fbpx
วาดภาพหวัง สถาบันกษัตริย์ในฝันของปวงชน

วาดภาพหวัง สถาบันกษัตริย์ในฝันของปวงชน

กองบรรณาธิการ เรื่องและภาพ

 

นับจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ทำให้ภาพความฝันถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงถูกพูดถึงต่อสาธารณชน

การชุมนุมอีกครั้งของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นการยืนยันถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงทำเนียบองคมนตรี ซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้รับมอบ

“ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีข้อใดมีเนื้อหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หากแต่เป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์” เป็นข้อความที่ยืนยันในจดหมายเปิดผนึก

ภาพผู้คนจำนวนมากมาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นความฝันร่วมกันของผู้คนจำนวนมาก เป็นความหวังถึงบ้านเมืองที่พวกเขาอยากเห็น

101 พูดคุยกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า อะไรคือภาพฝันของสถาบันกษัตริย์ที่พวกเขาอยากเห็นและเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลง

 

เปีย อายุ 65 ปี อดีตข้าราชการทหาร

 

อดีตข้าราชการทหาร

 

ผมมาม็อบเพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและรัฐบาลทหาร ไปทุกม็อบที่สนับสนุนประชาธิปไตย ม็อบนักเรียนก็ไป

ผมเคยรับราชการทหาร แต่รับไม่ได้จึงลาออก กองทัพไม่ได้เสียหายอะไรหรอก แต่คนที่สวมเครื่องแบบอยู่ในกองทัพ บางคนก็ดี บางคนก็ไม่ดี ความยุติธรรมขึ้นอยู่กับความพอใจ ใช้อำนาจเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเหตุผล ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ได้แต่ฟังคำสั่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของผม มีหลายอย่างที่ผมรับไม่ได้ในกองทัพ รับราชการได้แค่ 12 ปีก็ลาออกไปทำงานกับบริษัทเอกชน ผมไม่ได้โจมตีทหาร แต่พูดความจริงในกองทัพให้ฟัง

เพื่อนผมที่เป็นทหารก็มีความคิดคนละมุม เพราะเขายังถูกครอบงำอยู่ถึงจะเกษียณแล้วก็ตาม แต่เราไม่ทะเลาะกัน ผมพยายามบอกให้เขามีเหตุผล คุณไม่เคยทำงานกับเอกชนคุณไม่เข้าใจหรอก เพราะคุณเกาะ ‘สมอ’ กินอย่างเดียว ลูกเบิกค่าเล่าเรียนได้ พ่อแม่รักษาพยาบาลฟรี ทหารก็ไม่เคยสอนว่าเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับมันเป็นภาษีของประชาชน สมัยก่อนเราก็ไม่รู้ พอเราไปทำงานเอกชนโดนตัดภาษีก็จะเข้าใจ ปัจจุบันควรจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะโลกก้าวไปไกลแล้ว

ข้อเสนอของม็อบผมเห็นด้วยทั้งหมด สถาบันฯ ควรจะเป็นประมุข ไม่มายุ่งการเมืองแบบของญี่ปุ่น พอไม่ยุ่งการเมืองประเทศเขาก็เจริญ พัฒนาไปได้ แต่บ้านเราอำนาจของระบบกษัตริย์ยังครอบคลุมทั้งประเทศอยู่ ยังไม่เปิดกว้างเหมือนชาวโลก ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เขาปรับตัวกันหมดแล้ว แต่ทำไมเรายังไม่ปรับตัว ทำไมพระมหากษัตริย์ไม่อยู่บ้านเราแต่ไปอยู่ที่อื่น ผมอยากให้กลับมาอยู่จะได้ทรงเป็นประมุขจริงๆ

สิ่งที่น้องๆ พูดแล้วคนอื่นหาว่าจาบจ้วงล้มล้าง คุณยังไม่ฟังเหตุผลของน้องๆ เลย ฟังแล้วก็ไม่เห็นว่าล้มล้างหรือจาบจ้วงตรงไหน ในเมื่ออำนาจเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องไม่ก้าวก่ายอะไรทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ในฐานะประมุขจะดีที่สุด คนจะเคารพนบนอบกราบไหว้บูชาสนิทใจ แต่ทุกวันนี้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ

ผมเป็นคนรุ่นเก่าแต่เห็นด้วยกับคนรุ่นใหม่ที่มีพัฒนาการไปข้างหน้า เด็กรุ่นนี้เขาเข้าถึงเทคโนโลยี สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ใหญ่ชอบอ้างว่าตัวเองเกิดก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนไม่ได้หมายความว่าจะถูกทั้งหมด ผู้ใหญ่ชอบคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอ ไม่คิดว่าเด็กเขามีความคิด ก็จะไม่ได้ยินว่าเด็กพูดอะไร

 

 

รัฐธรรมนูญ อายุ 24 ปี

 

ผู้ร่วมชุมนุม

 

ผมไปเกือบทุกม็อบ คนรุ่นผมเรียนจบมาในยุคที่เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพไม่สามารถดำรงชีวิตได้สะดวกสบาย เราคับข้องใจว่าเกิดอะไรขึ้น คนรุ่นเดียวกันกับผมมีแนวคิดว่าเราไม่สามารถรอได้ ไม่สามารถถูกกดทับในประเด็นต่างๆ ทางการเมืองได้ เราไม่สามารถ ‘เชื่อง’ ได้อีกแล้ว ถ้าเราไม่ต่อสู้ด้วยตัวเองก็ไม่รู้ว่าใครจะมาต่อสู้แทนเรา

ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของม็อบ ไม่คิดว่ามีข้อไหนที่มากเกินไปหรือผิดต่อข้อกฎหมายเลย มีความเป็นเหตุเป็นผลและแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ผมเข้าโรงภาพยนตร์บ่อย เห็นปรากฏการณ์เรื่องการไม่ยืนเริ่มมาตั้งแต่ก่อนโควิดด้วยซ้ำ เริ่มเห็นเยอะตั้งแต่ช่วง คสช. ออกกฎหมายและสืบทอดอำนาจ มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ มันใช้ระยะเวลา แต่ตอนนี้อาจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สถาบันฯ ควรจะดำรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น ในโลกปัจจุบันสถาบันฯ ไม่ได้มีความสำคัญในด้านการปกครองแล้ว การที่เศรษฐกิจและการเมืองดำเนินไปได้ต้องอาศัยอะไรมากกว่าอำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างเดียว และสถาบันฯ ควรที่จะโปร่งใสและตรวจสอบได้

ข้อเรียกร้องที่มีการพูดถึงการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่ามีความจำเป็น ผมทำงานต้องเสียภาษี งบประมาณที่มาจากเงินภาษีควรจัดการได้โดยประชาชน ต้องมีการจับตามองและตรวจสอบอย่างจริงจัง จากที่เห็นมามีบางอย่างไม่สมเหตุสมผลกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้ จนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเหนือจริงเกินไปแล้ว คล้ายว่าในโลกหนึ่งกำลังเกิดปัญหาอยู่ แต่อีกโลกหนึ่งก็ใช้จ่ายแบบมากเกินไป

ผมมีความเชื่อและความหวัง ผมทำงานประจำแต่ไปร่วมทุกม็อบ ใครโดนจับก็ตามไปสน.ด้วย มันเหนื่อยมาก แต่สิ่งที่ทำให้เราไปร่วมในทุกๆ ที่ก็คือความหวังของเรา แม้คนอื่นจะมองว่าข้อเรียกร้องทั้งสิบข้อเป็นไปได้ยาก แต่เราต้องมีความเชื่อและความหวัง ถ้าคิดเพียงว่ามันยาก มันเป็นไปไม่ได้ เราก็จะไม่มีแรง ไม่อยากออกจากบ้าน

 

 

มิถุนายนรับพี่จิตรกลับบ้าน (นามแฝง) นักศึกษา

 

ชูสามนิ้ว

 

เรามาม็อบเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่โอเคกับการที่อำนาจอธิปไตยซึ่งควรจะเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย กลับไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง ส.ส.ที่เข้าไปนั่งในสภาก็ไม่ได้พูดแทนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเขาพูดแทนประชาชนไม่ได้ ถ้าเขามีความกลัวที่จะพูด นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

คุณภาพชีวิตเราควรจะดีกว่านี้ งบประมาณแผ่นดิน ภาษีต่างๆ ควรถูกกระจายอย่างยุติธรรมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง งบประมาณควรถูกใช้เพื่อคนทุกคนจริงๆ

ข้อเรียกร้องสิบข้อนั้นเราเห็นด้วย เป็นการเรียกร้องให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยอมรับว่าเราก็เป็นคนเหมือนกัน การเรียกร้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้แล้วว่าพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

เราไม่คิดว่าข้อเรียกร้องนั้นเป็นการจาบจ้วง คนที่มองว่าจาบจ้วงเพราะเขาเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ใช่คน ทั้งๆ ที่ตอนแม่เขาตั้งท้องก็มีความเจ็บเหมือนแม่พวกเรา เราเป็นคนเหมือนกัน ต้องเรียกร้องให้สามารถพูดถึงได้ กฎหมาย 112 กำหนดเรื่องการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คำว่า ‘หมิ่นประมาท’ เองก็ตีความได้กว้างมาก และเรามองคนไม่เท่ากัน คำว่าหมิ่นประมาทของสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดาด้วยกันเอง ขณะที่กฎหมายหมิ่นประมาทโทษจำคุกสูงสุดอยู่ระหว่าง 1-2 ปี แต่พอเป็นการหมิ่นสถาบันที่สามารถตีความได้กว้างมาก ทำไมถึงมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และคนที่มาเป็นโจทก์ในศาลก็ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ กลับเป็นใครก็ได้ ทั้งที่โจทก์ควรจะเป็นคนที่ถูกหมิ่น

อยากให้สถาบันฯ มีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ คืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่เป็นสัญลักษณ์ เพราะยังไงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ประเทศไทยอยู่แล้ว เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความเป็นชาติ สถาบันยังควรมีอยู่ในยุคปัจจุบันนี้

ถ้าเป็นประชาธิปไตย การฟังความเห็นของผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ถ้ายังมีคนกลุ่มหนึ่งอยากให้สถาบันฯ มีอยู่ แล้วคนกลุ่มนั้นมีจำนวนมากพอ สถาบันก็ควรจะมีอยู่เพื่อตอบรับคนกลุ่มนั้นให้เขารู้สึกมีที่ยึดมั่นทางจิตใจ มันเป็นการฟังความเห็นของกันและกัน

 

สำราญ แข็งขัน อายุ 57 ปี

 

คนเสื้อแดงในชุมนุม 2563

 

ผมเป็นคนโคราชมาขายของอยู่คลองเตย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาร่วมม็อบนักศึกษา แต่ปกติเป็นคนเสื้อแดง ก่อนหน้านี้ก็ไปม็อบเสื้อแดงประจำ ผมมาร่วมม็อบเพราะเห็นว่ามันไม่มีความยุติธรรม เศรษฐกิจบ้านเมืองก็แย่มากตอนนี้ ไม่ไหวแล้ว

สิบข้อเรียกร้องของนักศึกษาผมเห็นด้วย ถ้าทำได้น่าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่คงยาก ไม่มีใครเขาคิดจะล้มล้าง สถาบันฯ น่าจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่อยู่เหนือกฎหมาย เป็นสัญลักษณ์เหมือนในต่างประเทศ สังคมที่สถาบันฯ ไม่มาแทรกแซงการเมือง และไม่มีพวกโหนสถาบันฯ ระบอบประชาธิปไตยก็น่าจะดีขึ้น พวกพ่อค้ารายใหญ่ก็ควรโหนให้น้อยลง ต้องทำมาหากินโดยสุจริต ให้คนตัวเล็กๆ ได้มีโอกาสโตบ้าง คนตัวใหญ่ๆ ในไทยมีแค่ 4-5 เจ้าที่รวย ก็เห็นกันอยู่ เห็นมานานแล้ว

คนเสื้อแดงกับนักศึกษาความคิดเห็นตรงกัน อุดมการณ์เหมือนกัน พอได้กลับมาสู้อีกรอบหนึ่งเราก็ดีใจ แอบมีความหวังนะ แต่หวังแค่ 50-50 คิดว่าคงไม่จบรุ่นเรา น่าจะมีอีกสักรุ่นหนึ่ง เพราะรู้ว่ามันยาก มือเปล่ากับปืนจะไปสู้มันได้ยังไง ถึงทางตันจริงๆ เขาก็ต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ผมไม่กลัวหรอก ปี 2553 เฉียดตายไม่รู้กี่รอบ วันที่ 10 เมษาฯ-19 พฤษภาฯ ก็เฉียดตายกันมาแล้ว ไม่กลัวหรอก

 

กุสตาฟ คลิมต์ (นามแฝง) แพทย์

 

แพทย์กับการชุมนุม

 

ผมไม่เคยยืนข้างเผด็จการ ตอนรัฐประหาร 2549 ผมอยู่ ม.1 ก็ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการและตื่นตัวทางการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น ทุกวันนี้ผมก็มีอุดมการณ์แบบเดิม ผมโดนเพื่อนด่ามาเรื่อยๆ เพราะมีความคิดแบบนี้และเพื่อนก็หายไปเรื่อยๆ เหมือนกัน กว่าเราจะยืนยันว่าอุดมการณ์นี้ถูกต้อง กว่ามันจะกลายเป็นกระแสหลักต้องใช้เวลาเป็นสิบปี

สมัยก่อนยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องข้อเรียกร้องสิบข้อแบบทุกวันนี้ แค่คุณเป็นเสื้อแดงก็โดนเหยียดแล้ว ผมชินกับมันแล้ว รู้สึกเฉยๆ ถ้าเขาจะรังเกียจเราเพราะเรื่องพวกนี้ แต่วันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอุดมการณ์การต่อต้านรัฐประหารเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และนับวันผมก็มีเพื่อนเยอะขึ้นเรื่อยๆ

ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องสิบข้อ ถ้ามองประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา แนวทางนี้ประนีประนอมที่สุดแล้ว คุยกันได้มากที่สุดแล้วโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เป็นการคุยอย่างสันติวิธี เราแค่บอกว่าให้มาอยู่ภายใต้กฎหมาย มันเป็นเรื่องพื้นฐานมากเลย

constitutional monarchy หมายความว่ากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่หลังจากที่เผด็จการเข้ามาก็ทำให้อำนาจกษัตริย์ขยายเกินขอบเขตในนิยามของคำว่ากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าเรายังอยากอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เราต้องมาคุยเรื่องกรอบนี้กันใหม่ว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้

สิ่งที่เรียกร้องมันอาจจะยาก แต่เป้าหมายเป็นเส้นขอบฟ้า อะไรที่ไปได้เราก็ไปเรื่อยๆ เราอยู่กับความฝันว่ามันจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้วันนี้ทำไม่ได้ อีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ต้องทำอยู่ดี ถ้าไม่ทำประเทศก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ ต่อให้วันนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของสิ่งที่เราต้องการไปให้ถึงมันจะหายไปไหน

ผมอายุ 27 ถ้าจบรุ่นเราได้ก็ดี แต่มันเป็นมอตโต ไม่ได้หมายความว่าถ้าจบรุ่นนี้ไม่ได้แล้วเราจะเลิกคุณค่านี้ไป เราจะทำให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจ ทางกฎหมาย สิทธิเสรีภาพและอีกหลายเรื่อง ทำให้คนสามารถพูดอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิมไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ การแพทย์ ศิลปะ ต้องไปไกลกว่าเดิม

อย่างเรื่องการยืนในโรงหนัง ที่อังกฤษก็เคยให้ยืนในเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วเขาโต้เถียงกันอย่างสันติวิธี สุดท้ายคือใครอยากยืนก็ยืน ใครไม่อยากยืนก็ไม่ต้องยืน ไปๆ มาๆ ก็เอาเพลงออกไปเลย คนเรามีพื้นที่ให้รักกันได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ถ้าคุณอยากยืนจริงๆ แม้แต่เปิดเน็ตฟลิกซ์ดูที่บ้านก็ต้องเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วยืนเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าทำไมต้องให้ทุกคนยืนในโรงหนังและในที่สาธารณะเสมอไป

ผมเป็นหมอและไม่แปลกใจว่าทำไมคนมองว่าคนในวงการแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาหมอเอาองค์กรตัวเองไปร่วมเดินขบวนกับม็อบ กปปส. หลายครั้งมาก เวลามีการยิงกันก็มีหมอที่ไม่มองคนบาดเจ็บเหล่านั้นเป็นคนไข้ แต่มองว่าเป็นคนเสื้อแดงหรือคนยากจน แล้วบอกว่า “มึงโดนทักษิณหลอกมา” พอวันที่กระแสเปลี่ยนจึงไม่แปลกใจที่พวกเขาถูกมองว่ายืนอยู่ผิดจุดของประวัติศาสตร์มาตลอด หมอเหล่านั้นจะกลับมามีที่ยืนได้ถ้ารู้จักการขอโทษ มีความรับผิดชอบกับอดีต

เคยมีหมอที่แสดงออกถึงการแบ่งแยกคนไข้ว่า ถ้าเคยเข้าร่วมม็อบนี้อย่ามารักษาที่โรงพยาบาล มันผิดหลักจริยธรรมแพทย์ ต่อให้ประยุทธ์ป่วยอยู่ตรงหน้าผมก็จะรักษาอยู่ดี อาจด่าในใจ แต่ก็ต้องรักษาในฐานะหมอ พวกอาจารย์หมอทั้งหลายที่นั่งพูดเรื่องจริยธรรมการแพทย์นั้นต้องสอนตัวเองก่อนเลย กลับมาทบทวนอุดมการณ์ตัวเองก่อนว่า ที่ผ่านมาเคยไปทำอะไรมาบ้าง เคยมีหมอคนหนึ่งไปพูดในเวที กปปส. ว่าจะพายิ่งลักษณ์ไปรีแพร์ นอกจากคุณจะเลือกการรัฐประหารแล้วยังพูดจาลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนหลายคน พูดเหยียดเพศกลางเวทีแล้วคนปรบมือกัน ของแบบนี้คุณต้องขอโทษ จะบอกว่าฉันเลือกเผด็จการมาผิดคนเฉยๆ และฉันยอมรับผิดแล้ว มันไม่ได้

 

นางสไนเปอร์เพชรประกายแสง (นามแฝง)

 

ผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัด

 

เราเดินทางมาจากเมืองเลย มาร่วมม็อบเพราะเป็นม็อบประชาธิปไตย เราต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2551 ชุดพันธนาการที่สวมใส่ทั้งหมดนี้คือชุดปลดแอกประเทศไทย เรามาร่วมกันน้องๆ นิสิตนักศึกษาเพื่อปลดแอกประเทศไทย

แอกคือเครื่องพันธนาการ คือการกดขี่สัตว์ ทำไร่ไถนาต้องใช้แอก แต่สมัยที่เจริญแล้วเขาไม่บังคับสัตว์ เอาวัวควายไปทำเหมือนเดิมไม่ได้ เปรียบร่างกายเราเป็นประเทศไทยแล้วสวมใส่เครื่องพันธนาการและกะลา รัดไว้ไม่ให้ประเทศไทยก้าวเดิน กดไว้ไม่ให้เจริญ ฉะนั้นต้องปลดแอกคุยกัน

น้องๆ เขาเรียกร้องให้แก้ไขสิ่งที่ผิด เขาไม่ได้ล้มเจ้า จุดไหนที่มีปัญหาก็ต้องแก้ไข ถ้าคุณมีศีลมีธรรมอยู่ในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ติเพื่อก่อ อย่ายอเพื่อทำลาย สิ่งที่ผิดต้องติได้ แล้วต้องฟังสิ่งที่คนเรียกร้อง สถาบันกษัตริย์เป็นเบื้องสูงแต่ก็ต้องฟังเบื้องต่ำด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้เรื่องกัน สิ่งดีที่สุดต้องฟัง เหมือนพ่อต้องฟังลูก เขาเดือดร้อนอะไรก็ต้องถามเขา ลูกก็ต้องฟังพ่อถ้ามีเหตุมีผล ถ้าพ่อกับลูกจับมือกันปัญหาอยู่ข้างหน้าไม่นานก็แก้ได้ แต่ถ้าต่างคนต่างอ้าง บ้านมีแต่จะพัง ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย คุยกันให้รู้เรื่อง

สถาบันฯ ต้องอยู่แบบเบื้องสูง ประชาชนต้องเคารพบูชาเทิดทูน แล้วอีกกลุ่มหนึ่งต้องไม่ไปโหน พ่อต้องฟังลูกทั้งสองฝั่ง จุดไหนไม่ดีก็คุยกัน แค่นั้นก็จบ

เรามีความหวังร้อยเปอร์เซ็นต์กับการต่อสู้ ถ้าเป็นคนมีศีลมีธรรมต้องฟังเด็ก เขาไม่ใช่เด็กอมมือ เป็นเด็กมีวิชา ได้เรียนรู้ เผลอๆ ผู้ใหญ่ยังไม่รู้เท่าเขาเลย แต่เขาพูดด้วยเจตนาที่น่ารัก เด็กมันสมองพัฒนา เขารู้ว่าสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูกก็ต้องฟังเขา

รุ่นนี้ต้องจบให้ได้ เราดีใจที่ลูกหลานตื่นตัว ลูกหลานมีบุญจะได้ปลดแอกแล้ว เราต้องมาช่วยลูก ไปทำบุญวัดไหนก็แล้วแต่ไม่เท่าทำบุญประชาธิปไตย จะไหว้ขอพรสิ่งใดไม่เท่าความจริง

 

 

ป้าอี๊ด อายุ 74 ปี

 

เสื้อแดงกับการชุมนุม 2563

 

ป้าไปทุกม็อบประชาธิปไตย มาให้กำลังใจเด็กๆ เพราะรุ่นเราเกือบหมดหวังแล้ว ตอนปี 2553 มีคนโดนยิงตายตรงราชประสงค์เป็นร้อย เราไม่มีอาวุธไปต่อสู้ มือเปล่าถูกฆ่าเหมือนวัวเหมือนควายก็ใจไม่ดี นึกว่าคงไม่มีกำลังจะต่อสู้ต่อไปแล้วแหละ แล้วประยุทธ์ปฏิวัติ แกนนำถูกจับขังคุก คิดว่ามันคงจบแล้ว รุ่นเราคงไม่ได้เห็น แต่ใครยังต่อสู้เราก็สนับสนุนตลอด พอเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาต่อสู้ เรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า ประชาธิปไตยต้องกลับมาเป็นของประชาชน

เราตื่นตัวกันอีกครั้ง คนที่มาม็อบครั้งนี้นอกจากเด็กรุ่นใหม่แล้วก็มีคนอายุมาก อายุ 70-80 ก็หอบหิ้วกันมา เดินไม่ไหวก็มานั่ง มีกำลังใจว่าจะได้อยู่เห็นประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่จะเป็นคนนำพาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นให้ได้ พวกป้าอีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว เดินกันมาก็ปวดเข่า แต่เดินได้ช้าๆ ก็ยังดี มาเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่สู้ต่อไป เป็นการเชื่อมต่อระหว่างรุ่น เรามีลูกหลาน เราอยากให้อนาคตของลูกหลานดีกว่านี้

เราเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องสิบข้อทุกประการ เพราะตั้งแต่ 2475 เราไม่เคยได้ประชาธิปไตยมาเลยจนถึงปัจจุบัน เราเป็นประชาธิปไตยภายใต้อำนาจเผด็จการ ภายใต้อำนาจที่ควบคุมเราอยู่ เรามีรัฐซ้อนรัฐ ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยแบบชาติอื่นได้ ผู้มีอำนาจก็ยัดเยียดความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้เราตลอด

สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ถ้ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ท่านควรเป็นปูชนียบุคคล การกราบไหว้ไม่ควรบังคับ การเคารพบูชาเราจะทำต่อเมื่อเรามีจิตใจเคารพนับถือและทำด้วยความเต็มใจ แต่ไม่ใช่พิธีรีตองที่จะต้องก้มกราบ ความเคารพจากใจจะเกิดได้ต้องอยู่ในทศพิธราชธรรม มีความประพฤติที่เป็นที่ยอมรับนับถือ ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ

สถาบันฯ ต้องดำรงตนในทศพิธราชธรรม เป็นสัญลักษณ์ทำพิธีของชาติ ดำรงอยู่ในสถานะที่ทำให้ประชาชนภาคภูมิใจอย่างจริงใจและแท้จริง วัตรปฏิบัติของท่านก็ต้องอยู่บนรากฐานของความดีงามที่แท้จริง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save