fbpx

เอฟซี โซล-ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์: การปะทะกันของ ‘แอลจี’ และ ‘ซัมซุง’ ในสนามฟุตบอล

The Rivalry คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

หากใครได้รับชมซีรีส์เรื่อง Reborn Rich คงจะเข้าใจความเป็น ‘แชโบล’ ของเกาหลีใต้ได้ดีถึงดีที่สุด แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจก็อยากจะอธิบายความหมายของคำว่าแชโบลสั้นๆ

แชโบลคือคำที่ใช้เรียกธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ที่มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวและมีบริษัทลูกครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งคำว่าแชโบลนี้เป็นส่วนผสมของตัวอักษรที่อ่านว่า ‘แช (재)’ มีความหมายว่า ‘ความความมั่งคั่ง’ และ ตัวอักษรที่อ่านว่า ‘โบล(벌)’ ที่หมายความได้ว่า ‘ตระกูล’ นั่นเอง

ถึงจะเปิดเรื่องมาแบบนี้ แต่นี่ก็ยังเป็นคอลัมน์ The Rivalry อยู่นะครับ สบายใจได้ว่าไม่ได้อ่านคอลัมน์ผิด หรือกองบรรณาธิการไม่ได้ลงบทความผิดคอลัมน์แต่อย่างใด

ที่เปิดเรื่องมาด้วยคำว่าแชโบล เพราะ The Rivalry ตอนนี้ อยากจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับคู่ปรับจากเคลีกแห่งประเทศเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทที่เป็นกลุ่มแชโบลให้การหนุนหลังและมีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสองทีมจนเรียกได้ว่าเป็นคู่ปรับ ทำให้การเจอกันในสนามฟุตบอลของพวกเขาก็เป็นเหมือนการปะทะกันของกลุ่มแชโบลสองกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุดในเกาหลีใต้ไปโดยปริยาย

แถมสองกลุ่มบริษัทแชโบลที่ว่ายังเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก ถึงขั้นพูดชื่อไปใครๆ ก็คงรู้จักด้วย และหากได้อ่านชื่อเรื่องแล้วก็คงทราบกันว่าเรากำลังจะพูดถึง ‘แอลจี’ และ ‘ซัมซุง’ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าของโลก

อันที่จริงแล้วไม่เพียงแค่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้นที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้ทั้งแอลจีและซัมซุงนี้ฟาดฟันกัน แต่มันยังลามไปถึงธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเขาครอบครอง และก็วนมาที่ศักดิ์ศรีในสนามฟุตบอลด้วย

นอกจากสนามแล้ว เอฟซี โซล และ ซูวอน บลูวิงส์ ก็ยังมีที่ตั้งใกล้กันมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเกม ‘ดาร์บี แมตช์’ เลยด้วย ทำให้การเจอกันในสนามของคู่นี้เต็มไปด้วยความดุเดือด จนถูกขนานนามว่า ‘ซูเปอร์แมตช์’ เลยทีเดียว

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เกมฟุตบอลในสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความหมายมากกว่าเกมกีฬาทั่วไป เพราะผลการแข่งขันของคู่นี้ นอกจากจะบ่งบอกถึงความเหนือกว่าของสโมสรใดสโมสรหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงเม็ดเงิน การบริหารจัดการ และการสนับสนุนที่ดีกว่าของบริษัทแชโบลที่เกี่ยวข้องด้วย

เกมระหว่างเอฟซี โซลกับซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์จึงเป็น The Rivalry ที่แตกต่างออกไปจากหลายๆ ตอนที่ผ่านมา เพราะนี่เป็นการแข่งขันกันในเชิงของศักดิ์ศรีทางธุรกิจและเม็ดเงินอย่างชัดเจน แต่ใช่ความความเป็นปฏิปักษ์ของทั้งสองสโมสรมีความหมายน้อยกว่าคู่ปรับคู่อื่นๆ ที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ลักกี-โกลด์สตาร์ ฟุตบอลคลับ: จุดเริ่มต้นของแอลจีและเอฟซี โซล

สำหรับใครหลายคน ชื่อของแอลจีอาจจะผ่านหูผ่านตามาบ้างหรือในบ้านอาจจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อนี้อยู่เลยด้วยซ้ำ เรื่องราวน่าแปลกใจของแบรนด์ดังแบรนด์นี้คือจุดเริ่มต้นของพวกเขานอกจากจะไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังไม่เกี่ยวกับไฟฟ้าโดยสิ้นเชิงด้วย

ย้อนกลับไปกว่าเจ็ดทศวรรษก่อน มีบริษัทอุตสาหกรรมเคมีนามว่า ‘ลักกี เคมิคัล อินดัสเทรียล คอร์ป’ ถูกก่อตั้งโดยคู อินฮเว ซึ่งคำว่า ลักกี (락희) นี้ ที่จริงแล้วเป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาเกาหลีซึ่งอ่านออกเสียงว่า Lukhui ซึ่งใกล้เคียงกับ Lucky ที่สุดแล้ว

โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่บริษัทลักกีผลิตออกสู่ท้องตลอดได้แก่ครีม ลีกกี โดยหลังจากนั้นพวกเขาก็เดินหน้าผลิตสินค้าจากเคมีภัณฑ์ต่างๆ อย่างยาสีฟัน เครื่องใช้ที่ทำจากพลาสติก รวมไปถึงท่อพีวีซี ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย

เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นแรกเกิดขึ้นหลังจากบริษัทก่อตั้งมากว่า 10 ปี เมื่อลักกี อินดัสทรี ก่อตั้งบริษัท โกลด์สตาร์ จำกัดมหาชนขึ้นมาในปี 1958 โดยหลังจากนั้นทั้งสองบริษัทก็ขยายกิจกรรอย่างต่อเนื่อง จนในปี 1983 ทั้งสองบริษัทก็ควบรวมกลายเป็นบริษัท ลักกี โกลด์สตาร์ ในที่สุด

ลักกี โกลด์สตาร์ใช้ชื่อนี้อยู่ยาวนาน 12 ปี ก่อนพบว่ามันช่างเป็นชื่อที่ ‘ยาวเกินไป’ และ ‘ไม่ติดหู’ ทำให้ในที่สุด พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น แอลจี (엘지) ในปี 1995 และใช้ชื่อนี้ยาวนานจวบจนปัจจุบัน

ขอย้อนกลับไปสักนิด ในช่วงเวลาการควบรวมบริษัทลักกีกับโกลด์สตาร์เข้าด้วยกันในปี 1983 พวกเขาก่อตั้งสโมสรที่มีชื่อว่าลักกี โกลด์สตาร์ ฟุตบอลคลับ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในเกาหลี ซูเปอร์ ลีก ในฤดูกาล 1984 (โคเรียซูเปอร์ลีกทำการแข่งขันฤดูกาลแรกปี 1983)

ลักกี โกลด์สตาร์ เอฟซี จบอันดับที่ 7 ซึ่งเป็นอันดับรองบ๊วยในฤดูกาลแรก ก่อนที่จะทำการเสริมทัพในปีต่อมา โดยดึง ‘เดอะ ตุ๊ก’ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ศูนย์หน้าตำนานทีมชาติไทบไปร่วมทีม และ ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ คนนี้ก็โชว์ฟอร์มเยี่ยม ยิง 12 ประตู จากการลงสนาม 21 นัด พาทีมคว้าแชมป์โคเรียซูเปอร์ลีกในปี 1985 ไปครองได้สำเร็จ

หลังจากจบฤดูกาล 1989 สโมสรลักกี โกลด์สตาร์ก็ย้ายถิ่นที่ตั้งจากเมืองซุงซองไปยังกรุงโซล พร้อมเปลี่ยนชื่อจากลักกี โกลด์สตาร์ ฮวังโซ มาเป็น แอลจี ซีตาห์สในปี 1991 เพื่อให้สอดคล้องกับทีมเบสบอลที่พวกเขาเป็นเจ้าของอย่างแอลจี ทวินส์ (จะเห็นว่าชื่อแอลจีเกิดขึ้นก่อนที่ลักกี โกลด์สตาร์จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นแอลจีมาสักระยะแล้ว)

แอลจี ชีตาห์สใช้สนามโซลสเตเดียม หรือที่ปัจจุบันมีชื่อว่าทงแดมุนสเดเตียมได้เพียง 6 ปี พวกเขาก็ต้องย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองอันยังที่ติดอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโซลในปี 1996 ซึ่งที่นั่นเอง พวกเขาได้เจอกับคู่ปรับทั้งในสนามฟุตบอลและยังเป็นคู่แข่งตัวฉกาจในวงการธุรกิจเกาหลีใต้ด้วย นั่นคือซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ ที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง

ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ – ยักษ์ใหญ่หมายเลข 9 แห่งเคลีก

เรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่งของตระกูลแชโบล คือพวกเขามักมีจุดเริ่มต้นที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันมากนัก  ซัมซุงก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนั้น โดยจุดเริ่มต้นของพวกเขาก็ไม่ได้เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเฉกเช่นเดียวกับ แอลจี

จุดเริ่มต้นของซัมซุงต้องย้อนกลับไปในปี 1938 เมื่ออี บยอง ชอล เรียนจบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลับมาก่อตั้งบริษัทซัมซุงซัมโฮที่เมืองแดกู โดยในตอนแรก ธุรกิจของเขาเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการซื้อขายพืชผักในท้องถิ่นและอาหารแห้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญของซัมซุงเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี เมื่อมีการร่วมทุนกับโช ฮอง จาย ก่อนตั้งเป็นบริษัท ซัมซุง เทรดดิง คอร์เปอเรชั่น แม้สุดท้ายอี บยอง ชอล กับโช ฮอง จาย จะแยกย้ายกันไป แต่นั่นก็ทำให้เกิดซัมซุงกรุ๊ปขึ้นมาในที่สุด

ซัมซุงก้าวเข้าสู่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 หลังมีการก่อตั้งกลุ่มซัมซุง อีเล็คทรอนิคส์ ดีไวส์ กับซัมซุง เซมิคอนดักเตอร์และโทรคมนาคมขึ้น จนนำไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นแรกอย่างทีวีขาวดำที่วางจำหน่ายในปี 1970

กลุ่มโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงนี้มีโรงงานอยู่ที่เมืองซูวอน และนั่นเองที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจก่อตั้งทีมฟุตบอลที่เมืองแห่งนี้โดยใช้ชื่อว่าซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ในปี 1995 และเข้าร่วมกับเคลีกครั้งแรกในฤดูกาล 1996

การก่อตั้งทีมในซูวอนนี่เอง ทำให้พวกเขาต้องเจอเผชิญหน้ากับทีมคู่ปรับนอกสนามอย่างอันยัง แอลจี ชีตาห์ส ซึ่งเกิดเป็นตำนานการปะทะกันในสนามฟุตบอลของของทีมมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจนเกิดคำว่า ‘จิจิแท ดาร์บี’ ขึ้นมา

จิจิแท ดาร์บี-การเผชิญหน้าในสนามฟุตบอลของแอลจีและซัมซุง

แอลจี ชีตาห์สต้องย้ายมาในเมืองอันยังเมื่อปี 1996 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ทำให้สามยักษ์ใหญ่แห่งกรุงโซล ทั้งชีตาห์ส, อิลฮวา ซ็อนมา และยูกง เอเลเฟนส์ ต่างได้รับผลกระทบกันหมด ซึ่งทางแอลจี ชีตาห์สเองก็ต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นอันยัง แอลจี ชีตาห์ส เพื่อปรับตัวมาสู่เมืองแห่งใหม่เช่นกัน

โดยอันยังซึ่งเป็นเขตปริมณฑลของกรุงโซล ที่มีระยะทางห่างออกไปทางทิศใต้ราว 20 กิโลเมตร พื้นที่ตรงนั้นยังติดกับเมือง ซูวอน ถิ่นของบลูวิงส์ ที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านของซัมซุง โดยมีเพียงแค่เนินเขาจิจิแทคั่นกลางเพียงเท่านั้น

ดังนั้นการเผชิญหน้าของทั้งคู่ในสนามนับจากฤดูกาล 1996 เป็นต้นไป จวบจนกระทั่งวันที่ทีมของแอลจีย้ายออกจากพื้นที่นี้กลับไปยังกรุงโซล ก็จะเป็นที่รู้จักในนามจิจิแท ดาร์บี้ หรือ ดาร์บี้แห่งเทือกเขาจิจิแท ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่มีการแข่งขันเดือดที่สุดในเคลีก

เป็นเวลา 8 ฤดูกาลระหว่างปี 1996-2003 ที่อันยัง แอลจี ชีตาห์ส เผชิญหน้ากับซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ ในศึกเคลีกนัด ‘จิจิแท ดาร์บี’ ไปทั้งหมด 24 แมตช์ โดยเป็นทางซัมซุงที่ทำได้ดีกว่า เอาชนะไป 11 เกม เสมอกัน 4 และอีก 9 เป็นชัยชนะของแอลจี

หลังจากฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพจบลง เคลีกก็มีการขยายตัวเพิ่มเติม ขณะที่อันยัง แอลจี ชีตาห์ส ก็ได้โอกาสย้ายกลับมาสู่กรุงโซลอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสดราม่าที่สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้และเคลีกล้มเหลวในการสร้างทีมใหม่เพื่อให้มีฐานแฟนในกรุงโซล

โอกาสดังกล่าวเปิดช่องให้แอลจี ชีตาห์สที่มองว่าการย้ายกลับไปยังกรุงโซลเป็นวิธีการโฆษณาที่ดีที่สุดต่อทั้งทีมและองค์กร ยื่นเรื่องขอจ่ายส่วนค่าก่อสร้างสนามโซลเวิลด์คัพสเตเดียม ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ที่ผ่านมา จำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แลกกับการกลายเป็นทีมประจำกรุงโซล และสิทธิ์ในการใช้สนามโซลเวิลด์คัพสเตเดียมเป็นรังเหย้า

เรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติในปี 2003 ทำให้ในฤดูกาล 2004 อันยัง แอลจี ชีตาห์ส ก็ย้ายกลับมาประจำยังกรุงโซลอีกครั้ง พร้อมเปลี่ยนชื่อทีมเป็นเอฟซี โซล และใช้ชื่อนี้มาจวบจนปัจจุบัน

ขณะที่ทางซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ ไม่ได้เดือดร้อนกับเรื่องนี้ พวกเขายังคงปักหลักกันในซูวอน เมืองที่มีแฟนบอลเชียร์พวกเขาอย่างหนาแน่น เพราะซัมซุงสร้างงานและรายได้ให้เมืองนี้ด้วยการเปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเศรษฐกิจของซูวอนอยู่ได้เพราะซัมซุง และทำให้คนในเมืองนี้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเมืองอื่นๆ โดยรอบของกรุงโซลเกือบทั้งหมด

ความกินดีอยู่ดีของชาวเมืองซูวอน อันเป็นผลมาจากซัมซุงนี้เองที่สร้างรอยัลตี ทำให้คนซูวอนเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อแบรนด์คู่แข่งอย่างแอลจี ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเป็นปฏิปักษ์กับเอฟซี โซล ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกมที่ทั้งสองทีมแข่งขันกัน

แม้การย้ายออกจากอันยัง ของแอลจี ชีตาห์ส จะทำให้ชื่อจิจิแทดาร์บีหายไปแล้ว แต่ความดุเดือดในการเจอกันของทั้งคู่ก็ถูกบรรยายด้วยคำศัพท์คำใหม่ ซึ่งอาจจะจำกัดความเกมนี้ได้ดีกว่าเดิมเสียอีก นั่นคือคำว่า ‘ซูเปอร์แมตช์’

สงครามดวงดาวการต่อสู้กันในเวทีการค้าของแอลจีและซัมซุง

นอกสนามฟุตบอลการต่อสู้กันในเวทีธุรกิจของซัมซุงกับแอลจี มีชื่อเรียกที่หลากหลายตามแต่ยุคสมัย และผลิตภัณฑ์ อาทิ สงครามทีวี สงครามจอ OLED, สงครามมือถือ แต่ที่หลายๆ คน โดยเฉพาะคนในเกาหลีใต้รู้จักกันดีคือชื่อของ ‘สงครามดวงดาว’

คำว่าสงครามดวงดาวถูกใช้เรียกกว้างๆ ถึงการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างแอลจีกับซัมซุง ในทุกเวทีที่พวกเขาส่งสินค้ามาแย่งชิงพื้นที่ของตลาดกัน

ที่ใช้ชื่อว่า ‘สงครามดวงดาว’ เพราะว่าชื่อของทั้งสองแบรนด์นี้ ล้วนแต่มี ‘ดาว’ อยู่ในชื่อแบรนด์ โดยทางแอลจีก็เป็นตัวย่อของลักกี โกลด์สตาร์ หมายถึง ‘ดวงดาวสีทอง’ ส่วนซัมซุงก็แปลได้ว่า ‘ดาวสามดวง’ ดังนั้นการต่อสู้ห้ำหั่นของทั้งสองแบรนด์นี้เลยถูกเรียกด้วยชื่อนั้นไปโดยปริยายนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของสงครามดวงดาวครั้งนี้ต้องย้อนไปในปี 1969 เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้โดยประธานาธิบดี ปาร์ก ซุง ฮี ได้ประกาศแผนการเพื่อสนับสนุนการอุปถัมภ์ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ยาวนาน 8 ปี ทำให้อี บยอง ชอล ผู้ก่อตั้งซัมซุงเล็งเห็นถึงอนาคตในธุรกิจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และพาซัมซุงต่อสู้เพื่อเข้าสู่วงการนี้ ในตอนนั้นหนังสือพิมพ์ของแอลจียังตีพิมพ์เนื้อหาโจมตีการเคลื่อนไหวของซัมซุงเป็นระยะด้วย

แต่ท้ายที่สุดอี บยอง ชอล ผู้ก่อตั้งซัมซุง ก็ได้เข้าพบประธานาธิบดีปาร์ก ซุง ฮี เป็นการส่วนตัวเพื่อโน้มน้าวให้เขาอนุญาตให้ ซัมซุงเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดในสมัยนั้นป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมบางประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาต ในที่สุดประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็เห็นชอบกับทางซัมซุง และให้เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ในตอนนั้นเองที่สงครามดวงดาวเริ่มเปิดฉาก

หลังจากนั้นทั้งสองบริษัทแชโบล ก็แข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพราะทั้งแอลจี และซัมซุงต่างมีอุตสาหกรรมครอบคลุมเกือบทุกรูปแบบ โดยนอกจากสงครามสมาร์ตโฟน สงครามตู้เย็น หรือสงครามทีวีที่เรารับรู้กันทั่วไปแล้ว

นอกจากเครื่องช้ไฟฟ้าแล้ว แอลจีและซัมซุง ยังแข่งขันกันในเรื่องยาและอาหารเสริม โดยซัมซุงมีซัมซุงฟาร์ม ส่วนแอลจีเองก็มีแอลจี ไลฟ์ การ์เดน ขณะที่ในธุรกิจเครื่องสำอางทั้งคู่ก็ยังแข่งขันกันไม่ต่างออกไป โดยซัมซุงมีเรือธงเป็นเป็น S-Skin และ Lumini ส่วนแอลจีซึ่งเดิมทีมก็ขายเครื่องสำอางแต่แรกอยู่แล้วก็พัฒนาแบรนด์จนกลายเป็น The Face Shop และ The History of Whoo เช่นกัน

ปัจจุบันของความขัดแย้ง-เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

“สงครามแห่งดวงดาว ไม่มีวันสิ้นสุด” โช มู ฮยุน คอลัมน์นิสต์สายเทค อินดัสทรี ของ เซดีเน็ต โคเรีย และ ซีเน็ต ผู้เขียนคอลัมน์ ‘The Chaebols’ กล่าวสรุปการต่อสู้ระหว่างแอลจีกับซัมซุงไว้ง่ายๆ เท่านั้น แต่เขาก็กล่าวเสริมว่า

“แต่วันนี้สนามรบได้เปลี่ยนไปแล้ว แบรนด์ของซัมซุงและแอลจีพยายามแสดงออกถึงความเป็นตัวเองในระดับนานาชาติ พวกเขาและผู้บริหารระดับสูงทั้งสองไม่ได้ไล่ตามบริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นอีกต่อไป พวกเขากำลังแย่งชิงฐานที่มั่นในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลก”

หากสงครามในเวทีใหญ่ที่เกิดขึ้นในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกยังคงแข่งขันกันต่อไปแล้ว คงไม่ต้องอธิบายถึงสถานการณ์ใดในสงครามฟุตบอลที่เกิดขึ้นในเคลีกอีกแน่นอน

เอฟซี โซลกับซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ ยังคงรบกันในสนามหญ้าต่อไป เพื่อหาผู้ที่เป็นหนึ่งกันจนกว่าจะมีใครตายกันไปข้าง…ไม่ต่างกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save