fbpx
[ความน่าจะอ่าน] สวนสัตว์กระดาษ : มนุษย์ล้วนพ่ายแพ้ แต่ไม่แพ้พ่าย

[ความน่าจะอ่าน] สวนสัตว์กระดาษ : มนุษย์ล้วนพ่ายแพ้ แต่ไม่แพ้พ่าย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากจะมีหนังสือสักเล่มทำให้ฉันปล่อยโฮกลางร้านกาแฟท่ามกลางผู้คนได้ The Paper Menagerie หรือ สวนสัตว์กระดาษ คือหนังสือเล่มนั้น

สวนสัตว์กระดาษ เป็นรวมเรื่องสั้นไซไฟที่ทลายภาพยานอวกาศสีเงินวาววับลงไปได้หมดจดเกลี้ยงเกลา แล้วพาเราไปรู้จักวิทยาศาสตร์แบบมีเลือดเนื้อของมนุษย์ — มนุษย์ผู้เปราะบางและโง่เขลาอย่างพวกเรา ที่แทบไม่รู้จักอะไรมากไปกว่าตัวเอง และอันที่จริง เราอาจแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเลยด้วยซ้ำ

หากคุณมั่นใจว่าหัวจิตหัวใจยังแข็งแกร่ง อยากให้ลองเผชิญหน้ากับตัวหนังสือของ เคน หลิว ดูสักตั้ง

เคน หลิว ผู้เขียน เกิดที่จีน แต่ย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ณ ตอนนี้เขาถูกนับเป็นนักเขียนสัญชาติอเมริกันเต็มขั้น แม่ของเขาจบด็อกเตอร์ด้านเคมี ส่วนพ่อเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เขาเองเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่ฮาร์วาร์ด ผ่านอาชีพมาแล้วทั้งโปรแกรมเมอร์ นักกฎหมาย นักแปล และนักเขียน

ด้วยความเป็นลูกผสมในหลายด้าน ทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในงานเขียนของเขาได้อย่างเนียนกริบงดงาม งานเขียนของเขาเป็นงานแบบ Silkpunk ผสมผสานระหว่างไซไฟและแฟนตาซี โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวเก่าแก่และโบราณวัตถุในเอเชียตะวันออก บางครั้งเวทมนตร์ก็เกิดขึ้นกับไม้ไผ่หรือขนนก

เขาเขียนคำนำหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

ผมไม่ค่อยใส่ใจเส้นแบ่งระหว่างแฟนตาซีกับไซไฟ–หรือระหว่าง ‘นิยายที่มีหมวดหมู่เฉพาะ’ กับ ‘นิยายกระแสหลัก’ สำหรับผมแล้วเรื่องแต่งทั้งหลายล้วนสื่อถึงการที่เราให้ค่ากับระบบเหตุผลของเรื่องอุปมา — ซึ่งก็คือระบบเหตุผลของเรื่องเล่าทั้งปวง — มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง อันไร้แก่นสารและเรื่อยเปื่อยเกินเยียวยา

เราใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการพยายามเล่าเรื่องราวต่างๆ ว่าด้วยตัวเราเอง — เรื่องที่เราเล่าเหล่านี้คือแก่นแท้แห่งความทรงจำของเรา และมันก็ทำให้เราทนมีชีวิตอยู่ในจักรวาลอันไร้ที่มาที่ไปและไร้ความรู้สึกเช่นนี้ได้

ในนามของเรื่องเล่า สวนสัตว์กระดาษ ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม และกล่าวถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงลูกถึงคน

เรื่องสั้นทั้งหมดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันด้านเนื้อหาและตัวละคร ทั้งยังกระโดดข้ามไปมาระหว่างยุค พื้นที่ และแนวของเรื่องด้วย หากแต่เชื่อมโยงกันด้วยการต่อสู้ของมนุษย์ ที่ต่างดิ้นรนเอาตัวรอดในแต่ละสถานการณ์

เปิดบทแรกด้วยเรื่องการอ่าน เขียน และการทำหนังสือของมนุษย์ต่างดาวสายพันธุ์อื่น ในเรื่อง อุปนิสัยการทำหนังสือของสิ่งมีชีวิตบางชนิด แม้สั้นกระชับแต่ก็ทรงพลัง ทลายกรอบ ‘การรับรู้’ ของเราต่อวิธีการอ่านเขียนได้อย่างชัดเจน คมกริบ หากจะกล่าวว่านี่เป็นเรื่องเปิดที่มาเพื่อ ‘ละลายพฤติกรรม’ เราก่อนก็คงไม่ผิดนัก

เขาอธิบายถึงวิธีการเขียนของชาวอัลลาเทียนซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ดนตรีไว้ว่า “เขียนโดยใช้จมูกบางๆ แข็งๆ ของตนขูดลงไปบนพื้นผิวที่สลักรอยได้ เช่น แผ่นโลหะเคลือบด้วยขี้ผึ้งบางๆ หรือดินเหนียวที่แข็งตัว… ผู้เขียนจะพูดสิ่งที่ตนคิดไปพร้อมๆ กับเขียน ทำให้จมูกสั่นขึ้นลงและสลักร่องเสียงลงไปบนพื้นผิว

“เมื่อจะอ่านหนังสือที่จารึกไว้ด้วยวิธีนี้ ชาวอัลลาเทียนจะจรดจมูกลงไปในร่องเสียงและลากมันไปตามแนวนั้น งวงอันบอบบางจะสั่นไปตามรูปคลื่นของร่อง และช่องกลวงในกะโหลกของชาวอัลลาเทียนจะขยายเสียงอีกทอดหนึ่ง เสียงของผู้เขียนถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งด้วยวิธีนี้… ชาวอัลลาเทียนเชื่อว่าพวกเขามีระบบการเขียนที่เหนือชั้นกว่าใครทุกคน”

อันที่จริงนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะจินตนาการตามได้ง่ายๆ เพราะเราไม่อาจเชื่อมโยงกับวิธีการที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงเหล่านี้ได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้เราย้อนมองว่า ในจักรวาลอันไกลโพ้นพื้นที่สุดคณานับ ธรรมชาติและอารยธรรมของมนุษย์โลกเป็นเพียงเศษเล็กจ้อยของไรฝุ่น — ใครต่างก็คิดว่าตัวเองเหนือชั้นกว่าใครทั้งนั้น

เมื่อเรากำลังโลดแล่นในโลกของการอ่านเขียน ในห้วงเวลาสั้นแค่กะพริบตา เรื่องสั้นเรื่องแรกก็จบลง คล้ายปฐมบทของเรื่องเล่าที่ไร้เส้นระหว่างความจริงกับจินตนาการ แล้วผู้เขียนก็พาเราไปเจอเรื่องรักโรแมนติกละมุนใจ ในเรื่อง เปลี่ยน-แปร ว่าด้วยวิญญาณของผู้คนที่ต่างเป็นวัตถุ บางคนเป็นน้ำแข็ง และบางคนเป็นบุหรี่  รินะ ตัวละครหลัก หญิงสาวขี้อาย ต้องเก็บตู้เย็นไว้ข้างตัวเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำแข็งจะไม่ละลาย

แม้หัวใจเราจะเป็นเพียงก้อนเนื้อสีแดงเต้นตุบๆ ที่ดูไม่โรแมนติกเอาเสียเลย แต่หัวใจเราก็เย็นเยียบขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล เมื่ออ่านถึงประโยคที่ว่า “วิญญาณเป็นสิ่งที่ซับซ้อน รินะ และฉันก็นึกไปว่าตัวเองเข้าใจดีแล้ว”

เรื่องถัดจากนั้น มีเหตุการณ์ลุ้นระทึก แตะโลกไซไฟที่เราพอจะนึกภาพออกและคุ้นชิน เช่น โลกที่มีเว็บไซต์คอยจับข้อมูลเราตลอด และบอกเราว่าควรจะต้องการอะไร หรือเรื่องที่ว่าด้วยนักล่าปีศาจที่ต้องเปลี่ยนอาชีพเป็นช่างซ่อมรถไฟ ในยุคที่รถไฟไอน้ำบุกโลกมาพร้อมกับชาวอังกฤษ ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านนิยายกำลังภายในผสมผสานกับนิยายประวัติศาสตร์การเมืองได้อย่างเหลือเชื่อ

หนังสือพาเราโลดโผนจนครึ้มอกครึ้มใจ ก่อนจะกระชากเราลงมาสู่ห้วงอารมณ์เศร้าและเจ็บปวดกับชะตาชีวิตคนที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองของจีน ทั้งยังเผยความมหัศจรรย์ของตัวอักษรจีนได้อย่างน่าตื่นตะลึงในเรื่อง นักเวทอักษร และเมื่อเรากำลังดำดิ่งโศกเศร้าได้ที่ หนังสือก็ดึงเราให้ดิ่งลงลึกสุดใจในเรื่อง สวนสัตว์กระดาษ ที่ว่าด้วยกระดาษพับรูปสัตว์ที่มีชีวิตด้วยลมหายใจวิเศษของแม่ ซึ่งเป็นของเล่นในวัยเด็กของลูกครึ่งจีน-อเมริกันคนหนึ่ง เรื่องเล่าความสัมพันธ์ของเขากับแม่ชาวจีนผ่านของเล่นเหล่านั้น

เรื่องนี้เอง ที่ทำฉันหลั่งน้ำตาออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ เขาอธิบายความสำคัญของสายใยในครอบครัวได้เหมือนการบรรจงระบายพู่กัน ก่อนจะค่อยๆ ฉีกภาพวาดนั้นเป็นชิ้นๆ ในตอนท้ายจนหัวใจคนอ่านแหลกสลาย เป็นหนึ่งในเรื่องที่อธิบายเส้นแบ่งระหว่างตะวันออกและตะวันตกได้อย่างแจ่มชัด แต่ในห้วงเวลาเดียวกันก็เล่าเรื่อง ‘เหนือจริง’ ขนานไปกับ ‘โลกจริง’ อันแสนเจ็บปวดได้อย่างนุ่มเนียน

“…มีอยู่วันหนึ่งที่ผมได้ดูสารคดีเรื่องฉลามในทีวีจึงขอให้แม่พับให้บ้าง แม่พับฉลามให้ แต่แล้วมันก็ดิ้นไปมาอยู่บนโต๊ะอย่างไม่มีความสุขสักนิด ผมจึงเปิดน้ำใส่อ่างล้างจานแล้วหย่อนมันลงไป เจ้าฉลามว่ายไปมาอย่างมีความสุข แต่สักพักมันก็ยุ่ยจนใสและจมลงไปที่ก้นอ่าง รอยพับทั้งหลายคลายออก ผมล้วงเข้าไปช่วยมันแต่คว้าได้เพียงกระดาษเปียกๆ แผ่นหนึ่ง”

“แม่พับฉลามตัวใหม่ให้ผม แต่คราวนี้พับจากแผ่นฟอยล์”

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เขียนใส่ลงไปในเรื่อง ส่งผลสะเทือนในหัวใจอย่างรุนแรงเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม กลายเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ตรึงใจ — และแน่ละ ชวนหดหู่จนแทบไม่อยากกลับไปอ่านซ้ำ หากแต่ไม่อาจสั่งให้สมองหยุดคิดถึงเรื่องนี้ซ้ำๆ ได้เลย

หนังสือค่อยๆ พาเรา ‘คูลดาวน์’ ลงมาด้วยเรื่องสืบสวนสอบสวน ในยุคที่ตำรวจมีเครื่องมือปรับฮอร์โมนในสมอง เพื่อความเที่ยงตรงแม่นยำในการทำงาน และลดอคติที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเราใช้ ‘หัวใจ’ มากกว่า ‘เหตุผล’ และถึงจะดูเป็นเรื่องตามล่าโจรผู้ร้ายที่ลุ้นระทึก ผู้เขียนก็ยังไม่วายอธิบายความเป็นมนุษย์ได้อย่างเฉียบขาดว่า

“เธอไม่มีทางหนี ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีใครให้ไว้ใจ นอกจากตัวเธอเอง ตัวตนอันสั่นเทา หวาดกลัว โกรธแค้นนี้ เธอเปล่าเปลือยและเดียวดายอย่างที่เธอรู้ว่าเป็นตลอดมา อย่างที่มนุษย์ทุกคนเป็น”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่ยอมปล่อยให้เราย่ามใจมากนัก ก่อนจะปล่อยหมัดน็อคซัดใส่ในเรื่องสุดท้ายอย่างหนักหน่วง

เรื่องพาย้อนไปในยุคราชวงศ์แมนจูครองอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้คนถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และหลายคนต่างตกเป็นเหยื่อจากการตัดสินคดีอันไม่เป็นธรรม เพราะชาวบ้านไม่รู้หนังสือ ปรากฏชายซอมซ่อผู้หนึ่งที่พอรู้หนังสือ เขาคุยกับพญาวานรในจินตนาการอยู่เสมอ แล้วกลายมาเป็นนักว่าความให้ชาวบ้าน ก่อนจะค่อยๆ ถลำลึกไปเจอกับบันทึกโบราณต้องห้ามที่เล่าช่วงเหตุการณ์สมัยราชวงศ์แมนจูเข้ามายึดครองแผ่นดินซึ่งฆ่าคนไปนับแสน

เมื่อเขียนถึงการเมือง จากนิยายไซไฟก็เปลี่ยนน้ำเสียงเป็นเรื่องการเมืองได้อย่างเสียดแทงตรงจุด

“ชาวเมืองนับแสนผู้สวดภาวนาขอให้ฮ่องเต้แมนจูทรงพระเจริญหมื่นๆ ปีอย่างเต็มใจ คนเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่าในแต่ละวัน ขณะเดินเที่ยวตลาด หัวเราะร่า ขับเพลง และสรรเสริญยุคทองที่ตนได้ถือกำเนิดมานั้น พวกเขากำลังเหยียบย่ำซากกระดูกของผู้วายชนม์ กำลังเหยาะหยันเสียงร้องสุดท้ายของผู้จากไป กำลังปฏิเสธความทรงจำของเหล่าภูตผี”

เรื่องราวดำเนินไปละอย่างละมุนละม่อม จนเมื่ออ่านจบเล่ม ก็อยากจะหยิบเอายาหม่องมาทาหัวใจที่บอบช้ำจนเขียวปั้ด

เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ล้วนตั้งคำถามกับความเป็นส่วนตัว และการให้ความหมายของคำว่า ‘มนุษย์’ แบบใหม่ ผู้เขียนเชื้อเชิญให้เรากลับมาตรวจตราตัวเองอย่างละเอียดอีกครั้งว่าแท้ที่จริงแล้ว เราเป็นใคร กำลังจะไปไหน และเมื่อเนื้อหาพาเราย้อนไปในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าเหล่านั้นก็กระชากคอเสื้อเรามาถามว่า เราเคยเป็นใคร และทำอะไรมาบ้าง

จังหวะที่ดูเหมือนว่าจะแพ้แน่ๆ แล้ว มนุษย์ทั้งหลายต่างกัดฟันลุกขึ้นสู้เพื่อตอกย้ำว่าตัวเองพ่ายแพ้จริงๆ

มนุษย์ล้วนเคยพ่ายแพ้ แต่ดูเหมือนว่าเราพอจะรับมือได้บ้างแล้ว

 


หมายเหตุ : ‘สวนสัตว์กระดาษ’ เป็น 1 ใน 5 เล่มที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากโปรเจ็กต์ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022