fbpx

คนไทยจะไปดวงจันทร์กับเค้าด้วยทำไม?

ยานอวกาศ ‘จันทรายาน-3 (Chandrayaan)’ ของอินเดียออกจากฐานปล่อยบนเกาะศรีหริโกฎในวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 และยานลงจอดที่มีชื่อว่า ‘วิกรม’ (Vikram) ได้บินลงแตะพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จในวันที่ 23 สิงหาคม 2023 สร้างสถิติใหม่เป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดใกล้กับบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ที่ประกอบไปด้วยแผ่นน้ำแข็งที่อยู่ใต้พื้นผิวลงไป ซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างฐานปฏิบัติบนดวงจันทร์ต่อไปในอนาคต

ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้อินเดียเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ตามหลังสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน

เรื่องไม่น่าเชื่อก็คือ อินเดียใช้เงินไปกับโครงการนี้รวม 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่ใช้สร้างภาพยนตร์อวกาศเรื่อง Interstellar ของฮอลลีวูดที่ใช้ไป 165 ล้านเหรียญเสียด้วยซ้ำ!

การที่เป็นเช่นนี้ อาจเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ต้นทุนเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้ลดลง ในอีกด้านหนึ่งการให้ค่าตอบแทนนักแสดงและค่าใช้จ่ายด้านเทคนิคพิเศษของฮอลลีวูดก็สูงอย่างไม่น่าชื่อ เช่น นักแสดงบางคนทำรายได้กับการแสดงภาพยนตร์เพียง 1 เรื่องมากเท่าๆ กับคนทั่วไปทำงานทั้งชีวิตที่ต้อง “กลับชาติมาเกิดใหม่” มาทำรายได้ซ้ำอีก 100 รอบหรือ 1,000 รอบด้วยซ้ำไป!

นีล เดอกราส ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) นักดาราศาสตร์และนักสื่อสารชื่อดังชาวอเมริกันตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสำเร็จดังกล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวแห่งหนึ่งว่า “เรา (คนอเมริกัน) ไม่ได้ไปดวงจันทร์เพราะเราเป็นนักสำรวจ … เราไปเพราะเรากลัวพวกรัสเซีย … เมื่อจีนบอกว่าพวกเขาต้องการไปดวงจันทร์ เราก็บอกว่าเราจะกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง”

ช่างฟังดูเป็นเหตุผลที่ไม่น่าฟังสำหรับการบุกเบิกอวกาศเอาเสียเลย แต่ก็เป็นความจริง!

ดร.ไทสันยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า เราอาจะใช้การสำรวจอวกาศเป็น “เครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ในการสร้าง “สันติภาพ” ให้เกิดขึ้น เรื่องนี้อาจจะถือเป็นกรอบความคิด (mindset) ใหม่ของมนุษยชาติสำหรับเรื่องการสำรวจอวกาศก็ได้

อุดมคติเช่นนี้ หากมองด้วยกรอบแนวคิดลัทธิคลั่งชาติก็คงยากจะเป็นจริงได้ อวกาศอาจเป็นพรมแดนแห่งโอกาส ความร่วมมือ สันติภาพ หรือแม้แต่ความอยู่รอดของมนุษยชาติในอนาคตอันไม่ไกลนัก หากเราไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีพอ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างก็ยังดูเป็นเรื่องของการแข่งขันและความลับอยู่เป็นส่วนใหญ่

แต่การไปอวกาศ ต้องใช้เงินมหาศาล ประเทศไทยจะเอาเงินที่ไหนเยอะแยะใปทำเรื่องแบบนี้ได้? เราลองมาดูกันว่าเรื่องนี้มีความจริงหรือเป็นแค่เพียงภาพลวงตา

สหรัฐอเมริกาใช้เงินไปกับโครงการอพอลโล (ระหว่าง ค.ศ. 1960-1973) ทั้งสิ้น 25,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากปรับเป็นค่าเงินปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ราว 200,000 ล้านเหรียญ แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้งบประมาณเพียงปีเดียว (ปี 2023) มากถึง 2.04 ล้านล้านเหรียญ พูดแบบเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า งบกระทรวงดังกล่าวแค่เพียงปีเดียวก็เอามาทำโครงการอวกาศได้ทั้งโครงการที่ยาวนาน 14 ปีได้ถึง 10 โครงการ!

ในทางกลับกัน องค์การนาซาได้งบประมาณปี 2023 ราว 25,400 ล้านเหรียญ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสำหรับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแล้ว มีการใช้เงินไปกับการป้องกันตัว การมุ่งร้าย และการสร้างอาวุธมาประหัตประหารกันมากกว่าการหาความรู้และสำรวจหาทางรอดของมนุษยชาติมากถึง 80 เท่า!!!

มีการประมาณการณ์ว่ามีการลงเม็ดเงินไปกับโครงการอวกาศจำนวนมากแบบขยายตัวและจะสร้าง ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ ได้มากในอนาคตอันใกล้ โดย BofA Global Research คาดว่าเศรษฐกิจอวกาศรวมของทั้งโลกจะเติบโตจนมีขนาดราว 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2030 หรืออีกแค่ 7 ปีเท่านั้น

อันที่จริงมีสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นได้ เพราะมีโครงการอวกาศ เช่น สารซึมซับของเหลวในผ้าอนามัยรุ่นใหม่ๆ ก็มาจากความจำเป็นในการสร้างชุดมนุษย์อวกาศ อาหารแบบฟรีซดรายด์ก็ทำขึ้นเพื่อถนอมสารอาหารให้ยังอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ทำให้น้ำระเหิดหายไปเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำระวางน้ำหนักให้น้อยที่สุดเพื่อส่งขึ้นไปเป็นอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ แม้แต่แผ่นป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตที่ใช้ปิดหน้ารถยนต์กันอย่างแพร่หลายก็มาจากการคิดค้นแผ่นสะท้อนแสงในยานอวกาศ!

แต่ประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญที่สุด เพราะการไปตั้งรกรากที่ดาวอังคารให้ได้เร็วที่สุด อาจเป็นตัวเลือกใน ‘แผนสอง’ ของมนุษยชาติ หากเรายังแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ย่ำแย่เท่ากับที่เราทำอยู่ตอนนี้

เราจำเป็นต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับอวกาศให้มากที่สุดเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติโดยรวม แต่ดูเหมือนเราเริ่มต้นการสร้างความรู้เกี่ยวกับอวกาศได้ไม่ดีเท่าไหร่ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ที่เป็นห้องแล็บในอวกาศขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเพื่อศึกษาสภาวะต่างๆ ในอวกาศอย่างเป็นกิจลักษณะ เกิดจากความร่วมมือของ 4 องค์กรอวกาศสำคัญ ประกอบด้วยนาซาของสหรัฐอเมริกา รอสคอสมอส (Roscosmos) ของรัสเซีย แจ็กซา (JAXA) ของญี่ปุ่น อีซา (ESA) ของสหภาพยุโรป และซีซา (CSA) ของแคนาดา

ด้วยเหตุผลบางอย่าง หน่วยงานอวกาศจีนตกหายไปจากสมการ!

เมื่อจีนต้องการสำรวจอวกาศจริงจัง การสร้างสถานีอวกาศของตัวเองในวงโคจรสถิตจึงเป็นเรื่องแบบ ‘a must’ ที่ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับจีน และวันที่ 31 ตุลาคม 2022 จีนก็ส่งชิ้นส่วนสุดท้ายของสถานีอวกาศของตัวเองขึ้นไปประกอบร่างได้สำเร็จ ตามหลังการสร้าง ISS ที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นและมีนักบินอวกาศขึ้นไปใช้งานครั้งแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 2000 อยู่กว่า 2 ทศวรรษ 

จีนส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ-3 ที่มียานสำรวจอู้ทู (Yutu แปลว่า กระต่ายหยก) ลงบนดวงจันทร์ในปี 2013 ขณะที่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021 ยานอวกาศเทียนเหวิน-1 (Tianwen-1) ที่ส่งไปโคจรรอบดาวอังคารก็ส่งภาพแรกกลับมายังโลกได้สำเร็จ

ชาติใดจะส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จก่อนจึงเป็นการแข่งขันอย่างเอาเป็นตายกันอยู่ขณะนี้ ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยว (ขอบ) อวกาศก็กำลังบูมเป็นอย่างมาก ตั๋วล่วงหน้าของบริษัท Virgin Galactic และ XCOR Aerospace ที่จะพาขึ้นไปรับความรู้สึกไร้น้ำหนัก 5-6 นาที ราคากว่า 4 ล้านบาทต่างก็ขายหมดเกลี้ยง ไม่ต่างอะไรกับตั๋วของบริษัท World View Enterprises ที่พาขึ้นไปสูงจนมองเส้นขอบฟ้าตัดอวกาศ (แต่ยังไม่ถึงชั้นอวกาศ) ที่ราคา 2 ล้านกว่าบาท ก็มีผู้แสดงความสนใจอย่างล้นหลาม

สำหรับประเทศไทยก็มีการก่อตั้ง Thai Space Consortium ตั้งแต่ปี 2020 ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการส่งยานอวกาศ TSC-2 เพื่อไปวนรอบดวงจันทร์ในปี 2027 โดยก่อนหน้านั้นก็จะมีการส่งดาวเทียม TSC-1 ที่มีระบบถ่ายภาพรายละเอียดสูงแบบหลากความถี่ (Hyperspectrum imaging) เพื่อถ่ายภาพโลกและอวกาศ โครงการนี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท

ลองนึกภาพว่าหากเรามีดาวเทียมและยานอวกาศที่สามารถถ่ายภาพรายละเอียดสูงในหลากหลายความถี่ เมื่อนำมารวมกับศักยภาพด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของประเทศที่ลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ลันตา (Lanta) ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณสูงถึง 8.1 petaflops หรือ 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที เราก็อาจคำนวณเรื่องที่มีตัวแปรมากมายอย่างสภาพภูมิอากาศ การจราจร พื้นที่การเกษตร ฯลฯ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ดาวเทียม THEOS-2 ของไทยที่ส่งขึ้นไปอวกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา ก็มีวัตถุประสงค์หลักในทำนองเดียวกัน

ข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์ในการนำไปใช้วางแผนในเรื่องต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งต้องถือว่าคุ้มค่ามากเป็นอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ แม้ว่าหากเปรียบเทียบกับเงินงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้น้อยมากคือ ราว 7,924 ล้านในปี 2023 ก็อาจจะดูว่าเยอะอยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพราะกระทรวงนี้ควรจะได้รับเงินสนับสนุนมากกว่านี้ต่างหาก

ดังจะเห็นได้ว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมนั้นสูงถึง 1.97 แสนล้านบาทในปีเดียวกัน อันที่จริงหากยกเลิกการซื้อเรือดำน้ำที่แต่ละลำราคากว่า 10,000 ล้านบาท หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ในลักษณะคล้ายกันแค่เพียงลำเดียว ก็ได้เงินมาทำโครงการทำนองนี้ได้ถึง 2 โครงการด้วยกันแล้ว     

ความต้องการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ของไทย จึงเป็นการวางแผนพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศตัวเองเป็นหลัก นี่เองคือจุดยืนประเทศไทยบนเส้นทางการแข่งขันด้านอวกาศที่ดำเนินอยู่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save