fbpx
อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ: อดีต ปัจจุบัน และการจัดการความทรงจำ

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ: อดีต ปัจจุบัน และการจัดการความทรงจำ

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

หากเราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบันที่เกาะเกี่ยวกันอย่างแนบแน่นภายในตัวตนของเราแล้ว มันก็มักจะมีคำถามตามมาว่าเวลาเราระลึกถึงอดีตนั้น เราจดจำมันในฐานะที่เป็นอดีตของตัวเรา หรือเป็นอดีตเพียงเพราะมัน ‘สัมพันธ์’ และ ‘สัมพัทธ์’ กับสำนึกในปัจจุบันของเรา อดีตที่ว่ามีระยะทางและระยะเวลาที่ห่างไกลจากตัวเราในปัจจุบันสักเท่าใด… และสำนึกของระยะห่างที่มีระหว่างอดีตกับปัจจุบันนั้นมันเกิดขึ้นเพราะระยะห่างของเวลา สถานที่ จริงๆ หรือเป็นเพราะสำนึกในปัจจุบันทำให้เราตระหนักถึงระยะห่าง

….หรือเราไม่เคยมีอดีต (ในฐานะที่เป็นระยะห่างระหว่างอดีตอันไกลโพ้นกับปัจจุบัน) แต่เวลาที่เราตระหนักถึงอดีตนั้นเป็นเพราะสำนึกในปัจจุบันกระตุ้นให้เราจดจำเรื่องบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นได้ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนเศษเสี้ยวบางอย่างที่ไม่มีระเบียบและมีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ความรู้สึกของเราอยู่ตลอดเวลา

คำถามซับซ้อนสารพัดเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้อ่าน “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ” ของ กำพล นิรวรรณ แล้วพยายามหาไตร่ตรองหาความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์เรื่องเวลาและสถานที่ของตัวกำพลกับเรื่องสั้นของเขาเล่มนี้

ในการวิจารณ์วรรณกรรม เรามักจะได้ยินแนวคิดที่หล่นใส่กันไปมาเสมอเรื่อง ‘มรณกรรมของผู้ประพันธ์’ เราจะสามารถวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องหนึ่งโดยไม่นำ ‘ผู้เขียน’ หรือ ‘ผู้ประพันธ์’ เข้ามาเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์ได้หรือไม่ ตัวบทวรรณกรรมมีศักยภาพมากพอในการสื่อความหมายอยู่แล้ว ดังนั้นการเอาผู้ประพันธ์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์จะถือว่าเป็นการลดทอนศักยภาพของตัวบทวรรณกรรมหรือไม่

แต่ในบทวิจารณ์ชิ้นนี้ สิ่งที่ผมพยายามทำคือพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวกำพล นิรวรรณ กับเรื่องสั้นที่เขาเขียนในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง เวลาและพื้นที่ที่กำพลเขียนเรื่องสั้นแต่ละชิ้นขึ้นมา

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าตัวเรื่องสั้นในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คือ สถานที่และช่วงเวลาที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องเขียนเสร็จ ประกอบกับตัวเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย นอกจากนี้ ตัวเรื่องที่ถูกเล่าออกมายังมีความสัมพันธ์กับอดีตของตัวผู้ประพันธ์อีกด้วย

กำพล นิรวรรณ เกิดเมื่อปี 2497 เรียนชั้นประถมและมัธยมในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในเขตเทือกเขาบรรทัด หลังจากคำสั่ง 66/2523 เขาก็กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับชีวิตทางด้านวรรณกรรมของกำพล เขาเคยทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการนิตยสารปุถุชนซึ่งเป็นนิตยสารทางด้านวรรณกรรมและสังคมใน “แนวทางประชาชน” นอกจากนี้ยังทำงานด้านการแปลไว้อีกจำนวนมาก กำพลทำงานอยู่ที่ BBC ไทยในฐานะเจ้าหน้าที่แปลและอ่านข่าวที่อังกฤษ ด้วยภรรยาเป็นรองกงสุล เขาจึงมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ตามวาระ ดังนั้นเขาจึงมีทั้งความเป็นนักข่าว นักแปล และนักผจญภัย ตามข้อมูลของสำนักพิมพ์นั้นปัจจุบันกำพลอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับผมแล้ว สิ่งแรกที่น่าประทับใจคือการให้รายละเอียดของวันเดือนปีและสถานที่ที่เขียนเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจบ สำหรับนักวิชาการวรรณกรรม, นักเรียนวรรณกรรม ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการศึกษามาก เพราะมันช่วยทำให้เห็นว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นเขียนขึ้นในช่วงเวลาใด นำไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องสั้นแต่ละเรื่องกับสภาพสังคมที่มันถูกสร้างขึ้นมาอีกด้วย

จากรายละเอียดที่ให้ไว้ในท้ายเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง เราจะเห็นได้ว่าเรื่องสั้นหลายเรื่องกระจุกตัวอยู่ในช่วงเวลา 2559-2562 (เข้าใจว่า) เป็นเรื่องที่เขียนเก็บไว้แต่ไม่ได้ไปรวมพิมพ์หรือรวมเล่มที่ใด เว้นแต่บางเรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่เคยชนะการประกวดและเคยตีพิมพ์ในที่อื่นๆ เช่น เรื่องคนธรรพ์แห่งภูบรรทัด ได้รางวัล กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 แต่มีการปรับปรุงใหม่และตีพิมพ์อีกครั้งในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้, คูการ์เจ้าภูผา ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร BookMarx Vol.2 ปี 2561 และ ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ความกดอากาศต่ำ” ปี 2559 แต่มีการปรับปรุงใหม่และตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องสั้นที่เหลือนั้นเป็นการตีพิมพ์ครั้งแรกทั้งสิ้น

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาและถือได้ว่าเป็นความสนใจที่ทำให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ก็คือสถานที่ที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องถูกเขียนขึ้น ใน “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ” นั้นประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่อง และ 8 ใน 12 เรื่องถูกเขียนขึ้นในต่างประเทศ นั่นคือในนิวยอร์ก ลอนดอน คัมพาลา (เมืองหลวงของยูกันดา)

ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เรื่องสั้นถูกเขียนโดยนักเขียนไทยที่ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทย และดูเหมือนว่ามันไม่ใช่ปัญหา (และไม่ควรจะเป็นปัญหา) ด้วยว่านักเขียนจะเขียนเรื่องของเขาที่ไหนในโลกใบนี้…

เรื่องราวที่ถูกเล่าในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเกิดขึ้นทั้งในไทยและไม่ใช่ประเทศไทย ส่วนหนึ่งของความทรงจำของกำพลถูกดึงมาใช้ในการเล่าเรื่องทั้งหมด แต่ห้วงเวลาที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นสัมพันธ์และสัมพัทธ์กับเหตุการณ์ทางสังคมที่เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง ดังนั้น มันจึงมีความซับซ้อนของเวลา พื้นที่ ทั้งในตัวเรื่องที่กำลังเล่าและกระบวนการสร้างเรื่องเล่าแต่ละเรื่องขึ้นมา

ผมไม่ได้จะมาอธิบายว่า กำพล นิรวรรณมีขั้นตอนและกระบวนการในการเขียนเรื่องสั้นของเขาอย่างไร เพราะผมไม่อาจรู้ได้และไม่เคยไปสัมภาษณ์หรือพูดคุยกับกำพลเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ผมเห็นกระบวนการและความซับซ้อนของมิติเวลา พื้นที่ ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างตัวเรื่องที่กำลังเล่ากับกระบวนการทำงานของนักเขียน ดังนั้นมันไม่ใช่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในการทำงานของกำพล แต่เป็นการพยายามจะเห็นว่ามันทำงานสอดประสานกันอย่างไร

ด้วยความที่กำพลนั้นเคยเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ช่วงหลัง 6 ตุลา 19 ในเขตเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสตูล ดูเหมือนว่าประสบการณ์ในการเข้าป่าครั้งนั้นของกำพลจะเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในใจของกำพลอยู่ไม่น้อย เพราะเรื่องสั้นเกินครึ่งในเล่มนี้ กำพลมักจะนำเหตุการณ์และประสบการณ์ในการเข้าป่าไปกับ พคท. มาเป็นส่วนประกอบของเรื่องสั้นอยู่มาก

ความทรงจำของกำพลเรื่องการเข้าร่วมกับ พคท. ในป่านั้นยังส่งอิทธิพลต่อการเข้าใจโลกในปัจจุบันอีกด้วย เพราะเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางสังคมในแต่ละห้วงเวลาที่เรื่องสั้นถูกเขียนขึ้นมา เช่น ในเรื่อง “ถ้ำ” ที่เขียนขึ้นเมื่อ ธันวาคม 2561 เป็นเรื่องของ “ครูพัน” พานักเรียนซึ่งเป็นนักบาสเกตบอลหญิงเข้าไปเที่ยวในถ้ำแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามมาก แต่แล้วครูพันก็ไม่ได้ออกมาจากถ้ำ แม้จะเคยมีคนวิจารณ์เรื่อง “ถ้ำ” ในประเด็นทางเพศ โดยเสนอว่า “ครูพัน” นั้นหมกมุ่นกับเรื่องเพศจนไม่สามารถหาทางออกมาจากถ้ำ ซึ่งอุปมาถึงอวัยวะเพศหญิง หรือแม้กระทั่งหาทางออกให้แก่ชีวิต จนสูญเสียจิตวิญญาณ ต้องอยู่ในถ้ำและหลงอยู่กับความเป็นชายของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ผมกลับคิดว่านอกจากเรื่องเพศที่น่ารับฟังแล้ว ยังมีเรื่องความทรงจำของกำพลที่เกี่ยวกับ ‘ทหารป่า’ อันหมายถึงกลุ่ม พคท. อีกด้วย…

ในเรื่องสั้น “ถ้ำ” นั้นตามห้วงเวลาในเรื่องไม่น่าจะอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะมีการเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นนักเรียนกับทหารป่า และแนวคิดในการวิพากษ์วิจารณ์ ‘ศักดินา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงที่ พคท. มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ดังเราจะเห็นได้จากบทสนทนาที่ว่า  “ศักดินา” …”ใช่ มันเกิดมาเพื่อดูดเลือดอย่างเดียว” (หน้า 51)

แม้กำพลจะเอาเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่เป็นประเด็นในสังคมไทยเมื่อปี 2561 มาสร้างสรรค์ใหม่ แต่สิ่งที่กำพลนำมาใช้ด้วยคือ ‘ความทรงจำ’ ของกำพลในตอนที่ร่วมกับ พคท. และงานเรื่องสั้นของกำพลมีลักษณะเช่นนี้อยู่มากใน “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ”

สำหรับผม บางทีครูพันที่ไม่ยอมออกจากถ้ำไม่ใช่เพราะเขาหมกมุ่นอยู่กับกามารมณ์ แต่อาจเป็นเพราะกำพลในฐานะผู้สร้างเรื่องสั้นเรื่องนี้ขึ้นมายังหาทางออกจากป่าไม่ได้ต่างหาก…

ในภาคแรกของหนังสือ คือ “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” มีเรื่องสั้นทั้งหมด 5 เรื่องและทั้งหมดล้วนเป็นการดึงเอาความทรงจำของกำพลที่มีต่ออดีตของตนกับ พคท. มาเขียนใหม่ นอกจากเรื่องถ้ำที่ได้พูดถึงไปแล้ว อีกสี่เรื่องที่เหลือนั้นก็แสดงให้เห็นความทรงจำของกำพลที่มีต่อ พคท. ในลักษณะที่น่าสนใจ คือ มีทั้งน้ำเสียงของการเสียดสี น้ำเสียงของความพยายามจะเล่าเรื่องให้สนุก และน้ำเสียงของความเข้าอกเข้าใจว่าไปอยู่ในป่ากันทำไม

ในเรื่อง “วีรชน” ที่มีน้ำเสียงของการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการปฏิวัติของพคท. เช่น เรื่องระเบียบวินัยที่ “ข้าพเจ้า” ไม่ค่อยชอบนัก และความเหลื่อมล้ำภายในขบวนการเอง เช่น การมีบ้านพักเดี่ยวของ “สหายนำกับสหายที่แต่งงานแล้ว” (หน้า 68) ที่เหลือต้องไปนอนในโรงนอนที่แบ่งแยกชายหญิง “ข้าพเจ้า” ไม่อยู่ในระเบียบวินัย และมักทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดของพรรค ทำตัวเป็นที่หน่ายระอาของ “สหาย” ในพรรค ล้อเลียนประธานเหมาซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้ามขณะนั้น สุดท้าย ข้าพเจ้าก็ถูกยิงจนเสียชีวิต เมื่อต้องทำพิธีศพ “ข้าพเจ้า” กลับได้รับการยกย่องในฐานะนักปฏิวัติตัวอย่างที่ยอมพลีชีพตัวเองและกลายเป็นวีรชน ดังนั้นมันจึงเป็นการล้อเลียนและเสียดสีความหน้าไหว้หลังหลอกของขบวนการปฏิวัติของพคท. นั่นเอง

หรือในเรื่อง “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ” ที่ดูจงใจนำกรณีการล่าเสือดำที่เป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทยมาเล่าใหม่ แต่เปลี่ยนให้เสือดำกลายเป็นผู้ล่าแทน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ กำพลดึงเหตุการณ์ตอน 14 ตุลา 16 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอีกด้วย โดยเฉพาะการเอาจ่าง แซ่ตั้ง และนิทรรศการที่จัดแสดงงานบนทางเท้ารอบสนามหลวงมาเป็นส่วนสำคัญของตัวเรื่อง ดังนั้น ผมคิดว่า นอกจากความทรงจำเกี่ยวกับ พคท. แล้ว ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาเข้ามาใช้ประโยชน์ในเรื่องสั้นด้วย

เช่นเดียวกับเรื่อง “บางโก้งโค้ง” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ยาวที่สุด ตัวโครงเรื่องไม่มีอะไรมากไปกว่าการนำเรื่องการเข้าไปล่าสัตว์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อ 14 ตุลา  (และยังสอดคล้องกับกรณีล่าเสือดำ ‘โดยบังเอิญ’ อีกด้วย เพราะการจับกุมเปรมชัยนั้นเกิดขึ้นในปี 61 แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้เขียนขึ้นในปี 60 และตีพิมพ์ปี 62) ประเด็นเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ป่า ล่าสัตว์สงวนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าระบบข้าราชการและวัฒนธรรมแบบข้าราชการนั้นมีส่วนทำให้เกิดการกระทำผิดดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งโดยไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ดังนั้นในเรื่องนี้จึงให้ธรรมชาติจัดการ

ความสัมพันธ์ระหว่าง ความทรงจำ พื้นที่ และเวลา เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีความน่าสนใจกว่าตัวเรื่องที่ถูกเล่า เพราะการนำเอาความทรงจำกลับมาเล่าใหม่ในรูปแบบของศิลปะนั้นต้องอาศัยตัวเหนี่ยวนำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน…เท่านั้น เนื่องจากอดีตไม่สามารถดำรงได้ด้วยตัวมันเอง อดีตถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะที่เป็นความทรงจำมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับ ‘ปัจจุบัน’

ดังนั้น การนำอดีตมาเล่าใหม่จึงเป็นทั้งการจัดการความทรงจำของตนเองให้มีระเบียบที่ชัดเจน มีโครงเรื่องที่แน่นอน และยังเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบันอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ผมได้บอกไว้ในตอนต้นว่า เรื่องสั้น 8 ใน 12 เรื่องเขียนในต่างประเทศ ในฐานะที่กำพลใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าตัวกำพลมีความผูกพันและสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างแนบแน่น ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในโลก การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในสังคมไทยย่อมเป็นตัวเหนี่ยวนำให้กำพล recall ความทรงจำของตัวเองออกมาได้ สำหรับผมมันคือการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวกำพลที่อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินแม่ แต่ไม่สามารถตัดตัวเองออกไปจากความสัมพันธ์ที่มีต่อแผ่นดินแม่ไปได้

ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องจากมโนสำนึกตามการปลูกฝังในสังคมไทย หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะความทรงจำที่กำพล recall กลับมาในเรื่องสั้นของเขานั้นเป็นอดีตที่ไม่สามารถปลดเปลื้องได้ หรือเขาไม่อาจเป็นอิสระจากอดีตได้ตราบใดที่ตัวเหนี่ยวนำในปัจจุบันยังคงทำงานกระตุ้นให้เขากลับไปหาอดีตอยู่เสมอไม่ว่าเขาจะอยู่ที่มุมใดของโลกก็ตาม

การข้ามผ่านเวลาและสถานที่ของเรื่องสั้นที่ปรากฏในงานของกำพล จึงเป็นความน่าสนใจในสองแง่มุมดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าให้อธิบายว่างานของกำพลมีลักษณะที่ข้ามดินแดน ข้ามชาติ ข้ามภาษา หรือมีความเป็นสากลของตัวเรื่องเล่าหรือไม่ ผมคิดว่ายังไม่เห็นในประเด็นเหล่านั้น ท้ายที่สุด ผมจึงอยากจะเข้าใจงานของกำพลว่ามันคือเรื่องสั้นที่ชักเย่อกันอยู่ระหว่างมโนสำนึกของแผ่นดินแม่กับอดีตที่ไม่มีวันจะข้ามพ้นมันมาได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save