fbpx

เชื่อหมอ ไม่เชื่อหมา: เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงหลังสงกรานต์ ทำให้ไทยจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ท่ามกลางความลังเลและสับสนของคนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราจึงเห็นบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ออกมายืนยันข้อดีของวัคซีน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ขณะที่กลุ่มดารานักร้องนักแสดงที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็แสดงความเห็นสนับสนุนการฉีดวัคซีนไปในทิศทางเดียวกัน โดยบางคนถึงขั้นกล่าวโดยใช้ถ้อยคำประชดประชันว่า “เชื่อหมอ ไม่เชื่อหมา”

วัคซีนกับความไว้เนื้อเชื่อใจทางการแพทย์

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหยุดการระบาดของโรคติดต่อหลายๆ โรค แต่เนื่องจากผลที่อาจเกิดขึ้นจากได้รับวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนชนิดใหม่ๆ นี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การเข้ารับการฉีดวัคซีนจึงต่างจากการทำตามมาตรการสุขอนามัยอื่นๆ ทั้งการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ การจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อวัคซีนจึงยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของวงการสาธารณสุข

การยอมรับวัคซีนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ ประสบการณ์เกี่ยวกับการรับวัคซีนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม มีงานวิจัยฉบับหนึ่งเสนอว่า การสื่อสารระหว่างแพทย์-ผู้ป่วย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อวัคซีน อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในวัคซีน และความยินยอมที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนในที่สุด งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชากรในสหรัฐอเมริกาหลังจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 (ไข้หวัดหมู) เมื่อปี ค.ศ. 2009 และพบว่า แม้ว่าข้อมูลทางการแพทย์จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการลบล้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีน แต่ลำพังการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวอาจไม่ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการได้รับวัคซีน หากแพทย์ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ป่วยตั้งแต่ต้น

ความไว้เนื้อเชื่อใจคืออะไร?

ความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) เป็นหนึ่งในประเด็นสนใจของนักสังคมศาสตร์หลากหลายสาขาวิชา โดยในวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบัน ความไว้เนื้อเชื่อใจถือเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันเห็นว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนในการควบคุมตรวจสอบ (monitoring cost) และต้นทุนในการบังคับใช้ (enforcement cost) ตัวอย่างเช่น หากมีความไว้เนื้อเชื่อใจ นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อจับตาดูการปฏิบัติงานของลูกจ้าง หรือคู่รักก็ไม่จำเป็นต้องคอยเช็กโทรศัพท์มือถือของกันและกัน

งานด้านเศรษฐศาสตร์สถาบันบางชิ้นแบ่งความไว้เนื้อเชื่อใจออกเป็นสามระดับ ระดับแรกคือความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคล (interpersonal trust) ระดับที่สองคือความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบัน (institutional trust) และระดับที่สามคือความไว้เนื้อเชื่อใจในทางการเมือง (political trust) ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคลต่างจากความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบันตรงที่ความไว้เนื้อเชื่อใจระดับแรกตั้งอยู่บนคุณลักษณะของผู้เล่นเกม (player) ขณะที่ระดับหลังขึ้นอยู่กับกติกาในการเล่นเกม (rules of the game) ที่กำหนดโครงสร้างแรงจูงใจ เช่นในการแข่งขันฟุตบอล มักจะมีนักฟุตบอลบางคนที่จ้องเอาเปรียบคู่แข่งเมื่อมีโอกาส ขณะที่บางคนก็ไม่เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การมีกฎกติกาที่ชัดเจนและผู้ตัดสินที่เป็นกลางย่อมช่วยให้ผู้เล่นทุกคนมั่นใจได้ว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างยุติธรรม

ความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบันประเภทหนึ่งที่เสนอโดย Oliver E. Williamson นักเศรษฐศาสตร์สถาบันเจ้าของรางวัลโนเบลผู้ล่วงลับคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็นวิชาชีพ (professionalisation) โดย Williamson เห็นว่า ข้อกำหนดของวิชาชีพ เช่น เงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ (เช่น ใบอนุญาต) ประมวลจริยธรรม และบทลงโทษต่างๆ จะช่วยสร้างความน่าไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะครูอาจารย์ ผู้พิพากษา รวมถึงแพทย์ นอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถ รวมถึงบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลเหล่านี้

วัคซีนกับความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง

ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรู้ความสามารถ หรือบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของแพทย์ และความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็นวิชาชีพของแพทย์ ย่อมช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยซึ่งส่งผลในทางบวกต่อการรักษาพยาบาล เช่น การยอมรับวิธีการรักษาโรค หรือการยินดีปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์สถาบันเชื่อว่า ในภาพที่กว้างขึ้นของระบบสาธารณสุข ความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งสองระดับนี้อาจไม่เพียงพอเสมอไป

การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในทางการเมืองอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนไม่เชื่อคำอธิบายหรือคำแนะนำของแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันเสนอว่า หากความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคลและความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบันเปรียบเหมือนผู้เล่นเกมและกติกาในการเล่นเกม ความไว้เนื้อเชื่อใจในทางการเมืองก็จะหมายถึงการกำหนดกติกาในการเล่นเกม หากกฎกติกาถูกออกแบบมาอย่างไม่ยุติธรรม หรือน่าเคลือบแคลงสงสัย ก็ยากที่จะสร้างความน่าไว้เนื้อเชื่อใจได้

ในกรณีของวัคซีน การยอมรับวัคซีนของประชาชนมิได้ขึ้นอยู่กับคำยืนยันของแพทย์ในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนแต่ละชนิดเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีนหรือการจัดสรรวัคซีนก็ตาม ดังนั้น หากไม่ไร้เดียงสาจนเกินไปหรือจงใจเบี่ยงเบนประเด็นก็จะพบว่า การจัดการทรัพยากรด้านการสาธารณสุข รวมถึงวัคซีน มิอาจแยกออกจากการเมืองได้

วัคซีนที่ดีที่สุด?

“หน้ากากคือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด”

“วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศตอนนี้คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ”

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือ อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ”

“วัคซีนจะมาช้าหรือเร็วแทบไม่มีผลกับคนไทย เพราะเรามีหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในการป้องกันอนามัยส่วนตัว”

“วัคซีนที่ดีที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด”

ความเห็นของแพทย์บางท่านเกี่ยวกับ ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ในการจัดหาและจัดสรรวัคซีนของรัฐบาล แต่ความเห็นเช่นนี้ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญๆ ที่สังคมสงสัย (เช่น เหตุใดไทยจึงมีวัคซีนแค่บางยี่ห้อ? ทำไมไทยจึงได้รับวัคซีนล่าช้า? คนทุกกลุ่มอายุเหมาะกับวัคซีนยี่ห้อเดียวกันจริงหรือไม่? ทำไมจึงต้องเว้นระยะห่างในการรับวัคซีนนานขึ้น? ฯลฯ) ซ้ำยังช่วยบดบังและปกปิดความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คติสอนใจเหล่านี้จึงส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวแพทย์ และความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็นวิชาชีพของแพทย์ ถูกกลืนหายเข้าไปในความไม่น่าไว้เนื้อเชื่อใจของรัฐบาล โดยเฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

ประชาชนมิได้ไม่เชื่อหมอ แต่ไม่เชื่อรัฐบาล และแน่นอนว่า วลี “เชื่อหมอ ไม่เชื่อหมา” ของกองเชียร์ย่อมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

บทส่งท้าย

ในสังคมไทย แพทย์เป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็นวิชาชีพอย่างสูง จนกระทั่งกลายเป็นความเคารพนับถือ ความเคารพนับถือนี้สร้างสถานะพิเศษในสังคมให้แก่แพทย์ เช่นเดียวกันกับอาชีพอื่นๆ ทั้งครูอาจารย์ และผู้พิพากษา กระนั้นสถานะพิเศษของผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ก็มิได้เป็นอภิสิทธิ์ให้ถูกยกเว้นจากการตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามง่ายๆ ที่ชวนให้ทบทวนบทบาทของตนในสังคมอย่างเช่นว่า ทำไมคนจึงไม่เชื่อหมอ?

ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ดำรงสถานะพิเศษในสังคมไว้ได้ก็ด้วยความซื่อตรงต่อวิชาชีพ หากปราศจากความซื่อตรงเช่นนี้ก็ยากที่จะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจที่คนในสังคมมอบให้ได้ ไม่เฉพาะความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น หากแต่อาจขยายไปถึงความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับสถาบันและการเมือง ทั้งในวงการสาธารณสุข วงการการศึกษา และวงการตุลาการ

ด้วยความเคารพ เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจถูกทำลายลงแล้ว ย่อมไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ได้โดยง่าย


อ่านเพิ่มเติม

Borah, P., & Hwang, J. (2021). Trust in Doctors, Positive Attitudes, and Vaccination Behavior: The Role of Doctor–Patient Communication in H1N1 Vaccination. Health Communication, 1-9.

Hwang, I. D. (2017). Which Type of Trust Matters?: Interpersonal vs. Institutional vs. Political Trust.  Bank of Korea WP15.

Williamson, O. E. (1993). Calculativeness, Trust, and Economic Organization. The Journal of Law and Economics36(1, Part 2), 453-486.

ชนาธิป ไชยเหล็ก (2021). วัคซีนที่ดีที่สุด คือ…? มุมมองของรัฐ vs. ประชาชน. สืบค้นจาก https://thestandard.co/best-vaccine-from-government-and-people-perspective/

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save