fbpx
เก็บตกงานเสวนา 101 Minutes at Starbucks : The Art of travel - อะไรอยู่ในการเดินทาง?

เก็บตกงานเสวนา 101 Minutes at Starbucks : The Art of travel – อะไรอยู่ในการเดินทาง?

อันโตนิโอ โฉมชา เรียบเรียง

 

การเดินทางกับการมีอยู่ของชีวิตไม่อาจแยกจากกันได้ขาด เพราะชีวิตมนุษย์ล้วนคือการเดินทาง

เรา ‘เดินทาง’ ในหลากหลายโอกาสต่างกันไป อาจเดินทางเพื่อเฉลิมฉลอง สนุกสนาน ปลดปล่อยตนเอง หรือแม้แต่ ‘หลีกหนี’ จากโลกที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงรังสรรค์วิธีท่องเที่ยวขึ้นมากมายเพื่อตอบโจทย์กับการเดินทางที่แต่ละคนแสวงหา

ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเข้าถึงการเดินทางได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก แต่ในความสะดวกสบายนั้นก็มีสิ่งยุ่งยากใหม่ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเรื่องเอกสารหรือเขตแดน ที่สิ่งเหล่านี้เป็นพลพวงมาจากการสร้าง ‘รัฐชาติ’ ที่เกิดขึ้นมาอดีต ซึ่งสืบสาวย้อนไปในประวัติศาสตร์ได้อีกยาวไกล

ในการเดินทางที่ง่ายดาย สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสัมผัสกับรสชาติแห่งการเดินทางได้อย่างเต็มที่ เราจึงต้องมี ‘ศิลปะในการเดินทาง’ หรือ Art of Travel เพื่อให้การเดินทางมีอารมณ์และสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิตอย่างท่วมท้น

ในงานเสวนา 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 7 : The Art of travel – อะไรอยู่ในการเดินทาง? เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา The101.World ได้ชวนผู้มีประสบการณ์เดินทางทั้งระยะทางและสุนทรียะระหว่างทาง มาแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องของการเดินทางของพวกเขา รวมถึงชวนคิดวิเคราะห์ถึงบริบทและประวัติศาสตร์ของการเดินทางให้เราได้ฟัง

โดยมีแขกรับเชิญที่เดินทางมามากมายสามท่าน ได้แก่ นิ่ม-กรกฎ พัลลภรักษา นักเขียนและพิธีกร เจ้าของรายการ ‘Journal Journey’ จิรเดช โอภาสพันธวงศ์ หรือ ‘Jirabell’ นักเขียนหนุ่มมาดนิ่ง เจ้าของหนังสือ ‘Lonely Land ดินแดนเดียวดาย’ และ รองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และปรัชญา

เรื่องราวการเดินทาง ประสบการณ์ระหว่างทาง และความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางของมนุษย์จากพวกเขาทั้งสามจะเป็นอย่างไร เลื่อนสายตาให้เดินทางลงไปอ่านได้จากบันทึกการเดินทางชิ้นนี้

 

 

นิ่ม – กรกฎ พัลลภรักษา : เปิดใจรับการเดินทาง

 

ในความคิดของ นิ่ม – กรกฎ การเดินทางที่ดี คือการเดินทางที่เราไม่คิดล่วงหน้าว่าจะต้องทำอะไรหรือจะต้องเจออะไรบ้าง ไม่ต้องมีไกด์บุ๊ก เมื่อใดที่เราทำใจให้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เราก็จะได้ลิ้มลองประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้คาดคิดไว้จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้นเอง และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งใหม่ๆ ในอีกทางด้วย

การเดินทางในที่ที่คนอื่นไม่สนใจ ไม่เคยเดินทางไป หรือยังไม่เคยมีผู้ไปพบเจอ ล้วนมีความน่าสนใจซุกซ่อนอยู่ เพราะทุกสถานที่ ทุกชีวิตย่อมมีเรื่องเล่าของตัวเอง หากให้เราเวลากับที่แห่งนั้นมากพอ เราก็จะพบกับสิ่งที่น่าสนใจ

สิ่งสำคัญในการเดินทางคือการหลุดจากกรอบที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปที่ใดก็ตาม หากเราปล่อยใจให้ไปกับเวลาและสถานที่นั้นๆ มันก็จะเป็นการเดินทางครั้งใหม่ได้เสมอ

นิ่มเล่าต่อว่า แม้การเดินทางจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายอารมณ์ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือเหตุด่วนเหตุร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะมาเป็นตัวสร้างเกราะป้องกันทางใจให้เราสามารถรับมือกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างระมัดระวังในครั้งต่อไปเหมือนเป็นภูมิคุ้มกันไปในตัว

เธอยังแสดงทรรศนะไว้อีกว่า การเดินทางในสมัยปัจจุบันมีความน่าสนใจและการเข้าถึงท้องถิ่นน้อยลงสมัยก่อน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เพราะหากเป็นสมัยก่อน เราอาจต้องไปคลุกคลีและทำความรู้จักผู้คนในท้องถิ่นระหว่างทาง แต่ปัจจุบันนี้ แผนที่และอินเทอร์เน็ตในสมาร์ตโฟนกลับทำให้การท่องเที่ยวในลักษณะที่ต้อง ‘พูดคุย’ เหือดหายไป การท่องเที่ยวปัจจุบันจึงเน้นไปด้านการบริโภค มากกว่าการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกัน

สำหรับเธอ การออกไปสัมผัสชีวิตอย่างคนท้องถิ่นเองก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุกๆ สิ่งที่เรากิน อยู่ล้วนแต่มีการเดินทางในตัวของมันเอง หากใส่ใจมากขึ้น เราก็จะเข้าถึงเรื่องราวท้องถิ่น วัฒนธรรม และสภาพภูมิประเทศของที่แห่งนั้นได้เป็นอย่างดี

 

 

เบล – จิรเดช โอภาสพันธวงศ์ : กระจกสะท้อนของการเดินทาง

 

การเดินทางสำหรับ เบล – จิรเดช คือการหนีจากชีวิตที่เป็นอยู่ไปยังที่อันห่างไกล อารมณ์และความรู้สึกของเขาที่มีต่อการเดินทางจะสัมพันธ์กับชีวิต ความเป็นอยู่ และการทำงานด้วย หากช่วงไหนที่รู้สึกว่าชีวิตเริ่มไม่ค่อยดี เบลจะรู้สึกอยากเดินทาง แต่เมื่อชีวิตที่เป็นอยู่กำลังไปได้ดี เขาบอกว่าเราก็จะเริ่มเฉยชากับการเดินทางท่องเที่ยว

เขาเปรียบว่าการเดินทางก็เหมือนกับการไปทำความรู้จักสถานที่นั้นๆ เช่นเดียวกับการทำความรู้จักใครสักคน ซึ่งแต่ละเมืองก็มีทั้งมุมสว่างและมุมมืดของตัวเอง เหมือนกับผู้คนที่เราต้องทำความรู้จักตัวตนของเขา

การได้รู้จักทั้งด้านดีและด้านลบของสถานที่นั้นๆ ทำให้การเดินทางนั้นมีสีสันและมีอารมณ์ร่วมไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดก็สามารถเปลี่ยนความคิดของเราไปด้วย

สำหรับเขา การเดินทางไปพบปะผู้คนในต่างประเทศก็เหมือนกับการมองกระจกสะท้อนมายังตัวเองและวัฒนธรรมของเราด้วย การไปท่องเที่ยวต่างประเทศพร้อมกับคนไทยคนอื่นทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมหลายอย่างที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าหาผู้คน การพูดจา การวางตัว และอีกหลากหลายด้าน

“ในโลกยุคปัจจุบัน การที่เรามองว่ามีคนอื่นเยอะ มันทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว แต่การเดินทางที่มีคนเยอะ กลับทำให้เราไม่รู้สึกว่าเป็นคนอื่น แต่สร้างความรู้สึกดีๆ ให้เรามากมาย” เบลปิดท้ายด้วยการเล่าเรื่องสิ่งที่มากระทบใจในการเดินทางเกี่ยวกับบทสนทนา เรื่องราว และผู้คนที่เคยพบเจอระหว่างการเดินทาง

 

 

รศ. ธเนศ วงศ์ยานนาวา : ประวัติศาสตร์และบริบทของนักเดินทาง

 

ธเนศเริ่มต้นเล็คเชอร์บทเรียนของการเดินทาง ด้วยประวัติศาสตร์และบริบทของการเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยล่าสัตว์ เก็บของป่ากิน แต่เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไป การเดินทางก็เปลี่ยนไปด้วย

เช่นในสมัยกลาง ผู้คนเดินทางเพื่อไปจาริกแสวงบุญ แต่เมื่อศาสนาเริ่มเสื่อมความนิยมลง ผู้คนก็เริ่มออกเดินทางเพื่อบ่งบอกสถานะของตนในสังคม เพื่อแสวงหาคำตอบในชีวิตของตนเองแทน หรือแม้แต่เป็น Ego Trip

การไปท่องเที่ยวไม่ได้เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ตามใจฉัน แต่เราต้องใช้อภิสิทธิ์พิเศษบางอย่างเป็นตัวกำหนดการเดินทางของเรา

ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ต การงาน ฐานะของแต่ละคน ดังนั้นในทุกการเดินทางจึงมีความตระหนักในสถานะของตนแล้วว่าเราต้องมีสิทธิพิเศษบางอย่างอะไรบ้าง ถึงจะได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ

ในความเห็นของธเนศ โลกปัจจุบันมีความต้องการนวัตกรรมและมีความยืดหยุ่นมาก ซึ่งทั้งสองสิ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้กับชีวิตที่วนอยู่กับกิจวัตรซ้ำเดิม การท่องเที่ยวในบริบทของคนสมัยใหม่จึงแตกต่างมากขึ้นตามไปด้วย จากสมัยก่อนที่การท่องเที่ยวคือการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ยังใช้ชีวิตตามวิถีบ้านเกิด ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการแบกเป้แบ็กแพ็คของคนสมัยใหม่ที่ลองใช้ชีวิต กิน อยู่เยี่ยงคนท้องถิ่น

บางคนอาจพยายามหาการเดินทางที่ไม่ซ้ำและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่นั่นก็เป็นผลมาจากการโฆษณาความ ‘แมส’ ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะแบรนด์ชื่อดัง โฆษณา หรือแม้แต่รัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีความเป็นปัจเจกของตนเองอยู่โดยไม่ต้องพยายามทำอะไรที่อะไรไม่ซ้ำกับคนอื่น

ในหน้าสุดท้ายของการเดินทางใน 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 7 : The Art of travel – อะไรอยู่ในการเดินทาง? ธเนศได้ให้มุมมองในคำว่า ‘การเดินทาง’ ของเขาเอาไว้ นั่นคือการใช้สัมผัสทุกอย่างในร่างกายคน เป็นสิ่งที่ให้ประสบการณ์กับเรามากกว่าการอ่านหนังสือ (แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องชอบการอ่านหรือการเดินทางมากกว่ากันเสมอไป)

เพราะการได้ออกไปสัมผัสสถานที่จริง จะทำให้เราเปิดรับประสบการณ์อันกว้างขวาง รวมถึงวัฒนธรรมต่างถิ่น ที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเอง รากวัฒนธรรมของเรา ไปพร้อมๆ กับรากฐานของวัฒนธรรมอื่นได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save