fbpx

“แก้แค้น ไม่แก้ไข” ทำไมการให้อภัยถึงเป็นเรื่องยาก?

“ยกโทษให้อย่างสาสม!”

คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ และผมก็น่าจะใช้ไม่ผิดเช่นกัน

เว็บไซต์ของราชบัณฑิตสภาระบุว่า สาสม (ว.) เหมาะ, สมควร, เช่น ต้องลงโทษให้สาสมแก่ความผิด. ถ้าเช่นนั้น เราทำอะไรที่ ‘เหมาะ’ หรือ ‘สมควร’ มันก็ควรจะสาสมเหมือนกันหมดนะครับ

แต่น่าสนใจว่า ไม่มีใครใช้คำว่า ‘สาสม’ กับการยกโทษหรือให้อภัยเลย ดูเหมือนคำนี้ในทาง ‘อารมณ์ภาษา’ ถูกสงวนไว้ให้กับการแก้แค้นหรือการลงโทษเท่านั้น ตามนัยนี้ดูเหมือน ‘สาสม’ จะพ่วงเอาอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรงเอาไว้ด้วย!

มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เมื่อมีใครทำอะไรไม่ดีด้วยบางอย่าง แล้วยอมยกโทษให้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในบางเรื่องที่คนทั่วไปถือว่าร้ายแรง เช่น การด่าทอ ดูถูก เหยียดหยามด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือการทำร้ายร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่างๆ

ทำไมการยกโทษหรือให้อภัยจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมาก?

คำตอบมีหลายเหตุผลเลยทีเดียว เหตุผลหลักแรกสุดคือความเจ็บปวดทางอารมณ์ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่โดนกระทำอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน กรณีนี้ย่อมยากจะให้อภัยกันง่ายๆ

อีกเหตุผลเป็นเรื่องของความเชื่อใจ เมื่อเราโดนหักหลัง เราจะรู้สึกเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์ที่เกินควบคุมและกลับไปเชื่อใจคนนั้นอีกได้ยาก เพราะเขาหรือเธอได้แสดงให้เห้นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ ถึงกับมีคำกล่าวว่าทำผิดไปครั้งหนึ่ง ไม่เป็นไร อาจเพราะความไม่รู้หรือเผลอไผล แต่การทำผิดซ้ำในเรื่องเดิม แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลา

การโกหกสำหรับคนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจไปมีคนอื่น เพราะพื้นฐานทางชีววิทยาที่สำคัญสุดมี 2 เรื่อง หนึ่งคือการเอาตัวรอดไม่ให้ตาย และอีกเรื่องคือการสืบทอดพันธุกรรมของตัวเองให้ได้ การนอกใจจึงส่งผลกระทบกับเรื่องที่ 2 อย่างจัง เพราะอาจทำให้ทรัพยากรสำคัญของเรา (เงิน เวลา และความพยายาม) หมดไปกับการดูแลเลี้ยงดูลูก (พันธุกรรม) ของคนอื่น

เหตุผลต่อไปเป็นเรื่องของความไม่พอใจและความขมขื่นใจ อารมณ์พวกนี้เป็นอารมณ์ลบที่ส่งผลได้รุนแรงและปล่อยผ่านไปได้ยากมาก หากรู้สึกบ่อยๆ อาจกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอุปนิสัยใจคอ ทำให้เป็นคนให้อภัยคนยาก เจ้าคิดเจ้าแค้น ช่างจดจำเรื่องไม่ดีที่คนอื่นทำกับเรา และให้อภัยไม่เป็น

อีก 2 เหตุผลสุดท้ายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกเรื่องความยุติธรรม-อยุติธรรม เวลาเราโดนใครหักหลัง การยกโทษให้ก็คล้ายกับการโดนพิพากษาอย่างไม่ยุติธรรม การยกโทษให้จึงสร้างความเจ็บปวดให้กับเรา ในขณะที่การแก้แค้นหรือความอยากเห็นอีกฝ่ายโดนกระทำในแบบเดียวกันบ้าง ดูเป็นความยุติธรรมในชีวิตมากกว่า ขณะเดียวกันนั้นเราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า การยกโทษให้อาจทำให้เราเป็นเหยื่อและโดนทำให้เจ็บอีกได้เสมอ เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าเราจะไม่โดนกระทำแบบเดียวกันอีกครั้ง

ความรู้สึกและเหตุผลที่เราบอกกับตัวเองทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลเสียทีเดียวนัก ในทางวิวัฒนาการมีการฝังแรงจูงใจทางจิตวิทยาเอาไว้ตลอดช่วงนับแสนปีของวิวัฒนาการไม่ให้เราโดนใคร ‘หลอกใช้’ และวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ หากโดนใครหลอกใช้หรือทำให้เจ็บปวดในทางใดทางหนึ่ง เราก็เพียงแต่โต้ตอบกลับใส่คนนั้นด้วยระดับความรุนแรงที่ไม่น้อยไปกว่ากัน หรือบางคนที่มีอำนาจน้อยกว่าอาจเลือกอีกทาง คืออาศัยการหลบเลี่ยง ตีตัวออกห่าง ไม่คบค้าสมาคมกับคนผู้นั้นอีกถ้าทำได้ เพื่อลดโอกาสโดนหลอกใช้หรือสร้างความไม่พอใจอีก

มีความรู้สึกสองอย่างที่คล้ายกัน แต่ไม่เทียบเท่ากันเสียทีเดียว คือคำว่าโกรธกับเกลียด เวลาเราไม่พอใจเรื่องอะไร เรามักจะโกรธ แต่นี่มักเป็นอารมณ์ลบแบบชั่ววูบที่ขึ้นเร็ว หายเร็ว แม้บางคนก็โกรธได้มากและได้นานราวกับชั่วนิรันดร์ก็ตาม  

แต่ ‘ความเกลียด’ ซึ่งมีนิยามว่า “ชัง, รังเกียจมาก, ไม่ชอบจนรู้สึกไม่อยากพบอยากเห็น เป็นต้น” ดูจะมีน้ำหนักความไม่พอใจมากกว่า อาจจะมาจากการสะสมความไม่พอใจไว้เป็นเวลานานก็ได้ด้วย ถึงกับมีวลี ‘เกลียดเข้ากระดูกดำ’ หรือ ‘เกลียดเข้าไส้’ ที่หมายถึงเกลียดมากที่สุด เกลียดขนาดฝังลึกลงไปในกระดูกเลยทีเดียว!

บางครั้งความเกลียดชังก็ล่องลอยอยู่ในวัฒนธรรมหรือแม้แต่ถูกปลูกฝังกันได้ด้วย ดูตัวอย่างได้จากแบบเรียนเด็กไทย ที่ทำให้นักเรียนมองพม่าเป็นศัตรูเพราะมาเผาอยุธยาถึง 2 ครั้ง ทำให้เรารู้สึกไม่เป็นมิตรกับคนพม่าอย่างแทบไม่มีเหตุไม่ผลในโลกปัจจุบัน หรือในระดับนานาชาติ อิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่แย่งแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์กัน หรือคนขาวกับคนดำจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็ยังเกลียดชังกันจากแค่เรื่องสีผิวต่างกัน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างในการอธิบายอิทธิพลจากการถูกปลูกฝังได้เป็นอย่างดี

ในทางการเมืองระหว่างประเทศมีการทดลองและสรุปผลไว้ว่า การขอโทษทางการเมืองมี 2 เงื่อนไขหรือรูปแบบสำคัญที่พบอยู่ตลอดเวลา คือ การที่คนชาติหนึ่งจะยกโทษให้กับอีกชาติหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการให้ค่าความสัมพันธ์ต่อกันสูงและโอกาสที่จะหลอกใช้หรือเอาเปรียบกันอยู่ในระดับต่ำ เช่น กรณีที่รัฐบาลแคนาดาพบว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารแคนาดาจำนวนหนึ่งที่โดนทหารอเมริกันพลาดยิงและเสียชีวิตไปขณะรบประจันหน้ากัน  

อีกเงื่อนไขหนึ่งคือการขอโทษ แทนที่จะเป็นตัวการทำให้เกิดความปรองดองกัน กลับกลายเป็นว่าการขอโทษจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปรองดองกันแล้ว การขอโทษระดับนานาชาติจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้และทุกครั้งที่ทำได้สำเร็จก็ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญหรือเกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่เกิดจากความพยายามจะปรองดองความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์มากเกินกว่าจะดำรงสถานะการเกลียดไว้ในระดับชาติกันต่อไป ตัวอย่างของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาข้างต้นก็ยืนยันได้เป็นอย่างดี

สำหรับในระดับบุคคล มนุษย์เป็นสัตว์สังคม นี่ย่อมเป็นเหตุให้การหลอกใช้กันเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ไม่ยากและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่การยกโทษหรือให้อภัยกันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับความร่วมมือและโอกาสต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

อันที่จริง การให้อภัยมีประโยชน์สำหรับผู้ให้อภัยแทบจะไม่น้อยกว่าผู้ได้รับการอภัย โดยมีผลดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การให้อภัยช่วยลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ช่วยทำให้ระบบหลอดเลือด ความดัน และระบบประสาททำงานดีขึ้น เช่นเดียวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานดีขึ้น มีความเจ็บปวดน้อยลง สุขภาพโดยรวมจึงดีขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ สำหรับบางคน การให้อภัยคนอื่นได้ยังช่วยส่งเสริมให้ตัวเองกลายเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ช่วยให้เกิดความหวังในชีวิตมากขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย การให้อภัยคนอื่นได้ง่ายๆ จนติดเป็นนิสัย จึงช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพใจคนผู้นั้นดีขึ้นไปด้วย

แต่การให้อภัยคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไขตลอดเวลา ไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็ไม่ควรทำนัก เพราะจะทำให้เราโดนหลอกหรือเอาเปรียบได้แบบซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลา

คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เคยแนะนำไว้ในหนังสือ Billions and Billions [1] ว่า ‘กฎทองคำ’ สำหรับการใช้ชีวิตให้ดีและไม่เสียเปรียบหรือโดนหลอก (ใช้) มีกฎง่ายๆ ว่า เมื่อพบกับใครเป็นครั้งแรกก็ตาม ให้ทำดีด้วย แล้วจากนั้นก็ดูว่าคนนั้นปฏิบัติกับเราอย่างไร ถ้าคนนั้นปฏิบัติกับเราดี เราก็ปฏิบัติดีด้วยต่อไป แต่หากคนนั้นปฏิบัติไม่ดีกับเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เราก็หันมาปฏิบัติกับคนนั้นในรูปแบบเดียวกัน หรืออาจจะเลือกการถอยห่างออกมา ไม่คบค้าสมาคมด้วยก็ได้

หากทำดังนี้ได้ เราก็จะมีชีวิตที่ดี มีคนแวดล้อมที่ดี และมีโอกาสให้อภัยใครก็ตามได้…อย่างสาสมกับความไม่ดีของคนนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียเปรียบหรือโดนหลอกใช้ร่ำไป

References
1 Carl Sagan (1997) Billions and Billions: Thoughts on Life and Death at the Brink of the Millennium. Random House.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save