fbpx

สวีเดน-ฟินแลนด์: ความแค้น 800 ปี ชำระวันนี้ก็ไม่สายไป

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘Tärkeintä ei ole voitto, vaan se, että Ruotsi häviää’ เป็นหนึ่งในประโยคคลาสสิกที่ชาว ‘ฟินนิช’ มักจะพูดถึงสวีเดน เมื่อมีการแข่งขันกันในกีฬาชนิดใดๆ ก็ตาม โดยประโยคนี้เป็นภาษาฟินนิชที่อ่านได้ประมาณว่า ‘ทาเคนตา เอ้ โอเล่ โวยต์โตะ วาน เซะ เอ็ตตะ โรสต์สิ ฮาวิยา’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการที่สวีเดนแพ้’

ว่ากันว่า ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งชิงแชมป์โลกในปี 1995 โดยในปีนั้น นอกจากการเป็นการคว้าแชมป์โลกครั้งแรกของฟินแลนด์แล้ว ยังเป็นการคว้าชัยเหนือคู่ปรับตลอดกาลอย่างสวีเดน และที่สำคัญในนัดชิงชนะเลิศที่พวกเขาโค่นสวีเดนได้ด้วยสกอร์ 4-1 นั้นเป็นการแข่งขันท่ามกลางแฟนๆ กว่า 13,800 คนในกรุงสต็อกโฮล์มด้วย เรียกได้ว่าไปเอาชัยชนะถึงถิ่นได้สำเร็จ

หลังชัยชนะครั้งนั้น การฉลองแชมป์เกิดขึ้นอย่างยาวนานนับสัปดาห์ แถมมีเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อฉลองชัยชนะในคราวนี้อีก 3-4 เพลงด้วย เพราะนี่ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบันของชาวฟินนิชเหนือชาวสวีดิช หลังจากที่พวกเขาได้รับเอกราชจากรัสเซียในปี 1917 และถือเป็นการสะสางความแค้นที่ยาวนานกว่า 800 ปี ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตสมัยที่พวกเขายังเป็นเมืองขึ้นของสวีเดน

ไม่ต่างจากเรื่องราวระหว่างอังกฤษและเยอรมนีในบทความตอนที่แล้วสักเท่าไหร่นัก เพราะเรื่องราวระหว่างสวีเดนและฟินแลนด์ เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่ถูกบ่มเพาะผ่านรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นเรื่องราวความเป็นอริกันระหว่างเพื่อนบ้านสองชาติในแถบสแกนดิเนเวีย และต่อยอดกลายเป็นคู่ปรับกันในสนามกีฬาในยุคปัจจุบัน เรื่องราวของพวกเขานั้น อาจไม่ได้มาในรูปแบบกีฬาที่เราคุ้นเคยกันอย่างฟุตบอลแบบในหลายๆ ตอนที่ผ่านมา แต่มาจากกีฬายอดฮิตในแถบนั้นอย่าง ‘ฮอกกี้น้ำแข็ง’ มากกว่า แต่หลายครั้งการเจอหน้ากันในสนามฟุตบอลก็ยังทำให้แฟนบอลทั้งสองชาติต่างส่งใจเชียร์ (ทีมตัวเอง) และ แช่ง (คู่แข่ง) กันอย่างเต็มที่ได้เหมือนกัน

แต่ในมุมของเกมกีฬาแล้ว แมตช์ฮอกกี้น้ำแข็งระหว่างฟินแลนด์กับสวีเดนนั้น ถือเป็นเกมที่พลาดไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับแฟนๆ ฮอกกี้ เพราะการเจอกันของทั้งคู่มักจะเป็นแมตช์ที่ดุเดือดและครบเครื่องเสมอมา นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยเหตุการณ์น่าจดจำมากมาย เพราะทั้งสองทีมมักจะมีอะไรคล้ายๆ กันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างเช่นไม่กี่ปีมานี้ ทั้งสองทีมต่างมีสุดยอดเกมรับอันมาจากโกลลี่ (ผู้รักษาประตูในกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง) ที่ดีที่สุดสองคนบนโลก อย่าง เฮนรี่ ‘เดอะ คิง’ ลันเควสต์ แห่ง สวีเดน และ ทูกก้า ‘ทูก’ รัสก์ แห่ง ฟินแลนด์ เป็นต้น

และนี่นับเป็นเรื่องราวของสองคู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฮอกกี้น้ำแข็งและวงการกีฬาแห่งสแกนดิเนเวีย ซึ่งนับเป็นสองชาติมหาอำนาจแห่งแดนเยือกแข็งที่มีเรื่องราวยาวนานหลายร้อยปี นี่คือเรื่องราวความเป็นคู่ปรับระหว่าง ‘เทร ครอนอร์’ หรือ ‘สามมงกุฎ’ อย่างสวีเดน และ ‘เลโยเน่น’ หรือ ‘ราชสีห์’ อย่างฟินแลนด์

ยุคไวกิ้ง – จุดเริ่มต้นของฟินแลนด์ภายใต้อำนาจของสวีเดน

ในช่วงศตวรรษที่ 11 และ 12 สวีเดนค่อยๆ กลายเป็นอาณาจักรคริสเตียนและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดี ศาสนาคริสต์เริ่มตั้งหลักในฟินแลนด์ช่วงศตวรรษที่ 11 เช่นกัน จากหลักฐานในยุคกลางซึ่งเป็นช่วงเวลายุคต่อมากล่าวถึงความพยายามของสวีเดนที่จะพิชิตและทำให้ฟินแลนด์เป็นคริสเตียน โดยในการต่อสู้ครั้งนั้นเรียกว่าสวีดิชครูเสดหรือสงครามครูเสดของสวีเดน ทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดน ในช่วงกลางทศวรรษ 1150 หลังจากนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ค่อยชัดเจน

เวลาข้ามมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 บิชอปโธมัสกลายเป็นนักบวชที่ได้เป็นบิชอปคนแรกของฟินแลนด์ หลังจากนั้นก็มีมหาอำนาจหลายชาติในโลกที่หวังครอบครองดินแดนฟินแลนด์ให้อยู่ภายใต้การปกครองของพวกเขา แต่บีร์เกล ยาริล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสวีเดนได้รวมอำนาจการปกครองของสวีเดนเหนือฟินแลนด์อย่างเบ็ดเสร็จอีกครั้ง ผ่านการทำสงครามครูเสดสวีเดนครั้งที่สอง แม้จะไม่มีการยืนยันที่แน่นอน แต่หลักฐานส่วนมากทำให้เชื่อว่าน่าจะอยู่ราวปี 1249

เมื่อเข้าสู่ยุคกลาง ฟินแลนด์ก็ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนอย่างสมบูรณ์ โดยสวีเดนได้ขนานนามใหม่ให้ ฟินแลนด์ว่า ‘ออสเตอร์ลันด์’ (Österland) และมีประชาชนจำนวนหนึ่งย้ายถิ่นฐานจากสวีเดนเข้ามาสู่ในดินแดนนี้ทำให้ ภาษาสวีดิชก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน

ในปี 1362 ผู้แทนจากฟินแลนด์ได้รับเรียกให้เข้าร่วมการเลือกตั้งกษัตริย์แห่งสวีเดน ปีนั้นมักจัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการรวมตัวของฟินแลนด์เข้ากับราชอาณาจักรสวีเดน

หลังจากนั้นในปี 1397 สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตที่ 1 แห่งเดนมาร์กได้รวมประเทศนอร์ดิกในนามสหภาพคาลมาร์ โดยได้รับอนุมัติจากขุนนางสวีเดน ฟินแลนด์มีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อสู้ดิ้นรนบางครั้ง จนถึงศตวรรษที่ 15 ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างรุ่งเรืองของฟินแลนด์ โดยมีการเติบโตของประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 สถานการณ์ชายแดนตะวันออกเริ่มตึงเครียดมากขึ้น อาณาเขตของมอสโกเอาชนะโนฟโกร็อด นำสู่การรวมรัสเซีย และในไม่ช้าความตึงเครียดก็เกิดขึ้นกับสวีเดน ในปี 1495–1497 เกิดสงครามระหว่างสวีเดนกับรัสเซีย

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ราวปี 1809-1810 ในช่วงสงครามระหว่างสวีเดนและรัสเซีย กองทัพของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็สามารถยึดดินแดนฟินแลนด์ได้อีกครั้ง ฟินแลนด์ดำรงสถานะเป็นดินแดนปกครองตนเองราชรัฐฟินแลนด์ภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย

จะเห็นได้ว่าแม้สุดในช่วงสุดท้าย ฟินแลนด์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ความสัมพันธ์กว่า 700 ปี ชาวฟินน์มีความสัมพันธ์กับชาวสวีดิชมากกว่าอยู่เสมอ นั่นจึงไม่แปลกที่ความเป็นอริจะถูกปลูกฝังต่อยอดและส่งต่อกันมาผ่านแบบเรียนหรือเรื่องเล่าให้ทั้งสองชาติเป็นอริกันมากกว่าเป็นมิตร

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 – เอกราชอีกครั้งจากรัสเซีย

ในปี 1917 หลังจากที่พรรคบอลเชวิคยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในรัสเซีย ฝั่งฟินแลนด์จึงเดินหน้าประกาศเอกราชในวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ในประเทศก็เกิดสงครามกลางเมืองในปีต่อมา ระหว่างฝ่ายขาว (Whites) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี กับฝ่ายแดง (Reds) ที่นิยมรัสเซีย สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายขาว และการสูญเสียชีวิตของชาวฟินน์ทั้งสองฝ่าย

หลังสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ยุติ เยอรมนีมีอิทธิพลทางการเมืองในฟินแลนด์อย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ที่หนุนหลังฝ่ายขาว ซึ่งเป็นผู้ชนะ ทำให้รัฐสภาฟินแลนด์ได้เลือกเจ้าชายเฟรเดอริคชาร์ลส์แห่งฮาสเซอ น้องเขยของจักรพรรดิวิลเล่มที่ 2 แห่งเยอรมัน ขึ้นเป็นกษัตริย์ฟินแลนด์

ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ยกกองทัพบุกยึดครองดินแดนภาคตะวันออกของฟินแลนด์ที่เรียกว่าคอคอดคาเรลเลีย พร้อมส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่กรุงเฮลซิงกิ โดยกองทัพสหภาพโซเวียตมีจำนวนทหารมากกว่ากองทัพฟินแลนด์ถึง 3 เท่า โดยสงครามครั้งนี้ถูกเรียกขานกันในนาม ‘สงครามฤดูหนาว’ (Winter war) แต่กองทัพฟินแลนด์ก็สามารถต้านทานกองทัพของสหภาพโซเวียตจนได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงหนึ่งเดือนแรก ซึ่งในการต่อสู้ครั้งนี้เอง ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับซิโม แฮวแฮ (Simo Häyhä) เจ้าของฉายา ‘เพชฌฆาตสีขาว’ (White Death) ซึ่งถือเป็น สุดยอดสไนเปอร์ที่เก่งกาจที่สุดในโลกจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากสหภาพโซเวียตจัดทัพใหม่ก็สามารถเอาชนะกองทัพฟินแลนด์ ทำให้ฟินแลนด์ต้องเสียดินแดนคาเรลเลีย ซึ่งคิดพื้นที่เป็นร้อยละ 12 ของดินแดนฟินแลนด์ให้แก่สหภาพโซเวียต และต้องอพยพคนฟินแลนด์กว่า 4 แสนคนออกจากดินแดนดังกล่าว รวมทั้งให้สหภาพโซเวียตเช่าฐานทัพที่เมืองฮันโก้เป็นระยะเวลา 30 ปีด้วย

สงครามฤดูหนาวทำให้เยอรมนีเห็นว่า กองทัพสหภาพโซเวียตไม่ได้แข็งแกร่งเกินกำลัง เยอรมนีจึงละเมิดสัญญากับสหภาพโซเวียตและเปิดแนวรบด้านตะวันออกบุกสหภาพโซเวียต เมื่อสวีเดนและนอร์เวย์ประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟินแลนด์หวังจะได้ดินแดนคาเรลเลียที่เสียให้กับสหภาพโซเวียตคืน จึงยอมให้เยอรมนีเดินทัพผ่านฟินแลนด์ไปรบกับสวีเดนและนอร์เวย์ แต่ปรากฏว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 ฟินแลนด์จึงเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เสียดินแดนคาเรลเลียเป็นการถาวร และยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามด้วย

แม้ในช่วงที่ ฟินแลนด์ ประกาศเอกราชจวบจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ สวีเดนจะไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย นอกจากมาเปิดศึกในตอนเหนือของฟินแลนด์ จนนำไปสู่การเข้าร่วมฝ่ายอักษะของชาวฟินน์ แต่ในมุมของคนฟินแลนด์แล้ว พวกเขายังโยนความผิดในเรื่องนี้ไปให้กับพวกสวีเดนอยู่ดี ที่มาเปิดฉากสงครามหลังจากที่พวกเขาเพี่ยงพล้ำต่อโซเวียต อันนำมาสู่การเสียคาเรลเลียไปให้รัสเซียอย่างถาวรจวบจนปัจจุบัน

สงครามเย็น – การสร้างชาติขึ้นใหม่กับความเป็นลูกไล่สวีเดน

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของฟินแลนด์เนื่องจากมีฐานะเป็นประเทศแพ้สงคราม ผู้นำฟินแลนด์ถูกนำตัวขึ้นศาลและถูกพิพากษาจำคุก แต่ฟินแลนด์ก็สามารถฟันฝ่าความยากลำบากมาได้และร่วมมือกับระบบเศรษฐกิจตะวันตก

ขณะที่ทางสวีเดนเองก็ลดความเป็นศัตรูกับฟินแลนด์ลงอย่างชัดเจน โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สวีเดนได้ประกาศว่าพวกเขาเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยหลังสงคราม สวีเดนยังยอมรับและดูแลเด็กชาวฟินน์ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สองด้วย และจากการไม่ต้องตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามเหมือนฟินแลนด์ ทำให้สวีเดนมีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงคราม และกลายเป็นประเทศที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ฟินแลนด์ต้องพึ่งพาสวีเดนมากขึ้นในช่วงยุคสงครามเย็น แม้ว่าคนในชาติส่วนมาก จะรู้สึกขอบคุณน้ำใจเหล่านี้ แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ที่รู้สึกไม่พอใจที่พวกเขาต้องมาพึ่งพาศัตรูตลอดกาล แต่ยิ่งสถานการณ์ในสงครามเย็นยิ่งระอุขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ฟินแลนด์ต้องพึ่งพาสวีเดนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อฟินแลนด์มีพรมแดนติดกับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นชาติตัวเอ้ผู้นำของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นด้วยแล้ว ฟินแลนด์จึงมีฐานะไม่ต่างจาก ‘รัฐกันชน’ เพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้าสู่ดินแดนสแกนดิเนเวีย ส่งผลให้ทั้งสวีเดนและเดนมาร์กต่างพากันให้ความสนับสนุนฟินแลนด์อย่างมากในช่วงนี้

กันยายน 1944 ฟินแลนด์จับมือกับสวีเดนในการปฏิบัติการ ‘สเตลล่า โพลาริส’ (Stella Polaris) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณข่าวกรองและบันทึกของฟินแลนด์ไปยังสวีเดน จุดประสงค์คือเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต โดยปฏิบัติการนี้มีฐานอยู่ที่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่แนมป์แนส ในเมืองนาร์เปส ภูมิภาคออสโตรบอทเนีย จากที่ซึ่งหอจดหมายเหตุถูกส่งไปยังท่าเรือของสวีเดน

ผลจากปฏิบัติการนี้ ช่วยทำให้ฟินแลนด์สามารถหยุดสงครามกองโจรในประเทศพวกเขาได้ และทำให้ประเทศแถบสแกนดิเนเวียไม่ถูกเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาอันมาคุดังกล่าวด้วย

ความร่วมมือกันในช่วงสงครามเย็นนี่เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ของฟินแลนด์และสวีเดนดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าประชาชนของทั้งสองชาติ ลึกๆ แล้วจะยังมีความไม่ชอบใจในประเทศเพื่อนบ้านอันมีประวัติศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์กันมาอย่างช้านาน แต่โดยรวมแล้ว การจับมือกันของทั้งสองชาติในช่วงนี้ทำให้ประเทศของพวกเขาทั้งคู่รอดพ้นวิกฤตมาได้ ทั้งยังช่วยให้ ฟินแลนด์กระดอนกลับมาเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งหลังจากจบสงครามเย็นอีกด้วย

ยุค 2000 – การประกาศศักดาครั้งแรกเหนือสวีเดนของฟินแลนด์

ปลายทศวรรษ 1980 ฟินแลนด์ ถูกโจมตีค่าเงินฟินน์มาร์กอย่างหนัก จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในปี 1991 แต่รัฐบาลฟินแลนด์สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต นอกจากนี้การที่ค่าเงินฟินน์มาร์กมีมูลค่าน้อยลง ส่งผลไปถึงค่าจ้างแรงงานที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ขีดความสามารถของฟินแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในช่วงปี 1994-2000 เศรษฐกิจฟินแลนด์ขยายตัวร้อยละ 4.7 และในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงที่สุดในโลก หลังจากที่บริษัทที่มีชื่อว่า ‘โนเกีย’ (Nokia) ปรากฏตัวขึ้นในปี 1990 โดยนี่เป็นผลของการส่งเสริมเทคโนโลยีของภาครัฐ และในช่วงนี้เองที่ฟินแลนด์ได้ยกระดับตัวเองขึ้นมาเหนือกว่าสวีเดนได้เป็นครั้งแรก

นอกจากเรื่องราวในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว เรื่องราวที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือชัยชนะของทีมฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติฟินแลนด์ เหนือสวีเดนในสกอร์ 4-1 ถึงกรุงสต็อกโฮล์ม ในนัดชิงชนะเลิศฮอกกี้น้ำแข็งชิงแชมป์โลก ทำให้เกิดประโยคคลาสสิกของชาวฟินน์อย่าง ‘สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการที่สวีเดนแพ้’ ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะไม่ยอมอยู่ภายใต้ร่มเงาของสวีเดนอีกต่อไป

ชัยชนะในเกมดังกล่าวทำให้วิลเล่ เปลโตเน่น นักฮอกกี้ที่ยิงแฮตทริกในเกมเอาชนะสวีเดนดังกล่าว กลายเป็นฮีโร่ของชาติ ยามที่เขากลับมา โดยมีคำกล่าวว่า หากมาราโดนาคือพระเจ้าของชาวอาร์เจนไตน์ เปลโตเน่นก็คือพระเจ้าของชาวฟินนิช เช่นกัน

แม้หลังจากนั้น สวีเดนจะสามารถกลับไปครองอำนาจในเวทีฮอกกี้น้ำแข็งชิงแชมป์โลกได้ โดยหลังจากปี 1995 พวกเขาสามารถคว้าแชมป์โลกฮอกกี้น้ำแข็งได้อีกถึง 5 ครั้ง โดยหนึ่งในนั้นเป็นการเอาชัยเหนือฟินแลนด์ในรอบชิงชนะเลิศปี 1998 แต่ฟินแลนด์ก็ยกระดับตัวเองมาทัดเทียมกับสวีเดน ในฐานะคู่ปรับของกีฬาชนิดนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่แชมป์แชมป์แรกเมื่อปี 95 หลังจากนั้น ฟินแลนด์ก็ได้แชมป์โลกอีก 3 ครั้ง รวม 4 ครั้ง ซึ่งรวมถึงแชมป์โลกสมัยล่าสุดในปี 2022 ที่ผ่านด้วย

ปัจจุบันของความขัดแย้ง – คู่ปรับในสนาม และ ความร่วมมือทางการเมือง

“สำหรับเราชาวสวีดิช เราแค่ไม่สามารถแพ้ต่อชาวฟินแลนด์ได้ มันก็เรื่องง่ายๆ แค่นั้น” ปีเตอร์ ฟอร์สเบิร์ก นักฮอกกี้น้ำแข็งเจ้าของสองเหรียญทองฮอกกี้น้ำแข็งในโอลิมปิกฤดูหนาวกล่าว “นานมาแล้ว ฟินน์เคยมองว่าเราเป็นพี่ใหญ่ แต่ตอนนี้เราคือคู่ปรับที่ยอมกันไม่ได้แล้ว”

ขณะที่ทีมู เซลานี ตำนานนักฮอกกี้น้ำแข็งของอนาไฮม์ ดั๊กส์ ในศึก NHL และเป็นนักกีฬาทีมชาติฟินแลนด์ กล่าวในอีกมุมว่า “ผมไม่รู้หรอกนะว่าความเป็นคู่ปรับของแคนาดากับสหรัฐฯ มากขนาดไหน แต่ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เมื่อเทียบกับความเป็นคู่ปรับของฟินแลนด์กับสวีเดน”

ในขณะที่นักกีฬาทั้งสองคนมองความเป็นคู่ปรับระหว่างทั้งสองชาติว่าเข้มข้นแล้ว แต่ในมุมของแฟนๆ นั้นเดือดกว่ามาก

“ก็เป็นเรื่องปกติในฟินแลนด์นะที่จะมองพวกสวีดีชว่างี่เง่า” โอลาวี ริตโตไรเน่น แฟนฮอกกี้น้ำแข็งชาวฟินแลนด์กล่าวก่อนการแข่งขันชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา “พวกเขาชอบมองว่าเราเป็นลูกไล่ เราเป็นน้องเล็ก แต่ผมก็อยากจะบอกพวกเขาว่า ‘ใครน้องเอ็ง?’ พวกเขางี่เง่าเพราะไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้เลย”

ขณะที่เมื่อไปถามทางฝั่งสวีเดน พวกเขาอาจจะรอมชอมกว่า เพราะมองว่าฟินแลนด์ก็ไม่ใช่ชาติที่ยิ่งใหญ่หรือมีประวัติศาสตร์ยาวนานเท่าพวกเขา เพราะอย่างไรก็ตาม จำนวนแชมป์โลกที่สวีดีชได้คือ 11 สมัย ขณะที่ทางฟินแลนด์ได้ 4 สมัยเท่านั้น

นั่นอาจจะเป็นเรื่องปกติของการปะทะกันในสนามการแข่งขัน แต่ในเวทีทางด้านการเมือง ทั้งสองชาตินอกจากจะไม่ใช่คู่แข่งกันแล้ว ทั้งคู่ยังมีนโยบายที่ส่งเสริมกันและให้ความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม พวกเขาทั้งคู่เริ่มมีท่าทีพึ่งพากันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลฟินแลนด์ก็พึ่งพาอาศัยสวีเดนมาตลอดนับตั้งแต่พวกเขามีสถานะเป็นชาติผู้แพ้สงครามมาจนตั้งตัวได้

และไม่นานมานี้หากได้ตามข่าวสารบ้านเมือง ทั้งสองชาติก็ดูเป็นปึกแผ่นและน้ำหนึ่งใจเดียวกันมาก หลังจากที่ฟินแลนด์และสวีเดนควงแขนกันร่วมสมัครเข้ากองกำลังแอตแลนติกเหนือหรือ NATO พร้อมๆ กันด้วย

นั่นอาจจะหมายความได้ว่าความขัดแย้งทั้งหมดในอดีตก็คงเหลือแต่เพียงในประวัติศาสตร์แบบเรียนและในสนามกีฬาไปแล้วก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save