fbpx
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับการศึกษารัฐศาสตร์เมืองไทย และเทวดาแห่งประวัติศาสตร์

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับการศึกษารัฐศาสตร์เมืองไทย และเทวดาแห่งประวัติศาสตร์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

I

 

ยามอยากเดินดูหนังสือแต่ไม่อยากเสียทรัพย์ ผมจะเข้าห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดที่เปิดให้คนเข้าไปเลือกหยิบหนังสือจากชั้นมาอ่านได้เอง ตอนไล่ดูหนังสือบนชั้น ผมจะสำรวจเล่มอื่นๆ ซ้ายขวาบนล่างที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงกับเล่มที่ต้องการไปด้วย วิธีนี้ทำให้พบหนังสือเก่าแต่น่าสนใจและไม่เคยเห็นมาก่อนเสมอๆ อ่านแล้วบางทีก็เพลิดเพลินจนลืมเวลา และดีกว่านั้นคือประหยัดเงินในกระเป๋าดีนัก

ล่าสุดจากการกวาดสายตาสำรวจหนังสือบนชั้นในห้องสมุด ผมพบหนังสือที่ตรงความต้องการโดยบังเอิญเข้าพอดี เหมือนเทพธิดามิวส์ไคลโอล่วงรู้ว่ากำลังมองหาวิธีนำเสนอเรื่องที่จะต้องเขียนให้อาจารย์ปกป้องผู้ส่งข้อความปรารภมาว่า ถ้าหากเป็นไปได้ บทความเดือนสิงหาคมนี้อยากให้เขียนเกี่ยวกับอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เพราะเดือนนี้จะมีการจัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในวาระอายุวัฒนมงคลของอาจารย์ ผมจึงได้เขียนบทความแบบฟื้นความหลังนี้ส่งมาร่วมกับมิตรสหายและศิษยานุศิษย์ของอาจารย์เพื่อแสดงมุทิตาจิตยินดีในวาระที่อาจารย์จะมีอายุครบ 6 รอบ

หนังสือที่ผมพบโดยบังเอิญในห้องสมุดมีชื่อบนปกว่า รัฐศาสตร์ 14 พลิกดูเนื้อหาข้างในปรากฏว่าเป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับรัฐศาสตร์และการเมืองไทย ที่ชุมนุมบรรณกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น ‘บรรณกร’ ของหนังสือ ได้แก่ วิชัย บำรุงฤทธิ์ หน้าสุดท้ายของเล่มเป็นประกาศระดมทุนสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาสภาหน้าโดมอยู่ด้วย เลยทำให้รู้เพิ่มเติมว่า วิชัย บำรุงฤทธิ์ เป็นสมาชิกของนักศึกษากลุ่มนี้ด้วยคนหนึ่ง

ผมไม่แน่ใจว่าเวลานี้ชุมนุมบรรณกรยังมีอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. ไหม แต่เมื่อดูบทความที่รวมอยู่ในหนังสือที่พวกเขาจัดทำในปีการศึกษา 2514 เล่มนี้แล้ว ต้องชมฝีมือการสรรหาและคัดเลือกบทความของคนเป็นบรรณกร เพราะไม่เพียงคุณภาพของบทความแต่ละเรื่องจะหนักแน่นในทางวิชาการ หรือน่าสนใจในทางแสดงกระแสความคิดทางการเมืองในเวลานั้นแล้ว หากมองบทความทั้งหมดเป็นภาพรวม เราก็จะได้ภาพสะท้อนให้เห็นพลังของหลายฝ่ายที่กำลังก่อตัวขึ้นมาและพลวัตทางการเมืองจากการปะทะกันของพลังเหล่านั้นที่จะเกิดตามมาได้ดีมาก  [1]

แต่ผมจะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะบทความสุดท้ายในหนังสือ รัฐศาสตร์ 14 เล่มนี้ บทความนั้นคือ ‘วิเคราะห์การศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทย’ ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนในเล่มระบุว่า “ปัจจุบันเป็นนักศึกษาทางรัฐศาสตร์อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา”

ผมอ่านบทความสั้นของอาจารย์ธเนศด้วยเห็นว่าน่ารู้อยู่มากว่าเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว อาจารย์มองรัฐศาสตร์ไทยไว้อย่างไร อย่างน้อยก็ทำให้ได้ข้อเปรียบเทียบว่าการศึกษารัฐศาสตร์สมัยนั้นกับสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วมากน้อยเพียงใด เพราะอาจารย์คงได้ใช้ประสบการณ์ในการเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาตั้งข้อสังเกตในบทความที่เขียน แต่พร้อมกันนั้น ผมเห็นว่าทัศนะที่อาจารย์แสดงไว้ในบทความเกี่ยวกับแนวทางอันควรใช้ในการศึกษารัฐศาสตร์ก็พอจะบ่งบอกให้เราทราบด้วยว่า อาจารย์พอใจเลือกใช้แนวทางแบบไหนในการหาและสร้างความรู้ ทั้งในขณะที่กำลังศึกษาต่อในตอนนั้น และในการทำงานวิชาการของอาจารย์ในเวลาต่อมา

 

II

 

เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวสมัยนั้น หรือในทุกสมัย อาจารย์ธเนศตั้งต้นที่ความไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่พอใจต่อสภาวะอันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อาจารย์ยกสภาวะที่ยังไม่น่าพอใจ 2 เรื่องมาเปิดประเด็นในบทความ

เรื่องแรกอาจารย์ตั้งข้อทักท้วงว่า ที่ใครๆ คิดว่ามหาวิทยาลัยจะเป็น ‘ชุมชนแห่งสติปัญญาและความรู้’ ที่สร้างความเจริญให้แก่สังคมส่วนรวมได้ อาจารย์เห็นในตอนนั้นว่ายังไม่เป็นความจริง แม้ว่านับเวลามาถึงขณะนั้นมหาวิทยาลัยจะตั้งมาได้ 30 กว่าปีแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันคืออาจารย์ไม่พอใจสภาพความรู้ทางวิชาการและทฤษฎีที่ใช้ได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะทฤษฎีทั้งหลายที่นำเข้าจากที่อื่น เพราะการเรียนความรู้และทฤษฎีในมหาวิทยาลัยตอนนั้น เรียนกันโดยขาดความเข้าใจและไม่พยายามหาทางทำความเข้าใจสภาพของสังคมไทย เมื่อเป็นแบบนั้น ทฤษฎีที่เรียนมาเลย ‘เอาไปทำอะไรไม่ได้’

เมื่อสภาวะของการศึกษาหาความรู้โดยรวมในมหาวิทยาลัยยังไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างที่อาจารย์ตั้งประเด็น การศึกษารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของไทยก็ได้ผลออกมาไม่ต่างกัน อาจารย์เห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือการสอนในมหาวิทยาลัยไม่ได้เปลี่ยนหรือสร้างความหมายของรัฐศาสตร์ในส่วนที่จะทำให้เข้าใจระบบการเมืองที่เป็นอยู่ของไทยเลย ความพยายามที่จะสร้างรัฐศาสตร์แบบตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นความเจริญสูงสุด กลับสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนให้แก่นักศึกษาและในที่สุดผู้คนนอกมหาวิทยาลัย เราศึกษาอย่างมากมายถึงตัวทฤษฎี และรูปสถาบันทางการเมืองและสังคมจะถูกแปรเปลี่ยนและบิดให้เข้ากับทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งผลก็คือทฤษฎีก็ส่วนทฤษฎี การปฏิบัติก็ส่วนปฏิบัติ จะมารวมกันไม่ได้”

ในบทความ อาจารย์ธเนศใช้งาน Political Man: The Social Bases of Politics ของ Seymour Martin Lipset นักสังคมวิทยาการเมืองชาวอเมริกันซึ่งกำลังโด่งดังมากในเวลานั้น มาชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษารัฐศาสตร์ตามทฤษฎีของตะวันตกโดยไม่เข้าใจสภาพของสังคมไทย เมื่อมองย้อนกลับไป ต้องกล่าวว่าอาจารย์ธเนศเลือกงานสำคัญของรัฐศาสตร์มาชี้ปัญหาได้เหมาะมาก อาจารย์เขียนบทความนี้ในปี 1971 ยอดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ของ Lipset ซึ่งตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 1960 จนถึงปี 1986 นับเฉพาะแต่ในสหรัฐฯ ยังไม่นับในประเทศอื่นรวมทั้งฉบับแปลอีก 14 ภาษา ขายได้มากถึง 250,000 เล่ม การเรียนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกในช่วงทศวรรษดังกล่าว ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ถ้าไม่ได้เรียนทฤษฎีของ Lipset ก็เหมือนกับว่าคนเรียนยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้สำคัญของสาขาวิชาที่ทั่วโลกเรียนรู้กัน

การเรียนทฤษฎีรัฐศาสตร์จากงานทฤษฎีอย่างของ Lipset สร้างปัญหาค้างใจอาจารย์ธเนศตรงไหน หรือพูดในแบบของผม ทำไมอาจารย์ธเนศในวันนั้นจึงอยากทักการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยตอนนั้นว่าอย่ามัวพากันท่องแต่ทฤษฎีของ Lipset กันแจ้วๆ อยู่เลย เพราะถึงจะรู้จำทฤษฎีของ Lipset ได้ขึ้นใจ อาจารย์ก็เห็นว่าการรู้ทฤษฎีของตะวันตกแต่เพียงเท่านั้นมันไม่ได้ช่วยให้ประชาธิปไตยของไทยมีคุณภาพดีขึ้นมาได้ [2]

ในงานเล่มนั้นของ Lipset เขาเสนอให้พิจารณาประชาธิปไตย ไม่เพียงเป็นระบอบการปกครอง แต่พิจารณาการเป็นประชาธิปไตยในคุณลักษณะทางสังคมและค้นหาว่าอะไรคือเงื่อนไขภายในสังคมที่จำเป็นสำหรับการเกิดขึ้นและคงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะพฤติกรรมในการเลือกตั้งของประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนน อะไรคือแหล่งที่มาของคุณค่าและขบวนการเคลื่อนไหวที่ช่วยรักษาสนับสนุนหรือเป็นอันตรายต่อสังคมประชาธิปไตย Lipset ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ จากสังคมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และของประเทศยุโรปเป็นหลัก และนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกาบางส่วน

แต่อาจารย์ธเนศเห็นว่าข้อจำกัดสำคัญในงานทฤษฎีประชาธิปไตยของ Lipset ส่วนหนึ่งอยู่ตรงที่ข้อเสนอของเขาใช้เกณฑ์การวัดตัวแปรตามทฤษฎีที่ไม่อาจนำมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ดีนัก ใช้แล้วจะไม่ได้ผลเช่นเดียวกับที่ตั้งเกณฑ์วัดประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ดังเช่นข้อเสนอที่ว่า สังคมไหนจะมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้ สังคมนั้นจะต้องมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและเจริญมั่นคงดี เครื่องบ่งชี้ที่ Lipset นำมาใช้วัดและจำแนกระดับความเจริญ เช่น รายได้ประชาชาติต่อหัว จำนวนวิทยุโทรทัศน์ต่อประชากร จำนวนโรงเรียน รถยนต์ หนังสือพิมพ์ เมืองขนาดใหญ่ระดับมหานคร ฯลฯ ตัววัดเดียวกันเหล่านี้เมื่อนำมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จะเห็นว่าแนวโน้มในด้านต่างๆ ตามตัวชี้วัดความเจริญดังกล่าวบ่งชี้ในทางที่สังคมเศรษฐกิจไทยเจริญขึ้นเรื่อยๆ ตามเกณฑ์ แต่ประชาธิปไตยของไทยกลับไม่ได้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวชี้วัดที่ Lipset ใช้แต่อย่างใด

นอกจากนั้น แม้ว่างานดังกล่าวของ Lipset จะพิจารณาประชาธิปไตยผ่านคุณลักษณะทางสังคม แต่นิยามประชาธิปไตยที่เขาใช้ก็พิจารณาประชาธิปไตยไปแบบกว้างๆ เน้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และการทำงานของพรรคการเมืองกับสถาบันอื่นๆ ที่แข่งขันกันเป็นตัวแทนเสนอความต้องการของประชาชน เช่น กลุ่มผลประโยชน์ อาจารย์ธเนศเห็นว่าการพิจารณาประชาธิปไตยของ Lipset มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจสภาพที่แตกต่างกันของสังคมแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา

กรอบการพิจารณาลักษณะทางสังคมที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตยในทฤษฎีของ Lipset มิได้ลงลึกไปศึกษาทำความเข้าใจรากฐานความคิดในเชิงค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมือง ตลอดจนลักษณะความสัมพันธ์และการรวมตัวทางสังคม ว่ามีอิทธิพลอย่างไรบ้างต่อแบบแผนพฤติกรรมทางสังคม และผลทางการเมืองที่ตามมาจากพฤติกรรมทางสังคมตามแบบแผนเหล่านั้น ซึ่งสังคมตะวันตกกับสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตกมีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัวในแบบพรรคพวกเพื่อนพ้อง หรือความสัมพันธ์ที่ผูกพันกันในเชิงครอบครัวหรือการมีบุญคุณ การพิจารณาแต่เพียงการมีชนชั้นกลาง มีสิ่งต่างๆ ที่ Lipset ใช้เป็นตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ จึงไม่ได้บ่งถึงคุณภาพของสังคมที่เอื้อหรือไม่เอื้อต่อประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาแต่อย่างใด อาจารย์ว่าตัวชี้วัดเหล่านั้นอาจบอกถึงความเสื่อมโทรมเสียด้วยซ้ำ

มาถึงสมัยนี้ แม้งานของ Lipset จะถูกแทนที่ไปแล้วด้วยนักทฤษฎีคนใหม่กับทฤษฎีล่าสุดที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการว่าสร้างข้อเสนอใหม่ๆ และก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ช่วยขยายพรมแดนความรู้ของรัฐศาสตร์ออกไป แต่ประเด็นในการจัดการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกอย่างที่อาจารย์ธเนศตั้งถามไว้ตอนนั้นก็น่าจะยังคงอยู่เหมือนเดิมว่า เมื่อต้องสอนผู้เรียนให้เข้าถึงงานทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ของตะวันตกที่นับถือกันว่าเยี่ยมยอดแล้ว งานอันเป็นเลิศเหล่านี้ให้เครื่องมือสร้างความรู้ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมของเราเองได้ดีเพียงใด

แต่ก่อนที่เราจะให้คำตอบยืนยันแบบไหน ผมคิดว่ายังเป็นประโยชน์อยู่เหมือนกันที่จะพิจารณาข้อทักท้วงของอาจารย์ธเนศผ่านงานทฤษฎีอันแพร่หลายของ Lipset ในวันอันล่วงมานานแล้วนั้นอีกที แม้ว่าอาจารย์ธเนศในวันนี้ก็คงมีความเห็นเกี่ยวกับการศึกษารัฐศาสตร์ในสหรัฐฯ และในเมืองไทยแผกไปจากวันนั้นไปมากแล้วก็ตาม

อาจารย์ธเนศในวันนั้นไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของทฤษฎีและความรู้วิชาการของตะวันตก และเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากความรู้และทฤษฎีเหล่านั้นอยู่มาก แต่ก็เห็นว่านักรัฐศาสตร์ตะวันตก“ใช้วิชาการกับประสบการณ์ของตนสร้างทฤษฎีขึ้นมาเพื่ออธิบายสังคมของตนเท่านั้นเอง มิได้ [มุ่ง] หาทางออกหรือ [เพื่อจะ] เข้าใจสภาพที่แท้จริงของประเทศด้อยพัฒนาเลย”

ด้วยเหตุนั้น การศึกษาทฤษฎีรัฐศาสตร์ของตะวันตกกันแบบทื่อๆ โดยไม่ศึกษาและหาทางเข้าใจสภาพตามความเป็นจริงในสังคมไทย แทนที่จะช่วยให้มองเห็นทางออกเพื่อแก้ไขความล้มเหลวที่ผ่านมาในการจัดระบอบการปกครองประชาธิปไตยให้ตั้งมั่นขึ้นได้ ทฤษฎีกลับถูกนำมาใช้เป็น “ข้ออ้างและเหตุผลสนับสนุนความล้มเหลวทางการเมืองต่อไป” และ “ในที่สุดเราจะมีแต่ดอกเตอร์ที่พูดได้แต่ทฤษฎีในสถาบันของตนเถียงกับดอกเตอร์ที่พูดแบบเดียวกันในสถาบันอื่น โดยที่คนอื่นๆ ไม่ได้รับประโยชน์มากไปกว่าการได้ยินได้ฟังศัพท์ใหม่ๆ แปลกๆ”

เมื่อเห็นบทวิเคราะห์ปัญหาของการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยอย่างนั้นแล้ว ผมก็มองหาต่อไปว่าอะไรคือข้อเสนอของอาจารย์ธเนศในวันนั้นเกี่ยวกับแนวทางอันควรจะเป็นสำหรับการศึกษารัฐศาสตร์ ผมคิดว่าความคิดที่อาจารย์เสนอไว้ในบทความพอจะทำให้คนอ่านอย่างผมมองเห็นรูปรอยของแนวทางการศึกษาที่จะเป็นของอาจารย์ในเวลาต่อมา

 

III

 

อาจารย์ธเนศแยกให้เห็นชัดในบทความว่า รัฐศาสตร์ในเมืองไทยไม่ได้เป็นสาขาวิชาที่มีหน้าที่แต่เพียงสำหรับสนองระบบราชการอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งของการศึกษารัฐศาสตร์ยังอยู่ที่การให้องค์ความรู้สำหรับเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า นอกจากแรงผลักดันที่มาจากความต้องการกำลังคนและการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการแล้ว ในจุดกำเนิดของการจัดการศึกษารัฐศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาขึ้นมาในประเทศไทยตอนต้นทศวรรษ 2490 นั้น “เราไม่สามารถจะคิดค้นรัฐศาสตร์แบบไทยได้ เนื่องจากระบบการปกครองได้เปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตย  เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย … รัฐศาสตร์ไทยจึงเริ่มต้นโดยการศึกษาความคิดอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย การต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันจะนำไปสู่ประชาธิปไตย กล่าวโดยสรุป ขอบเขตของรัฐศาสตร์ไทยคือพยายามเดินไปสู่ประชาธิปไตยและเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบการเมืองไทย”

ระหว่างการศึกษา 2 แนวทางที่อยู่ในจุดกำเนิดรัฐศาสตร์ไทย ชัดเจนว่าอาจารย์ธเนศไม่ได้สนใจแนวทางเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้แก่ระบบราชการ อาจารย์มั่นคงอยู่กับแนวทางศึกษารัฐศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ การพัฒนาและเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่พร้อมกันนั้นอาจารย์ก็มองเห็นปัญหาสำคัญที่คนศึกษารัฐศาสตร์ตามแนวทางนี้ในประเทศไทยจะต้องครุ่นคิดเพื่อหาทางแก้

ปัญหานั้นมาจากความเป็นจริงที่ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีตัวแบบตั้งต้นและมีพัฒนาการที่คลี่คลายเป็นลำดับมาในเงื่อนไขภายในสังคมตะวันตกก่อนที่จะแพร่ออกมาสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ด้วยเหตุนั้น การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความคิดและกลไกเชิงสถาบัน ที่เป็นองค์ประกอบในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยว่าทำงานอย่างไร ก็จำเป็นต้อง “ศึกษาถึงโครงสร้างทางการเมืองของตะวันตก ทั้งทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และแนวความคิดทางการเมือง” อาจารย์ไม่ปฏิเสธความสำคัญในการศึกษาเรื่องเหล่านี้ว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจดี แต่อาจารย์ชี้ให้เห็นความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่างประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ กับประเทศไม่ใช่ตะวันตกอย่างไทยในพัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่ละแห่ง

อาจารย์บอกว่า “ระบบประชาธิปไตยอังกฤษเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงในสังคมเอง โดยที่คนอังกฤษไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะสร้างระบบประชาธิปไตยแบบนั้นแบบนี้”  ในทางตรงข้าม ในประเทศไม่ใช่ตะวันตกอย่างไทย การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเปลี่ยนโดยการออกแบบหรือเป็นการตัดสินใจเลือกตัวแบบของการจัดการปกครองประชาธิปไตยแบบใดแบบหนึ่งของตะวันตกมาใช้ แล้วหาทางดำเนินแผนการตามตัวแบบที่ได้เลือกมานั้น ว่าในห้าปีสิบปีต้องทำอะไร ต้องสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง สำหรับที่จะให้การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตามตัวแบบที่เลือกขึ้นมาได้

เช่น  “ต้องสร้างระบบพรรคการเมือง ต้องสร้างกลุ่มผลประโยชน์ พรรคจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ … ในวงการมหาวิทยาลัยก็วิเคราะห์ถึงวิธีสร้างคนให้เป็นประชาธิปไตย จนแม้กรมการปกครอง กรมพัฒนาชุมชน รพช. ค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษา ตลอดจนคณะสงฆ์ก็เริ่มออกเดินทางไปชนบทเพื่อไปสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ชาวบ้าน” แต่อาจารย์ก็ชี้ปัญหาความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการเช่นนี้ให้เห็นว่า การวางแผนออกแบบหรือหาทางสร้างกลไกต่างๆ มารองรับการเปลี่ยนระบอบและจัดการปกครองใหม่ เมื่อทำไปแล้วก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จที่จะทำให้ปัจจัยและองค์ประกอบที่สร้างขึ้นมานั้นทำงานได้ผลตามตัวแบบประชาธิปไตยที่เลือกมาใช้ แม้แต่ผู้ทำก็ “รู้ดีว่าเป็นอย่างไร เพราะแม้ตัวเองก็ยังมีความคลุมเครือในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย”

จากข้อครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาความล้มเหลวในวิธีการที่ประเทศไม่ใช่ตะวันตกอย่างไทยนำมาใช้สร้างและเสริมสร้างประชาธิปไตย อาจารย์ธเนศในตอนนั้นจึงเห็นว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการเมืองและทฤษฎีการเมืองแบบตะวันตก เพราะ “ตะวันตกไม่ใช่ทุกๆ อย่าง” ที่จะให้คำตอบสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในเมืองไทย อันเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษารัฐศาสตร์ในเมืองไทยที่อาจารย์ธเนศใส่ใจ

สิ่งที่รัฐศาสตร์ไทยตามแนวทางนี้ควรศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การศึกษาความรู้จากรัฐศาสตร์ของตะวันตก อาจารย์ธเนศเสนอว่าคือการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบที่ถูกต้องให้แก่สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของประชาธิปไตยในประเทศไทยเอง และสร้างความรู้ “ที่จะอำนวยให้การปกครองมีประสิทธิภาพ มีความชอบธรรม” เกิดขึ้นมาได้ โดยคำนึงถึงเหตุปัจจัยที่มาจากลักษณะของสถาบันทางสังคมและการเมืองของไทย รวมทั้งผลจากการทำงานและประสิทธิภาพของสถาบันเหล่านี้จริงๆ ไม่ติดในกรอบว่าออกมาแล้วต้องให้ได้เหมือนหรือต้องมีอะไรเหมือนสถาบันเดียวกันนั้นของตะวันตก

อาจารย์เสนอให้เรา “เริ่มด้วยการค้นหาแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองตะวันออก ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและความคิดของคนไทย” เมื่อเข้าใจความคิดที่เป็นพื้นฐานของโลกทัศน์ของคนไทยแล้ว จากความเข้าใจนั้นก็จะได้มุมมองสำหรับวิเคราะห์สภาวะในปัจจุบันหรือร่วมสมัยของไทยต่อไป ไม่ว่าจะเป็น “ … สถาบันทางการเมืองของไทยมีลักษณะอย่างไร?  อะไรคือพฤติกรรมทางการเมืองของไทย? (นอกจากการเลือกตั้ง) คำว่า ‘พรรคพวก’ ครอบครัว นาย-บ่าวมีคุณค่าและมีอิทธิพลในการเมืองอย่างไร? และ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาสำคัญที่จะอธิบายความเป็นไปของการเมืองไทยได้มากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ การเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองเท่านั้น”

แนวทางศึกษารัฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่การหาทางเข้าใจความคิดและการกระทำของคนในสังคมตามเงื่อนไขความเป็นมาของสังคมแต่ละแห่ง สอดคล้องกับที่อาจารย์เล่าไว้ในคำนำหนังสือรวมผลงานของอาจารย์อีกเล่มหนึ่งคือ ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาจารย์ย้อนความหลังให้ฟังว่าสมัยเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  วิชาที่อาจารย์เห็นความสำคัญเป็นพิเศษคือวิชาความคิดทางการเมือง อาจารย์เรียนวิชานี้กับอาจารย์เสน่ห์ จามริก และเห็นว่าเสน่ห์ของวิชานี้อยู่ที่การตั้งคำถามและให้แนวพินิจสำหรับการพิจารณาคำตอบที่แต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัยจะเสนอออกมา เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม/ในสังคม เช่น มนุษย์คืออะไร อะไรคือจุดหมายอันดีงามสำหรับสังคมมนุษย์ การปกครองที่ดีคืออะไร ทำไมคนเราจึงยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ฯลฯ

ผลงานเขียนของอาจารย์ที่หนังสือเล่มนี้รวบรวมไว้เกี่ยวกับวัฒนธรรมความคิดแบบกระฎุมพีไทยเป็นการพยายามทำเข้าใจความคิดและการกระทำของคนไทยในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ เมื่ออ่านแต่ละบทประกอบกัน คนอ่านจะได้ความเข้าใจรากฐานของความคิดที่มีนัยสัมพันธ์กับการเมือง การปะทะตอบโต้กันทางความคิดและการกระทำระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกันในเป้าหมายปลายทางของสังคมที่ดีและระบอบการปกครองที่พึงประสงค์  รวมทั้งผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านั้นที่สร้างผลสะเทือนในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นของไทย

ผลงานชุดนี้ในทางหนึ่งจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าในเวลาต่อมา อาจารย์ธเนศได้ทำงานวิชาการตามแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ไทยที่อาจารย์สนับสนุนมาแต่แรก และพร้อมกันนั้น งานชุดนี้ได้ให้ตัวอย่างอันดีในการแสดงให้เห็นถึงวิธีศึกษาความคิดการเมืองไทยตามแนวทางดังกล่าวของอาจารย์เองว่าอาจารย์ใช้วิธีอย่างไร

ผมอยากชวนให้คนที่สนใจศึกษาประวัติความคิดทางการเมืองไทยได้ลองใช้ชุมทางที่อาจารย์สร้างขึ้นมาในงานเหล่านี้เป็นเส้นทางแยกย้ายพาเข้าสู่การทำความเข้าใจการปะทะและการสมานทางความคิด ที่มีรากฐานทั้งเก่าและใหม่หลากหลายกระแสจากภายในและภายนอกในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 ต่อถึงศตวรรษที่ 20  อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำ คนชั้นนำ และปัญญาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยสลับสับเปลี่ยนกันมารับบทบาทเป็นคนนำ และเป็นคนยั้ง การรับความคิดและเทคนิควิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

อย่างน้อย ผมเชื่อว่าคนที่เข้าไปสังสรรค์กับข้อเสนอจำนวนมากที่อยู่ในงานของอาจารย์จะได้คู่สนทนาที่ดี ทั้งในส่วนที่ชวนให้เห็นพ้อง กับส่วนอันควรเห็นแย้ง และจะได้รับประโยชน์เป็นอันมากจากการสนทนากับตัวบททั้ง 2 ส่วนนั้น

 

IV

 

ไหนๆ ผมก็ได้เขียนบทความนี้ฟื้นความหลังจากงานเขียนเก่าของอาจารย์ธเนศ อนุญาตให้ผมเขียนบทความต่อจนจบด้วยเรื่องจากความทรงจำที่ผมได้พบอาจารย์เป็นครั้งแรกเถิดนะครับ

ผมมีโอกาสพบอาจารย์ธเนศครั้งแรกที่วอชิงตัน ดีซี จะเป็นในปีสุดท้ายของสมัยประธานาธิบดีเรแกน หรือในปีแรกของบุชคนพ่อผมก็จำไม่ได้แน่ อาจารย์กับอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุขมาร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษาที่ปีนั้นจัดกันที่นั่น เสร็จจากการเสวนาในวงประชุม อาจารย์ทั้ง 2 อยากสำรวจตลาดหนังสือ ผมรู้จักร้านหนังสือมือสองดีๆ ในดีซีและปริมณฑลหลายร้าน คือดีทั้งราคาและดีทั้งหนังสือในสาขาความสนใจของพวกเรา หนังสือที่อาจารย์ธเนศไปพบเข้าอย่างสบใจในร้านหนึ่งวันนั้นพลอยทำให้ผมมีโอกาสรู้จักงานประวัติศาสตร์ทาสในอเมริกาของ Eugene D. Genovese เป็นครั้งแรกด้วย อาจารย์เล่าว่าอาจารย์เรียนมากับศาสตราจารย์ Genovese และบอกคุณสมบัติของอาจารย์ Genovese ให้ผมทราบสั้นๆ ว่าเขาเป็นนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์

จากความทรงจำเรื่องนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับอาจารย์ธเนศ แต่ขอเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่าข้อสังเกตที่จะตั้งนี้เป็นการว่าโดยคาดคะเน เพราะผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์ธเนศ หรือมีโอกาสศึกษาผลงานของอาจารย์อย่างครอบคลุมดีพอแต่อย่างใด

แต่จากที่ได้อ่านงานของอาจารย์ในส่วนที่ผมสนใจ ผมเห็นความคิดในงานเหล่านั้นไม่น้อยเลยที่เป็นความคิดในทางเสรีนิยม แล้วถ้าหากใครจะบอกว่าอาจารย์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อย่างอาจารย์ของอาจารย์ แต่ผมคิดว่าอาจารย์ธเนศก็คงได้รับอิทธิพลของมาร์กซิสต์มามิใช่น้อย แต่มาร์กซิสต์ก็เป็นกระแสความคิดอันมั่งคั่ง และมีข้อถกเถียงระหว่างกันเองที่ทำให้แยกประเภทภายในออกไปได้อีกมาก ถ้าลองพิจารณาเบาะแสจากช่วงเวลาที่อาจารย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ประกอบกับงานของ Genovese ที่อาจารย์แนะนำให้ผมรู้จักในวันนั้นอย่าง Roll, Jordan, Roll เพื่อให้เดาถึงอิทธิพลทางความคิด ว่าความคิดมาร์กซิสต์แบบไหนที่น่าจะมีอิทธิพลเป็นพิเศษต่ออาจารย์ ผมก็อยากจะเดาว่า อาจารย์น่าจะพอใจงานมาร์กซิสต์ในสาย E. P. Thompson เจ้าของผลงานประวัติศาสตร์ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในอังกฤษ มากกว่าจะเป็นงานในสายของเจ้าสำนักทฤษฎีมาร์กซิสต์เชิงโครงสร้างอย่าง Louis Althusser หรือ Nicos Poulantzas

ที่ผมเดามานี้ จะเดาผิดเดาถูก จะพอเข้าเค้าใกล้เคียงเพียงใด หากใครจะลองขอคำตอบจากอาจารย์ธเนศ อาจารย์ก็คงยินดีจะเฉลยให้ฟัง

เมื่อเขียนเรื่องฟื้นความหลังจากบทความเก่าของอาจารย์ธเนศมาจนจะจบด้วยบรรทัดข้างต้นอยู่แล้ว ผมก็กลับได้คิดขึ้นมาเมื่อเปิดไปเห็นรูปวาดฝีมือปอล คลี ที่อาจารย์ธเนศนำมาใช้ประกอบการเขียนบทความหนึ่งในหนังสือ ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เมื่อได้คิดก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่า น่าจะดีอยู่เหมือนกันถ้าผมจะจบบทความนี้ด้วยการสนทนากับตัวบทในงานของอาจารย์ธเนศ ในเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของการมองย้อนหลังและการมองไปข้างหน้า ตามความหมายจากการตีความรูปนั้นโดยผู้เคยเป็นเจ้าของครอบครองมันมาก่อน ผมคิดว่าเขาเป็นปัญญาชนนักคิดมาร์กซิสต์อีกคนหนึ่งที่อาจารย์ธเนศชื่นชมมากทีเดียว

 

ภาพวาด Angelus Novus โดย ปอล คลี  ซึ่งวอลเตอร์ เบนยามิน ซื้อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 เขาใช้ภาพนี้ในการเขียนบทความหลายชิ้น ที่สำคัญคือในบทว่าด้วยปรัชญาประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า “เทวดาแห่งประวัติศาสตร์” (The Angel of History)

 

รูปวาดฝีมือ ปอล คลี รูปนั้นคือ Angelus Novus เป็นรูปที่อาจารย์เล่าว่าเคยอยู่ในความครอบครองของวอลเตอร์ เบนยามิน ในตอนต้นบทความที่อาจารย์เขียนถึงความคิดเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาชนสยามคนหนึ่ง อาจารย์แปลความหมายที่เบนยามินเขียนตีความเทวดากางปีกในรูปวาดนั้นไว้ (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2549, 226-227) ดังนี้

“ดูเหมือนกับว่าเทพองค์นั้นกำลังเคลื่อนตัวออกไปจากบางสิ่งบางอย่างที่พระองค์กำลังเพ่งพินิจพิจารณาอยู่ ดวงเนตรทั้งสองจับจ้องไปข้างหน้า พระโอษฐ์เปิดอ้าและปีกกางสะบัดอยู่ นี่คือจินตภาพที่คนเรามีต่อเทพแห่งประวัติศาสตร์ พระพักตร์ของเทพหันไปสู่ทิศทางของอดีต ซึ่งเรามองเห็นเหตุการณ์ในอดีตเชื่อมต่อกันราวกับเป็นสายโซ่ เทพแห่งประวัติศาสตร์มองเห็นกลียุคหนึ่งที่สร้างความพินาศให้แก่สังคม อันแล้วอันเล่าที่ทับถมกันเป็นพะเนิน แล้วปลิวมากองอยู่ที่เบื้องหน้าพระบาท เทพองค์นี้ต้องการที่จะอยู่ตรงนั้นเพื่อจะปลุกคนที่ตายไปแล้วให้ตื่นขึ้นมา แล้วสร้างสิ่งที่ถูกทำลายให้คืนกลับมาดังเดิมอีกด้วย แต่แล้วก็มีพายุกำลังพัดกระหน่ำมาจากสวรรค์อย่างรุนแรง กระทั่งเทวดายังไม่อาจหุบปีกทั้งสองลงได้ เจ้าพายุนี้ไม่มีใครอาจหยุดยั้ง ได้หอบเอาเทพแห่งอดีตปลิวละลิ่วเข้าไปสู่อนาคต ซึ่งอยู่ทางทิศด้านหลังของเทพ ในขณะเดียวกับที่ซากสลักหักพังและผงฝุ่นของความพินาศที่กองอยู่เบื้องหน้าปลิวว่อนคละคลุ้งขึ้นสู่ท้องฟ้า เจ้าพายุนี้เองคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า ความเจริญก้าวหน้า”

เช่นเดียวกับเทวดาองค์นั้น ชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ธเนศในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติความคิดทางการเมืองของปัญญาชนสยาม/ประเทศไทย ก็อยู่ท่ามกลางพายุแห่งความเจริญก้าวหน้าที่พัดอาจารย์ปลิวละลิ่วเข้าหาอนาคต ด้วยความคิดจิตใจของอาจารย์ที่เห็นคุณค่าของความคิดเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ คราวนี้ผมกล่าวได้อย่างมั่นใจโดยที่ไม่ต้องพึ่งการคาดเดาว่า ถ้าหากอาจารย์จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในระหว่างการย้อนกลับหลังไปอยู่กับอดีต กับการมองไปข้างหน้าสู่อนาคต อาจารย์ธเนศจะไม่เลือกย้อนกลับหลัง แต่จะเลือกเหมือนกับศรีบูรพา

คืออาจารย์จะเลือกที่จะ ‘แลไปข้างหน้า’ แน่นอน

แต่ก็เช่นเดียวกับเทวดาองค์นั้น แม้นักประวัติศาสตร์อาจพร้อมที่จะล่องละลิ่วเข้าหาความก้าวหน้าโดยเต็มใจยิ่งกว่าการอยากจะยั้งหยุดอยู่กับที่ หรือวนกลับคืนไปหาอดีต เขาก็ไม่อาจแลไปข้างหน้าเช่นศรีบูรพาได้ เพราะเขาต้องกลับหลังหันมาเพ่งพินิจอดีต เพื่อดูซากความพินาศที่กองพะเนินอยู่ตรงหน้า แล้วลอยถอยหลังไปโดยแรงพายุพัดเข้าหาอนาคต ที่ความก้าวหน้าได้หลบหายจากสายตาไปอยู่ทางเบื้องหลัง

ผมไม่แน่ใจว่าในระหว่างที่ต้องเพ่งพินิจดูสิ่งที่ถูกทำลายและพยายามที่จะปลุกคนตายให้ฟื้นคืนมา ซากสลักหักพังที่กองพะเนินจากพายุและผงฝุ่นความพินาศที่ไม่มีจางที่เห็นอยู่ตรงหน้าเรื่อยมาตามทาง จะทำให้นักประวัติศาสตร์ที่พอใจและตั้งใจไปสู่ความก้าวหน้านึกเฉลียวใจกับสิ่งที่เห็นและคิดอย่างไรบ้างไหม ว่าในความเจริญก้าวหน้าตรงไหนเล่าที่ “เขาแลเห็นความสวยงามของมันพวยพุ่งขึ้นมาอย่างแจ่มจ้า และอย่างมีชีวิต เป็นความสวยงามที่มีความเคลื่อนไหวและสดชื่นต่างกว่าในกาลก่อน” ?

ศรีบูรพา ผู้เขียนข้อความข้างต้น ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ และยิ่งไม่ใช่เทวดาแห่งประวัติศาสตร์ แต่เขาคือสักขีพยาน

ความสวยงามที่ศรีบูรพามองเห็นท่ามกลางซากปรักหักพังที่ทับถมกันอยู่ตรงหน้าเทวดาแห่งประวัติศาสตร์ เขาได้ชี้ไปที่ ‘ตึกที่สร้างด้วยหินอ่อนอย่างวิจิตร’ หลังหนึ่ง

ดังศรีบูรพาบรรยายไว้ใน แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย อย่างที่น่าจะจับใจทุกๆ คนที่อ่าน ว่า

“… ราษฎรทั้งหลายได้ทราบว่าผู้แทนของเขาทำงานได้อย่างคู่ควรแก่สง่าราศีของตึกหินอ่อนนั้น เขาซักไซ้โต้ตอบปัญหาการเมืองกับฝ่ายรัฐบาลอย่างคล่องแคล่วฉาดฉาน … ฝ่ายรัฐบาลซึ่งประกาศตนว่าเป็นรัฐบาลของราษฎรก็ให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้แทนราษฎรเหล่านั้นว่า จะได้นำข้อเสนอและข้อวิพากษ์วิจารณ์ ของเขาไปพิจารณาด้วยดี … ราษฎรจึงมองตึกหินอ่อนอันสง่างามด้วยความรู้สึกว่าพระที่นั่งหลังนั้นและสิ่งต่างๆ ภายในบริเวณรั้วเหล็กนั้น เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดชีวิตของเขา  เป็นสิ่งน่าทอดทัศนา  เพราะมันดูคล้ายกับว่าเขาได้มีส่วนเป็นเจ้าของมันด้วย มันกลายมาเป็นพระที่นั่งที่มีความเป็นกันเองและสนิทสนมกับเขา และเขาก็พอจะเข้าใจในความสวยงามของมันได้”

แต่ศรีบูรพาก็เขียน แลไปข้างหน้าภาคมัชฌิมวัย ค้างไว้ไม่จบ มันเหมือนกับเป็นลางบอกเหตุ หรือมิเช่นนั้นก็เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงพัฒนาการที่สะดุดหยุดอยู่ของประชาธิปไตยในประเทศนี้ และเหตุที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ต้องหยุดค้างไว้ไม่จบ ก็คือหนึ่งในซากปรักหักพังกองพะเนิน ที่คนศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยรวมทั้งอาจารย์ธเนศและมิตรสหายของอาจารย์มองเห็น

แต่สัญลักษณ์นี้ก็จะกลายเป็นคำสาปเทวดาแห่งประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ถ้าหากเขามองไม่เห็นหรือจงใจละเลยคำให้การของสักขีพยานคนสำคัญอย่างศรีบูรพา ผู้เห็น ‘ความมืดแผ่อยู่บนท้องฟ้าของประชาธิปไตย’

ศรีบูรพาเขียนให้เซ้ง ตัวละครในเรื่องผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์เหมือนกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ในชีวิตจริง เล่าไปในจดหมายที่เขาเขียนถึงนิทัศน์ เพื่อนที่เรียนกฎหมายอยู่ที่อังกฤษ

ในระหว่างสองสามปีมานี้ ประชาธิปไตยได้เสื่อมทรุดลงไปอย่างน่าวิตก ความมืดแผ่อยู่บนท้องฟ้าของประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าสะพานที่ทอดไปสู่ประชาธิปไตยได้ถูกรัฐบาลชักขึ้นเสียแล้วเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483  เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในเดือนนั้นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยืดบทเฉพาะกาลออกไปอีกสิบปี นั่นคือ การยืดเวลาผูกขาดการยึดครองอำนาจของบุคคลบางคนในคณะผู้ก่อการออกไปอีกสิบปี และเมื่อได้มีการยืดออกไปได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีการยืดต่อไปเมื่อครบเวลาอีกสิบปี นั่นเป็นยามที่มืดที่สุดของประชาธิปไตย

แต่ความมืดยิ่งกว่านั้นยังมีมาได้อีก เมื่อศรีบูรพาต้องค้างการ ‘แลไปข้างหน้า’ ไว้ตรงเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้ามาจับกุมเซ้งถึงในบ้าน เพราะเขาถูกทางการสงสัยว่ากำลังเคลื่อนไหวในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อต้านรัฐบาล

คำสาปแบบหนึ่งคือการสาปให้ต้องวนเวียนกลับมาทำซ้ำอยู่ที่เดิมครั้งแล้วครั้งเล่า เทวดาแห่งประวัติศาสตร์ผู้คิดว่ากำลังลอยถอยหลังไปหาความก้าวหน้า แต่ความจริงก็อาจเป็นเพียงการลอยวนเวียนกลับไปกลับมาเพื่อที่จะเห็นสิ่งที่เกิดซ้ำเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า

บางทีคนที่ชาญฉลาดแต่ต้องเจอคำสาปให้ต้องอยู่กับการเวียนวนกลับมาเช่นนี้ เขาจะเลือกแนวทางรัฐศาสตร์ในเมืองไทยอีกสายหนึ่ง ที่อาจารย์ธเนศไม่ได้เลือก นั่นคือ แนวทางรัฐศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อำนาจรัฐราชการ และเมื่อเขาได้เลือกอย่างนั้นและเลือกได้ตามนั้น ‘แลไปข้างหน้า’ ของศรีบูรพา ก็อาจต้องค้างไว้ไม่จบอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

หรือจนกว่าบรรดาเทวดาแห่งประวัติศาสตร์จะระลึกได้ และกลับมาพิจารณาปากคำของสักขีพยาน เช่น ศรีบูรพา หรือหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน โดยเคารพในถ้อยแถลงเหล่านั้นว่าพวกเขากำลังบอกความจริง


เชิงอรรถ

[1] เนื้อหาในเล่มส่วนที่เป็นงานด้านวิชาการ นอกจากบทความเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิวัติ การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ที่ควรกล่าวถึงยังมีบทความขนาดสั้นของชาญวิทย์ เกษตรศิริเขียนเสนอ ‘สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ ซึ่งในเวลาต่อมาอาจารย์จะเขียนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ขยายไปไกลกว่าสังเขป ส่วนบทที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนติดตามพัฒนาการของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศไทย ได้แก่บทความขนาดยาว (ซึ่งน่าจะยาวที่สุดในเล่ม) ของไรน่าน อรุณรังษี ที่เขียนให้อรรถาธิบาย ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของอิบนิคอลดูน’ ไว้อย่างละเอียด ส่วนผู้ที่นำงานของนักคิดศตวรรษที่ 14 เจ้าของผลงานศาสตร์ว่าด้วยสังคมมนุษย์ The Muquaddima มานำเสนอเป็นทางเลือกสำหรับทำความเข้าใจระเบียบโลกในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ได้แก่ Robert W. Cox, “Towards a post-hegemonic conceptualization of world order: reflections on the relevancy of Ibn Khaldun,” in James N. Rosenau and , Ernst-Otto Czempiel, eds., Governance without Government: Order and Change in World Politics (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 132-159.

ในส่วนที่เป็นบทความแสดงพลังหรือกระแสความคิดทางการเมืองที่หนังสือได้รวบรวมไว้ นอกจากบทนำของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เขียนบรรทัดปิดท้ายด้วยคำเตือนให้คิดถึงสังคมที่กำลังจะ ‘แสดงพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง’ แล้ว ยังมีบทความของปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ฝ่ายหนึ่ง ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และนิพนธ์ ศศิธร อีกฝ่ายหนึ่ง และของวัฒนา เขียววิมล ที่ควรแยกออกมาต่างหากเป็นอีกฝ่าย นอกจากนั้นยังมีบทความของอาจารย์สมพร แสงชัย ซึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมาจะได้เขียนบทความ The Rising of the Rightist Phoenix สะท้อนพลังทางการเมืองของกลุ่มขบวนการของฝ่ายขวาในการเมืองไทยช่วงนั้น

[2] ข้อสังเกตของอาจารย์ธเนศดังกล่าวนี้ ในอีกหลายสิบปีต่อมา ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน จะตั้งข้อสังเกตการศึกษารัฐศาสตร์/สังคมศาสตร์ในสหรัฐฯ ว่าเป็นการสอนโดยวิธีให้คนรุ่นหนึ่งฝึกวิทยายุทธกับทฤษฎีหนึ่งสำหรับใช้โจมตีทฤษฎีเก่า แต่แล้วไม่นานต่อมา ทฤษฎีที่เคยใช้เป็นอาวุธนั้นก็ตกสมัยไป และถูกแทนที่โดยทฤษฎีอื่นที่ใหม่กว่า เป็นที่ฮือฮามากกว่า ก่อนที่มันเองก็จะถูกทฤษฎีที่ใหม่ยิ่งกว่าเข้ามาแทนที่

 

หนังสือที่ใช้ประกอบการเขียนบทความ 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2549). ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

นิมิตรมงคล นวรัตน, หม่อมราชวงศ์. (2524). รอยร้าวของมรกต. (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ผู้แปล, ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ผู้เขียนคำนำ). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิชัย บำรุงฤทธิ์ (บรรณาธิการ). (2524). รัฐศาสตร์ 14. กรุงเทพฯ: ชุมนุมบรรณกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรีบูรพา. (2545). แลไปข้างหน้า (รวมภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัย). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save