fbpx
จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

จุดตั้งต้นที่ 2489 และบทที่เขียนโดยปรีดี พนมยงค์

 

ในการตั้งต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งได้ผลออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2489 นั้น กล่าวได้ว่า ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด ตั้งต้นที่การเป็นผู้ริเริ่มดำริให้เลิกบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ 2475 ที่ใช้มาจนถึงเวลานั้นนับได้ 14 ปี ความตั้งใจของปรีดีคือต้องการยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นปมปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับรัฐบาลและสภาก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติ

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2475 อันเป็นที่มาของสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นประเภทแต่งตั้งนั้น เดิมรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 10 ปีจนถึงปี 2485 แต่ต่อมามีการขยายเวลาออกไปอีก 10 ปีตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์รับการริเริ่มของปรีดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 สิ้นสภาพเร็วขึ้นมาดำเนินการต่อ ด้วยการนำเรื่องมาปรึกษากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ความเห็นพ้องต้องกันชัดเจน รัฐบาลนายควงจึงเสนอญัตติต่อสภาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งขึ้นมาพิจารณาว่าสมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างไร กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2475 และจุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ 2489 จึงได้เริ่มต้นขึ้นในตอนนั้น [1]

สมาชิกในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่างและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2489 ประกอบด้วยบุคคลจากกลุ่มการเมือง ทั้งที่เป็นสมาชิกผู้ก่อการคณะราษฎร นักการเมืองในฝ่ายนี้ ข้าราชการระดับสูงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น [2]

ก่อนหน้าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สุนทรพจน์นั้นแสดงทั้งความหวังและความกังวลต่ออนาคตการเมืองไทย แต่นอกจากนั้น สุนทรพจน์ยังมีความสำคัญในแง่ที่ว่า ปรีดีย่อมตระหนักว่าในอีก 2 วันข้างหน้าที่จะเป็นวันทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงลงพระปรมาภิไธย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางประเพณีการปกครองตามระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ความหวังและความกังวลของปรีดีที่สะท้อนอยู่ในสุนทรพจน์จากสถานการณ์ที่เขาเผชิญจึงบอกอะไรแก่เราได้หลายอย่าง ที่ควรพิจารณาว่า ณ จุดตั้งต้นซึ่งกำลังจะเลื่อนออกจากรัฐธรรมนูญ 2475 มาตั้งต้นที่รัฐธรรมนูญ 2489  นั้น ปรีดี ในฐานะมันสมองของผู้ก่อการคณะราษฎรและเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สุดในการตั้งต้นใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้ เสนอความเข้าใจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะพ้นไปตามรัฐธรรมนูญเก่าอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองทั้งที่ผ่านมา และที่กำลังเกิดขึ้น

 

2

สถานการณ์การเมืองกับการประนอมความขัดแย้งในสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์

 

ปรีดีเริ่มต้นสุนทรพจน์ด้วยการเชิญชวนสมาชิกสภาให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระมหากษัตริย์ที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2475’ [3] จากนั้นปรีดีอธิบายจุดตั้งต้นของ 2475 ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งมาตามรัฐธรรมนูญ 2475 ฟังดังสรุปได้ดังนี้

คำอธิบายของปรีดีเกี่ยวกับจุดตั้งต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ถูกที่ปรึกษาทัดทานไว้ว่ายังไม่ถึงเวลา ฝ่ายคณะราษฎรมิได้ล่วงรู้พระราชประสงค์ในเรื่องนี้มาก่อนจนกระทั่ง 6 วันภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว “การเปลี่ยนแปลงได้กระทำโดยบริสุทธิ์ไม่ได้ช่วงชิงดังที่มีผู้เสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่น … ฉะนั้น เมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงพระราชทานด้วยดี”

ข้อความตอนนี้อาจอ่านความนัยได้ว่า แม้ปรีดีได้พยายามประสานความเข้าใจกับสมาชิกในพระราชวงศ์โดยดำเนินการแก้ไขความเสียหายกระทบกระเทือนต่างๆ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการและเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย แต่การต่อต้านที่ถือเขาและคณะราษฎรว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นศัตรูกับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ยังคงมีอยู่ต่อมาจนถึงเวลานั้น

แต่ที่ควรพิจารณามากกว่านั้น คือการที่ปรีดีเสนอในสุนทรพจน์ให้ยอมรับกันว่า จุดตั้งต้นประชาธิปไตยของไทยในปี 2475 นั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นมาได้จากการตกลงร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่ายคือฝ่ายคณะราษฎรผู้ขอพระราชทาน และพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ คณะราษฎรและพระมหากษัตริย์จึงเป็นผู้วางรากฐานร่วมกันให้แก่ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

การที่ปรีดีเสนอประเด็นนี้ไว้ในสุนทรพจน์มีนัยสำคัญมากกว่าการแสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามความขัดแย้งโดยส่วนตัวของเขาเอง แม้ว่าตัวเขาคือหนึ่งในเป้าหมายของความไม่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 7 ทั้งในตอนต้นเกี่ยวกับประกาศคณะราษฎร และในเวลาต่อมา เมื่อเขาเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งการต่อต้านสำคัญมาจากบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา อันเป็นเหตุให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองกระทบตามมาเป็นระลอก สร้างความบาดหมางแตกร้าวและหวาดระแวงกันระหว่างคณะราษฎรกับพระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่การสละราชสมบัติในที่สุด ความไม่พอพระราชหฤทัยในเรื่องนี้ยังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งที่รัชกาลที่ 7 ทรงระบุไว้ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติอีกด้วย

แต่การที่ปรีดีเสนอการยอมรับให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีส่วนร่วมกันกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้นสะท้อนว่าปรีดีเองได้เล็งเห็นความสำคัญจำเป็นในการรักษาพระมหากษัตริย์ไว้กับหลักการของระบอบใหม่ โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการสถาปนาขึ้นมา

ความแตกร้าวที่เกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างในความเห็นในทางหลักการเกี่ยวกับการจัดอำนาจการปกครองของระบอบใหม่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลและสภา ว่าอย่างใดจะเป็นหรือไม่เป็นการรักษาสิทธิและเสรีภาพของราษฎรได้จริง หรืออย่างใดเป็นไปโดยชอบหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนั้น ทั้งก่อนและหลังรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ จึงยังคงมีกระแสความคิดต่อต้านระบอบใหม่ และการต่อต้านนั้นรวมไปถึงความพยายามที่จะหาทางถวายพระราชอำนาจคืนเพื่อเปลี่ยนระบอบกลับไปเป็นอย่างเก่าอยู่ด้วย แต่เมื่อผู้นำคณะราษฎรตัดสินใจไม่ใช้ “การปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา” แต่ตัดสินใจที่จะใช้ระบอบที่มี “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านาย…ที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์” โจทย์ของคณะราษฎรเกี่ยวกับการจัดพระมหากษัตริย์ลงในระบอบการปกครองใหม่จึงได้แก่

– การจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เคยมีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

– ต้องหาทางทำให้พระมหากษัตริย์ไม่ถูกใช้เป็นฐานของการระดมความคิดและการเคลื่อนไหวที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

และ

– การทำให้คุณค่าเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไม่แปลกแยกและไม่ถูกทำให้แปลกแยกออกไปจากคุณค่าของระบอบการปกครองจนเกิดการขัดขวางระหว่างกัน และทำให้ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ อันจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

และปรีดีก็ตระหนักชัดเจนว่ายังมีอันตรายที่จะก่อปัญหาต่อระบอบการปกครองเช่นนั้นอยู่ ดังเนื้อหาตอนต่อไปในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา

 

3

หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของปรีดี : ประชาธิปไตยที่พรั่งพร้อมด้วยสามัคคี

 

ปรีดีพูดถึงความจำเป็นในวาระที่ “ผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและผู้ที่ได้ร่วมมือช่วยเหลืออันประกอบเป็นสมาชิกประเภท 2 สิ้นสุดสมาชิกภาพลงแล้ว” ด้วยเหตุนั้นเขาจึงขอ ‘ซ้อมความเข้าใจ’ ถึงหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ว่า “หลักซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้นไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นอนาธิปไตย”

ปรีดีแยกความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับอนาธิปไตยว่าอยู่ตรงที่ “ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต …หรือในครั้งโบราณกาลเรียกว่าการปกครองโดยสามัคคีธรรม” และสามัคคีธรรมตามระบอบประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องไม่ใช่การ “ปั้นข้อเท็จขึ้น [แต่] ต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังผลส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว” ในขณะที่ “การใช้สิทธิโดยไม่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายหรือศีลธรรม หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย” จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนไม่มีระเบียบ ความเสื่อมศีลธรรม ความไม่สงบเรียบร้อยกลายเป็นอนาธิปไตย อันเป็นโอกาสที่เผด็จการจะแทรกเข้ามาได้

ในบริบทนี้ปรีดีได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าเขาได้พยายาม “ประคับประคองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดมา” เขายกตัวอย่างช่วงดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นและต้องหาทางเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงปลายสงคราม “ข้าพเจ้าก็เลือกเอาทางที่จะตั้งรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ข้าพเจ้าไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกลายมาเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีผู้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยผิด โดยเอาระบอบอนาธิปไตยเข้ามาแทนที่ ซึ่งเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง”

ส่วนหลักดำเนินการของปรีดีเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ หลุดจากความขัดแย้งที่ผ่านมาและตั้งหลักตกลงกันได้ทางการเมือง ปรีดีมีข้อเสนอว่า แม้แนวทางของแต่ละฝ่ายที่จะเดินไปสู่จุดหมายจะแตกต่างกัน “แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว” ก็มีทางที่จะทำงานร่วมมือกันรับใช้ประเทศชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้านายในพระราชวงศ์หรือฝ่ายคณะราษฎร ต่างจาก “ผู้ที่คอยอิจฉาริษยาเมื่อไม่ได้ผลสมหวังแล้วก็ทำลายกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” ในบริบทนี้เองที่ปรีดีแยกประเภทฝ่ายที่เขาเรียกว่า ‘ปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร’ ออกมาได้อย่างควรจะเน้นตั้งข้อสังเกตไว้

‘ปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร’ แบบแรก ปรีดีว่าได้แก่ผู้ที่มีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยสุจริต บุคคลเหล่านี้ที่เป็นผู้มุ่งหวังประโยชน์ต่อประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม สามารถทำงานร่วมมือรับใช้ประเทศชาติร่วมกันกับทุกฝ่ายที่มีอุดมคติของตนโดยสุจริตได้ไม่มีข้อที่ต้องวิตกกังวล “ข้าพเจ้าขออ้างเจ้านายหลายพระองค์ซึ่งเดิมท่านมีแนวทางอย่างหนึ่งและข้าพเจ้ามีแนวทางอีกอย่างหนึ่ง … ท่านก็มีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติไม่ใช่ส่วนพระองค์ ผลสุดท้ายเราก็ร่วมมือทำงานด้วยกันมาเป็นอย่างดีในการรับใช้ประเทศชาติ และรักใคร่สนิทสนมยิ่งเสียกว่าผู้ซึ่งเอาประเทศชาติเป็นสิ่งกำบังแต่มุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตัวมาก”

แต่ ‘ปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร’ อีกแบบหนึ่ง ปรีดีกล่าวว่า กลุ่มหลังนี้ “แสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตน หรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตนเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้ สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไหนมากกว่า”

ปรีดีกล่าวลงท้ายสุนทรพจน์ของเขาว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการและปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม” เขากล่าวย้ำอีกครั้งในตอนสรุปความนี้ว่า

ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ

ปรีดีเป็นผู้หนึ่งที่อ่านเอกสารการเมืองการปกครองรุ่นก่อนๆ มามากพอที่ผู้วิจัยจะอนุมานได้ว่าเขาน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่เคยอ่าน ‘พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน’ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 หรืออย่างน้อยก็ทราบว่าคาถาภาษิตในตราอามแผ่นดินเขียนไว้ว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วฑฺฒิสาธิกา” ข้อเสนอของปรีดีในบริบทของการหาทางประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ปรับออกมาในรูป ‘ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคี’ ในสุนทรพจน์ของเขาจึงอาจตีความได้ว่า เป็นการผสมผสานเพื่อประสานเข้าหากันระหว่างคุณค่า 2 ฝ่ายจากจุดยืนของฝ่ายคณะราษฎรด้านประชาธิปไตยที่ต้องการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจุดยืนของฝ่ายที่ ‘มีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยสุจริต’ ผ่านทางข้อธรรมความสามัคคีในคาถาสุภาษิตในตราอามแผ่นดิน และเป็นการนำประชาธิปไตยมาแนบอยู่กับข้อธรรมเรื่องสามัคคีที่มีในตราอามแผ่นดินอันเป็นข้อธรรมที่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่น รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญ

แต่ไม่ว่าปรีดีจะตั้งใจอย่างนี้หรือไม่ก็ตาม ในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงในเวลาที่เป็นจุดสิ้นสุดของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ 2475 ก่อนที่เขาจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอีก 2 วันต่อมา การวางธรรมะข้อสามัคคีลงไว้คู่กับประชาธิปไตย และให้ความหมายของคำว่าสามัคคีในทางที่ว่าถ้าเป็นการทำงานโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งแล้ว ทุกฝ่ายแม้จะมีอุดมคติต่างกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้ นับเป็นการให้ความหมายสอดคล้องกับพระบรมราชาธิบายแห่งรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับความหมายของสามัคคีในตราอามแผ่นดินที่ว่า

การอันใดซึ่งเห็นว่าเป็นเวลาควรจัดควรทำ เป็นการมีคุณดีขึ้น เป็นความสุขแก่ราษฎร เป็นการที่จะให้พระราชอาณาจักรตั้งอยู่มั่นคง ก็ปลงใจลงพร้อมกันคิดอ่านตั้งหน้าจัดการอันนั้นไปให้สำเร็จ ไม่ต้องถือว่าเป็นความคิดของพวกนั้น พวกนี้ [4]

แม้จะเกิดความพยายามร่วมมือกันที่จะเริ่มต้นวางโครงสร้างการปกครองให้เข้ารูปประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ แต่ความระส่ำระสายภายหลังสงคราม สถานการณ์ยากลำบากทางเศรษฐกิจหลังสงคราม และความไม่พอใจต่อรัฐบาลหลายเรื่อง เช่นความไม่พอใจในหมู่ทหารที่ถูกปลดประจำการระหว่างเดินทัพกลับจากสมรภูมิเชียงตุง ก็มิได้ทำให้ ‘พวกนั้น พวกนี้’ หายไป รวมทั้งพวกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรประเภทหลังตามที่ปรีดีเอ่ยถึงในสุนทรพจน์ ดังนั้น การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ตั้งหลักตกลงกันได้ในจุดเริ่มต้นใหม่หลังสงครามจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำได้โดยราบรื่น สุนทรพจน์ของปรีดีที่ขอ ‘ซ้อมความเข้าใจ’ เกี่ยวกับ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคี’ จึงสะท้อนอยู่ในตัวด้วยว่าระบอบเช่นนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นมา

คำถามจึงเกิดตามมาว่า แล้วระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคี’ เกิดขึ้นมาได้ในตอนไหนแน่ และความหมายของมันตรงกับหรือผิดเพี้ยนไปจากที่ปรีดีเข้าใจและตั้งใจเพียงใด ทั้งความหมายของประชาธิปไตยและความหมายของสามัคคี

 

 


อ้างอิง

[1] สิริ เปรมจิตต์, ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก พ.ศ. 2475 ถึงฉบับปัจจุบัน (กรุงเทพฯ : กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ, 2511), หน้า 131- 133.

[2] ดูรายชื่อสมาชิกคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการร่างและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2489 รวมทั้งบันทึกคำอภิปรายการแปรญัตติและความเห็นต่อมาตราต่างๆ ได้ที่ สิริ เปรมจิตต์, เพิ่งอ้าง, หน้า 130 – 180.

[3] สุนทรพจน์ดังกล่าวมีพิมพ์รวมไว้ในหนังสือของปรีดีหรือเกี่ยวกับปรีดีหลายเล่ม ข้อความในสุนทรพจน์ในย่อหน้านี้และย่อหน้าต่อๆ ไป คณะผู้วิจัยอ้างอิงจาก ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2553), หน้า 457- 460.

[4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 165.

อนึ่ง ผู้วิจัยพบด้วยว่า พระราชนิพนธ์พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 5 ฉบับสำคัญนี้ “พระโอรสพระธิดาและพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร พระราชบิดา โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชกุศลฉลองพระชนมายุสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ครบ 84 พรรษา พุทธศักราช 2489”

 

 

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง

 

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save