fbpx
อุดมการณ์ของทุน อุดมการณ์ของคุณ สัจนิยมของทุน

อุดมการณ์ของทุน อุดมการณ์ของคุณ สัจนิยมของทุน

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

นึกภาพวันสิ้นโลกกันออกไหมครับ?

โลกที่ไม่มีมนุษยชาติหลงเหลืออยู่ หรือถ้ามี ส่วนใหญ่ก็ต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ และหวาดระแวง ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเอาตัวรอด หรือไม่ก็กลายเป็นผู้รอดชีวิตเพียงหยิบมือที่ต้องเดินทางออกไปในห้วงอวกาศอย่างไร้จุดหมายเพราะดันไม่มีโลกใบเดิมให้อาศัยอยู่อีกต่อไปแล้ว

ถ้าใครเป็นคอวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ไซไฟคงนึกถึงพล็อตทำนองนี้ออกแทบจะทันที การเติบโตของวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือเกมส์แนวหลังหายนะ (post-apocalyptic) ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า จินตนาการถึงวันที่โลกของเราถูกทำลายด้วยหายนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ภัยพิบัติครั้งใหญ่ สงครามนิวเคลียร์ การระบาดของเชื้อไวรัส การรุกรานของมนุษย์ต่างดาวหรือสัตว์ประหลาดจากท้องทะเลลึก เหล่านี้ล้วนไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์เราเลย

อย่างไรก็ตาม ลองจินตนาการถึงโลกในอนาคตที่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบอื่นที่ไม่ใช่ ‘ทุนนิยม’ ดูสิครับ นึกออกกันบ้างไหม?

ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงนึกไม่ค่อยออก เห็นภาพไม่ค่อยชัด หรือถ้านึกได้ก็คงต้องใช้เวลานานกว่าการจินตนาการถึงวันสิ้นโลกแน่ๆ

เหตุผลอาจเป็นเพราะหลายคนไม่เคยต้องนึกถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน หรือไม่ก็เพราะเราดันอยู่ในโลกที่บอกกันปากต่อปากว่า อดีตผู้ท้าชิงอย่างคอมมิวนิสม์พ่ายแพ้ไปแล้วภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ขณะที่ทุนนิยมในฐานะระบบเศรษฐกิจที่มุ่งการแข่งขันและการแสวงหากำไร คือทางออกที่ดีที่สุดต่อสังคมโดยรวม

ภาวะที่เราจินตนาการได้เต็มไปหมดว่าโลกจะแตกด้วยวิธีใดบ้าง แต่กลับนึกไม่ออกเลยว่าอนาคตที่ดีกว่าในระบบการเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมเป็นอย่างไรนี่แหละครับ คืออาการของสิ่งที่มาร์ค ฟิชเชอร์ นักเขียนผู้ล่วงลับเรียกว่า ‘สัจนิยมของทุน’ (capitalist realism)

ในหนังสือ Capitalist Realism: Is There No Alternative? (2009) ฟิชเชอร์ต่อยอดจากข้อเสนอของนักปรัชญาชื่อดังสองคน คือสลาวอย ชิเช็คและเฟดริก เจมสัน ที่มองว่า ในปัจจุบัน การจินตนาการถึงวันสิ้นโลกเป็นเรื่องง่ายกว่าการจินตนาการถึงจุดจบของระบบทุนนิยม

Mark Fisher Capitalist Realism: is There No Alternative?

พูดอีกอย่างคือ ในขณะที่พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชวนให้เราคิดถึงโลกอนาคตที่ต่อให้เว่อวังเพียงใดก็ไม่ ‘เกินจริง’  เรากลับตกอยู่ในบรรยากาศทางภูมิปัญญาที่ชวนให้เชื่อไปแล้วว่า ไม่ว่าทุนนิยมจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ขูดรีด หรือส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสภาพแวดล้อมมากเพียงใด มันก็ยังคงเป็นระบอบการเมืองและเศรษฐกิจเดียวที่ ‘เป็นไปได้จริง’ อยู่ดี

สำหรับฟิชเชอร์ สัจนิยมของทุน คือ “สภาพบรรยากาศ” ที่ “ทำหน้าที่ประหนึ่งเครื่องกีดขวางล่องหน ซึ่งคอยยับยั้งความคิดและการกระทำ” (16) ของเราเอาไว้ จนมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นใดอีก นอกจากโลกแบบทุนนิยม

สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัย 2-3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่ก้าวขึ้นมาเป็นคำตอบของการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่วางรากฐานอยู่บนการต่อสู้แข่งขันของ ‘ปัจเจกชน’ แต่ละคน เพื่อแสวงหากำไรและอนาคตที่ดีกว่า

ภาวะดังกล่าวเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรผลักดันนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ พร้อมประกาศกร้าวว่าทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจแบบเดียวที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่แนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสม์เริ่มพ่ายแพ้ทั้งในทางกำลังและในทางอุดมการณ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

แต่สำหรับฟิชเชอร์ สิ่งที่หล่อเลี้ยงสัจนิยมของทุนให้มีชีวิตเติบโตจนถึงปัจจุบันไม่ใช่ลำพังความสำเร็จของทุนนิยมในบางที่ แต่เป็นเพราะทุนนิยม โดยเฉพาะทุนนิยมเสรีนิยมใหม่หรือทุนนิยมแบบอเมริกัน เป็นอุดมการณ์ที่ซ่อนความเป็นอุดมการณ์ของตัวเองไว้อย่างแนบเนียน

กล่าวคือ อุดมการณ์ของทุนนิยมไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งเหมือนในช่วงสงครามเย็นอีกต่อไป ทว่ามันค่อยๆ ถูกพูดถึงราวกับเป็นข้อเท็จจริงทางสังคม และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นจึง ‘ดีที่สุด’ ด้วย

เมื่อความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวคือทุนนิยม สิ่งอื่นที่พยายามลุกขึ้นท้าทายจึงเป็นเพียง ‘อุดมการณ์’ ซึ่งมีความหมายในแง่ลบมากกว่าแง่บวก

ด้วยเหตุนี้ ตรรกะแบบทุนซึ่งเชื่อในการแข่งขันอย่างเสรีจึงค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในอาณาบริเวณที่แต่เดิมอยู่ใต้อำนาจการบริหารงานของรัฐ บริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษาและสาธารณสุข เริ่มถูกปรับโครงสร้างให้มีระบบการบริหารงานแบบภาคธุรกิจ อันมีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบสวัสดิการเหล่านี้มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ

ภายใต้ตรรกะของทุน การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งแต่เด็กถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นกว่าการสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ด้วยข้ออ้างว่ามันสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากกว่า ขณะที่ความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์ไม่น้อยไปกว่ากัน กลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าประหลาดใจ

ทำนองเดียวกัน เมื่อเชื่อว่าปัจเจกชนทุกคนมีศักยภาพที่เท่าเทียมกันในการกำหนดชีวิตตนเอง ชัยชนะและความพ่ายแพ้จึงเป็นเรื่องของความสำเร็จและความล้มเหลวเชิงศีลธรรมและความสามารถส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นผลของความได้เปรียบ-เสียเปรียบเชิงโครงสร้าง ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นเพียงข้ออ้างของคนอ่อนแอ พวกขี้แพ้ หรือฝ่ายซ้ายตกขอบเท่านั้น

สำหรับฟิชเชอร์ ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ว่า ทั้งที่เรารู้ว่าทุนนิยมไม่ได้นำพาสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาแก่ชีวิตของคนส่วนใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น เรากลับไม่เห็นความจำเป็นหรือความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากพันธะของทุนนิยม ทั้งนี้ก็เพราะพลังสำคัญของสัจนิยมของทุน คือการปิดบัง ‘ความจริง’ (the Real) ด้วยการลดทอนปัญหาทุกอย่างให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล และโยนภาระให้เรารับผิดชอบชีวิตตัวเองโดยเพิกเฉยต่อความแตกต่างทางชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศสภาพ

เมื่อไม่อาจจินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง การต่อสู้ที่เป็นไปได้ในยุคนี้จึงมักลงเอยด้วยการต่อสู้ภายใต้ตรรกะของทุนนิยมเอง กล่าวคือสัจนิยมของทุนบอกว่าเรา เมื่อเปลี่ยนโลกไม่ได้ ก็จงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เมื่อเราเลือกทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมไม่ได้ ก็ขอให้เราเลือกทางเลือกที่เลือกได้ภายใต้ตรรกะของทุนที่ให้ ‘เสรีภาพ’ แก่ปัจเจกในการออกแบบชีวิตของตัวเอง

การต่อสู้กับปัญหาของทุนนิยมในปัจจุบันจึงมักปรากฏในรูปของการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นมากกว่าจะต่อสู้กับการผูกขาดและระบบพวกพ้อง หรือท้าทายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งท้าทายและอันตรายกว่ามาก

ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนจากการที่หนังสือพัฒนาตนเองกลายเป็นหมวดหนังสือที่โดดเด่นในร้านหนังสือทั่วไป  ไลฟ์โค้ชกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่คุณสมบัติส่วนบุคคล เช่น ความพยายาม ขยันขันแข็ง อดทน มุมานะ และความรู้จักพอ ได้รับการเชิดชูราวกับเป็นเงื่อนไขเพียงอย่างเดียวในการประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวของคนในยุคปัจจุบัน โดยจงใจมองข้ามปัจจัยอื่น เช่น ภูมิหลังหรือความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการศึกษา ชนชั้น และเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน การต่อสู้กับทุนนิยมด้วยการบริโภคสินค้าและมีไลฟ์สไตล์ที่ดูขัดแย้งกับกระแสหลักยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการต่อต้านทุนนิยมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

จึงไม่น่าแปลกที่เราเห็นบางคนเลือกหนีออกจากเมืองใหญ่ไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ในที่ดินหลายร้อยไร่ บริโภคอาหารชีวจิตหรือผักปลอดสารพิษที่มีราคาแพงกว่าอาหารทั่วไป เปลี่ยนการแต่งกายให้แหวกแนว ฟังเพลงนอกกระแส ชมภาพยนตร์ที่วิจารณ์ประเด็นทางสังคม ซื้อสินค้าที่ขายความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มองว่าการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและรายได้พื้นฐาน (basic income) เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด การเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีจากกำไรจากการขายหลักทรัพย์จะทำลายแรงจูงใจในการทำงานและการสะสมทุน ขณะที่การจัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาและสาธารณสุข เป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐมากเกินความจำเป็น

ใน The Tyranny of Choice (2011) Renata Salecl นักปรัชญาชาวสโลวีเนียตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในสังคมทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ชีวิตทางเลือก เช่น การหันกลับสู่ธรรมชาติ ทำงานอิสระ วัฒนธรรมฮิปสเตอร์ การไม่ทำตามกระแสนิยม หรือ ‘ความขบถ’ กลายเป็นความเท่ ความคูล หรือเป็นกิจกรรมในเชิงศีลธรรมมากกว่าจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในเชิงโครงสร้างที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก

พูดอีกอย่างคือ สัจนิยมของทุนทำให้การต่อสู้วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมกลายเป็นเชื้อไฟที่ทำให้ทุนนิยมยังคงทำงานได้ดี ตราบเท่าที่เราเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในระบบทุนนิยมเกิดขึ้นจากคุณธรรมและความสามารถส่วนบุคคลล้วนๆ เพราะถึงที่สุด เราไม่เพียงเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือหลงเชื่อไปว่าความสำเร็จของเรามาจากน้ำพักน้ำแรงของเราล้วนๆ แต่ยังปวารณาตนเป็นนักบวชที่คอยเทศนาคนอื่นๆ ให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง พยายามให้มากขึ้นอีก และละเลยอิทธิพลของความไม่เป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจไปอย่างจงใจ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ฟิชเชอร์บอกเราว่า การผลักความรับผิดชอบให้ ‘คนที่แพ้ต้องคอยดูแลตัวเอง’ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความตึงเครียด ภาวะซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นมากในคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร

“วัยรุ่น [ในสหราชอาณาจักร] หลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตหรือความบกพร่องทางการเรียนรู้ หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า […] การทำให้ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว โดยทำราวกับว่ามีสาเหตุมาจากความสมดุลของสารเคมีในระบบประสาทหรือไม่ก็มาจากภูมิหลังทางครอบครัวเพียงอย่างเดียว เป็นการตัดสาเหตุที่เกิดจากระบบทางสังคมทิ้งไป

วัยรุ่นหลายคนที่ผมพบดูจะอยู่ในสภาวะที่ผมเรียกว่า ‘ซึมสุข’ ภาวะซึมเศร้าทั่วไปเกิดจากการหมดอาลัยตายอยาก แต่อาการที่ผมพูดถึงไม่ใช่การไม่สามารถจะมีความสุข แต่คือการที่ [พวกเขา] ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ นอกจากแสวงหาความสุข” (21-22)

สำหรับฟิชเชอร์ ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่เพียงความเจ็บป่วยทางกายภาพ ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง แต่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับระบบเศรษฐกิจที่บีบให้เราต้องวิ่งไล่ตามความสุขและความสำเร็จที่มีนิยามไว้เสร็จสรรพว่าวัดกันด้วยมาตรฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ผลักภาระให้เรารับผิดชอบสิ่งที่หนักอึ้งมากกว่าคนคนหนึ่งคิดว่าตัวเองจะรับได้ และเมื่อเราพลาด เรียนไม่จบ สอบไม่ติด ตกงาน เป็นหนี้ เหตุผลเดียวก็เพราะเราไม่ดีพอ เรา ‘ทำตัวเอง’

ในบทความขนาดสั้นชื่อ Good for Nothing (2014) ฟิชเชอร์สรุปประเด็นนี้ไว้อย่างแหลมคมว่า

“นานมาแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของชนชั้นปกครองก็คือการผลักภาระความรับผิดชอบให้คนแต่ละคน สมาชิกของชนชั้นใต้ปกครองแต่ละคนถูกส่งเสริมให้รู้สึกว่าความยากจนข้นแค้น ขาดไร้ซึ่งโอกาส หรือการตกงานเป็นความผิดของตัวพวกเขาเอง เป็นเพราะพวกเขาเองล้วนๆ แต่ละคนจะกล่าวโทษตัวเองมากกว่าโทษโครงสร้างทางสังคม ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็มักจะถูกชี้ชวนให้เชื่อว่ามันไม่มีอยู่จริง”

คิดในแง่นี้ การตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ซึมเศร้า หดหู่ ทุกข์ทรมาน และความคิดว่าตัวเองไร้ค่าของคนคนหนึ่ง กับโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่เรา / เขาอาศัยอยู่ จึงน่าจะช่วยให้เรามองภาวะซึมเศร้า เป็นเรื่องส่วนตัวน้อยลง และอาจนำไปสู่การรับมือกับมันได้ด้วยความเข้าใจมากขึ้น ในทางกลับกันก็อาจทำให้คำสอนให้เรามองโลกในแง่ดี เดินตามเข็มทิศชีวิต และมองหาความสุขให้เจอเพียงอย่างเดียว อันเป็น ‘อุดมการณ์’ หลักของสัจนิยมของทุน เสื่อมความนิยมลงได้บ้าง

หากรากฐานของสัจนิยมของทุนอยู่คือการปิดบังความเป็นอุดมการณ์ของตัวเองและลดทอนทุกอย่างให้กลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล ฟิชเชอร์เสนอว่า การท้าทายสัจนิยมดังกล่าวก็อาจทำได้ด้วยการเปิดเผย ‘ความเป็นอุดมการณ์’ ของทุนที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเรา และ ‘ความจริง’ ของทุน ซึ่งอาจเห็นได้จาก ‘การแตกหักและไม่คงเส้นคงวาของสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ’ (18)

การชี้ให้เห็นว่า ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศสัมพันธ์กับการบริโภคอย่างฟุ้งเฟ้อโดยประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าการเติบโตของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ความมั่งคั่งส่วนมากในโลกยังคงกระจุกตัวอยู่ในมือของคนรวยที่สุดร้อยละ 1 โดยทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของพวกเขามีที่มาจากมรดก การผูกขาด และการพรรคเล่นพวก ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเป็นธรรมและกลไกตลาดเสรี ขณะที่ความสามารถส่วนบุคคลล้วนๆ อาจไม่ได้มีผลต่อการเลื่อนชนชั้นทางสังคมมากอย่างที่เราอยากจะเชื่อ เหล่านี้ล้วนช่วยยืนยันกับเราว่าระบบเศรษฐกิจที่เชื่อกันว่าดีที่สุดและเป็นไปได้เพียงอย่างเดียวยังมีช่องโหว่ที่รอคอยการแก้ไขอยู่มากมาย และทุนไม่ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมาแบบที่เราคิด

การกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างของทุน (ซึ่งแยกไม่ออกจากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมในแต่ละที่) รวมทั้งปฏิเสธวิธีคิดตื้นเขินว่าปัจเจกกำหนดทุกสิ่ง อาจเป็นบันไดขั้นแรกสู่การออกแบบระบอบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ ‘เหมาะกับยุคสมัยและตอบสนองผลประโยชน์ของคนหมู่มากได้’ ไม่ว่าจะเป็น ‘ทุนนิยมที่มีหัวใจ’ หรือจะชื่อว่าอะไรก็ตาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save