fbpx

‘Truman babies’ อีกด้านของการบันทึกชีวิตลูกให้คนทั้งโลกดู

เมื่อไม่นานมานี้มีคนมาตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ reddit (ประมาณพันทิปบ้านเรา) ระบุว่าเธอเป็นเด็กสาวอายุ 17 ปีที่โตมาในครอบครัววล็อกเกอร์ (vlogger -หมายถึงคนที่เล่าเรื่องต่างๆ ผ่านรูปแบบวิดีโอ) พ่อแม่เริ่มถ่ายวิดีโอเธอลงเว็บไซต์ต่างๆ ตั้งแต่เธออายุได้เจ็ดขวบซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนชาแนลดังกล่าวมีผู้ติดตามกว่าห้าแสนคน โดยเธอระบุว่าแรกๆ นั้นก็รู้สึกว่าการถูกถ่ายวิดีโอก็สนุกดีเพราะได้เป็นจุดสนใจ ได้ของเล่นเยอะแยะ แต่กลับค่อยๆ สนุกน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเธอเริ่มโตและตระหนักได้ว่าคนรอบตัวจะสนใจเธอเฉพาะแค่เวลามีกล้องจ่อหน้าเธออยู่เท่านั้น หรือจะได้ของเล่นใหม่ก็ตอนที่ทำตัวแบบที่คนคาดหวังให้เธอทำผ่านกล้อง

ประสบการณ์การเป็น ‘เด็กหน้ากล้อง’ ในครอบครัวตัวเองยิ่งเลวร้าย เมื่อเธอค่อยๆ ขาดความไว้วางใจต่อพ่อแม่ เธอกับพี่น้องระแวงว่าจะมีกล้องที่พ่อแม่ซ่อนอยู่ในบ้านตลอดเวลาจนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าแค่ในห้องน้ำโดยไม่เปิดไฟ, กลัวที่จะคุยกับแม่เพราะกลัวว่าแม่จะเอาไปเล่าในคลิป จนในที่สุดเธอก็แทบไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับแม่เลย (รวมทั้งแม่เธอยังให้ลูกๆ เรียนหนังสือที่บ้าน เพราะลูกจะได้อยู่ใกล้ตัว มีโอกาสให้ทำ ‘คอนเทนต์’ มากขึ้น), แม่เพื่อนไม่อยากให้ลูกตัวเองมาเป็นเพื่อนกับเธอ เพราะกลัวว่าแม่เธอจะถ่ายทุกอย่างไปลงคลิปโดยไม่ขออนุญาต (ซึ่งเธอบอกว่าแม่ไม่สนใจ ทั้งแม่ยังเคยเอาเรื่องที่เธอมีประจำเดือนครั้งแรกไปเล่าในคลิปด้วย), เธอไม่มีเวลาส่วนตัวแม้แต่นิด เรื่องแย่ที่สุดคือการตื่นมาโดยเจอแม่เอากล้องมาถ่ายจ่อหน้า หรือตามถ่ายลูกๆ จนกว่าลูกจะหลับ รวมทั้งเธอเล่าว่า มีคนพยายามลักพาตัวพี่น้องของเธอเพราะคนร้ายรู้ข้อมูลต่างๆ -ทั้งชื่อจริง ที่อยู่ โรงเรียน- จากวิดีโอของพ่อแม่เธอหมดแล้ว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เธอเครียดจนมีปัญหาสุขภาพจิต และในที่สุด พ่อแม่ก็ต้องยอมหยุดถ่ายทำวิดีโอเกี่ยวกับครอบครัวตัวเองเมื่อสามปีที่แล้วเพื่อไม่ให้ปัญหาต่างๆ เลวร้ายลง

‘Truman babies’ คือศัพท์อย่างไม่เป็นทางการที่เอาไว้ใช้เรียกเหล่าเด็กๆ ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่ถ่ายทำกิจกรรม, ความเคลื่อนไหวและอิริยาบถของคนในบ้านแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยเป็นวิดีโอประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากคนดู ถึงขั้นที่มีคนเรียกมันว่าวิดีโอฌ็อง Family Vlogging โดยเฉพาะ

ปัญหาหลักคือ หลายครอบครัวถ่ายทำลูกเล็กที่ยังไม่มีอำนาจหรือความตระหนักรู้มากพอจะให้ความยินยอมถ่ายทำโดยเต็มใจได้ รู้ตัวอีกทีใบหน้า ความเคลื่อนไหวหรือข้อมูลต่างๆ ของตัวเองก็ถูกประทับตราลงบนอินเทอร์เน็ตในนามของการถ่ายทำวิดีโอครอบครัวไปแล้ว สิ่งสำคัญคือนั่นไม่ใช่กระทู้เดียวใน reddit ที่มีบุตรหลานในครอบครัวมาตั้งกระทู้ระบายความอัดอั้นใจ ก่อนหน้านี้มีเด็กสาวอีกคนที่เล่าว่า เธอถูกพ่อแม่บันทึกทุกขณะของชีวิตตั้งแต่อายุ 13 ปีทั้งที่ไม่เต็มใจ มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญหน้ากับคอนเมนต์ว่าร้ายหรือคุกคามมากมาย (ทั้งที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้เต็มใจให้พ่อแม่โพสต์แต่แรกด้วยนะ!) จนต้องไปโพสต์ระบายอารมณ์ลงใน Tiktok ว่า “โปรดรับรู้ด้วยว่าฉันไม่เต็มใจให้พ่อแม่ถ่ายคลิปเหล่านั้น ฉันต้องการใช้ชีวิตส่วนตัวโดยไม่ต้องถูกคุกคาม หรือถูกทำให้กลายเป็นคอนเทนต์ในบ้านตัวเอง ถ้าคุณได้ดูวิดีโอเหล่านั้นแล้วก็ช่วยกดยกเลิกการติดตามด้วยเถอะนะ เป็นไปได้ก็กดรีพอร์ตทุกคลิปที่มีฉันด้วย” ส่วนอีกกระทู้หนึ่งเล่าว่าเธอมีแม่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในอินสตาแกรม และมักสร้างกระแสด้วยการโพสต์รูปลูกๆ -หรือคือเธอและพี่น้อง- ไปลงโดยไม่ขออนุญาต จนเธอต้องหาเสื้อที่สกรีนคำว่า ‘ไม่ถ่ายรูป’, ‘ไม่ถ่ายวิดีโอ’, ‘เคารพความเป็นส่วนตัวกันหน่อย’ อยู่บ้านตลอดเวลาเพื่อที่เวลาแม่จับภาพเธอนั้น คนที่เห็นจะได้เข้าใจว่าเธอให้ถ่ายโดยปราศจากความยินยอม แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่ก็ดิ่งลงเหวเรื่อยมา

The Truman Show (1998)

ทั้งนี้ Truman babies ดัดแปลงมาจากชื่อภาพยนตร์สุดเวียร์ดของ ปีเตอร์ เวียร์ ‘The Truman Show (1998)’ หนังเข้าชิงออสการ์สามสาขารวมถึงกำกับยอดเยี่ยม ว่าด้วยเรื่องของ ทรูแมน (จิม แคร์รี) ชายที่ใช้ชีวิตแสนปกติสุขมาทั้งชีวิตโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองถูกถ่ายทอดผ่านรายการเรียลลิตี้โชว์ให้คนดูทั่วโลกชมตั้งแต่วันที่ลืมตาถือกำเนิด และด้วยเส้นเรื่องที่ว่าด้วย ‘การถ่ายทำและเผยแพร่ชีวิตคนคนหนึ่งตั้งแต่เด็กโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าตัว’ นี่เองที่ทำให้มันถูกหยิบมาใช้เพื่อนิยามชีวิตของเหล่าเด็กๆ ที่โตมาในครอบครัวที่ทำ Family Vlogging

ไล่เรียงกันคร่าวๆ ช่วงที่ Family Vlogging ปรากฏขึ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตเติบโตและกลายเป็นสิ่งที่มีทุกครัวเรือน -หรือคือช่วงราวๆ กลางปี 2000s- ไล่เลี่ยกันกับที่ยูทูบกลายเป็นสนามใหญ่สำหรับคนทำคอนเทนต์ โดยเฉพาะในปี 2008 ที่ยูทูบอนุญาตให้มีโฆษณาฉายก่อนหน้าวิดีโอได้โดยที่เจ้าของคลิปจะได้ส่วนแบ่งรายได้ด้วย วิดีโอจึงกลายเป็นตลาดเลือดที่คนกระโจนเข้ามาลงสนามเรื่อยมา ยิ่งผู้เล่นเยอะขึ้น คอนเทนต์ยิ่งต้องสดใหม่ ต้องไม่เหมือนคลิปอื่นก่อนหน้าที่มีมาแล้วหลายพันคลิป และนั่นยิ่งทำให้ตลาด Family Vlogging ยิ่งเดือดดาลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการถ่ายทำกิจกรรมยามว่างอันแสนปกติของครอบครัวนั้น อาจไม่สดใหม่หรือสนองตอบความต้องการของคนดูได้อีกแล้ว

ชีวิตของ ทริปป์ เอลลิส ก็เป็นหนึ่งในชีวิตที่เกิดและเติบโตขึ้นในยุคที่ยูทูบรุ่งเรือง มีคน 5.2 ล้านคนเฝ้าดูเขาถือกำเนิดจากครรภ์ของ โลรา ผู้เป็นแม่ในเดือนธันวาคมปี 2008 ต่อมาปี 2009 คนอีกนับล้านเป็นประจักษ์พยานที่เขาออกเดินก้าวแรกได้ และอีกเช่นกัน ปี 2011 คนบนอินเทอร์เน็ตพากันปลื้มใจที่เด็กชายได้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์เป็นครั้งแรก และไม่ต่างกันกับทริปป์ ช่วงเวลาที่น้องๆ อีกสามคนของเขาถือกำเนิด ก็มีผู้เฝ้าติดตามชมผ่านยูทูบนับล้านเช่นกัน (ที่มากที่สุดคือ เอเวอร์เร็ตต์ เด็กคนที่สามของครอบครัวซึ่งมีคนกดเข้ามารับชม 7.6 ล้านครั้ง) วิดีโอทั้งหมดถูกอัปโหลดลงบนชาแนล LoraAndLayton ทางยูทูบซึ่งมีผู้ติดตามราว 276,000 บัญชี ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18-40

การเป็นคนดังบนยูทูบนั้นแม้จะเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับเด็กชาย แต่มันก็ยังพาประสบการณ์ประหลาดมาให้เขาเช่นกัน โดยเฉพาะการถูกคนแปลกหน้าดิ่งเข้ามาชื่นชมหรือพูดคุยด้วยราวกับรู้จักมักจี่กันมานานทั้งที่เขาเพิ่งเคยเจอหน้าอีกฝ่ายครั้งแรก แต่ในมุมกลับ เขามาตระหนักได้ก็ตอนที่โตแล้วว่าคนเหล่านั้น ‘เฝ้ามอง’ เขาผ่านวิดีโอและรู้จักเขาอยู่ฝ่ายเดียวมานานแสนนาน ขณะที่โลราตัดสินใจระงับการเผยแพร่วิดีโอของครอบครัวลงในชาแนลในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 หลังจากได้รับอีเมลแสดงความเกลียดชังต่อเธอและครอบครัว ท่ามกลางความเสียดายของทริปป์ที่เขาออกปากว่า ‘ชิน’ กับชีวิตที่มีกล้องของแม่ตามติดเสียแล้ว และเขาก็ชอบใจกับการได้เป็นคนดังบนยูทูบเพราะมักได้รับของขวัญจากเหล่าสปอนเซอร์เสมอๆ (หนึ่งในนั้นคือเซ็ตเลโก้ขนาดยักษ์)

LoraAndLayton

นอกเหนือจากทริปป์ หนึ่งในกรณีที่อื้อฉาวและชวนเหวอมากที่สุดครั้งหนึ่งคือเมื่อ จอร์แดน แชย์เอ็นเน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวโพสต์คลิปเธอกับลูกชายร้องไห้เสียใจที่ลูกหมาตัวน้อยของบ้านป่วยหนัก ในคลิปปรากฏภาพสองแม่ลูกร้องไห้อยู่บนรถ ส่งแรงใจให้ลูกหมา ท้ายคลิปซึ่งไม่รู้ว่าแชย์เอ็นเนพลาดลืมตัดต่อหรืออย่างไร แต่เธอออกคำสั่งให้ลูกชายที่ร้องไห้อยู่ข้างๆ ขยับมาเข้ากล้อง ซบศีรษะลงบนบ่าของเธอ “ทีนี้ก็ทำหน้าเหมือนกำลังร้องไห้หน่อยซิ” (ซึ่งลูกชายตอบทั้งน้ำตาว่า “ผมก็ร้องไห้อยู่จริงๆ นะ”) แล้วให้ลูกชายทำหน้าเสียใจให้มากกว่าน้ำตาไหลเงียบๆ “ยกมือขึ้นมาด้วยแต่อย่าปิดหน้าตัวเองล่ะ จะได้เอาไปลงวิดีโอ”) แน่นอนว่าหลังจากเธอเผยแพร่คลิปนี้ลงในยูทูบ คนก็แห่วิพากษ์วิจารณ์มากมายจนในที่สุด แชย์เอ็นเนก็ตัดสินใจปิดชาแนลของเธอ รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อใช้เวลาเป็นส่วนตัวกับลูกชาย

ยังไม่นับว่าเมื่อระยะหลัง ความเดือดดาลของตลาด Family Vlogging ยิ่งทำให้แต่ละชาแนลแข่งขันกันสูงมากขึ้น คนทำคอนเทนต์จึงต้องพยายามทำให้วิดีโอของตัวเองต่างไปจากชาแนลอื่นๆ ซึ่งก็มักลงเอยด้วยการถ่ายทำเรื่องราวที่ว่าด้วยความสุดโต่งหรือประหลาดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็เล่าเรื่องราวที่แสนจะเป็นส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประสบความสำเร็จล้นหลาม The ACE Family หนึ่งในชาแนลที่เนื้อหาส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องราวของสมาชิกภายในครอบครัว มีวิดีโอที่ยอดคนดูสูงที่สุดเป็นปรากฏการณ์คือคลิปที่คุณพ่อขอคุณแม่แต่งงานขณะดิ่งพสุธา! กวาดยอดคนดูไปที่ 40 ล้านวิว ส่วนคลิปที่มียอดคนดูรองลงมาคือคลิปคุณแม่ให้กำเนิดลูกในโรงพยาบาลซึ่งมีคนดูที่ 33 ล้านวิว (อย่างไรก็ตาม มีนาคมที่ผ่านมา สองสามีภรรยาประกาศว่าปี 2022 จะเป็นปีสุดท้ายที่ทั้งคู่ทำวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวในครอบครัวตัวเอง เพื่อจะออกเดินทางและใช้เวลาเป็นส่วนตัวกับครอบครัวมากขึ้น)

สิ่งที่ทำให้ Family Vlogging ถูกจับตาหรือตั้งคำถามนั้นไม่ใช่แค่เรื่องการให้ความยินยอมของเด็ก หรือความเป็นส่วนตัวต่างๆ ของพวกเขาถูกละเมิดโดยง่ายเท่านั้น แต่มันยังสุ่มเสี่ยงกับความรุนแรงทางคำพูดที่คนทำคอนเทนต์ -ไม่ว่าพ่อแม่หรือตัวเด็กเอง- ต้องเผชิญ บ่อยครั้งมันก็เป็นคำด่าทอที่มุ่งไปถึงตัวเด็กโดยตรง ตลอดจนข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่หลุดลอยอยู่บนอินเทอร์เน็ตยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง หลายคนจึงตั้งคำถามต่อท่าทีของยูทูบและแพลตฟอร์มอื่นๆ ในกรณีวิดีโอที่ว่าด้วยชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ว่าควรมีนโยบายหรือกฎที่เป็นรูปธรรมออกมาเพื่อสร้างบรรทัดฐานหรือไม่ ขณะที่ฝรั่งเศส มีการออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปี 2021 กำหนดให้รายได้ใดๆ ของเด็กที่เป็นคนดังบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ต้องเข้าบัญชีธนาคารของตัวเด็กเอง ซึ่งตัวเด็กจะเข้าถึงบัญชีนี้ได้ก็เมื่อพวกเขาอายุครบ 16 ปีเท่านั้น หรือในวอชิงตันเองก็มีการเสนอร่างกฎหมาย ‘right to be forgotten’ (สิทธิในการถูกลืม) ให้ตัวเด็กมีสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้นำคอนเทนต์เกี่ยวกับพวกเขาออกจากอินเทอร์เน็ตได้ (อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทั้งยูทูบ, TikTok หรือแอปพลิเคชัน Snap ต่างเห็นตรงกันว่าผู้ปกครองควรมีสิทธิในการลบเนื้อหาออนไลน์ที่เกี่ยวกับบุตรหลานตัวเองได้ อันเป็นวิธีคิดตามกฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตของเด็กหรือ Children’s Online Privacy Protection Act)

ประเด็นเรื่องชีวิตของเด็กๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นยังถูกจับตาและมีข้อถกเถียงอยู่มาก โดยเฉพาะหลังจากที่สังคมตื่นตัวกับประเด็นการได้รับความยินยอมและความเป็นส่วนตัวของปัจเจก อย่างไรก็ตาม Family Vlogging ยังเป็นหนึ่งในตลาดคอนเทนต์ที่ใหญ่มากที่สุดของแวดวงวิดีโออยู่ และนั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าสู่สนามนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า แพลตฟอร์มต่างๆ จะออกนโยบายใดเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ ตลอดจนคนทำคอนเทนต์จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรายวันอย่างไร โดยเฉพาะในวันที่ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวเริ่มแหลมคมขึ้นในยุคสมัยนี้

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save