fbpx

ฟินแลนด์ แดนอุดมคติของการศึกษา และสหภาพแรงงานการศึกษาทุกระดับชั้น

สหภาพแรงงานครูในประเทศสแกนดิเนเวีย หรือประเทศนอร์ดิก อยู่ภายใต้ระบบการเมืองและพรรคด้านสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด กระนั้น ระบบดังกล่าวได้อ่อนตัวลงอย่างมากใน 3-4 ทศวรรษหลัง อันส่งผลต่ออำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานไปด้วย แต่พวกเขาสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อพบกับพันธมิตรและเส้นทางใหม่ๆ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น อำนาจของสหภาพแรงงานครูแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สวีเดนมีประสบการณ์ถูกลดทอนอำนาจมากกว่าที่อื่น ขณะที่ฟินแลนด์สหภาพแรงงานครูเดี่ยวๆ ยังคงทรงพลัง[1]

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็กที่เคยอยู่ใต้การปกครองของสวีเดน และอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปอย่างสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น จึงทำให้พัฒนาการทางการเมืองมีลักษณะที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบนอร์ดิกทั้งหลาย และที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือ คะแนน PISA ของฟินแลนด์ที่ปรากฏอยู่หัวตารางในทศวรรษ 2000 ทำให้คนหันมาเหลียวมองระบบการศึกษาฟินแลนด์ ภายใต้ความเข้มแข็งดังกล่าว สหภาพแรงงานการศึกษาของฟินแลนด์มีบทบาทไม่น้อย บทความนี้จึงชวนผู้อ่านเดินทางไปพร้อมกับผู้เขียนในประเด็นดังต่อไปนี้

การต่อสู้ของชาตินิยมฟินแลนด์ต่อการครอบงำของสวีเดน ผ่านระบบการศึกษา

เมื่อเทียบกับประเทศสแกนดิเนเวียแล้ว  ฟินแลนด์จะก่อตั้งสหภาพแรงงานด้านการศึกษาช้ากว่าเพื่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานผ่านเงินเดือนที่สูงและการปรับปรุงสภาพการทำงาน และหาทางมีบทบาทในการกำหนดนโยบายโรงเรียน สหภาพแรงงานครูเป็นตัวแทนของครูในโรงเรียนหลากประเภท เช่น ครูในระบบก่อนโรงเรียน, ครูผู้หญิง, ครูประถมศึกษา ครูประจำรายวิชา ครูในโรงเรียนเอกชน, ครูโรงเรียนศาสนา ครูผู้จบการศึกษาจากระดับมหาวิทยาลัย ฯลฯ[2]

สหภาพแรงงานครูเริ่มรวมตัวกันช่วงปี 1869-1905 โรงเรียนเอกชนเริ่มหายไป หรือไม่ก็ถูกผนวกเป็นโรงเรียนของรัฐ ส่งผลต่อการปิดตัวหรือการควบรวมของสหภาพแรงงานครู ที่ทำให้จำนวนสหภาพน้อยลง แต่เป็นสหภาพที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย[3] สำหรับประเทศนอร์ดิกอื่นแล้ว สหภาพที่ทรงพลังที่สุดคือครูระดับประถมศึกษา ครูเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากพื้นที่ชนบท หรือจากเหล่าช่างฝีมือและเสมียนในเมือง เช่นเดียวกับชาวประมง (โดยเฉพาะในนอร์เวย์) โรงเรียนประถมมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะส่วนสำคัญของชีวิตสาธารณะของเมืองขนาดเล็กและในชนบท ซึ่งเป็นกองหน้าของขบวนการทางการเมือง พวกเขามักจะเป็นสมาชิกของสภาท้องถิ่น หรือเป็นผู้กระตือรือร้นในกลุ่มผลประโยชน์และในสหภาพแรงงานอยู่แล้ว

ประเทศสแกนดิเนเวียเริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมช่วงทศวรรษ 1850 นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของแรงงานครั้งสำคัญ ที่สหภาพแรงงานครูได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นั่นทำให้พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหลังจากที่พรรคนี้ก่อตั้งในทศวรรษ 1870 สหภาพแรงงานครูสายวิชาการ (academic teacher union) เป็นสหภาพสำคัญที่มีความใหญ่โตและสำคัญ เป็นตัวแทนของครูมัธยมที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากเขตเมือง พวกเขาก่อตั้งองค์กรที่เชื่อมกับสายวิชาการเช่น ภาษา วิชาคลาสสิก ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ครูสายวิชาการเหล่านี้มีจำนวนน้อยกว่า และมีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าครูประถม และยังไปสานสัมพันธ์กับพรรคสายอนุรักษ์นิยมที่มักจะมีอำนาจน้อยกว่า[4]

ตรงกันข้ามกับสหภาพแรงงานครูฟินแลนด์ สหภาพแรงงานครูมัธยมที่ก่อตั้งในปี 1917 มีบทบาทสูงกว่าครูประถมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1893 และที่สำคัญ ทั้งคู่มิได้คบหาสมาคมกับขบวนการแรงงานอื่นเลย เหตุผลสำคัญหนึ่งก็คือ ฟินแลนด์ก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมช้ากว่าประเทศนอร์ดิกอื่นๆ ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอกว่าไปด้วย[5]

ฟินแลนด์ถือเป็นประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนมาก่อน ทำให้เหล่าครูเกี่ยวข้องกับโครงการระดับชาติที่เรียกว่า ขบวนการชาตินิยม Fennomen (ขบวนการความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมยกระดับภาษาและวัฒนธรรมฟินแลนด์[6]) ที่มีเป้าหมายจะแยกอดีตของฟินแลนด์ออกจากสวีเดน ดังคำของอดอล์ฟ อีวาร์ อาร์วิดส์สัน (Adolf Ivar Arwidsson) ที่กล่าวไว้ว่า “Swedes we are not, Russians we do not want to become, let us then be Finns” [7]

สวีเดนได้ปกครองฟินแลนด์มาจนกระทั่งสงครามฟินแลนด์ในปี 1809 แต่กระนั้นเหล่าชนชั้นนำสวีเดนยังทรงอำนาจต่อไปอีกเป็นศตวรรษ ขบวนการ Fennomen มีรากอยู่ในชนชั้นชาวนารวยและพระ ซึ่งต่อสู้ทางการเมืองกับชนชั้นนำที่พูดภาษาสวีเดน มีนโยบายที่สนับสนุนสวีเดน และกำหนดให้ผู้คนที่พูดฟินนิชอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้ยังพบว่า การศึกษาในระดับสูง อย่างมัธยมและมหาวิทยาลัยก็เป็นการศึกษาสำหรับประชากรผู้พูดสวีดิช เมื่อภาษาสวีดิชเป็นภาษาราชการ ภาษาฟินนิชจึงถูกกีดกัดหรือละเลยไปจากสถาบันการศึกษา เป้าหมายอันเป็นหัวใจของขบวนการ Fennomen คือ เพื่อจัดตั้งโรงเรียนมัธยมที่ใช้ภาษาฟินนิช ซึ่งต่อมาจะนำไปสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยและการเข้าสู่การเป็นข้ารัฐการ[8] อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน ภาษาราชการของฟินแลนด์คือฟินแลนด์และสวีเดน คนที่พูดได้ 2 ภาษามีโอกาสจะหางานได้ง่ายกว่าทั้งในระดับชาติ เทศบาล หรือเอกชน[9]

ต่างไปจากประเทศสแกนดิเนเวียคือ ชาวนาผู้ถือครองที่ดิน (ซึ่งมักจะมีอาชีพเป็นครูไปด้วย) มีทัศนคติเชิงลบต่อโรงเรียนระดับมัธยม และสนับสนุนให้มีการปฏิรูปโรงเรียนประถม อย่างไรก็ตาม ประชากรฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากเหล่านักบวช จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับมัธยมเพื่อต่อสู้ผ่านอำนาจทางภาษา วัฒนธรรม และการเมือง ในมิตินี้ ทำให้การศึกษาระดับประถมศึกษาพัฒนาอย่างเชื่องช้า และเพิ่งกลายเป็นการศึกษาภาคบังคับในปี 1921 จึงไม่แปลกที่ครูโรงเรียนมัธยมจะมีอิทธิพลผ่านสหภาพแรงงาน ระหว่างปี 1880-1910 จำนวนนักเรียนมัธยมที่พูดฟินนิชเติบโตอย่างรวดเร็ว สัดส่วนเด็กในโรงเรียนมัธยมถือว่าสูงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับสวีเดน แนวโน้มเช่นนี้เป็นมาจนถึงทศวรรษ 1960 ดังที่เห็นได้จาก 24% ของเด็ก 10-19 ปี ในฟินแลนด์ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา เทียบกับสวีเดนแล้วมีเพียง 15% ขณะที่นอร์เวย์มีเพียง 12%[10]

การแยกฟินแลนด์ออกจากสวีเดนเป็นกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน จุดยืนทางชาตินิยมของครูกลายเป็นป้อมปราการสำคัญช่วงสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ในปี 1918 ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ใต้อำนาจ Grand Duchy of the Russian Empire มาสู่รัฐอิสระ ครูที่อยู่ในชนบทเลือกข้างกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เรียกว่า ‘พวกขาว’ อันประกอบด้วยชาวนา ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง พวกเขาสู้กับ ‘พวกแดง’ และขบวนการแรงงานที่นำโดยแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย (ขณะนั้นยังไม่เป็นสหภาพโซเวียต) เหตุการณ์นี้นำไปสู่ความเป็นชาตินิยมและจุดยืนแบบฝ่ายขวาท่ามกลางเหล่าครู และจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อมา[11]

สงครามโลกและอิทธิพลของฝ่ายซ้ายต่อขบวนการสหภาพแรงงาน

ฟินแลนด์แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะสถานการณ์ทางการเมือง ที่เป็นผลจาก 2 ปัจจัย คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า สังคมแบบเกษตร และความอ่อนแอของสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายได้ว่าชนชั้นในชนบทที่เป็นอิสระยังคงมีอำนาจอยู่ในช่วงท้ายๆ ฟินแลนด์เคยถูกชี้นำโดยเครมลิน ศูนย์กลางอำนาจแห่งสหภาพโซเวียต นอกจากนั้นพรรคการเกษตรยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างพรรค SKDL (อนึ่ง พรรคนี้ถือว่าซ้ายสุดขั้วด้วยอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจอยู่) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 ถึง ต้นทศวรรษ 1960 พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยยังถูกแบ่งแยกโดยการจัดแบ่งองค์กรภายใน ที่ทำให้พรรคอยู่ห่างไกลจากอำนาจจนถึงปี 1966[12]

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในฟินแลนด์เริ่มมีอิทธิพลในแวดวงการเมือง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่สหภาพโซเวียตแทรกแซงกิจการภายในของฟินแลนด์ และภายใต้ประธานาธิบดีอุรโฮ เกกโกเนน (Urho Kekkonen) ที่อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1956-1981 เขาก่อตั้งรัฐบาลที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำโซเวียต ส่งผลให้เกิดพันธมิตรระหว่างพรรคซ้ายกลาง และปีกคอมมิวนิสต์ของพรรค SKDL ตั้งแต่ปี 1966-1982 พรรคซ้ายกลางได้สนับสนุนระบบสวัสดิการทางสังคมไปพร้อมกับทางสวีเดน แต่กล่าวได้ยากว่าเป็นการสร้างแนวคิดทางสังคมนิยม หรือเกิดจากกิจกรรมร่วมกันกับสวีเดน[13]

สถิติระดับนานาชาติด้านการจัดตั้งสหภาพแรงงานของฟินแลนด์พบว่าอยู่ในระดับล่างเสมอ การเจรจาต่อรองแบบสหภาพเพิ่งโงหัวขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง ระบบโรงเรียนในฟินแลนด์ยังถูกแบ่งแยกตามชนชั้น ระบบโรงเรียนมัธยมยังคงแผ่ขยายออกไปในฐานะโรงเรียนเอกชน ขณะที่โรงเรียนประถมเป็นของรัฐ สหภาพแรงงานครูก็ยังทำงานอยู่นอกระบบการเมือง และยังโฟกัสจุดหลักอยู่ที่การศึกษาแบบชาตินิยมในชนบท[14]

ภายในทศวรรษของสังคมนิยมประชาธิปไตย สหภาพแรงงานครูยังคงอยู่กับฝ่ายขวา การเมืองของสหภาพแรงงานหัวรุนแรง และแนวคิดซ้ายจัดยังไม่ได้ปรากฏในสหภาพแรงงานครูฟินแลนด์แม้แต่น้อย เหล่าครูในฝ่ายซ้ายได้ร่วมกับสมาคมแรงงานครูเพื่อประชาธิปไตย (Democratic School Workers Association หรือ Demko) ที่ดำรงอยู่ในช่วงปี 1973-1989 เหล่าครูฟินแลนด์ยังคงสร้างความชอบธรรมให้กับสถานะอันสูงส่งของตัวเองโดยยึดกับบทบาทการปกป้องวัฒนธรรมและภาษาฟินนิช ซึ่งอุดมการณ์นี้เข้มแข็งขึ้นเนื่องจากการคุกคามจากภายนอกอย่างสหภาพโซเวียต[15]

สหภาพฯ จึงถูกบ่มเพาะด้วยจิตวิญญาณแบบการศึกษาชาตินิยมอันชนกันกับรัฐบาลที่เริ่มต้นระบบโรงเรียนผสมโมเดลสวีเดน ปี 1968 รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ถูกย้อมสีไปด้วยเผด็จการฝั่งตะวันออก ได้ทำลายโรงเรียนระบบที่เลือกสรรเองได้ (selective system) ไปเป็นโรงเรียนแบบผสมอย่างรวดเร็ว ระบบโรงเรียนที่ถูกยกเลิกประกอบด้วย การเรียน 4 ปี ซึ่งมีการแบ่งแยกเป็น 2 เส้นทาง (2 ปีพิเศษต่อจากประถมศึกษา หรือเข้าเรียนแกรมมาร์สคูล หรือมัธยม) ซึ่งการแยกทางนี้จะทำให้การเรียนต่างกันเพื่อการเรียนที่สูงขึ้นไป สหภาพแรงงานครูคัดค้านการศึกษาแบบผสมอย่างหัวชนฝา เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลาย ‘สถาบันของพวกเขา’ ที่ท้าทายโรงเรียนมัธยมที่เป็นกรรมสิทธิ์เอกชน กล่าวได้ว่า โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ในขณะนั้นเป็นของเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเกือบทั้งหมด (น่าจะคล้ายคลึงกับโรงเรียนคริสต์ระดับมัธยมในไทย) สถานการณ์แบบเดิมถือว่า ทำให้ครูมัธยมมีอิสระกว่า และมีสถานะที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ[16]

การต่อรองอำนาจรัฐของแรงงานฟินแลนด์อยู่ในระดับด้อยพัฒนาเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ต้องรอให้ถึงทศวรรษ 1970 และ 1980 (ก่อนจะเสื่อมลงในต้นทศวรรษ 1990) สหภาพแรงงานของฟินแลนด์และสหภาพแรงงานภาครัฐได้รับประสบการณ์ที่แหลมคมสำหรับการเติบโต ทำให้เป็นประเทศที่มีสัดส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานสูงสุดในยุโรป ปี 1973 สหภาพแรงงานครูประถมแห่งชาติ (National Union of Elementary School Teachers) และสหภาพแรงงานครูมัธยมแห่งชาติ (National Union for Secondary School Teachers) ได้ควบรวมกันและจัดตั้งสหภาพแรงงานการศึกษาในฟินแลนด์ (Opetusalan Ammattijärjestö: OAJ) ขึ้นมา การสร้างองค์กรนี้ได้รับการสนับสนุนจากครูกว่า 75% ในประเทศ ซึ่งเพิ่มอิทธิพลในการต่อรองกับรัฐได้อีกมหาศาล[17]

การปฏิรูปการผลิตครู และการประนีประนอมครั้งใหญ่ระหว่างครูประถมและมัธยม

การปฏิรูปการฝึกอบรมครูครั้งใหญ่เกิดขึ้นช่วงปี 1973-1979 ได้ส่งผลกระทบต่อครูประถมมากที่สุด เพราะการฝึกอบรมนั้นได้ส่งครูวิทยาลัยในเมืองขนาดเล็กไปสู่การฝึกครูในคณะครุศาสตร์ อันเป็นหน่วยงานระดับมหาวิทยาลัย ต่อมาการปฏิรูปในปี 1979 การฝึกหัดครูประถมได้ยกระดับไปสู่ระดับปริญญาโท จะเห็นว่าการปฏิรูปเช่นนี้ ส่งผลน้อยกับครูมัธยม

จากการปฏิรูปในปี 1979 ความแตกต่างระหว่างครูโรงเรียนประถม (เกรด 1- 6) และครูมัธยม (ที่จะเรียกว่า ‘ครูประจำวิชา’ สอนในเกรด 7-12) ยังคงอยู่และยังคงหนักแน่น มีการเรียกร้องให้ครูในทุกประเภทจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท ครูประจำวิชาจะต้องจบสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะที่ตรงสาย ต่างจากนักศึกษาครูเดนมาร์กที่จะต้องเรียนระดับวิทยาลัยใน 4 สาขาที่ต่างกัน ในระดับเกรด 1- 9/10 เพื่อที่จะสอนได้ทั้งหมดในโรงเรียนแบบผสม[18]

ในประเทศนอร์ดิกอื่นๆ วิชาชีพครูเน้นไปที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนครูมืออาชีพที่เข้าร่วมในการพัฒนาการสอนแบบเป็นวิทยาศาสตร์ในการฝึกหัดครูและวิธีการสอนในโรงเรียน การสอนแบบก้าวหน้าและการสอนโดยให้เน้นไปที่เด็กนั้นถูกใช้เพื่อสนับสนุนแนวคิดวิชาชีพนิยมแห่งครูในระบบโรงเรียนผสม แต่ที่ฟินแลนด์ต่างออกไป คือ เน้นด้านจิตวิทยาการศึกษา และการสอบวัดความสามารถทางสติปัญญา มีผู้ชี้ว่าการสอนแบบฟินแลนด์ที่มีพื้นหลังที่ใช้จิตวิทยาเป็นฐานนั้น ได้มีส่วนสร้างความชอบธรรมของการฝึกหัดครูของฟินแลนด์ในทฤษฎีไซโคเมทริก และการทดสอบทางสถิติ อันกลายเป็นเนื้อหลักในวิธีวิทยาการการสอน ลักษณะเช่นนี้เปลี่ยนแปลงน้อยมากจนถึงทศวรรษ 1990[19]

มีข้อวิจารณ์ว่าการปฏิรูปนี้ ครูประถมได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และชี้ว่าการฝึกหัดครูในมหาวิทยาลัยไม่ได้การันตีว่าจะดีกว่าระบบเดิมที่เคยใช้การฝึกอบรม ผลประโยชน์จึงตกอยู่เพียงกับสมาชิกของวิชาชีพครูที่เป็นเพียงการปรับฐานเงินเดือนและสถานะของครูในโรงเรียน และฐานเงินเดือนระดับมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นราว 5 เท่าภายใน 2 ทศวรรษ[20]

ฟินแลนด์ที่ยังเข้มแข็ง ภายใต้การเติบโตของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ในประเทศนอร์ดิก

สหภาพแรงงานครูและรัฐบาลในประเทศนอร์ดิก เว้นฟินแลนด์ เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ อันเนื่องจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยสูญเสียเสียงข้างมากในสภา แต่ฝ่ายขวากลางกลับขึ้นมามีบทบาทแทน ไม่เพียงเท่านั้น เป็นพรรคสังคมนิยมฯ เหล่านี้เองที่ค่อยหันขวาและสนับสนุนการศึกษาที่มุ่งเน้นการตลาด เช่นเดียวกับการทำลายเครื่องมือต่อรองที่เป็นองค์กรเชิงสถาบันเช่นคณะกรรมาธิการการศึกษาต่างๆ เพื่อลดอิทธิพลของสหภาพแรงงาน

มีเพียงสหภาพแรงงานครูฟินแลนด์ที่เข้มแข็งที่สุดในเพื่อนบ้าน เห็นได้จาก OAJ มีครูกว่า 97% เป็นสมาชิก และยังเชื่อมกับระบบการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ประสบการณ์การเจรจารต่อรองร่วมได้เสื่อมลงตอนต้นทศวรรษ 1990 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ นำมาสู่ความพังทลายของการค้ากับสหภาพโซเวียตและวิกฤตการธนาคาร อย่างไรก็ดีระบบต่อรองดังกล่าวได้ฟื้นกลับมาแข็งแกร่งในได้ในภายหลัง[21]

ช่วงเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลฟินแลนด์ได้พยายามเร่งรีบปฏิรูปกระจายอำนาจและตัดลดงบประมาณ โดยข้ามหัวสหภาพแรงงาน ในปี 1987 เป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พรรคอนุรักษ์นิยมยึดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลผสมทั้งฝ่ายขวาและซ้าย โดยฝ่ายขวาได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไป การหันขวาทางการเมืองนำมาสู่จุดจบของการครองอำนาจของสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคขวาในกระทรวงและในบอร์ดการศึกษาแห่งชาติ กระนั้นพรรคอนุรักษ์นิยมในฟินแลนด์ถูกมองว่าเป็น ‘พรรคครู’ เนื่องจากสหภาพแรงงานอยู่กับพวกฝ่ายขวา สหภาพแรงงานครูได้ต่อต้านแผนการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนที่จะทำให้เกิดการแปรรูปเป็นเอกชน เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่าจะลดอำนาจของสหภาพแรงงาน[22]

ในอีกด้าน การรวมศูนย์อำนาจที่เข้มแข็งและการสั่งการจากบนลงล่างของโรงเรียนถูกทำลายเพื่อให้เสรีภาพมากขึ้น เช่น หลักสูตรที่ลงรายละเอียดและตัดสินใจ อุปกรณ์การสอน ตารางรายสัปดาห์ และบันทึกการสอนที่บันทึกรายละเอียดในแต่ละวิชา ที่หลักสูตรระดับชาติได้ถูกปรับให้มีรายละเอียดน้อยลง ถูกกำหนดน้อยลง และอนุญาตให้เทศบาลและโรงเรียนปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น โรงเรียนสามารถเลือกตำราเรียนและวิธีการสอนได้ด้วยตัวเอง[23]

กระบวนการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทะยานไปข้างหน้าด้วยกฎหมายสองฉบับ ในปี 1992 และ 1995 ที่ให้ความใส่ใจต่อรัฐบาลท้องถิ่น การเพิ่มอิสระให้กับเทศบาล สมาคมท้องถิ่นและภูมิภาคแห่งฟินแลนด์ (Association of Finnish Local and Regional Authorities: AFLRA) ได้พยายามล็อบบี้ให้เพิ่มความรับผิดชอบในการจัดหาบริการทางสังคม สุขภาพและการศึกษากับท้องถิ่น อันหมายถึงโรงเรียนทั้งระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ภายใต้ข้อเสนอนี้ ครูยังคงมีสถานะเป็นข้ารัฐการ ส่วนผู้อำนวยการจะได้รับอำนาจสูงในการจัดการด้านการเงินและกิจการส่วนบุคคล อำนาจที่มากขึ้นของเทศบาลได้ทำให้ระบบเงินอุดหนุนเดิมถูกยุบไปเป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่นมากกว่า รูปแบบใหม่นั้นจะเป็นเงินก้อนที่ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนและบทเรียนที่เทศบาลได้มาใช้จัดการตามวิจารณญาณที่เห็นควร เช่นการวางแผนการศึกษาและการจ้างครู[24]

รัฐบาลฟินแลนด์ยังคงขนบของการต่อรองรวมโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล บางทีอาจเป็นเพราะว่า AFLRA ยังคงมีอำนาจทางการเมืองน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน สหภาพแรงงานครูจึงมีฐานอำนาจที่แข็งแรงกว่าและอุทิศให้กับเงินเดือนที่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเกิดขึ้นผ่านกรอบข้อตกลงร่วมระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของผู้ว่าจ้างและสหพันธ์แห่งเจ้าหน้าที่วิชาชีพและฝ่ายจัดการ (Akateeminen Keskusjärjestö: AKAVA หรือ Federation of Professional and Managerial Staff) ที่สหภาพแรงงานสังกัดอยู่ได้[25]

ระหว่างที่เศรษฐกิจถดถอย เป้าหมายหลักจะอยู่ที่การปรับลดงบประมาณโรงเรียนในเทศบาลและการป้องกันการเลิกจ้างครู สหภาพแรงงานสาขาท้องถิ่นยังเสาะหาวิธีการที่จะลบความแตกต่างข้ามเทศบาล กรณีเงื่อนไขการจ้างงาน เช่น ชั่วโมงทำงาน โดยเฉพาะระหว่างเขตเมืองและชนบท เมื่อภาวะถดถอยจบลงก็ได้ทำให้สหภาพแรงงานกลับมาดำเนินการต่อเพื่อยกความสามารถระดับท้องถิ่น[26]

การควบรวมของสหภาพแรงงานอื่นระหว่างเศรษฐกิจหดตัวทำให้สมาชิกขยายตัวขึ้นอย่างมหาศาล นั่นทำให้การขับเคี่ยวระหว่างสหภาพยุติลงด้วย ในปี 1991 สมาคมครูอนุบาลเข้าร่วมกับ OAJ ปี 2006 สหภาพแห่งชาติแห่งผู้กำกับสถานศึกษาและวัฒนธรรมแห่งเทศบาลก็เข้าร่วมด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกอาจารย์จากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ครูโรงเรียนเอกชน ครูในระบบการศึกษาผู้ใหญ่ ครูในโรงเรียนอาชีวศึกษาและสถาบันเทคนิคก็เข้าร่วมกัน แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ยังเป็นสมาชิก OAJ  [27]

เมื่อสามารถสร้างสหภาพขนาดใหญ่ได้แล้ว จึงมีความพร้อมที่จะต่อรองผ่านรูปแบบอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการผ่านรัฐสภา รัฐมนตรี การศึกษาพื้นฐานระดับชาติ (National Basic Education: NBE) และส่วนการศึกษาของเทศบาล สหภาพฯ เป็นตัวแทนในทุกกลุ่มภายในกระทรวงศึกษาธิการและ NBE สหภาพยังเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษาของรัฐสภามาโดยตลอด รวมไปถึงการเตรียมกฎหมายและงบประมาณ อีกทั้งเป็นกรรมาธิการอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ครู พวกเขายังได้ประชุมกับ 8 กลุ่มทางการเมืองในรัฐสภา โดยเฉพาะการแสวงหาครูเก่าผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐสภา และยังประชุมกับ NBE เป็นประจำ ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น สาขาสหภาพยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยเฉพาะเทศบาลที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสมาคมผู้ปกครองที่พวกเขาก็ได้สร้างพันธมิตรไว้ด้วย[28]

สหภาพแรงงานครูของฟินแลนด์นั้นถือว่าทำงานในเชิงรุกกับสื่อมวลชนทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับชาติ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ระดับชาติ สหภาพได้ส่งข่าวให้สื่อด้วยการวิจัยจำนวนมากที่จัดทำโดยสหภาพ หรือนักวิจัยที่ได้รับมอบหมาย และยังใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบาย และโปรโมตภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะ สหภาพยังขับเคลื่อนการรณรงค์จำนวนมากโดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับชาติ เทศบาล และ EU[29]

คะแนน PISA และชื่อเสียงในระดับโลกด้านการศึกษา: ว่าด้วยอำนาจและการต่อรอง

ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่ได้คะแนน PISA สูงที่สุดในปี 2001 ด้านการเขียนอ่าน คำนวณ และวิทยาศาสตร์ แม้จะเป็นที่ประหลาดใจ แต่ผลลัพธ์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองของสหภาพฯ อย่างต่อเนื่องนั่นคือ 1. ปรับปรุงสภาพการจ้างงานครู 2. หยุดยั้งหรือถ่วงเวลาการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเป็นแนวโน้มมาแรง อันจะส่งผลต่ออำนาจการต่อรองที่ลดลงของครู

ประเด็นแรก สหภาพเอาไปขยายความต่อว่า แม้จะใช้ทรัพยากรระดับมาตรฐาน เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ด้วยกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับสูงกว่ามาก แสดงให้เห็นความล้าหลังในการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษา ดังนั้นรัฐควรจะให้รางวัลเหล่าครูด้วยการเพิ่มกองทุนการศึกษาและการเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น[30]

ประเด็นที่ 2 สหภาพฯ ได้รณรงค์ ‘การร่วมมือทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลและครู’ เพื่อสร้าง ‘ครูผู้น่าเชื่อถือ’ ขึ้น โดยมีนัยว่า แม้จะไม่มีระบบการประเมินครูก็สามารถสร้างการเรียนที่มีคุณภาพได้ กลยุทธ์ก็คือการขอการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักการเมือง และข้าราชการ ประเด็นไม่ใช่ว่าวิชาชีพครูน่าเชื่อถือหรือไม่เท่ากับการโน้มน้าวให้สาธารณะเชื่อมั่นในครู ดังเช่นมีการเน้นคำอย่าง collaboration, consensus agreements และ trust [31] เข้าไปในการรณรงค์

มีผู้เสนอว่าสหภาพแรงงานครูฟินแลนด์ควรมีอำนาจวีโต้ในรัฐบาล เพราะหากนักการเมืองหรือผู้วางนโยบาย เห็นว่าประเด็นใดที่ฝ่ายสหภาพฯ จะทำการต่อต้าน ก็จะยอมถอยไป ดังนั้นการแปรรูปการศึกษาจึงเกิดขึ้นได้ยาก[32]

สองเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้รัฐเริ่มปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย และคะแนน PISA ที่ลดลง

ประการแรก ฟินแลนด์ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 ที่บังคับให้รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยมใช้นโยบายตัดลดงบประมาณการศึกษา เพื่อเพิ่มผลิตผลและประสิทธิภาพผ่านโครงการปฏิรูประบบการเงินสาธารณะ สิ่งนี้ทำให้เกิดการควบรวมโรงเรียน และการปิดโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงการขยายขนาดห้องเรียนในเทศบาล สหภาพฯ ต่อต้านแต่ไม่สามารถจะกีดขวางการตัดลดงบประมาณได้ ทำให้พวกเขาต้องสู้กับการเลิกจ้างและเริ่มทำการรณรงค์สาธารณะเพื่อให้ความสำคัญกับห้องเรียนที่ขนาดเล็กลง เมื่อเทศบาลเลิกจ้างครูหรือเปลี่ยนสัญญาเป็นสัญญาชั่วคราว สหภาพฯ ได้นำเหตุเข้าฟ้องศาล พบว่าสหภาพฯ สนับสนุนการสู้คดีกว่า 200 คดีต่อปี กว่าครึ่งเป็นคดีที่ชนะ จากแนวคิดลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด สหภาพฯ ได้ล็อบบี้ส.ส.อย่างเกรี้ยวกราดรวมถึงรัฐมนตรี และเทศบาลเพื่อลดอัตราส่วนนักเรียนและครูลง ขนาดห้องเรียนที่เป็นอยู่คือ นักเรียน 20 คนต่อห้อง ควรลดเหลือ 18 สหภาพฯ วิ่งเต้นจนได้รับเงินพิเศษให้กับเทศบาลเพื่อลดขนาดห้องเรียนลง[33]

ประการต่อมา ผลคะแนน PISA ที่ตกลงในปี 2012 เมื่อเทียบกับ 2006 ลดลงถึง 18 จุด ในความรอบรู้ทางวิทยาศาสตร์ 23 จุด ในการเขียนอ่าน และ 29 จุด ในการคำนวณ ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงตกต่ำที่สุดในประเทศนอร์ดิก มุมมองที่เอาครูเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นเครื่องมือในการโปรโมตของสหภาพฯ เริ่มถูกตั้งคำถาม[34]

ที่ผ่านมาเหล่าครูต่างมีความสุขกับอิสระเชิงสัมพัทธ์จากการจ้างงานที่เกิดจากการต่อรองของสหภาพฯ นั่นคือ แนวคิดที่ว่าครูไม่จำเป็นต้องถูกประเมิน และการศึกษานิเทศก์ไม่มีความจำเป็น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับการวัดผลและประเมินผล แคมเปญ ‘ครูที่น่าเชื่อถือ’ ช่วงก่อนได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกไปในสถาบันระดับรัฐบาล นอกจากนั้นครูยังถือว่ามีมาตรฐานเดียวกัน คือจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็มีข้อสงสัยว่าการที่ครูจบมหาวิทยาลัยเป็นผลต่อการสอนที่โดดเด่นทุกโรงเรียนหรือทุกชั้นเรียนหรือไม่ การขาดเครื่องมือตรวจสอบทำให้กลายเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน แม้จะมีครูที่มีประสิทธิภาพต่ำถูกปลดออก แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก และสหภาพฯ มักจะชนะหากเอาคดีปลดครูไปยังศาล[35]

การประเมินเพื่อวัดประสิทธิภาพ มีการพัฒนาโดยสมาคมของผู้ว่าจ้างอย่าง Association of Finnish Independent Education Employers เพื่อใช้จ่ายเงินตามการประเมินจากผลงานสำหรับครูในภาคราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียนฝึกอบรมระดับมหาวิทยาลัย นักการศึกษากว่า 700 คน ในโรงเรียนฝึกอบรมได้รับเงินเดือนที่สัมพันธ์กับการประเมิน สมาคมของผู้ว่าจ้างมักจะเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานครู ในการเตรียมข้อเสนอที่เริ่มแผนตั้งแต่ปี 2016 การต่อรองเริ่มขึ้นและโฟกัสว่าเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนควรจะจ่ายในระดับพื้นฐานเท่าไหร่ และเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติการควรจะเป็นเท่าไหร่ สหภาพแรงงานครูที่นิยมการจ่ายแบบเสมอภาค ได้พยายามต่อรองให้การจ่ายค่าตอบแทนขึ้นกับผลการปฏิบัติการให้มีสัดส่วนที่น้อยที่สุด [36]

การดำรงอยู่ของ OAJ ในรัฐบาลขวากลาง

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่วิเคราะห์บทบาทของ OAJ ในรัฐบาลของจูฮา ซิปิแล่ (Juha Sipilä) ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2015-2019 ซึ่งเป็นรัฐบาลขวากลางที่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เหล่าสหภาพแรงงานการศึกษาหลายประเทศต่อต้าน โดยตั้งข้อสังเกตว่า OAJ นั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างเปิดเผยและมีลักษณะชิงความได้เปรียบเชิงอนุรักษ์นิยมมากกว่าสหภาพแรงงานในประเทศอื่นๆ [37] แต่ก็มีงานศึกษาชี้ว่า OAJ ได้พยายามอย่างหนักที่จะผลักดันวาระของพวกเขาหรือการถกเถียงกับนโยบายของรัฐ

รัฐบาลของซิปิแล่ได้วางนโยบายด้านการศึกษาชื่อว่า “Finland, the land of solutions” (ฟินแลนด์ ดินแดนแห่งคำตอบ) โครงการเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้เน้นไปที่การจ้างงานและการแข่งขัน, ความรู้และการศึกษา, ความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพ, ชีวเศรษฐศาสตร์, การแก้ปัญหาด้วยพลังงานสะอาด, การทำให้เป็นดิจิทัล-การทดลอง-การลดการควบคุมจากรัฐ ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล[38]

ฟินแลนด์มีโครงการโรงเรียนแบบผสมแนวใหม่ (New Comprehensive School Program) เพื่อการปฏิรูป โดยสรุปแล้วคือ นโยบายที่เน้นการปฏิรูปที่หมุนรอบนวัตกรรม การทำให้เป็นดิจิทัล และการทำให้เป็นนานาชาติ ซึ่งแทบไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ เว้นแต่ว่าไม่ได้ถกเถียงเรื่องการแปรรูปรัฐให้เป็นเอกชนอย่างโจ่งแจ้ง เพราะรัฐยังเป็นศูนย์กลางของการออกนโยบาย และอีกประการก็คือมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนร่วมในฟากการศึกษาอยู่[39]

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาก็ทำให้ OAJ ตอบโต้ในหลายกรณี เช่น การตัดงบประมาณการศึกษาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้อย่างเจอร์กี้ กาไตเนน (Jyrki Katainen) และอเล็กซานเดอร์ สตูบบ์ (Alexander Stubb) ทั้งคู่มาจากพรรค Kansallinen Kokoomus หรือ National Coalition Party อันเป็นพรรคขวากลาง มาจนถึงรัฐบาลของซิปิแล่ (Suomen Keskusta หรือ Centre Party) รวมกันแล้วมาถึง 2 พันล้านยูโร OAJ ชี้ว่าการตัดงบประมาณดังกล่าวจะนำมาสู่คุณภาพการศึกษาที่ลดลงโดยเฉพาะการให้บริการระดับเทศบาลที่เริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา[40] สอดคล้องกับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายขวากลางมาตลอด รัฐบาลล่าสุดที่เป็นฝ่ายซ้ายคือ รัฐบาลของปาโว ลิปโปเนน (Paavo Lipponen) จากพรรค Suomen sosialidemokraattinen puolue หรือ Social Democratic Party of Finland ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1999-2003

กระนั้นก็ไม่พบว่า OAJ ได้มีการยกระดับไปถึงขั้นปฏิเสธความร่วมมือ-ประท้วง-สไตรก์รัฐบาล เนื่องจากการร่วมมืออย่างเข้มข้นผ่านการพัฒนานโยบายในฟินแลนด์ และยังพบว่า OAJ ไม่เคยจะสร้างข้อพิพาทกับนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลนอกจากวิจารณ์ในมุมมองที่แตกต่างเพียงเล็กน้อย และแทบจะไม่มีการวิพากษ์อย่างเฉพาะเจาะจง อย่างน้อยก็ไม่ใช่มาตรฐานทางวิชาการต่อผลกระทบจากนโยบายการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ มีผู้อธิบายว่า การหาความร่วมมือเช่นนี้คือความสำเร็จทางการเมืองในฟินแลนด์ จึงเป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่าเหตุใด OAJ จึงชอบที่จะทำงาน ‘ภายในเต็นท์’ มันเป็นเรื่องยากที่จะเห็นภาพว่า OAJ ออกคำสั่งให้สมาชิกลงถนนเพื่อประท้วงแบบเดียวกับหลายประเทศ[41]

OAJ แทบจะไม่วิจารณ์แนวคิดและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับโลกทางธุรกิจซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความต่อเนื่องของการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐที่เข้ามาตั้งแต่รัฐบาลแฮร์รี่ โฮลเคริ (Harri Holkeri; 1987-1991) และเอสโก อาโฮ (Esko Aho; 1991-1995) และยังไม่พบการถกเถียงใน OAJ กรณีที่มีผู้ไม่สบายใจที่แยกตัวออกไปเมื่อคราวที่ OAJ เสนอให้เปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงาน แม้ว่าความขัดแย้งจะปรากฏในสื่อมวลชนฟินแลนด์ อาจเป็นเพราะ OAJ ต้องการที่จะนำเสนอภาพอันเป็นเอกภาพและการสร้างภาคีในกระบวนการเชิงนโยบาย การที่ OAJ ให้ความสนใจกับนโยบายการส่งออกการศึกษาของรัฐบาลน้อย แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาล ได้บอกใบ้ว่าการสนับสนุนเช่นนี้ก็เท่ากับสนับสนุนนโยบายการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ไปด้วย[42]

มากกว่าการละเลย เหมือนว่า OAJ จะใช้ประโยชน์ทางการเมืองผ่านประเด็นต่างๆ ให้มากที่สุด แม้ว่ารัฐบาลกับ OAJ จะพูดเรื่องเดียวกันแต่ความหมายต่างกันไปเลย OAJ พูดถึงความเท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษาซึ่งหมายถึงว่า โอกาสอันเท่าเทียมเพื่อที่จะสำเร็จหลักสูตรโรงเรียนแบบผสมในหลักการเดียวกันไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เพศอะไร หรือในครอบครัวที่มีสถานภาพการเงินและสังคมแบบใด อันเป็นความเท่าเทียมของทุกคน สำหรับรัฐบาลแล้ว ได้มุ่งเน้นความเท่าเทียมทางการศึกษาของปัจเจก ที่ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันเท่าเทียมของทุกคนที่จะเติมเต็มความสามารถหรือแรงบันดาลใจซึ่งเน้นไปที่ทางเลือกของปัจเจกและการลดการควบคุมทางการศึกษา และการปลดปล่อยไปสู่ระบบ school choice[43]

OAJ ที่ไม่กล้าวิพากษ์รัฐบาลหนักกว่านี้เป็นเพราะการไม่กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตน พวกเขาอาจนิยามตนว่าเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาชีพที่ ‘ไร้การเมือง’ อาจรวมไปถึงว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของ OAJ มักเห็นด้วยกับทิศทางนโยบายการศึกษาที่เป็นอยู่ บางที OAJ จำเป็นต้องสะท้อนย้อนคิดถึงจุดยืนของสมาชิกและความไม่สามารถในการวิจารณ์นโยบายการศึกษาได้อย่างที่ควรจะเป็น กระนั้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา OAJ ได้มีจุดยืนที่เผชิญหน้ากับรัฐบาลและนโยบายเทศบาลมากขึ้น ช่วงล็อกดาวน์ในปี 2020 OAJ ได้โต้แย้งการที่รัฐบาลจะเปิดการสอนแบบออนไซต์แก่นักเรียนอายุน้อยที่สุดในฤดูใบไม้ผลิต และจะเปิดทั้งหมดในช่วงสุดท้ายของหยุดช่วงฤดูร้อน OAJ ยังแสดงความเสียใจต่อแนวโน้มที่เทศบาลจะให้ครูออกจากงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น โรคระบาดนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ OAJ ก็เป็นได้[44]

OAJ เป็นองค์กรแรงงานการศึกษาที่มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวของทุกระดับการศึกษาที่มีอำนาจในการต่อรองสูงในฟินแลนด์ บนพื้นฐานความเข้มแข็งของการศึกษาทำให้การยืนหยัดต่อรองของแรงงานส่วนนี้มีความชอบธรรมอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับระบบการตรวจสอบและการประเมินผลเช่นเดียวกับที่หลายประเทศพบเจอมาก่อน จากวิกฤตคะแนน PISA ที่ตกต่ำ เพียงแต่ฟินแลนด์ที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามารถยื้อเวลาออกไปได้เนื่องมาจากผลคะแนนในครั้งนั้นเอง นอกจากนั้น ยังถูกวิจารณ์ว่ามีท่าทีที่ประนีประนอมกับรัฐบาลมากเกินไป แทบจะไม่มีการเดินขบวนประท้วงหรือการสไตรก์ใดๆ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายและปฏิบัติการของรัฐเลย


[1] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries: Solidarity and the Politics of Self- Interest”, Ibid., p.144

[2] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.145

[3] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.145

[4] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.145-146

[5] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.146

[6] คำแปลของกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ใน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, แปล, 100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์ (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มูลนิธิก้าวหน้า, 2565), หน้า 90

[7] 375 Humanists.”Adolf Ivar Arwidsson “. Faculty of Arts, University of Helsinki. Retrieved on 6 July 2020 from https://375humanistia.helsinki.fi/en/humanists/adolf-ivar-arwidsson

[8] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.146

[9] กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 88

[10] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.146-147

[11] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.147

[12] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.155

[13] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.156

[14] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.149

[15] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.156

[16] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.156

[17] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.155-156

[18] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.157

[19] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.157-158

[20] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.158

[21] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.174

[22] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.174-175

[23] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.175

[24] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.175

[25] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.175-176

[26] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.176

[27] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.176

[28] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.176-177

[29] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.177

[30] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.177

[31] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., pp.177-178

[32] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.178

[33] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.179

[34] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.180

[35] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.181

[36] Susanne Wiborg, “Teachers Unions in the Nordic Countries…”, Ibid., p.182

[37] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, “A Progressive Force in Finnish Schooling?: Finland’s Education Union, OAJ, and Its Influence on School-Level Education Policy”,  Martin Thrupp, Piia Seppänen, Jaakko Kauko, Sonja Kosunen, ed., Finland’s Famous Education System (Singapore: Springer, 2023), p.52

[38] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.53

[39] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.55

[40] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.56

[41] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.62

[42] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.62

[43] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., pp.62-63

[44] Nina Nivanaho & Martin Thrupp, Ibid., p.64

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save