fbpx
ความน่าจะอ่าน 2018-2019

[ความน่าจะอ่าน] เบสเมนต์ มูน : เสียงหึ่งฮึมฮัมในการเปลี่ยนแปลง

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ศิลปะคือการไม่ยอมรับ — ไม่ว่าศิลปินจะเชื่ออย่างไร — ในขณะที่สัจธรรมคือศิโรราบ (หน้า 98)

 

เวลาอ่านหนังสือ คุณได้ยินเสียงไหมครับ บางคนอาจเผลอพึมพำเบาๆ หรือทำปากขมุบขมิบระหว่างอ่านบางช่วงด้วยซ้ำ

ภาษากระทำบางอย่างต่อคุณ และเสียงของคุณในยามอยู่ในห้วงนั้น คือเสียงของใครกันแน่

ผมเองอ่านเรื่องเล่าของนิยายเล่มนี้แล้วได้ยินเสียงเรียบๆ ติดไปทางเฉยชา แต่ก็ไม่ได้หดหู่จนถึงขั้นเหนื่อยหน่าย คราแรกผมเข้าใจว่านี่คือเสียงโมโนโทนของปราบดา แต่ที่ไหนได้ มันคือเสียงของผมเอง

เราสามารถอ่านนิยายเล่มนี้ได้หลายชั้น หากเรียงบทใหม่ เรียงเวลาเป็นเส้นตรงเส้นเดียวอย่างง่าย จะมีจุดอ้างอิงของเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ การผจญภัยเล็กๆ ของปราบดาในปี 2016 > เหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2029 ที่กรุงเทพฯ > การเคลื่อนไหวท้าทายรัฐบาล (ไม่ได้ชูสามนิ้ว แต่ชูป้ายและโค้ดดาวน์โหลดเอกสารต้องห้าม) ในปี 2059 > รัฐไทยอิมพอร์ตเทคโนโลยีใหม่ในการปราบปรามแนวคิดอันเป็นปฏิปักษ์ (เรื่องของญานิน) ในปี 2069 

เส้นตรงเส้นแรก — ของการเป็นนิยายที่มีตีนเหยียบอยู่บนผืนแผ่นดินแม่ จบลงตรงนี้

แต่อีกเส้นเรื่องที่ผู้เขียนให้น้ำหนักมากกว่า คือเรื่องเทคโนโลยี ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ 

เริ่มตั้งแต่ที่มา ไอเดียตั้งต้น โดยจงใจละเลยชีวประวัติบุคคลของผู้สร้าง จากนั้นคือการประยุกต์ใช้ จากสำนึกประดิษฐ์ ผสมรวมกับสำนึกของมนุษย์จนเกิดเป็น ‘สำเนาสำนึก’​ (หรือที่ใช้ตัวย่ออย่างมีอารมณ์ขันว่า ส.ส.) แน่นอนว่าต้องมีปมปัญหา ความผิดไปจากเจตนาตั้งต้น เรื่องราวเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่เคยมีอะไรเป็นไปตามแผน และจบลงด้วยลีลาแบบ meta fiction ซึ่งตัวผู้เขียนล้อเลียนตนเองแบบเจ็บๆ คันๆ นักอ่านที่ติดตามผลงานของปราบดามาคงอดยิ้มมุมปากไม่ได้ ว่าแซะตัวเองอีกแล้วนะพ่อคุณ

เส้นตรง (?) เส้นที่สองนี้คือนิยาย sci-fi ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองแบบจิตๆ มันพูดเรื่องจิตสำนึกประดิษฐ์อันไร้รูป ซึ่งความจิตๆ นี้หยิบยืมบทตอนของวรรณกรรมหลากหลายเป็นพาหนะ ซึ่งทำให้เราเมามายด์ (mind) ได้จริงๆ เสียด้วย 

ผมกล่าวถึงเส้นตรงสองเส้นก็จริง แต่ยังมีอีกหลายเส้นถ้าหากคุณได้ลองอ่าน และกล่าวตามตรง นิยายทั้งเล่มนี้ไม่เฉียดใกล้กับความเป็นเส้นตรง หรือกระทั่งเป็นรูปฟอร์มมีเส้นขอบชัดเจนเสียด้วยซ้ำ 

นิยายเล่มนี้เหมือนเสียงมากกว่า เสียงพึมพำอันเกิดจากการอ่านในใจ และเราไม่เคยแน่ใจได้หรอกว่า เสียงนั้นมาจากข้างนอกหรือข้างในกันแน่

 

เบสเมนต์ มูน ให้ภาพและรายละเอียดเพียบพร้อมแบบนิยายแนว Dystopia ร่วมสมัยในสังคมไทย แน่นอนว่าช่วงเวลาของนิยายเล่มนี้คือการเบ่งบานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคำถามที่มนุษย์ครุ่นคิดไม่ใช่เรื่องการควบคุมผ่านการสอดส่องและกล่อมด้วยสื่อ (แบบ 1984) การคัดกรองแยกชนชั้นตั้งแต่ระดับพันธุกรรม (แบบ Brave New World) แต่พูดถึงสิ่งที่เปราะบางและไร้รูปอย่าง ‘สำนึก’ และ ‘ตัวตน’ 

จะว่าไป ปัญหาเรื่องตัวตนเข้าขั้นเป็นปัญหาคลาสสิค กระทั่งว่าหากเราเขียนเรื่องนี้บ่อยๆ ก็มักพายเรือวนในอ่าง ไปไหนไม่พ้น สังคมไหนกันที่ยังหวั่นไหวกับเรื่องอัตลักษณ์อย่างไม่หยุดหย่อน สังคมไหนกันที่ขยันถามกันอยู่นั่นว่าชาติคืออะไร ความเป็นไทยคืออะไร วัฒนธรรมไทยคืออะไร จุดศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ไหน

แต่เรื่องสำนึกและตัวตนก็ดุเหมาะเจาะกันดีกับสังคมนี้

ฉากหลังในเรื่องคือ ‘สงครามผี’ ที่กำลังพันตูกันอยู่ และดูท่าจะไม่มีวันสิ้นสุด สงครามนี้ไม่ได้เกิดจากสองขั้วทางปัญญา เราต้องยอมรับก่อนว่าในอุดมการณ์หรือแนวคิดใดๆ ในลักษณะขั้วตรงข้ามนั้น (ประชาธิปไตย – เผด็จการ / เสรีนิยม – อำนาจนิยม) ไม่ได้เป็นความขัดแย้งในระนาบของปัญญา ไม่ได้มีขั้วไหนที่ฉลาดกว่าหรือโง่กว่า ไม่ได้มีขั้วไหนเข้าใจถูกเข้าใจผิด แต่มันคือความขัดแย้งในระดับของสำนึก 

ในปี 2069 รัฐไทยอิมพอร์ตเทคโนโลยีใหม่ในการปราบปรามแนวคิดอันเป็นปฏิปักษ์ 

ความเป็นปฏิปักษ์เพียงอยู่ในระดับความคิดและความหมกมุ่นเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงการชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิ่งใด เพราะยังไม่มีกระทั่งการแสดงสัญลักษณ์

แต่สิ่งที่รัฐเผด็จการในนิยายกังวล คือความเบี่ยงเบนของประชากรจากนิยามของความสงบสันติ ไปสู่ความ ‘เมามายด์’

น่าแปลก ความเบี่ยงเบนนี้มีนัยสัมพันธ์กับความกระตือรือร้นในการสืบค้นผลงานศิลปวัฒนธรรมจากยุคก่อน โดยเฉพาะศิลปะที่ต่อต้านแนวคิดอนุรักษนิยม

ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นมีอานุภาพในการสั่นคลอนให้จิตใจเรากระเพื่อมไหวน้อยๆ โคลงไปเคลงมา ทำให้เราเคลิ้มฝัน ซึ่งนิยายเล่มนี้ใช้คำที่น่ารักอย่างอาการ ‘เมามายด์’ สื่อถึงกิริยานี้ 

อาการเมามายด์เป็นอย่างไร ในนิยายไม่ได้อธิบายตัวอย่างรูปธรรมไว้ชัดแจ้ง แม้จะมีบทหนึ่งชื่อว่า ประวัติศาสตร์ของความเมามายด์ แต่อ่านทั้งบทซ้ำคุณจะได้ภาพของการประดิษฐ์จิตสำนึก แต่ความเมานั้นเอาเข้าจริงก็ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ถ้าเราเคยเมา เราต่างรู้เองว่ามันเป็นเช่นไร

ในนิยาย Dystopia เล่มนี้ ความเมาเป็นอาการไม่พึงประสงค์และสมควรถูกกวาดล้าง

 

“ชีวิตภายใต้ระบอบที่ลิดรอนและควบคุมสิทธิเสรีภาพ, ย่อมมีคนตระหนักว่าการสูญเสียตัวตนแต่ได้เงินก็ยังดีกว่าถูกชำเราฟรีๆ พวกเขามีวิธีคิดเอาตัวรอดที่ชาญฉลาด เกิดจากความสิ้นหวังที่จะค้นพบอะไรในชีวิตมากไปกว่านี้” (หน้า 54) นี่คือข้อความที่ ส.ส. ลาพลาส กล่าวถึงสุญชน

นิยายเล่มนี้เขียนขึ้นในห้วงยามที่สังคมไทยเหมือนจะถอยหลัง ความอลหม่านทางการเมืองเกินสิบปีนับจากยุคที่รัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้รื้อสร้างการกระจายทรัพยากรใหม่ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้สำนึกของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่อาจหวนกลับ

ตัวตนที่เคยรู้สึกว่ามีอยู่ มีเอกลักษณ์ มีที่ยึดเหนี่ยว กลับเป็นมายาที่ยากจะยอมรับ

สังคมไทยเหมือนจะถอยหลังก็จริง แต่มันกำลังเปลี่ยนแปลงต่างหาก ไม่ได้ถอยหลังไปสู่อดีต การย้อนอดีตมีแค่ในหนังไซไฟโบราณ ไม่มีอะไรเหมือนเดิม แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ — ถ้าเราจะขอยืมสำบัดสำนวนในนิยายมาใช้สักหน่อย — ไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรงเหมือนกรอบอ้างอิงทางเวลาที่มนุษย์คุ้นชิน

การอ่านนิยายเล่มนี้จึงจับสำเนียงระหว่างบรรทัดได้ถึงความปลดปลงบางประการ กล่าวคือ ไม่มีชัยชนะอันใกล้ให้ใครได้เปล่งเสียงเฮสะใจแบบแฟนลิเวอร์พูล สังคมไทยกำลังเปลี่ยนก็จริง แต่ไม่มีคำยืนยันอย่างที่วินสตันคาดหวัง (ตัวละครใน 1984 ผู้กังขาต่อชีวิตในระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เขาดั้นด้นจนพบชายชราผู้มีอายุมากพอจะอยู่ในช่วงก่อนการปกครองโดยพี่เบิ้ม แต่ความทรงจำของปัจเจกเป็นเสี้ยวส่วน ไม่อาจยืนยันหรือเป็นหลักฐานอะไรได้เลยว่า เมื่อก่อนดีกว่าตอนนี้)

ไม่มีการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หรือกระทั่งจุดไคลแมกซ์ในนิยายเล่มนี้ มีฉากวาบหวามเล็กน้อย แต่ก็ราบเรียบเป็นกลไกของฮอร์โมนเสียจนอ่านแล้วเศร้า การอ่านจึงมีภาระทางอารมณ์แบบหนึ่งที่ทอดยาวไปเรื่อยๆ เหมือนเสียงพึมพำของตัวละครที่เดินวนไปวนมาก่อนจะลงจากเวทีไป แต่นี่แหละคือแก่นแกนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงในห้วงขณะที่น่าเบื่อ ในขณะที่มีเสียงหึ่งฮึมฮัมความถี่ต่ำเป็นแบ็คกราวด์ยาวนาน

 

สิ่งหนึ่งที่ฉันเรียนรู้ในสถานะนี้คือการสื่อสาร และข้อมูลมีอายุเก่าแก่กว่าฉัน (หน้า 110)

แล้วเรื่องเล่าก็ย่อมวกกลับมาสู่จุดที่สัมผัสกับเราอย่างแผ่วเบาตรงหัวใจ แรงเร้าที่ขับเคลื่อนเหมือนเชื้อไฟของการเปลี่ยนแปลง จุดเริ่มนั้นเป็นเพียงความหมกมุ่นทุรนทุรายจากภายในตน

หากคุณทุรนทุราย สร้างอะไรขึ้นมาสักสิ่งเถิด นิยาย บทกวี การ์ตูน จิตรกรรม ดนตรี การแสดง ฯลฯ ฝากมันไว้ในมหาสมุทรของเวลาอันไร้กรอบรูปร่างในภาษาและเรื่องเล่า ส่งต่อแพร่เชื้อเนื้อสำนึกต่อไป และต่อๆ ไป

แล้วสำนึกอันเกิดจากการอ่านนั้นก็ไม่จำเป็นต้องหาที่มา เสียงจากการอ่านคือการเล่าเรื่องให้ตนเองฟัง ด้วยเสียงของเราเอง

 

เธอคิดหรือว่าชื่อของเธอมีค่าเท่ากับการออกเสียงเพียงไม่กี่พยางค์? (หน้า 173)

ความน่าจะอ่าน คือการอ่านเพื่อสำนึกรู้ มิใช่อ่านให้เชื่อง

 


หมายเหตุ : ‘เบสเมนต์ มูน’ เป็น 1 ใน 5 เล่มที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากโปรเจ็กต์ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

ลงทะเบียนร่วมงานเสวนา ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนนี้ ณ Open House ชั้น 6 Central Embassy ได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save