fbpx

จาก God Save the Queen สู่ God Save the King : การเปลี่ยนบทเพลงสรรเสริญพระบารมีในรอบ 70 ปี

พลันที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ปฏิบัติการณ์ Operation London Bridge ก็เริ่มทำงานตามแผน และที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนเพลงสรรเสริญพระบารมีจาก God save the Queen เป็น God save the King เพราะตามราชประเพณีเจ้าชายแห่งเวลส์ในฐานะมกุฎราชกุมารจะเสด็จขึ้นครองราชย์โดยทันที 

Operation London Bridge เป็นรหัสเรียกชื่อแผนงานที่สำนักพระราชวังและรัฐบาลตกลงร่างขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์เมื่อประเทศชาติสูญเสียบุคคลสำคัญ เป็นแผนงานที่ร่างไว้นานแล้ว โดยมีการปรับปรุงทุกปี มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทุกหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินดำเนินไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ พิธีรีตองตามรัฐธรรมนูญและความสง่างามในแต่ละขั้นตอน รวมทั้งการประสานงานกับต่างประเทศ ทั้งในเรื่องพิธีการทูต การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การประสานงานสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ 

ส่วนการประกาศการเสด็จขึ้นครองราชย์ (Proclamation of Accession) เป็นราชประเพณีโบราณสืบทอดจนเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีครั้งนี้จัดขึ้น 2 วันหลังจากวันสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถที่พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ มีตัวแทนจากสถาบันทางการเมืองทั่วสหราชอาณาจักร สมาชิกสภาสามัญ (ส.ส.) สมาชิกสภาขุนนาง ทูตจากประเทศเครือจักรภพ รวมทั้งอดีตนายกรัฐมตรีที่ยังมีชีวิตอยู่จะมาเป็นสักขีพยาน โดยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องประกาศรับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญในเรื่องพระราชอำนาจ และลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญหลายชิ้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนได้เห็นพิธีโบราณนี้ เพราะมีการถ่ายทอดสดทางทีวี  

กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีคามิลลา และเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ขณะร่วมพิธีประกาศการเสด็จขึ้นครองราชย์ (Proclamation of Accession) ที่มาภาพ: royal.uk

ส่วนพิธีราชาภิเษก (Coronation) จะมีการกำหนดวันเวลาที่เหมาะสมต่อไป คาดหมายว่าประมาณกลางปีหน้า และมีข่าวออกมาว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 มีพระราชดำริให้ราชพิธีราชาภิเษกของพระองค์เป็นงานที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ (low carbon event) ที่สอดคล้องกับแนวปณิธานรักษาสิ่งแวดล้อมที่พระองค์ทรงสนับสนุนรณรงค์มาหลายสิบปี

ในวันที่มีประกาศ Proclamation of Accession ธงชาติที่ลดลงครึ่งเสาทั่วประเทศ หลังมีประกาศสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ ก็จะกลับมาชักธงขึ้นเต็มเสาหนึ่งวันเพื่อเป็นมงคลถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แล้วจะกลับไปลดธงครึ่งเสาวันถัดมาเพื่อไว้อาลัยสมเด็จพระราชินีนาถต่อไป และในพิธีนี้ผู้ที่ชุมนุมอยู่ในพิธีที่ห้องโถงพระราชวังเซนต์เจมส์ จะร่วมกันเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี God save the King ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1952 ที่สหราชอาณาจักรเปลี่ยนเพลงสรรเสริญพระบารมีจาก God save the Queen เป็น King

God save our gracious King!
Long live our noble King!
God save the King!
Send him victorious,
Happy and glorious,
Long to reign over us,
God save the King.Thy choicest gifts in store
On him be pleased to pour,
Long may he reign.
May he defend our laws,
And ever give us cause,
To sing with heart and voice,
God save the King.

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีของสหราชอาณาจักรมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้แต่ง เท่าที่ตรวจสอบดูพบว่า แอนดรูว์ กรีน (Andrew Green) นักประวัติศาสตร์ทางดนตรีคลาสสิกได้ค้นคว้าที่มาที่ไปของเพลงนี้ และเขียนบันทึกไว้ว่า วี่แววแรกที่ค้นพบคือ มีการเล่นเพลงนี้ในโรงละครรอยัล ดรูรีเลน (Theatre Royal, Drury Lane) ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1745 ในช่วงเวลานั้นอังกฤษกำลังมีปัญหาแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์จอร์จที่ 2 ซึ่งเป็นโปรเตสแตนท์กับเจ้าชายบอนนี่ ชาร์ลี แห่งราชวงศ์สจวร์ต (Bonnie Prince Charlie หรือ Charles Edward Stuart) ซึ่งเป็นคาทอลิกที่ได้รับการหนุนหลังจากราชวงศ์ในฝรั่งเศส 

ชนชั้นนำในลอนดอนตอนนั้นเกิดอาการหวั่นไหวว่ากองทัพฝรั่งเศสจะช่วยรบด้วยการยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของอังกฤษ เกิดความโกลาหลขวัญกำลังใจตกต่ำ จึงมีการแต่งเพลงเรียกขวัญกำลังใจแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์จอร์จ โดยร้องปลุกใจกันในโรงละคร มีข้อความตอนหนึ่งว่า ‘God save great George our King’  เพื่อตอกย้ำความจงรักภักดีว่าเป็นพระมหากษัตริย์โดยแท้จริงของสหราชอาณาจักร   

หลังจากนั้นเวลาต่อมาก็มีการร้อง ‘เพลงสรรเสริญพระบารมี’ หลังจากการแสดงมหรสพ ในโรงละครใหญ่ๆ รวมทั้งโอเปร่าที่โคเวน การ์เดน (Covent Garden) เพื่อปลุกใจให้จงรักภักดีต่อกษัตริย์ที่เป็นโปรเตสแตนท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ก็ได้ตีพิมพ์เนื้อร้องออกแพร่หลาย ซึ่งในยุคแรกๆ เนื้อร้องของเพลงจะสะท้อนอารมณ์ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในยุคนั้นๆ

เมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเพลงก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ไม่มีใครแน่ใจว่าเพลง God save the King กลายเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างเป็นทางการได้อย่างไรและเมื่อไหร่ เพราะไม่มีการตราออกมาเป็นกฎหมาย และไม่เคยมีพระบรมราชโองการประกาศให้เป็น ‘เพลงชาติ’ (National Anthem) ที่นำมาใช้ในโอกาสสำคัญๆ ของชาติ รวมทั้งเวลาที่นักกีฬารับเหรียญทองโอลิมปิก เพราะสหราชอาณาจักรใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติ พัฒนาการที่ผ่านมาจึงกลายเป็นประเพณี ไม่มีกฎหมายรองรับ  

นักวิชาการด้านดนตรีอีกท่านหนึ่งชื่อ เพอร์ซี โชลล์ (Percy Scholes 1877-1958) ได้ค้นคว้าเขียนหนังสือเรื่อง God Save The King: Its History and Romance ตีพิมพ์เมื่อปี 1942 ระบุว่า เนื้อหาและทำนองของเพลงมาจากเพลงปลุกใจของชุมชนท้องถิ่น ลักษณะเป็นเพลงโฟล์ก (folk song) ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้รักและปกป้องแผ่นดินเกิด และความจริงมีความเป็นไปได้ว่ามีเนื้อร้องบางส่วนมาจาก ‘ฝ่ายขบถแจกเคอไบต์ (Jacobite Rebellion)’ ที่เป็นคาทอลิกใช้ร้องปลุกใจให้จงรักภักดีต่อกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1680s ก่อนที่ฝ่ายนิยมกษัตริย์จอร์จที่ 2 ซึ่งเป็นโปรเตสแตนท์เกือบร้อยปีต่อมา นำไปดัดแปลงร้องในโรงละครที่ลอนดอนด้วย จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งทางประวัติศาตร์ เพราะเนื้อร้องและทำนองของเพลงใช้ปลุกใจให้จงรักภักดีต่อกษัตริย์สองพระองค์ที่กำลังแย่งชิงบัลลังก์กัน 

ในเวลาต่อมา God save the King ถูกนำไปใช้ปลุกใจให้ชาวอังกฤษสามัคคีร่วมกันสู้การรุกรานของกองทัพนโปเลียน พร้อมกับถือโอกาสใช้ปลุกระดมต่อต้านกระแสกลุ่มคนที่เริ่มก่อตัวหันเหความนิยมไปสาธารณะรัฐ ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีกระแสมาจากฝรั่งเศส จนกระทั่งต่อมาในปี 1800 เมื่อมีคนพยายามลอบปลงพระชนม์กษัยริย์จอร์จที่ 3 แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ผู้จงรักภักดีใช้ God save the King ร้องขอพระผู้เป็นเจ้ารักษาชีวิตคุ้มครองกษัตริย์ เล่นดังกระหึ่มขึ้นในโรงละครรอยัล ดรูรีเลนอีกครั้งหนึ่ง 

ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จักรวรรดิอังกฤษได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้ God save the Queen ดังกระหึ่มไปทั่วจักรวรรดิ โดยเฉพาะในอินเดีย ซึ่งต่อมาแม้จะได้รับเอกราชแล้วและเปลี่ยนไปใช้เพลงชาติของอินเดียเองแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประเพณีเปิดเพลงในโรงมหรสพ หรือปัจจุบันคือโรงภาพยนตร์ จนในระยะหลังๆ นี้มีการกระทบกระทั่งกันในหมู่ผู้ชมภาพยนตร์บอลลีวูดรุ่นใหม่ในอินเดียที่มีบางคนนิยม และบางคนไม่นิยมยืนตรงเมื่อเปิดเพลงนี้ ไม่เหมือนสมัยที่บรรพบุรุษเคยยืนเคารพเพลง God save the Queen ในยุคที่เป็นเมืองขึ้น 

จนกระทั่งเดือนมกราคมปี 2018 ศาลสูงในอินเดียมีคำพิพากษาว่าข้อบังคับให้โรงภาพยนตร์เปิดเพลงชาติก่อนฉายภาพยนตร์นั้นเป็นโมฆะ แม้กระนั้นโรงภาพยนตร์อาจจะเปิดเพลงชาติก็ได้ แต่ต้องไม่บังคับให้ผู้ชมยืนตรงแสดงความเคารพ ทำให้ประเพณีที่สืบทอดจากยุคอาณานิคมยุติไป สาเหตุที่มีการฟ้องร้องกันในศาล เพราะมีหลายคนไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากพรรคชาตินิยมฮินดูใช้เพลงชาติปลุกลัทธิชาตินิยมฮินดู  

แม้ว่าบางประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษอาจจะยังคงเคร่งครัดกับการยืนเคารพเพลงชาติ แต่ในอังกฤษเองหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเข้มงวดกับกฎเกณฑ์สมัยเดิมค่อยๆ เบาบางลง และหลังจากทศวรรษที่ 1970 ประเพณีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในมหรสพและโรงภาพยนตร์ก็ค่อยๆ หายไป หากจะมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ในวาะสำคัญๆ ของชาติเท่านั้น 

สำหรับโทรทัศน์บีบีซีช่องหลักคือ บีบีซีวัน (BBC One) มักจะเปิดเพลง God save the Queen เมื่อปิดสถานียุติการออกอากาศตอนตีหนึ่ง แต่เวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดสถานีบีบีซีนิวส์ 24 ชั่วโมง (BBC News Channel) แล้วนำผังรายการบีบีซีนิวส์ซึ่งเป็นช่องดิจิทัล รายงานข่าว 20 ชั่วโมงเข้ามาสวมออกอากาศต่อไปจนถึงเช้า จึงไม่มีการปิดสถานีและยกเลิกการเปิดเพลง God save the Queen ไปโดยปริยาย 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save