fbpx

นักวิทย์ไทยไส้แห้ง (?) : ฟังเสียงที่บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจเบ่งบานในสังคมขาดการสนับสนุนจากรัฐ

โลกในศตวรรษที่ 21 หมุนเร็วเสียจนเราคาดไม่ถึง ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ หลากวิทยาการล้ำสมัยได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปตลอดกาล ขณะเดียวกัน โลกก็เดินมาพร้อมความท้าทายรอบด้าน หลังมนุษย์ดูดทรัพยากรธรรมชาติ ก่อมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาสร้างความมั่งคั่งอย่างไร้ขีดจำกัด ความเจริญของมนุษยชาติที่ตั้งอยู่บนซากปรักหักพังของธรรมชาติ ทำให้โลกเปราะบางกว่าที่เคยเป็นมา องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยิ่งทวีความสำคัญในแง่ที่ว่ามนุษย์จะอยู่กันอย่างไรไม่ให้โลกต้องพังทลายไปมากกว่านี้

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่เชื่อว่าจะพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีเรามีนักเรียนมัธยมเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการนับพันคน มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์ และโครงการที่รัฐสนับสนุนเด็กที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์นับไม่ถ้วน

มองแบบผิวเผิน ประเทศเราคงจะมีนักวิทยาศาสตร์มากมาย และหลุดพ้นจากสถานะ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ไปแล้ว แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นดังนั้น เด็กหัวกะทิเหล่านี้หายไปไหน ทำไมเด็กไทยไม่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ และคำถามเหล่านี้กำลังบอกอะไรเรา

101 พาไปตรวจสอบสมมติฐานที่เขาว่ากันว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยในไทยนั้น ‘ไส้แห้ง’ จนคนบอกต่อกันว่า “หนีไป!” ฟังเสียง 2 นักวิจัย อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งกลับมาใช้ทุนในไทย หนึ่งใช้ทุนเป็นเงินก้อนใหญ่และไม่กลับประเทศ เพื่อเปิดไปสู่เรื่องใหญ่ว่ารัฐไทยสนับสนุนวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน เหตุใดจึงบดขยี้คนทำงานและกดศักยภาพหัวกะทิเหล่านี้ และเราจะก้าวต่อแบบไหนให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์

การสนับสนุนไม่สุดทาง บั่นทอนคนทำงานให้ท้อถอย

“การรับทุนกระทรวงวิทย์เหมือนเป็นการพนันกับอนาคตประเทศว่าอีก 10 ปีข้างหน้า วิทยาศาสตร์ของประเทศจะดี สังคมจะเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น แล้วนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์จะเจริญรุ่งเรือง ก่อนเราไปอเมริกา ช่วงนั้นรู้สึกว่าเป็นขาขึ้นของประเทศ หวังมากว่ากลับมาจะก้าวหน้า พอไปเรียนไม่นานก็มีข่าวรัฐประหารรัฐบาลคุณทักษิณ เราใช้เวลาเรียน 10 กว่าปี พอต้องกลับมาใช้ทุน ก็พบว่าไม่เห็นเหมือนที่เขาบอกเลย ประเทศก็ยังเหมือนเดิม”

จูล (นามสมมติ) คืออดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่รับทุนตั้งแต่เรียนจบชั้น ม.6 ที่ไทย เพื่อไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอกลับมา ‘ใช้ทุน’ ในฐานะนักวิจัยได้ราว 7 ปีแล้ว แม้จะไปเรียนด้วยพลังและความหวังอันเปี่ยมล้นว่าจะกลับมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อกลับสู่มาตุภูมิกลับพบว่าระบบไม่เอื้อให้คนที่ประเทศบอกว่าเป็นมันสมองของชาติสามารถดึงศักยภาพมาใช้ได้อย่างเต็มที่

‘นักวิจัยไส้แห้ง’ คือคำที่เธอใช้นิยามตัวเอง จูลบอกกับเราว่านักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเกินกว่าครึ่งในไทยคือนักเรียนทุนรัฐบาล ในบรรดาทุนศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่เธอได้รับมีระยะเวลาการใช้ทุนนานที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันทุกยุคทุกสมัยว่าสัญญาผูกมัดผู้รับทุนจนเกินไป[1] จูลใช้เวลาเรียนไปราว 10 ปี ทำให้ต้องปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี แน่นอนว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นทุนรัฐบาลที่จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐ หมายความว่าค่าตอบแทนที่ได้รับเมื่อกลับมาทำงานจะได้รับตามอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง ซึ่งอาจไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับการต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเรียนจนจบปริญญาเอกที่ต่างประเทศ แน่นอนว่าด้วยศักยภาพของคนกลุ่มนี้สมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่านี้ ปัจจัยเรื่องค่าตอบแทนจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นักเรียนทุนหลายคนเลือกจ่ายทุนคืนเพื่อแลกกับอิสระในการเลือกหน้าที่การงานที่ก้าวหน้ากว่าในต่างประเทศ

จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยไม่ให้ค่ากับอาชีพนี้เท่าที่ควร เพราะในประเทศที่ไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการอันเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงจูงใจในการเลือกคณะเรียนหรือเลือกอาชีพคือ ‘รายได้’ ด้วยเหตุนี้เด็กที่มีความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีมักจะถูกสังคมบีบให้เลือกอาชีพอื่นที่ให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับความสามารถ หากถามเด็กไทยหลายคนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คงมีน้อยคนที่จะตอบว่านักวิทยาศาสตร์ แม้จะถูกปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเด็กคนนั้นเติบโตมาเก่งฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ ผู้ใหญ่ก็จะบอกให้ไปเป็นวิศวกร หรือถ้าเก่งเคมีหรือชีววิทยา ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าทำไมไม่เรียนหมอ

อีกปัจจัยที่สะท้อนว่ารัฐไทยไม่ได้จริงจังกับการส่งเสริมวิทยาศาสตร์คือไม่ผลักดันการสร้างงานเพื่อรองรับคนที่จบด้านนี้โดยตรง แม้ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี คนจบวิทยาศาสตร์สามารถทำงานได้หลากหลาย แต่สำหรับคนที่อยากไปให้สุดทางด้านการทำวิจัยหรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยยังถือว่ามีตำแหน่งว่างน้อย เมื่อถามจูลว่าจำนวนนักวิจัยในไทยขณะนี้ถือว่าเพียงพอไหม เธอตอบว่าน้อย หากเทียบกับประเทศที่เคยอยู่ในตำแหน่งแห่งที่พอๆ กับไทย แต่ทุกวันนี้พัฒนาไปไกลจนไม่เห็นฝุ่นอย่างเกาหลี แม้ว่านักวิจัยจะน้อยแล้ว งานรองรับยังน้อยกว่า และส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ทำสัญญาระยะสั้นหรือเป็นงานรายโครงการ ยากที่จะหางานประจำระยะยาว

ขณะเดียวกันจูลให้ข้อมูลที่ชวนให้คิดว่า “รัฐไทยฝันใหญ่ แต่ไปไม่ถึง” ที่ต้องการส่งคนไปเรียนในสาขาใหม่ๆ แต่อาจไม่ได้มองในระยะยาวถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้คนเหล่านี้กลับมาต่อยอดได้

“ตอนส่งไปเรียน กระทรวงอาจพิจารณาว่าสาขานี้ยังไม่มีในประเทศเรา เลยอยากสร้างคนในสาขาใหม่ แต่พอไปเรียนกลับมาก็พบว่าสาขาที่เด็กจบมาไม่สอดคล้องกับทรัพยากรที่ประเทศเรามีอยู่ ไม่มีต้นสังกัดลง ไม่มีอุตสาหกรรมรองรับสาขาใหม่ๆ นี้ สุดท้ายก็เอาไปเติมในสักหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีอะไรจะเอื้อให้เขาเติบโตเลย” จูลยังกล่าวเสริมว่านักเรียนทุนที่กลับมาไทยที่เธอรู้จักหลายคนต้องยอม ‘ควักเนื้อตัวเอง’ ใช้เงินส่วนตัวในการปรับปรุงห้องปฏิบัติการและซื้อเครื่องมือเข้าแล็บด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถต่อยอดงานที่ตัวเองทำอยู่ได้

อีกหนึ่งตัวแปรที่ส่งผลกับการพัฒนางานวิจัยคือนักศึกษาปริญญาเอกภายในประเทศ อาจารย์หรือนักวิจัยที่กลับมาใช้ทุนประสบปัญหาขาดนักศึกษาช่วยทำวิจัย การขาดแรงจูงใจด้านรายได้และตำแหน่งงานที่รองรับหลังเรียนจบทำให้บัณฑิตวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนไม่เรียนต่อในระดับสูง และยังมีปัญหาทับซ้อนอยู่อีกระดับคือตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เปิดรับ มักต้องการวุฒิปริญญาจากต่างประเทศ เพื่อการันตีว่าถ้ารับเข้ามาจะต้องสามารถสอนหลักสูตรนานาชาติได้ ซึ่งเป็นช่องทางหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งว่ามหาวิทยาลัยไทยอยากให้มีนักศึกษาปริญญาเอกเยอะๆ แต่ก็ไม่มีงานรองรับถ้านักศึกษากลุ่มนี้เรียนจบสถาบันในประเทศ

มังกร (นามสมมติ) คือนักเรียนทุนที่เลือกไม่กลับมาใช้ทุนที่ไทย ตอนมัธยมปลายเขาเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ทำให้ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำหรับพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) เขาเลือกจ่ายเงินก้อนใหญ่หลังจบปริญญาเอกเพื่อเป็นอิสระจากข้อผูกมัดของทุน และเพื่อที่จะไม่ต้องกลับมาเป็น ‘อาจารย์มหาวิทยาลัย’ เพราะประเทศนี้ไม่ได้มีทางเลือกให้เขามากนัก

การเป็นอาจารย์ในไทยอาจไม่เอื้อให้มังกรได้ทำงานวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารัก เพราะเท่าที่ทราบจากรุ่นพี่ที่กลับไปเป็นอาจารย์ นอกจากงานสอนแล้วยังมีงานบริหารจัดการจิปาถะ และยังต้องเผื่อเวลามาคิดเรื่องขอตำแหน่งวิชาการ อีกทั้งนักศึกษาปริญญาเอกยังมีน้อย เขาบอกว่าอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยของเขาที่สหรัฐฯ แต่ละคนจะมีนักเรียนปริญญาเอกช่วยงานเฉลี่ย 5 คน แต่ที่ไทยเขาคิดว่าอาจจะไม่มีสักคนเลยก็เป็นได้ที่จะสนใจในเรื่องเดียวกับเขา

ปัจจุบันมังกรเป็นนักวิจัยด้าน machine learning ที่บริษัทแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก

“ที่ไม่อยากเป็นอาจารย์ก็เพราะเราชอบทำอะไรแล้วเห็นผล ถ้าทำวิจัยตอนเป็นอาจารย์แล้วได้ตีพิมพ์ บางทีก็ไม่มีคนเอาไปใช้ ก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเราทำงานพวกนั้นไปเพื่ออะไรถ้าไม่มีคนเอาไปใช้ต่อ เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำงานบริษัทที่ยังได้ทำงานวิจัยต่อ ยังพอมีช่องทางผลักดันงานของเราให้เอาไปใช้งานได้ ซึ่งหันมาดูไทย บริษัทด้านคอมพิวเตอร์แทบไม่มีเลย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงตำแหน่งนักวิจัยเลย ไม่มีแน่ๆ เราเลยเลือกใช้ทุนคืนแบบโปะครั้งเดียวจบเลย เพราะถ้าแบ่งจ่ายเป็นงวด ดอกเบี้ยจะสูง ตอนนี้เรามีความสุขกับการเลือกทำงานอยู่ที่นี่มาก”

ดังที่มังกรพูด เมื่องานวิจัยไม่ถูกหยิบไปใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมที่สังคมเห็นว่าสิ่งนี้สร้างมูลค่าได้ งานวิจัยจะยิ่งกลายเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ วิทยาศาสตร์จะยิ่งห่างเหินจากการรับรู้ของประชาชน และเมื่องานวิจัยไปไม่ถึงจุดที่สามารถสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ได้ ก็ไม่สร้างเงิน ไม่สร้างงาน คนก็ไม่เลือกมาเรียน สุดท้ายงานวิจัยก็วนอยู่ในวงจรที่ต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากรัฐเพียงทางเดียว ซึ่งไม่เพียงพอ

งานวิจัยขึ้นหิ้ง: ความจริงอันเจ็บปวดของแรงงานด้านวิทยาศาสตร์

‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ มักใช้เอ่ยถึงในเชิงลบถึงงานวิจัยที่ไม่สามารถนำมาใช้จริง หรือไม่สามารถสร้างมูลค่าทางตลาดได้ จูลบอกกับเราว่าทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้จะรู้สึกเจ็บ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริง งานวิจัยหลายอย่างไปไม่ถึงจุดที่เอกชนจะหยิบไปใช้ได้ ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่างานวิจัยไทยไร้น้ำยา แต่ปัญหาและอุปสรรคในการนำไปใช้ขึ้นอยู่กับหลายตัวแสดงในสังคม

จูลชวนทำความเข้าใจถึงระดับความพร้อมของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งาน (technology readiness levels: TRL) ที่มีตั้งแต่ระดับ 1-9 จากความพร้อมน้อยไปมาก เธอบอกว่าปัจจุบันงานวิจัยไทยมักติดอยู่ที่ระดับ 1-4 แต่งานวิจัยที่เอกชนต้องการใช้คือระดับ 8-9 ซึ่งความอดทนที่ภาคเอกชนจะรอนักวิจัยในประเทศผลักดันไปถึงระดับนี้ยังมีไม่มากพอ และท้ายสุดก็ใช้วิธีนำเข้าจากต่างประเทศ

คำจำกัดความ TRL | ที่มาภาพ สวทช.

“จริงๆ มันต้องใช้ความพยายามทั้งสองฝ่าย คนที่อยู่ข้างล่างก็ต้องผลักขึ้นไป คนที่พร้อมจะใช้ต้องยื่นมือลงมา นักวิจัยแบบพวกเราพยายามจะผลักจากระดับ 4 (ทดลองในห้องปฏิบัติการ) ขึ้นไปให้ได้ แต่มันไม่ได้สักที เพราะเม็ดเงินไม่ถึง ไม่มีคนให้ทุน หรือเราทำช้าเพราะกำลังคนเราน้อยเกินไป เลยทำไม่ทัน พอเราทำแบบนี้ไม่ได้ งานวิจัยก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ เขาก็เลยไปซื้อมา ทำให้ไม่ต้องจ้างเรา สุดท้ายงานที่เหลืออยู่ก็คืองานควบคุมคุณภาพสิ่งที่ไปซื้อมา ไม่ได้ใช้สิ่งที่เราคิดเลย

“ขณะเดียวกัน การจะผลักออกไปได้ ต้องใช้เวลานานมาก เห็นตัวอย่างได้จากญี่ปุ่น เขาทำได้จริงเพราะลงทุนมานานแล้ว เยอรมนีก็ลงทุนตั้งแต่สงครามโลก หลายๆ เทคโนโลยีก็เพิ่งปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่างในไม่กี่ทศวรรษนี้ แต่บ้านเราจะเป็นแบบ “ขอปีหน้า หรืออีก 2 ปีใช้ได้ไหม?” ด้วยงบประมาณและสภาพแวดล้อมมันไม่เพียงพออยู่แล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรียนจบ ป.เอก มาทำงานแล้วหมดพลัง เพราะต้องทำด้วยเวลาและงบประมาณที่มีจำกัด แถมยังมีความคาดหวังว่าสิ่งที่ทำออกมาต้องใช้ได้แน่ๆ อยากให้รัฐและเอกชนเข้าใจว่าต้องใช้เวลา”

แก่นของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือการทดลองเพื่อพิสูจน์และให้เหตุผล ขึ้นชื่อว่าการทดลอง ย่อมหมายถึงลองผิด ลองถูก ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง แต่ดูเหมือนผู้กำหนดนโยบายหรือภาคเอกชนไทยในขณะนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้นักวิจัยที่เป็นมันสมองของชาติเหล่านี้ได้ลองผิด

พูดให้ถึงที่สุด การลงทุนทางวิทยาศาสตร์คือการลงทุนระยะยาว ที่ต้องมีเวลาให้ลองผิด ลองถูก ก่อนจะพบกับความสำเร็จ แต่หากดูการให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยในปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะมีระยะเวลาดำเนินโครงการไม่ถึง 1 ปี โดยเป็นระยะเวลาที่พ่วงมากับความคาดหวังว่างานวิจัยที่รับทุนไปจะประสบความสำเร็จ จูลขยายภาพว่าบางงานวิจัยต้องสั่งเครื่องมือหรืออุปกรณ์จากต่างประเทศ ใช้เวลารอสินค้าประมาณ 3 เดือน หมายความว่าเหลือเวลาเพียง 9 เดือนให้ดำเนินการต่อ และต้องเร่งปิดงาน ตีพิมพ์ให้ทัน ชวนให้คิดว่าเราจะสามารถต่อยอดงานวิจัยที่ทำแบบเร่งรีบให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนได้อย่างไร

หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของการให้ทุน ประเภทที่รัฐดูเหมือนจะผลักดันมากที่สุดคือ strategic fund ซึ่งเป็นการลงทุนในงานวิจัยเพื่อให้มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมบางอย่างออกมาใช้ได้ ส่วนประเภทที่มักจัดว่าขึ้นหิ้งมากที่สุดคือ fundamental fund หรือทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่จะสร้างองค์ความรู้อะไรบางอย่างให้มีความก้าวหน้า ดังที่ได้กล่าวไปว่าระยะเวลาของทุนค่อนข้างสั้น ระบบเช่นนี้จึงไม่เอื้อให้ผลิตงานวิจัยที่จะสร้างความหมายยิ่งใหญ่ต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อถามว่ามีโอกาสที่ไทยจะมีงานวิจัยรางวัลโนเบลบ้างไหม เธอตอบ

”คุณอยากมีงานวิจัยรางวัลโนเบล แต่คุณมีทุน 1 ปี แล้วคุณต้องปิด ต้องตีพิมพ์ให้ได้ทุกปี มันไปไม่ถึงโนเบลหรอก มีแต่จะตายเอา จริงๆ การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ก็เหมือนลงทุนในหุ้น คุณจะต้องวางหุ้นยังไง มันต้องมีส่วนที่เป็นระยะยาวกับระยะสั้น แต่ตอนนี้บ้านเรามั่วไปหมดเลย ทุกอย่างเป็นระยะสั้น 1 ปีต้องปิดแล้ว คุณจะให้ก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนได้ยังไง”

นอกจากถูกบีบจากระยะเวลาของทุน อีกทั้งหลายมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานยังมีตัวชี้วัดการประเมินผล เช่น จำนวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์, วารสารที่ตีพิมพ์ และ impact factor (จำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิง) ซึ่งมีผลต่อการขอตำแหน่งและขึ้นเงินเดือน ทำให้เกิดตลาดมืดของการ ‘ช็อปปิ้งงานวิจัย’ ที่เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในไทยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิจัย จูลกล่าวว่าการซื้อขายงานวิจัย โดยการใส่ชื่อเป็นผู้ทำวิจัย แบบไม่ต้องลงมือทำเองมีการซื้อขายอย่างโจ่งแจ้งบนโลกออนไลน์มานานแล้ว และมีอยู่ทั่วโลก เธอยกตัวอย่างกลุ่มนักวิจัยบนเฟซบุ๊ก มักจะมีนักวิจัยจากหลายประเทศที่ใกล้ตีพิมพ์งานมาประกาศว่ามี authorship ว่าง จ่ายในราคา 500 เหรียญสหรัฐเพื่อเพิ่มชื่อ และจะมีคนคอมเมนต์จองประหนึ่งซื้อของในเฟซบุ๊ก ในทางหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้นักวิจัยเหล่านี้เลือกเส้นทางที่เรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางวิชาการ หรือคำตอบอาจเป็นระบบที่บีบให้คนเอาตัวรอดจนไม่สนใจจริยธรรม

“นักวิจัยไทยเก่งมากเลยนะ การทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด สิ่งที่ทำให้เราเหนื่อยล้ามากๆ คือไม่มีใครเชื่อใจเราได้นานพอที่เราจะทำสำเร็จ คนกำหนดนโยบายไม่เข้าใจว่างานวิจัยต้องลงทุนแบบไหน ต้องใช้พลังงานมากเท่าไหร่ ต้องผลักมากขนาดไหน เขาคิดแค่ว่าอัดฉีดเม็ดเงินลงมาเท่านี้ ปีหน้าจะได้อะไรออกมาใช้ ซึ่งจริงๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ซับซ้อนกว่านั้น ซึ่งต้องอาศัยคนที่เข้าใจทักษะและกระบวนการมากกว่านี้ ตอนนี้ 2-3 ปี นโยบายก็ไปแล้ว เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโครงสร้างอีกแล้ว ยังไม่ทันทำอะไรเลย เครื่องมือที่สั่งไปยังไม่มาลงด้วยซ้ำ” จูลสะท้อนให้เห็นภาพความลำบากของคนทำงานที่ผู้ให้ทุนมองไม่เห็น

เราเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าคนไทยมีศักยภาพและความสามารถไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่น เพียงแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งยังขาดผู้กำหนดนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ เข้าใจปัญหาและอุปสรรคของคนด่านหน้าที่กำลังช่วยพัฒนาประเทศอย่างสุดกำลัง หรืออย่างที่จูลหยิบยกมาสะท้อนว่าไม่มีใครเชื่อใจเราได้นานพอจะทำสำเร็จ ก็เป็นอักปัจจัยที่สร้างบรรยากาศอันบั่นทอนกำลังใจของคนทำงาน ลงเอยที่การกดทับศักยภาพคนในชาติตัวเอง

“การจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ประเทศไทยมีปัญญาหรือไม่ เราไม่มีปัญญา เราขาดวิทยาการ เราขาดความสามารถ ฉะนั้นเราต้องดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ดึงคนที่มีชื่อเสียง คนที่เก่งในแต่ละด้านที่เราต้องการเข้ามา” คือถ้อยคำจากปากของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ (ในขณะนั้น) ที่กล่าวในที่ประชุมสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ในหัวข้อเศรษฐกิจ เป็นอีกตัวอย่างว่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้ไม่แม้แต่จะเชื่อมั่นในศักยภาพคนในชาติ คงยากที่จะคาดหวังการสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพจากรัฐ

วิทยาศาสตร์ก็การเมือง!

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มิอาจหลีกหนีการตัดสินใจทางการเมืองได้ ตราบใดที่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ยังเป็นกิจกรรมราคาแพงที่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับการเมืองจึงแยกจากกันไม่ออก

ดังที่เราได้กล่าวไปตอนต้น การขอทุนวิจัยดูจะเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญในชีวิตนักวิจัย เมื่อเราถามว่าการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มาอยู่ในร่างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อปี 2562 ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตนักวิจัยของจูล เธอชี้ให้เห็นข้อดีในการบริหารจัดการงบ

“ตอนเป็นกระทรวงวิทย์คนจะพูดว่าการจัดสรรงบเป็นเบี้ยหัวแตก ให้ทุกคน ทำทุกเรื่อง แต่ได้ไปคนละไม่มาก สุดท้ายก็ไม่เห็นผลอะไรเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ แต่พอยุบมาเป็น อว. มีความพยายามดึงงบมารวมกัน ทำให้ได้งบประมาณก้อนใหญ่ขึ้นมารวมกันตรงกลาง แล้วแบ่งเป็นกองๆ สามารถกำหนดเรื่องที่ต้องการมุ่งเป้าโดยเฉพาะได้ เช่นพอมีโควิด ก็เปิดการวิจัยเรื่องวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

“แต่ข้อเสียที่ตามมาคือเมื่องบรวมศูนย์แล้วกระทรวงต้องการมุ่งเป้า เขาก็จะเลือกให้ทุนกับคนที่เป็นอาจารย์เบอร์ต้นๆ เป็นศาสตราจารย์ใหญ่ๆ ของประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสจะทำสำเร็จมากที่สุด พองบมาลงคนเหล่านี้มาก เป้าเขาก็จะโตขึ้น ทุนรอบใหม่ก็จะหมุนมาอีก”

เมื่อฟังเช่นนี้แล้ว เราจึงถามต่อว่าระบบแบบนี้กำลังสกัดดาวรุ่งนักวิจัยหน้าใหม่ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทุนวิจัยได้เท่านักวิจัยที่มีผลงานมาเยอะหรือไม่ จูลตอบตามความเป็นจริงว่าดาวรุ่งเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่มาคงไม่ได้หลากหลายตามสไตล์สังคมไทยที่อยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์ “นักวิจัยที่จบเมืองนอก โปรไฟล์ดีๆ มีเยอะ คนแบบนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยลำบาก เพราะจะมีคนยื่นมือมาอุปถัมภ์ช่วยเหลือ ถ้ามองให้ลึกอีกก็ต้องดูว่าเขาเป็นลูกหลานใคร ใครเป็นผู้สนับสนุน มันน่าตั้งคำถามว่าแล้วคนกลางๆ หรือคนที่ไม่ได้จบมาจากต่างประเทศจะอยู่ตรงไหน”

“การเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยในไทยมันการเมืองเยอะ” มังกรบอกกับเรา แม้เขาจะไม่เคยมาสัมผัสด้วยตัวเอง แต่นักเรียนทุนรอบตัวเขาก็คอยมาเล่าให้ฟัง และนั่นเป็นอีกสาเหตุที่มังกรไม่เลือกกลับไทย จูลเสริมว่าระบบอุปถัมภ์ทำให้นักเรียนที่กลับมาใช้ทุนหลายคนรู้สึกฝันสลาย เพราะนอกจากต้องบริหารจัดการทุนวิจัย ทำอย่างไรให้อยู่รอดในระบบที่คนให้ทุนไม่เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ยังต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องเข้าหาใครถึงจะนำไปสู่เครือข่ายที่จะมีทุนมาหล่อเลี้ยงงานวิจัยตนให้เดินหน้า

“บางคนกลับมาใช้ทุนใหม่ๆ มีแพสชันในการทำวิจัยมาก ต้นสังกัดไม่มีแล็บให้ก็ใช้เงินตัวเองซื้อ หลายคนที่เราเคยพูดคุยบอกว่าใช้วิธีไปหาอาจารย์ผู้ใหญ่ เหมือนไป ‘สวามิภักดิ์’ เขา แล้วขอเครื่องมือมาใช้โดยแลกกับอะไรบางอย่าง หลายคนที่จบจากต่างประเทศ เขาทำอะไรแบบนี้ไม่เป็น เพราะไม่ใช่ทักษะที่เราถูกฝึกมา เพราะอยู่ที่โน่นเขามีตำรา มีอุปกรณ์ มีผู้ช่วยเตรียมนั่นนี่ให้ แต่ทักษะที่ต้องเข้าหาผู้ใหญ่ ต้องสร้างพันธมิตร อย่าสร้างศัตรู มันไม่ใช่ทักษะที่ง่าย หลายคนบอกว่าฉันจบมาตั้งสูง แต่ต้องมาเจียดเวลาชีวิตทำอะไรแบบนี้ได้ไง”

ไม่ใช่แค่ด่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องฝ่าไปให้ได้เพื่ออยู่รอด แต่เมื่อขยับออกมามองการเมืองระดับชาติในภาพใหญ่ ที่ไม่ค่อยจะมีเสถียรภาพ มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ รัฐประหารวนๆ ไป ทำให้ไม่มีรัฐบาลไหนได้อยู่ยาวพอจะเห็นดอกผลของนโยบาย แน่นอนว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ต้องมีนโยบายเรือธงใหม่ ด่านต่อไปของนักวิจัยคือทำอย่างไรให้งานตรงธงของรัฐบาล

“พอการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ก็ไม่มีการลงทุนที่ยั่งยืนมากพอที่จะทำให้เทคโนโลยีสักอันไปถึงฝั่ง พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนธง เปลี่ยนเป้าหมาย เช่น Thailand 4.0 หายไปแล้ว ตอนนี้ต้อง BCG เท่านั้น พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่รู้จะเป็นอันไหนอีก มันทำให้รู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนตลอด เพราะเราทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีทุน แต่ถ้าชื่อเราไม่ตรงกับที่เขาบอก เราก็ขอไม่ได้เหมือนกัน”

จูลชี้ว่าหน่วยงานรัฐมีกองทุนส่งเสริม ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะแตกไปเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถให้ทุนได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทุนสนับสนุนหลายโครงการที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยมักจะออกมาชื่อคล้ายกัน คือสอดคล้องไปกับนโยบายเรือธงของรัฐบาลนั้นๆ เช่นปีนี้ก็ต้องมีคำที่เกี่ยวกับ BCG หรือก่อนหน้านี้ก็มีคำว่า AI เหมือนๆ กัน  

“นักวิจัยไทยเก่งกาจสามารถมาก เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อหรืองานวิจัยให้สอดคล้องกับงานตัวเอง มันเป็นวิธีการอยู่รอดอย่างหนึ่งว่าคุณตั้งชื่อโครงการคุณอย่างไรให้มันเข้าร่มทุน เพราะถ้าไม่มีทุนก็ไปต่อไม่ได้ อาจจะมีบางหัวข้อที่คุณเชื่อมากๆ ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าต้องมา แต่ถ้าไม่มีทุนอะไรเลยมันจะไปต่อไม่ได้ เลยใช้วิธีไปขอทุนทำอะไรบางอย่างที่ตรงกับรัฐก่อน แล้วค่อยเจียดเงินมาทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นมากๆ ซึ่งตอนนี้ทำแบบนี้ทั้งนั้น”

เธอพูดปนขำ แต่ก็ขมขื่นที่นักวิจัยซึ่งมีความคิดริเริ่มมากมายต้องหาทางเอาตัวรอดเช่นนี้ ซึ่งทำให้งานวิจัยที่ผลิตได้ไม่มีความหลากหลาย หากวิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อรับใช้มนุษยชาติ นักวิจัยก็ควรมีอิสระที่จะเปิดพื้นที่องค์ความรู้ใหม่ๆ มิใช่เพื่อสร้างผลงานให้รัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น

วิทยาศาสตร์ไทยยังไม่ไร้หวัง

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก็ไม่ได้ไร้หวังเสียทีเดียว หากมองการขยับในเชิงนโยบาย ประเทศไทยเพิ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยแก้ ‘เพนพอยต์’ ที่ว่างานด้านการวิจัยไม่มีแรงจูงใจที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบหรือพัฒนาสิ่งใหม่ที่จะใช้ได้จริง และในทางหนึ่งอาจจะแก้ภาวะ ‘ไส้แห้ง’ ในหมู่นักวิจัย เพราะเมื่อนักวิจัยเป็นผู้ครอบครองสิทธิ์ของเทคโนโลยีนั้นๆ ก็สามารถเอาไปต่อยอด ทำธุรกิจ หรือสตาร์ตอัป ที่จะช่วยสร้างเงิน สร้างงานต่อไปได้ จูลรู้สึกว่ากฎหมายนี้ทำให้คนทำงานมีความหวังและกำลังใจมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้เราอยู่ด้วยการถูกบอกว่าให้ทำเพื่อประเทศ แต่มันกินไม่ได้ เพราะประเทศเราเหมือนเดิม แต่พอปลดล็อกให้เราเป็นเจ้าของได้ทำให้คนในแวดวงรู้สึกว่าฉันมีโอกาส เป็นการสร้างแรงจูงใจทั้งทางรายได้และความสำเร็จว่าคุณมีโอกาสได้เป็นผู้ประกอบการ ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ ลำพังแค่เงินเดือนมันอยู่ประเทศนี้แบบกินดีอยู่ดีไม่ได้หรอก”

หากย้อนไปช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด คนทั้งโลกหันมาสนใจการลงทุนในวิทยาศาสตร์มากขึ้น วิกฤตครั้งนี้ เปิดโอกาสให้มีการปลดล็อกระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลานานให้ทำอะไรได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น และที่สำคัญคือทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอะไรบางอย่างที่ตอบสนองต่อความเร่งด่วนของโลก ที่นับวันจะยิ่งเปราะบางไปเรื่อย จูลชี้ให้เห็นว่ามีบริษัทสตาร์ตอัปด้านวัคซีนเกิดขึ้นเยอะ และยังพัฒนาต่อจนปัจจุบัน

ส่วนมังกร ที่อาจจะเรียกได้ว่าลอยตัวจากปัญหาเชิงระบบในประเทศนี้ไปแล้ว เขายังมีความหวังและความฝันที่จะกลับมาสร้างสิ่งที่มีความหมายให้กับประเทศบ้านเกิด ในตอนที่เขาสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่สหรัฐฯ ได้เต็มที่แล้ว มังกรเสนอว่าหากประเทศไทยต้องการผลักดันแวดวงวิทยาศาสตร์ให้ไปข้างหน้าอย่างจริงจัง อาจจะเริ่มที่การเดินตามประเทศที่ทำสำเร็จก่อน หากจะสร้างอะไรใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อน อาจจะยากสำหรับชาติที่มีทรัพยากรจำกัด เขาชี้ว่าจีน เป็นตัวอย่างประเทศที่พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวกระโดด

“จีนมีบริษัททำ outsource การทดลองในงานวิจัยเยอะมาก ซึ่งบริษัทที่ไปจ้างทำการทดลองมักจะเป็นบริษัทสตาร์ตอัปด้านยาและเคมีภัณฑ์ในสหรัฐฯ คนที่อเมริกาจะออกแบบการทดลองไปให้ ให้คำแนะนำว่าการทดลองต้องทำอะไรยังไง ที่จีนเขาก็จะได้ฝึกไปในตัว จนถึงระดับหนึ่งเขาจะทำเองเป็น แต่ที่ไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้เลย” จูลเสริมว่าที่จีนยังให้คุณค่ากับอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมีแรงจูงใจเป็นเงินเดือนที่สูงมากๆ เพื่อนของเธอหลายคนก็เลือกไปเป็นอาจารย์ที่จีน ทำให้จีนผลิตแรงงานทักษะสูงได้จำนวนมาก แต่หากมุ่งแก้ไปที่ราก เขาอยากให้ไทยยกเครื่องระบบการศึกษาที่สอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กท่องจำจนไม่สัมผัสถึงความสลักสำคัญในชีวิตจริง

ด้านจูล เธอเสนอว่าประเทศไทยต้องหา ‘แชมเปียน’ อะไรบางอย่าง เพื่อสร้างทั้งขวัญกำลังใจให้คนทำงานและสร้างการรับรู้ของคนในสังคมให้เห็นคุณค่าว่างานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเห็นความสำคัญในการลงทุนทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจหัวอกคนทำงานว่ากว่าจะผลักดันอะไรให้ออกสู่ตลาดได้ต้องใช้เวลา แม้หลังการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา เธอบอกว่าทุกครั้งที่มีโผรัฐมนตรีกระทรวง “ไม่เห็นพรรคไหนจะแย่ง อ.ว. เลย” แต่ก็หวังอยู่ลึกๆ ว่าจะได้คนที่มีวิสัยทัศน์มาบริหาร เพื่อพาประเทศออกจากหล่มกำลังพัฒนาเสียที

เราตกตะกอนได้ว่าหากประเทศไทยสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังและมีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวอย่างมีระบบกว่านี้ เด็กที่ชอบวิทยาศาสตร์ก็คงโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้แบบไม่ต้องถูกสังคมกดดันให้เลือกทางอื่น ประเทศไทยก็คงไม่ขาดกำลังคนช่วยพัฒนาประเทศ และคงได้เป็นเสือเศรษฐกิจในเอเชียสมใจอยากไปแล้ว ไม่ใช่เป็น ‘มดน้อย‘ คอยช่วยพญาราชสีห์อยู่เหมือนทุกวันนี้

References
1 ทุนรัฐบาลที่จัดสรรให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือ หน่วยงานของรัฐบาล มีระยะเวลาการใช้ทุนตามระเบียบของสำนักงาน ก.พ. คือคิดเป็น 2 เท่าของเวลาที่ใช้เรียน และในกรณีที่ไม่กลับมาใช้ทุน ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ก.พ. ผู้รับทุนจะต้องจ่ายเงินทุนทั้งหมดที่ใช้ไประหว่างได้ทุนและจ่ายเบี้ยปรับอีก 2 เท่า รวมแล้วต้องจ่ายถึง 3 เท่า (สามารถอ่านดีเบตเรื่องการรับทุนเพิ่มเติมได้จากสรุปเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายของสัญญารับทุนรัฐบาล” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ขณะที่ทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งอยู่ภายใต้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงาน 2 เท่าเช่นกันในกรณีที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่หากนับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุน รวมแล้วเกิน 10 ปี ให้ปฏิบัติงานตอบแทนทุนเพียง 10 ปี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save