fbpx
รำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง – ฉลองวาทกรรมความเป็นเหยื่อ

รำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง – ฉลองวาทกรรมความเป็นเหยื่อ

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงกลางฤดูร้อน เมื่อเดือนสิงหาคมวนมาในทุกปี บรรยากาศในสังคมญี่ปุ่นมักจะอบอวลไปด้วยการหวนรำลึกถึงประวัติศาสตร์สงคราม ไล่เรียงตั้งแต่พิธีรำลึกการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่าและนะงะซะกิ วันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ไปจนพิธีรำลึกสิ้นสุดสงครามในวันที่ 15 สิงหาคม แม้เวลาจะเลยผ่านมา 75 ปีแล้วนับจากสงครามจบเมื่อปี 1945 และท่ามกลางปัญหาโควิดที่ผู้นำญี่ปุ่นถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงคราม เดือนสิงหาคมปีนี้ยังคงทำหน้าที่ดังเดิมในการเตือนความจำถึงสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยกระทำในอดีต ตลอดจนการก้าวข้ามตัวตนเดิมและเริ่มต้นตัวตนใหม่ในฐานะรัฐใฝ่สันติ

ในวาระเช่นนี้ เราจะเห็นการพรั่งพรูของวาทกรรมเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพบนหน้าสื่อของญี่ปุ่น นอกจากการย้อนทบทวนอดีตและสำรวจสิ่งตกค้างที่สงครามทิ้งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่องรอยบาดแผลที่ติดตรึงในมโนสำนึกของผู้คนรุ่นที่ต้องทนทุกข์กับผลของสงคราม เรายังได้ยินเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินท่าทีในประเด็นสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งมักหนีไม่พ้นเรื่องรัฐธรรมนูญสันติภาพ การขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากโลก และการรับมือการเผชิญหน้าของมหาอำนาจที่กำลังทวีความตึงเครียดขึ้น จนทำให้ภาพสงครามใหญ่ในอดีตดูจะไม่ได้ห่างไกลจากจินตนาการของเราไปเท่าไหร่นัก

คนญี่ปุ่นเรียกวันที่ 15 สิงหาคมว่า ‘วันสิ้นสุดสงคราม’ (shusen kinenbi) ซึ่งเคลือบแฝงไปด้วยความย้อนแย้งที่ค้างคามาจนถึงเวลานี้ พิธีรำลึกซึ่งยึดตามวันที่มีการกระจายพระสุรเสียงของจักรพรรดิฮิโรฮิโตผ่านทางวิทยุ ประกาศให้ญี่ปุ่นยุติสงครามนี้ ในมุมมองชาติที่ถูกรุกรานและเป็นคู่สงคราม นี่คือวันที่ญี่ปุ่น ‘ยอมแพ้’ และเป็นวาระแห่งการฉลองชัย อย่างไรก็ดี คำว่าพ่ายแพ้คงมีความหมายบาดลึกเกินกว่าจะนำมาตอกย้ำเป็นประจำทุกปี สำหรับญี่ปุ่นคำว่า ‘สิ้นสุดสงคราม’ จึงเป็นคำที่ฟังดูดีและไม่มุ่งเป้ากล่าวร้ายผู้ใด

การเลือกคำเพื่อจดจำอดีตมีส่วนอย่างยิ่งในการวางกรอบความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เนื้อหาบางส่วนเป็นที่จดจำและบางส่วนถูกเบียดบังจนหลงลืมไป อันที่จริงสงครามแต่ละครั้งย่อมมีผู้กระทำหรือผู้ก่อ มีผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อ และผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรม แต่คำว่า ‘สิ้นสุดสงคราม’ ดูเหมือนจะรวบทุกฝ่ายในสงครามให้เข้ามาอยู่ในสถานะของเหยื่อเท่าๆ กัน เสมือนว่าต่างฝ่ายต่างต้องเผชิญหายนภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครเป็นผู้ก่อ

เช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้สังเกตการณ์ไม่น้อยมองการรำลึกของญี่ปุ่นว่าเป็นคนละเรื่องกับการ ‘สำนึก’ ในการเป็นผู้เริ่มสงครามฝั่งแปซิฟิก ไม่ว่าจะนับจุดเริ่มต้นจากการเข้ายึดครองแมนจูเรียของจีนเมื่อปี 1931 หรือการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941 ก็ตาม แต่หลายครั้ง สถานะผู้ก่อสงคราม (victimizer) ของญี่ปุ่นก็ถูกเบียดบังโดยวาทกรรมที่เน้นความเป็นเหยื่อ (victimhood) จนเกิดภาวะที่คลุมเครือในตัวตนและบทบาทที่เชื่อมโยงกับสงครามในอดีต

 

ความคลุมเครือที่ติดค้างจากสงครามในอดีต

 

คนญี่ปุ่นอาจรู้สึกว่า ถ้าจะมีผู้แพ้หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสงคราม คนเหล่านั้นก็คือบรรดาผู้นำและกองทัพที่พาประเทศและชาวญี่ปุ่นเข้าสมรภูมิรบ ทั้งด้วยการปั่นกระแสชาตินิยมและลัทธิเชิดชูจักรพรรดิ ความรู้สึกเป็นเหยื่อนี้ยิ่งถูกตอกย้ำด้วยคำพิพากษาของศาลอาชญากรสงคราม ที่ฝ่ายผู้ชนะตั้งขึ้นเพื่อตัดสินผู้นำญี่ปุ่นหยิบมือหนึ่งให้เป็นคนผิด มองกันว่าขั้นตอนนี้ส่งผลทางจิตวิทยา โดยช่วยปลดเปลื้องภาระทางจิตใจให้แก่สาธารณชนญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม กล่าวคือ แทนที่จะมองตนเองว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำอันโหดร้ายของประเทศตน ก็กลับมองตนเองว่าเป็นเหยื่อไม่ต่างจากคนเอเชียอื่นๆ

ความรู้สึกเช่นนี้ยังถูกตอกย้ำโดยวาทกรรมการตกเป็นเหยื่อการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ การเป็นเหยื่อรายแรกและรายเดียวของอาวุธนิวเคลียร์ในเหตุการณ์อันเปิดฉาก ‘ศักราชแห่งนิวเคลียร์’ (nuclear age) นี้ มีนัยสำคัญต่ออัตลักษณ์ของญี่ปุ่นหลังสงครามอย่างมาก แต่หลายครั้งในการรำลึกเหตุการณ์นี้ ภาพความน่าสะพรึงกลัวของนิวเคลียร์และโศกนาฏกรรมที่ติดตัว ‘เหยื่อปรมาณู’ (hibakusha) มักถูกจับแยกออกจากบริบทของสงครามที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อ จนดูเหมือนเป็นการกลบเกลื่อนตัวตน ‘ผู้กระทำ’ และความจริงที่สหรัฐฯ มักย้ำว่า การตัดสินใจทิ้งระเบิดเป็นไปเพื่อทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโดยเร็ว

แน่นอนว่า การทิ้งระเบิดอานุภาพทำลายล้างสูงในที่ชุมชนขนาดใหญ่เป็นเรื่องน่าเคลือบแคลงทางศีลธรรม และอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกต่อต้านและหาทางขจัดให้หมดไป แต่การนำฮิโรชิม่าและนะงะซะกิมาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องระดับโลก ก็ส่งผลให้อัตลักษณ์ความเป็นเหยื่อของญี่ปุ่นลอยเด่นขึ้นมาบดบังอัตลักษณ์การเป็นผู้กระทำในสงคราม ความคลุมเครือในตัวตนนี้มักถูกมองในฐานะปัจจัยที่ช่วยอธิบายว่า เหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่สามารถเผชิญประวัติศาสตร์สงครามอย่างตรงไปตรงมา และชดใช้ให้แก่ชาติเพื่อนบ้านผู้ถูกกระทำอย่างเป็นที่น่าพอใจ

แต่คำถามก็เกิดตามมาว่า การชดใช้ให้เป็นที่น่าพอใจนั้น จำต้องกระทำถึงขนาดไหนและถึงเมื่อไหร่ เพราะใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่เคยแสดงความสำนึก จริงๆ แล้ว นับแต่วาระครบรอบ 50 ปีการสิ้นสุดสงครามเป็นต้นมา ผู้นำญี่ปุ่นถือเอาวาระครบ 10 ปีเป็นธรรมเนียมที่ต้องออกมากล่าวคำขอโทษ พร้อมด้วยคำมั่นว่าจะไม่ทำสงครามอีก อีกทั้งค่าปฏิกรรมสงครามรวมไปถึงเงินช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นให้แก่ชาติเอเชียทั้งหลาย ก็อาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามชดเชยให้แก่เหยื่อสงครามแล้ว ในกรณีหญิงบำเรอ (comfort women) ที่เกาหลีใต้เรียกร้องก็เช่นกัน ใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่เคยแสดงความเสียใจอย่างชัดแจ้ง

จริงๆ แล้วคำว่า ‘พอใจ’ ในที่นี้มีนัยทางการเมือง (political implication) อย่างมาก แม้อาจมองว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ยังเป็นเรื่องชอบธรรมที่ผู้เป็นเหยื่อจะเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การเรียกร้องเช่นนี้ก็อาจแฝงไปด้วยเป้าหมายในเชิงการเมืองและการขยายอิทธิพลอำนาจในทางยุทธศาสตร์ของชาติผู้เรียกร้อง

ข้อเขียนนี้จึงอยากชวนสำรวจอีกแง่มุมของการรำลึกประวัติศาสตร์ โดยมุ่งชี้ให้เห็นการใช้การตีความอดีตเป็นเครื่องมือในเกมอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ ‘วาทกรรมความเป็นเหยื่อ’ ในฐานะต้นทุนเพื่อสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองและการต่างประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกโฉมหน้าของการใช้อำนาจ โดยมองญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เป็นกรณีศึกษา นี่อาจช่วยตอบเราได้ว่าเหตุใดวาทกรรมความเป็นเหยื่อในสงครามจึงไม่เลือนหายไปกับกาลเวลาง่ายๆ แต่กลับเฟื่องฟูในยามที่สถานะอำนาจของชาติใหญ่ๆ ในบริเวณนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป

 

สงครามจากผู้ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อ

 

คงไม่เกินจริงนักที่จะมองว่า วาทกรรมความเป็นเหยื่อมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันญี่ปุ่นให้เป็นผู้เริ่มสงครามในเอเชีย แม้ว่าความต้องการรื้อระเบียบในภูมิภาคให้ตอบรับกับสถานะอำนาจใหม่ของญี่ปุ่น และความคิดจักรวรรดินิยมจะเป็นสาเหตุสำคัญเบื้องหลังการขยายอิทธิพลสู่ภาคพื้นทวีป แต่การกระทำดังกล่าวก็ถูกฉาบไปด้วยเหตุผลและอุดมการณ์ที่มีวาทกรรมการเป็นผู้ถูกกระทำหนุนหลังอยู่

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติอำนาจใหม่ในเอเชียรู้สึกถึงการถูกแบ่งแยกกีดกันในระเบียบที่มีชาติตะวันตกเป็นเจ้าของ ปมด้อยจากการเป็นชาติเอเชียในสมาคมมหาอำนาจทำให้ญี่ปุ่นพยายามผลักดันให้ระบุถึง ‘ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ’ (racial equality clause) ในกฎบัตรสันนิบาตชาติ ระหว่างกระบวนการจัดตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจากชาติตะวันตกทั้งหลาย ทำให้ความรู้สึกคับข้องใจเริ่มก่อตัวขึ้น

การถูกจำกัดกำลังรบทางทะเลให้ญี่ปุ่นคงแสนยานุภาพไว้ได้ในระดับต่ำกว่ามหาอำนาจตะวันตก ภายใต้กรอบความตกลงจำกัดอาวุธ ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าญี่ปุ่นถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม จนเกิดกระแสต่อต้านตะวันตกและแนวคิดชาตินิยมขึ้นภายในประเทศ ซ้ำร้าย ในทศวรรษ 1930 ที่โลกประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การถูกเจ้าอาณานิคมจำกัดขัดขวางไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่อุษาคเนย์  ยิ่งตอกย้ำให้ญี่ปุ่นเห็นความอยุติธรรมของระเบียบโลกที่เป็นอยู่

ความไม่พอใจเหล่านี้กลั่นตัวกลายเป็นอุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรมต่อการต่อสู้ดิ้นรน โดยมองเป็นเรื่องความจำเป็นในการป้องกันความอยู่รอดของชาติ และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มากกว่ามองเป็นเรื่องความทะเยอทะยานหรือความต้องการที่จะแสวงหาอำนาจของญี่ปุ่น เป้าหมายจึงมีอยู่ว่า นอกจากญี่ปุ่นจะต้องหลุดพ้นจากสถานะเบี้ยล่างให้ได้แล้ว ในฐานะชาติที่ล้ำหน้าที่สุดในเอเชีย ญี่ปุ่นมีภารกิจที่จะต้องปลดแอกชาติเอเชียจากการครอบงำของยุโรป และแบ่งปันความรุ่งเรืองภายใต้คำขวัญ “วงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา”

ในมุมมองของญี่ปุ่น สงครามนี้จึงเป็นไปเพื่อการแสวงหาอิสรภาพ (war of liberation) เพื่อปลดปล่อยเอเชียจากสถานะอาณานิคม เพื่อขจัดอิทธิพลที่กดขี่คนเอเชียไว้ และทำให้เอเชียเป็นของคนเอเชียโดยแท้จริง นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นถูกชาติต่างๆ กดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เพื่อให้ล้มเลิกการขยายดินแดนเข้าไปในจีน ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดแนวคิดที่ว่าญี่ปุ่นกำลังถูกรุมเล่นงานจากบรรดาศัตรูที่รายล้อมในเอเชีย

นักประวัติศาสตร์มักมองการเปิดฉากสงครามกับสหรัฐฯ ว่าเป็นความบ้าบิ่นของญี่ปุ่น ในเมื่อเหล่าผู้นำรู้อยู่ว่าไม่อาจเอาชนะสหรัฐฯ ได้ แต่ญี่ปุ่นมองว่าตนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องสู้ในฐานะผู้ถูกกระทำ และสงครามก็เป็นหนทางในการปกป้องตนเอง ญี่ปุ่นอธิบายสถานะความเป็นเหยื่อนี้ด้วยวาทกรรมการถูกปิดล้อมจากกลุ่มชาติ ABCD (อเมริกา อังกฤษ จีน และเนเธอร์แลนด์) โดยเน้นเหตุผลที่ว่าญี่ปุ่นถูกบีบจนต้องใช้กำลัง และเป็นที่มาของการมองสงครามนี้ว่า “แม้ไม่อาจชนะแต่ก็ไม่อาจเลี่ยงได้” (unwinnable, inevitable war) ญี่ปุ่นจำต้องรบเพื่อความอยู่รอดของชาติ และการชิงเผด็จศึกก่อนอย่างที่เห็นในการถล่มฐานทัพที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ก็สะท้อนความรับรู้ถึงสถานะอันเป็นรองของญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะทำให้ตนเป็นต่อขึ้นมาได้บ้างในสงครามที่ไม่อาจเลี่ยงได้นี้

สงครามก้าวร้าวจึงถูกอธิบายด้วยวาทกรรมความเป็นเหยื่อ ซึ่งช่วยสร้างเหตุผลที่ชอบธรรมต่อการมองและเข้าใจสงครามครั้งนั้นในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำอธิบายในแบบชาตินิยมที่เลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์และว่าร้ายประวัติความเป็นมาของชาติ การอธิบายต้นเหตุของสงครามด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความย้อนแย้งในตัวตนของญี่ปุ่น ระหว่างการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในสงคราม อันเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับหรือสำนึกถึงความเลวร้ายที่ตนเคยกระทำต่อผู้อื่นในอดีต

 

เหยื่อผู้ไม่ยอมยุติการเรียกร้อง

 

เมื่อหันมองอีกฝั่งของสงคราม การยอมแพ้ของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคมถือเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลอง ชาติหนึ่งที่ยกวาทกรรมความเป็นเหยื่อมาทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างโจ่งแจ้งและไม่ลดละคือ เกาหลีใต้ ในแง่หนึ่ง การกระทำนี้อาจมองเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เนื่องจากเกาหลีถูกญี่ปุ่นคุกคามและเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมนับแต่ปี 1910 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้ญี่ปุ่นจะชูคำขวัญ “สร้างสมานฉันท์ในหมู่ชนเชื้อชาติเดียวกัน” (harmony of the same race) เพื่อจูงใจเพื่อนบ้านให้ยอมรับญี่ปุ่นเป็นผู้นำ แต่การปกครองเกาหลีก็มีแง่มุมของการกดขี่ขูดรีด ซึ่งสร้างความทุกข์ยากให้แก่ผู้คนที่นั่น สำหรับเกาหลีแล้ว ประวัติศาสตร์การต่อสู้จนสามารถปลดแอกจากญี่ปุ่นได้ ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเรื่องราวการสร้างรัฐสร้างชาติ และความเป็นมาของชาวเกาหลีใต้ร่วมกัน

เมื่อปีที่แล้ว การรำลึกวาระครบรอบ 100 ปี การเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น หรือ March 1st Movement ในปี 1919 เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศคับข้องใจของคนเกาหลีใต้ที่มีต่อญี่ปุ่น ความรู้สึกไม่พอใจนี้มาจากท่าทีที่ไม่จริงจังและจริงใจในการตอบสนองข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้เป็นเหยื่อชาวเกาหลีใต้ สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการให้ญี่ปุ่นแสดงความสำนึกมีอยู่มากมายหลายเรื่อง ทั้งความเจ็บแค้นจากนโยบายกลืนชาติกลืนวัฒนธรรมในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครอง การบังคับใช้แรงงาน การเกณฑ์หญิงเกาหลีไปให้ความสำราญแก่ทหารญี่ปุ่น (comfort women) ในช่วงสงคราม ไปจนถึงการที่ญี่ปุ่นยังคงดึงดันจะทวงคืนเกาะทะเคชิมะ ซึ่งเกาหลีใต้มองว่าถูกญี่ปุ่นยึดเอาไปในสมัยแผ่จักรวรรดินิยม ทั้งหมดนี้ล้วนหล่อเลี้ยงวาทกรรมความเป็นเหยื่อในสังคมเกาหลีใต้ให้เคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

แม้เวลาจะผ่านไป ประเด็นเหล่านี้ก็ยังสดใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ อันที่จริงควรพูดว่า ยิ่งนับวันความดุดันในการเรียกร้องของเกาหลีใต้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ดูเหมือนเวลาจะไม่ได้ช่วยเยียวยาความรู้สึกเจ็บใจในฐานะเหยื่อการกระทำของญี่ปุ่นแม้แต่น้อย การที่วาทกรรมเช่นนี้ถูกเน้นย้ำ ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเรื่องเล่าที่กอดเกี่ยวอยู่กับอัตลักษณ์และความเป็นมาของชนชาติเกาหลี แต่ก็มองได้ด้วยว่า วาทกรรมเหล่านี้มีบทบาทในฐานะเครื่องมือทางการเมืองและยุทธศาสตร์ มองจากมุมของญี่ปุ่น การยกระดับการเรียกร้องของเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมาดูจะเป็นการสร้างกระแส ‘ชาตินิยมต่อต้านญี่ปุ่น’ ที่มีรัฐบาลคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และมุ่งประโยชน์ในทางการเมืองมากกว่า

การกดดันให้ญี่ปุ่นชดใช้ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวอาจมองเป็นการ ‘ชดเชย’ ต่อท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนที่รัฐบาลเกาหลีใต้มีต่อเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลสายก้าวหน้าของมูนแจอินยกการสานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ และต้องดำเนินท่าทีประนีประนอมเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างสองคู่อริให้ได้พบปะพูดคุยกัน แต่แล้ว เมื่อการเจรจามีทีท่าชะงักงัน นโยบายอ่อนข้อต่อเกาหลีเหนือจึงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ต้องการเห็นเกาหลีใต้คงจุดยืนแข็งกร้าวและกดดันเกาหลีเหนือ มากกว่าจะแสดงท่าทีอ่อนน้อมยอมความ

นอกจากประเด็นสองเกาหลีแล้ว การกู้เศรษฐกิจที่ถดถอยและการกระชับพันธมิตรกับสหรัฐฯ ก็ดูจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุผลที่น่าประทับใจ ในภาวะเช่นนี้ ญี่ปุ่นได้กลายเป็นเป้าที่ง่ายสำหรับใช้เบี่ยงเบนความสนใจออกจากปัญหาที่รัฐบาลเผชิญและไม่สามารถจัดการได้ลุล่วง ท่าทีต่อญี่ปุ่นนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญที่ลดลงของญี่ปุ่นในสายตาประชาชนและรัฐบาลเกาหลีใต้ ขณะที่สถานะและศักยภาพของประเทศตนกระเตื้องขึ้นมาทัดเทียมกับญี่ปุ่นและมีบทบาทสูสีบนเวทีโลก ทำให้ความรู้สึกที่ว่าเกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งพาญี่ปุ่นมีลดน้อยลง ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นเป้าโจมตีจากกระแสชาตินิยมยกใหญ่

การแสดงท่าทีไม่อ่อนข้อต่อประเด็นตกค้างทางประวัติศาสตร์จึงอาจเป็นวิถีทางแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีผลงาน นั่นคือการเอาจริงเอาจังในการต่อรองและกดดันเรื่องการทวงสิทธิให้แก่เหยื่อผู้เรียกร้อง ในเรื่องนี้ นักวิชาการของเกาหลีใต้บางกลุ่มตั้งข้อกังขาถึงความเหมาะสมของกระแสต่อต้านญี่ปุ่นที่ปะทุขึ้นรุนแรงจนทำให้สถานการณ์บานปลาย กระทบไปถึงเศรษฐกิจและไมตรีจิตระหว่างกัน โดยมองว่ารัฐบาลมีส่วนปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก โดยหวังประโยชน์ในรูปคะแนนนิยมและใช้เป็นเครื่องมือชดเชยความล้มเหลวในประเด็นอื่นๆ

 

การผงาดขึ้นเป็นใหญ่ของเหยื่อความอัปยศ

 

ปรากฎการณ์คล้ายกันนี้ยังพบเห็นได้ทางฝ่ายจีนเช่นกัน กล่าวคือ วาทกรรมความเป็นเหยื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงกระแสชาตินิยมภายในประเทศ อันเป็นพลังอุ้มชูการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) และยังให้ประโยชน์อีกหลายอย่าง ทั้งในการเมืองภายในและยุทธศาสตร์การต่างประเทศ โดยเป็นการใช้สถานะผู้ถูกกระทำในอดีตเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การเรียกร้อง ‘เอาคืน’ สิ่งที่ตนเคยเสียไป

วาทกรรมเช่นนี้ช่วยธำรงความรู้สึกว่า ชนชาวจีนกำลังเผชิญศัตรูร่วมกันต่อเนื่องมานับแต่อดีต ซึ่งผู้นำสามารถอ้างเป็นเหตุผลสำหรับเรียกร้องให้คนในชาติจงรักภักดี เชื่อฟัง และรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ศัตรูผู้กระทำกับจีนในอดีตยังคงคุกคามจีนอยู่ในทุกวันนี้ แม้ในยามที่จีนเป็นใหญ่ขึ้นมาแล้วก็ตาม ทั้งชาติตะวันตกและญี่ปุ่นยังคงเป็นภัยที่จีนต้องระแวดระวัง จะเห็นได้ว่าวาทกรรม ‘100 ปีแห่งความอัปยศ’ (a hundred year of humiliation) ที่ผู้นำจีนรุ่นนี้นำเสนอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าใจตัวตนแห่งชาติ มีนัยทั้งเป็นการตอกย้ำให้เห็นคุณงามความดีและฝีมือการบริหารของ CCP ที่นำพาประเทศหลุดพ้นจากสภาพอ่อนแอและน่าอดสู ขณะเดียวกัน ก็เป็นเงื่อนไขสำหรับเรียกร้องเอาคืนจากชาติจักรวรรดินิยมที่เคยกระทำต่อจีนมาก่อน

คำว่า ‘เอาคืน’ ในที่นี้อาจแยกออกได้เป็น 2 นัย ซึ่งเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วาทกรรมความเป็นเหยื่อถูกใช้เป็นฐานในการอ้างสิทธิที่จีนถูกลิดรอนไปในสมัยหนึ่งร้อยปีแห่งความอัปยศ (นับแต่แพ้สงครามฝิ่น ปี 1842 กระทั่ง CCP ขึ้นครองประเทศ ปี 1949) ดังนั้น เมื่อจีนมีอำนาจมากขึ้น จึงเป็นเรื่องชอบธรรมที่จะ ‘ทวงคืน’ สิ่งที่จีนถูกยื้อแย่งไปในสมัยที่ยังไม่มีทางสู้

เราจึงเห็นกระแสแนวคิดการทวงคืน (irredentism) ในลักษณะการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน อย่างกรณีไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ ประเด็นเหล่านี้ยังถูกมองเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่มีความละเอียดอ่อนต่ออารมณ์ความรู้สึก โดยมีวาทกรรมความเป็นเหยื่อในอดีตและการจะต้องกอบกู้สิทธิของตนคืน ทำงานเป็นหลักเหตุผลอยู่เบื้องหลัง

การเอาคืนยังมีอีกนัยหนึ่ง นั่นคือการ ‘แก้แค้น’ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่ามีนัยนี้แฝงอยู่ในการกระทำของจีนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับท่าทีที่แข็งกร้าว และกระแสชาตินิยมต่อต้านต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ในเรื่องนี้ ญี่ปุ่นดูจะเป็นเป้าโจมตีสำคัญ ทั้งจากที่ในอดีตเคยรุกรานจีน และในปัจจุบันที่มีประเด็นข้อพิพาทเกาะเตียวหยู/เซนคะคุ คาราคาซังกันอยู่

เมื่อปี 2015 จีนได้จัดงานสวนสนามเพื่ออวดพลานุภาพในวาระครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงคราม โดยย้ำการที่จีนสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการยังคงเพ่งเล็งญี่ปุ่นในฐานะศัตรูคู่อาฆาต อีกทั้งพิธีรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง ซึ่งจีนริเริ่มให้จัดขึ้นเป็นทางการในสมัยสี จิ้นผิง เพื่อตอกย้ำความโหดเหี้ยมของกองทัพญี่ปุ่น ก็ดูเหมือนจะมีนัยของการไม่ยอมความต่อผู้ที่เคยกระทำกับจีนมาในอดีต

เรายังเห็นด้วยว่า วาทกรรมความเป็นเหยื่อในอดีตยังถูกหลอมรวมกับคำอธิบายปัญหาที่จีนเผชิญในเวลานี้หลายอย่าง เช่น เหตุวุ่นวายในฮ่องกง ความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในที่ต่างๆ การเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่มองว่าล้วนมีต้นตอจากการถูกต่างชาติแทรกแซง ปลุกปั่น ซึ่งสร้างภาพพจน์ให้เห็นความต่อเนื่องของการถูกคุกคาม และถูกขัดขวางไม่ให้จีนสามารถสร้างรัฐสร้างชาติได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้

การผลิตซ้ำตรรกะดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า จีนยังอยู่ในฐานะเหยื่อและผู้ถูกกระทำในระเบียบโลกที่ครอบงำโดยพันธมิตรตะวันตก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ทั้งที่สถานะและอำนาจของจีนขยายใหญ่โตจนสร้างผลกระทบไปทั่วโลก ภาพพจน์จากวาทกรรมความเป็นเหยื่อหล่อเลี้ยงชาตินิยมแบบต่อต้านต่างชาติ และอาจกลายเป็นข้ออ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่กลบเกลื่อนการกลายสถานะมาเป็นผู้กระทำและยัดเยียดความเป็นเหยื่อให้กับชาติอื่นๆ เสียเอง ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยทำไว้ในยุคก่อนสงคราม นั่นคือการใช้วาทกรรมความเป็นเหยื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการแผ่อิทธิพลอำนาจ

 

ดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปในเอเชียและการทบทวนตัวตนรอบใหม่

 

ญี่ปุ่นผงาดขึ้นเป็นรัฐใหญ่ในเอเชียเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยความคับข้องใจจากการถูกกีดกันและต้องทนกล้ำกลืนจากการตกเป็นเบี้ยล่างและเหยื่อของชาติตะวันตก เรากำลังเห็นจีนผงาดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษนี้ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต่างกันนัก ดังที่เห็นจากวาทกรรม ‘100 ปีแห่งความอัปยศ’ และการตอกย้ำประวัติศาสตร์ของชาติตนที่ถูกกดขี่ข่มเหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศัตรูอย่างญี่ปุ่น

แต่ญี่ปุ่นหลังสงครามได้สถาปนาตัวตนขึ้นใหม่เป็นรัฐใฝ่สันติ โดยเน้นย้ำวาทกรรมการเป็นผู้ก่อสงคราม แม้เผชิญภาวะย้อนแย้งในมโนสำนึกดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น แต่กลุ่มฝ่ายซ้ายผู้ยึดมั่นในสันตินิยมก็คอยผลิตซ้ำภาพอดีตอันเลวร้ายที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายกระทำกับผู้อื่น และเรียกหาจิตสำนึกและการชดเชยให้แก่เหยื่อ กระแสแนวคิดลักษณะนี้ช่วยปรามญี่ปุ่นที่ฟื้นฟูสถานะขึ้นใหม่ได้ในยุคหลังสงคราม ไม่ให้ดำเนินตามรอยเดิมในการแสวงหาแสนยานุภาพที่อาจคุกคามชาติอื่น แต่ให้วางตนเป็นมหาอำนาจพลเรือนที่มีรัฐธรรมนูญสันติภาพเป็นกรอบจำกัดบทบาททางทหาร

ในทางตรงข้าม จีนกลับพยายามขยายแสนยานุภาพเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ความเป็นเหยื่อ และทวงคืนกรรมสิทธิ์และศักดิ์ศรีที่เคยสูญเสียไป วาทกรรมความเป็นเหยื่อดูเหมือนจะถูกใช้สร้างความชอบธรรมในการแสวงหาความเป็นใหญ่ จนทำให้เป็นเรื่องยากที่จะแยกระหว่างการเรียกร้องสิทธิอันเป็นธรรม กับการใช้อำนาจคุกคามชาติอื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาติเพื่อนบ้านต่างหวาดระแวงในพฤติกรรมของจีนมากขึ้น

การทบทวนตัวตนใหม่ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้กระทำและถูกกระทำกำลังเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น เพราะการทวงสิทธิของจีนในแบบที่คุกคามชาติข้างเคียง กำลังกร่อนเซาะความน่าเชื่อถือและหลักเหตุผลของกลุ่มฝ่ายซ้ายในญี่ปุ่น ที่คอยใช้ประวัติศาสตร์สงครามตอกย้ำถึงการที่ญี่ปุ่นต้องสำนึกผิดในฐานะผู้กระทำ แต่เมื่อจีนเติบใหญ่ขึ้นและอวดเบ่งความเข้มแข็งจนดูน่าเกรงขาม ภาพที่จีนเป็นเหยื่อในสงครามซึ่งญี่ปุ่นควรต้องปฏิบัติอย่างนอบน้อมเพื่อชดเชยในสิ่งที่เคยกระทำ กำลังเริ่มดูขัดแย้งและไม่สอดรับกับความเป็นจริงที่เห็นอยู่ต่อหน้าในเวลานี้

กลายเป็นว่าในยุคนี้ที่ศักยภาพของญี่ปุ่นถดถอยจนมีสถานะด้อยกว่า ภาพจีนในตำแหน่งผู้กระทำและญี่ปุ่นกลายเป็นเหยื่อผู้ถูกคุกคามข่มเหง ด้วยท่าทีที่ก้าวร้าวและทะเยอทะยานของมหาอำนาจใหม่ที่อยากได้สิ่งที่ตนต้องการตามอำเภอใจ กำลังกลายเป็นแนวคิดที่คนญี่ปุ่นเห็นพ้องต้องกันมากขึ้น โดยไม่เกี่ยงว่าจะอยู่ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาในทางการเมือง วาทกรรมการ ‘กลายเป็นเหยื่อ’ กำลังกระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นทบทวนและตั้งคำถามต่อจุดยืนสันตินิยม ที่ต่อต้านการใช้กำลังและทหารว่า ยังคงเป็นวิธีธำรงสันติภาพของชาติและระเบียบของเอเชียได้ต่อไปหรือไม่ สถานการณ์นี้กำลังทำให้ฝ่ายขวาซึ่งต้องการเพิ่มพูนความแข็งแกร่ง และลดข้อจำกัดทางทหารของญี่ปุ่น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและดูมีนโยบายสอดรับกับความเป็นจริงในสายตาสาธารณชนญี่ปุ่นมากกว่า

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ญี่ปุ่นกำลังปรับความเข้าใจตนเองใหม่ วาทกรรมความเป็นเหยื่อที่กำลังกลับมาช่วงชิงพื้นที่วาทกรรมการเป็นผู้กระทำในสงคราม ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมสะท้อนกลับต่อชาติที่เรียกร้องเอาคืนจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจีนหรือเกาหลีใต้ การมองตัวตนใหม่นี้กลายเป็นหลักเหตุผลช่วยรองรับการจะต้องคิดหาวิธีปกป้องตนเองให้มากขึ้นและยืดหยุ่นขึ้น วาทกรรมความเป็นเหยื่อที่เกิดขึ้นใหม่อาจผลักดันให้ญี่ปุ่นคำนึงถึงยุทธศาสตร์การทหารมากขึ้น พยายามสั่งสมศักยภาพของตนเองมากขึ้น และลดข้อจำกัดทางทหารที่มีมาตลอดยุคหลังสงครามให้น้อยลง

 

ประวัติศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ หรือเพื่อการเรียกร้อง?

 

วาระการรำลึกเดือนแห่งการสิ้นสุดสงครามนี้มีขึ้นท่ามกลางกระแสการเชิดชูวาทกรรมความเป็นเหยื่อ ซึ่งขยายตัวไปพร้อมกับการแข่งขันทางอำนาจของชาติทั้งสามในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และการปรับตำแหน่งแห่งที่ในเชิงศักยภาพและความสำคัญระหว่างกันและกัน ทั้งในระดับภูมิภาคและโลกโดยรวม

การเน้นย้ำภาพความเป็นเหยื่อของชาติตนในอดีตมีวัตถุประสงค์มากกว่าเพียงเพื่อทบทวนความทรงจำ และย้ำถึงความเป็นมาร่วมกันในหมู่คนในชาติ แต่ยังเป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงพลังชาตินิยมที่อาศัยศัตรูในประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือรักษาสถานะอำนาจทางการเมือง เบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายใน และเพื่อสร้างเหตุผลและความชอบธรรมรองรับยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลอำนาจตามที่ตนต้องการ

การรำลึกเหตุการณ์และการหวนนึกถึงยุคสมัยที่ตนเคยเป็นเหยื่อกลับกลายเป็นกระบวนการหยิบใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้าง เพื่อรองรับพฤติกรรมที่ตนกลายเป็นผู้กระทำต่อผู้อื่นเสียเอง ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างการเอาคืน แก้แค้น หรือความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมุ่งเพียงตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติแคบๆ ของตน ข้อเขียนนี้ได้แสดงให้เห็นภาวะสองแง่สองง่ามของการรำลึกและบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชาติ ซึ่งหนีไม่พ้นการตีความและอคติ ตลอดจนการบิดเบือนใช้เป็นเครื่องมือ ประวัติศาสตร์สงครามอาจถูกใช้เพื่อให้บทเรียน เพื่อศึกษาความผิดพลาด และเพื่อไม่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยขึ้นอีก

สถานะความเป็นเหยื่อที่ชาติหนึ่งเคยประสบในอดีต เมื่อมองในเชิงอุดมคติแล้วน่าจะสอนใจให้ตระหนักถึงความเจ็บปวดและบาดแผลในฐานะผู้ถูกกระทำ และไม่อยากให้สภาพดังกล่าวเกิดซ้ำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ด้วยประโยชน์เชิงอำนาจที่ครอบงำบรรยากาศความคิดของรัฐใหญ่ๆ ในเอเชียตะวันออกเวลานี้ ทำให้วาทกรรมความเป็นเหยื่อกลับกลายเป็นเครื่องมือกล่าวโทษ ปลุกระดมความโกรธแค้น ตลอดจนสร้างความชอบธรรมในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และเป็นข้ออ้างต่อพฤติกรรมซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้ผู้อื่นกลายเป็นเหยื่อ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save