fbpx

‘อย่าให้แหล่งเรียนรู้มีสถานะสูงกว่าคนใช้บริการ’ สร้างกรุงเทพฯ สู่มหานครแห่งการเรียนรู้ กับ โตมร ศุขปรีชา

‘ความรู้คืออำนาจ’ (Knowledge itself is power) เป็นประโยคที่ฟรานซิส เบคอน (Sir Francis Bacon) สื่อความหมายว่า การมีความรู้และแบ่งปันความรู้เป็นรากฐานสำคัญของชื่อเสียง อิทธิพล และอำนาจ ความรู้จึงมีอำนาจด้วยตัวของมันเอง

ในโลกสมัยใหม่ ความรู้ยังนำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพให้กับมนุษย์ และส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และองค์กรต่างๆ ในไทยพยายามอย่างยิ่งในการจัดสรรโครงการ นวัตกรรม แนวทางต่างๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งขององค์ความรู้ให้กระจายสู่ประชากร ผ่านแผนพัฒนากรุงเทพมหานครหลายฉบับ เช่น แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 12 ปี (2552-2563) ระบุยุทธศาสตร์วางเป้าหมายเป็น ‘มหานครแห่งการเรียนรู้’ ตั้งความหวังให้เมืองหลวงเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่หมายรวมถึงการบริการแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษาด้วย 

ขณะที่ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (2556-2575) ก็ตั้งเป้าหมายว่าในระยะเวลา 2 ทศวรรษ กรุงเทพฯ จะเป็น ‘มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้’ โดยยึดโยงว่าความรู้จะเป็นฐานสำคัญให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นฮับในการจัดนิทรรศการ และศูนย์การประชุมต่างๆ โดยมีการวางแผนให้เกิดการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่เรียนรู้จัดงานด้านการเรียนรู้ในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง กรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีภาพลักษณ์อย่างแผนพัฒนาฯ ตั้งเป้าหมายไว้ แม้เมืองหลวงแห่งนี้นับว่ามีแหล่งเรียนรู้ที่กระจายตัวอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับหลายจังหวัดในประเทศแล้ว คำถามสำคัญคือ ในปัจจุบันการสร้างแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่เมืองที่มีความหลากหลายอย่างกรุงเทพตอบโจทย์ต่อความต้องการคนหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เราต้องเข้าใจและแก้โจทย์ปัญหาสำคัญของแหล่งเรียนรู้ในไทย 

101 ชวนสนทนากับโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เพื่อหาคำตอบของคำถามดังกล่าว และส่งต่อโจทย์นี้ไปให้ถึงผู้ว่าฯ ในวาระเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ปัจจุบันเราเห็นแหล่งเรียนรู้ในกรุงเทพฯ ว่ามีทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอศิลปฯ คุณคิดว่าในกรุงเทพฯ ยังมีแหล่งเรียนรู้อะไรที่น่าสนใจ แต่คนอาจจะยังมองไม่เห็นบ้างไหม

เวลาพูดคำว่าแหล่งเรียนรู้ จะมีคำพูดที่ว่า ‘ความรู้คืออำนาจ’ อยู่ ความรู้จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจในแบบที่หลีกเลี่ยงได้ยาก คำถามคือว่า เรามองความรู้กับอำนาจยังไง ถ้าเรายกตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ที่คุ้นเคยกัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถาบันการศึกษา หรือว่าสถาบันวิจัยเองทำหน้าที่ในการผลิตสร้างความรู้ โดยนำมามองในมุมของอำนาจ เราจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นแหล่งเรียนรู้แบบที่เราเข้าใจ เรามักจะรู้สึกเหมือนมันอยู่ข้างบน แล้วถ่ายทอดความรู้จากที่สูงลงมาสู่ผู้คน โดยไม่รู้ตัว ความรู้ในแบบนี้จึงมีลักษณะเป็นของที่มีอำนาจใหญ่กว่าคนที่มารับความรู้เหล่านี้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า นี่เป็นวิธีมองความรู้แบบเดียวเท่านั้น เรายังสามารถมองเรื่องความรู้กับอำนาจแบบอื่นได้อีกเยอะ เพราะที่จริงแล้ว ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสถาบันใหญ่ๆ หรือในที่ที่เราสถาปนาขึ้นมาเป็นแหล่งเรียนรู้เท่านั้น แต่ความรู้อาจจะอยู่ที่ไหนก็ได้ คนตัวเล็กตัวน้อยก็มีความรู้อยู่ในตัว และมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งของความรู้ได้เช่นกัน 

ผมเคยนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างแล้วเห็นบ่อยๆ ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคนนั่งถักแหอยู่ ถามว่าเขาถักแหทำไม อนุมานว่าถ้าไม่ได้ถักไปขาย ก็แปลว่าเขาถักเพื่อไปจับปลา ดังนั้น การถักแหของเขาน่าจะบอกอะไรเราได้หลายเรื่อง อย่างที่หนึ่งคือ ถ้าเราเป็นคนเมือง เราจะตั้งคำถามว่าในกรุงเทพฯ มีปลาอยู่ที่ไหน เพราะโดยการรับรู้แล้ว (perception) เราอาจเห็นมีแต่น้ำเน่าเสีย แต่ถ้าคนคนหนึ่งนั่งถักแหเพื่อไปจับปลา แปลว่าเขาต้องรู้ว่าปลาอยู่ที่ไหน และที่แห่งนั้นต้องมีน้ำใสสะอาดมากพอที่ปลาจะมีชีวิตอยู่ได้ 

เพราะฉะนั้น เขาอาจจะมีความรู้เรื่องเมือง หรือเรื่อง cityscape ที่ดีกว่าเรามาก คือรู้ลึกแบบแนบแน่นกับวิถีชีวิตเลย เช่น เขาอาจเข้าออกซอยลึกๆ แถบลาดพร้าว ซึ่งเมื่อเข้าไปลึกๆ แล้ว ความเป็นเมืองจะลดลง ความเป็นชนบทจะสูงขึ้น ในนั้นอาจมีบึงหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการเอาแหไปทอดปลาก็ได้ ที่เขามีความรู้นี้ เพราะการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างทำให้เขาซอกซอนเข้าไปได้ 

คนเหล่านี้อาจจะมีความรู้ในตัวมากกว่าพวกเราหรือแม้แต่ผู้รู้อย่างนักวางผังเมืองก็ได้ เพียงแต่เป็นความรู้ที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ความรู้ทำนองนี้จึงอยู่ที่ไหนก็ได้ มีความรู้แบบนี้เต็มไปหมดเลย แต่เราอาจจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์

ถามว่าคนเหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ไหม โดยส่วนตัวคือตอบว่าได้แน่นอน เพียงแต่ว่าการที่จะบอกว่าเขามีศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ อาจต้องมีขั้นตอนหรือกระบวนการบางอย่างที่สร้างให้เขาเป็นแหล่งเรียนรู้ขึ้นมา เช่น มีวิธีการช่วยให้เขาถ่ายทอดหรือสื่อสารความรู้เหล่านั้นออกมาสู่สาธารณะได้ คนอื่นอาจไม่รู้ เขาอาจพูดไม่เป็น แต่ในโลกปัจจุบัน เราจะเห็นคนสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด อย่างใน TikTok มีคนสอนเรื่องเล็กๆ เหล่านี้มากมาย หากว่ามีการช่วยให้ผู้คนมีกระบวนการจัดการความรู้ของตัวเอง แล้วถ่ายทอดออกมาได้ สังคมนี้จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล แล้วเป็นความรู้ที่เป็นเนื้อตัวของเราเองจริงๆ

อีกเรื่องที่กรุงเทพฯ มีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และผู้ว่าฯ เข้ามาสนับสนุนได้ คือสวนสาธารณะ เพราะว่าสวนส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของ กทม. อยู่แล้ว ผมเพิ่งค้นพบสวนใกล้บ้านมาก ระหว่างวิภาวดีซอย 3 กับ 5 ซึ่งเป็นสวนต้นสักใจกลางเมือง พื้นที่น่าจะประมาณหนึ่งไร่ครึ่ง ไม่แน่ใจว่ากรมธนารักษ์หรือการรถไฟยกให้ กทม. แล้วหรือเปล่า ส่วนใหญ่คนในพื้นที่เท่านั้นที่รู้จักที่นี่ มีคนมาเตะตะกร้อกันบ้าง แต่ก็ถือว่าใช้งานน้อยมาก โดยส่วนตัวคิดว่าพื้นที่แบบนี้แหละที่เราสามารถทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้มันเกิดขึ้นได้ทุกตรอกซอกซอย ถ้าหากว่ามีงบประมาณมากพอ มีความเข้าใจมากพอ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนมาเรียนรู้วิธีเล่นตะกร้อ ฝึกฝนตัวเอง อาจจะมีตะกร้อทีมชาติเกิดจากพื้นที่ตรงนั้นก็ได้ หรือสร้างการเรียนรู้เรื่องชีววิทยาของต้นสัก การอ่านหนังสือในสวน หรือการคิดเนื้อหาต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับการเรียนรู้ในสวนในพื้นที่ท้องถิ่นของเราเอง สวนเล็กๆ เป็นได้ทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งอาหารให้คน เรามักคุ้นกับสวนในแบบที่คนเก็บกินไม่ได้ อาจเพราะเพราะติดขัดเรื่องกฎหมายว่า ถ้าคนมาเก็บไปจะเป็นการขโมยทรัพย์สินราชการหรือเปล่า แต่ถ้าจะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งอาหาร สวนนี่แหละน่าสนใจ เพราะใช้งบไม่มาก ชาวบ้านมีส่วนร่วมได้ แต่อาจจะต้องไปดูกฎระเบียบข้อบังคับตัวเองว่าจะปรับเปลี่ยนยังไงบ้างเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนตัวเองเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้สมัยใหม่

ที่พูดมาทั้งหมดเป็นมิติทางด้าน knowledge supply หรือซัปพลายความรู้ คือการจัดหาอุปทานของความรู้เอาไว้ให้คนได้เห็นและเข้ามาใช้ แต่ในระบบนิเวศเชิงความรู้ แต่ยังมีอีกฝั่งหนึ่งที่เราอาจจะลืมไป นั่นคือการสร้าง knowledge demand หรืออุปสงค์ความรู้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ฉันกระหายอยากได้ความรู้ จะได้วิ่งเข้าไปหาแหล่งเรียนรู้เหล่านั้น  

ในสังคมไทยเรา ต้องยอมรับว่าเวลาพูดคำว่าความรู้ คนจำนวนมากจะเกิดความรู้สึกว่ามันจริงจัง รู้สึกกลัว มันซีเรียส เครียดไปหรือเปล่า แต่ถ้าทำให้คนเกิมีดีมานด์เรื่องความรู้ในตัว เขาจะลุกขึ้นมาไขว่คว้าหาความรู้นั้นๆ เอง แล้วมันจะส่งผลกระทบย้อนกลับไปถึงการใช้บริการซัปพลายความรู้ต่างๆ ทำให้ผู้ให้บริการทั้งหลายมีข้อมูลเพื่อใช้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ตอบโจทย์กับความต้องการของคนได้ดีขึ้น เราเลยต้องพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น ถ้าเราสร้างห้องสมุดแล้ว เราก็ต้องสร้างความอยากเข้าห้องสมุดให้เกิดขึ้นให้ได้ด้วย ถึงจะมีคนไปเข้าห้องสมุดนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

โดยส่วนตัวคิดว่า ซัปพลายด้านแหล่งความรู้บ้านเรามีพอสมควรนะ เราไม่ได้ขาดมิวเซียม ห้องสมุด สาธารณูปโภคทางปัญญาขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราขาดคือการส่งเสริมให้สถานที่เหล่านี้มีประสิทธิภาพ และขาดการสร้างดีมานด์ให้คนกระหายอยากเข้าไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการเชื่อมโยงซัปพลายกับดีมานด์เรื่องความรู้

แหล่งความรู้บ้านเรามีพอแล้วจริงๆ หรือ เพราะบางคนที่สนใจเข้าไปค้นหาความรู้ในที่ต่างๆ ก็คิดว่ามีแค่ไม่กี่สถานที่ที่เขาเดินทางไปได้

ต้องใช้คำว่า ‘มีมากพอสมควร’ แต่แน่นอนว่าไม่ได้มากพอในแบบที่ทุกถนนมีห้องสมุด อย่างในบางเมือง ทุกคนที่เดินออกจากบ้านสามารถเดินให้ถึงห้องสมุดได้ภายใน 10 นาที อันนี้คือเรียกว่ามีมากจริงๆ

ที่บ้านเรา เวลาถามว่าแหล่งเรียนรู้มีพอหรือยัง เรื่องหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือความเหลื่อมล้ำ ถ้าคุณมีเงิน ก็พูดได้ว่ามีเพียงพอ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะสนใจหรือเปล่า เพราะมีที่ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการจ่ายเงิน เช่น ถ้าคุณอยากทำเค้ก คุณอาจจะเข้าถึง cooking studio ที่มีหลายๆ ที่ โดยมีค่าใช้จ่าย หรือไปเข้าคอร์สเรียนต่างๆ ซึ่งบางคอร์สราคาเป็นแสนๆ ก็มี แต่ก็น่าคิดว่า ที่เราไปเพราะไปเอาความรู้ หรือไปเพราะไปเอาคอนเน็กชันมากกว่ากัน

แต่ถ้าคุณมีเงินน้อยหรือไม่มีเลย การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อาจเป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะมีแหล่งเรียนรู้ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยอยู่หลายแห่ง เช่น กทม. มีศูนย์ฝึกอาชีพ หรือว่าโรงเรียนสารพัดช่างก็เก็บค่าใช้จ่ายน้อยมาก แต่การเข้าถึงมีหลายองค์ประกอบ ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณอาจไม่มีต้นทุนเวลาไปด้วย เพราะต้องใช้เวลาทำงานหาเงินเพิ่มมากกว่าเข้าแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่การเข้าแหล่งเรียนรู้อาจช่วยเพิ่มทักษะให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตได้ แต่เมื่อคุณไม่มีต้นทุนที่จะเรียนรู้ตั้งแต่ต้นเสียแล้ว มันก็จะเกิดวงจรแบบ spiral ที่ทำให้ชีวิตยิ่งแย่ลงไปอีก

ดังนั้น แหล่งเรียนรู้จึงมีมากพอสำหรับคนในฐานะหนึ่ง แต่ในอีกฐานะหนึ่งอาจจะมีไม่มากพอ

คุณคิดว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ในบ้านเราไม่ได้ตอบโจทย์ของการเป็น knowledge supply ที่ตอบโจทย์ต่อคนอย่างเสมอภาค

บ่อยครั้งที่เราอาจจะมีงบประมาณในการสร้างถาวรวัตถุ อาคาร ตึก แต่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงงบประมาณต่อเนื่อง เช่น เราสร้างห้องสมุด แต่เราไม่ได้มีงบซื้อหนังสือ เราไม่ได้คิดเรื่องนั้นไว้ล่วงหน้า หรือว่าเราอาจจะมีงบซื้อหนังสือ แต่ไม่ได้มีงบจ้างบุคลากรที่ไม่ใช่แค่มานั่งเฝ้าหนังสือ แต่ว่าต้องอัปเดตตัวเองไปกับหนังสือ ไม่ว่าจะเรื่องหนังสือใหม่ๆ หรือเทรนด์โลกเป็นยังไง หนังสือที่จะเข้ามาอยู่ตรงนี้คืออะไร คนที่เข้ามาใช้บริการของเราคือใคร 

เรื่องสำคัญก็คือ เราต้องมีสำนึกว่าแหล่งเรียนรู้นั้นช่วยสร้างสังคม และกลับกัน สังคมก็มีส่วนในการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้วย แหล่งเรียนรู้ไม่ได้อยู่ ‘เหนือ’ คนอื่น อย่าให้ให้แหล่งเรียนรู้เป็นเรื่องของ ‘ความรู้คืออำนาจ’ และมีสถานะที่อยู่สูงกว่าคนเข้ามาใช้บริการ เพราะนั่นจะทำให้เกิดภาพว่าความรู้คือสิ่งที่จริงจัง น่ากลัว เพราะมันไม่ใช่แค่ฉันจะทำห้องสมุดสำหรับการเรียนรู้ ฉันมีหนังสือวิชาการที่ชั้นเลิศอยู่ในนี้ พวกเธอต้องเข้ามา แต่เราต้องรู้ด้วยว่า ผู้คนและชุมชนต้องการอะไร แล้วผสมความต้องการของผู้คนเข้ากับความรู้ใหม่ๆ ให้กลมกล่อม

สมมติคนในชุมชนของเราอยากอ่านนิยายวาย แล้วเรายัดเยียดให้อ่านตำราเศรษฐศาสตร์ ก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่หากหาวิธีผสมผสานนิยายวายกับความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย ก็จะช่วยตอบโจทย์และสร้างสังคมไปด้วยได้ เราจะเห็นซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องที่จริงจังกับการสอดแทรกความรู้เข้าไปอย่างแนบเนียน มีแม้กระทั่งความรู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะทำได้ ผู้ให้ความรู้ก็ต้องมีความรู้และจินตนาการในตัวเสียก่อน

บางที่ก็ติดข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่อาจจะทำให้เปิดตัวเองเป็นแหล่งเรียนรู้แบบเต็มที่ไม่ได้ OKMD เคยทำสำรวจข้อมูลแหล่งเรียนรู้ต่างๆ พบว่าในไทยมีแหล่งเรียนรู้มากถึงกว่า 4,000 แห่ง แล้วพบว่าแหล่งเรียนรู้ที่สังคมไทยมีเยอะคือประเภทวิทยาศาสตร์ แต่พอเข้าไปดูลึกๆ แหล่งเรียนรู้ประเภทวิทยาศาสตร์ที่มี 600 กว่าแห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชน ซึ่งถูกจัดไว้ให้อยู่ในประเภทแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งถ้าดูให้ลึกลงไปอีก จะพบว่าศูนย์เหล่านี้ไม่ค่อยมีการบริหารจัดการที่ดีเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เอาไว้สอนผู้สูงวัยในหมู่บ้านใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นครั้งๆ ไป อาจไม่ได้มีการบริหารที่ต่อเนื่องขนาดนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราสร้างแหล่งเรียนรู้ได้มาก แต่ยังขาดการจัดการแหล่งเรียนรู้อยู่พอสมควร

ถ้าพูดในฐานะประชาชนทั่วไปที่ได้ใช้บริการแหล่งเรียนรู้ คงต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่ภาครัฐมักคิดไม่ครบ หรือบางหน่วยงานอาจจะคิดครบถ้วนแล้ว แต่หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนมากพอ หรือติดขัดเชิงระบบบางเรื่อง อาจทำให้ตัวซัปพลายความรู้ไม่ดึงดูดจูงใจมากเพียงพอ ถ้าเรื่องซัปพลายยากแล้ว เรื่องดีมานด์จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

ทำไมการสร้างดีมานด์ให้อยากเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในไทยกลายเป็นเรื่องยาก ปัญหาที่เราติดขัดอยู่ตรงไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับวัฒนธรรม เราต้องตั้งคำถามว่า วัฒนธรรมไทยมีวิธีถ่ายทอดความรู้อย่างไรบ้าง เราสอนให้คน ‘รักในความรู้’ มาตั้งแต่ต้นหรือเปล่า หรือว่าเราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบรับคำสั่งมากกว่า สมมติว่าคนที่มีอำนาจมากกว่าบอกให้เราทำอะไร แล้วเราทำได้ถูกต้อง สมบูรณ์แบบตามที่เขาบอก อันนั้นถือว่าดี แต่สมมติผู้มีอำนาจมากกว่าสั่งให้เราทำแบบนี้ แต่เราบอกว่าเท่าที่ฉันไปหาความรู้มา มันมีอีกแบบที่อาจจะดีกว่าก็ได้นะ คำถามก็คือเราทำแบบนั้นได้หรือเปล่า

ในกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทย เท่าที่พบมาก็คือเราไม่ค่อยอยากให้คนทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับขนบ คือสมัยนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนเจนเอ็กซ์ (Generation X) อย่างผมเผชิญกับการเรียนการสอนแบบที่ต้องทำตามครูเสมอ ครูสอนว่าให้ทำตามแบบแผน 1 2 3 4 ก็ต้องทำ แม้แต่การแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ที่มีวิธีร้อยพันแปดวิธี ก็ต้องแก้ด้วยวิธีที่ครูบอกเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าวิธีของครูอาจจะเป็นวิธีลัดที่ดีที่สุดแล้ว เพราะว่าครูได้ทดลองมาหมดแล้ว แต่ในอีกด้านมันก็ปิดโอกาสในการที่เด็กจะได้ทดลองกับความคิดของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบนั้นก็เพราะทั้งครูและเด็กอยากได้ทางลัดสู่คำตอบแบบสำเร็จรูป จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหรือเสียโอกาสในการสอบแข่งขัน

แต่ถ้าโอกาสทดลองทางความคิดมันปิดลงแบบนั้นแล้ว เด็กก็จะไม่ได้แสวงหา ค้นหา หรือเปิดพรมแดนใหม่ๆ ให้ตัวเอง เราเลยมักไม่ได้เป็นคนที่ ‘ใฝ่รู้โดยพื้นฐาน’ หรือรักที่จะแสวงหาในความรู้ แต่แค่ ‘เชื่อ’ หรือทำได้ตามแบบแผนที่กำหนดมาก็ถือว่าดีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะได้รีวอร์ด (reward) ด้วย ส่วนเด็กที่ไปหาลู่ทางใหม่ๆ นอกจากไม่ได้รางวัล ครูไม่สนับสนุน ผู้ใหญ่ไม่ชอบหน้าแล้ว สุดท้ายอาจเสียเวลาชีวิต คะแนนตกต่ำ อาจจะแย่ด้วยซ้ำไป อาจพูดได้ว่า พื้นฐานเนื้อดินของสังคมเราเป็นแบบนี้เสียส่วนใหญ่ เราจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อง่าย มีศรัทธาจริตมากกว่าปัญญาจริต

เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมอำนาจที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่น จึงอาจเป็นอีกเรื่องที่ทำให้เราไม่ได้เป็นสังคมที่ใฝ่รู้โดยพื้นฐาน ดีมานด์ในการที่จะมีความรู้เลยไม่ค่อยเกิด แต่ในขณะเดียวกัน ในยุคสมัยที่ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหน้ามือเป็นหลังมือ กรอบที่ว่านั้นอาจจะเริ่มถูกทำลายลงแล้วก็ได้ เราจะเห็นว่าคนยุคนี้ทั้งที่อายุน้อยอายุมากเริ่มใฝ่หาความรู้กันมากขึ้น แต่กรอบที่ว่าไม่ได้ถูกทำลายลงด้วยการวางแผนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้น มันเกิดขึ้นเองตามกระแสของโลกที่มากับเทคโนโลยี คนยุคนี้จึงอาจรู้สึกว่าฉันก็ไม่ต้องอยู่ในกรอบก็ได้นะ ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ได้ ไม่งั้นเขาคงไม่เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปกินบนคอนเสิร์ต ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจหรือความขัดแย้งระหว่างคนที่มีความคิดแบบเดิมกับแบบใหม่ขึ้นมา เป็นความขัดแย้งที่เกิดที่ฐานของความคิดเลยทีเดียว

คุณคิดว่าหน่วยงานต่างๆ หรือสังคมไทยเองจะสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่บ้านเรามีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้กลายเป็นเรื่องของคนมีเงินเท่านั้นที่จะสนใจเรื่องนี้

ดีมานด์ทางความรู้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ยากประมาณหนึ่ง ก็ไม่แน่นะครับ บางทีในภาพใหญ่อาจจะทำง่ายกว่า เช่น ในสิงคโปร์จะมีองค์กรอย่าง SkillsFuture คือเขาจะให้เครดิต 500 เหรียญฯ กับประชากรที่อายุ 25 ปีขึ้นไปในการไปเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ ก็ทำให้คนเหมือนมีต้นทุนการเรียนรู้อยู่ในมือ หรืออย่างที่มีข่าวฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสแจกเงินเด็กให้ไปซื้อหนังสือหรือสื่อเชิงความรู้ หรือในบางประเทศก็มีการสนับสนุนต้นทุนในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนอาชีพสำหรับคนที่เบื่องานเดิม รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรในมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สูงวัย อันนี้ก็คือการเพิ่มทั้งซัปพลายและดีมานด์ในภาพใหญ่ให้คนโดยตรงเลย แต่ก็ต้องการกระบวนการจัดการที่ยั่งยืนด้วย ไม่อย่างนั้นก็เกิดขึ้นเป็นวูบๆ แล้วหายไป

ดีมานด์ในระดับเล็กที่ยั่งยืนยิ่งไม่ง่าย สมมติเรามีแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สิ่งที่เจ้าหน้าที่แหล่งเรียนรู้นั้นๆ ต้องทำ คือเข้าใจชุมชนตัวเองให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นเมื่อรู้แล้ว ก็ต้องสร้างตัวซัปพลายที่ตอบโจทย์ เช่น ต้องสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่สอดรับดีมานด์ของคนให้ได้ 

เรื่องสำคัญคือ ตัวบุคลากรต้องมีแพชชัน (passion) มีความต้องการที่จะทำ มีความรักในความรู้อยู่ในตัวเอง มีสำนึกเรื่องความเสมอภาคทางอำนาจ เราต้องการคนเล็กๆ แบบนี้จำนวนแบบมหาศาลที่จะไปกระจายในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้คนตัวเล็กๆ แบบนี้นี่แหละ ได้ ‘เป็นเจ้าของ’ แหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งภาครัฐก็ต้องเข้าไปสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน เพราะต้องยอมรับว่า รัฐไม่ได้มี ‘ความรู้’ ในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญมากเท่าคนตัวเล็กๆ ที่คลุกคลีอยู่กับเนื้อหาจริงๆ เหล่านี้หรอก เหมือนเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างถักแหที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

ดังนั้น บทบาทของผู้ว่าฯ ก็ต้องเข้ามาสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่? 

ใช่ครับ แต่มีเรื่องหนึ่งที่คิดว่าเราอาจจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันในฐานะแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่เมืองแบบกรุงเทพฯ ด้วย คือ เราเป็นเมืองแบบไหน

ถ้าเราเอาโตเกียว (Tokyo) แอลเอ (LA – Los Angeles) นิวยอร์ก (New York) มาเทียบ เราจะรู้ว่าลักษณะความเป็นเมืองไม่เหมือนกันเลย นิวยอร์กอยู่ในแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ แคบๆ เมืองเลยต้องโตขึ้นเป็นแนวตรง มีตึกสูง แล้วก็สัญจรโดยใช้รถใต้ดิน หรือขนส่งมวลชนทั้งหลาย ในขณะที่แอลเอเป็นเมืองที่ไม่สิ้นสุด (never ending) ขยายออกไปเรื่อยๆ ในหนังสือ Metropolis ของเบน วิลสัน (Ben Wilson) ให้ข้อมูลใหม่สำหรับผมว่า ในช่วงสงครามเย็น เคยมีแนวคิดที่ว่าแอลเอเป็นจุดยุทธศาสตร์ หากมีการยิงขีปนาวุธมาที่แอลเอ ก็อาจจะพังพินาศได้ วิธีหนึ่งคือการขยายเมืองออกไปเพื่อไม่ให้รู้ว่าเป้าตรงกลางอยู่ที่ไหน วิธีสร้างเมืองแอลเอจึงเป็นแบบหนึ่งที่ไปสอดรับกับวัฒนธรรมรถยนต์พอดี แอลเอจึงไม่เหมือนนิวยอร์ก ส่วนโตเกียวเป็นเมืองที่มีตึกสูง แล้วก็มีสภาวะขยายไปกว้างใหญ่มาก แต่ว่าด้วยวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ โตเกียวยังรักษาลักษณะดั้งเดิมเอาไว้ แต่ในช่วงสงครามโลก โตเกียวถูกทำลายไปมาก การสร้างเมืองใหม่ของโตเกียวจึงมีทั้งส่วนที่เป็นถนนใหญ่และตรอกซอกซอยข้างหลังซึ่งแต่ก่อนเป็นย่านโบราณเอาไว้ โตเกียวจึงดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนนิวยอร์กหรือแอลเอ แต่ที่จริงแล้วมี order หรือระเบียบของตัวเองอยู่

คำถามคือ แล้วกรุงเทพฯ อยากเป็นแบบไหน คำตอบเท่าที่เห็น กรุงเทพฯ ดูเหมือนจะอยากเป็นทุกแบบเลย ทั้งอยากเป็นเมืองตึกสูงแบบนิวยอร์ก อยากเป็นเมืองขยายที่มีย่านชานเมืองหรือ suburb แบบแอลเอ อยากมีทั้งของเก่าและใหม่แบบโตเกียว เป็นไปได้ไหมว่า บางทีกรุงเทพฯ เหมือนไม่รู้ตัวเองว่าตัวเองอยากเป็นแบบไหน การคิดเรื่องเมืองของเราจึงดูงงๆ ปัญหาต่างๆ ในเมืองที่เกิดขึ้นจึงแก้ไขได้ยาก เพราะมันซับซ้อนไปหมด

สำหรับนักคิดเรื่องเมือง เขาบอกว่าในระยะหลัง จะมีแนวคิดคล้ายการนำเอาแอลเอมารวมกับนิวยอร์ค คือทำให้พื้นที่ชานเมืองหรือ suburb มีลักษณะที่เป็น city หรือเป็นเมืองด้วย แต่เป็นเมืองขนาดเล็กหรือ compact city ที่มีศูนย์กลางกระจายออกไป ทำให้เมืองกลายเป็นเมืองหลายศูนย์กลาง เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปใจกลางเมืองเดิม โดยแต่ละศูนย์กลางจะมีทุกอย่างเป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้มีแหล่งเรียนรู้เป็นของตัวเองอย่างหลากหลายด้วย ตรงนี้จะทำให้เราลงลึกไปได้ถึงความต้องการของแต่ละท้องที่ที่แตกต่างกัน มีนบุรีอาจจะไม่ได้ต้องการความรู้แบบเดียวกับที่คนที่อยู่สีลมก็ได้ ถ้าเราคิดว่าทั้งกรุงเทพฯ ต้องมีองค์ความรู้เดียวกัน มันจะกลายเป็นว่าทั้งกรุงเทพฯ เหมือนกันหมด แต่นี่มีคนอยู่ตั้งกี่ล้านคน ไม่นับรวมประชากรแฝงอีกที่ต้องการความรู้ที่แตกต่างกัน 

กรุงเทพมหานคร ที่จริงแล้วเป็นหนึ่งในกลไกกระจายอำนาจ ดังนั้น ตัวผู้ว่าฯ เองก็ต้องกระจายอำนาจกลับไปหาแต่ละเขตในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ด้วยเหมือนกัน ให้เขาบอกมาว่าเขาอยากได้ความรู้แบบไหน แหล่งเรียนรู้ควรจะมีแบบไหน แล้วสามารถจะมีอำนาจ มีงบประมาณที่จะจัดการตัวเองได้ยังไงบ้าง สิ่งที่ผู้ว่าฯ ทำได้ก็คือการเป็นผู้ประสานงานตรงกลาง คอยดูดีมานด์ของผู้คน แล้วดูว่ามีหน่วยงานไหนที่สามารถจัดหาซัปพลายทางความรู้มาให้ผู้คนได้บ้าง เพราะงบประมาณของกรุงเทพมหานครมีไม่มากพอที่จะทำทุกเรื่องได้เองหรอกครับ

เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือการประสานให้เกิดการทำงาน ‘ร่วมกัน’ ของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน อย่างในลอนดอน จะมีองค์กรชื่อ London Knowledge Quarter ที่ทำหน้าที่ประสานงานองค์กรที่มีความรู้อยู่ในตัวต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชน อย่างกูเกิล (Google) และอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกสถานีคิงส์ครอส (King’s Cross) จึงเกิดความน่าสนใจ ทำให้ผู้ใช้บริการมองเห็นภาพรวมใหญ่ของความรู้ขึ้นมาได้ ดีมานด์ก็เกิดขึ้นมาได้เอง แต่ของไทยยังมีปัญหาเรื่องความร่วมมืออยู่พอสมควร ตรงนี้หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง กทม. สามารถทำงานเป็นตัวกลางประสานได้

นอกจากที่เราคุยกันมาทั้งหมดแล้ว คุณคิดว่ามีประเด็นอื่นๆ อีกไหมที่เราต้องนึกถึงการสร้างองค์ความรู้ให้กลายเป็นทรัพยากรของประชาชน

อีกเรื่องที่โดยส่วนตัวสนใจคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Meta Learning หรือการเชื่อมโยงให้เห็นว่า ในสังคมไทยมีใครสร้างความรู้อะไรอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุคใหม่ที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายจนเลือกไม่ถูกและเกิด paradox of choices ขึ้นมา

สมมติเราจะเรียนเปียโน แต่ก่อนเราจะมีแค่โรงเรียนดนตรีแห่งเดียวให้เรียน เขาอาจจะมีวิธีสอนแบบนั้นแบบเดียว แต่ถ้าคนคนหนึ่งไม่ชอบวิธีสอนแบบนั้น เขาอาจเกลียดเปียโนไปเลยก็ได้นะ แต่ในปัจจุบันมีวิธีสอนเปียโนเป็นสิบๆ แบบในยูทูบ (Youtube) เลย นั่นหมายความว่า เราสามารถใช้ Meta Learning เพื่อดูก่อนเสียว่ามีวิธีการสอนเปียโนแบบไหนที่เหมาะกับเราได้

เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะเวลาเราเป็นสื่อ เวลาเราจะเลือกทำเรื่องอะไรเรื่องหนึ่ง เรามักจะคิดอยู่ในกรอบที่ล้อมรอบเราอยู่ว่าเรามีเรื่องประมาณนี้ เราก็จะไปหาความรู้เรื่องนี้ แต่ที่จริงแล้วเราอาจจะไม่เห็นภาพใหญ่ๆ หรือเราไม่เห็นว่าสังคมไทยได้ผลิตความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไรบ้าง การสร้างสาธารณูปโภคทางปัญญาขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้สามารถเสิร์ชได้ในทันทีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

มีคนเล่าให้ฟังว่าฐานข้อมูลแบบนี้ในเกาหลีใต้ก็มี เช่น คนเขียนบทหนังสามารถเซิร์ชข้อมูลได้ อย่างจะเขียนบทเลิฟซีน ก็สามารถเซิร์ชดูได้ว่า เคยมีการเขียนบทเลิฟซีนในโลกนี้อย่างไรบ้าง ฮอลลีวูดเขียนแบบนี้ บอลลีวูดเขียนแบบนี้ ฝรั่งเศสเขียนแบบนี้ อังกฤษเขียนอีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าฉันเป็นเกาหลี ฉันจะเขียนแบบไหน คือเราควรมีฐานคิดให้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จินตนาการขึ้นมาจากศูนย์

ขั้นตอน Meta Learning จึงสำคัญมากๆ แล้วมันจะไปตอบโจทย์ทั้งเรื่องซัปพลายและดีมานด์ทางความรู้ให้คนได้ด้วย เพราะทำให้คนได้เห็นภาพใหญ่ขององค์ความรู้ก่อนที่จะกระโดดเข้าไปศึกษาเรื่องที่สนใจอย่างจริงจัง

เพราะฉะนั้น ระบบนิเวศของการเรียนรู้จึงเป็นจักรวาลที่ใหญ่มาก และต้องการการดูแลอย่างเข้าใจจริงๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save