fbpx

อุดมศึกษาไทยในวันที่มหาวิทยาลัยอยู่ในเงาทุนจีน

ในสภาวะที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญวิกฤต ‘ที่นั่งล้น คนเรียนขาด’ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปิดมหาวิทยาลัยมากกว่าความต้องการของผู้เรียน ซึ่งสวนทางกับรายได้และอัตราการเกิดของคนไทย ส่งผลให้การดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศเป็นความหวังที่จะช่วยต่อลมหายใจให้หลายสถาบันสามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่เสี่ยงจะต้องยุบกิจการจากการขาดแคลนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางนักศึกษาหลากหลายเชื้อชาติในประเทศไทย นักศึกษาจีนเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและมีการกระจายตัวไปศึกษาตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศมากที่สุด หลายมหาวิทยาลัยปรับตัวด้วยการยุบคณะที่คนเรียนน้อย แล้วหันมาเปิดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาจีนที่สอนด้วยภาษาจีน หวังจะดึงดูดนักศึกษาจีนให้เข้ามาเรียนมากขึ้น มีบริษัทเอเจนซีที่จีนช่วยทำการตลาด ประชาสัมพันธ์อย่างหนักเพื่อชิงนักศึกษาจีนมาเรียนด้วยให้ได้มากที่สุด

การแข่งขันชิงตัวนักศึกษาจีนอันดุเดือดนี้ กำลังผลักสถาบันอุดมศึกษาไทยลงไปสู่ปากเหวของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อผลกำไร (for-profit university) ที่มีเดิมพันเป็นเม็ดเงินมหาศาลจากปริมาณนักศึกษาที่เข้ามาเรียน แต่สวนทางกับคุณภาพบัณฑิตที่ผลิตได้

การหลั่งไหลเข้ามาของนักศึกษาจีน ทำให้กลุ่มทุนจีนเห็นช่องทางเติบโตในธุรกิจด้านการศึกษา เดินหน้าเข้าซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนที่อยู่ในอาการร่อแร่ บ้างก็มาในรูปแบบของการเปิดบริษัทร่วมกับนักลงทุนไทยเพื่อหลบข้อจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่ามีเพียง 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่จากคนไทยเป็นคนจีน แต่ข้อมูลจากหลายแหล่งข่าวกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่ามีมหาวิทยาลัยราว 10 แห่งอยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขาย การไหลเข้ามาของนักศึกษาจีนยังกระเพื่อมไปกระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และการค้า ที่เผชิญกับปรากฏการณ์จีนบุกไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว

การคืบคลานเข้ามาในปริมณฑลอุดมศึกษาไทยของกลุ่มทุนจีน นำมาสู่ความกังวลที่ว่าการศึกษาไทยจะถูกชี้นำและกำหนดทิศทางโดยกลุ่มทุนจีนหรือไม่ และในสภาวะที่การเปิดโปงธุรกิจสีเทาของนายทุนจีนกำลังคุกรุ่น มหาวิทยาลัยเป็นอีกหนึ่งช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบที่น่าจับตามองด้วยหรือไม่

101 ชวนสำรวจและจับตาสถานการณ์ทุนจีนรุกการศึกษาไทย ร่วมหาทางออกและทางรอดมหาวิทยาลัยไทยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้อิทธิพลเงินหยวน และสามารถรักษาไว้ซึ่งภาพลักษณ์การศึกษาไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

เหตุใดไทยเป็นปลายทางยอดนิยมของนักศึกษาจีน?

ย้อนไปยังคลื่นนักศึกษาจีนลูกแรก ชาวจีนที่เข้ามาศึกษาต่อในไทยเริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังจากเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ กุลนรีชี้ว่า ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เริ่มมีนักศึกษาจีนเข้ามาบ้าง แต่หลั่งไหลเข้ามาอย่างจริงจังหลังจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกิจจีนเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนประชาชนมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะส่งลูกหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ การเข้ามาศึกษาต่อในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีนอย่างไทย ก็ตรงกับที่ซุนวูได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

ข้อมูลจากรายงานวิจัย การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย โดย กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และ กรองจันทน์ จันทรพาหา เผยให้เห็นถึงสถิตินักศึกษาจีนในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี ข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประจำปี พ.ศ. 2563 ระบุว่านักศึกษาจีนที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยมีจำนวน 14,423 คน ขณะที่สถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทยประมาณการว่านักศึกษาจีนทุกระดับชั้นในไทยอาจมีมากถึง 50,000 คน 

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญด้านชาวจีนอพยพใหม่ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของจีนตอนใต้และไทย ส่งผลให้การค้าขายระหว่างไทย-จีนเฟื่องฟูที่สุดในภูมิภาคนี้ นักศึกษากลุ่มแรกๆ จึงมาจากจีนทางตอนใต้

“นักศึกษาจีนในไทย ส่วนใหญ่มาจากเขตปกครองตนเองกวางสี และมณฑลยูนนาน โดยมักจะเลือกเรียนวิชาภาษาไทยและบริหารธุรกิจ เพราะความสามารถทางภาษาไทยและองค์ความรู้เกี่ยวกับการค้าขายจะสร้างแต้มต่อเมื่อบัณฑิตเข้าสู่ตลาดงานที่บ้านเกิด” กุลนรีกล่าว

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นสะพานสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสายตาของพ่อ-แม่ ผู้ปกครองชาวจีนที่สนับสนุนให้ลูกหลานมาเรียนต่อที่ไทยเพื่อเป็นฐานที่มั่นก่อนจะขยายธุรกิจครอบครัวไปในกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อถามถึงจุดแข็งอื่นที่ทำให้ไทยเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการศึกษาต่อ กุลนรีวิเคราะห์ว่า นอกจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์แล้ว ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนที่ไทยไม่สูงมาก การทำเอกสารวีซ่าก็ไม่ยุ่งยาก ประเทศไทยยังมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายและปลอดภัย อีกทั้งการลงทุนผ่านโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ทำให้นักศึกษาจีนเชื่อมั่นว่าอนาคตการค้าจีน-ไทยน่าจะสดใสและตนจะมีโอกาสเติบโตในตลาดงาน

ยิ่งไปกว่านั้น การเข้ามาเป็นนักศึกษาที่ไทยยังมีหลายช่องทางให้สามารถทำมาหากินได้ตั้งแต่ช่วงยังเรียน กุลนรีเล่าว่า นักศึกษาจีนหลายคนวางแผนตั้งแต่ก่อนมาเรียนแล้วว่าจะหาเงินด้วยวิธีใด บางคนขอเงินก้อนจากพ่อแม่เตรียมมาเปิดธุรกิจ บางคนเข้ามาเรียนแล้วเห็นลู่ทางประกอบธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น เช่น หนึ่งในนักศึกษาชาวจีนที่กุลนรีได้พูดคุยด้วย เล่าว่าตนได้ขอสนับสนุนเงินทุนจากครอบครัวมาซื้อกิจการโรงงานหมอนยางพารา นอกจากนี้ยังมีช่องทางทำกินอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทุนหนาก็ทำได้ เช่น ติวเตอร์สอนภาษาจีน ล่ามอิสระ หรือที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือการรับพรีออเดอร์ (pre-order) สินค้าจากไทยส่งกลับไปจีน โดยมีลูกค้าจีนสั่งซื้อเข้ามาผ่าน WeChat นักศึกษาชาวจีนรายหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่นเผยว่ารายได้จากการพรีออเดอร์มากพอที่เธอจะสามารถส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากพ่อ แม่

ปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งในมุมมองของกุลนรี คือการที่ไทยเป็นสังคมที่ไม่กีดกันชาวจีน “คนจีนมองไทยในลักษณะที่เรียกว่า รัฐนานาวิสาสะ (cosmopolitan state) เป็นประเทศที่ไม่กีดกัน ต้อนรับคนจากทุกชาติ ยิ่งคนจีนยิ่งอ้าแขนรับเหมือนเครือญาติ ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนพิเศษเมื่ออยู่ที่นี่”

หากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวจีนเป็นกลุ่มที่โดนกีดกันและเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นการเอาคืนโดยคนพื้นเมืองหลังเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคม เนื่องจากในยุคที่ตะวันตกปกครอง ชาวจีนได้รับสิทธิพิเศษ ขณะที่คนพื้นเมืองกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ในไทย คนจีนสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นชนชั้นนำได้ จึงไม่แปลกนักที่ชาวจีนจะเลือกอยู่ในที่ที่เปิดโอกาสให้ตนเองแสวงหาความก้าวหน้าได้อย่างค่อนข้างมีอิสระ

หลักสูตรเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ

วิกฤตมหาวิทยาลัยไทยส่อแววเข้าสู่อาการโคม่าอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2561 ปีแรกที่มีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมาเป็นระบบ TCAS (Thai university Central Admission System) ในปีเดียวกันนั้นที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้หารือกันถึงความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว หลังจากพบว่าจำนวนรับเข้านักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยลดลง ที่น่าตกใจคือพบว่ามีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคกลางรับนักศึกษาเข้าเรียนได้เพียง 7 คน ขณะที่อีกแห่งพบว่า ทั้งมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาเพียง 200 คน หนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อการอยู่รอดของหลายมหาวิทยาลัยจึงเป็นการเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ

หลักสูตรนานาชาติที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ผลสอบภาษาอังกฤษในการสมัครเข้า ยังเป็นอุปสรรคสำหรับนักเรียนจีนหลายคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ หลายมหาวิทยาลัยจึงปรับหลักสูตร ลดทุกข้อจำกัดเพื่อดึงดูดนักศึกษาจีน ซึ่งเป็นชาติที่เข้ามาศึกษาต่อในไทยมากที่สุดให้เข้าเรียนได้โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุด เป็นที่มาของความแพร่หลายในการเปิดหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาจีน  

งานวิจัยของกุลนรีและคณะยังเผยให้เห็นว่ามีสถาบันการศึกษาไทยที่หันมาเปิดรับนักศึกษาจีนเพิ่มมากขึ้นถึง 102 แห่งทั่วประเทศ ข้อมูลจาก อว. ในปี 2563 เผยให้เห็นว่าจากนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 27,574 คน มีนักศึกษาจีนมากถึง 14,423 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52 เป็นปีแรกที่ไทยมีจำนวนนักศึกษาจีนมากกว่าครึ่งในหมู่นักศึกษาต่างชาติ

“สถาบันจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาจีนที่ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ภาษาไทยก็ไม่ได้ เพื่อหารายได้ เคยได้ยินมาว่าก่อนจะมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาจีน มีหลายมหาวิทยาลัยรับนักศึกษาจีนมาเรียนแล้วสอนด้วยภาษาไทย เราก็แปลกใจว่าเรียนรู้เรื่องกันยังไง เขาก็บอกว่าจ้างล่ามมาไว้ในห้อง ซึ่งสะท้อนว่าบางมหาวิทยาลัยเน้นปริมาณนักศึกษาแต่ไม่เน้นคุณภาพ เร่งเปิดหลักสูตรโดยขาดความพร้อม พอหาอาจารย์ชาวไทยที่สอนเป็นภาษาจีนไม่ได้ก็ใช้ล่าม หรือท้ายสุดก็ต้องนำเข้าอาจารย์จากจีน” กุลนรีกล่าว

ด้าน ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ศึกษาเรื่องจีนมาอย่างยาวนาน เคยให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post ว่า การแห่เปิดหลักสูตรภาษาจีนสร้างผลกระทบต่อบุคลากรมหาวิทยาลัยชาวไทย โดยมีกรณีอาจารย์ที่สอนด้วยภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่สามารถสอนด้วยภาษาจีน ถูกขอให้ออกจากตำแหน่งหลังมีการปรับหลักสูตร

การปรับตัวเพื่อเน้นดึงดูดนักศึกษาจีน ทำให้หลายมหาวิทยาลัยไทยยืดหยุ่นเรื่องเกณฑ์รับเข้าและคุณสมบัตินักศึกษา จนอาจลดมาตรฐานเดิมในการคัดกรองนักศึกษาเข้าเรียน เช่น นักศึกษาไม่ต้องยื่นคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ เมื่อได้นักศึกษาที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกับบุคลากรที่มีอยู่ได้ มหาวิทยาลัยก็ต้องทุ่มทรัพยากรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาจีน สิ่งนี้กำลังทำลายสมดุลในการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

คืบคลานและเขมือบ! : การเข้าซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนโดยทุนจีน

มิใช่เพียงการเรียนการสอนที่เหมือนยกห้องเรียนจีนมาไว้ที่ไทย อิทธิพลเงินหยวนยังรุกไปไกลกว่านั้น ในปี 2561 Thai PBS รายงานว่า นายหวัง ฉางหมิง กับบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ร้อยละ 70) ในมหาวิทยาลัยเกริก โดยมีการถือหุ้นโยงกันถึงสามชั้นระหว่างกลุ่มทุนเดิมและกลุ่มทุนใหม่ของนายหวัง ทำให้มหาวิทยาลัยเกริกเปลี่ยนมือสู่เจ้าของคนจีน ต่อมาในปี 2562 กลุ่มทุนจีนผู้ให้บริการด้านการศึกษาเอกชนรายใหญ่ในจีนตอนกลาง บริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ เดินหน้าซื้อมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ไชน่า หยู่ฮว๋า เข้าถือหุ้นใหญ่ได้ประมาณ 49% และเตรียมส่งทีมบริหารจากจีนเข้าดูแลเพื่อปรับโครงสร้างรองรับการเข้ามาของนักศึกษาจีน

ความกังวลถึงการครอบงำจากทุนจีนในระลอกแรกเริ่มเกิดขึ้นในรัฐบาลไทย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี อว. ขณะนั้น เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อตรวจสอบผลกระทบจากการเข้าซื้อกิจการ และกำกับควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมไทย ทั้งการแอบแฝงตั้งธุรกิจในไทย และการทำงานที่ขัดกฎหมาย ความพยายามอย่างจริงจังจากรัฐในการสอดส่องการเข้าซื้อมหาวิทยาลัยไทยโดยทุนจีนเริ่มจางหายไป หลังจากปี 2562 ก็ไม่ปรากฏบนหน้าสื่อว่ามีการประชุมติดตามใดๆ การคืบคลานของทุนจีนในแวดวงอุดมศึกษากลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุอีกครั้ง

ปลายปี 2565 ศ.ดร.จำเนียร จวงตระกูล ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส.ได้กล่าวในเวทีประชุมแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสุขภาวะในประเทศไทยว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชนไทยนับ 10 แห่งที่ประสบปัญหาทางการเงิน มีการขายกิจการให้ทุนจีนเข้ามาดำเนินการ เพียงแต่ไม่ได้มีการเปิดเผย

เมื่อไม่นานมานี้ อว. ออกมายืนยันว่าปัจจุบันมีเพียง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (เดิมชื่อมหาวิทยาลัยชินวัตร) ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยมีกลุ่มทุนจีนเป็นผู้ถือหุ้น มีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยเป็นชาวจีน อว. เน้นย้ำว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย

สัดส่วนคณะผู้บริหารในปัจจุบันของทั้งสามมหาวิทยาลัยที่ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. เปิดเผย มีดังนี้ มหาวิทยาลัยเกริกมีนายกสภาและอธิการบดีเป็นคนไทย มีกรรมการสภาที่เป็นชาวจีนประมาณ 17% มหาวิทยาลัยเมธารัถย์มีนายกสภาและอธิการบดีเป็นชาวจีนกรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40% ส่วนมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนายกสภาเป็นชาวจีน อธิการบดีเป็นคนไทย และมีกรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40%

ประเด็นที่น่าจับตามองไม่ได้มีแค่การเข้าซื้อทั้งมหาวิทยาลัยโดยทุนจีน แต่การครอบงำในรูปแบบอื่นก็สร้างความน่ากังวลถึงมาตรฐานในการอุดมศึกษาไทยไม่แพ้กัน ชมพู่ (นามสมมติ) นักศึกษาจากมณฑลเหอหนานที่เข้ามาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยไทยเมื่อปี 2550 เปิดเผยกับ South China Morning Post ถึงการขายแพ็กเกจหลักสูตรให้กับเอเจนต์ด้านการศึกษาสัญชาติจีนโดยมหาวิทยาลัยเอกชนไทย “หลายปีก่อน มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพได้รับการติดต่อจากเอเจนต์จีนว่าต้องการ ‘เช่า’ พื้นที่และหลักสูตรการเรียนการสอน โดยทางจีนจะนำเข้านักศึกษาและคณาจารย์เอง แต่นักศึกษาจะได้รับวุฒิปริญญาจากมหาวิทยาลัย” ชมพู่กล่าวว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการทำให้ปริญญาเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้

การแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้การศึกษามาบังหน้าในลักษณะนี้ รังแต่จะสร้างภาพจำให้ประเทศไทยว่ามีเงินก็ทำได้ทุกอย่าง ท่าทีของหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้องดูจะมั่นใจว่าควบคุมการเข้าซื้อกิจการโดยทุนจีนได้ แต่ในธุรกิจ ‘เช่า’ พื้นที่และตราประทับมหาวิทยาลัยในใบปริญญาบัตรเช่นนี้ รัฐสอดส่องทั่วถึงหรือไม่

ไม่ตรงปก: เสียงสะท้อนนักศึกษาต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทย

เอเจนซีด้านการศึกษาต่อยังมีบทบาทสำคัญในการนำเข้านักศึกษาจีนสู่ไทยและเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเฟื่องฟู มหาวิทยาลัยไทยที่เปิดหลักสูตรเพื่อนักศึกษาจีนต้องพึ่งพาเอเจนซีเพื่อทำการตลาดที่จีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งยังอาศัยเอเจนซีในการคัดกรองนักศึกษา กุลนรีกล่าวว่า จากที่ได้สอบถามนักศึกษาจีน หากเอเจนซีบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้ดี นักเรียนก็ค่อนข้างจะเชื่อ อีกทั้งการแนะนำปากต่อปากจากรุ่นพี่หรือเพื่อนที่เคยเข้ามาเรียนในไทยยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ บริษัทที่เคยเป็นคนกลางในการนำเข้านักศึกษาจีนแห่งหนึ่ง เติบโตจนสามารถผันตัวไปเป็นกลุ่มทุนเข้าซื้อมหาวิทยาลัยได้เลยทีเดียว

หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ทุนจีนเข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2561 มีการประชาสัมพันธ์อย่างหนักในจีนว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่โด่งดังในไทย บริษัทเอเจนซีจีนหลายเจ้าก็แนะนำ เมื่อนักศึกษาเข้ามาเรียนก็พบว่า ‘ไม่ตรงปก’ ทั้งคุณภาพการสอนและโอกาสเติบโตหลังเรียนจบ หลังได้รับผลกระทบจากจีนปิดประเทศในช่วงโควิด มหาวิทยาลัยดังกล่าวมีการเปิดหลักสูตรที่ไม่จำเป็นต้องมาเรียนถึงไทยก็สามารถได้ใบปริญญา ภายหลังมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อปรากฏอยู่ในประกาศของศูนย์นักศึกษาต่างชาติ กระทรวงศึกษาธิการจีน ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่กระทรวงจะเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เนื่องจากในช่วงโควิดมีสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรการเรียนออนไลน์คุณภาพต่ำเพื่อดึงดูดนักศึกษา

สิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การตั้งคำถามว่า นี่เป็นผลพวงจากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวจีน มีอำนาจในการออกแบบหลักสูตร กระบวนการรับเข้า และปรับเปลี่ยนมาตรฐานการประเมินผลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพหรือไม่

101 จึงต่อสายตรงถึงจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อพูดคุยกับ ฟ้าใส (นามสมมติ) บัณฑิตปริญญาโทชาวจีนที่เคยข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อสอบถามถึงประสบการณ์การเข้ามาศึกษาที่ไทย เธอสนทนากับเราด้วยภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ เริ่มด้วยการเท้าความว่าหลังจบปริญญาตรีที่จีนในสาขาภาษาไทย ฟ้าใสมีความมุ่งมั่นจะเพิ่มพูนทักษะการพูดด้วยการมาศึกษาต่อในประเทศไทย เธอคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยรัฐเนื่องจากมีความน่าเชื่อถือมากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน

“มีเพื่อนหลายคนที่เลือกมหาวิทยาลัยเอกชนตามที่เอเจนต์แนะนำ ซึ่งก็ดูง่ายและสะดวกในการทำเอกสารหรือสมัครเรียน แต่สำหรับเราที่ตอนแรกอยากกลับมาทำงานที่จีน มองว่าถ้าได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเอกชน ที่จีนจะไม่ค่อยยอมรับ พอกลับมาจีนเราต้องเอาไปยื่นกับกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเคยมีมหาวิทยาลัยที่จีนไม่รับรองให้ เราก็หางานทำไม่ได้ ถ้าจบจากมหาวิทยาลัยเอกชนเลยดูจะแข่งกับคนอื่นไม่ค่อยได้”

เมื่อถามต่อว่าสิ่งที่ฟ้าใสคาดหวังจากการมาเรียนปริญญาโทที่ไทยและสิ่งที่ได้กลับไป เป็นตามที่หวังหรือไม่ เธอตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ไม่!”

“ตอนสอบสัมภาษณ์ เราก็บอกความคาดหวังว่าอยากเรียนอะไร อยากจะได้อะไรกลับไป พอเขารับเรา ก็เข้าใจว่าเขาสามารถให้สิ่งที่เราต้องการได้ ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เราจินตนาการไว้เยอะเลยว่าคงออกแบบการสอนให้นักศึกษาต่างชาติพัฒนาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้น ที่สื่อสารได้ทุกวันนี้เราขวนขวายเองจากนอกห้องเรียนทั้งนั้น อาศัยการคุยกับเพื่อนคนไทยเยอะๆ เอาจริงการเรียนในห้องไม่ค่อยต่างจากตอนเรียนอยู่จีนเลย เรียนแต่เขียนกับอ่าน เราจ่ายค่าเทอมแพงด้วยนะ มันก็เจ็บใจตรงนี้ด้วย”

แม้จะผิดหวังกับการข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียน แต่การได้ใช้ชีวิตที่ไทยและมีเพื่อนคนไทยก็ทำให้ภาษาไทยพัฒนาขึ้นและฟ้าใสเองก็รู้สึกว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ฟ้าใสเบนเข็มชีวิตว่าจะหางานทำที่ไทย เนื่องจากมีบริษัทจีนมาเปิดเยอะ น่าจะมีโอกาสในตลาดงานที่นี่และเธอก็อยากนำทักษะภาษาไทยที่ร่ำเรียนมาใช้ในการทำงาน

แม้ภาครัฐจะชี้แจงว่าไม่มีมหาวิทยาลัยใดในขณะนี้ที่ละเมิดข้อกำหนดว่าด้วยกรรมสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย แต่ในทางปฏิบัติ เราเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่าอำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือคนไทยมากกว่า การมุ่งทำกำไรจากการดึงนักศึกษาให้ได้มากที่สุดโดยปราศจากการควบคุม จะส่งผลในระยะยาวต่อความน่าเชื่อถือของใบปริญญาจากไทยในระดับนานาชาติหรือไม่ เป็นเรื่องน่าขันอยู่เหมือนกันที่กระทรวงศึกษาฯ จีน ออกประกาศเตือนนักศึกษาประเทศตนถึงความไม่ได้มาตรฐานของหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยที่บริหารโดยคนจีน

การขยายตัวของทุนจีนนอกรั้วมหาวิทยาลัย

การเข้ามาเรียนในไทยของนักศึกษาจีนนั้นไม่ได้มาตัวเปล่า แต่ในทุกมิติของการดำรงชีวิตจำเป็นจะต้องจับจ่ายใช้สอย อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเข้าถึงปัจจัยสี่ ปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาจีนสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย มีการประมาณการไว้ว่าอาจสูงถึงพันล้านบาทต่อปี แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่าคนไทยได้ผลประโยชน์จากกระแสแห่เรียนไทย แต่ฉากหลังกลับมีสีเทาฉาบเคลือบอยู่ ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่คือ ‘การศึกษาศูนย์เหรียญ’ ซ้ำรอยภาคท่องเที่ยวหรือไม่

กุลนรีเปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ไปทำวิจัยมีเสียงสะท้อนจากผู้ค้ารายย่อยใกล้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถึงการครอบงำเศรษฐกิจรอบรั้วมหาวิทยาลัยของทุนจีน “มีคนมาคุยด้วยว่าที่คนจีนเข้ามาเทกโอเวอร์มหาลัยไทย ไม่ได้เอาแค่นักศึกษาเข้ามา แต่เตรียมการมาแล้วว่าจะสร้างคอนโด สร้างหอพัก เปิดร้านอาหารจีน มินิมาร์ตจีน เป็นคนจีนมาลงทุนหมดเลยรอบๆ มหาวิทยาลัย สุดท้ายเงินก็ไม่ได้ตกถึงคนไทยในพื้นที่” แม้แต่ในมหาวิทยาลัยรัฐนอกกรุงเทพที่ไม่ได้มีการเข้าซื้อหุ้นโดยทุนจีนก็ยังมีการสะท้อนจากคนในพื้นที่ว่ามีการตั้งนอมินีเพื่อทำธุรกิจหอพัก

ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจเรื่องการใช้วีซ่านักท่องเที่ยวมาทำมาหากินในไทย ฝั่งวีซ่านักศึกษาเองก็มีเช่นกัน หลายคนก็มีวาระซ่อนเร้น ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาเรียน แต่มาทำงานโดยอาศัยวีซ่านักศึกษา

“มีกลุ่มที่เน้นลงเรียน ไม่เน้นเรียนจบ เลือกมาเรียนระดับปริญญา เพราะวีซ่าอยู่ได้นานกว่าลงเรียนคอร์สภาษา เขาก็จ่ายค่าเทอมไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปทำงาน เช่น ทำที่บริษัทสตาร์ตอัปหรือบริษัทเล็กๆ ที่มีนายจ้างเป็นคนจีน แต่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ก็ต้องอาศัยช่องทางการเป็นนักศึกษา หรือบางคนก็ตั้งใจมาทำธุรกิจพรีออเดอร์โดยเฉพาะ และอาจจะมีกลุ่มที่มีเป้าหมายอื่นแต่เรายังไม่เจอ” กุลนรีกล่าว

ท่ามกลางบรรยากาศของการเปิดโปง ‘กลุ่มทุนจีนสีเทา’ ทุกย่างก้าวการขยับของการประกอบธุรกิจในไทยโดยคนจีน เริ่มจะถูกจับตามองถึงความโปร่งใส ในภาคการศึกษาก็เช่นกัน เราถามกุลนรีว่ามองประเด็นนี้อย่างไร

“เรื่องทุนจีนสีเทาเกิดขึ้นได้ก็เพราะคนไทยนี่แหละ ถ้าเขาเสนอแต่เราไม่สนองมันก็ไม่เกิด คนจีนที่ทำผิดกฎหมายมาได้ถึงขนาดนี้ก็เพราะมีเครือข่าย มีคนไทย คนใหญ่คนโตคอยหนุนหลังให้ทุนจีนได้ประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งช่องว่างที่ทำได้แน่ๆ คือการใช้นอมินีคนไทย ทุกวันนี้มีหมดแหละ ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน หรือเปิดบริษัท

“ถ้าเป็นเรื่องมหาวิทยาลัย คงยังไม่ไปถึงขั้นการศึกษาศูนย์เหรียญ ยังเชื่อว่าไทยระแวดระวังพอสมควร แต่ที่เป็นความท้าทายใหญ่คือการจัดการคุณภาพการเรียนการสอนให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ใช่เปิดมาเพื่อธุรกิจ เน้นปริมาณเพียงอย่างเดียว ในเมื่อนักศึกษาจีนน่าจะหลั่งไหลเข้าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรมาโฟกัสว่าจะทำยังไงให้ไทยได้ประโยชน์ เช่น ถ้าเราควบคุมคุณภาพหลักสูตรสำหรับนักศึกษาต่างชาติได้ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น education hub ในภูมิภาคได้ สามารถดึงนักศึกษาจากประเทศอื่นๆ เข้ามาได้มากขึ้น ทุกอย่างอยู่ที่เรื่องการบริหารจัดการ” กุลนรีกล่าว

เช่นนั้นแล้ว การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมองการณ์ไกลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันอย่างจริงจัง การเข้ามาของนักศึกษาจีนเป็นโอกาสที่ไทยสามารถต่อยอดไปได้หลายภาคส่วน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่โอกาสที่ปราศจากการบริหารจัดการที่ดีมารองรับ ก็อาจพลิกเป็นวิกฤตได้ หากการจัดการศึกษาถูกขับเคลื่อนโดยเป้าหมายในการหากำไร ให้ความสำคัญกับปริมาณมากกว่าคุณภาพ กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือใบปริญญาจากประเทศไทยจะถูกแปะป้ายจากนานาชาติว่าด้อยคุณภาพ มาตรฐานต่ำ ท้ายสุดผลกระทบก็จะตกกับไทยเสียเอง นักศึกษาต่างชาติจะเบนเข็มการศึกษาต่อออกจากไทย ประเทศจะขาดรายได้มหาศาล และอาจลดโอกาสในการเติบโตของบัณฑิตไทยในเวทีโลกด้วย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรไล่ให้ทันธุรกิจที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศไทย หามาตรการที่รัดกุมเพื่อควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยก่อนจะสายเกินแก้ เพราะคนไทยเอือมกับการฟังข่าวการเปิดโปงเครือข่ายธุรกิจสีเทาที่รัฐปล่อยให้เกิดมามากพอแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save