fbpx
ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง สังคมมักต้องการกรอบคิดที่เป็นภาพใหญ่ระดับ grand strategy ที่สามารถอธิบายได้ว่า เรากำลังอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ และควรระดมสรรพกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด

ดังเช่นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ฟองสบู่แตก ธุรกิจล้มละลาย ผู้คนตกงานมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เสนอแนวคิด “ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ในขณะที่นักคิดอีกหลายท่านเสนอว่า “คำตอบอยู่ที่ชุมชน”

แม้เราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ แต่คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความถดถอยทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหารูปธรรมที่จับต้องได้ พอๆ กับความขัดแย้งที่เสมือนภูเขาไฟรอวันปะทุ

อะไรควรเป็น grand strategy ของประเทศไทยในปัจจุบัน กรอบใหญ่ที่สังคมควรสนใจ และจุดตั้งต้นในการมองปัญหาควรอยู่ที่ใด

บทความนี้เสนอว่า ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ระบบทุนนิยมควรเป็นทั้งหน่วยในการมองปัญหา และเป็นกรอบใหญ่ในการคิดระยะยาวของประเทศไทย เพราะทุนนิยมเป็นรากฐานและพลังขับเคลื่อนสังคมที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ทุนนิยมก็มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงเสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์ที่ต่อกรไม่ได้อย่างที่หลายคนคิด อีกทั้งเรายังสามารถออกแบบทุนนิยมได้ ผ่านกระบวนการทางการเมือง เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนพอจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

 

1. ทุนนิยมเป็นกลไกทรงพลังที่ผู้แพ้เข้าไม่ถึง แต่ผู้ชนะมักรังเกียจ

 

“ทุนนิยม” มีสถานภาพแปลกประหลาดในสังคมไทย เพราะผู้ชนะในเกมทุนนิยมมักรังเกียจและเป็นแนวหน้าในการต่อต้านทุนนิยมเสียเอง ในขณะที่ผู้แพ้กลับเป็นคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทุนและถูกกล่อมให้ยอมรับชะตากรรม แต่เอาเข้าจริง มีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายและการทำงานของทุนนิยม

ทุนนิยม (capitalism) คือระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไร ไม่ใช่ผลิตเพื่อยังชีพหรือตามคำสั่งผู้ปกครอง ทุนนิยมกำเนิดขึ้นอย่างเชื่องช้าในศตวรรษที่ 16 และแพร่หลายมากขึ้นในสองศตวรรษต่อมา โดยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริม

ทุนนิยมเดินทางผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ ร่วงโรย และสะบักสะบอมด้วยวิกฤตการณ์การเงินอยู่เป็นระยะ แม้ประเทศมหาอำนาจในโลกจะเปลี่ยนหน้าไปมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ทุนนิยมก็ยังเป็นกลไกหลักอยู่เช่นเดิม ยังไม่มีระบบการจัดการเศรษฐกิจรูปแบบอื่นมาแทนที่ได้

คู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดของทุนนิยมคือ คอมมิวนิสต์ (communism) ซึ่งนำโดยกลุ่มนักคิดและนักปฏิวัติที่เห็นว่าทุนนิยมเป็นกลจักรขูดรีดไร้อนาคต แต่ “การทดลอง” สร้างระบอบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย จีน และเยอรมนีตะวันออกช่วงกลางศตวรรษที่ 20 กลับสร้างหายนะและทุพภิกขภัยอย่างกว้างขวาง

ตรงกันข้ามกับระบบทุนนิยมที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่หลังมหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 สหรัฐอเมริกาแยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ออกจากวาณิชธนกิจ ควบคุมตลาดหลักทรัพย์อย่างเข้มงวด และออกกฎหมายประกันสังคม สวีเดนที่นำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Swedish Social Democratic Party) ปฏิรูปเข้มข้นยิ่งกว่า มีการประชุมระดับชาติระหว่างสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงาน นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อประกันการว่างงาน เพิ่มเงินบำนาญผู้สูงอายุ และประกันราคาสินค้าเกษตร หน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ก็ในยุคแห่งความโกลาหลนี่เอง

กระทั่งชัยชนะของทุนนิยมเหนือคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็นเมื่อปลายทศวรรษ 1980 ก็ไม่ได้ทำให้พัฒนาการของทุนนิยมจบสิ้นลงแต่อย่างใด ความน่าตื่นเต้นกลับเริ่มขึ้นหลังจากนั้น เพราะเราเริ่มเห็นทุนนิยมหลากหลายรูปแบบค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในแต่ละประเทศ

พูดอีกอย่างก็คือ ทุนนิยมเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ ไม่ใช่เพราะบรรดาประเทศมหาอำนาจค้นพบ “สูตรสำเร็จ” หนึ่งเดียวที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล แต่เป็นเพราะทุนนิยมสามารถแพร่พันธุ์ผลิดอกผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละผืนดิน

 

2. ทุนนิยมมีหลากรูปแบบหลายเฉด – ทุนนิยมอเมริกันเป็นแค่แบบหนึ่งเท่านั้น

 

เมื่อครั้งคำว่า “โลกาภิวัตน์” ฮิตขนาดเป็นพาดหัวข่าวได้นั้น นักคิดเสรีนิยมส่วนใหญ่เชื่อกันว่าประเทศทั่วโลกไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว นอกจากเดินเข้าสู่เส้นทางทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบเท่านั้น

แต่พวกเขาคิดผิด เพราะความทรงพลังของทุนนิยมอยู่ที่การเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายในตัวเอง

หากเราทำอัลตราซาวด์เพื่อดูสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยม ภายในนั้นเราจะพบ “อวัยวะภายใน” ที่สำคัญคือ องค์กรธุรกิจ ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษาและการฝึกอบรม ตลาดการเงิน และภาครัฐที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง ทุนนิยมจะทำงานได้ดีหรือไม่ หรือเติบโตไปในทิศทางใดขึ้นกับว่าอวัยวะภายในเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร

ในหมู่ประเทศตะวันตกมีทุนนิยมอย่างน้อย 3 รูปแบบ

หนึ่งคือ ทุนนิยมแบบตลาดเสรี (liberal market economy) ซึ่งอวัยวะภายในสัมพันธ์กันและถูกขับเคลื่อนด้วย “การแข่งขัน” มีกลไกราคาเป็นหัวใจหลักที่สูบฉีดระบบ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจและแรงงานในระบบนี้ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้น แต่ก็สามารถย้ายงานและเรียกค่าตอบแทนได้ค่อนข้างเสรี มีตลาดทุนเป็นเครื่องมือหลักทางการเงิน แน่นอนว่าทุนนิยมแบบนี้มีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นต้นแบบ ทุนนิยมลักษณะนี้มักเก่งในอุตสาหกรรมที่ต้องสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เซมิคอนดักเตอร์ หรือซอฟต์แวร์

แต่หากอวัยวะภายในทุนนิยมสัมพันธ์กันด้วย “ความร่วมมือ” เป็นหลัก โดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเดียวกันมักแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงทุนระยะยาวร่วมกัน แรงงานถูกฝึกอบรมเฉพาะทางและต่อรองกับนายจ้างผ่านสหภาพแรงงาน อีกทั้งธนาคารยังคงเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญ นี่คือ ทุนนิยมแบบตลาดประสานงาน (coordinated market economy) ที่มีเยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ และมักเก่งในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ยานยนต์และเครื่องจักรกล

นอกเหนือไปจากทุนนิยมสองแบบนี้ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ยังมีลักษณะโดดเด่นจนถูกจัดให้เป็น ทุนนิยมแบบสวัสดิการ (welfare capitalism) ด้วยบริการถ้วนหน้าของภาครัฐในด้านสุขภาพ การศึกษา และเงินบำนาญ แต่ระบบนี้ก็ต้องหล่อเลี้ยงด้วยอัตราภาษีที่สูงมาก เช่น กลุ่มคนรายได้สูงสุดบางพื้นที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ถึงร้อยละ 55-60 เลยทีเดียว นอกจากนี้ ประเทศทุนนิยมสวัสดิการเหล่านี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยแปลงเป็นรายได้ส่งออก เช่น นอร์เวย์มีน้ำมันและสวีเดนมีป่าไม้

ถึงที่สุดแล้ว ทุนนิยมจึงเป็นเพียงคำที่มีความหมายกว้างๆ เท่านั้น จะรู้จักทุนนิยมให้ลึกซึ้งก็ต้องอัลตราซาวด์ดูว่าอวัยวะหลักภายในของแต่ละที่มีความเชื่อมโยงกันแบบไหน ประเทศทุนนิยมอาจมีหัวใจหลักอยู่ที่ตลาดเสรี ตลาดประสานงาน หรือกลไกสวัสดิการของรัฐก็ได้

แต่นัยที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความหลากหลายของทุนนิยมนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการออกแบบด้วยน้ำมือมนุษย์

 

3. ทุนนิยมออกแบบได้ และไทยมีระบบทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์

 

ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประเทศกำลังพัฒนาที่เลือกเส้นทางทุนนิยมก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ค่อยสำเร็จ หากนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กลุ่มที่มาทีหลังแต่ไปไกลที่สุดคงหนีไม่พ้นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสามประเทศก็เป็น “เสือคนละสายพันธุ์” เช่นกัน

ระบบทุนนิยมในเกาหลีใต้กับไต้หวันอาจดูคล้ายกัน เพราะต่างได้รับอิทธิพลญี่ปุ่น แต่หัวหอกที่ขับเคลื่อนทุนนิยมของทั้งสองประเทศกลับแตกต่างกัน ไต้หวันมีวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs เป็นกลจักรสำคัญในช่วงไล่กวดทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เกาหลีใต้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงหรือฮุนไดเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ สิงคโปร์แตกต่างกว่าใครเพื่อน เพราะมีส่วนผสมทุนนิยมอันแสนประหลาด ระหว่างการเปิดเสรีการค้าการลงทุนกับการแทรกแซงกลไกตลาด (แบบซ่อนรูป) ผ่านรัฐวิสาหกิจและกฎระเบียบของรัฐบาล

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น ลาตินอเมริกา ถูกขนานนามว่ามี ทุนนิยมแบบช่วงชั้น (hierarchical capitalism) กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจขาหนึ่งถูกควบคุมโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ส่วนอีกขาหนึ่งมีธุรกิจครอบครัวของเศรษฐีท้องถิ่นครอบงำ กิจการท้องถิ่นขนาดเล็กแทบไม่มีอำนาจต่อรอง การจ้างงานมักทำผ่านสัญญาระยะสั้นและแรงงานมักไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ

ทุนนิยมไทยมีลักษณะคล้ายกับลาตินอเมริกาในหลายด้าน แต่ผมเสนอว่าทุนนิยมไทยที่อยู่กับเราทุกวันนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ – เรียกได้ว่าเป็น ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์

ถึงแม้จอมพลสฤษดิ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไม่ถึง 5 ปี (พ.ศ. 2502-2506) แต่ก็เป็นระบอบที่วางรากฐานทุนนิยมไทยให้เติบโตต่อเนื่อง แทบไม่เคยสะดุดเลยจนถึง พ.ศ. 2540

อย่างไรก็ดี หากเราลองอัลตราซาวด์ดูกลไกเบื้องหลังการเติบโตดังกล่าว จะพบว่าทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์เป็นทุนนิยมที่มีธนาคารพาณิชย์ของเจ้าสัวเพียงไม่กี่รายเป็นหัวใจหลัก โดยมีทหารและเทคโนแครตเป็นพันธมิตรที่คอยเกื้อหนุน

ในขณะที่กลไกตลาดเป็นหัวใจของประเทศตะวันตก และรัฐเป็นหัวใจของเอเชียตะวันออก ประเทศไทยยุคไล่กวดทางเศรษฐกิจมีธนาคารพาณิชย์เป็นศูนย์กลางในการจัดสรรเงินทุน ธนาคารเพียงไม่กี่รายมีอำนาจสูงถึงขั้นที่สามารถกำหนดชะตาของบริษัทและอุตสาหกรรมได้เลยทีเดียว ทั้งยังพร้อมกระโดดลงมาทำธุรกิจเองเมื่อเห็นช่องทางทำกำไร

ผู้ชนะที่แท้จริงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจึงเป็นบรรดาธนาคารพาณิชย์นั่นเอง จนถึงกลางทศวรรษ 1980 ธนาคารห้าแห่งมีสินทรัพย์รวมกันถึง 480,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 70 ของจีดีพีประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมไทยกลับเติบโตอย่างไร้ทิศทาง โดยอิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเมืองเป็นหลัก

นอกจากเป็นทุนนิยมที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลางแล้ว มรดกที่จอมพลสฤษดิ์ทิ้งไว้ยังเป็นโครงสร้างรัฐราชการที่เทอะทะรวมศูนย์ และอุดมการณ์ของเทคโนแครตที่ผูกติดกับการจัดการเศรษฐกิจมหภาค อันต่างจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ระบบราชการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นตามเวลาและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและการกระจายรายได้เหนือตัวเลขมหภาคอย่างอัตราเงินเฟ้อ

ทุนนิยมไทยโดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงมีลักษณะเติบโตรวดเร็วแต่เหลื่อมล้ำสูง และขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สมประโยชน์ของเครือข่ายธนาคาร-นายทหาร-เทคโนแครต

ส่วนคำถามว่าทุนนิยมไทยเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดหลังวิกฤต ก็ลองตรองกันดูเถิดว่า ธนาคาร-นายทหาร-เทคโนแครต ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด การพัฒนาความสามารถในการผลิตกับการลดความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงไหนในวาระแห่งชาติ และมีอุตสาหกรรมกี่ประเภทที่ใช้กลไกตลาดเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

แต่ประเด็นสำคัญเชิงนโยบายก็คือ รูปแบบและดอกผลของทุนนิยมแบบไทยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือแรงบีบจากมหาอำนาจ เท่ากับการออกแบบที่เกิดจากการต่อรองระหว่างพันธมิตรทางการเมือง

 

4. การเมืองเป็นเครื่องจัดการทุนนิยม

 

ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบทุนนิยมที่แตกต่างกันทำให้ทุนนิยมมีหลายรูปแบบ โดยที่ความแตกต่างดังกล่าวเป็นผลจากกระบวนการต่อสู้ ต่อรอง และประนีประนอมทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของทุนนิยมในประเทศตะวันตกและเอเชียตะวันออก หรือความไม่ค่อยสำเร็จของทุนนิยมในลาตินอเมริกาและไทยก็ล้วนเกิดขึ้นผ่านกระบวนการนี้

เบื้องหลังทุนนิยมแบบตลาดเสรีของสหรัฐฯ คือ สงครามกลางเมืองและบทบาทของศาลสูงที่ตีความรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อลดกำแพงกีดกันการค้าระหว่างมลรัฐ

เบื้องหลังทุนนิยมแบบประสานงานของเยอรมนี คือ บทบาทเข้มข้นของสหภาพแรงงาน และการปะทะต่อรองกับฝ่ายบริหารอย่างต่อเนื่อง

เบื้องหลังตึกสูงเสียดฟ้าในกรุงโซลและระบบสวัสดิการระยะหลังของเกาหลีใต้ คือ หยาดเหงื่อและหยดเลือดของนักศึกษาและขบวนการแรงงานที่สู้กับเผด็จการทหารยาวนานข้ามทศวรรษ

การเมืองไม่ใช่พื้นที่น่ารังเกียจ เพราะในความหมายกว้างที่สุด การเมืองคือกระบวนการตัดสินใจเพื่อใช้อำนาจจัดสรรทรัพยากรของสังคม เศรษฐกิจกับการเมืองจึงแยกกันไม่ออก ทุนนิยมจะเป็นรูปแบบใดย่อมขึ้นกับว่าผู้คนเข้ามาต่อรองกันผ่านกลไกการเมืองอย่างไร

หากเราจำเป็นต้องคิดเรื่อง grand strategy กันจริงจัง ผมจึงเห็นว่า “ทุนนิยม” ควรเป็นกรอบใหญ่ในการขบคิดและถกเถียง

โครงสร้างเศรษฐกิจที่ตีบตัน ความมั่งคั่งที่กระจุกตัว หรือความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน มากบ้างน้อยบ้างก็เป็นดอกผลของเส้นทางทุนนิยมที่ประเทศไทย “เลือก” เดินเมื่อต้นพุทธศตวรรษ

แน่นอนว่าการปล่อยไปตามยถากรรมก็นับเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะเท่ากับการอนุรักษ์ทุนนิยมที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นสถาปนิกให้เป็นมรดกตกทอดอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุนนิยมกลายเป็น “ทางตัน” ในที่สุด

แต่ถ้าสังคมเห็นแจ้งว่าทุนนิยมสามารถออกแบบและเปลี่ยนแปลงได้ผ่านกลไกการเมือง เราก็จะเดินไปสู่ก้าวแรกในการสร้างระบบทุนนิยมที่เหมาะกับยุคสมัยและตอบสนองผลประโยชน์ของคนหมู่มากได้

แล้วทุนนิยมก็จะกลายเป็น “ทางออก” ของสังคม

อันโตนีโอ กรัมชี นักคิดชาวอิตาลีเคยกล่าวไว้ “จงมองโลกในแง่ร้ายด้วยสติปัญญา และสร้างโลกที่ปรารถนาด้วยเจตจำนง”

ผมขอปรับให้คิดต่อว่า “จงมองทุนนิยมในแง่ร้ายด้วยสติปัญญา และสร้างทุนนิยมที่ปรารถนาด้วยเจตจำนง”

 

อ้างอิง/ อ่านเพิ่มเติม

 

  • ตัวอย่างหนังสือที่ชวนคิดเรื่อง grand strategy ในสังคมไทยด้วยกรอบอื่น เช่น ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรื่อง “PAST – ปัญญาอดีต” และ “FUTURE – ปัญญาอนาคต” ของสำนักพิมพ์ openbooks.
  • วลี “สังคมเสมอหน้า” นำมาจาก ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) (2557). สู่สังคมไทยเสมอหน้า: ชำแหละความมั่งคั่ง ตีแผ่โครงสร้างอำนาจ สู่วิธีการปฏิรูป. สำนักพิมพ์มติชน.
  • พัฒนาการทุนนิยมโลก ดู ฮาจุน ชาง (2560). เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]. สำนักพิมพ์ openworlds.
  • ทุนนิยมแบบตลาดเสรีและตลาดประสานงาน ดู Peter Hall and David Soskice (eds.) (2001). Varieties of Capitalism: The Institutional Foundations of Comparative Advantage. Oxford University Press.
  • ทุนนิยมสวัสดิการหลายเฉด ดู Gosta Esping-Andersen (2013). The Three Worlds of Welfare Capitalism. Polity Press.
  • ทุนนิยมช่วงชั้นในลาตินอเมริกา ดู Ben Ross Schneider (2013). Hierarchical Capitalism in Latin America. Cambridge University Press.
  • ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ ดู Veerayooth Kanchoochat (forthcoming 2018) “Thailand Trapped: Catch-up Legacies and Contemporary Malaise,” TRaNS: Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia, Vol.7.
  • บทบาทของธนาคารพาณิชย์และพันธมิตรในยุคจอมพลสฤษดิ์ ดู อภิชาต สถิตนิรามัย (2556). รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
  • บทบาทของรัฐในการจัดการเศรษฐกิจหลากรูปแบบ ดู นพนันท์ วรรณเทพสกุล (2560). รัฐพัฒนาการ: อุดมการณ์และจินตภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save