fbpx

ล่องหนไปจากหน้ากระดาษ: เสียงชาวบ้านกับอนุสาวรีย์ที่ไม่ได้สร้าง

“นายไผท วิจารณ์ปรีชา นายอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย แถลงแก่ผู้สื่อข่าวที่กระทรวงมหาดไทย เช้าวันนี้ (๑๓ มิ.ย. ๒๐) ว่า

จากการที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตีราษฎรเสียงชาวบ้านที่เขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เมื่อต้นปีนี้และเป็นผลให้ราษฎรเสียชีวิต ๒๗ คนนั้น ราษฎรในท้องที่อำเภอเทิงและใกล้เคียงได้พร้อมใจกันที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้เสียชีวิต และเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงความโหดร้ายทารุณของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเป็นจุดรวมในการต่อต้านภัยจากคอมมิวนิสต์ ราษฎรเหล่านั้นจึงได้สละเงินกันคนละเล็กละน้อย รวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท โดยจะสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวขึ้นที่บ้านไคร้ ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากการสร้างอนุสาวรีย์นี้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทางอำเภอเทิงจึงต้องรณรงค์เพื่อหาเงินทุนมาสร้างอนุสาวรีย์นี้ ซึ่งคาดว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและศูนย์สงครามพิเศษก็คงจะร่วมด้วย เพราะโครงการเสียงชาวบ้านนี้เป็นโครงการของศูนย์สงครามพิเศษอยู่แล้ว และจากการที่นายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมโครงการอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในฤดูแล้งเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มอบเงินไว้เป็นจำนวนเงิน ๒ หมื่นบาท สำหรับรูปแบบของอนุสาวรีย์นั้น นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้ชั้นล่างเป็นสถานที่เก็บอาวุธและหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ส่วนชั้นบนให้ทำเป็นรูปอนุสาวรีย์ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบของอนุสาวรีย์นี้ สำหรับราษฎรนั้นถึงแม้ไม่ค่อยมีเงิน แต่ก็พร้อมใจกันที่จะสละแรงงานก่อสร้างอนุสาวรีย์นี้ ขอเพียงแต่ให้ทางราชการจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาให้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ราษฎรก็ได้สร้างศาลเพียงตาไว้ในบริเวณนั้นแล้ว”

(4) ศธ 2.4.14.3.1/1 รายงานการเดินทางไปจังหวัดเชียงราย (ขีดเส้นใต้ตามต้นฉบับ)

ข้อความข้างต้นมาจากเอกสารชุดบันทึกรายงานเกี่ยวกับการวางแผนสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในการปะทะกันระหว่าง “เสียงชาวบ้าน” กับพวกคอมมิวนิสต์ที่ ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2520 เอกสารชุดดังกล่าวให้ข้อมูลต่อไปว่า หลังจากกรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่สองราย คือนายสาโรช จารักษ์ หัวหน้ากองงานประติมากรรม กองหัตถศิลป์ และนางสายไหม จบกลศึก หัวหน้างานประวัติศาสตร์ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ไปสำรวจพื้นที่เพื่อศึกษาเพิ่มเติมแล้ว กรมศิลปากรลงความเห็นว่า เหตุการณ์นี้ “มิได้มีลักษณะเป็นการกระทำที่แสดงวีรกรรม เสียสละอุทิศชีวิตเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หากแต่การสูญเสียชีวิตนั้น เป็นเพียงเหยื่อของฝ่ายโจมตีที่ได้เปรียบกว่าเท่านั้น ผู้ที่เป็นเหยื่อซึ่งสูญเสียชีวิตเป็นเพียงผู้ประสบเคราะห์กรรม ไม่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรชน ซึ่งจะต้องสร้างอนุสาวรีย์สดุดีให้” ดังนั้นหากทาง จ.เชียงรายมีความประสงค์จะสร้างสิ่งก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นตรงบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็น่าจะสร้างสิ่งอื่นที่ ‘ไม่ใช่อนุสาวรีย์’ ขึ้นแทนได้ เช่น ศาล หรืออุทยาน ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณากันต่อไปว่าสมควรสร้างสิ่งใด

การทำงานวิจัยของผู้เขียนเรื่องอนุสาวรีย์ของฝ่ายรัฐที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามเย็นประกอบด้วยสองส่วนหลักคือการออกภาคสนามตามที่เพิ่งเขียนเล่าไป กับการสืบค้นเชิงเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันตรงที่ว่าผู้เขียนวางแผนออกภาคสนามไปตามข้อมูลในเอกสารที่ค้นเจอนั่นเอง และหนึ่งในสถานที่ที่ตั้งใจจะไปดูคือสิ่งก่อสร้างอันเป็นที่รำลึกถึง “เสียงชาวบ้าน” ที่ ต.ตับเต่านี้

ต่อให้ไม่ได้สร้างเป็นอนุสาวรีย์ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่มันต้องมีสิ่งก่อสร้างสักอย่างเป็นแน่ อาจจะเป็นศาล หรือสวน หรือพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เพราะเอกสารชุดดังกล่าวมีการอภิปรายอะไรต่างๆ อยู่หลายแผ่นทีเดียว

ตามประสานักวิจัยที่ดี ทางเราควรจะต้องเช็กดูก่อนว่าสถานที่แห่งนี้คืออะไร แต่เนื่องจากที่พึ่งของทุกคนอย่างกูเกิลไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ผู้เขียนจึงโทรไปสอบถามที่ อบต.ตับเต่า เจ้าหน้าที่ที่รับสายตอบว่าไม่เคยได้ยินชื่ออนุสาวรีย์เสียงชาวบ้าน (ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะเรียกว่าอะไรเพราะไม่รู้ว่าตกลงเขาสร้างอะไรกันแน่ ก็เลยเรียกว่า ‘อนุสาวรีย์’) แต่ว่าที่ตำบลตับเต่านั้นมีอนุสาวรีย์เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ชื่อ “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%”

ต้องใช่อันเดียวกันแน่ คนในพื้นที่อาจจะมีชื่อที่เรียกกันอีกแบบหนึ่ง…

ขึ้นรถเมล์จาก อ.เมืองเชียงรายไป อ.เทิงทันทีแม้จะไม่รู้ตำแหน่งแน่ชัดว่าเจ้าสิ่งนี้อยู่ตรงไหนของ ต.ตับเต่า คิดว่าเดี๋ยวค่อยไปถามเอาข้างหน้า และมันต้องมีรถโดยสารสไตล์รถสองแถวในพื้นที่บ้างสิ (ผู้เขียนตระหนักดีว่าการหาขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดนั้นยากกว่าในกรุงเทพ (ที่ก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว) แต่แถวบ้านผู้เขียน (ไม่บอกหรอกว่าจังหวัดอะไร) ยังมีรถสองแถวกับรถเมล์เล็กเลย) กระเป๋ารถเมล์บอกว่าถ้าจะไป ต.ตับเต่า ให้ลงตรงทางแยกที่จะขึ้นไปภูชี้ฟ้า ปรากฏว่าพอไปถึงทางแยกที่ว่านั้น เดินลงมาแล้วก็เป็นพื้นที่โล่งๆ เลยค่ะ ไม่มีมนุษย์ให้เห็นเลย เป็นบรรยากาศแบบที่ฉากในการ์ตูนญี่ปุ่นจะมีเสียง ‘หริ่งหริ่ง’

อย่างไรก็ดี ลิบๆ นั้นมีอาคารหน้าตาเป็นสถานที่ราชการอยู่หลังหนึ่ง (หรือมากกว่าหนึ่งหลังนะ ชักจะลืม) ข้างในมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่สองสามคน ผู้เขียนเดินเข้าไปแล้วเล่าว่าตัวเองเป็นนักวิจัยมาตามหาอนุสาวรีย์เสียงชาวบ้านที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ในปี 2520 ทุกคนทำหน้างง บอกว่าไม่รู้จักอนุสาวรีย์ชื่อนี้ มีแต่ “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%”

คุณทหารคนหนึ่งบอกว่าจำเหตุการณ์ในปี 2520 ได้ แต่ตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่มาก จำได้ด้วยว่ามีการสร้างศาลเพียงตาขึ้นเพราะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ แต่สุดท้ายไม่ได้มีการสร้างอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวเขาจะขับรถพาไปดู “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%” ก็แล้วกัน ไปทางเดียวกันกับจุดที่เกิดเหตุปะทะระหว่างพวกเสียงชาวบ้านกับพวกคอมมิวนิสต์นี่แหละ และผู้เขียนไม่ต้องรอหารถสองแถวให้เมื่อยหรอก เพราะคนแถวนั้นเขาขับรถกระบะกับมอเตอร์ไซค์กันหมด

สรุปว่ารอบนี้เป็นการไปตามหาอนุสาวรีย์ที่ไม่ได้สร้าง แต่ได้เจออย่างอื่นแทน “อนุสาวรีย์ u9vj&*&*%” ที่ว่านั้นคือ “ศาลารำลึกวีรกรรม ดอยยาว ดอยผาหม่น” เพิ่งสร้างเมื่อปี 2549 เป็นอาคารมีหลังคาคลุมตั้งอยู่ริมทาง บริเวณรอบๆ มีศาลขนาดเล็กอีกสามสี่หลัง แผ่นป้ายคำอธิบายในศาลาระบุว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงวีรกรรมของกองร้อยทหารราบที่ 473 ซึ่ง ร.ท.ทายาท คล่องตรวจโรค ผู้บังคับกองร้อย ร.ท.ปิยวิพากษ์ เปี่ยมญาติ รองผู้บังคับกองร้อย นายประณัติ พุทธปาฏิโมกข์ นายช่างกรมทางหลวง และนายคำหล้า ปัญญาเถิง เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เสียชีวิตจากการปะทะกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ระหว่างออกสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการสร้างเส้นทางสาย บ.ปี้-บ.ปางค่า-บ.ลุง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2522   



แต่จะว่าเป็นการไปผิดที่ก็ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะเหตุการณ์ปะทะเมื่อปี 2520 ได้ถูกผนวกรวมไว้ในแผ่นป้ายในศาลารำลึกวีรกรรมแห่งนี้ด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเขต อ.เทิง เพราะว่าการสร้างเส้นทางสาย บ.ปี้-บ.ปางค่า-บ.ลุงนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั่นเอง มีจุดประสงค์เพื่อให้ “พี่น้องชาวไทยภูเขาบางส่วนที่ถูกหลอกลวงจากแกนนำของผู้ก่อการร้ายบางส่วน” ได้เข้าใจถึง “ความปรารถนาดีของรัฐ” การโจมตีต่อต้านการสร้างเส้นทางเกิดจากการที่พวกคอมมิวนิสต์เกรงว่า “ถ้าหากพื้นที่ได้รับการพัฒนา ราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากทางการ ก็จะไม่ให้การสนับสนุนในการก่อการร้ายอีกต่อไป”  

ด้วยเหตุนี้ การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐระหว่างการออกสำรวจเพื่อวางแผนสร้างถนนสายดังกล่าวจึงถูกนับว่าเป็นการเสียชีวิตของ ‘วีรชน’ ตอกย้ำด้วยบทพระราชนิพนธ์กลอนที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.ทายาท และ ร.ท.ปิยวิพากษ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2520

                     เสียงปืนยัง กึกก้อง ทั้งสองหู                คิดถึงผู้ กล้าหาญ ชาญสมร

                    เสียสละ ต่อสู้ ผู้ราญรอน                     จนม้วยมรณ์ ถมร่าง หว่างพื้นดิน

                    นาม ทายาท นามนี้วีรบุรุษ                  ปิยะวิพากษ์ สู้สุด จนด่าวดิ้น

                    สิบเจ็ด มีนาที่ พลีชีวิน                        เพื่อป้องถิ่น ความเสรี ธานีไทย

                    นำกำลัง ลาดตระเวณ คุ้มเส้นทาง          ก่อการร้าย ขัดขวาง สร้างไม่ได้

                    เหล่าศัตรู มุ่งร้าย หมายเอาชัย              ปะทะใน ระยะ กระชั้นกาย

                    ระดมยิง ปืนเล็ก และอาร์พีจี                ข้าศึกมี จำนวนดู อยู่มากหลาย

                    ทายาท นั้นน่านิยม สมเป็นนาย            สั่งทุกคน อย่าหนีหาย จงสู้มัน

                    ทหารตรึง รับไว้ ไม่มีถอย                    กำลังน้อย สู้ได้ ไม่เคยยั่น

                    ให้ส่วนมาก อยู่รอด ปลอดภัยกัน           ไม่เสียขวัญ เพราะหัวหน้า กล้าทำการ

                    แต่กำลัง เหล่าอริ มีมากกว่า                 ยิงถูก ทายาท ม้วยมุด สุดสังขาร

                    พร้อมปิยวิพากษ์ ยอดชายชาญ             ประวัติศาสตร์ จะจาร จารึกนาม

                    การสละ ชีวี ชี้ให้เห็น                         ว่าเขาเป็น ผู้มีใจ ไม่เกรงขาม

                    ทั้งเด็ดเดี่ยว สตินั้น มั่นทุกยาม              เมื่ออยู่ท่าม กลางภัย ไวปัญญา

                    ขอเทิดทูน นักรบไทย ผู้ใจเด็ด               ดังเหล็กเพชร ปรากฎ เกริกยศฐา

                    สละสุข ยอมลำบาก ยากกายา              ทอดชีวา เพื่อชาติ ปราศผองภัย

                    ขอวิญญาณ ท่านจง เสวยสุข                เกียรติกระเดื่อง เลื่องทุก ยุคสมัย

                    จงคุ้มครอง บ้านเมือง รุ่งเรืองไกร           ให้ชาติไทย คงอยู่ คู่ฟ้าดิน

แอบสงสัยว่าไม่มีชื่อนายประณัติกับนายคำหล้าในบทพระราชนิพนธ์กลอน

บทพระราชนิพนธ์กลอนนี้ติดตั้งอยู่ในศาลาวีรกรรมด้วย โครงการสร้างอนุสาวรีย์เสียงชาวบ้านที่ล้มพับไปกับการสร้างศาลาวีรกรรมแสดงให้เห็นว่าความตายแบบใดที่รัฐไทยนับว่าเป็นวีรกรรม ใครบ้างที่เป็นวีรชน และสมควรได้รับสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นที่รำลึกถึง

หากเหตุการณ์ในปี 2522 ไม่ได้เกิดขึ้น (กองร้อยทหารราบที่ 473) เหตุการณ์ในปี 2520 (เสียงชาวบ้าน) ก็อาจจะไม่มีพื้นที่ในอนุสรณ์สถาน (ผู้เขียนใช้คำนี้ในความหมายของ memorial ที่กินความกว้างกว่า ‘อนุสาวรีย์’ หรือ monument) ที่ในพื้นที่สาธารณะเลย แม้ในกรณีนี้จะเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องเล่าหลักคือวีรกรรมของกองร้อยทหารราบที่ 473 ก็ตาม เรื่องราวเหตุการณ์ปี 2520 อาจจะดำรงอยู่เพียงในความทรงจำของคนที่เติบโตมาในพื้นที่อย่างคุณทหารคนที่ขับรถพาผู้เขียนไปเท่านั้น (เป็นคนใจดีมากๆ แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้บอกเขาหรอกว่าตัวเองเป็นควายแดง)

ผู้เขียนเล่าถึงการตามหาอนุสาวรีย์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะในหน้ากระดาษนี้ให้นักศึกษาชั้นปีที่สามในรายวิชา ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (Research Methodology in Art History) ฟังทุกปี เพื่อชี้ให้เห็นว่าเราอาจใช้เวลานานแสนนานสืบค้นเอกสารประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเอกสารราชการซึ่งถือเป็น ‘เอกสารชั้นต้น’ ประเภทหนึ่ง แต่บางครั้งเอกสารก็พาเราไป ‘ผิดทาง’ กรณีนี้เป็นการไป ‘ผิดทาง’ แบบตรงตามตัวอักษรคือพาไปหาสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง อุบัติเหตุในการทำงานลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าเราจะรอบคอบเพียงใด (อุตส่าห์โทรหา อบต.ตับเต่าก่อน แต่ก็ยังพลาด 555) ที่สำคัญ การมีบันทึกเป็นเอกสารราชการไม่ใช่เครื่องการันตีว่าอะไรบางอย่าง (เคย) มีอยู่จริงเสมอไป ตัวอักษรใน ‘หอจดหมายเหตุ’ (เพิ่มความขลังด้วยคำว่า ‘แห่งชาติ’) ไม่ใช่ปลายทางของคำตอบ แต่คือจุดตั้งต้นของการค้นหา

อีกเรื่องหนึ่งที่บอกกับนักศึกษาอยู่เสมอในการเขียนหนังสือ ทำรายงาน หรือทำสารนิพนธ์สำหรับชั้นปีสี่คือ การทำงานวิชาการ (ไม่ว่าในระดับเล็กเพียงใด) ไม่ใช่การพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ล่วงหน้าว่าถูกต้อง ‘ประเด็น’ (argument หรือข้อเสนอ ข้อถกเถียง) คือจุดตั้งต้นของการออกเดินทางทั้งทางกายภาพและทางความคิด เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่างที่กระบวนการทำงานอันประกอบด้วยการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานกับกรอบคิดเชิงทฤษฎีจะนำพาเราไป ระหว่างทางเราอาจต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หรือเจอทางตัน หรือต้องกลับไปทบทวนและเปลี่ยนคำถามใหม่ สมมติฐานตั้งต้นจึงไม่เคยเป็นสิ่งเดียวกับคำตอบสุดท้าย เพราะหากเป็นเช่นนั้น หากเรารู้คำตอบอยู่แล้วตั้งแต่แรก ก็หมายความว่าเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรให้งอกเงยเพิ่มขึ้นมาภายในตัวเราเลย นอกไปเสียจากการออกไปทำสำเนาความคิดตัวเองและอาจจะของคนอื่นมาเท่านั้น

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่าการไป ‘ผิดทาง’  



หมายเหตุ

  • เอกสารชุดนี้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ “เสียงชาวบ้าน” ว่าเป็นโครงการของศูนย์สงครามพิเศษที่จัดอบรมประชาชนในหมู่บ้านชายแดนที่มีความล่อแหลมต่ออันตรายจากพวกคอมมิวนิสต์ เป็นโครงการทางการเมืองเพื่อสนับสนุนและขยายผลของลูกเสือชาวบ้าน มีการอบรมให้รู้จักลักษณะอาวุธ รู้จักยุทธวิธีและวิธีการต่างๆ เพื่อเป็น “กระบอกเสียงให้ฝ่ายบ้านเมืองรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม”
  • นายกรัฐมนตรีตามที่ปรากฏในเอกสารคือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save