fbpx

เรอัล มาดริด – บาร์เซโลนา : ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รังสรรค์คู่ปรับตลอดกาล

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต


‘เรอัล มาดริด’ และ ‘บาร์เซโลนา’ ชื่อเหล่านี้ต่อให้ไม่ใช่แฟนฟุตบอลก็น่าจะเคยได้ยินมาสักครั้งในชีวิต เพราะนั่นคือชื่อของสองสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสเปน และอาจจะเป็นหนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกใบนี้ด้วย การเจอกันของทั้งสองทีมถูกยกย่องให้เป็นเกมที่ ‘คลาสสิก’ จนกลายเป็นชื่อในภาษาสเปนว่า ‘เอล กลาสิโก (El Clásico)’

ความคลาสสิกของการเผชิญหน้ากันระหว่างเรอัล มาดริดกับบาร์เซโลนา นอกจากจะเป็นเรื่องของชื่อชั้นและศักดิ์ศรีแล้ว ยังเป็นเสมือนการเผชิญหน้ากันของสองเชื้อชาติ สองอุดมการณ์ทางการเมือง ผ่านไทม์ไลน์บนหน้าประวัติศาสตร์จนมาถึงปัจจุบัน

เกม ‘เอล กลาสิโก’ จึงเป็นมากกว่าเกมฟุตบอล เพราะมันแสดงออกถึงเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนานบนหน้าประวัติศาสตร์ในเกมฟุตบอลเพียงเกมเดียว แม้ว่าความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักอย่างสาหัสของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่ถึงศตวรรษก็ตาม แต่ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ฟุตบอลกลายเป็นสงครามตัวแทนในสนามหญ้าของทั้งคู่ได้

นี่คือเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพลเมืองแห่งเมืองหลวงของประเทศ กับชาวเมืองใหญ่ทางตอนเหนือที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งยังมีฐานะเป็นเมืองท่าที่สำคัญ พร้อมย้อนไปสู่ความแตกต่างทางจุดยืนของการเป็นฟาสซิสต์กับคอมมิวนิสต์ และชาติพันธุ์ที่ต่างกัน

นี่คือเรื่องราวของสองสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก อย่าง ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด และ ‘เจ้าบุญทุ่ม’ บาร์เซโลนา กับจุดเริ่มต้นการเผชิญหน้ากันของทั้งคู่ที่จะกลายมาสู่ ‘เอล กลาสิโก’ ในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นคือช่องว่างระยะห่าง 13 กิโลเมตร

แม้ชนวนความขัดแย้งระหว่างบาร์เซโลนากับเรอัล มาดริด จะปะทุขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันมีลัทธิฟาสซิสต์ภายใต้นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เป็นสาเหตุหลัก แต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่แท้จริงอาจต้องย้อนไปถึงต้นตอในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก่อนการก่อตั้งของจักรวรรดิสเปนเสียอีก

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 700 หลังจากที่ชาวมัวร์ (Moors) ชนมุสลิมที่อาศัยอยู่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือ เรืองอำนาจถึงขีดสุดเหนือพื้นที่ของพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีความพยายามแพร่ขยายอำนาจเข้าสู่ภาคพื้นยุโรป บริเวณพื้นที่ของสเปนในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แรกที่ถูกจู่โจม เนื่องจากระยะทางอันถือว่าแคบมากๆ ที่คั่นระหว่างทั้งสองทวีปที่เรียกว่า ‘ช่องแคบยิบรอลตาร์’ (Strait of Gibraltar)

ช่องแคบยิบรอลตาร์คือส่วนที่แคบที่สุดของทะเลเมดิเตอเรเนียนที่คั่นระหว่างทวีปยุโรปกับแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่คั่นระหว่างสเปนกับโมร็อคโค และด้วยความแคบเพียง 13 กิโลเมตร ซึ่งสามารถมองเห็นอีกฟากได้ในวันที่อากาศดี จึงทำให้ชาวมัวร์ใช้ระยะการเดินทางที่ใกล้เพียงแค่ถ่อเรือข้ามเข้าไปรุกรานพื้นที่ของทวีปยุโรป

กว่า 700 ปีหลังจากการยึดครองของชาวมัวร์ ในปี 1492 (ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา) สเปนก็สามารถขับไล่ชาวมัวร์กลุ่มนี้กลับไปยังทวีปแอฟริกาได้ แต่นั่นก็ทิ้งระเบิดเวลาลูกใหญ่ไว้ในแดนกระทิงดุ นั่นคือจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปนที่ถูกก่อตั้งจากการรวมอาณาจักรและเชื้อชาติที่แตกต่างเข้าด้วยกัน ทั้งบาสก์ กาตาลัน อารากอน กาลิเซีย และกาสตีล

ในรอบ 300 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งจักรวรรดิ ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี แม้จะต่างชาติพันธุ์และต่างภาษา แต่ชาวสเปนในพื้นที่อารากอนและกาสตีลญา ชาวบาสก์และชาวกาตาลันก็ดูเหมือนจะปรองดองกันได้ด้วยดี ซึ่งอาจจะมีการแข่งขันกันบ้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งในข้อนี้ฝั่งกาตาลุนญาเหมือนจะได้เปรียบพื้นที่อื่นเพราะเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่า และไม่รับความเสียหายจากสงคราม 700 ปี ในการรบกับพวกมัวร์มากนัก ต่างจากเมืองอย่างกรานาดา อัลเมเรีย หรือบาเลนเซีย ที่ต้องฟื้นฟูเมืองตามลำดับ ทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นบ่อเงินบ่อทองบ่อสำคัญของจักรวรรดิสเปนมาตลอด

ขณะที่บาร์เซโลนาโตวันโตคืนจากการค้าขายทางเรือและทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้จักรวรรดิ เมืองมาดริดเพิ่งตั้งไข่กลายเป็นเมืองหลวงของประเทศได้ในปี 1561 ตามพระประสงค์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 แห่งสเปน และกว่าจะกลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่ ก็ต้องรอไปจนถึงศตวรรษที่ 17 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ต่างจากเมืองท่าและเมืองหลวงในแห่งอื่นๆ อย่างลิเวอร์พูลกับลอนดอน หรือร็อตเธอร์ดัมกับอาแย็กซ์ ที่คนในเมืองทั้งสองมักไม่ค่อยชอบพอกัน เนื่องจากเมืองท่ามักจะเป็นเมืองที่หาเงินเข้าประเทศ ส่วนเมืองหลวงเป็นเมืองที่ละลายเงินที่หามา แต่ในช่วง 300 ปีภายใต้จักรวรรดิสเปน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริดกับบาร์เซโลนาดูเหมือนจะราบรื่นเป็นไปด้วยดี ก่อนที่จะมีพายุลูกใหญ่พัดเข้ามาทำให้เกิดเป็นรอยร้าวรอยเล็กๆ รอยแรกระหว่างเมืองทั้งสอง

จาก ‘รอยัลลิสต์ vs ลิเบอรัล’ สู่ ‘ฟาสซิสต์ vs คอมมิวนิสต์’

เหมือนกับอีกหลายสิ่งในโลกที่เกิดขึ้นแล้วต้องเจอกับความเสื่อมถอย จักรวรรดิสเปนก็ไม่ต่างกัน ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงสงครามคาบสมุทรที่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามนโปเลียนครั้งแรก เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศสโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต เลือกที่จะถอนทัพออกจากโปรตุเกสและเข้าเล่นงานสเปนโดยเริ่มจากบาร์เซโลนาเพราะมีสถานะเป็นเมืองท่าสำคัญ

ในตอนนั้น ทางการสเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายใน ทำให้เลือกจะนิ่งเฉยทั้งที่มีทหารกว่า 500,000 นายในการบังคับบัญชา ปล่อยให้บาร์เซโลนาแตกในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1808 แม้หลังจากนั้นสถานการณ์จะคลี่คลายและสเปนจะได้เมือง เมืองท่าสำคัญแห่งนี้กลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวเมืองที่ถูกปล่อยให้เดียวดายในการเผชิญหน้ากับข้าศึกศัตรูได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองแห่งนี้ไปแล้ว

เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้และหมดอำนาจในปี 1815 ฝรั่งเศสได้สถาปนาพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ให้เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยพระองค์ได้ทรงดำเนินนโยบายหนุนหลังราชวงศ์บูร์บงในสเปนซึ่งเป็นเสมือนพระญาติ สร้างความไม่พอใจยิ่งขึ้นกว่าเดิมให้กับชาวกาตาลันที่เคยรบกับฝรั่งเศสในช่วงสงครามกับนโปเลียน เพราะถึงแม้จะเป็นคนละขั้วอำนาจกัน แต่สำหรับผู้ที่ถูกรุกรานแล้ว ไม่ว่าใครจะกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังคนที่กระทำพวกเขาก็ไม่ต่างกัน

นอกจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจในสเปนช่วงนั้น ยังเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้ความนิยมในราชวงศ์เสื่อมถอยอย่างรวดเร็วด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมแต่ที่ดินจำนวนมากกลับตกอยู่ในมือชนชั้นอีลีต สร้างความคับข้องใจและโกรธเคืองให้แก่ชนชั้นกลางและบรรดาพ่อค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งชนชั้นที่ว่านั้นส่วนมากก็จะอยู่รวมตัวกันที่เมืองท่าอย่างบาร์เซโลนานั่นเอง

เมื่อมองว่าราชวงศ์เป็นปัญหา การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงกลายเป็นทางออกสำหรับพวกหัวก้าวหน้าในสเปน พวกเขามองว่าอาจจะดีกว่าถ้าสเปนไม่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ นั่นทำให้ในปี 1868 ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างลุกฮือต่อต้านราชวงศ์จนสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปนต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสตลอดพระชนม์ชีพ และเป็นจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐสเปนในปี 1873

อย่างไรก็ตาม จากการปกครองอันยาวนานของราชวงศ์บูร์บงในสเปน จึงไม่แปลกที่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นจะสร้างความไม่พอใจให้พวกนิยมเจ้าซึ่งยังคงสร้างความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ จนกลายเป็นข้ออ้างให้ทหารทำการรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นใหม่อีกครั้ง (เอ๊ะ… เหตุการณ์มันคุ้นๆ ชอบกล) แต่เหตุการณ์ในประเทศก็ไม่เคยสงบอย่างแท้จริงได้เลย

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความวุ่นวายในประเทศ มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในโลกที่ทำให้คนในสเปนหันมาจับมือกันชั่วคราว นั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อการสู้รบจบลงในปี 1918 ก็เริ่มมีการแพร่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชนชั้นรากหญ้า ซึ่งสร้างความหวาดกลัวแก่ชนชั้นสูงและบรรดาทหารอย่างยิ่ง

ในระหว่างปี 1930-31 สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นก็ดุเดือดมากขึ้น เมื่อค่าเงินของสเปนลดฮวบเหลือครึ่งเดียว กระแสการเรียกร้องให้สเปนกลับไปเป็นสาธารณรัฐก็รุนแรงขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาธารณรัฐของสเปนครั้งก่อนตรงที่พวกเขามีกลุ่มอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่อย่างนาซีเยอรมันกับเบนิโต มุสโสลินีจากอิตาลีคอยหนุนหลัง

การเผชิญหน้าระหว่างรอยัลลิสต์กับลิเบอรัลจึงกลับกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างลัทธิฟาสซิสต์และแนวคิดคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1936 ก่อนที่ชัยชนะเบ็ดเสร็จจะเกิดขึ้นในปี 1939 บนกำมือของนายทหารแห่งกองทัพสเปน (ที่ได้รับการหนุนจากอิตาลีและนาซี) อย่างนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก คนดังคนนี้

การกดขี่ที่หนักหนา นำมาซึ่งการต่อต้านอันรุนแรง

อย่างที่ทุกท่านทราบ นายพลฟรังโกถือเป็นตัวพ่ออีกหนึ่งรายในการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จรุนแรงเพื่อเล่นงานฝ่ายต่อต้าน นั่นทำให้กองทัพของเขาได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จในสเปนอย่างรวดเร็ว แต่ก็ตามมาด้วยความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งว่ากันว่ามีผู้เสียชีวิตในการนองเลือดคราวนี้กว่า 2 แสนรายไม่นับผู้สาบสูญ และก็เหมือนเผด็จการส่วนมากที่เอาชนะสงครามได้ นายพลฟรังโกไล่เช็กบิลผู้พ่ายแพ้ทันที ซึ่งกลุ่มต่อต้านก็ต้องรับเคราะห์ไปเต็มๆ

นโยบายที่ฟรังโกเอามาใช้เล่นงานฝั่งตรงข้ามคือการควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเข้มงวดและรุนแรง เน้นการเล่นงานฝ่ายซ้ายและพวกเสรีนิยม การแสดงออกทางสัญลักษณ์รวมไปถึงภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาสเปนกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นทำให้ชาวบาสก์และชาวกาตาลันได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มากที่สุด เพราะทั้งสองแคว้นต่างมีภาษาเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะที่บาร์เซโลนาโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งและการต่อต้านราชวงศ์ในอดีต ทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งพวกชาตินิยมของกาตาลันและพวกฝ่ายซ้ายด้วย

ภายใต้การกดขี่ของนายพลฟรังโก มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบาร์เซโลนาคับแค้นและขุ่นข้องใจหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นในปี 1936 เมื่อโฆเซป ซูโยล อดีตประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรครีพลับลิกันแห่งกาตาโลเนียถูกสังหาร

หลังจากนั้นในปี 1938 กองทัพอากาศอิตาลีก็เปิดฉากทิ้งระเบิดใส่เมืองบาร์เซโลนา เพื่อช่วยกองทัพของนายพลฟรังโก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 พันราย และเมืองเสียหายอย่างหนัก จนนำไปสู่การพิชิตเมืองแห่งนี้ของนายพลฟรังโกได้สำเร็จในปีต่อมา

หลังจากครองอำนาจเหนือบาร์เซโลนา ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ชาวกาตาลันทั้งภาษา ธง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งหมด สมาชิกของสโมสรกว่า 3,000 รายถูกจับกุม และมีจำนวนไม่น้อยถูกสั่งประหารชีวิต โดยอีกครั้งที่นายพลฟรังโกสร้างความคับแค้นใจให้ชาวบาร์เซโลนา คือการใช้อำนาจเหนือเกมฟุตบอลในการแข่งขัน โกปา เดล เกเนราลิสิโม (ซึ่งก็คือถ้วยโกปา เดล เรย์ แต่ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อให้คนเห็นความสำคัญของนายพลฟรังโก) ทำให้ทีมเรอัล มาดริดเอาชนะทีมบาร์เซโลนา ด้วยผลการแข่งขันถึง 11-1 ด้วย

แม้จะใช้วิธีรุนแรงนานัปการในการเล่นงานคนฝั่งตรงข้ามโดยเฉพาะที่บาร์เซโลนา แต่ความคับแค้นใจของชาวกาตาลันหาได้เบาบางลงไม่ หากแต่นับวันยิ่งปะทุหนักขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ฟุตบอลยิ่งกลายเป็นศูนย์กลางในการแสดงออกของคนที่นี่อย่างไม่เป็นทางการ และลึกๆ ลงไปแล้ว ชาวกาตาโลเนียยิ่งอยากแยกตัวออกมาเป็นเอกราชจากสเปนมากยิ่งขึ้นจวบจนปัจจุบัน

แมตช์อันน่าอดสู

ก่อนจะเล่าถึงความขัดแย้งในแมตช์อัปยศจนนำมาสู่การเกลียดกันชนิดไม่เผาผีของทั้งสองสโมสร อาจจะต้องทำความเข้าใจกับเรอัล มาดริดสักหน่อย เพราะถ้าหากเอฟซี บาร์เซโลนา เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของเสรีชนฝ่ายซ้ายที่ใช้สโลแกนว่า ‘เป็นมากกว่าสโมสร (Més que un club – ในภาษากาตาลัน และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า More than a club)’ แล้ว ราชันชุดขาวก็เป็นตัวแทนของฝั่งขวา รอยัลลิสต์ อำนาจนิยม และลัทธิฟาสซิสม์ในยุคนั้นไม่ต่างกัน

ย้อนกลับไปสมัยการก่อตั้งทีมฟุตบอลเฟื่องฟูในภาคพื้นยุโรป ราวยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลในสเปนขึ้น โดยสโมสรสำคัญอย่างบาร์เซโลนาก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ส่วนเรอัล มาดริดในยุคแรกเริ่ม ยังไม่ได้มีชื่อนั้น จุดเริ่มต้นของพวกเขาคือเอฟซี สกาย สโมสรที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษา ก่อนแตกออกมามาดริด เอฟซี จนในปี 1909 ก็ได้รับพระราชทานนาม ‘เรอัล’ จากพระเจ้าอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน (เช่นเดียวกับเรอัล โซเซียดาด และเรอัล มูร์เซีย ที่ได้รับพระราชทานในเวลาต่อมา) โดยคำว่า เรอัล (Real) มีความหมายเท่ากับคำว่า Royal ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายความว่าสโมสรแห่งนี้เป็นสโมสรในพระบรมราชูปถัมภ์นั่นเอง ซึ่งคำว่าเรอัลที่ถูกพระราชทานให้นี้ มอบให้มาพร้อมกับ ตรามงกุฎเหนือสโมสรของพวกเขาด้วย

เมื่อสเปนเข้าสู่ยุคของสาธารณรัฐในปี 1931 ชื่อของ เรอัล มาดริด ก็ถูกถอดคำว่าเรอัลออกพร้อมกลับปลดตรามงกุฎกลับไปเป็นมาดริด เอฟซี อีกครั้ง แต่เมื่อเข้าสู่สมัยของนายพลฟรังโก ทุกอย่างที่ถูกถอดก็ถูกคืนให้กับ ‘ราชันชุดขาว’ ทีมนี้เหมือนเดิม เท่านั้นไม่พอ เมื่อนายพลแห่งสเปนรายนี้ผุดแนวคิดในการลดกระแสการต่อต้านและสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลด้วยสนันสนุนวงการฟุตบอลขึ้นมา ทำให้เรอัล มาดริดได้รับผลกระโยชน์ไปเต็มๆ จากการถูกโปรโมตให้เป็นทีมของคนสเปน แต่ฝั่งต่อต้านมักจะเรียกว่าทีมของนายพลฟรังโกเสียมากกว่า

เหตุการณ์ในสนามฟุตบอลที่แฟนบาร์ซาไม่มีทางลืมได้ลงเกิดขึ้นในปี 1943 ในเกมรอบรองชนะเลิศของฟุตบอล โกปา เดล เกเนราลิสิโม ระหว่างบาร์เซโลนากับเรอัล มาดริด แม้เผชิญหน้ากับการตัดสินที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นธรรม แต่อาซูลกรานา (แปลว่า สีน้ำเงิน-เลือดหมู ซึ่งเป็นสีเสื้อของบาร์เซโลนา) ยังเอาชนะไปได้ในเกมแรกถึง 3-0 โดยพวกเขาหวังยันสกอร์ที่ได้เปรียบในเกมที่ 2 เพื่อเข้าไปสู่รอบชิงฯ แต่ผลปรากฏว่าท้ายที่สุดพวกเขาแพ้ไปถึง 11-1 โดยสกอร์ครึ่งแรกจบที่ 8-0

ก่อนเกมดังกล่าว มีรายงานว่าได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับนักเตะจากแคว้นกาตาลันว่า “พวกคุณบางคนมาแข่งขันในเกมนี้ได้เพราะความกรุณาของนายพลฟรังโก อย่าลืมเรื่องนั้นเสียล่ะ” นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกมออกมาเละเกินคาด แต่ถึงกระนั้นในยุคอำนาจมืดครองเมืองเช่นนี้ มีเพียงบาร์เซโลนากับแอธเลติก บิลเบา (ทีมจากแคว้นบาสก์) ที่ยังคงเป็นเพียงสองทีมที่ยืนหยัดต่อต้าน ‘ทีมของนายพลฟรังโก’ อย่างเรอัล มาดริด อย่างสุดกำลังไม่ว่าจะโดนข่มเหงจากอำนาจนอกสนามหนักหนาแค่ไหนก็ตาม

จากอดีตถึงปัจจุบันของความขัดแย้ง

นอกจากการแก่งแย่งชิงดีในเรื่องความสำเร็จบนเวทีฟุตบอล มีอีก 2 เหตุการณ์ที่ยืนยันความเกลียดชังต่อกันของทั้งสองทีมได้เป็นอย่างดี โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในปี 1953 ในศึกการชิงตัวอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน นักเตะชาวอาร์เจนไตน์ ซึ่งหลายคนรู้ดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันเขากลายเป็นนักเตะตำนานของทีม ‘โลส บลังโกส (แปลว่า สีขาว คือสีเสื้อของ เรอัล มาดริด)’ แต่ในตอนนั้น ทีมที่สนใจและเดินหน้าทาบทามก่อนคือบาร์เซโลนา แต่เรอัล มาดริดใช้ช่องว่างจากกฎในการทาบทาม และอาจจะมีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโกเข้าเกื้อหนุน ทำให้ท้ายที่สุดสหพันธ์ฟุตบอลสเปนก็ตัดสินให้การย้ายทีมไปยังบาร์เซโลนาเป็นโมฆะ แม้ทางบาร์ซาจะค้านสุดกำลังแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลเข้ามาไกล่เกลี่ยให้นักเตะย้ายไปเล่นให้ทั้งสองทีม ทีมละสองปี โดยให้ไปเล่นกับเรอัล มาดริดก่อน และอย่างที่เราทราบๆ กันว่า ดิ สเตฟาโน ก็ไม่เคยกลับมาเล่นให้บาร์ซาอีกเลย (แน่ละ ก็เกลียดกันขนาดนั้นใครจะอยากได้นักเตะของศัตรูมาใช้กันล่ะ) ก่อนที่เขาเขาก็กลายเป็นตำนานของ ‘ราชันชุดขาว’ จวบจนปัจจุบัน

อีกกรณีคือการย้ายทีมอันโด่งดังของหลุยส์ ฟิโก สตาร์ชาวโปรตุกีส ที่ตอนนั้นค้าแข้งกับอาซูลกรานา ก่อนย้ายข้ามฟากไปยังเรอัล มาดริดหลังการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรของเฟเรนติโน เปเรซ ที่นำเรอัล มาดริดเข้าสู่ยุค ‘กาลาติกอส’ โดยเปเรซหาเสียงในการเลือกตั้งประธานสโมสรของทีมราชันชุดขาวว่าเขาจะดึงตัวฟิโก มายังกรุงมาดริดหากได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสร

เมื่อได้รับเลือก เขาก็ทำได้จริงโดยใช้เส้นสายจากการเป็นนักธุรกิจมือทอง พร้อมวาทศิลป์ขั้นเทพในการไปเจรจากับสตาร์จากแดนฝอยทองและทำให้เขาใจอ่อนย้ายมายังเมืองหลวงได้สำเร็จ โดยการย้ายทีมในครั้งนั้น ฟิโกกลายเป็น ‘ไอ้คนทรยศ’ ‘ไอ้หน้าเงิน’ ‘ไอ้สวะ’ ‘ไอ้ถ่อย’ และอีกสารพันคำด่าในชั่วข้ามคืน การเผาเสื้อของฟิโกกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่หาดูได้แทบทุกบ้านในบาร์เซโลนาช่วงนั้น

ในวันที่ฟิโกกลับมาเยือนคัมป์นูในฐานะนักเตะของเรอัล มาดริด เขาได้รับเสียงโห่ทุกครั้งที่สัมผัสบอล วัตถุมากมายถูกปาลงมาในสนาม รวมไปถึงก้อนอิฐ โทรศัพท์มือถือ และแม้กระทั่งหัวหมู (?) โดยตลอดเวลาที่มาเยือนบาร์เซโลนาของฟิโกในฐานะนักเตะเรอัล มาดริด เขาต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้อมล้อมและพาเขาเข้าและออกจากสนามทุกครั้งไป

แม้จะมีความเกลียดชังกันอย่างมาก แต่ทั้งสองทีมกลับมีสถิติสูสีกันอย่างประหลาด โดยหลังจากที่บาร์เซโลนาคว้าแชมป์โกปา เดล เรย์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2021 ทำให้พวกเขาคว้าถ้วยรางวัลรวมทุกรายการเมเจอร์ทั้งหมด 92 รายการ ซึ่งเท่ากับจำนวนถ้วยรางวัลทั้งหมดของเรอัล มาดริดพอดี ขณะที่เกมเอล กลาสิโกที่เจอกันในการแข่งขันอย่างเป็นทางการรวม 246 แมตช์ เรอัล ชนะได้ 98 ส่วนบาร์ซาชนะได้ 96 และเสมอกัน 52 แมตซ์ ซึ่งใกล้กันอย่างน่าเหลือเชื่อ

‘เอล กลาสิโก’ ที่อาจจะหายไปในอนาคต

ผลพวงที่เกิดจากการกดขี่ชาวกาตาลันของนายพลฟรังโกยังไม่เคยหายไปไหน ปัจจุบันยังมีข่าวอยู่เป็นระยะถึงความพยายามที่แคว้นกาตาลันต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีความยินยอมจากรัฐบาลกลางของสเปนก็ตาม แต่คนในกาตาลันจำนวนมากก็ไม่เคยคิดว่าพวกเขาคือชาวสเปนอยู่แล้ว เพราะพวกเขาคือชาวกาตาลัน

เฉกเช่นเดียวกับความพยายามของสก็อตแลนด์ที่พยายามจะออกมาจากสหราชอาณาจักร ทางกาตาลันก็มีการทำประชามติ และผลสำรวจต่างๆ เช่นกัน ส่วนการจะแยกออกมาจากสเปนได้ไหมนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันในอนาคตอันใกล้อีกทีอยู่แล้ว แต่เมื่อไรก็ตามที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เกม ‘เอล กลาสิโก’ ก็จะหายไปตลอดกาลด้วย

ในปี 2018 กระแสการแยกตัวของกาตาลันกลายเป็นเรื่องที่รุนแรง และมีการมองสถานการณ์ว่าถ้าพวกเขาแยกตัวออกมาจากสเปนจริง สโมสรฟุตบอลที่สังกัดแคว้นกาตาลันจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยหนึ่งในทางเลือกที่โจเซ็ป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรบาร์เซโลนาในตอนนั้นเคยเปรยๆ ไว้ คือการย้ายไปเล่นร่วมกับลีกต่างแดน ซึ่งน่าจะเป็นลีกของฝรั่งเศส มากกว่าการจะเล่นในลาลีกา

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งลาลีกาเองก็ยังยินดีที่จะให้บาร์เซโลนาเล่นในลีกสเปนต่อไปหากกาตาลันแยกตัวออกไปจากสเปนจริง เพราะทางลีกมองว่าฟุตบอลกับการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่สำหรับนักวิเคราะห์แล้ว พวกเขารู้ดีว่าบาร์เซโลนาสามารถสร้างรายได้มากมายมหาศาลให้กับลีกที่พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมด้วย

ดังนั้น แม้จะเกลียดกันขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าวันใดที่เรอัล มาดริดไร้บาร์เซโลนา หรืออาซูลกรานาไร้โลส บลังโกสแล้วละก็ แฟนบอลทั่วโลกคงไม่อาจจะรู้สึกเหมือนเดิมได้อีกเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save