนที่สุดเห็นจะเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 อันเป็นหมุดหมายสู่การกระชับอำนาจผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคงไว้ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากขึ้น ทั้งยังใช้มาตรการเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ควบคุมสื่อ และดำเนินความสัมพันธ์ชิดใกล้กับประเทศที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพโลก

เหตุการณ์เหล่านี้เปลี่ยนโฉมหน้าตุรกีที่เคยเป็นแบบอย่างด้านประชาธิปไตย-เป็นที่รักของชาติตะวันตก ให้เคลื่อนเข้าใกล้คำว่า ‘รัฐเผด็จการ’ อันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายประเทศ แต่เสียงจากคนนอกอาจไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของคนในเสมอไป เพราะสุดท้ายแอรโดก์อานก็อยู่ต่อ

ยากจะจินตนาการว่าผู้นำที่ครองอำนาจมานานถึง 20 ปี สามารถครองเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนได้อย่างไร และทำไมผู้นำที่อาจถูกจัดอยู่ในหมวดผู้นำเผด็จการในสายตาของหลายประเทศจึงยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่ประชาชนไว้วางใจให้นำประเทศในห้วงเวลาแห่งความท้าทายนี้

หลังผลการเลือกตั้งตุรกีออกได้ไม่นาน 101 สนทนากับ ผศ.ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกี ร่วมทำความเข้าใจการเมืองตุรกีอย่างเข้มข้นกับผู้เชี่ยวชาญ ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดสะท้อนอะไร และทำไมชัยชนะของแอรโดก์อานจึงเป็นการหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์หลายสำนัก

ผศ.ดร.ยาสมิน ซัตตาร์

ก่อนวันเลือกตั้ง สื่อตะวันตกหลายสำนักและนักวิชาการจำนวนมากต่างคาดการณ์ว่าแอรโดก์อานมีโอกาสแพ้เลือกตั้งสูง แต่จริงๆ แล้วชัยชนะของแอรโดก์อานเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไหม หรือถือว่าหักปากกาเซียนหมดเลย

นักวิชาการบางส่วนมองว่าชัยชนะของแอรโดก์อานเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ ตั้งแต่เห็นความลังเลของพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศตัวผู้ท้าชิงตำแหน่งกับแอรโดก์อานล่าช้า แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนมากมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ท้าทายมากสำหรับแอรโดก์อาน สุดท้ายเมื่อผลออกมาแอรโดก์อานก็ไม่ได้ชนะตั้งแต่รอบแรก จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สอง และเฉือนชนะด้วยคะแนนที่ไม่ได้ห่างกับฝ่ายค้านมากนัก

ส่วนตัวตอนเห็นกระแสในระยะแรก คิดว่าแอรโดก์อานอาจจะแพ้ เพราะถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสาธารณรัฐตุรกี ทุกครั้งที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงมากๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมือง แต่พอฝ่ายค้านเปิดตัวแคนดิเดต อีกทั้งมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็พอคาดการณ์ได้แล้วว่าแอรโดก์อานน่าจะชนะอีกครั้ง

สาเหตุที่คาดการณ์เช่นนี้ ถ้าดูแบบแผนการเมืองตุรกีจะพบว่าเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่จะไม่กล้าตัดสินใจเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลง อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้คนตัดสินใจเลือกแอรโดก์อานคือประชาชนตุรกียังไม่เห็นผลงานของฝ่ายค้าน เลยไม่มั่นใจว่าจะรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นความท้าทายใหญ่ในขณะนี้ได้

แต่หลายฝ่าย โดยเฉพาะสื่อตะวันตก มองว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อรัฐบาลแอรโดก์อาน ทั้งการเตือนภัยและการรับมือต่อภัยพิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพ ความละเลยของรัฐในการควบคุมมาตรฐานสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งยังมีปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า 64% อยากทราบว่าคนในพื้นที่มองอย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจลงคะแนนให้แอรโดก์อานอีกสมัย

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ถ้าดูข่าวที่สื่อตะวันตกนำเสนอ จะเห็นว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล่าช้า แต่ถ้าเราไปคุยกับผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะพบว่าประชาชนไม่ได้โกรธรัฐบาล กลับกันเขารู้สึกว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว แอรโดก์อานยังเดินทางไปทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแล้วขอโทษประชาชนทุกคน พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นี่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในพื้นที่ประสบภัยยังให้โอกาสแอรโดก์อานอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้พรรค AKP ครองเสียงข้างมากในเมืองที่เกิดแผ่นดินไหว

กรณีในเมืองฮาทาย (Hatay) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดแห่งหนึ่งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พอผลการเลือกตั้งรอบแรก (14 พฤษภาคม) ออกมาว่าคนเลือกแอรโดก์อานมากกว่าฝ่ายค้าน ความช่วยเหลือหลายอย่างก็ถูกระงับไปก่อนเกิดการเลือกตั้งครั้งที่สอง (28 พฤษภาคม) ซึ่งผู้ว่าการจังหวัดขณะนั้นเป็นคนของพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งส่งผลให้คนในพื้นที่เทคะแนนให้แอรโดก์อานมากขึ้น

ส่วนปัญหาสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างอาคารที่พังทลาย ส่วนใหญ่สร้างขึ้นก่อนพรรค AKP เป็นรัฐบาล AKP เองก็มีความฉลาดในการสื่อสารกับประชาชน เขาเลือกที่จะพูดว่าตึกที่สร้างใหม่ไม่พบปัญหา ตึกส่วนใหญ่ที่เกิดความเสียหายและไม่ได้มาตรฐานเป็นตึกที่สร้างมานานแล้วและไม่ได้มีการตรวจสอบ

ถ้ามองในมุมที่สื่อตะวันตกตั้งคำถามว่าแล้วทำไมรัฐบาลที่อยู่มาเป็น 20 ปีไม่จัดการอะไรเลยในระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งที่ทราบว่าเป็นตึกเก่าและไม่ได้มาตรฐาน ตรงนี้สามารถวิจารณ์ว่าเป็นความบกพร่องของรัฐบาลปัจจุบันได้แน่นอน แต่การสื่อสารอย่างชาญฉลาด ความช่วยเหลือและการฟื้นฟูที่ทันเวลาในทัศนะของผู้ได้รับผลกระทบได้ลบกลบความบกพร่องนั้นไป เป็นเหตุผลที่ทำให้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวกลับมาเลือกแอรโดก์อานอีกครั้ง

หากมองไปที่ฝ่ายค้าน ดูเหมือนว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพ่ายแพ้คือการให้เคมัล คึลึชดาร์โอก์ลูเป็นแคนดิเดตของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

คึลึชดาร์โอก์ลูเติบโตทางการเมืองมากับพรรคฝ่ายค้านคือพรรค CHP โดยตลอด แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้อยู่ตลอด เขาเคยลงแข่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมืองอิสตันบูลปี 2009 และพ่ายแพ้ เช่นเดียวกัน CHP ภายใต้การนำของคึลึชดาร์โอก์ลูไม่เคยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเลย นับตั้งแต่ปี 2011 การเปิดตัวแคนดิเดตของฝ่ายค้านที่รวมกันถึง 6 พรรคอย่างล่าช้าในครั้งนี้ยังสะท้อนว่าภายในแนวร่วมเองคงตัดสินใจยากว่าจะหาใครขึ้นมาสู้กับแอรโดก์อานได้

อีกประเด็นสำคัญคือคึลึชดาร์โอก์ลูเคยโดนวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีคัดค้านการให้สิทธิทางศาสนา แม้หลายปีที่ผ่านมาจะเปลี่ยนไปสนับสนุนเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักการศาสนามากขึ้น แต่ก็ยังทำให้คนตุรกีที่นิยมศาสนาอิสลามกังวลว่าสิทธิของเขาจะถูกลิดรอนหากได้คึลึชดาร์โอก์ลูเป็นผู้นำ เนื่องจากอุดมการณ์หลักของพรรค CHP ยังมุ่งเน้นแนวทางแบบเคมาลิสม์ (Kemalism) หลักการที่กดทับเสรีภาพทางศาสนาให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เริ่มใช้ในยุคของเคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีสมัยใหม่ นโยบายในอดีตที่ยึดหลักการนี้ เช่น การห้ามสวมฮิญาบ

เว็บไซต์ข่าวตะวันออกกลาง Middle East Eye ให้อีกมุมมองที่น่าสนใจว่า คึลึชดาร์โอก์ลูจาก CHP และอีก 5 พรรคฝ่ายค้านที่มารวมกันค่อนข้างจะเชื่อมั่นมากๆ ว่าจะชนะขาดตั้งแต่การเลือกตั้งรอบแรก ฉะนั้นฝ่ายค้านเลยไม่มีแผนสำรอง และด้วยความที่สื่อของตุรกีเป็นสื่อเลือกข้าง เมื่อฝ่ายค้านฟังสื่อที่อยู่ข้างตัวเองเท่านั้นก็ยิ่งเชื่อมั่นในชัยชนะ ฝ่ายค้านเลยไม่ได้คิดเผื่อว่าถ้าไม่ชนะขาดมากกว่า 50% ในรอบแรกจะเดินเกมอย่างไรต่อ

พอต้องไปสู่การเลือกตั้งรอบสองแบบปราศจากยุทธศาสตร์ พรรคฝ่ายค้านจึงหวังเรียกคะแนนเสียงด้วยการหยิบเอาอุดมการณ์ชาตินิยมเข้มข้น (ultra nationalist) โดยบอกว่าจะส่งผู้ลี้ภัยซีเรียทั้งหมดกลับประเทศ ประเด็นนี้ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเอง เช่นพรรค SAADET ของ Temel Karamollaoğlu หรือพรรค DEVA ของ Ali Babacan ซึ่งเป็นพรรคที่แตกมาจากพรรครัฐบาล AKP ไม่พอใจที่ CHP ชูนโยบายนี้ขึ้นมา

ประชาชนตุรกีส่วนใหญ่กังวลเรื่องการส่งผู้ลี้ภัยกลับ เพราะไม่มั่นใจความพร้อมของประเทศต้นทางอย่างซีเรีย ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยซีเรียอยู่ในตุรกี 4 ล้านกว่าคน ถ้าผลักกลับแล้วไปค้างอยู่ทางเข้ายุโรปเพราะเข้าสู่แผ่นดินตัวเองไม่ได้ สถานการณ์จะปะทุเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยขึ้นในยุโรปอีกระลอก ความขัดแย้งจะบานปลายอีกหรือไม่ ผู้คนยังตั้งคำถามถึงหลักการที่ไม่ควรบังคับกลับหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชนทั่วไป

นอกจากนโยบายในโค้งสุดท้ายจะทำให้เห็นความแตกแยกในพรรคร่วม นักวิเคราะห์หลายคนยังเห็นตรงกันว่านโยบายนี้ทำให้คึลึชดาร์โอก์ลูไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคนกลุ่มใหญ่

ฉากทัศน์แบบใดที่ฝ่ายค้านมีโอกาสจะพลิกมากุมชัยชนะในสมัยหน้าได้

ฉากแรก CHP ต้องทบทวนยุทธศาสตร์และถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าการขึ้นมาของ CHP จะไม่ทำให้คนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองถูกเลือกปฏิบัติ หรือสิทธิทางศาสนาจะไม่ถูกละเมิดแบบที่เคยเป็น แต่โจทย์ใหญ่เร่งด่วนคือ CHP ต้องหาผู้นำที่สามารถขับเคี่ยวกับแอรโดก์อานได้

ฉากที่สอง คือไม่ต้องหวังพึ่ง CHP แต่สร้างตัวเลือกใหม่ขึ้นมา เหมือนพรรคก้าวไกลของไทย คนรุ่นใหม่ตุรกีจำนวนมากมีศักยภาพสูง แต่จะดึงเขาเข้าสู่สนามการเมืองได้ไหม และจะสนับสนุนให้มาอยู่ในพื้นที่ที่คนสนใจได้อย่างไร ถ้าย้อนกลับไปดูแอรโดก์อานในช่วงทศวรรษ 1990 ก็มีคุณสมบัติที่สดใหม่แบบนี้ เขากล้าพูดถึงปัญหาในหลายมิติของประเทศ และเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม หลังชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าการนครอิสตันบูล ประชาชนต่างก็จับจ้องนักการเมืองคนนี้

อีกฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือพรรค AKP อ่อนแอด้วยตัวเอง หรือไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอย่างเรื่องเศรษฐกิจได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้

แอรโดก์อานขณะกล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุนในนครอิสตันบูล | ภาพจากเฟซบุ๊ก Recep Tayyip Erdoğan

สื่อจำนวนหนึ่งบอกว่าชัยชนะของแอรโดก์อานเป็น ‘rule of the rural’ เมื่อดูคะแนนรายพื้นที่จะเห็นว่า ประชาชนในเมืองเศรษฐกิจ เช่น อิสตันบูล อังการา อิซมีร จะเทคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านมากกว่า ส่วนแอรโดก์อานกวาดคะแนนในเมืองที่เศรษฐกิจไม่ดีนักจนได้ชัยชนะ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

ผลที่ออกมาแบบนี้เป็นที่เข้าใจได้ ประการแรก เมื่อเกิดปัญหาค่าเงินอ่อนลงมากๆ คนที่กระทบหนักคือนักธุรกิจ ซึ่งกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเหล่านี้ คนย่อมไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของแอรโดก์อาน

ประการที่สอง คนเมืองไม่ได้รู้สึกศรัทธาในศาสนาขนาดนั้น เขาจะมีความคิดแบบยุโรป ถ้าดูคะแนนเมืองที่ติดกับยุโรป จะเห็นเลยว่าเทให้ฝ่ายค้านกันหมด ประชาชนในเมืองที่เศรษฐกิจไม่ดีนักอาจจะเชิดชูความเป็นอิสลามนิยมและศักยภาพของแอรโดก์อานที่พาตุรกีมาอยู่ในบทบาท ‘พี่ใหญ่ของโลกมุสลิม’ ได้ อีกทั้งให้ความช่วยเหลือมุสลิมทั่วโลก ซึ่งคนในเมืองไม่ค่อยรู้สึกร่วมด้วย

ประการที่สาม วิเคราะห์ได้ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีตัวเลือกที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้ ชาวบ้านไม่ได้คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจระดับมหภาคเหมือนคนในเมืองใหญ่ เมื่อเรื่องปากท้องยังเป็นข้อกังวลใหญ่ เขาเลยคิดว่าเลือกคนเดิมดีกว่า อย่างน้อยก็เคยเห็นผลงาน ก่อนหน้านี้ AKP ก็เคยพาตุรกีผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้ ที่สำคัญ แอรโดก์อานเป็นคนที่เก่งในการรับมือกับวิกฤต รูู้ว่าจะดึงสถานการณ์ให้ประชาชนรู้สึกร่วมไปกับเขาอย่างไร กล่าวได้ว่าการเป็นผู้นำที่มีบารมีก็มีส่วนด้วย

ประการสุดท้าย การชูความเป็นชาตินิยมของ AKP และการจับมือกับพรรค MHP (Nationalist Movement Party) ที่ผลักดันเรื่องชาตินิยมชาวเติร์ก ยังซื้อใจประชาชนในหลายเมืองได้

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่แอรโดก์อานอยู่ในตำแหน่งมา 20 ปี ย่อมมีเวลาพิสูจน์ฝีมือและสร้างแต้มต่อให้ถูกจดจำได้มากกว่าพรรคฝ่ายค้าน แอรโดก์อานขึ้นสู่ตำแหน่งตอนตุรกียังไม่เป็นที่จดจำในการเมืองโลก แต่ก็เข้ามาวางรากฐาน พัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างหลายอย่างจนพาตุรกีไปยืนอยู่ในจุดที่โลกไม่สนใจไม่ได้ 

ศาสนาถือว่าตัวแปรสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางการเมืองตุรกีไหม หรือสำคัญขนาดไหน

สำคัญแต่อาจไม่ได้สำคัญที่สุด ต้องยอมรับว่าหลายคนที่ยังสนับสนุนแอรโดก์อาน เพราะกังวลว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านขึ้นมาแล้ว จะทำให้สิทธิและเสรีภาพทางศาสนาที่มีอยู่ถูกลิดรอนไป ผู้คนยังฝังใจกับยุคก่อนที่ AKP จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2002 ก่อนหน้านั้นตุรกีไม่อนุญาตให้มีการสวมฮิญาบเพราะต้องยึดมั่นไว้ซึ่งความเป็น secular state (รัฐโลกวิสัยหรือรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา) หลายคนที่พูดเรื่องศาสนาในพื้นที่สาธารณะจะถูกจับ หรืออาจจะต้องหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ

อีกกลุ่มที่เป็นกังวลหากได้ผู้นำที่ยึดความเป็น secular state อย่างเข้มข้น คือ NGO ที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย หนุนเสริมการทูตเชิงมนุษยธรรมของตุรกีที่เข้าไปช่วยเหลือประเทศที่ชาวมุสลิมได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งหรือสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ NGO เหล่านี้มีอาสาสมัครและเครือข่ายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ คนที่ทำงานในแวดวงนี้เลยกังวลว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านขึ้นมา จะยังคงสนับสนุนการทำกิจกรรมเหล่านี้และให้เงินสนับสนุนการช่วยเหลือมุสลิมในประเทศอื่นๆ หรือไม่

ถ้าจะให้สรุป การนำประเด็นทางศาสนามาใช้ทางการเมืองก็เหมือนการต่อสู้กันของชุดอุดมการณ์สองแบบของไทย แต่ของตุรกีจะเป็นไปในรูปแบบที่ฝ่ายหนึ่งยังคงอยากรักษามิติอัตลักษณ์ ทั้งความเป็นเติร์กและความเป็นมุสลิม ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีความเห็นว่าต้องขยับเรื่องศาสนาออกไปแล้วหันมาเน้นความเป็น secularism ที่ตุรกีเคยผลักดันเพื่อให้กลับเข้าไปอยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

เคมาล คึลึชดาร์โอก์ลู (กลาง) แคนดิเดตแนวร่วมฝ่ายค้าน จากพรรค CHP ขณะลงพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว | ภาพจากเฟซบุ๊ก Cumhuriyet Halk Partisi – CHP

คนรุ่นใหม่ในตุรกีคิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีตัวเลือกมาก หลายเสียงบอกว่าเป็นการเมืองคนแก่ที่มองไปทางไหนก็ไร้ความหวัง

แน่นอน หลายคนมองว่าแอรโดก์อานอยู่มานานแล้ว มากพอจะถึงจุดที่ประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาของตุรกีในภาพรวมตอนนี้ยังไม่สามารถหาผู้นำที่แข็งแกร่งพอที่จะทดแทนแอรโดก์อานได้ นี่เลยเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนในตุรกี คนรุ่นใหม่เองก็บอกว่าเขาอยากได้ทางเลือกอื่น แต่สุดท้ายเมื่อมีทางเลือกเท่านี้ก็จำใจเลือกไป

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังสนับสนุนแอรโดก์อานอยู่ก็เพราะพรรค AKP มีการทำงานร่วมกับเยาวชน รวมถึงมีพรรคใหม่ๆ ที่ไปร่วมกับ AKP ช่วยเพิ่มสีสันคนรุ่นใหม่ฝั่งนิยมอิสลามมากขึ้น

การมีผู้นำที่เข้มแข็ง (strong man) มากๆ อาจจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางมิชอบ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นว่าแอรโดก์อานใช้นโยบายละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนบ่อยครั้ง ทำไมคนตุรกียังอยากได้ strong man อยู่

อาจมองได้ว่านี่คือธรรมชาติของชาวเติร์ก รากเหง้าของเขาคือชนเผ่านักรบเลยต้องการอะไรที่มีความเด็ดขาด ธรรมชาติทางการเมืองของตุรกีที่ผ่านมาก็มีเรื่องการใช้อำนาจในลักษณะที่กดทับสิทธิคนบางกลุ่มให้เห็นเรื่อยๆ ตอนฝ่ายค้านปัจจุบันอยู่ในอำนาจ กลุ่มที่ต้องการปฏิบัติตามหลักการศาสนาในพื้นที่สาธารณะก็ถูกกดและถูกละเมิดสิทธิเหมือนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกระทำกับบางกลุ่ม

ตุรกีเคยมียุคที่เสรีภาพเบ่งบาน สิทธิมนุษยชนถูกฟื้นฟู เป็นที่ตอน AKP ขึ้นมาใหม่ๆ ช่วงนั้นรัฐบาลต้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับ Copenhagen criteria เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่สุดท้ายพอเกิดแรงผลักหลายทาง โดยเฉพาะเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2010 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดแรกที่ทำให้ตุรกีภายใต้การนำของแอรโดก์อานรู้สึกว่าจะดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ตุรกีเริ่มตะหนักถึงภัยคุกคามและความท้าทายจากหลายทิศทางอันเป็นผลพวงจากที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์

แอรโดก์อาน สมาชิกพรรค AKP และพรรคร่วม ประกาศชัยชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา | ภาพจากเฟซบุ๊ก Recep Tayyip Erdoğan

ความท้าทายที่ว่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ตั้งแต่สงครามในซีเรียปะทุขึ้นในปี 2011 ตุรกีก็จำเป็นต้องรับผู้ลี้ภัยเข้าจำนวนมาก พอปี 2013 อาหรับสปริงเริ่มส่งอิทธิพลมาถึงตุรกี เกิดการประท้วงรัฐบาล เริ่มที่ Gezi Park แล้วขยายไปทั่วประเทศ ช่วงเวลาเดียวกันนั้น กลุ่ม ISIS ก่อตั้งขึ้นแล้ว มีการปฏิบัติการและใช้ความรุนแรงในตุรกีด้วย อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายติดอาวุธชาวเคิร์ดที่ไประเบิดรถบัส ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พอเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ตุรกีก็มีการปรับว่าต้องป้องกันตัวเอง นโยบายที่เคยคุยกันได้ ก็เปลี่ยนเป็นการเผชิญหน้ามากขึ้น 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ คือตอนปี 2016 มีความพยายามก่อรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตุรกีเดินมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าน่าเป็นห่วงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ

วิธีการที่แอรโดก์อานใช้รับมือกับกลุ่มที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารคือการจับกุม ซึ่งเขามองว่าเพื่อแลกกับ 100 กว่าชีวิตที่สูญเสียไป อีกทั้งมีประชาชนและตำรวจได้รับบาดเจ็บในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก ด้านกองทัพ ซึ่งเป็นสถาบันที่แอรโดก์อานเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังอยู่ในนี้ ก็ถูกปรับโครงสร้างอำนาจภายใน ให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำและไม่มีศักยภาพในการทำรัฐประการอีกในอนาคต ทั้งหมดนี้แอรโดก์อานกล่าวว่าทำไปเพื่อปกป้องตุรกีจากภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความพยายามก่อรัฐประหารยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2017 ให้มีการยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนจากระบบรัฐสภาเป็นระบบประธานาธิบดีที่มีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่าเป็นการเปลี่ยนในเชิงกฎหมายเพื่อให้แอรโดก์อานยังอยู่ในอำนาจ แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนก็บอกว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้ตุรกีสามารถดำเนินการหลายๆ อย่างได้สะดวกมากขึ้น และยังมีชุดคำอธิบายที่ว่าการเปลี่ยนระบบครั้งนี้ผ่านการศึกษามาแล้วว่ามีความเหมาะสมกับตุรกี

ตอนนั้นคนตุรกีคิดเห็นอย่างไรต่อการทำรัฐประหาร

แม้คนตุรกีจำนวนหนึ่งจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายอันแข็งกร้าวของแอรโดก์อาน แต่หลักการที่ยึดมาตลอดคือ ‘ไม่เอารัฐประหาร’ ประชาชนจะบอกว่าให้การเลือกตั้งตัดสิน ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้แพ้ ก็รอเลือกตั้งครั้งใหม่ตามวิถีประชาธิปไตย

ตุรกีเคยอยู่ในวังวนรัฐประหารมาแล้วเป็นเวลากว่า 20 ปี ตอนทศวรรษ 1960-1980 มีการรัฐประหารหลายครั้งในช่วงนั้น จนเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง หลัง 1980 ก็ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ยกเว้นตอนปี 1997 ที่กองทัพไปแอบกระซิบรัฐบาลว่าไปออกไปได้แล้ว ตอนนั้นพรรค Welfare Party นำโดยเนคเมตติน แอร์บาคาน (Necmettin Erbakan) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ต้องการดำเนินนโยบายแบบอิสลามนิยม แต่ท้ายสุดก็ถูกกองทัพกดดันให้ลงจากตำแหน่งเพราะมองว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้หลักการเคมาลิสม์ต้องพังทลาย สามารถเรียกเหตุการณ์นี้ว่า post-modern coup ได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนแอรโดก์อานหรือไม่ ณ วันที่มีคนพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 ประชาชนจำนวนมากออกมาเต็มท้องถนนเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารในวันนั้น

ด้านการต่างประเทศ หลังตุรกีเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นแบบประธานาธิบดี ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกและในภูมิภาคเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่แอรโดก์อานชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นช่วงเดียวกับที่การแข่งขันของมหาอำนาจทวีความร้อนแรงขึ้น รัสเซียเริ่มเข้ามามีบทบาทในสงครามซีเรีย จีนผงาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตุรกีในอีกสถานะที่เป็นสมาชิกนาโต ถือเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ต้องแสดงบทบาทเพื่อถ่วงดุลผู้เล่นเหล่านี้ พูดได้ว่าตุรกีวางตัวลำบากพอสมควร พอแอรโดก์อานคุยกับปูตินก็ถูกวิจารณ์ว่าเลือกข้างรัสเซีย พอผิดใจกับรัสเซียก็จัดว่าเลือกข้างสหรัฐฯ

ช่วงการระบาดของโควิด รัฐบาลแอรโดก์อานก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อควบคุมโรค ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นได้ว่าแอรโดก์อานพยายามไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร เริ่มรู้แล้วว่าควรถ่วงดุลกับใคร เวลาไหน และรู้ว่าจะวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองไว้ตรงไหนในเวทีโลก โดยเฉพาะตอนที่ตุรกีเสนอตัวไปเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซีย ตุรกีเองมองว่าถ้าสามารถแสดงบทบาทนี้ได้จะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ในมิติการเมืองระหว่างประเทศในสายตาตะวันตกขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในหมู่นาโตและยุโรป

ที่ผ่านมานโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาวเคิร์ดของแอรโดก์อานเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก การเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นประเด็นชาวเคิร์ดอยู่ในสมการการเมืองบ้างไหม

ตอนที่รัฐบาล AKP พยายามเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อหาข้อยุติกับกลุ่มชาวเคิร์ด เป็นช่วงเดียวกับที่ชาวเคิร์ดในซีเรียแสดงออกว่าต้องการรื้อฟื้นแนวคิดการก่อตั้งเคอร์ดิสถาน การเคลื่อนไหวนี้ส่งอิทธิพลมายังตุรกีด้วย พอเริ่มมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากชาวเคิร์ด แผนที่จะเจรจาก็ล่มไป รัฐบาลตุรกีหันมาตอบโต้อย่างรุนแรง ใช้นโยบายเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิต่อชาวเคิร์ดมาโดยตลอด  

แต่ในช่วงหลัง พรรค AKP หันมาสนับสนุนพรรคคนรุ่นใหม่ชาวเคิร์ดที่มีอุดมการณ์แบบศาสนานิยม ซึ่งไปกันได้กับ AKP เพื่อให้เป็นตัวเลือกใหม่สำหรับชาวเคิร์ดที่จะขับเคี่ยวกับพรรค HDP (Peoples’ Democratic Party) ซึ่งขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่องสิทธิของชาวเคิร์ดมาอย่างต่อเนื่องได้ รอบนี้พรรคชาวเคิร์ดที่ AKP สนับสนุนได้ไป 4 ที่นั่ง ส่วน HDP ก็ยังครองเสียงข้างมากในพื้นที่ของชาวเคิร์ด

ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคคนเก่าของ HDP ถูกจับกุม แต่พรรคก็ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้ครั้งนี้ HDP จะไม่ได้เป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนคึลึชดาร์โอก์ลูมากกว่าแอรโดก์อานอยู่แล้ว

ด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย เราเห็นสัญญาณอะไรในการเลือกตั้งครั้งนี้บ้างไหม

สหรัฐฯ ไม่ได้วางตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนว่าจะยืนอยู่ข้างฝั่งไหน บางคนกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ สนับสนุนชาวเคิร์ดในซีเรีย หรือพูดถึงกลุ่มเคิร์ดบ่อยๆ บ่งชี้ได้ว่าสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายค้าน แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนไม่ได้ส่งสัญญาณชัดขนาดนั้น

ท่ามกลางภาวะสงครามที่รัสเซียไม่มีท่าทีจะถอยในตอนนี้ อเมริกายังต้องการตุรกีเป็นพันธมิตร เพราะตุรกีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะรับมือกับรัสเซียได้ อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากยูเครน มีเพียงทะเลดำกั้น ที่สำคัญคือแอรโดก์อานเป็นคนที่คุยกับปูตินได้ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ตุรกีที่นำด้วยแอรโดก์อานยังจำเป็นอยู่ แม้จะมีกระแสจากฝั่งสมาชิกนาโตว่าควรไล่ตุรกีออก แต่ในความจริงเป็นเรื่องยาก หลายฐานทัพที่สำคัญของสหรัฐฯ ยังอยู่ในตุรกี และอเมริกายังจำเป็นที่จะใช้ฐานทัพเหล่านั้นในการคานอำนาจกับรัสเซีย

ถ้าขยับมาที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ตุรกีเป็นหนึ่งในสามประเทศทรงอิทธิพลร่วมกับซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน จึงเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้สำหรับสหรัฐฯ ในการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ถ้ามองไปไกลกว่าระดับภูมิภาค ตุรกียังเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อประเทศในโลกมุสลิม

ส่วนท่าทีจากฝั่งรัสเซีย ไม่แปลกใจที่จะเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งสารแสดงความยินดีกับแอรโดก์อาน แม้ตุรกีจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ตุรกีไม่ได้ถึงขั้นคว่ำบาตรรัสเซีย ยังคงมีการซื้ออาวุธ เครื่องบินรบจากรัสเซีย เป็นดีลที่สหรัฐฯ ไม่ปลื้มเอามากๆ แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าต่อให้อยากตัด แต่ก็ตัดไม่ได้

มีประเด็นถกเถียงที่ว่าตุรกีในสมัยของแอรโดก์อานจัดว่าปกครองด้วยระบอบใด เพราะขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งตามขนบประชาธิปไตยก็จริง แต่บริหารเอนเอียงไปทางเผด็จการ เราจัดวางได้ไหมว่าตุรกีอยู่เฉดไหน หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องนิยามแล้ว

ประเด็นนี้คงไม่ใช่เพียงตุรกีประเทศเดียว แต่น่าจะเป็นทั่วโลกเลย ณ วันนี้ การนิยามว่าการปกครองแบบนั้น แบบนี้เป็นเฉดไหนของการเมืองอาจจะไม่จำเป็น เพราะในแต่ละสถานการณ์ที่แต่ละชาติเผชิญ ย่อมมีการตอบสนองที่ต่างกันออกไป จนหลายครั้งอาจจะเป็นประชาธิปไตยอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นเผด็จการได้ จะบอกว่าตุรกีในสมัยของแอรโดก์อานเอนไปทางเผด็จการก็ฟังขึ้นเพราะอยู่ในอำนาจยาวนาน มีการใช้มาตรการรุนแรงกับผู้เห็นต่าง กดปราบฝ่ายที่มองว่าเป็นภัยคุกคาม

อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างเห็นด้วยว่าไม่จำเป็นต้องมาจัดวางกันแล้ว แต่มาดูกันว่ารัฐบาลตอบสนองและทำอะไรในสภาวการณ์หนึ่งๆ น่าสนใจว่าหลายประเทศในตะวันออกกลางมีความเป็นเผด็จการมากกว่าตุรกีเสียอีก เช่น ซาอุดิอาระเบียกับคดีการสังหารจามาล คาชอกกี แต่กลับไม่ถูกเพ่งเล็งหรือถูกประณามว่าเป็นเผด็จการมากเท่าตุรกี คนตุรกีเขามองว่าตัวเองเป็นชาติที่ถูกเลือกปฏิบัติจากตะวันตก มีนักวิชาการตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วเป็นเพราะแอรโดก์อานมีความเป็นเผด็จการสูงจริงๆ หรือเพราะตุรกีในสมัยของแอรโดก์อานดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นอิสระ ไม่เดินตามมหาอำนาจใดเป็นพิเศษ สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ว่าจะวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองไว้ตรงไหน ความสามารถแบบนี้ไม่ได้มีมหาอำนาจกลางหลายประเทศนักที่จะทำได้

ประชาชนในกรุงอังการาประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2016 | ภาพจาก Wikimedia Commons

เรื่องสิทธิมนุษยชนในตุรกีถูกหยิบมาเป็นข้อวิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง สำหรับชาวตุรกีเองแล้ว ความเข้าใจต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างไปจากตะวันตกไหม

ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในทัศนะชาวตุรกีจะเป็นไปในลักษณะที่ว่า ‘อย่างน้อยสิทธิความเป็นมนุษย์ต้องไม่ถูกละเมิด’ ตุรกีมักกล่าวอ้างว่าเขาจับกุมแต่ไม่ได้ถึงขั้นฆ่าเหมือนกรณีที่ซาอุดิอาระเบียทำกับคาชอกกี หรือตุรกีจับกุมแต่ไม่ได้ทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตเหมือนที่สหรัฐฯ ในสมัยบุชทำกับประชาชนในอิรัก

จากมุมคนที่มองเข้าไป เราจะพบว่ามีชุดคำอธิบายที่หลากหลายมาก เช่น ฝั่งหนึ่งบอกว่าแอรโดก์อานละเมิดสิทธิมนุษยชนมากๆ ฝั่งผู้สนับสนุนจะบอกว่าแอรโดก์อานเป็นคนที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพทางศาสนา เป็นผู้นำที่สนับสนุนความเป็นมนุษยธรรมนิยม (humanitarianism) ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับคนซีเรียอย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกันตุรกีก็มีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือมุสลิมที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในต่างประเทศ เช่น ชาวปาเลสไตน์ ชาวโรฮิงญา โดยส่งความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย ฉะนั้นเลยมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังรู้สึกร่วมกับตุรกีในฐานะพี่ใหญ่ผู้ให้ความช่วยเหลือแก่มุสลิมที่ตกทุกข์ได้ยาก

อันที่จริงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official development assistance: ODA) จากตุรกีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (United States Agency for International Development: USAID) เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม การให้ของสหรัฐฯ จะกระจายไปทั่วโลก แต่ความช่วยเหลือจากตุรกีเหล่านี้จะกระจุกอยู่แค่ที่ตะวันออกกลาง

ฉะนั้นเลยอาจพูดได้ว่าตุรกีเป็นผู้ธำรงสิทธิมนุษยชนให้คนมุสลิมทั่วโลก แต่พอมีปัญหาการเมืองภายในเมื่อไหร่ ฐานคิดจะเปลี่ยนว่าการละเมิดย่อมทำได้

เรื่องใดบ้างที่ควรจับตาดูต่อไปในสมัยที่ 3 ของแอรโดก์อาน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ ต้องติดตามต่อไปว่าแอรโดก์อานจะจัดการอย่างไรกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤต ค่าเงินลีราที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพราะในหลายพื้นที่ต้องสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไรต่อ

ด้านการต่างประเทศเป็นอีกพื้นที่ที่แอรโดก์อานพยายามแสดงศักยภาพในการถ่วงดุลมหาอำนาจมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว เป็นที่น่าจับตาดูบทบาทการเป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพ (peace broker) ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และน่าติดตามดูนโยบายปรับความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยบาดหมางกัน เช่น อิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนชาวอาหรับเข้ามาลงทุนในตุรกีมากขึ้น ที่ผ่านมาตุรกีพยายามนำเสนอตัวเองว่ามีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความแข็งแกร่งทางการทหาร มีองค์ความรู้ของตัวเองที่มีคุณภาพเท่ายุโรปแต่ต้นทุนไม่ได้สูงเท่ายุโรป น่าจับตาดูว่าตุรกีจะทำได้จริงหรือไม่

วันเลือกตั้งของไทยและตุรกี (รอบแรก) คือวันที่ 14 พฤษภาคมเหมือนกัน เราพอจะเรียนรู้หรือเห็นอะไรที่เหมือนหรือต่างกันบ้างไหม

สิ่งที่น่าจะมีความคล้ายคลึงกัน คือการต่อสู้ระหว่างชุดความคิดสองขั้ว ที่ในแง่หนึ่งไปแบ่งขั้ว (polarize) ประชาชนให้เลือกข้างว่าจะเป็นขั้วไหน แต่กรณีของตุรกีอาจจะไม่ได้ระบุง่ายเหมือนไทยว่าเลือกฝั่งนี้เป็นประชาธิปไตย เลือกฝั่งนั้นเป็นเผด็จการ

สิ่งหนึ่งที่อาจจะคล้ายกันคือการแก้รัฐธรรมนูญ ตุรกีเองโดนวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดีคือการวางรากฐานเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ รัฐบาล คสช. เองก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ที่ต่างแน่นอนคือแม้จะเปลี่ยนระบอบ แต่แอรโดก์อานไม่ได้มาจากการรัฐประหาร เขาถูกเลือกตั้งมาในฐานะประธานาธิบดี และรัฐธรรมนูญตุรกีก็ไม่ได้มี ส.ว. 250 เสียงเป็นแต้มต่อในการเลือกผู้นำด้วย

สิ่งที่ไทยอาจเรียนรู้ได้จากตุรกีคือการยึดมั่นในวิถีประชาธิปไตย ครั้งนี้แม้คึลึชดาร์โอก์ลูจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม แต่ในกระบวนการทุกอย่าง กกต. ตุรกีก็พยายามทำให้โปร่งใสที่สุด มีการรายงานผลตลอด มีการรับรองการเลือกตั้งรวดเร็ว สามารถจัดเลือกตั้งรอบที่สองซึ่งห่างกัน 2 สัปดาห์ได้ไม่ขรุขระ ไทยน่าจะเรียนรู้วิธีจัดการเลือกตั้งที่รวดเร็วและไม่ได้มีข้อถกเถียงแบบบัตรเขย่งจากตุรกี

บทเรียนที่ตุรกีอาจถอดจากไทยได้คงเป็นการหา ‘ทางเลือกใหม่’ ณ วันนี้ตุรกียังมีทางเลือกให้กับประชาชนน้อยเกินไป คนรุ่นใหม่ยังไม่ถูกสนับสนุนให้เข้ามาสู่สนามการเมืองมากพอ ชัยชนะของพรรคก้าวไกลอาจจุดประกายใหม่ๆ ให้กับการเมืองตุรกีก็เป็นได้ เป็นอีกตัวอย่างของทางเลือกใหม่ที่มีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาและนำโดยคนรุ่นใหม่ไปเลย ส่วนตัวคาดหวังว่าจะมีนักวิชาการตุรกีสนใจมาถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งไทยในครั้งนี้

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรค AKP ในนครอิสตันบูล | ภาพจากเฟซบุ๊ก Recep Tayyip Erdoğan

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save