fbpx
ฝุ่นตลบ 'กัญชา'​ และ 'ปฏิกิริยา'​ จากโลกเก่า

ฝุ่นตลบ ‘กัญชา’​ และ ‘ปฏิกิริยา’​ จากโลกเก่า

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

สังคมไทยเวลานี้อาจมีเพียง 2 เรื่องที่เป็นความหวัง และน่าเฝ้าติดตามว่ามันจะพาผู้คนออกจากหล่มหลุมแห่งความสิ้นหวังไปได้ไกลถึงไหน

เรื่องแรก คือ การเลือกตั้ง ที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หลังสังคมไทยถูกปกครองด้วยทหารมาจะ 5 ปีแล้ว

เรื่องที่สอง คือ การปลดล็อกกัญชา

ค่าที่มันถูกจัดให้กลายเป็น ‘ยาเสพติด’​ ‘สิ่งมอมเมา’​ ‘ยากล่อมประสาท’​ มาร่วม 39 ปี ตั้งแต่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ประกาศใช้เมื่อปี 2522

จากพืชใบแฉกที่เคยเป็นสมุนไพร เป็นสูตรในตำรับยาแพทย์แผนไทย ถูกทำให้ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับ 200,000-1,500,000 บาท ผู้ครอบครองต้องจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้เสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ผ่านมา 39 ปี เมื่อสาร 2 ตัวในกัญชา ได้แก่ THC และ CBD ได้รับการค้นพบว่ามีคุณสมบัติอภิมหาประโยชน์กับผู้ป่วยที่ติดท็อปในความทุกข์ทรมาน เช่น มะเร็ง ลมชัก ไมเกรน อัลไซเมอร์ ก็ทำให้ไทยไม่สามารถหลับหูหลับตาจากกระแสนานาชาติได้อีกต่อไป และเพดานความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในสังคมไทยก็จำเป็นต้องขยับขึ้นไปอีก

แต่ความหวังในการปลดล็อกกัญชาใช่ว่าจะราบรื่นปลอดโปร่ง จะว่าไปกระแสบวกของกัญชาก็คล้ายกับพายุลูกใหญ่ที่พัดเข้ามาในสังคมไทย ย่อมเกิดภาวะ ‘ปฏิกิริยา’​ เป็นฝุ่นตลบไปทั่ว

ต่อไปนี้คือบทสำรวจเส้นทางของความหวังท่ามกลางปฏิกิริยาจากมุมต่างๆ พร้อมข้อสังเกตบางประการ

 

ก้าวแรกก่อนปลดล็อก

 

ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณา พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ เพื่อเปิดทางให้กัญชาสามารถใช้ทางการแพทย์ได้ มีคำกล่าวทำนองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข ต่างปฏิเสธการเป็นเจ้าภาพในการพิสูจน์ว่ากัญชาใช้ประโยชน์ได้

เช่น ป.ป.ส. ปฏิเสธเพราะตัวเองเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดโดยตรง ไม่ใช่หน่วยงานทางการแพทย์ที่จะทำวิจัยหาประโยชน์จากกัญชา

ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่อาจดำเนินการวิจัยได้ เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมายร้ายแรง

การโยนกันไปกันมานี้คล้ายกับภาวะงูกินหางที่ผู้ป่วยได้แต่ถอนหายใจ มองตาปริบๆ

กระทั่งรัฐบาล คสช. ผู้ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบสูงสุดได้ ต้องแก้ไขภาวะงูกินหาง โดยมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมฉบับปี 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ให้สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 ได้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

2. เพื่อกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครอง ไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลหรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

3. เพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้ หากกระทำเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์หรือเพื่อการศึกษาวิจัย

4. เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจกําหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกําหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กําหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ

5. ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จําหน่าย นําเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกําหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อครอบครองจําหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกําหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล คสช. ระบุว่า การปลดล็อกนั้นจำกัดเฉพาะในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ หมอและคนไข้ เป็นไปเพื่อการรักษาและใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนพื้นที่ปลูก ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะพิจารณากำหนดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อระบุว่าใครสามารถนำไปผลิตและนำมาจากที่ไหน ซึ่งทั้งหมดจะมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการทดลองใช้อีก 5 ปี จากนั้นจะมีการทบทวนว่าจะปรับต่อไปอย่างไร

 

เมื่อโลกมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย

 

นอกจากสรรพคุณในกัญชาที่กำลังขยับเพดานทัศนคติสังคมไทยแล้ว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องมองหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน คือ เมื่อกรมราชทัณฑ์ระบุว่าไทยติดอันดับ 6 ผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ไทยมีผู้ต้องขังมากถึง 340,000 คน แต่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังจริงๆ ได้ประมาณ 120,000 คน ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก โดยผู้ต้องขังกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

กรณีดังกล่าวทำให้ พ.ร.บ.ยาเสพติด จำเป็นต้องถูกรื้อใหม่ โดย วิชัย ไชยมงมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบายว่า ความเป็นมาในการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) โดยกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด เพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงประมวลกฎหมายยาเสพติด

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาคุกล้น ทำให้ไทยต้องคำนึงถึงสัดส่วนและความเหมาะสมของบทลงโทษในกฎหมายยาเสพติดใหม่ และเนื่องจากไทยเป็นภาคีของสหประชาชาติ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดโลก (UNGASS) เมื่อปี 2559 ที่ไทยเข้าร่วม ได้มีการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับผู้ใช้ยาเสพติดใหม่ เพราะที่ผ่านมาการกำหนดโทษค่อนข้างสูง

“เช่น ผู้ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แม้ว่าจะครอบครองเพียงเพื่อการเสพเท่านั้น แต่ก็ต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งทางสากลมองกันว่าโทษหนักเกินไป ทั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาฯ ยังมองร่วมกันว่าผู้เสพไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เป็นผู้ป่วย ต้องมีกระบวนการบำบัดรักษารองรับด้วย”

ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ปรับปรุงล่าสุด มีรายละเอียดที่น่าสนใจ อาทิ

มาตรา 33 กําหนดให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการอนุญาตเกี่ยวกับการนําเข้า ส่งออก ผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือจําหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษ ตามหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขที่กําหนด

เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต

มาตรา 54 กําหนดให้อํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในการกําหนดพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กําหนด ในกรณีที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

มาตรา 57 กําหนดให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย

แม้สังคมไทยจะยังไปไม่ถึงขั้นใช้กัญชาเพื่อการบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยตรงแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว และ 39 ปีของการมองกัญชาเป็นยาเสพติดกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยังไม่มีใครจินตนาการออก แต่อย่างน้อย ภาวะนักโทษล้นคุกและแรงกดดันจากเวทีโลก ย่อมทำให้เห็นแรงกระเพื่อมจากภาครัฐได้ชัดเจน

 

 ท่าทีของจิตแพทย์และแพทย์มะเร็ง

 

ทันทีที่รัฐบาล คสช. ไฟเขียวเดินหน้ากระบวนการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ แวดวงสาธารณสุขก็ดูกังวลเป็นพิเศษและรีบออกมาแถลงจุดยืนพร้อมคำอธิบายถึงข้อกังวลที่ว่า “กัญชาเป็นยาวิเศษจริงไหม”

หน่วยงานแรกที่ออกแถลงการณ์ คือ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นการแถลงถึงจุดยืนถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์โดยตรง

แถลงการณ์ระบุถึงความคิดเห็น และข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติของกัญชา (marijuana) มีฤทธิ์เสพติด เป็นพืชที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า cannabis ซึ่ง cannabis มีหลายสายพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงกัญชาเท่านั้น เช่น กัญชง ซึ่งเป็นพืชที่มีการนำลำต้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ปริมาณของสาร cannabinoids ที่มีอยู่ในพืชเหล่านี้ มีระดับที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์และการเพาะปลูก สาร cannabinoids ที่มีอยู่ในกัญชามีอยู่หลายชนิด เช่น delta9-tetrahydrocannabinol (delta9-THC) และ cannabidiol (CBD) เป็นต้น บางชนิดสามารถสกัดเฉพาะสารออกมาได้ หรือสังเคราะห์เองได้โดยไม่ต้องสกัดจากพืช โดยกัญชาในรูปแบบต่างๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในบางสาขาได้

กัญชาที่มีผู้นำมาใช้เพื่อความรื่นเริง จนบางครั้งเกิดการเสพติดนั้น มักเป็นชนิดที่มีปริมาณของสาร delta9-THC ที่สูง โดยผู้เสพดังกล่าวอาจนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาทำให้แห้งเพื่อสูบ หรืออาจใช้ในรูปแบบน้ำมัน ซึ่งจะมีปริมาณ delta9-THC สูงกว่าปกติ โดยพบมากในต่างประเทศ

จากการศึกษาพบว่า การใช้กัญชาจะมีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ เช่น หลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีบอกว่าใครจะมีความเสี่ยงดังกล่าวบ้าง

2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับกัญชาต่อผลทางจิตเวช กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของสาร delta9-THC กัญชาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามยังไม่มีที่ใช้ทางการรักษาโรคทางจิตเวช การใช้กัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้

3. คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้กัญชา

3.1 บุคคลควรใช้กัญชาหรือสารสกัดตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานรองรับเท่านั้น

3.2 การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของกัญชาทั้งประโยชน์และโทษ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นผลของการใช้กัญชาหรือสารสกัด เช่น delta9-THC หรือ เป็นผลจากสารสังเคราะห์

3.3 บุคคลทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ควรใช้กัญชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนและผู้ที่มีโรคทางจิตเวช

ขณะที่ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เริ่มต้นอธิบายว่า “เราคุยกันมานานแล้วว่ากัญชามาแน่”

เขามองว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยทางจิตที่เข้ารับการรักษาประมาณ 1 ล้านราย และมีคำถามว่าการใช้กัญชาในปัจจุบันทำให้ติดหรือไม่ งานวิจัยปี 2001 พบว่า การใช้กัญชาใน 10 คน มีโอกาส 1 คนที่จะสามารถติดกัญชาได้ การติดหรือที่เรียกว่าอาการถอนจากการหยุดใช้ที่พบคือ คลื่นไส้ ปวดท้อง เวียนหัว แต่ไม่รุนแรง มักมีอาการ 1-2 วัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอธิบายต่อว่า ที่ผ่านมาเราพูดกันเฉพาะภาพรวมของการกัญชา ยังไม่เคยแยกเป็นสารสกัดจากกัญชา ปัจจุบันมีการค้นพบว่าสารบางตัวมีประโยชน์ และสารบางตัวอาจมีโทษ

“คำถามคือถ้าใช้เฉพาะกัญชา จะเกิดภาวะโรคจิตได้ไหม ในระยะสั้นจะพบอาการหลอน หูแว่ว หวาดระแวง แต่อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่นาน แต่ในกรณีของสารสกัดที่มีสาร CBD เราพบว่าไม่ใช่สารที่ออกฤทธิ์ทางสมองโดยตรง และคนที่ใช้ CBD นั้น ช่วยในการลดการใช้สารเสพติดได้ นอกจากนั้นยังช่วยรักษาอาการเครียดและอาการวิตกกังวลได้”

แพทย์ด้านสุขภาพจิตยังระบุอีกว่า เขาเห็นโอกาสที่สารสกัดจากกัญชา จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องอาการปฏิเสธการกินอาหาร ซึ่งนำไปสู่การขาดสารอาหาร ซึ่งมักเป็นกันในหมู่วัยรุ่นที่กังวลเรื่องภาพลักษณ์ตัวเอง

ส่วนงานวิจัยที่ระบุว่าสารสกัดกัญชาสามารถบำบัดอาการจิตเภทได้ เขาเห็นว่าหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่ยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าได้ผล และเอกสารหลายชิ้นค่อนข้างมีอคติสูง ยังต้องการการศึกษาที่มากกว่านี้

อีกมิติของโรคภัยไข้เจ็บที่สังคมไทยให้ความสนใจสูงคือโรคมะเร็ง เมื่อกัญชาที่ถูกไฮไลท์ว่ามีส่วนสำคัญในการบำบัดรักษา หน่วยงานสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ย่อมต้องถูกไฮไลท์ตามไปด้วย ว่าจะพิสูจน์ประโยชน์ของกัญชาหรือไม่อย่างไร ก็ต้องพร้อมให้คำอธิบายต่อสาธารณะ

นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายว่าการใช้ยาในทางการแพทย์ โดยหลักการต้องผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลเกินร้อยละ 95 ขึ้นไป ในช่วงปี 1999-2018 มีข้อมูลวิจัยที่มีหลักฐานเพียงพอที่ยืนยันว่าสารสกัดกัญชาชนิดรับประทานสามารถลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการใช้เคมีบำบัดรักษาโรงมะเร็งได้

“ยาลดอาการอาเจียนในปัจจุบันได้ผลประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้เหมือนสารสกัดกัญชา”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไม่ได้แสดงออกถึงการสนับสนุนการใช้สารสกัดกัญชาในการรักษามะเร็งโดยตรง เนื่องจากเขาเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่ารักษาได้ และปัจจุบันเขาต้องการทราบในรายละเอียด เช่น กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์มีสารพิษปนเปื้อนหรือไม่ และต้องทราบถึงสัดส่วนของสารสกัดกัญชาที่สามารถรักษามะเร็งแต่ละประเภทได้อย่างชัดเจน

เขาอธิบายอีกว่า ที่ผ่านมางานวิจัยระบุว่า คนไข้มะเร็งชนิดต่างๆ ที่เข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 จะมีอัตราการอยู่รอดถึง 5 ปีค่อนข้างสูง อาทิ คนไข้มะเร็งเต้านม มีโอกาสถึงร้อยละ 99.3 ในขณะที่การรักษาแบบประคับประคองมีโอกาสเพียงร้อยละ 43.2 เท่านั้น หรือคนไข้มะเร็งตับที่เป็นกันมากที่สุดในไทย ถ้าเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 มีโอกาสถึงร้อยละ 75 แต่สำหรับการรักษาแบบประคับประคองมีโอกาสเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น

“ประเทศไทยจะไปยังไงต่อ ผมคิดว่าเราต้องเปิดโอกาสให้ทำวิจัย ให้คนไข้ได้เข้าถึงกระบวนการวิจัยที่มีการคุ้มครองด้วยจริยธรรมทางการแพทย์ เช่น ไม่สามารถเก็บเงินผู้เข้ารับการวิจัยได้” นพ.สมชายทิ้งท้าย

 

กัญชามีเจ้าของ ?

 

ยังไม่ทันที่คำอธิบายจากวงการแพทย์จะไขความกระจ่างได้ว่า แค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่ามีหลักฐานเพียงพอในการใช้สารสกัดกัญชารักษามะเร็งได้ หรือการวิจัยทางการแพทย์จะเดินหน้าไปถึงขั้นไหน หากว่านานาชาติไปถึงขั้นให้ใช้ในทางสันทนาการได้แล้ว

หรือกระทั่งว่า วงการแพทย์ไทยจะมีความเป็นเอกภาพในการอธิบายร่วมกัน เช่นว่า เด็กที่เป็นมะเร็งหรือพิการทางสมอง ต้องใช้กัญชาแค่ไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเสพติดแบบที่แพทย์บางส่วนกำลังกังวล

คำถามทั้งหมดต้องถูกแขวนไว้ก่อน เมื่อเครือข่าย FTA Watch ออกมาเปิดเผยและแสดงความกังวลว่าไทยกำลังถูกบริษัทต่างชาติ ช่วงชิงสารสกัดกัญชาผ่านการยื่นขอจดสิทธิกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งต่อมาทางรมว.พาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคำร้องขอจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งหมดอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยื่นคำขอเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 หรือ 8 ปีที่แล้ว และไม่ยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถยกเลิกคำร้องได้เลยหรือไม่

กระบวนการปลดล็อกกัญชาเพื่อให้เกิดการวิจัยอย่างเป็นระบบยังไม่ทันเริ่ม ผู้ป่วยยังไม่ทันได้ใช้ประโยชน์ แต่จู่ๆ สิ่งที่กำลังจะเป็นไปได้ในอนาคต กลับจะมีผู้ถือเอาเป็นเจ้าของ ทำให้มูลนิธิชีวิวิถี (BIOTHAI) ต้องออกโรงคัดค้านและวิพากษ์กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ปล่อยให้เกิดเรื่องดังกล่าว ว่าสิ่งที่ประชาชนควรตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มี 3 ระดับคือ

1. ปัญหาแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการเดินหน้าคำขอสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากพืช ซึ่งขัดมาตรา 9(1) ที่ระบุว่าจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์ เนื่องจาก cannabinoid เป็นสารสกัดจากพืช เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้มีการอ้างสิทธิบัตรจากสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคโรคลมบ้าหมู ทั้งที่ผิดมาตรา 9 เพราะเป็นความรู้แพทย์แผนไทยโบราณ เป็นต้น

2. ปัญหาการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศ ภายใต้สนธิสัญญา PCT โดยนอกเหนือจากการยื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้วนั้น ยังมีในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งมีจำนวนหนึ่งผ่าน PCT หรือสนธิสัญญาความคุ้มครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศ  กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้จนประสบผลสำเร็จ โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบคำขอสิทธิบัตร PCT จากต่างประเทศมากถึง 28,518 สิทธิบัตร แต่มีคำขอสิทธิบัตรจากประเทศไทยไปต่างประเทศเพียง 447 สิทธิบัตร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2559) เท่านั้น

หน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีความจำเป็นต้องใช้บทบาทของตนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีใน PCT โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบคัดค้านคำขอสิทธิบัตรในต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรนั้น นำเอาทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยไปจดสิทธิบัตร ทั้งในกรณีกระท่อมและกัญชา เนื่องจากหากคำขอสิทธิบัตรนั้นมีผล จะทำให้เป็นการขัดขวางการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ของประเทศในต่างประเทศในระยะยาวด้วย

3. ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในข้อ 1 และ 2 คือความจำเป็นในการแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทย ให้คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเอง ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันกรณีโจรสลัดชีวภาพ และสร้างกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัจจุบันในกฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ จีน ฯลฯ เป็นต้นมีการระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวอย่างชัดเจน ส่วนในหลายประเทศก็มีข้อกำหนดดังกล่าวในกฎหมายอื่น ซึ่งจะมีผลต่อกฎหมายสิทธิบัตร เป็นต้น

รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมาจากการวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศ คือความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่แทนที่เราจะเห็นการส่งเสริมเงื่อนไขให้มีการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการปกป้องและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งที่เราเห็นในทางปฏิบัติคือการใช้วาทกรรมสวยหรู แต่เนื้อหาที่แท้จริงคือการบ้าการลงทุนจากต่างชาติ และเอื้ออำนวยอุตสาหกรรมจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ โดยมิได้วางรากฐานให้มีการพัฒนาความเข้มแข็งของคนในประเทศ มิหนำซ้ำยังทำลายการวิจัยและพัฒนาโดยกระบวนการมอบสิทธิบัตรที่ไม่ชอบแก่บริษัทยาและสถาบันวิจัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ

 

‘ปฏิกิริยา’​ ของโลกเก่า

 

นอกจากประเด็นใหญ่ว่าเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยจะได้รับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถ้วนหน้า กระทั่งเจอคำถามขยักต่อมาว่าใครควรเป็นเจ้าของกัญชา ประชาชนไทยหรือบริษัทข้ามชาติ

ข้อสังเกตบางประการที่เกิดขึ้นท่ามกลางฝุ่นตลบ คือ นอกจากเครือข่ายผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว ทำไมผู้ที่ออกมาสนับสนุนการปลดล็อกกัญชา จึงมักเป็นคนที่เลือกยืนฝั่งเดียวกับอำนาจนอกระบบ หรือไม่ก็เป็นฝ่ายที่ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนทางการเมืองว่ามีความไม่ชัดเจน

ไล่มาตั้งแต่สมาชิก สนช. ที่ผ่านการคัดเลือกโดย คสช. ก็ออกโรงเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อให้ไฟเขียวใช้ในทางการแพทย์ได้ก่อนกลางปี 2562

ส่วน ไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีท่าทีสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์อย่างสุดลิ่ม เห็นได้จากที่เขาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวติดต่อกันหลายครั้ง

อีกหน่วยงานที่ชัดเจนในการผลักดันการวิจัยกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยคณะเภสัชศาสตร์ ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมายืนยันผลการวิจัยของตัวเองว่า สารสกัดกัญชาสามารถทำให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลองฝ่อตายลงได้ และมากกว่านั้น อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต ยังถึงขั้นเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. บังคับใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อกกัญชา ออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด เลยทีเดียว

แม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ์ แกนนำคนรุ่นใหม่ NEW DEM ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีจุดยืนที่เปิดเผยในการสนับสนุนนโยบายกัญชาทางการแพทย์

แล้วเสียงของฝ่ายประชาธิปไตยชัดๆ หายไปไหน

ถ้าทำความเข้าใจแบบเร่งรัด อาจเป็นไปได้ว่าเสียงที่หายไป เลือกที่จะไม่ขอเป็นตราประทับให้ความชอบธรรมแก่อำนาจนอกระบบ

ปรากฏการณ์ฝุ่นตลบดังกล่าวได้ชวนสังคมไทยตั้งคำถามว่า เราควรมองกัญชาด้วยแว่นทางสังคม หรือมองด้วยแว่นอุดมการณ์ทางการเมือง

ขณะที่ท่ามกลางสายตาของผู้ป่วยที่กำลังมองกลับมา อาจไม่สามารถสวมแว่นใดได้ เพราะความเป็นความตายนั้นมาถึงประตูบ้านแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนว่าสังคมไทยจะพาตัวเองไปทางไหนในเวลาของปัจจุบัน.

 

______________________________________________________

ย้อนอ่านเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสังคมไทยฉบับใต้ดิน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save