fbpx

เบนฟิกา-เอฟซี ปอร์โต: อู กลาสซิโก ระหว่างสองเมืองที่แตกต่างแห่งโปรตุเกส

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

เป็นอันรู้กันดีว่า โปรตุเกสมีเมืองใหญ่อยู่สองเมืองด้วยกัน โดยหนึ่งคือเมืองหลวงอย่างลิสบอน กับอีกเมืองคือเมืองใหญ่ทางตอนเหนืออย่างปอร์โต โดยสองเมืองนี้เป็นเหมือนสองเมืองใหญ่ในอีกหลายๆ ประเทศอย่างสเปนที่มีมาดริดกับบาร์เซโลนา หรือสกอตแลนด์ที่มีเอดินเบอระกับกลาสโกว์ ซึ่งนั่นหมายความว่าทั้งสองเมืองหนีกันไม่พ้นในแง่ของการถูกเปรียบเทียบ

ทั้งสองเมืองมีระยะทางห่างกันเพียง 300 กิโลเมตรเศษ และหากใช้ทางหลวง A1 ซึ่งเป็นถนนตัดตรงระหว่างเมืองทั้งสอง จะใช้ระยะเวลาในการขับรถแค่ราวสามชั่วโมงเท่านั้น

ทั้งที่ระยะทางก็ไม่ได้ไกล และขนาด ความยิ่งใหญ่ รวมไปถึงความแตกต่างและการแข่งขันในด้านต่างๆ ผลักดันให้เมืองทั้งสองกลายมาเป็นเมืองที่มีการแข่งขันในหลายๆ เรื่องโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็เป็นไปแล้วในหน้าประวัติศาสตร์

การแข่งขันที่ว่า นอกจากเรื่องความยิ่งใหญ่ของเมืองที่สืบต่อกันมาตลอดแล้ว ยังถูกสืบทอดมาสู่การแข่งขันในสนามฟุตบอล ที่ปัจจุบันทำให้เบนฟิกากับเอฟซี ปอร์โตกลายเป็นคู่ปรับตลอดกาลในวงการฟุตบอลโปรตุเกส (อาจจะมีสปอร์ติง ลิสบอน อีกทีมด้วย โดยทั้งสามทีมถูกพูดถึงในนาม Big 3 แห่งพรีไมรา ลีกา และการเจอกันของแต่ละทีมจะมีเรื่องราวแยกกันไป โดยในบทความนี้จะขอโฟกัสไปที่เรื่องราวของเบนฟิกาและเอฟซี ปอร์โตเป็นหลัก)

การเจอกันในสนามฟุตบอลของเบนฟิกากับเอฟซี ปอร์โต จึงเป็นเหมือนการเจอกันของสองเมืองคู่แข่งแห่งโปรตุเกสอย่างลิสบอนกับปอร์โตไปโดยปริยาย และคำเรียกขานการเจอกันของทั้งสองทีม ก็ถูกยกย่องด้วยคำว่าอู กลาสซิโก (O Clássico) หรือแมตช์คลาสสิก ไม่ต่างจากเอล กลาสิโก แห่งสเปนหรือแดร์ คลาสิเคอร์แห่งเยอรมนีเลย

ดังนั้น เรื่องราวในตอนนี้ของ The Rivalry จึงเป็นเป็นเรื่องราวของ ‘ความเหมือน’ และ ‘ความแตกต่าง’ ที่นำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างสองเมืองใหญ่ในประเทศโปรตุเกส และเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้คู่ปรับคู่ใดๆ เลย

โบราณนานมาของ ‘ลิสบอน’ และ ‘ปอร์โต’

หากจะเล่าเรื่องของเมืองทั้งสอง อาจจะต้องไปเริ่มที่ประวัติศาสตร์ของแต่ละเมืองกันพอสังเขป และหากว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ลิสบอนน่าจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าปอร์โต

ว่ากันว่าลิสบอนเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ความเป็นมาของเมืองนี้ต้องย้อนหลังไปตั้งแต่ราว 800-600 ปีก่อนคริสตกาล โดยเมืองแห่งนี้มีชาวไอบีเรียพื้นเมืองและชาวเคลต์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเมืองสำคัญในการค้าขายกับชาวฟีนิเชียนและชาวกรีก

หลังจากนั้นเมืองแห่งนี้ก็ถูกปกครองโดยชนชาติต่างๆ มากมายก่อนที่จะมีชาติอย่างโปรตุเกสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวคาร์ธาจิเนียน ชาวโรมัน ซูบี ชาววิสิกอธ และชาวมัวร์ โดยกองทัพโรมันเข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรียครั้งแรกใน 219 ปีก่อนคริสตกาล และยึดครองเมืองแห่งนี้ในสมัยที่ยังใช้ชื่อว่าเมืองโอลิสซิโปของชาวลูซิทาเนียน หลังจากนั้นในช่วง 205 ปีก่อนคริสตกาล เมืองแห่งนี้ก็ตกเป็นของชาวคาร์ธาจิเนียน หลังจากชนะสงครามพิวนิกครั้งที่สอง หลังการล่มสลายจักรวรรดิโรมัน

และเมื่อถึงปีคริสตศักราช 500 อาณาจักรวิซิกอธก็ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของฮิสปาเนีย รวมถึงพื้นที่ในแถบนี้ในปี 711 ชาวมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเบอร์เบอร์และชาวอาหรับจากมาเกร็บ ได้บุกคาบสมุทรไอบีเรีย และยึดครองลิสบอนดินแดนที่ปัจจุบันคือโปรตุเกส

แม้ว่าชาวนอร์มันจะพยายามยึดครองในปี 844 แต่ลิสบอนก็ยังคงเป็นชาวมุสลิม ในปี 1147 หลังจากการปิดล้อมเป็นเวลา 4 เดือนภายใต้คำสั่งของพระเจ้าอัลฟองโซที่ 1 แห่งโปรตุเกส นักรบครูเสดชาวคริสต์ก็ยึดเมืองได้และเมืองแห่งนี้ก็อยู่ภายใต้การปกครองของชาวคริสเตียนอีกครั้ง

ในปี 1256 พระเจ้าอัลฟองโซที่ 3 แห่งโปรตุเกสได้ย้ายเมืองหลวงจากโกอิมบราไปยังลิสบอน ทำให้ลิสบอนกลายเป็นเมืองหลวงสำคัญในพื้นที่นี้มาจนปัจจุบัน และผู้ปกครองหลายสมัยต่อมาก็ใช้ประโยชน์จากเมืองแห่งนี้ทั้งในแง่ของเมืองท่าเรือค้าขาย และเมืองแห่งนี้ยังง่ายต่อการปกครองเพราะตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ติดทะเลด้วย

ด้านปอร์โตมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานน้อยกว่าแต่กลับสำคัญไม่แพ้กัน โดยว่ากันว่าเมืองปอร์โตถูกสถาปนาขึ้นในปีคริสตศักราชที่ 417 แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบจะบอกว่าเมืองแห่งนี้มีอารยธรรมย้อนไปได้ถึงยุค 800 ปีก่อนคริสตกาลก็ตาม

ปอร์โตพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ในช่วงที่โรมันยึดครองคาบสมุทรไอบีเรีย โดยพวกเขาปรับปรุงเมืองแห่งนี้ให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่สำคัญ โดยหลักๆ คือการค้าระหว่างโอลิสซิโปนา (ลิสบอน) กับบราการาออกัสตา (บรากา) และไม่ต่างจากลิสบอน ที่เมืองนี้ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวมุสลิมในช่วงคริสตศักราชที่ 714-716

ต่อมา พระเจ้าอัลฟองโซที่ 3 แห่งอัสตูเรียส (คนละคนกับ พระเจ้าอัลฟองโซที่ 3 แห่งโปรตุเกส ด้านบน) ได้ยกระดับพื้นที่แถบนี้ก่อนตั้งชื่อว่าปอร์ตูกาเล และกลายเป็นเมืองปอร์โตแบบที่รู้จักกันในปัจจุบัน

ความเหมือนและความต่างนำมาซึ่งการแข่งขัน

มีคำกล่าวว่าชาวโปรตุเกสมีความหลงใหลอยู่สามประการที่เหมือนกัน ได้แก่ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การดื่มสุรา และฟุตบอล แม้กระทั้งคนลิสบอนและปอร์โตก็ยังมีสิ่งนี้เป็นจุดร่วมไม่ต่างกัน

เมืองทั้งสองแห่งก็ยังมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ อย่าง ทั้งความที่เป็นเมืองท่าและมีจุดเด่นในเรื่องการค้าขายมาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์จากการเดินเรือมาอย่างยาวนาน

ความหลากหลายที่ว่านี้เองทำให้เมืองทั้งสองแห่งได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นที่ตั้งของมรดกโลกไม่ต่างกัน โดยทาง ลิสบอนมีวิหารแห่งเจโนนิมอสกับหอคอยแห่งเบเล็มที่ได้รับการรับรองดังกล่าว ขณะที่ปอร์โตก็มีพอร์ตไวน์ บริเวณท่าเรือริเบรากับท่าเรือเลโซเอสที่ได้รับการรับรองเช่นกัน

นอกจากนี้ เมืองทั้งสองยังถูกยกย่องให้เป็นสองเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโปรตุเกสไม่ต่างกันด้วย

ในแง่ของความแตกต่าง ด้วยความที่พื้นที่ 300 กิโลเมตร แยกเมืองทั้งสองออกจากกัน แม้ในปัจจุบันระยะทางดังกล่าวไม่ใช่ระยะทางที่ไกลมากนัก แต่ในอดีตต้องเดินทางนับวัน ทำให้เมืองทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันไม่น้อย

สำหรับชาวโปรตุกีส ลิสบอนดูจะเป็นเมืองที่มั่งคั่งกว่า เพราะเมืองแห่งนี้ เต็มไปด้วยความทันสมัย หรูหรา และแน่นอนว่าเป็นเมืองที่มีพลังมากกว่าตามสไตล์เมืองใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพูดได้อย่างเต็มปากว่าลิสบอนเป็นเมืองที่น่ารัก เพราะเมืองแห่งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัว ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1755 ได้ทำลายเมืองเก่าไปมาก ทำให้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาทดแทน

ในทางตรงกันข้าม ปอร์โตให้ความรู้สึกเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ มีความรู้สึกถึงการเป็นชนชั้นแรงงาน และเป็นเมืองที่มีความแห่งอิสระมากกว่า เมืองแห่งนี้ยังถูกจดจำในฐานะโลกแห่งความฝันที่เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยในยุคกลาง ถนนที่ปูด้วยหิน และทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำโดรู ซึ่งมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมายโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ โบสถ์ และพระราชวังที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วย

เบนฟิกา เหยี่ยวแห่งลิสบอน

สโมสรเบนฟิกาถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1904 โดยกลุ่มกาตาตาอัสกับสมาชิกของอัสโซซิเอเซา โด เบม โดยในตอนแรกสโมสรใช้ชื่อว่า สปอร์ต ลิสบัว (Lisboa เป็นชื่อลิสบอนในภาษาโปรตุกีส) ซึ่งแรกก่อตั้ง สโมสรใช้แต่นักเตะโปรตุกีสเท่านั้น โดยมีโฆเซ โรซา โรดริเกซ เป็นประธานสโมสร พร้อมด้วยดาเนียล ดอส ซานโตส บริโตเป็นเลขานุการ และมานูเอล กูร์เลดเป็นเหรัญญิก

ผู้ก่อตั้งตัดสินใจว่าสีของสโมสรจะต้องเป็นสีแดงและสีขาวเพื่อสื่อถึงความกล้าหาญและสันติภาพ ขณะที่ตราสโมสรจะต้องมีรูปเหยียวซึ่งเป็นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ อำนาจ และความสง่างาม ขณะที่วงล้อจักรยานด้านหลังโลโก้สื่อถึงรากเหง้าของสโมสรที่มาจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งต้องปั่นจักรยานไปทำงาน ขณะที่คำขวัญของพวกเขาอย่าง ‘อี พลูริบัส อูนัม’ (E Pluribus Unum) เป็นคำภาษาละติน ที่มีความหมายว่าทั้งหมดเพื่อหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ตาม กว่าที่สโมสรจะมีชื่อว่าเบนฟิกาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ก็ต้องรอเวลาอีก 4 ปี หลังจากที่สปอร์ตลิสบัวได้เข้าซื้อกิจการกรุ๊ปโปสปอร์ตเบนฟิกา ในวันที่ 13 กันยายน 1908 ก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็นสปอร์ตลิสบัวเอเบนฟิกา แต่สีประจำสโมสรและตราสัญลักษณ์เหยี่ยวสีทอง ล้อจักยาน รวมไปถึงคำขวัญยังคงอยู่กับสโมสรต่อไป

จนกระทั้งในปี 1934 ลีกโปรตุเกส มีการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เหยี่ยวแห่งเบนฟิกาก็ได้เริ่มประกาศศักดาอย่างรวดเร็วด้วยการคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันในปี 1935-36, 1936-37 และ 1937-38 หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มไปแผงฤทธิ์ในระดับนานาชาติด้วยการคว้าแชมป์ลาตินคัพ ปี 1950 และกลายเป็นสโมสรขาประจำในเวทียุโรปหลังจากนั้นด้วย

ปัจจุบัน เบนฟิกาคือสโมสรที่คว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของโปรตุเกสมากที่สุดที่ 38 สมัย โดยในฤดูกาลที่ผ่านมา (2022-23) แชมป์ก็ยังตกเป็นของพวกเขา ขณะที่ในเวทียุโรป พวกเขาเคยคว้าแชมป์ ยูโรเปียนคัพ อีกสองสมัย ซึ่งเป็นการได้แชมป์สองสมัยติดต่อกันในปี 1960-61 และ 1961-62 ด้วย

เอฟซี ปอร์โต มังกรแห่งเมืองท่า

ขณะที่เบนฟิกา แสดงออกว่าพวกเขาเป็นทีมของชนชั้นกรรมาชีพ แต่เอฟซี ปอร์โตนั้นต่างออกไป สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งโดย อันโตนิโอ นิโคเลา เดอ อัลไมดา พ่อค้าไวน์แห่งเมื่อท่าและเป็นนักกีฬาผู้หลงใหลในกีฬาฟุตบอลตัวยง เขาหลงใหลกีฬาชนิดนี้หลังจากที่ได้เห็นมันด้วยตาตัวเองขณะที่ได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ

อันโตนิโอ นิโคเลา เดอ อัลไมดา ก่อตั้งสโมสรเอฟซี ปอร์โตขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1893 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เบนฟิกาจะเกิดขึ้นมาเกือบสิบปี โดยในตอนแรกสโมสรยังไม่มีสีและตราประจำสโมสรที่ชัดเจน โดยในปี 1906 ทีมสวมชุดแข่งขันลงสนามในเกมอย่างเป็นทางการด้วยสีสันและลวดลายที่หลากหลาย มีทั้งเสื้อเชิ้ตสีขาวปกสีแดงหรือเสื้อลายแถบสีน้ำเงินแนวตั้ง และแม้แต่เสื้อสีแดงก็มี

แต่ในปี 1906 โชเซ มอนเตโร ดา คอสตา ประธานสโมสรในขณะนั้นได้กำหนดสีของสโมสรให้ชัดเจนโดยเป็นสีน้ำเงินและขาว แม้จะโดนชาวเมืองและแฟนบอลในขณะนั้นแย้งว่าชุดแข่งของทีมควรมีสีของเมืองอย่างสีเขียวและขาวรวมอยู่ด้วย แต่มอนเตโร ดา คอสตาให้เหตุผลว่า ชุดแข่งของทีมควรมีสีธงชาติอยู่ในชุด ไม่ใช่สีของเมือง (ธงชาติโปรตุเกสในยุค 1900 เป็นสีน้ำเงิน-ขาว)

ขณะที่สัญลักษณ์มังกรในโลโก้ มาจากสัญลักษณ์ของเมืองปอร์โต โดยแสดงถึงความไร้พ่าย ซื่อสัตย์ กล้าหาญ อดทนและเป็นอมตะ

นอกจากนี้การที่สโมสรได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์คาร์ลอสที่ 1 และราชินีอเมลีแห่งออร์เลอองส์ ทำให้ตราสโมสรของพวกเขามีมงกุฎอยู่ในสัญลักษณ์สโมสรด้วย

แม้เอฟซี ปอร์โตจะไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศ เพราะเกียรติยศนั้นเป็นของเบนฟิกา แต่พวกเขาก็คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของโปรตุเกสได้ถึง 30 สมัย มากที่สุดเป็นอันดับที่สอง และที่พวกเขาทำได้เหนือกว่าเพราะนอกจากได้แชมป์ ยูโรเปียนคัพ หรือยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีกสองสมัยแล้ว พวกยังได้แชมป์ยูฟ่าคัพ หรือปัจจุบันคือยูโรปาลีกอีกสองสมัย แถมยังได้แชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ อีกหนึ่งสมัยด้วย

เหยี่ยวปะทะมังกร ยุคสมัยแห่งฟุตบอล

หลังจากลงสนามฟาดแข้งกันครั้งแรกในวันที่ 28 เมษายน 1912 หลังจากนั้น การปะทะกันของเหยี่ยวและมังกรก็กลายเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติของศึกพรีเมียราลีกา เพราะหลังจากนั้นเบนฟิกากับเอฟซี ปอร์โต ก็เผชิญหน้ากันในสนามฟุตบอลเป็นเรื่องปกติ

จวบจนปัจจุบัน ทั้งสองทีมลงเล่นกันไปแล้วมากถึง 254 นัด (ข้อมูลในวันที่ 18 ตุลาคม 2023) ปอร์โตชนะมากกว่าที่ 101 ขณะที่เบนฟิกาเอาชนะไปได้ 91 นัด ส่วนอีก 62 นัด จบลงด้วยผลเสมอ

การเจอกันในสนามของทั้งสองทีม นอกจากเป็นความหมายของชัยชนะในเกมฟุตบอลแล้ว มันยังหมายถึงการเผชิญหน้ากันของเมืองใหญ่ทั้งสองแห่งในประเทศโปรตุเกสอย่างลิสบอนที่เป็นเมืองหลวงและเมืองอันดับหนึ่ง กับปอร์โต เมืองใหญ่อันดับสอง ที่มองว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้เป็นรองเมืองหลวงสักเท่าไหร่นัก

การเจอกันของทั้งสองทีมจึงมีศักดิ์ศรีของเมืองทั้งสองแห่งเป็นเดิมพันมาตลอด ทำให้เกมการแข่งขันที่เกิดขึ้นยังคงความสนุก เร้าใจ และดุเดือด มาจวบจนปัจจุบัน

อู กลาสซิโก ปัจจุบันของความขัดแย้ง

“เมืองของเรายังคงเป็นเมืองที่น่ารักน่าไปเยือนมากกว่า และจำไว้ว่านี่คือเมืองที่ทำให้ชื่อของโปรตุเกสเป็นที่รู้จัก เมืองทั้งคู่แตกต่างกันมาก มีมุมมองที่แตกต่างกัน ธรรมชาติที่แตกต่างกัน การแสดงออกที่แตกต่างกัน และสำเนียงที่แตกต่างกัน … แต่ปอร์โตดีกว่า” ริคาร์โด โกเมซ ชาวปอร์โต้กล่าวถึงปอร์โตอย่างภาคภูมิใจ

“บางคนอาจเดินทางไปทั่วโลก แต่ทิ้งหัวใจไว้ที่ปอร์โต้” เขาปิดท้าย

ในขณะที่มุมมองของชาวลิสบอนอย่างติอาโก คอร์เตซ กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเบนฟิกาเป็นสโมสรที่มีฐานแฟนบอลที่ใหญ่ที่สุดในโปรตุเกส เมื่อเบนฟิกาแพ้ คุณจะสังเกตเห็นเพราะมีแฟนๆ อยู่ทุกหนทุกแห่ง เรายังมีนักการเมืองคนหนึ่งที่เลื่อนการประชุมรัฐสภาเนื่องจากการแข่งขันกับเบนฟิก้าเมื่อปีที่แล้ว”

“แน่นอนว่า เราอาจจะแพ้บ้าง เพราะมันเป็นธรรมดาของฟุตบอล แต่เราไม่สามารถแพ้พวกปอร์โตได้” เขาทิ้งท้าย

ตัวอย่างมุมมองดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชาวปอร์โตและชาวลิสบอน ยึดมั่นในทีมของเมืองตัวเองกันมากขนาดไหน และนั่นคือภาพที่ถูกแสดงออกมาถึงการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีม

ภาพที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมแมตช์นี้ถึงถูกเรียกว่า ‘คลาสสิก’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save