fbpx
Transrealism : เทรนด์ (ไม่) ใหม่ในโลกวรรณกรรม

Transrealism : เทรนด์ (ไม่) ใหม่ในโลกวรรณกรรม

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

สองปีก่อน เคยมีบทความใน The Guardian พูดถึง ‘ขบวนการทางวรรณกรรม’ ที่เป็นขบวนการหลักอันแรกที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21

 

ขบวนการที่ว่า เรียกว่า Transrealism

ฟังชื่อ Transrealism แล้วน่าสนใจไม่หยอก ว่ามันคืออะไรกันแน่ เป็นการ ‘หนีพ้น’ ไปจากความจริงหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นแบบนั้น มันจะแตกต่างจากขบวนการทางวรรณกรรมอื่นๆ ที่ก็หนีพ้นไปจากความจริงอย่างไร

แต่ก่อนอื่น ต้องเล่าให้ฟังกันก่อนว่า ขบวนการทางวรรณกรรมหรือ Literary Movements นั้น ก็คือการแบ่งงานวรรณกรรมออกมาเป็นกลุ่มๆ โดยเกณฑ์การแบ่งนั้นหลากหลายมาก บางทีก็แบ่งโดยใช้ปรัชญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง บางทีก็แบ่งโดยใช้ลักษณะทางสุนทรียศาสตร์ บางทีก็แบ่งโดยดูจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขบวนการทางวรรณกรรมจึงมีลักษณะที่ไม่แน่นอน เลื่อนไหลไปมาได้หลากหลาย

ตัวอย่างเช่นขบวนการทางวรรณกรรมที่หลายคนอาจรู้จักชื่อดี คือ Romanticsm นั้น เป็นขบวนการทางวรรณกรรมที่เกิดในศตวรรษที่ 19 กับกลุ่มนักเขียนประมาณ แมรี เชลลี, วิคตอร์ อูโก, ลอร์ดไบรอน อะไรทำนองนี้ เป็นงานเขียนที่เน้นไปที่อารมณ์และจินตนาการมากกว่าการใช้ตรรกะและความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีแยกย่อยไปอีก เช่น Dark Romanticism เช่นงานของเอ็ดการ์ อัลลัน โป, นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น, เฮอร์แมน เมลวิลล์ หรือ Amercan Romanticsim เช่นงานบางชิ้นของนาธาเนียล ฮอว์ธอร์น หรือแอมโบรส เบียร์ซ ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

งานของบางคน บางทีก็ถูกจัดอยู่ในหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น งานของเอ็ดการ์ อัลลัน โป นอกจากจะเป็น Dark Romanticsm แล้ว ยังเป็น Gothic Novel ด้วย (ซึ่งจะเห็นว่า ‘เกณฑ์’ ในการใช้แบ่งนั้นเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง)

นอกจากนั้น ขบวนการทางวรรณกรรมที่เราคุ้นๆ กันดี ก็มี Realism (ซึ่งมีคนแปลเป็นไทยว่า สัจนิยม) กลุ่มนี้ก็เยอะแยะไปหมด เช่น ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้, ออนอเร่ เดอ บัลซัค, กุสตาฟ โฟลแบรต์ ฯลฯ หรือกลุ่มที่เชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมเป็นตัวควบคุมมนุษย์อย่างขบวนการ Naturalism ก็มีอย่าง กีย์ เดอ โมปาสซังต์ หรืออีมิล โซลา เป็นต้น

อีกกลุ่มที่ดังมากๆ ก็คือขบวนการที่เรียกว่า The Lost Generation เช่นงานของเกอร์ทรูด สไตน์, เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์, เอฟ สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์, เอซรา พาวด์ ฯลฯ นี่ยังไม่นับกลุ่ม Postcolonialism เช่นงานของซาลแมน รุชดี, วี.เอส. ไนพอล หรือกวีกลุ่มบีตออย่าง แจ็ค เครูแว็ค, อัลเลน กินสเบิร์ก หรือวิลเลียม เอส. เบอโรห์

จะเห็นว่า ขบวนการทางวรรณกรรมนั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบจะอยู่ใน ‘ยุค’ ของตัวเอง แต่ถ้าทอดตาดูศตวรรษใหม่ คือศตวรรษที่ 21 หลายคนบอกตรงกันว่า เหมือนมันยังสะเปะสะปะ ไม่มี ‘ขบวนการทางวรรณกรรม’ ที่เป็นหมุดหมายของยุคสมัยตัวเองเอาเสียเลย

จนกระทั่ง เดเมียน วอลเตอร์ (Damien Walter) เขียนบทความนี้ ไว้ในเดอะการ์เดียน ประกาศว่าขบวนการ Transrealism นี่แหละ คือ First Major Literary Movement แห่งศตวรรษที่ 21

แล้วมันคืออะไร?

เขาบอกว่า คนที่เป็นหมุดหมายของการก่อกำเนิด Transrealism ก็คือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ฟิลิป เค ดิ๊ค (Philip K Dick) ซึ่งงานของดิ๊คนั้น แบ่งออกได้เป็นสองยุคอย่างชัดเจน คือสามารถ ‘ขีดเส้น’ ได้เลยว่า งานยุคแรกๆ ของเขา เช่น The Man in the High Castle หรือ Do Androids Dream of Electric Sheep? แตกต่างจากงานยุคหลังอย่างชัดเจน

โดยคนแรกที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ก็คือรูดี้ รัคเคอร์ (Rudy Rucker)​ ซึ่งเป็นนักทั้งเขียน นักวิจารณ์​ และนักคณิตศาสตร์ เขาเรียกชื่องานยุคหลังของดิ๊คว่าเป็นงานในแบบที่เรียกว่า Transrealism หลังจากอ่านนิยายเรื่อง A Scanner Darkly ของดิ๊คจบ เขาเขียนบทความสั้นชื่อ A Transrealist Manifesto (อ่านได้ที่นี่)

ในบทความนี้ รัคเคอร์พูดถึง Transrealism ว่าเป็น ‘สไตล์’ การเขียนงานแนว Science Fiction หรือไซไฟแบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนไซไฟทั่วไป โดยรัคเคอร์อธิบายว่า งานแบบ Transrealism คืองานเขียนผสมผสานสองสิ่งเข้าด้วยกัน

อย่างแรกก็คือเทคนิคแบบแฟนตาซี (Fantastic Elements) คือหยิบวิธีสร้างเรื่องแบบไซไฟมาใช้ เช่น การสร้างฉากที่คิดมาอย่างพิถีพิถัน สร้างโลกใบใหม่แบบนั้นแบบนี้ มีดาวนั้นดาวนี้ มนุษย์ต่างดาวเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตัวละครก็ได้รับการพัฒนามาให้ซับซ้อนสอดคล้องกับฉากและปูมหลังต่างๆ โดยมีทฤษฎีหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์บางอย่างมาเป็นฐานรองรับ ถ้าในแง่ไซไฟก็อาจมีการเดินทางข้ามเวลา, การต่อต้านแรงดน้มถ่วง, โลกคู่ขนาน, การถ่ายโอนมวลสาร ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ส่วนอย่างที่สองเป็นเรื่องเชิงวรรณกรรม รัคเคอร์บอกว่า มันคือการหยิบเอา ‘มุมมองฉับพลัน’ (Immediate Perceptions) ที่มีต่อความจริงต่างๆ ในธรรมชาติหรือโลกรอบตัวเข้ามาผสมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยายวิทยาศาสตร์สมัยก่อนไม่มี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบสัจนิยม แต่พาเราไปพ้นจากสัจนิยมได้โดยใช้แฟนตาซีที่มีฐานรองรับแบบไซไฟ

รัคเคอร์บอกว่า The Treansrealis writes about immediate perceptions in a fantastic way พูดง่ายๆ ก็คือ เขียนเรื่องจริงที่รับรู้มาแบบฉับพลันด้วยวิธีแบบแฟนตาซี ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องคลุกคลีตีโมงอยู่กับการเขียนแนวแฟนตาซีหรือไซไฟมาเป็นเวลานาน แล้วผสมผสานสิ่งเหล่านั้นเข้ากับประสบการณ์และความเป็นมนุษย์ของตัวเองที่เห็นอะไรบางอย่างแบบฉับพลัน

ประเด็นสำคัญก็คือคำว่า Trans ที่หมายถึงการข้ามพ้นไป รัคเคอร์บอกว่า หากเป็น Realism นักเขียนจะพยายามสะท้อนหรือบอกเล่าถึงความจริงตรงหน้า (เขาใช้คำว่า Immediate Reality) ออกมา แต่ถ้าเป็น Transrealism นักเขียนจะพยายามพูดถึง ‘ความจริงที่สูงกว่า’ (Higher Reality) ที่ชีวิตนั้นเข้าไป ‘ฝังตัว’ (Embed) อยู่ข้างใน

เดเมียน วอลเตอร์ บอกว่า งานอย่าง Harry Potter หรือซีรีส์ The Hunger Games นั้น ขาด ‘ความจริง’ (Reality) มากพอจะเป็น Transrealism คือมีความแฟนตาซีในสัดส่วนที่มากกว่า ถ้าเป็น Transrealism จะต้องมีสัดส่วนของความจริงและแฟนตาซีที่กลมกลืนลงตัว

ตัวอย่างงานแนว Transrealism (จากเว็บ goodreads.com) มีอาทิ The Handmaid’s Tale ของมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด, Infinite Jest ของเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ, The Humans ของแมตต์ เฮก, Mason & Dixon ของโธมัส พินชอน, Never Let Me Go ของคาซุโอะ อิชิกุโระ หรือแม้แต่งานของฮารูกิ มุราคามิ เช่น A Wild Sheep Chase, Hear the Wind Sing, Pinball, After Dark หรือ The Wind-Up Bird Chronicle ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเห็นในบล็อก New Southern Gentleman ก็น่าสนใจ บล็อกนี้เห็นแย้งกับบทความของวอลเตอร์ เขาบอกว่าเขาไม่ค่อยจะเชื่อเท่าไหร่ว่า Transrealism เป็นขบวนการวรรณกรรมหลักขบวนการแรกของศตวรรษที่ 21

อย่างแรกก็คือ งานที่วอลเตอร์บอกว่าเป็น Transrealism นั้น เป็นงานเขียนของศตวรรษที่ 20 ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด, โธมัส พินชอน ไปจนถึงเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ แล้วงานแนวนี้ ที่จริงก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก (ในแง่ของแก่นทางวรรณกรรม) กับงานเขียนแนว Magical Realism อย่างงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือ ฆอร์เฆ หลุยส์ บอร์เจส ซึ่งก็คือการนำเอาวิธีคิดแบบแฟนตาซี (หรือเหนือจริง) มาผสานเข้ากับ ‘ความจริงตรงหน้า’ เหมือนกัน แล้วถ้าใช้หลักการแบบนั้น งานของฟรานซ์ คาฟก้า ก็น่าจะเป็น Transrealism ได้ด้วย แล้วถ้าเป็นแบบนั้น มันจะเป็นขบวนการหลักขบวนการแรกของศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไรกัน

บล็อคนี้เสนอว่า วอลเตอร์พูดถึงปรากฏการณ์น่าสนใจในวงการวรรณกรรม และตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับอิทธิพลของฟิลิป เค ดิ๊ค ที่มีต่อนักเขียนรุ่นหลัง แต่ไม่ว่าจะเป็น Transrealism, Magical Realism หรือ Realism แบบดั้งเดิมเอง ต่างก็คืองานเขียนที่มีแก่นแกนหลักแบบเดียวกัน นั่นคือพาเราไปพบกับสิ่งบ้าบอคอแตกที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ แก่นของมันจึงเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่มี variations ที่ต่างกันออกไปเท่านั้น

ฟังเขาเถียงๆ กันแล้วก็สนุกดีนะครับ แต่คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นแวดวงวรรณกรรมไทยล่ะ งานเขียนที่จัดว่าเป็นแนว Transrealism มีอยู่บ้างไหม งานของนักเขียนซีไรต์อย่าง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่มีงานเขียนหลากแนว ทั้งแนวนิยายวาย แนวดิสโทเปีย และแนวไซไฟ ถือเป็นนักเขียนในแนวทาง Transrealism ได้ไหม

 

เรื่องนี้คงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์วรรณกรรมไทยนำไปต่อยอดกันต่อครับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save