fbpx

หมู่บ้านไทยในโลกภาพยนตร์ : ชาติไทยแบบ ‘ไมโคร’ หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540

ชาติ แบบ ไมโคร (Micro) 


เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘ชาติ’ เชื่อเหลือเกินว่าคนในสังคมไทยจำนวนมากคงจะนึกถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหน ถึงขนาดยอมสละชีวิตและคำสัตย์ได้ ดังวลีที่ว่า ‘รักชาติยิ่งชีพ’ และ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ซึ่ง ‘ชาติ’ ตามความหมายที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ไว้ ก็แสดงให้เห็นว่า ‘ชาติ’ ย่อมมิใช่สิ่งเล็กๆ ทั้งในความหมายตามการเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า ตามกําเนิด เช่น ชาติสกุล ตามเผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ตามชนิด/หมู่ เช่น มนุษยชาติ และในความหมายที่คุ้นเคยกันอย่างประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน[1]

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในงานวิชาการของ Benedict Anderson เรื่อง ‘Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism’ เสนอว่า ความเป็นชาติและชาตินิยมนี้เป็นประดิษฐ์กรรมทางประวัติศาสตร์ที่กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ผ่านกระบวนการสร้าง ‘ชุมชนจินตกรรม’ ด้วยวัตถุและกลไกอันหลากหลาย เช่น แผนที่ พิพิธภัณฑ์ หนังสือ สำมะโนประชากร[2]

แนวคิด ‘ชุมชนจินตกรรม’ ของ Anderson ทรงอิทธิพลในโลกวิชาการเป็นเวลาหลายสิบปี โดยในช่วงทศวรรษ 2530 นักประวัติศาสตร์ไทยอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ศึกษาหนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาของไทย และนำเสนอว่า หนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษา คือหนึ่งในแหล่งเรียนรู้จินตภาพหรือจินตนาการความเป็นชาติไทย ด้วยการนำเสนอมโนทัศน์เรื่องชาติเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน/หมู่บ้าน และอธิบายกลไกความสัมพันธ์ของคนในชาติผ่านภาพความสัมพันธ์ของครอบครัวและหมู่บ้าน จนกลายเป็นรากฐานของการอธิบายความสัมพันธ์ตามอุดมคติของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ[3]

ข้อเสนอในงานศึกษาของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความสำคัญต่อการเข้าใจมโนทัศน์และจินตภาพเรื่องชาติเป็นอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า แม้ชาติจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจจินตภาพและระบบความสัมพันธ์ของชาติ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการ ‘ย่อส่วนชาติ’ ด้วยวิธีการอุปลักษณ์ (Metaphor) ว่า ชาติ เปรียบเสมือนระบบความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวอย่าง ชุมชน หมู่บ้าน อีกทั้งมีผู้วิเคราะห์เสนอเพิ่มเติมว่าจินตภาพของชาติส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเปรียบเทียบกับระบบความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวมากที่สุดอย่างครอบครัวเช่นเดียวกัน[4]

จากข้อเสนอที่กล่าวมานี้ ทำให้ชาติที่มีความยิ่งใหญ่ถูกย่อส่วนให้กลายเป็นระบบความสัมพันธ์แบบเล็กๆ กลายเป็น ชาติแบบไมโคร (Micro) เพื่ออธิบายและสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้ผู้คนภายในชาติเห็นว่า แม้พวกเขาจะอยู่ห่างไกลกันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร มีที่มาจากหลายพ่อพันแม่ แต่พวกเขาเป็นพวกเดียวกัน รู้สึกอยู่ใกล้กัน เป็นคนในชุมชน หมู่บ้าน และครอบครัวเดียวกัน


อาการโหยหาอดีต (Nostalgia) ผ่านภาพยนตร์ไทย
หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540


ท่ามกลางความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 วงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ดังเห็นได้จากจำนวนภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 2530 ที่เข้าฉายเฉลี่ยต่อปี จากเดิมมีจำนวน 50-100 เรื่อง/ต่อปี กลับลดลดเหลือเพียงประมาณ 10 เรื่อง/ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกหลังผ่านวิกฤต ทว่า ภายใต้ความน้อยนั้น กลับเป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จด้านรายได้และความนิยมอย่างที่มิได้มีใครคาดคิด

ภาพปรากฏการณ์เริ่มจากความสำเร็จของภาพยนตร์ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ผลงานกำกับของ นนทรีย์ นิมิบุตร ที่มีรายได้สูงถึง 75 ล้านบาท สูงสุดในปี 2540 ซึ่งเป็นรายได้ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น ถัดมาในปี 2542 นนทรีย์ นิมิบุตร ก็กำกับภาพยนตร์เรื่องต่อมาอย่าง ‘นางนาก’ ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์แห่งปีเช่นเดียวกัน เมื่อนางนาก สามารถทำรายได้ถล่มทลายในไทยไปถึง 150 ล้านบาท[5] โดยควรกล่าวว่ารายได้เฉพาะในประเทศไทยของภาพยนตร์นางนาก สามารถเอาชนะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ต่างประเทศในปีเดียวกันอย่าง Star Wars Episode I: The Phantom Menace อีกด้วย

ความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ รางวัล และความนิยมของภาพยนตร์ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ จนมาถึง ‘นางนาก’ กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่วงวิชาการภาพยนตร์ศึกษาของไทยให้ความสนใจในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายส่วนใหญ่สรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า ห้วงยามที่สังคมไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก ส่งผลต่อสภาพจิตใจและสภาพสังคม เช่น บริษัทเลิกกิจการ ผู้คนตกงาน อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงมากขึ้น แรงงานหลายคนต้องเดินทางกลับมาตุภูมิไปตั้งหลักกันใหม่

เมื่อคนจำนวนมากเริ่มไม่มั่นใจและตั้งคำถามสงสัยต่อระบบทุนนิยม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการบริโภคนิยม ทำให้สังคมไทยหันกลับไปสู่แนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชาวบ้าน วัฒนธรรมชุมชน รวมถึงร่วมกันค้นหารากเหง้าวัฒนธรรมอันดีงาม วาดฝันถึงภาพอันสวยงามของอดีต เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาเยียวยาความบอบช้ำ บำบัดสภาพจิตใจได้ดี[6] จึงมิได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ ‘นางนาก’ จะเริ่มแสดงให้เห็นถึงอาการโหยหาอดีต (Nostalgia)[7] ของภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะที่ปัจจุบันอาจเต็มไปด้วยความสิ้นหวังและทุกข์โศก

อาการโหยหาอดีตของภาพยนตร์ไทยชัดเจนยิ่งขึ้นใน พ.ศ.2543 เมื่อภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปีนั้น แม้จะเหลือเพียงจำนวน 9 เรื่อง แต่ส่วนใหญ่กลับมีลักษณะร่วมกันคือย้อนกลับไปในอดีต โดยมีภาพยนตร์เรื่อง ‘บางระจัน’ ผลงานกำกับของ ธนิตย์ จิตนุกูล เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของปีถึง 134 ล้านบาท ขณะที่ในปีต่อมา (พ.ศ.2544) ภาพยนตร์ถึง 9 ใน 11 เรื่อง ก็ยังคงมีลักษณะย้อนกลับไปในอดีต ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าอาการโหยหาอดีตของภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เพียงทำให้ภาพยนตร์ไทยดำรงฐานะเป็นสิ่งบันทึกภาพสังคมหรือยุคสมัยนั้นๆ แต่ได้ยกฐานะของตนกลายเป็นที่หลบหนี ปลอบประโลม และบำบัดความเจ็บช้ำให้แก่ผู้คนกลับมามีความสุขอีกครั้ง[8]


หมู่บ้านไทยในโลกภาพยนตร์ : ภาพสะท้อนชาติไทยแบบ ‘ไมโคร’


นอกจากเนื้อหาย้อนยุคแล้ว น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘นางนาก’ และ ‘บางระจัน’ ยังมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่งคือแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘หมู่บ้านไทย’

ในภาพยนตร์เรื่อง ‘นางนาก’ แม้จะมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นการสะท้อนถึงการใช้อำนาจผีเข้าจัดการระเบียบและแก้ไขปัญหาสังคม[9] ทว่าอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่าผีนางนากมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อชาวบ้านพระโขนง คือก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้าน ซึ่งน่าสนใจว่าแม้ชาวบ้านจะมิได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชเช่นเดียวกับนางนาก แต่ชาวบ้านกลับสามารถต่อสู้และต่อกรกับนางนากได้อย่างสนุกสูสี ต่อให้ในท้ายที่สุด เรื่องราวจะจบลงด้วยการเดินทางมาปราบของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี แต่การต่อสู้ของชาวบ้านจนถึงขนาดรวมตัวกันไปเผาเรือนนางนากได้ ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อใดที่คนเรากลมเกลียวสามัคคีกันแล้ว แม้แต่ ‘ผี’ ก็ยังสู้ได้

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘บางระจัน’ แสดงถึงภาพของการต่อสู้และความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านบางระจันอย่างเด่นชัด ว่าแม้ชาวบ้านบางระจันจะมีกำลังไพร่พลและอาวุธเป็นรองทัพพม่าอย่างมาก แต่เพราะความสามัคคีกันของชาวบ้านจึงทำให้สามารถต้านทานทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อสำรวจภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ พ.ศ.2542-2546 จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงในแต่ละปีส่วนใหญ่ล้วนปรากฏภาพความเป็นหมู่บ้านไทย เช่น ‘นางนาก’ ‘บางระจัน’ ‘ผีหัวขาด’ และ ‘แฟนฉัน’ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ’15 ค่ำ เดือน 11′  ‘ขุนแผน’ และ ‘ไกรทอง’

ดังนั้นคงมิเป็นการเกินเลยที่จะวิเคราะห์ว่าภาพหมู่บ้านไทยและความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 คือการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ชาติไทยแบบ ‘ไมโคร’ ที่ย่อส่วนชาติไทยให้กลายเป็นภาพของชุมชน/หมู่บ้าน โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมสังคมไทย จนทำให้หลายฝ่ายตั้งตัวไม่ติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชนชั้นกลางในเมืองที่พังทลายทั้งในแง่เศรษฐกิจและจิตวิญญาณ ทำให้ที่พึ่งสุดท้ายคือการกลับบ้าน (หมู่บ้าน) และมาตุภูมิ[10] ทั้งในแง่ของชีวิตจริงและในโลกภาพยนตร์อย่างเช่นชีวิตของ ‘ตุ้ม’ จากภาพยนตร์ เรื่อง ‘ตลก 69’ ที่ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ดี ชวนสังเกตว่าอาการโหยหาอดีตในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้ประกอบสร้างหมู่บ้านไทยในสอง ลักษณะ กล่าวคือ 

ลักษณะแรก เป็นภาพหมู่บ้านไทยที่พ่อแม่พี่น้องเชื่อมโยงกันด้วยความสัมพันธ์แสนอบอุ่น เป็นภาพหมู่บ้านแห่งความสวยงาม สงบเรียบร้อย ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ และ ‘แฟนฉัน’ ซึ่งน่าสนใจว่าภาพหมู่บ้านดังกล่าวเป็นแบบร่วมสมัย ผู้สร้างหรือผู้ชมอาจมีประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านลักษณะนี้มาก่อน และในหมู่บ้านไทยจะไม่ปรากฏศัตรูเป็นตัวเป็นตนนัก ศัตรูของหมู่บ้านดูจะหมายถึงระบบทุนนิยม สภาวะการบริโภคนิยม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และความศิวิไลซ์แบบเมือง

ลักษณะที่สอง เป็นภาพหมู่บ้านที่ไม่สงบสุขนักเพราะมีศัตรูมารุกราน ทำให้คนในหมู่บ้านจำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ปกป้องรักษาบ้านเกิด ซึ่งมักเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านในประวัติศาสตร์ระยะไกล ทั้งผู้สร้างและผู้ชมต่างไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตในช่วงเวลาที่เกิดเรื่องราว แต่มีชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ในสังคมที่ผู้สร้างและผู้ชมจำนวนหนึ่งเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ ร่วมกันระดับหนึ่ง เช่น ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในเรื่อง ‘บางระจัน’ หรือยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในเรื่อง ‘นางนาก’

หากพิจารณาภาพหมู่บ้านไทยในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด ‘วิถีอำนาจแบบชุมชน’[11] การต่อสู้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม ทั้งนายทุน ผู้อุปถัมภ์ และรัฐบาลไทยพ่ายแพ้ต่อวิกฤตเศรษฐกิจ จนจำเป็นต้องหันหน้าไปพึ่งพา IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะ ‘ลูกหนี้’ และก่อให้เกิดความรู้สึก ‘สูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ’ ของคนในชาติ  หมู่บ้านไทยในโลกภาพยนตร์หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 จึงกลายเป็นภาพของการย่อส่วนชาติไทย กลายเป็นแบบ ‘ไมโคร’ ที่กระตุ้นเร้าและแสดงให้เห็นถึงภาพของการต่อสู้ด้วย ‘อำนาจวิถีไทย’ อย่างโดดเด่น ส่งผลต่อการสร้างพลังแนวคิดว่าความร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันของคนในหมู่บ้านไทยจะกลายเป็นพลังอำนาจต่อสู้ได้กับทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ‘ผี’ หรือ ‘พม่า’ ซึ่งก็คือ ‘ร่างทรง’ ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ระบบทุนนิยม และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF

จึงมิน่าแปลกใจว่า ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงในแต่ละปี ตั้งแต่ พ.ศ.2542-2545 ล้วนแสดงภาพของพลังหมู่บ้านไทยหรือการร่วมมือร่วมใจต่อสู้ของสมาชิกตัวละครนำแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นางนาก (2542) สตรีเหล็ก (2543) บางระจัน (2543-2544) มือปืน/โลก/พระ/จัน (2544) ผีหัวขาด (2545) และ 7 ประจัญบาน (2545) เพราะภายใต้ปรากฏการณ์โหยหาอดีตของภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ได้มีเพียงอารมณ์แห่งความสุขใจที่ได้หวนคืนสู่วันเก่าๆ แต่ยังแฝงไปด้วยการประกอบสร้างพลังวิถีอำนาจแบบไทย ความฮึกเหิมผ่านภาพหมู่บ้านไทย ในฐานะชาติแบบ ‘ไมโคร’



[1] สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, “ชาด ชาต ชาติ”, เข้าถึงข้อมูลใน http://legacy.orst.go.th/
?knowledges=%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4.

[2] ดู ฉบับแปลภาษาไทยใน Benedict Anderson , ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม,บรรณาธิการแปลโดย  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ,พิมพ์ครั้งที่ 3 ,(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2557).

[3] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), 40-74.

[4] ดูประเด็นนี้ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา และเพื่อน, ครอบครัวจินตกรรม : บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชนการปกครองและรัฐ, (กรุงเทพฯ : Illuminations Editions, 2561).

[5] ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ, “หนังไทยตื่นตัว..หรือตื่นตูม”, ใน บันทึกหนังไทย 2553-2554 การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ พ.ศ.2554, 20. ควรกล่าวว่า รายได้เฉพาะในประเทศไทยของภาพยนตร์นางนาก สามารถเอาชนะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Star Wars Episode I: The Phantom Menace ที่ออกฉายในปีเดียวกัน

[6] ดู กำจร หลุยยะพงษ์, ภาพยนตร์กับการประกอบสร้างสังคม ผู้คน ประวัติศาสตร์ และชาติ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย, 2556), 78-79. ; Anchalee Chaiworaporn, “ Nostalgia in Post Crisis Thai Cinema”,  in Forum on Contemporary Art & Society (Singapore), Vol.4 (September): 298-301.

[7] ดูความหมายและแนวคิดในการศึกษาปรากฏการณ์โหยหาอดีต (Nostalgia) ใน พัฒนา กิติอาษา, มานุษยวิทยากับการศึกษาปรากฏการณ์โหยหาอดีตในสังคมไทยร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2546), 1 -48.

[8]ดู อิทธิเดช พระเพ็ชร, จาก “โหยหา” ถึง “โมโห”: อ่านอาการสังคม ในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540-2546), วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์,  ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561), 171–219. ;  Anchalee Chaiworaporn, “ Nostalgia in Post Crisis Thai Cinema”, 298-310 ; Anchalee Chaiworaporn, “Home, Nostagia and Memory: The Remedy of Identity Crisis in New Thai Cinema”, In Asian Cinema, Spring/Summer: 108-122.

[9] กำจร หลุยยะพงษ์, “ ผีที่เปลี๊ยนไป ในภาพยนตร์ผีไทย”, ใน ภาพยนตร์กับการประกอบสร้างสังคม ผู้คน ประวัติศาสตร์ และชาติ, 58 – 98.

[10] ภาพปรากฏการณ์ “การกลับบ้าน” หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ยังปรากฏผ่านเนื้อหาของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งได้กลับมารุ่งเรื่องอีกครั้งในยุคแห่งการโหยหาอดีต โปรดดู อิทธิเดช พระเพ็ชร, จาก ‘รักน้องพร’ สู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’: บ้าน ป่าปูน และสถานบันเทิง ในพัฒนาการเพลง ‘ลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘สตริงลูกทุ่ง’ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540, เข้าถึงใน https://www.the101.world/thai-country-music-in-2540s/.

[11] วิถีอำนาจแบบชุมชน (Communitarianism)  เป็นวิถีที่ชาวบ้านสามัญชนขาดอำนาจผู้อุปถัมภ์ ไร้อำนาจรัฐราชการ และไม่มีอำนาจทุน อำนาจแบบชุมชนจึงเป็นการรวมหมู่ขึ้นมาเพื่อต่อรองและรักษาให้ได้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสังคม รวมทั้งเข้ามีส่วนบริหารจัดการและดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกับพลังอำนาจในความสัมพันธ์แบบอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชนนั้นเอง โดยผู้เขียนประยุกต์ใช้แนวคิดนี้จากการอ่านงานของ เกษียร เตชะพีระ, “แบบวิถีอำนาจไทย: ข้อคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในสังคมไทย”, ใน นิพนธ์ พัวพงศกร (บรรณาธิการ), จากวิกฤติเศรษฐกิจสู่ประชาสังคม: หนังสือที่ระลึกครบรอบ 60 ปี อาจารย์อัมมาร สยามวาลา, (กรุงเทพฯ:คณเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2542), 31-56.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save