fbpx

หกปีหลังจากภาคสนามกับอ้างอิงท้ายเรื่องหมายเลข 42 ในหนังสือ Moments of Silence

ฤดูฝนปี 2558 ผู้เขียนใช้เวลา 11 วันเดินทางสำรวจอนุสาวรีย์ของฝ่ายรัฐที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามเย็นในพะเยา น่าน และเชียงราย การเดินทางครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยชื่อ Re-Establishing the Kingdom: The Anti-Communist Monuments in the Thai Highlands ซึ่งได้รับทุนจากโครงการ “Ambitious Alignments: New Histories of Southeast Asian Art” (2558-2559) ทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุน Connective Art Histories ของ Getty Foundation ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย The Power Institute, University of Sydney ร่วมด้วย National Gallery Singapore และ Institute of Technology, Bandung

ช่วงหนึ่งของการเดินทางเป็นการลัดเลาะเข้าไปในชายแดนน่าน-ลาว บริเวณที่ในอดีตเคยเป็นเขตยึดครองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันที่จริงแล้วนี่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยโดยตรง แต่ความที่เป็นคนชอบนั่งรถเรื่อยเปื่อย (ทั้งยังขับรถไม่เป็น) วันหนึ่งก็เลยตามลุง อส. (กองอาสารักษาดินแดน) ที่เจอในร้านกาแฟแถวทุ่งช้างขึ้นไปดูอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์และสำนัก 708 ที่บ้านน้ำรีพัฒนา (ผู้หญิงเดินทางคนเดียวต้องระวังตัวนะคะ แต่งตัวให้รัดกุม เชื่อในสัญชาตญาณ ถ้าเสียงเล็กๆ ในหัวบอกว่า ‘อย่า’ ก็คือ ‘อย่า’ และต่อให้รณรงค์กันว่า Don’t tell me how to dress, tell them not to rape ในทางปฏิบัติ เราก็ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน)

“เขตภูพยัคฆ์” นั้นมีลักษณะภูมิประเทศเป็นติ่งยื่นเข้าไปในดินแดนลาว มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากมายหลายกลุ่ม โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นม้งและลัวะ หลังจากสงครามระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์จบลง ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการก่อตั้งโครงการในพระราชดำริเพื่อการพัฒนาต่างๆ ในเขตป่าเขา สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริภูพยัคฆ์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการประเภทนี้ อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์และสำนัก 708 ตั้งอยู่บนภูเขาสูงถัดขึ้นไปจากสถานีฯ หากไม่นับการเดินเท้าที่คนสมัยก่อนทำกันแล้วก็น่าจะมีแต่รถโฟร์วีลกับมอเตอร์ไซค์ที่ผู้ขับขี่มีความชำนาญเท่านั้นที่จะขึ้นไปได้

ผู้เขียนได้เห็นอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ซึ่งเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประชาชนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ในพื้นที่ มีสัญลักษณ์ดาวแดงขนาดใหญ่อยู่บนพื้นสนามหญ้าด้านหน้าอาคาร และได้เห็นสำนัก 708 ที่มีกระท่อมลุงไฟ (นายผี อัศนี พลจันทร) กับกระท่อมลุงคำตัน (พันโทโพยม จุลานนท์) ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ตามต้นแบบเดิม


อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์
อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ สำนัก 708
สำนัก 708 ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


กระท่อมลุงคำตัน น่าน
กระท่อมลุงคำตัน ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


สองอย่างนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้นักวิจัยมือใหม่เนื้อเต้น (ทุนวิจัยที่ว่าเขาให้พวกที่เป็น early career researcher) เพราะส่วนที่สนุกที่สุดของการทำงานวิจัยนั้นคือช่วงออกภาคสนามเก็บข้อมูลนั่นเอง (อีกช่วงหนึ่งที่หลายคนคงชอบเหมือนกันคือการสืบค้นเอกสารจากแหล่งต่างๆ อ่านนู่นนี่ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความสนุกจะคงอยู่อย่างนั้นตราบเท่าที่เรายังไม่ได้ลงมือเขียน ซึ่งก็คือการผัดวันประกันพรุ่งแบบหนึ่งนั่นเอง เรารู้สึกผิดน้อยลงด้วยการหลอกตัวเองว่าที่นั่งอ่านอยู่นี้เป็นการทำงาน ไม่ใช่การอู้งาน)

นอกจากการออกภาคสนามจะพาเราไปเจอวัตถุดิบใหม่ๆ แล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการปะทะกับพื้นที่ บรรยากาศ และผู้คนก็มีส่วนสำคัญในการตั้งประเด็น สร้างข้อถกเถียง หรือเป็นอะไรบางอย่างที่คนเขียนรู้อยู่คนเดียวในความนึกคิด ทุกวันนี้ผู้เขียนยังนึกย้อนกลับไปอยู่เสมอว่างานวิจัยชิ้นนั้นคงจะออกมาแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ หากไม่ได้นั่งรถ บขส. แดงแล่นไปตามเส้นทางอันคดเคี้ยวของแนวเขา ไม่ได้กอดเป้สะพายหลังนั่งไปตามจังหวะอันโคลงเคลง ไม่ได้ซ้อนมอเตอร์ไซค์ลุงผ่านหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อย ไม่ได้เห็นความทะมึนเขียวครึ้มของป่าเขาขณะเดินย่ำใบไม้แห้งเข้าไปในเขตงานเก่า

จินตภาพเป็นส่วนสำคัญของการเริ่มต้นและระหว่างกระบวนการทำงาน ในกรณีนี้ ภูมิทัศน์ชายแดนไทย-ลาวที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าทึบและหุบเขาที่ยากแก่การเข้าถึงมีส่วนอย่างมากในการก่อรูปความคิดและยังตกค้างต่อมาหลังการเดินทาง  


บ้านน้ำรีพัฒนา น่าน
บ้านน้ำรีพัฒนา มุมมองจากสำนัก 708 ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


เมื่อกลับลงมายังตัวเมืองน่าน ผู้เขียนได้ไปเจอหนังสือสองเล่มคือ ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ เล่ม 2 (2552) จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างโครงการอาคารอเนกประสงค์รำลึกประวัติศาสตร์ประชาชนจังหวัดน่าน กับ ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ ฉบับชนชาติลัวะและม้ง เนื่องในโอกาส 10 ปีอนุสรณ์สถานภูยัคฆ์ จังหวัดน่าน (2557) จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ เจอข้อมูลและภาพถ่ายที่น่าตื่นเต้นเพิ่มขึ้นอีกว่า ประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์เมื่อปี 2548 คือพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นลูกชายของ “ลุงคำตัน”


ตำนานดาวพราวไพรที่ ภูแว ภูพยัคฆ์
ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ เล่ม 2 และ ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ ฉบับชนชาติลัวะและม้ง เนื่องในโอกาส 10 ปีอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง พคท. คงไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะความตื่นเต้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่สำคัญ เรื่องที่ดู ‘ใหม่’ สำหรับคนหนึ่งก็อาจจะใหม่เฉพาะคนนั้นคนเดียว แต่คนอื่นเขารู้กันนานแล้วก็เป็นได้ การอ้างว่าอะไรใหม่เป็นสิ่งพึงระวัง เพราะสิ่งที่นึกว่าใหม่นั้นอาจไม่ใหม่จริง การเริ่มต้นทำงานจึงไม่สามารถละเลยการสำรวจว่ามีใครเคยเขียนอะไรไปแล้วบ้างในเรื่องนั้นๆ ขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นมากสำหรับคนที่ข้ามมาจากสายงานอื่น   

แต่ถึงจะตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้พบเห็นมาเพียงไร ผู้เขียนก็ตระหนักดีว่านี่อยู่นอกขอบเขตของงานวิจัยอันมีโฟกัสอยู่ที่อนุสาวรีย์ที่สร้างโดยฝ่ายรัฐและมีระยะเวลาเพียงหนึ่งปีชิ้นนี้ ข้อมูลดังกล่าวจึงลงเอยด้วยการเป็นบทส่งท้ายสั้นๆ ในงานวิจัยภาคภาษาอังกฤษ และลดรูปกลายเป็นเพียงเชิงอรรถหมายเลข 29 ในบทความภาคภาษาไทยชื่อ แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี: อนุสาวรีย์อันเนื่องมาแต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือตอนบนกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำของรัฐไทย ใจความว่า

29 ในขณะที่รัฐไทยสร้างอนุสาวรีย์ผู้เสียสละในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทำสงคราม กับคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2520 ฝ่ายอดีตคอมมิวนิสต์เพิ่งมีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อบอกเล่าความทรงจำจากฝั่งของตนเมื่อไม่นานมานี้เอง เช่น การเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์และการฟื้นฟู สำนัก 708 ที่บ้านน้ำรี จังหวัดน่านเมื่อปลายปี 2548 อย่างไรก็ดี การรื้อฟื้นความทรงจำของ พคท. ในเขตภาคเหนือตอนบนผ่านการสร้างอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ และงานรำลึกวีรชนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรได้รับการอภิปรายอย่างจริงจังในโอกาสอื่น” (หน้า 30)

‘โอกาสอื่น’ ที่ว่านั้นก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ มีอย่างหนึ่งที่สำคัญพอๆ กับการเลิกผัดวันประกันพรุ่งแล้วลงมือเขียนเสียทีก็คือการรู้จัก ‘ตัด’ สิ่งที่เขียนออกไปเมื่อพบว่าสิ่งนั้น ‘ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนี้’ เราอาจเสียดายวันคืนที่นั่งพิมพ์ไปเป็นร้อยเป็นพันคำ แต่เชื่อเถิดว่าหากไม่ยอมตัดร้อยคำพันคำที่ควรตัดออกไปนั้น สุดท้ายแล้วเราจะรู้สึกเสียดายมากกว่า

สมัยเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษปีแรก อาจารย์ที่ปรึกษา (ผู้กลับบ้านเกิดที่ไซปรัส แต่ในที่สุดก็ไม่หายสาบสูญอีกต่อไปแล้ว พบตัวในช่วงเดียวกับที่ผู้เขียนทวงใบปริญญาที่มหาวิทยาลัยลืมส่งมาหลังจากเรียนจบมาแล้วหกปี) มอบหมายให้เขียนอะไรที่สัมพันธ์กับวิทยานิพนธ์ที่วางแผนไว้ประมาณ 10,000+ คำเพื่อเข้ารับการประเมินที่เรียกกันอย่างลำลองว่าการ ‘upgrade’ เมื่อผ่านการประเมินแล้วเราจึงจะเรียกตัวเองว่าเป็น PhD candidate ได้ จากนั้น ข้อเขียน 10,000+ คำที่ว่านั่นก็จะเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ในปีสุดท้ายของการเรียน ผู้เขียนกลับพบว่าต้องตัดออกเกือบทั้งหมด เพราะระหว่างทางนั้นโครงสร้างของวิทยานิพนธ์เปลี่ยนไปจากที่ตั้งไว้แต่ต้นมาก (เป็นเรื่องปกติ) สิ่งที่เคยเขียนไว้จึงไม่มีที่ทางในนี้อีกต่อไป สำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง การตัดสิ่งที่เขียนไปแล้วทำให้ความรู้สึกเจ็บเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณเท่าหนึ่ง

หลังจากนั่งทำใจอยู่สักพัก ผู้เขียนก็ตัดส่วนนั้นออกไปสร้างเป็นไฟล์ใหม่เก็บไว้โดยคิดว่าคงจะได้ใช้ในโอกาสอื่น ซึ่งก็ได้ใช้จริงๆ ในอีกสองปีต่อมาด้วยการเอาไปเขียนเป็นบทความในนิตยสารภาษาอังกฤษ ได้ค่าเขียนตั้งหลายร้อยปอนด์แน่ะ 555   

ทุกคนคะ ทุกอย่างที่เราเขียนมานั้นตัดได้ ไม่ต้องไปเสียดาย ตัดแล้วไม่ต้องทิ้ง แต่อย่าลืมก็แล้วกันว่าเอาไปเก็บไว้ตรงไหน

เรื่องอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์และสำนัก 708 ที่เก็บไว้นี้ก็เช่นกัน ในขณะที่อ่านหนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ก็พบการอธิบายว่าหลังจากงานครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2539 การรื้อฟื้นอดีตเกี่ยวกับ พคท. การค้นหาผู้เสียชีวิตตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในเขตป่าเขา การทำบุญอุทิศส่วนกุศลและการจัดกิจกรรมรำลึกซึ่งรวมถึงการตั้งอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นตามมามากมาย รายชื่อของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นรวมถึงอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ได้รับการบรรจุไว้ในอ้างอิงท้ายเรื่องหมายเลข 42 ของบทที่ 6 Commemoration  (คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะรู้ว่าส่วนอ้างอิงท้ายเรื่องจะแยกเป็นบทๆ เมื่อขึ้นบทใหม่ก็จะกลับไปเป็นหมายเลข 1 ใหม่)  

ปริศนาที่คาใจมาหลายปีได้รับการไขให้กระจ่างจากหนังสือเล่มนี้เอง ตอนที่ผู้เขียนกำลังทำวิจัยชิ้นนั้น ยังนึกสงสัยว่าเพราะเหตุใดการสร้างอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามจังหวัดต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมายในอีกหลายสิบปีให้หลัง (ส่วนการสร้างอนุสาวรีย์ของฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปไม่นานนั้นไม่มีอะไรให้สงสัย เช่น อนุสาวรีย์วีรกรรมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ทุ่งช้าง สร้างในปี 2519 เพียงหนึ่งปีหลังจากการปะทะกันที่บ้านห้วยโก๋นในปี 2518) ข้อสันนิษฐานคร่าวๆ มีอยู่ว่า เป็นเพราะความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ผ่านพ้นไปหลายปีแล้ว บาดแผลไม่สดใหม่อีกต่อไป อดีต พคท. หลายคนกลายเป็นคนมีฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม และมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะรวมตัวกันจัดงานรำลึกและสร้างสิ่งเหล่านี้ได้

ที่สำคัญ มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมานฉันท์ระหว่างทั้งสองฝั่ง ในหนังสือ ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ เล่ม 2 ได้ลงคำกล่าวของประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์คือพลเอก สุรยุทธ์ เมื่อปี 2548 ดังนี้

“สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นเพราะความเดือดร้อน และความไม่เป็นธรรมในแผ่นดินไทย จนทำให้มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ซึ่งผมพยายามพูดอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราอีก แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุดไปสักที ยังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมกันในสังคม และในบางพื้นที่ก็ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องล้มตาย” (หน้า 81)

นัยยะของการเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วกับความสำคัญของการปรองดองยังปรากฎอยู่ในข้อเขียนส่วนอื่นในเล่มเดียวกัน

“เป็นเรื่องโชคดีอย่างหนึ่งที่สังคมไทยเรามีความสามารถในการปรับตัวเข้าหากัน แม้อดีตจะเคยมีความขัดแย้งต่อกัน แต่เราก็สามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองกันขึ้นมาได้ อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์จึงเป็นประจักษ์พยานแห่งความสมานฉันท์ปรองดอง” (หน้า 82)

ข้อความลักษณะนี้อยู่ประปรายในหนังสือทั้งสองเล่ม ขณะที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์การสู้รบในพื้นที่ เรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้อง คำอธิบายว่าทำไมคนถึงเข้าร่วมกับ พคท. บันทึกความทรงจำของอดีต พคท. บางคน ข้อเขียนเกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่เมื่อครั้งวางแผนโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน และงานศึกษาเกี่ยวกับลัวะและม้ง ผู้เขียนพบข้อความที่บอกถึงความอัดอั้น ความเจ็บปวด ความขมขื่น และความระมัดระวังในการแสดงออกผ่านการเขียนกระจายอยู่ทั่วไปหมด เหล่านี้บ่งบอกว่าความปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจัดวางที่ทางของความทรงจำฝ่าย พคท. อันเป็นปฏิปักษ์กับรัฐไทยนั้นยังคงเป็นเรื่องยาก อย่างมากที่สุด อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์เป็น “ประจักษ์พยานแห่งความสมานฉันท์ปรองดอง” แต่อาจจะยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็น counter memory ของประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ผลิตขึ้นโดยฝ่ายรัฐ เราจึงได้เห็นพลเอก สุรยุทธ์ ผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในขณะนั้น (พลเอกสุรยุทธ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในอีกสิบห้าปีต่อมา) ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ จริงอยู่ว่าพลเอกสุรยุทธ์เป็นบุตรของ “ลุงคำตัน” ผู้มีกระท่อมพำนักอยู่บนสันเขาเหนืออนุสรณ์สถานขึ้นไป แต่พลเอกสุรยุทธ์ก็เป็นตัวแทนของรัฐไทยใต้ร่มพระบารมีด้วย

สิ่งที่ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้เขียนก็คือการเชื่อมโยงอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงความทรงจำของ พคท. เข้ากับงานครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2539 การ ‘break the silence’ 20 ปีภายหลังของวาระดังกล่าวนำไปสู่การรื้อฟื้นขนานใหญ่ (แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย) ที่ประกอบด้วยกระบวนการจัดการกับความทรงจำอันเจ็บปวด การสืบค้นหาข้อมูลและผู้คนที่สูญหายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ การสร้างตัวตนในประวัติศาสตร์ด้วยเสียงของฝั่งตัวเองภายใต้สภาวะอันจำกัด และการเยียวยาจิตใจด้วยกิจกรรมที่มีความหมายเชิงจิตวิทยาอย่างการทำบุญอุทิศส่วนกุศล อนุสาวรีย์หลายแห่งที่มีรูปทรงคล้ายสถูปเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของภาวะนั้น   

ที่เขียนมานี่เรียกว่าเป็นการ ‘อภิปรายอย่างจริงจัง’ ได้หรือยัง? ยังหรอกค่ะ ‘โอกาสอื่น’ ที่ทิ้งค้างไว้นานแล้วก็ยังมาไม่ถึงอยู่ดี นี่เป็นเพียงส่วนขยายของเชิงอรรถหมายเลข 29

ผู้เขียนเริ่มต้นงานวิจัย Re-Establishing the Kingdom: The Anti-Communist Monuments in the Thai Highlands ด้วยคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘ภูมิกายา’ (geo-body) ของชาติกับแผนที่ของ อ. ธงชัย บางทีอาจจะได้เริ่มต้น (หรืออีกนัยหนึ่งคือปิดจ๊อบ) ด้วย Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok

แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้เขียนเพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสเขียน ระหว่างที่การสร้าง counter memory ต่อประวัติศาสตร์และความทรงจำโดยรัฐยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวหลังจากหลายสิบปีของความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระหว่างที่คำว่า ‘สมานฉันท์ปรองดอง’ ยังค้ำคอและทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังบางอย่างในการสร้างความทรงจำทางการเมือง ผู้เขียนก็ขอโพสต์ภาพ พลเอกสุรยุทธ์ กับ ลุงธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการ พคท. ในพิธีแจกทุนการศึกษาให้เด็กๆ ในพื้นที่บ้านน้ำรีพัฒนาไปพลางๆ

ตำนานดาวพราวไพรที่...ภูแว ภูพยัคฆ์
ภาพถ่ายพิธีแจกทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่บ้านน้ำรีพัฒนาโดยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์และลุงธง แจ่มศรี จากหนังสือ ตำนานดาวพราวไพรที่…ภูแว ภูพยัคฆ์ ฉบับชนชาติลัวะและม้ง เนื่องในโอกาส 10 ปีอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน, หน้า 16


หมายเหตุ

บทความวิจัย “Re-Establishing the Kingdom: The Anti-Communist Monuments in the Thai Highlands”  ตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความ Ambitious Alignments: New Histories of Southeast Asian Art, 1945-1990. Edited by Stephen H. Whiteman, Sarena Abdullah, Yvonne Low and Phoebe Scott, 2018, Sydney: Power Publications and National Gallery of Singapore, p. 165-195.

บทความภาคภาษาไทยตีพิมพ์ในชื่อ “แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี: อนุสาวรีย์อันเนื่องมาแต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือตอนบนกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำของรัฐไทย” ใน ธนาวิ โชติประดิษฐ, จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง: ศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9, 2563, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, หน้า 4-31.  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save