การต่อสู้ของสหภาพแรงงาน พลังต่อรองกับอำนาจรัฐสหราชอาณาจักร และระบบทุนที่ทรงอิทธิพล

เมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรประกาศนัดหยุดงานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการก่อตั้งมา 107 ปี สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตคนไข้ เนื่องจากเป็นสหภาพแรงงานของพยาบาลและผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ แต่น่าแปลกที่การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานแห่งนี้ กลับได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในสหราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ 

นับตั้งแต่ราคาน้ำมันและแก๊สในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติช่วงต้นปี 2022 เนื่องจากรัสเซียในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่โก่งราคาขายตามยุทธศาสตร์การทำสงครามรุกรานยูเครน ทำให้เกิดภาวะวิกฤติค่าครองชีพแพงมากขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่รายได้ไม่ขยับ ทำให้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย สหภาพแรงงานหลายสาขาอาชีพในประเทศอังกฤษเริ่มเคลื่อนไหวขนานใหญ่ เรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงรองรับค่าครองชีพที่แพงมากขึ้น 

ความจริงแล้วบรรดาสหภาพแรงงานต่างๆ ได้เคลื่อนไหวต่อรองกับนายจ้างภาคเอกชนและนายจ้างภาครัฐอย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วงที่โควิดระบาด ทำให้มีการนัดหยุดงานกันบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะคนงานรถไฟ แต่คราวนี้ถึงขั้นนัดหยุดงานกันขนานใหญ่ครอบคลุมกลุ่มงานหลายสาขาอาชีพ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามสนามบินก็ร่วมด้วย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองครั้งนี้ผสมโรงทั้งผลกระทบของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมากับการปะทุของสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ปัญหาค่าครองชีพกลายเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากเป็นทวีคูณในรอบสามสิบปี

สำหรับการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปมากที่สุดจนทำให้รัฐบาลหนักใจในขณะนี้ คือการประกาศนัดหยุดงานเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วของสหภาพแรงงานพยาบาล เพราะเป็นครั้งแรกในรอบร้อยกว่าปี ตั้งแต่มีการก่อตั้ง The Royal College of Nursing (RCN) ซึ่งทำหน้าที่เป็นปากเสียงของพยาบาลทั่วประเทศเป็นต้นมา ได้ลงมติให้มีการนัดหยุดงานเพื่อต่อรองค่าแรงกับรัฐบาล 

RCN จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1916 เป็นสมาคมวิชาชีพพยาบาล แรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 34 คน ทำหน้าที่เสมือนสหภาพแรงงาน ปัจจุบันเป็นสหภาพแรงงานพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกทั่วสหราชอาณาจักรรวมกันทั้งสิ้น 465,000 คน

แม้ว่าการนัดหยุดงานของพยาบาลและผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์คราวนี้จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนในโรงพยาบาลต่างๆ แต่คนไข้และประชาชนทั่วไปกลับเห็นอกเห็นใจ เพราะตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่าพวกเขาได้ทุ่มเทดูแลคนไข้ในช่วงภาวะวิกฤติโควิดระบาด พวกเขาทำงานอย่างหนักไม่มีเวลาพักผ่อนจนหลายคนเสียชีวิตไปเพราะทำงานตามหน้าที่ 

เราเคยเห็นภาพข่าวประชาชนออกมายืนปรบมือที่หน้าบ้านแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลานั้น (รวมทั้งนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน) ซึ่งมีนางพยาบาลบางคนให้สัมภาษณ์สื่อว่าขอบคุณที่มาปรบมือให้แต่ขอเป็นการปรับค่าแรงจะดีกว่า แต่ปรากฏว่าพอถึงเวลาต้องปรับค่าแรงให้สูงขึ้นมากพอเพื่อรับมือกับค่าครองชีพ กลับถูกรัฐบาลปฏิเสธ 

เมื่อค่าจ้างเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาสินค้า ก็เหมือนถูกลดรายได้ให้น้อยลง RCN คงจะเหลืออด จึงสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการประกาศนัดหยุดงานลองเชิงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีการเจรจากับรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นระยะๆ แต่รัฐบาลไม่ยอมขยับเรื่องค่าแรง แม้จะยอมผ่อนปรนปรับสวัสดิการและเงื่อนไขการจ้างงานบางประการให้ก็ตาม ซึ่งถือว่าไม่บรรลุตามข้อเรียกร้อง จึงประกาศว่าจะมีนัดหยุดงานอีกหลายระลอกในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลกลับมาเจรจาเรื่องค่าแรงอีกครั้ง 

ในขณะเดียวกัน บรรดาสหภาพแรงงานอื่นๆ เช่น พนักงานขับรถพยาบาล เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ไปรษณีย์ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการพลเรือนในหลายหน่วยงาน คนขับรถไฟ รถโดยสาร ฯลฯ ต่างก็จัดลงประชามติภายในสหภาพแรงงานเพื่อขอมตินัดหยุดงานต่อรองค่าแรงกับนายจ้าง มีทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ล่าสุดสหภาพแรงงานแพทย์ Junior Doctors เพิ่งลงมติที่จะนัดหยุดงานเป็นเวลาสามวัน ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมเป็นต้นไป 

สำหรับการนัดหยุดงานของผู้ปฏิบัติงานในวงการแพทย์นั้นมีข้อตกลงกันเป็นการภายในว่า หากมีเหตุฉุกเฉินทางสุขภาพที่อาจะนำไปสู่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต พนักงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจะยอมพักการหยุดงานชั่วคราวเพื่อดูแลคนไข้ให้อยู่ในภาวะปลอดภัยในระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงจะกลับไปหยุดงานต่อไป 

กำหนดการนัดหยุดงานของบรรดาสหภาพแรงงานต่างๆ นับสิบองค์กร เป็นพาดหัวข่าวสื่อมวลชนอยู่แทบทุกวันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ มีบางแห่งที่ตกลงกันได้สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะมีประกาศกำหนดวันนัดหยุดงานอีกเป็นระลอกๆ ทำให้ประชาชนในสหราชอาณาจักรต้องปรับวิถีชีวิต อย่างเช่น หลีกเลี่ยงการเดินทางในวันที่สหภาพแรงงานขนส่งมวลชนนัดหยุดงาน เป็นต้น 

สื่อมวลชนบางแห่งจัดทำเป็นปฏิทิน วางกำหนดการนัดหยุดงานในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละสหภาพแรงงาน เพื่อให้ประชาชนปรับตัววิถีการดำเนินชีวิต ระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดเหตุต้องเรียกรถพยาบาล หรือต้องไปโรงพยาบาล ในวันที่เขานัดหยุดงาน กำหนดตารางเวลาออกจากบ้านถ้าต้องใช้บริการขนส่งมวลชน เพราะมีการนัดหยุดงานต่อเนื่องเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นการประลองกำลังกับผู้บริหาร สลับกับการเจรจาต่อรอง มาหลายเดือนแล้ว 

Calendar showing strike dates for Border Force officers, ambulance workers and teachers between Feb 20 - 12 March
ปฏิทินกำหนดวันหยุดงานเพื่อต่อรองค่าแรง รวบรวมข้อมูลโดยสำนักข่าว BBC
Calendar showing when rail strikes are happening
ปฏิทินกำหนดวันหยุดงานเพื่อต่อรองค่าแรง รวบรวมข้อมูลโดยสำนักข่าว BBC

ประเด็นที่มีการต่อรองส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าจ้างแรงงาน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นเลขสองหลักในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่แล้วเป็นต้นมา เพราะราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้น ผลักดันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่การปรับค่าแรงในหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นได้แค่เพียงครึ่งหนึ่งของดัชนีราคาสินค้า ทำให้คนงานจำนวนมากชักหน้าไม่ถึงหลัง 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปชี้นำการต่อรองค่าแรงในภาคเอกชนได้ แต่ในภาครัฐที่เรียกว่า public sector pay ซึ่งครอบคลุมคนงานหลายล้านคนนั้น รัฐบาลพยายามกดค่าแรงให้ต่ำ โดยอ้างว่าการเพิ่มค่าแรงมากๆ ยิ่งจะไปทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนคุมไม่อยู่ 

แม้ว่าข่าวคราวเกี่ยวกับการนัดหยุดงานและปัญหาแรงในหลายภาคอุตสาหกรรมครอบคลุมคนงานหลายแสนคน ทำให้ดูเหมือนเป็นความเสื่อมถอยของบรรยากาศแรงงานสัมพันธ์ที่เลวร้ายของประเทศนี้ แต่ก็มีข่าวดีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การทดลองปรับลดเวลาทำงานของพนักงานบริษัทเอกชนจำนวน 61 แห่งทั่วประเทศ จากที่เคยทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ให้ลดลงเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน (ทำงานสัปดาห์และ 32 ชั่วโมง) ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และปรากฏว่าในจำนวน 61 บริษัทที่เข้าร่วมมี 18 แห่งตกลงให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเป็นการถาวร ส่วนที่เหลือขอทดลองต่ออีกระยะหนึ่งก่อนตัดสินใจ  

แกนนำที่รณรงค์ให้มีการทดลองลดเวลาทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง ออกมาประกาศชัยชนะ เพราะในหลายๆ บริษัทที่ทดลองพบว่าสภาพชีวิตของคนงานดีขึ้นเป็นอย่างมาก ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานต่อหัวพนักงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ย คนงานสามารถรักษา work-life balance มีความสุขกับชีวิตครอบครัว คนงานก็ได้ประโยชน์ เจ้าของธุรกิจก็ได้ประโยชน์ 

Britain’s Royal College of Nursing (RCN) union head Pat Cullen (C) joins striking nurses at a picket line outside University College Hospital in London on January 19, 2023. – Nurses across England are staging two days of strikes over pay, threatening fresh disruption for patients in the creaking state-run health service, as new figures showed inflation still surging. The 48-hour walkout comes after nurses held their union’s first stoppage in over a century last month, joining a wave of industrial action by UK public sector workers hit by a cost-of-living crisis driven by spiralling prices. (Photo by Daniel LEAL / AFP)

กระบวนการแรงงานของสหราชอาณาจักรมีประวัติการต่อสู้ ต่อรอง กับอำนาจรัฐและอำนาจทุนมายาวนาน มีนักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ในระยะแรกๆ ของขบวนการแรงงานได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์สังคมนิยม โดยเฉพาะปัญญาชนในกลุ่ม Fabian Society 

ต่อมาผู้นำแรงงานหลายคนกระโดดเข้าสู่วงการเมืองแรกๆ ในสังกัดพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) จนกระทั่งต่อมามีการก่อตั้งพรรคแรงงาน (Labour Party)  ซึ่งในยุคแรกๆ เป็นปากเป็นเสียงให้กับขบวนการแรงงาน เวลาต่อมาปรับตัวเป็นพรรคระดับชาติเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไปที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม   

การต่อสู้เรียกร้องของฝ่ายแรงงานบางครั้งนำไปสู่การประจันหน้ากับนายทุนและอำนาจรัฐถึงกับเลือดตกยางออก ในระยะหลังนี้เกิดขึ้นในยุคที่มีมาร์กาแรต แทชเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี 

อังกฤษเป็นประเทศแรกที่มีการปฏิวัติอุสาหกรรมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 แล้วขยายออกไปทั่วโลก แต่แรงงานที่เข้าสู่ระบบอุตสหกรรมส่วนใหญ่ในยุคนั้นไม่มีระบบใดๆ ปกป้องคุ้มครองจึงถูกระบบทุนขูดรีดเอาเปรียบ จนนำไปสู่การรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของแรงงาน ซึ่งก็ปรากฏว่าถูกนายทุนยืมมืออำนาจรัฐปราบปรามอย่างทารุณ เพราะไม่มีกฎหมายรับรอง แต่ยิ่งปราบปรามก็ยิ่งมีการรวมตัวกันประท้วงต่อรองมากขึ้น จนกระทั่งในปี 1824 มีการ เคลื่อนไหวในขบวนการแรงงานจนประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายยอมรับการรวมตัวกันของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานได้สำเร็จ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save