fbpx
2475: ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต กับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

2475: ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต กับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

24 มิถุนายน 2563 ครบรอบ 88 ปี ‘การอภิวัฒน์สยาม 2475’ ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นจากการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง จุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย มาในวันนี้กลับมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หากแต่เรื่องราวภายหลังการยึดอำนาจมิได้จบลงแต่เพียงเท่านั้น ยังมีการต่อสู้ทางการเมืองอีกมากมายที่รอคอยให้ยุวชนคนรุ่นหลังเข้าไปค้นหา

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในรายการ 101 One-on-One Ep.156 | “2475: ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต”

:: สายลมสะพัดของกระแสการเปลี่ยนแปลง ::

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ตอนนั้นกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์รวมของกองทหารขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 ประชุมที่หัวหินในเที่ยงคืนของวันนั้น ก็ต้องไปนั่งคุยว่า ในบรรดาทหารกองพันที่คุมกรมต่างๆ ใครนะจะยังจงรักภักดีต่อเรา และใครที่น่าจะเปลี่ยนใจบ้าง พอฝ่ายทหารบอกว่าเราสู้ได้ เชียร์ให้พระองค์สู้และให้ยึดอำนาจกลับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้ากลับถามว่า จริงหรือที่จะชนะ? สิ่งหนึ่งที่เป็นความคิดของพระองค์ คือ ราษฎรจะยังจงรักภักดีต่อระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่ และอีกความคิดหนึ่งคือ วันใดวันหนึ่งประเทศเราก็ต้องเล่นเกมประชาธิปไตยใช่หรือไม่

รัฐธรรมนูญอเมริกาถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยหมอบรัดเลย์ ด้วยการเอามาพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเอง คนกลุ่มแรกที่ได้อ่านคือชนชั้นนำไทยในสมัยนั้นเพราะจะเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ ต่อมาพอได้ไปเรียนต่อในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ก็จะได้อ่านประวัติศาสตร์ของยุโรป เรื่องราวเหล่านี้มันชี้ให้เห็นว่ากระแสประชาธิปไตยมันพัด โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ที่อเมริกาในยุคของ อับราฮัม ลินคอล์น มีสงครามกลางเมือง ฆ่ากันเป็นล้านคนเพื่อคำถามคำเดียวว่า คนเท่ากันไหม เพราะฉะนั้นกระแสก็มาถึงไทยและนำไปสู่การยกเลิกระบบไพร่ทาส เราได้อิทธิพลมาจากอเมริกาทั้งนั้นเลย ทั้งคนเท่ากัน ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ

เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 สิ่งที่พระองค์ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือให้ยกเลิกการหมอบคลาน ให้ลุกขึ้นยืนทำความเคารพ เพราะจีนหรือญี่ปุ่นได้ยกเลิกวิธีการหมอบคลานหมดแล้ว มันเป็นเรื่องของความศิวิไลซ์ ไม่ใช่เรื่องของการกดขี่ข่มเหง ดังนั้นชนชั้นปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นรัชกาลที่ 5 6 7 ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือคำถามว่า “เกมประชาธิปไตยมันต้องเล่นไหม?”

แม้ว่าจะมีฝ่ายข้าราชการและขุนนางกลุ่มหนึ่งบอกว่าเราเล่นเกมประชาธิปไตย แบบญี่ปุ่นดีกว่า แต่รัชกาลที่ 5 เลือกที่จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งแนวคิดนี้ก็มาจากตะวันตกเหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจเส้นทางของแนวคิดทางการเมืองและการเติบโต เราก็จะเห็นว่า ทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตย ล้วนเป็นระบอบที่มาจากตะวันตกเหมือนกัน เพียงแต่ว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ได้เลือกประชาธิปไตย

คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นคือ เราควรจะมีประชาธิปไตยเมื่อไหร่ อย่างไร พอมารัชกาลที่ 6 จึงเกิดดุสิตธานี พอมารัชกาลที่ 7 ก็ต้องเริ่มคิดมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศที่เป็นอาณานิคมเรียกร้องเอกราชทางการเมือง และเมื่อได้เอกราชทุกคนก็เลือกที่จะเป็นประชาธิปไตย จึงยิ่งเป็นการสั่นและท้าทายอธิปไตยของรัชกาลที่ 7 มาก แต่เมื่อคิดจะเล่นเกมประชาธิปไตยแล้วอำนาจก็ต้องเป็นของประชาชน พระองค์คิดเพียงแต่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง มีสภาจากการแต่งตั้ง ซึ่งตรงกันข้ามกับคณะราษฎรว่าต้องมีสภาและการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้ การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย

:: คณะราษฎร กับ ‘ยุทธวิธี’ ในการยึดอำนาจ ::

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

คณะราษฎรยึดอำนาจสำเร็จไม่ใช่เพราะมีกำลังกล้าแข็ง แต่เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มันมีปัญหาทั้งระบอบ ทั้งตัวแสดงต่างๆ ระบบโครงสร้าง ปัญหาภายใน วิธีการทางอำนาจ มันสิ้นสุดภายในตัวเอง เพียงแต่คณะราษฎรมาถึงแล้วแตะเบาๆ ก็ล้มครืนไปทั้งระบบ

คณะราษฎรมีคนอยู่ 102 คน สามารถที่จะยึดอำนาจประเทศนี้ได้โดยที่ไม่มีกองกำลังทหารในมือ เพราะระบอบเดิมมันมีปัญหา มันกลวง เหมือนส้มหยุด พอบอกให้หยุดมันก็หยุด คณะราษฎรแค่มาพร้อมกับยุทธวิธี ทำให้การบังคับบัญชาหยุดได้แค่นั้นเอง

พระบาทสมเด็จพระปกครองเกล้าหลังจากฉลองพระนคร 150 ปีแล้วก็ทรงเสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล และผู้ที่เป็นตัวแทนในการดูแลกรุงเทพคือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในวันเสาร์-อาทิตย์จะไปล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่กลับขึ้นฝั่ง คณะราษฎรจึงเลือกวันก่อการเป็นวันศุกร์ ส่วนที่ต้องเป็นวันที่ 24 เพราะก่อนหน้านั้นสองวันเสนาบดีกลาโหมและรองเสนาบดีกลาโหมไปต่างจังหวัดแล้วเอาแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งคุมกรุงเทพฯ และภาคกลางติดไปด้วย พูดได้ว่าทหารสำคัญ 3 คนไม่อยู่ และยุทธวิธีของคณะราษฎรคือการตัดสายโทรศัพท์และโทรเลข การสื่อสารจึงหยุดทั้งประเทศ

จากกลุ่มที่ไม่มีทหารอยู่ในมือ กลายเป็นกลุ่มที่สามารถรวบรวมกลุ่มทหารได้ส่วนใหญ่ กลยุทธ์หนึ่งคือพระประศาสตร์พิทยายุทธ ซึ่งมีฐานะเป็นอาจารย์ของกลุ่มทหารโรงเรียนนายร้อยทหารบก เช้าวันนั้นมีกองทหารกลุ่มหนึ่งออกมาฝึกทหารกันที่สนามหลวง พระประศาสตร์ฯ ก็ลงจากรถมาไล่ให้ไปรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยหลอกว่ามีการซ้อมอาวุธ จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทหารที่เป็นกำลัง แต่ส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยจริงๆมาจากนักเรียนนายร้อยทหารบก มีทั้งนักเรียนนายดาบ และทหารเรือ 200 คน รวมทั้งทหารช่างที่กำลังฝึกก็ถูกไล่ให้ขึ้นรถไปรวมเป็นการ์ด เป็นกลยุทธ์ของฝ่ายที่ไม่มีกำลังเป็นของตัวเองซึ่งต้องผ่านการวางแผนและใจสู้มาก

ถามว่าลักไก่ไหม เรียกว่าเป็นยุทธวิธีที่ทำยังไงให้เรามีกำลังมากกว่าฝ่ายชนชั้นผู้ปกครอง สิ่งหนึ่งที่ทหารมีปัญหาคือกำลังทหารที่เป็นพวกนายสิบเขาต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้นก็จับนายทหารบังคับบัญชานายร้อยนายพันไปอยู่อีกที่หนึ่ง ทหารที่เหลือก็กลายเป็นกำลังของเราแล้ว

:: 2475 สำเร็จหรือล้มเหลว ปัจจุบันเราเดินถึงไหนกันแล้ว ::

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

การต่อสู้ของทุกฝ่าย แม้แต่การรัฐประหารเองก็ทำเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ ดังนั้นชุดคำอธิบายคือ ต้องทำให้คนยอมรับการที่เขาจะดำรงอยู่ให้ได้ และต้องสร้างความทรงจำที่ทำให้เห็นพวกเขาเป็นพระเอก เห็นอีกสิ่งหนึ่งเป็นผู้ร้าย ถามว่าเขาทำสำเร็จไหม สำเร็จแล้ว คณะราษฎรกลายเป็นผู้ร้ายแบบสุดๆ หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เลย แต่เขาไม่ได้ทำสำเร็จอย่างต่อเนื่องเพราะมันฟื้นกลับมา ไม่ใช่แค่เรื่องการไปวางหมุดที่ระลึก แต่มันเดินทางไปสู่ความฝันอันสูงสุดของคณะราษฎร คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่ทำให้มีการจัดตั้งอบต.ทั้งประเทศ

ความใฝ่ฝันของคณะราษฎรคือการสร้างท้องถิ่นให้เป็นเทศบาลทุกตำบล และมีการเลือกตั้งท้องถิ่น รัฐธรรมนูญ 40 มันทำให้เกิดการเลือกนายกโดยตรง นายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายกพัทยา ผู้ว่ากรุงเทพฯ เลือกโดยตรงหมดเลย พัฒนาไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่คณะราษฎรต้องการทำ ดังนั้นการต่อสู้ของคณะราษฎรที่ส่งผลมาถึงเราได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่า พอส่งผลแล้วกลุ่มอำนาจเดิมหรืออนุรักษ์นิยมชะงักงัน

ผลของรัฐธรรมนูญ 40 คือการเกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปีสามารถเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประเทศได้เลย ในขณะที่รัฐประหารอยู่มา 6 ปีแล้วได้อะไร นั่นคือความสำเร็จอันมโหฬารที่ชี้ให้เห็นว่า ระบอบทางการเมืองที่ให้เกิดเสถียรภาพทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และเป็นสิ่งที่คณะรัฐประหารไม่สามารถกลืนหินก้อนนี้เข้าไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมันออกแบบมาเพื่อให้แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกัน ดังนั้นเราอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 มาโดยตลอด เราไม่ต้องคิดว่าเราถึงไหน เราถึงแล้ว คนที่ทำไม่สำเร็จคือคนที่รัฐประหารตั้ง 13 ครั้ง ไม่สำเร็จเลยต้องยึดคืนไปอยู่อย่างนั้น

ตอนนี้เราไม่ได้แย่กว่าเดิม เรามาไกลจากที่คณะราษฎรสร้างไว้ให้มาก เพราะไม่อย่างนั้นความคิดของเราจะไม่เสรีขนาดนี้ เรามัวแต่ไปคิดว่าคณะราษฎรไม่ได้ทำอะไรให้เราเลย นั่นเพราะเราไม่รู้ว่าเขาทำอะไรให้กับเราบ้างต่างหาก ที่เราได้เรียนสูงขึ้นก็เพราะแนวคิดของคณะราษฎร ที่มีมหาวิทยาลัยเติบโตอย่างมากมายเพราะคณะราษฎรทั้งนั้น ดังนั้นหากถามว่าสำเร็จไหม ขอยกตัวอย่างว่า ทำไมพวกคณะรัฐประหาร พอรัฐประหารแล้วยังต้องบอกว่า “เราจะสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย” นั่นเป็นเพราะคณะราษฎรได้ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย คณะรัฐประหารจึงต้องบอกว่าเราจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถึงแม้จะออกมาแล้วก็เป็นแบบเดิม แต่มันกลายเป็นน้ำยาบ้วนปากที่คุณจะต้องพูด เมื่อไหร่ที่คุณพูดแสดงว่าคณะราษฎรยังเป็นปิศาจอยู่กับคุณ

คณะราษฎรได้จุดประกายความหวัง ความฝัน ให้กับสังคม และมันยังไม่มอดไหม้นะ เพราะเวลาเรามีปัญหาในปัจจุบันแล้วมองกลับไปจะเห็นว่า เขาทำแล้ว ชี้นำแล้ว เพียงแต่มีบุคคลที่พยายามรักษาผลประโยชน์และอำนาจของตนเองที่ยื้อแย่งไว้

:: ว่าด้วยการสร้างวาทกรรมทางการเมืองของชนชั้นนำ ::

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

คนอายุน้อยกว่า 70 ปีลงมาจะได้รับการบ่มเพาะเกี่ยวกับเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรน้อยมาก เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมลองเปิดหนังสือประวัติศาสตร์ ป.6 ว่าได้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เชื่อไหมแม้แต่คำว่าคณะราษฎรยังไม่อยู่ในหนังสือเลย เรื่องราวมันถูกทำให้หายไป 60-70 ปีมาแล้ว ถ้าใครเติบโตมาในรุ่นหลัง 2490 ในช่วงสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรจะหายไปตั้งแต่ตอนนั้น เรียกว่าลบได้เกือบเกลี้ยง คนในสมัยนั้นก็จะโตมากับสี่แผ่นดิน เรื่องมันตลกตรงที่สี่แผ่นดินมีคณะราษฎรเป็นผู้ร้าย บ้านของแม่พลอยลูกต้องทะเลาะกันเพราะการเมืองของคณะราษฎรที่สร้างประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการแบ่งแยกฝักฝ่าย ด้านหนึ่งพยายามบอกว่าเรื่องของระบอบเก่ามันเป็นความงดงาม แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนำไปสู่การสู้รบบ้านแตกสาแหรกขาด

วาทกรรมอันหนึ่ง เราจะเห็นการด่าพ่อล้อแม่นักการเมืองทุกรูปแบบ มันถูกวางแผนให้โดนถล่มภายใต้เกมประชาธิปไตย แล้วบางทีเราก็ตกไปอยู่ในกระแสนั้นด้วย แต่พอเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือสืบทอดอำนาจกลับเงียบเฉยเลย ทำอะไรก็เงียบ นี่คือการสร้างวัฒนธรรมให้ด่าแต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เขาสร้างมาตลอด เพลงโฆษณาของนักการเมืองก็ออกมาในยุคที่จอมพลสฤษดิ์เตรียมรัฐประหาร จริงๆ กลุ่มรัฐประหารมันซื้อเสียงทั้งนั้น แต่ภาพลักษณ์ของนักการเมืองและการเลือกตั้งกลับกลายเป็นความชั่วร้าย ใครขึ้นมาเราด่าหมดเลย นี่คือการทำลายประชาธิปไตย มันทำให้เราไม่อดทนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทนได้กับอำนาจรัฐประหาร ตรงนี้เองที่เรามองไม่เห็น

ถ้าเราต้องการประชาธิปไตยเราต้องเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น และต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ยอมให้เขาบริหารประเทศแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เลือกตั้ง 2 ปีแล้วรัฐประหาร 6 ปี ประชาธิปไตยที่ไหนจะเติบโตได้ ผมก็เพิ่งเข้าใจว่าที่ออกไปชุมนุมประท้วงไล่เขา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว เราถูกทำให้ไม่อดทนกับนักการเมืองมากพอ ถ้าไม่ไปพรุ่งนี้เราต้องตายแน่ๆ ที่ไหนได้เราไม่ตาย แต่ประชาธิปไตยมันตาย

:: ท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่มีใครเป็นคนดี 100% ::

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

เรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดช คณะราษฎรมีนายทหารอาวุโสอยู่ 4 คนเป็นเพื่อนกัน แต่ภายในปีแรก พระยาพหลฯ และพระยาทรงสุรเดชก็แตกกัน เหมือนการตั้งบริษัท เมื่อเชื่อว่าแนวทางของตนเองนั้นดีกว่าอีกฝ่ายจึงนำไปสู่การแตกร้าว คนที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมและกลุ่มอนุรักษ์นิยมพยายามที่จะดึง 2 คนนี้ให้มาเป็นพวก

อย่าไปเชื่อว่าระบอบเก่าไม่ต้องการอำนาจ ทุกคนพอล้มแล้วก็ต้องมองหาช่องทางเอาคืน คนไทยจะเชื่อว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่นองเลือด เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสมูธมาก แต่ถ้าไปอ่านงานวิทยานิพนธ์ของผมจะเห็นว่า มันนองเลือด มันฆ่ากัน เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นวันนั้น มันทอดยาวมาอีก 1 ปี กลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง

ผมจะเรียกกบฏพระยาทรงฯ ว่า ‘กบฏ 2482’ ที่มีการประหารชีวิต 18 คน และติดคุกอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นชนชั้นนำของระบอบเก่า ช่วงสงครามโลกจะถูกย้ายไปเกาะตะรุเตา พอหลังสงครามโลก นักโทษทางการเมืองก็จะกลับมาและเขียนเรื่องราวอธิบายว่านี่คือยุคทมิฬ ถ้าเป็นละครแบบน้ำเน่าก็จะบอกว่า นี่คือยุคดำมืด ยุคที่คณะราษฎรบอกว่าจะสร้างประชาธิปไตยแล้วไม่เป็นจริง แต่ต้องอย่าลืมว่าฝ่ายต่อต้านใช้กำลังอาวุธ และที่จริงแล้วยุคนั้นคือบทสรุปการต่อสู้ทางการเมืองของ 2475

มันเหมือนการมองด้านเดียว อ่านหนังสือกันบ้าง ซื้อหนังสือกันบ้าง อย่าไปอ่านอะไรซี้ซั้ว เพราะเดี๋ยวนี้ใน google ใครเขียนจะอะไรก็ได้ แต่ถ้าท่านไปอ่านหนังสือจะพบว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองไม่มีใครเป็นผู้ดี คนดี บริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่วนคุณจะเชื่ออย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องไปอ่าน

เราถกเถียงกันได้ตามความคิด แต่คุณต้องกลับไปที่เอกสารด้วย ไม่ใช่เถียงกันอย่างพร่ำเพ้อจนไม่รู้จุดจบ แล้วอย่างนี้จะรู้ความจริงได้อย่างไร หากจะถกเถียง หากจะเรียนประวัติศาสตร์ อย่ามโน อย่าไปฟุ้งเฟ้อ ไม่งั้นไปไม่ถึงโลกถึงดาวอังคารหรอก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save