fbpx
จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“… รัฐธรรมนูญไม่ได้ช้า ได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ที่ออกจะตลกคือเรายังไม่กลับ เราจะอยู่สำหรับการเลือกตั้ง [ของพฤฒสภา] การเปิดสภา และการตั้งนายกรัฐมนตรี เขาว่าควรจะเสร็จต้นเดือนมิถุนายน เล็กได้ทำเรือบินไม้และเรือรบศรีอยุธยาที่มีรายละเอียดมากมาย ในงานราตรีมีการประมูลเรือบินได้ 10,000 บาท เรือ 20,000 บาท และยังมีรูปถ่ายอีกสองรูปซึ่งประมูลได้รูปละ 3,000 บาท เล็กได้แต่งเพลงจังหวะ fox-trot และวงดนตรีได้เล่นเพลงนี้ในงาน  Le Gommeux มีผลงานมากจริงๆ ยังได้วาดภาพอีกหลายภาพ…” [1]

 

จุดตั้งต้นที่ถูกเลื่อน

 

ระยะเวลา 10 ปีจาก พ.ศ. 2478 [2] ที่ขึ้นครองราชย์จนถึงปี 2488 ที่เสด็จนิวัติพระนครภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงเตรียมพระองค์ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของสมเด็จพระบรมราชชนนีสำหรับการรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ถ้าไม่สวรรคตอย่างที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดในเดือนมิถุนายน 2489 ระยะเวลาต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ก็จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่จะเป็นผู้เริ่มต้นร่วมกับผู้นำการเมืองของระบอบใหม่เวลานั้น ในการวางประเพณีการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการเตรียมการสำหรับจุดตั้งต้นใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2475 ดังจะเห็นได้จากการริเริ่มที่ “…นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” [3]

การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ผลออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

และถ้าการณ์เป็นไปอย่างที่เตรียมกันไว้เช่นนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 จะเป็นจุดตั้งต้นของการวางประเพณีการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมกับผู้นำการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็จะมีโอกาสช่วยกันสานต่อความร่วมมือระหว่างกลุ่มการเมืองหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ขบวนการเสรีไทย ในทางที่ทำให้ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในระยะแรกภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 สามารถสมานเข้าหากัน จนพอจะทำให้ระบอบการเมืองดำเนินและพัฒนาต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ และน่าจะเกื้อหนุนการรักษาพลังสนับสนุนประชาธิปไตยในสังคมที่กว้างขวางและเข้มแข็งเพียงพอไว้ได้

ถ้าหากเป็นไปได้ตามนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวก็จะเป็นระยะก่อรูปตั้งหลัก (formative years) ที่สำคัญทั้งในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ และของระบอบการปกครองที่ “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” [4]

ถึงแม้ทุกอย่างจะเตรียมการไว้พร้อมเช่นนั้น แต่ “อุปสรรคก็มีขึ้นมาได้จริงๆ …” [5]

การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้พลิกจุดตั้งต้นใหม่ที่หลายฝ่ายคาดหวังนี้ให้เปลี่ยนไปอีก และเป็นการเปลี่ยนที่มีผลสะเทือนทั้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะใช้เป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองส่วนต่างๆ และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสถาบันทางการเมืองเหล่านั้น เปลี่ยนบรรยากาศความสัมพันธ์และการต่อสู้แข่งขันทางการเมือง เปลี่ยนตัวผู้นำและกลุ่มการเมือง และเปลี่ยนพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่มาเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ภายหลังการสวรรคต และต้องมาเป็นผู้ทรงทำหน้าที่แทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในการจัดความสัมพันธ์ที่จะมีผลทางการเมืองอันสำคัญยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อเนื้อหาสาระระบอบการเมืองการปกครองใหม่ของไทย

เมื่อมีเหตุทำให้กลับกลายไปเช่นนี้ ปัญหาที่ต้องถามตามมาก็คือ การตั้งต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ควรจะเกิดขึ้นในปี 2489 และโดยรัฐธรรมนูญ 2489 ได้เลื่อนไปอยู่ที่จุดไหนแทน?

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่ปรีดีเป็นทั้งผู้ริเริ่มและเป็นทั้งผู้มาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ การวางตัวแบบสำหรับจัดอำนาจการปกครองในระบอบก็ได้ถูกทอดเวลาออกไปอีกภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 โดยผลสำคัญที่สุดของรัฐประหารครั้งนั้น เมื่อพิจารณาในแง่การตั้งต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือการทำให้คณะราษฎร ทั้งในฐานะที่เป็นกลุ่มพลังของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และการเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยของระบอบการเมืองใหม่ ได้สลายตัวลง ไม่อาจหวนคืนมาเป็นฝ่ายกำหนดรัฐธรรมนูญใหม่สำหรับการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อีก

ถ้ารายงานวิจัยต้องพาเนื้อหาเดินต่อไปตามเส้นเวลาหลังจากความล้มเหลวที่จะเป็นจุดตั้งต้นของรัฐธรรมนูญ 2489  ทศวรรษ 2490 ก็จะเป็นทศวรรษของการพลิกย้อนกลับไปกลับมาระหว่างฝ่ายที่ต้องการเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญผ่านวุฒิสภา กับการหาทางจำกัดพระมหากษัตริย์มิให้เข้ามามีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารผ่านทางวุฒิสภา ก่อนที่จะไปจบลงที่ 2500 ที่จะเข้ามายกสลายความขัดแย้งระหว่างพลังการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ 2475 เข้าสู่สภาวะใหม่

แต่รายงานวิจัยนี้จะไม่เดินตามเส้นเวลาของทศวรรษ 2490 ไปสู่ 2500 หากจะพาย้อนกลับหลัง โดยตั้งต้นที่ 2489 แล้วถอยย้อนกลับไป เพราะผู้วิจัยต้องการเสนอว่า ทางเลือกสำหรับจะใช้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการจัดอำนาจการปกครองแบบต่างๆ ได้ถูกเขียนบทรอไว้แล้ว รอแต่เพียงความเป็นไปได้อันเกิดจากความพลิกผันทางการเมืองในเวลาต่อๆ มาเท่านั้น ว่าบทที่จุดตั้งต้นแบบไหนจะถูกหยิบมาเล่น และเล่นยืนโรงอยู่จนกลายเป็นบทหลักของการจัดอำนาจในระบอบการปกครอง

 

 


อ้างอิง

[1] ลายพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา วันที่ 11 พฤษภาคม 2489 ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559) หน้า 281. Le Gommeux เป็นพระนามของ ‘พระอนุชา’ ที่ทรงใช้ในสโมสรปาตาปุม

[2] ปี พ.ศ. ในรายงานวิจัยปรับเป็นปีพ.ศ.แบบใหม่ที่ถือวันที่ 1 มกราคมเป็นปีใหม่ทุกแห่ง นอกจากที่ปรากฏในเนื้อความเอกสารชั้นต้นที่ยกมาอ้าง

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, พระราชปรารภ.

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, มาตรา 2

[5] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559) หน้า 285.

 

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง

 

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save