fbpx
Take a Deeper Read

Take a Deeper Read

 ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“…solitude is terrifying, commerce is poisoned, those who see it firsthand are stunned, fear suffers not from this destruction, sickness awaits no cure, and sleep is interrupted by death.

… Nothing is seen except images of horror, nothing is heard except the scream of the tormented; we waited only for the assaults of death, longing only for a quick death, and meanwhile the long, unbroken file of cadavers being carried to their resting place is

seen stretching all the way to the grave; with tears and pain we gather around that       unhappy place, where the sound of our quarreling voices reverberates across the open urns, and a woeful echo stings our ears and hearts, declaring us fragile, transient, miserable, and more moribund than the mortal.”

A letter from Agostino Mascardi to Claudio Achillini, 1630

 

 

อาจารย์สายัณห์ที่รัก

นี่น่าจะเป็นจดหมายที่เขียนถึงอย่างจริงจังเป็นฉบับแรก (แต่ก็เปิดให้คนอื่นอ่านด้วยอะนะ) เพราะปกติ ถ้าเราไม่โทรคุยกัน ก็จะเป็นการเขียนอีเมล์แบบ chat กันไปมา มีข้อความมาทีละบรรทัดสองบรรทัด โต้ตอบกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเรื่องหรือขี้เกียจกันไปเอง

วันก่อนโทรไปไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเพราะมหาลัยปิดจากเหตุไวรัสโควิด-19 เม้ามอยเรื่อยเปื่อยไปถึงเรื่องงานศิลปะเกี่ยวกับโรคระบาด แล้วคุณก็พูดขึ้นมาว่า ปูแซ็งมีงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องนี้เหมือนกัน เป็นงานที่ใครต่อใครได้เขียนถึงไว้อย่างมากมาย

[ สำหรับคุณผู้อ่าน สายัณห์ แดงกลม เป็นที่ปรึกษาสมัยปริญญาตรีของผู้เขียน ปัจจุบันเป็นเพื่อนร่วมงานในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สรรพนามในการเรียกขานกันระหว่างเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะสลับไปมาระหว่าง ‘คุณ’ ‘อิฉัน’ ‘ยู’ ‘นี่’ ซึ่งสะท้อนความลำบากลำบนในการหาคำแทนตัวของเพศทั้งหลายที่ไม่ใช่เพศชายในภาษาไทย

หนึ่งในศิลปินคนโปรดของ อ.สายัณห์คือจิตรกรชาวฝรั่งเศส นิโกลาส์ ปูแซ็ง (Nicolas Poussin, 1594-1665) ซึ่งเป็นประเด็นหลักของจดหมายฉบับนี้ ]

เผอิญใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับพอดี จะเขียนอะไรดีนะ เรื่องที่วางแผนไว้แต่แรกดูจะไม่เหมาะกับช่วงเวลานี้ ค้นๆ ไปก็เจอ Self-Portrait with the Spanish Flu ของมุงค์  กับภาพครอบครัวที่เขียนไม่เสร็จของชีเลอเพราะทั้งภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่และตัวศิลปินเองต่างเสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนกันหมด

แต่ภาพเหล่านี้ล้วนหดหู่เกินไป ฮือออ อย่ากระนั้นเลย กลับมาตายรังที่ปูแซ็งดีกว่า (คำว่า ‘ตายรัง’ ทำให้ดูเหมือนคุ้นเคยกันดี 555 แต่จะบอกว่าตั้งแต่จบปริญญาตรีมา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปูแซ็งหรือเหล่า old masters ในโลกศิลปะตะวันตกโบราณอีกเลย)

อิฉันไปเจอบทความ Poussin, Plague, and Early Modern Medicine โดยชีลา บาร์เคอร์ (Sheila Barker) ใน The Art Bulletin ฉบับปี 2004 ว่าด้วยภาพ The Plaque of Ashdod (The Miracle of the Ark in the Temple of Dagon, 1630-31) ของปูแซ็ง อ่านแล้วก็สนุกสนานจนอยากเอามาเล่าให้ฟัง ทั้งๆ ที่คิดว่าคุณคงเคยอ่านแล้ว แต่ยังอยากเล่าเพราะจะผสมเรื่องอื่นเข้าไปด้วย

ก็เรื่องบ่นเดิมๆ เกี่ยวกับการเขียนถึงศิลปะด้วยท่าทีวิชาการนั่นแหละ แต่ไม่ได้จะบ่นบาร์เคอร์ ผู้เขียนบทความหรอกนะ คุณคงรู้

 

Nicolas Poussin, The Plague of Ashdod, 1630-31 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส
Nicolas Poussin, The Plague of Ashdod, 1630-31 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_plague_of_ashdod_1630.jpg

 

ขอย้อนกลับไปที่ข้อความในจดหมายของมาสคาดิที่ยกมาตอนต้น อ่านแล้วก็ขนลุกว่าเขียนดีว่ะ (รู้ตัวอยู่ว่าที่อ่านมันเป็นบทแปลภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ข้อเขียนออริจินัล) น่าสะเทือนใจ ชวนให้เห็นภาพราวกับเขียนขึ้นจากสิ่งที่เห็นจริงตรงหน้า

แต่มาสคาดิก็ไม่ได้เห็นมันจริงๆ หรอก (อ้าว!) เพราะในปี 1630 ที่มาสคาดิเขียนจดหมายขึ้นมานั้น กาฬโรคระบาดอยู่แถวตอนเหนือของอิตาลี ยังมาไม่ถึงกรุงโรมที่ทั้งมาสคาดิและปูแซ็งพำนักอยู่เลย

ที่ยกมานี้ไม่ได้เพื่อจะบอกว่ามาสคาดิเป็นพวกนั่งเทียน แต่ไอ้ความน่าสะพรึงกลัวของการระบาดและบรรยากาศของความกลัวที่กัดกินเป็นวงกว้างต่างหาก ที่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาพ The Plaque of Ashdod ในบทความนี้

บาร์เคอร์เชื่อมโยงภาพเข้ากับความรู้ทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 17 ที่มองว่าปัญหาทางจิตใจ (รวมทั้งความนอยด์และความสิ้นหวังอันเกิดจากการคิดถึงโรคระบาด) มีความสัมพันธ์กับความป่วยไข้ทางกาย คำถามของเธอมีอยู่ว่า ปูแซ็ง จิตรกรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา และรู้จักมักคุ้นกับผู้คนในแวดวงการแพทย์เป็นอย่างดี (เพราะนอกจากจะเป็นจิตรกร intellectual แล้วยังเคยเป็นซิฟิลิส) จะเขียนภาพฉากการล้มตายอย่างน่าสยดสยองจากโรคระบาดที่กระตุ้นความกลัวของคนดูไปทำไม?

ณ ขณะที่เขียนอยู่นี้ สถานการณ์ในอิตาลีปัจจุบันก็หนักอย่างน่าเศร้าใจ

[ ถึงคุณผู้อ่าน ภาพ The Plaque of Ashdod ไม่ใช่ภาพการระบาดของกาฬโรคในอิตาลีในศตวรรษที่ 17  แต่มาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ว่าด้วยบทลงโทษของพระเจ้าต่อชาวฟิลิสเตียแห่งเมืองอัชโดด (ออกเสียงตามพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย) หลังจากที่ชาวฟิลิสเตียยึดหีบพันธสัญญาไปตั้งไว้ที่เทวสถานแห่งเทพเจ้าดาโกน พระเจ้าก็ได้ทำลายรูปปั้นเทพเจ้าดาโกนและบันดาลให้ชาวฟิลิสเตียเป็นโรคระบาดที่มี ‘ฝี’ ต้องถวายของชดเชยบาปเป็น ‘ฝีทองคำ’ กับ ‘หนูทองคำ’ รวมทั้งคืนหีบพันธสัญญาให้กับชาวยิว การระบุถึงฝีและหนูในพระคัมภีร์แสดงว่าโรคระบาดที่ว่านั้นคือกาฬโรคนั่นเอง ]

ในฐานะบทความวิชาการ บาร์เคอร์ใช้วิธีตามขนบธรรมเนียมทั่วไป คือระบุว่ายังมีอะไรที่ขาดไปในการศึกษาภาพ The Plaque of Ashdod เธอกล่าวว่าประเด็นเชิงการแพทย์ในภาพเขียนชิ้นนี้ เท่าที่มีการทำกันมา คือการชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนูกับกาฬโรค ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงปัจจุบัน (กรี๊ด! ตื่นเต้น! ในภาพมีหนูวิ่งตามพื้น)

แต่แล้วการแพทย์ในยุคนั้นล่ะ? ถ้าคนยุคนั้นเชื่อกันว่า “The passion of the soul affectively accelerates the plague and alter the body.” (Daniel Sonnert) จิตกับกายสัมพันธ์กัน ป่วยใจก็ป่วยกาย ความกลัวทำให้ร่างกายอ่อนแอ ง่ายต่อการเจ็บป่วย แล้วการเขียนภาพเหตุการณ์น่ากลัวๆ ที่กระตุ้นต่อมความกลัวมันจะดีหรือ? ทำไมปูแซ็งที่น่าจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควรจึงเขียน ‘dangerous painting’ หรือจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ‘dangerous painting’?

บทความทั้ง 32 หน้าว่าด้วยปมปัญหาข้อนี้ หรือก็คือความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 17

ถ้าคุณเคยอ่านบทความนี้แล้วคงเห็นว่า สิ่งที่เจ๊บาร์เคอร์ทำ เป็นวิธีการคลาสสิกที่นักวิชาการทั่วไปทำกันนั่นเอง คือการชี้ให้เห็นว่ามีใครศึกษาอะไรมาแล้วบ้าง เพื่อจะบอกว่าอะไรยังเป็นช่องว่างอยู่ และฉันจะศึกษาไอ้ช่องว่างที่ว่านี้ เราจะตั้งประเด็นวิจัยขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราได้อ่านสำรวจมาแล้วว่า เรื่องที่ว่ามันคืออะไร มีใครได้ศึกษามันมาแล้วในแง่มุมใดบ้าง หรือก็คือการทำ literature review นั่นเอง

นี่มีความงงอยู่เสมอเวลาเจอใครสักคนเขียนถึงงานศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือขบวนการศิลปะอะไรสักอย่าง แล้วระบุข้อมูลพื้นๆ ของสิ่งนั้นขึ้นมาเพื่อบอกว่า “นี่คือ argument ของฉัน/ผม”

เอิ่ม… ซอรี่นะ

อย่าดูเบาศิลปะ และอย่าดูเบาการเขียนเกี่ยวกับศิลปะ

คุณคงไม่ค่อยได้เจออะไรเหล่านี้ เพราะไม่ใช่มนุษย์โซเชียล 555 แต่ของพวกนี้ไม่ได้อยู่แค่ในโซเชียลมีเดียหรอกนะ เซ็งตรงนี้…

มีสไลด์แผ่นหนึ่งที่อิฉันเปิดในคาบแรกเกือบทุกวิชาที่สอน เป็นสไลด์ว่าด้วยองค์ประกอบของวิจัย โดยแบ่งเป็นข้อๆ ว่ามีอะไรบ้าง ในจดหมายนี้ก็คือบรรดาข้อความที่ทำตัวหนาไว้นะคะ นอกจาก literature review และข้อปฏิบัติพื้นฐานอย่างการบรรยายภาพในระดับพื้นผิว (สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา รูปทรงองค์ประกอบ สีสัน อะไรอยู่ตรงไหน หน้าตารูปลักษณ์อย่างไร ฯลฯ) กับการระบุเนื้อหา แนวคิด สไตล์ (ism ทั้งหลาย) ที่ก็ปรากฏในบทความของบาร์เคอร์เช่นกันแล้ว ยังมีข้ออื่นๆ อีกมากมาย นี่น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเอามาเล่าปนแซะชาวบ้านเป็นระยะ อา…ไม่เคยแซะใครให้คุณฟังในรูปของจดหมายเลย โควิด-19 นี่มันช่างก่อ ‘disruption’ ทางการสื่อสารเสียจริง (นี่ก็คำฮิตอีกคำนึง) และจดหมายฉบับนี้ก็เป็นฉบับพิเศษ  คุยกันส่วนตัว แต่เปิดให้สาธารณชนรับรู้ไปด้วยพร้อมกัน private and public เบลอเข้าหากันบนปริมณฑลของอินเตอร์เน็ต ว่าแต่จะมีใครเขาทนอ่านไหมก็ไม่รู้?

บาร์เคอร์เปิดบทความด้วยการให้ข้อมูลว่าใครคือคนซื้อภาพชิ้นนี้ คำถามที่ว่าใครคือลูกค้าของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้าง (commission) หรือการซื้อภาพมีบทบาทอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจงานศิลปะ ข้อมูลแวดล้อมภาพและผู้ซื้อมักเป็นตัวช่วยอธิบายวาระของการทำงาน ภาพนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษอะไรหรือไม่ ทำขึ้นเมื่อไหร่ ใช้วัสดุอะไร ติดตั้งอยู่ที่ไหน เช่น ภาพเปลือยอยู่ในห้องนอน ภาพเดียวกันเวอร์ชั่นไม่เปลือยอยู่ในพื้นที่แบบอื่น

กรณีของ The Plaque of Ashdod นั้นไม่ใช่งานว่าจ้าง แต่เป็นงานขาย ผู้ซื้อคือฟาบริซิโอ วัลกัวเนรา (Fabrizio Valguanera) พ่อค้าชาวซิซิเลียน เขาซื้อภาพนี้กับอีกภาพหนึ่งคือ The Empire of Flora ไปจากสตูดิโอของปูแซ็งในช่วงต้นปี 1631

ซึ่งวัลกัวเนราซื้อภาพไปฟอกเงิน

ในกระบวนการไต่สวนความผิดฐานฟอกเงินของวัลกัวเนรา ปูแซ็งขึ้นให้การโดยเรียกชื่อภาพของตัวเองว่า The Miracle of the Ark at the Temple of Dagon ชื่อนี้ชวนให้คิดในมุมที่ว่า การบันดาลให้เกิดโรคระบาดในหมู่ชาวฟิลิสเตียซึ่งเป็นศัตรูของชาวยิวนั้นเป็น an act of divine ของพระเจ้าที่ยังประโยชน์ให้แก่ชาวยิว โรคระบาดจึงเป็นปาฏิหาริย์ที่มากำจัดศัตรู (พระเจ้าใจร้ายเนอะ)

อย่างไรก็ตาม บาร์เคอร์บอกว่าครั้งนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ภาพถูกเอ่ยถึงในชื่อ “ปาฏิหาริย์” (miracle) เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ภาพเป็นที่รู้จักในชื่อ “กาฬโรค” (plague) สำหรับเรื่องชื่อที่แตกต่างกันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งคือ Christine Boeckl (ขี้เกียจหาวิธีถอดเสียงชื่อแล้ว ขอข้ามอันนึงได้ไหม อันนี้ยากไป) ได้อภิปรายไว้บทความ A New Reading of Nicolas Poussin’s Miracle of the Ark in the Temple of Dagon ตีพิมพ์ใน Artibus et Historiae เมื่อปี 1991

Boeckl ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ชมมักมองภาพฉากนี้ในแง่ความทุกข์มากกว่าชัยชนะ หมายความว่า ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเหยื่อคือชาวฟิลิสเตีย บาร์เคอร์เสนอว่า จุดนี้ล่ะที่น่าจะเป็นการตอบสนองต่อภาพในแบบที่ปูแซ็งตั้งใจไว้ นั่นคือ เขาเขียนภาพเหตุการณ์อันไม่น่าอภิรมย์เพื่อชวนให้คนเกิดความรู้สึกร่วมเห็นอกเห็นใจไปกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

แต่ว่าถ้าเศร้าใจแล้วมันจะไม่ดีนี่…

ก่อนจะเล่าต่อไปว่าบาร์เคอร์ได้ทำการวิเคราะห์ว่าภาพเป็นหรือไม่เป็น harmful image ไว้โดยพิสดารอย่างไรบ้างนั้น อิฉันอยากจะหยุดตรงนี้สักหน่อย เนี่ยๆๆ คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับงานเขียนที่มีมาก่อน การวิเคราะห์ตีความไม่เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและคิดต่อ นี่คือการให้เกียรติทั้ง subject ที่เราเขียนถึงและการทำงานของตัวเอง ถ้าไม่ยอมใช้เวลาศึกษาเรื่องที่ตัวเองอยากจะพูดถึงนักหนา จะรู้ได้อย่างไรว่าไอ้ที่ตัวเองเพิ่งจะคิดขึ้นมานั้น ใหม่จริงหรือชาวโลกเขารู้กันนานแล้ว มีแต่ตัวเองที่ไม่รู้ หรือเพิ่งรู้?

นอกจากงานเขียนของคนอื่นที่มีต่อภาพเขียนชิ้นเดียวกันแล้ว บทความของบาร์เคอร์ยังอ้างอิงงานเขียนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวกับภาพของปูแซ็ง แต่เกี่ยวกับความรู้/ความเชื่อเรื่องโรคระบาดในสมัยนั้น นี่ก็เป็นจุดที่ยากอีกเช่นกัน บริบทของยุคสมัยไม่ได้เป็นของสำเร็จรูปที่ใส่มาง่ายๆ เพื่อเป็นแค่ background ของงานศิลปะ งานเขียนที่ดีย่อมสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าระหว่างชิ้นงานศิลปะกับบริบทที่รายรอบนั้นสัมพันธ์อย่างไร

ขณะเดียวกันบาร์เคอร์ก็ไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบภาพที่เป็นประเด็นกับงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ทั้งของปูแซ็งเองและศิลปินคนอื่นที่ทำงานในหัวข้อเดียวกันหรือคล้ายกัน หลังจากเขียนภาพนี้หลายปี ปูแซ็งได้เขียนภาพการระบาดในโรมอีกภาพหนึ่งคือ Saint Frances of Rome Announcing the End of the Plague in Rome เมื่อปี 1656

 

Nicolas Poussin, Saint Frances of Rome Announcing the End of the Plague in Rome, 1656 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส
Nicolas Poussin, Saint Frances of Rome Announcing the End of the Plague in Rome, 1656 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Poussin_Sainte_Françoise_Romaine_Louvre.jpg

 

ส่วนจิตรกรชาวอิตาเลียนอีกคนหนึ่งคือแองเจโล กาโรเซลลี (Angelo Caroselli) ก็เขียนภาพชื่อ The Plague of Ashdod (After Poussin) ขึ้นในปี 1631

 

Angelo Caroselli, The Plague of Ashdod (after Poussin), 1631 ปัจจุบันอยู่ที่ The National Gallery, ลอนดอน, อังกฤษ https://www.nationalgallery.org.uk/paintings/angelo-caroselli-the-plague-at-ashdod-after-poussin
Angelo Caroselli, The Plague of Ashdod (after Poussin), 1631 ปัจจุบันอยู่ที่ The National Gallery, ลอนดอน, อังกฤษ https://www.nationalgallery.org.uk/paintings/angelo-caroselli-the-plague-at-ashdod-after-poussin

 

(ที่งงคืองานของกาโรเซลลีซึ่งเป็นการคัดลอกภาพของปูแซ็งนั้น ก็เขียนขึ้นโดยการว่าจ้างของวัลกัวเนราที่ซื้อภาพต้นฉบับไปนั่นล่ะ)

อีกจุดหนึ่งที่บทความชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานอย่างละเอียด คือการมองเพื่อแก้โจทย์ของการนำเสนอภาพ ในเมื่ออาการหนึ่งของกาฬโรคที่ปรากฏในพระคัมภีร์อันเป็นตัวบทดั้งเดิมคือ “ฝีในที่ลับ” (tumors in secret parts) แล้วปูแซ็งแสดงภาพคนเป็นกาฬโรคได้อย่างไรโดยไม่ต้องเขียนรูปฝีให้เห็น?

ส่วนนี้ในบทความชวนให้นึกถึงหนังสือ Take A Closer Look ของอาจารย์ที่ปรึกษาผู้ล่วงลับของคุณ คือดาเนียล อาราสส์ (Daniel Arasse) (โชคดีจังที่มีฉบับแปลภาษาอังกฤษเพราะนี่อ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก) การมองอย่างละเอียด อย่างใกล้ชิด อย่างลึกซึ้ง และอย่างมีจินตนาการนั้น แยกไม่ขาดจากการคิดและการเห็น (และที่เหนือขึ้นไปกว่าการเห็น ก็คือการรับรู้)

บาร์เคอร์สาธยายว่าปูแซ็งอาศัยความรู้เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ต่างๆ ของกาฬโรคในยุคของเขา (ที่ไม่ใช่ฝีในที่ลับ) เป็นตัวบอก สิ่งเหล่านั้นได้แก่ ผิวสีดำคล้ำของหญิงชราซึ่งล้มพาดเสาที่หักอยู่บนพื้น กับแม่วัยสาวและทารกที่ล้มอยู่ตรง foreground, ใบหน้าแสดงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนนัยน์ตาเบิกโพลงแบบที่เรียกว่า plague face (facies pestica) ของหญิงชรา, ท่าทางเหนื่อยล้าของชาวหนุ่มคนที่ก้มซบลงกับหัวเข่า และที่สำคัญ การยกแขนขึ้นให้พ้นจากลำตัวของศพแม่กับศพชายหนุ่มอีกคนทางด้านซ้ายสุดของภาพ

ในจุดนี้ การสืบค้นเชิงประติมาน (iconography) ก้าวเข้ามีบทบาท บาร์เคอร์ชี้ให้เห็นว่าปูแซ็งสืบทอดขนบการเขียนภาพกาฬโรคที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยเรอเนซองส์ คือรูปบุคคลยกแขนเห็นรักแร้ (ก็กาฬโรคทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต) อย่างภาพ Saint Dominic Interceding before the Virgin for the Liberation from the Plague (1635)  ของลูโดวิโก เฟอรรารี (Ludovico Ferrari) ศิลปินที่อยู่ร่วมสมัยกัน ก็แสดงรูปหมอยกแขนผู้ป่วยกาฬโรคขึ้นเพื่อตรวจบริเวณรักแร้ ดูจากภาพของปูแซ็งแล้วต้องบอกว่า น้องเด็กทารกอีกคนที่ยังไม่ตาย คนที่นั่งแหมะอยู่ตรงกลางระหว่างเต้านมกับรักแร้ของศพแม่ คงติดกาฬโรคแล้วตายตามไปในไม่ช้า

 

Ludovico Ferrari, Saint Dominic Interceding before the Virgin for the Liberation from the Plague (รายละเอียด), 1635 ปัจจุบันอยู่ที่ Cassa di Risparmio di Padova e Rovigo, ปาดัว, อิตาลี ภาพจากบทความ Poussin, Plague, and Early Modern Medicine โดย Sheila Barker ตีพิมพ์ ใน The Art Bulletin, Vol. 86, No. 4 (Dec., 2004), หน้า 663
Ludovico Ferrari, Saint Dominic Interceding before the Virgin for the Liberation from the Plague (รายละเอียด), 1635 ปัจจุบันอยู่ที่ Cassa di Risparmio di Padova e Rovigo, ปาดัว, อิตาลี ภาพจากบทความ Poussin, Plague, and Early Modern Medicine โดย Sheila Barker ตีพิมพ์ ใน The Art Bulletin, Vol. 86, No. 4 (Dec., 2004), หน้า 663

 

อะไรอีกที่เป็นตัวบอกว่าปูแซ็งมีความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับกาฬโรคในศตวรรษที่ 17? สิ่งนั้นก็คือภาพคนทำท่าปิดจมูกหรือปิดหน้านั่นเอง ท่าทางแบบนั้นคือการป้องกันการระบาดในยุคนั้นที่เชื่อกันว่ากาฬโรคติดต่อกันได้จากการหายใจ กลิ่นไอจากศพหมายถึงพิษ ความตาย ดังที่มีผู้อธิบายไว้ในช่วงการระบาดที่เมืองฟลอเรนซ์ว่า “the stench of the dead kills the living”

แสดงหลักฐานเล่ามายืดยาวขนาดนี้ เชื่อแล้วจ้าว่าปูแซ็งรู้เรื่องทางการแพทย์เกี่ยวกับกาฬโรคในยุคสมัยของเขาดี แต่ถ้าการแพทย์ยุคนั้นบอกว่าความป่วยไข้ทางใจอย่างความกลัว ความสิ้นหวัง ความทุกข์ระทมสัมพันธ์กับความป่วยไข้ทางกาย (อย่างกาฬโรค) แล้ว ปูแซ็งซึ่งก็ไม่น่าพลาดที่จะรู้จักแนวคิดพวกนี้ จะเขียนภาพอันชวนให้สลดหดหู่ขึ้นมาทำไม? หรือศิลปินอยากให้คนป่วยเพิ่ม?

งึมๆ เขียนมาตั้งแยะแล้วทำไมไม่ตอบคำถามสักที? ไหนบอกว่านี่แหละปมปัญหาหลักของบทความ

ต้องบอกว่าบทความของบาร์เคอร์เป็นแบบที่แถวบ้านเรียกว่า ‘slow burn’ ค่ะ ไม่เชิงว่ามัวแต่ขี่ม้าเลียบค่ายนะ คือเจ๊เขาใช้พื้นที่ไปมากในการแจกแจงแสดงให้เห็นว่า หนึ่ง ปูแซ็งเป็นจิตรกรทรงภูมิขนาดไหน (ใครๆ ที่เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะก็รู้ล่ะ แต่อาจจะไม่ค่อยได้สัมผัสมิติทางการแพทย์) และสอง องค์ความรู้ทางการแพทย์สมัยนั้นเป็นอย่างไร สองข้อนี้ล่ะที่นำไปสู่ข้อสงสัยว่า ปูแซ็งจะสร้างภาพที่ดูเหมือนจะเป็น harmful image ไปทำไม? หรือเขาอยากแช่งพวกฟอกเงินอย่างวัลกัวเนรา? แต่ไม่นะ วัลกัวเนราเป็นแค่ลูกค้าที่มาซื้อภาพที่จิตรกรเขียนเสร็จไปก่อนแล้ว

คำตอบที่บาร์เคอร์เสนอ จัดอยู่ในทฤษฎีละครแนวโศกนาฏกรรมของอริสโตเติล (Aristotle) มีหลักฐานอยู่ในงานเขียน Observation on Painting ของปูแซ็งเองว่าเขาคุ้นเคยกับ Poetics ของอริสโตเติล (โดยผ่านงานเขียนของคนอื่นอีกทีอะนะ) สำหรับอริสโตเติล โศกนาฏกรรม (tragedy) สามารถชำระล้างอารมณ์และจิตใจให้ใสสว่าง เมื่อโศกนาฏกรรมเร้าให้เกิดความสยดสยอง ความกลัว ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ สิ่งที่ตามมาคือการประจักษ์แจ้ง (catharsis)

ถ้ามองในมุมนี้ โศกนาฏกรรมก็นำมาซึ่งการเยียวยา ฉาก The Plague of Ashdod ของปูแซ็งจึงเป็นประหนึ่งเวทีละครโศกนาฏกรรม (ดูการจัดการพื้นที่ในภาพสิ อย่างกับฉากละคร) ครอบครัวแม่ลูกอ่อนล้มตายอยู่ตรงหน้า เกือบจะหลุดกรอบภาพเข้ามาในพื้นที่ของผู้ชม ชายหนุ่มที่เอื้อมมือไปแตะหัวทารกคนที่ยังมีชีวิตอาจจะเป็นพ่อของเด็กก็ได้ บุคคลกลุ่มย่อยนี้อยู่ในองค์ประกอบแบบ pyramid ที่ฟอร์มขึ้นจากร่างของแม่ที่นอนอยู่บนพื้น ขนาบข้างด้วยลูกน้อยสองคน คนหนึ่งตาย คนหนึ่งยังอยู่ และพ่อผู้โน้มตัวลงแตะศีรษะลูกที่ยังมีชีวิต ลูกที่จะต้องตายในอนาคตเพราะเกาะอยู่ที่บริเวณรักแร้ (ต่อมน้ำเหลือง) ของแม่ มือพ่อข้างหนึ่งปิดจมูก สุดท้ายเขาอาจจะไม่ตาย แต่ไม่เหลือครอบครัวอยู่เลย

บรรยายภาพเพิ่มความดราม่าให้กับโศกนาฏกรรม เผื่อจะชำระล้างจิตใจขับไล่โควิด-19 ตามหลักการของอริสโตเติล…

ว่าแต่ถ้าย้อนไปถึงไอเดียของอริสโตเติล แล้วมันจะศตวรรษที่ 17 ยังไง?

ก็เพราะว่าถ้าโศกนาฏกรรมสร้าง psychological effect ที่นำไปสู่ catharsis แล้วคนสมัยศตวรรษที่ 17 เชื่อว่าความกลัวสัมพันธ์กับความป่วยไข้ จิตใจที่ได้รับการชำระล้าง (ผ่านการเสพภาพแนวโศกนาฏกรรม ไม่ใช่ว่าผ่านโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง) ก็จะทำให้เราไม่ป่วยง่ายๆ ไง เย้!

สุดท้ายนี้จบยังไงดี จะบอกว่าอ่านมาสองวัน เจอชื่อคนมากมายจากหลากหลายแวดวงและยุคสมัย แต่ไม่รู้สึกแหวะๆ แบบเจอพวก name-dropper เลย 555

[ name-dropper = a person who seeks to impress others by frequently mentioning famous or important persons in a familiar way พวกชอบอ้างชื่อคนดังน่ะค่ะ ]

อย่างที่เราเคยคุยกันอยู่เสมอว่า เราไม่ได้ปฏิเสธมุมมองจากงานวิชาการสาขาอื่น และคนอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีแบบงานประวัติศาสตร์ศิลปะ ใช้แบบอื่นก็ได้ โลกนี้มีสารพัด และเราก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้องค์ความรู้สาขาอื่นในงานประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย

แต่ที่มักจะมองบน กลอกตาสามรอบแปดรอบก่อนร้อง ‘เฮ้อ!’ ดังๆ นั้น เพราะมักเจองานเขียนประเภทฉาบฉวย ตื้นเขิน มักง่าย ไม่ยอมให้เวลาจริงจังกับวัตถุที่เขียนถึง (จะด้วยมุมมองอะไรก็ตามแต่) มือไม่ถึง เ ด๋ อ …

[ ไม่ได้หมายรวมถึงการเขียนถึงศิลปะแบบลำลองนะคะ ไม่ใช่ทุกคนต้องเขียนถึงศิลปะแบบวิชาการ แต่หมายถึงอีก category นึงน่ะค่ะ ]

งานเขียนพวกนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้กำลังเขียนถึงศิลปะจริงๆ หรอก แต่แค่เอาศิลปะไปเป็นภาพประกอบความคิดอะไรสักอย่างของตัวเอง (หรือที่เห่ยกว่านั้นคือ ความคิดของคนอื่นที่ตัวเองไปเรียบเรียงมาอีกที ไอ้ที่คุณเรียกว่า ‘ความคิดสำเนา’ นั่นล่ะ) งานประเภทอ้างชื่อนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ แต่ใส่มาแค่อะไรพื้นๆ แบบคนธรรมดาก็คิดได้ ไม่ต้องเป็นแดร์ริดา, ลากอง, บาดิยู, ร็องซีแยร์ หรือ whoever ที่กำลังฮิตอยู่ก็คิดได้ (ใครอีกบ้างนะที่กำลังฮิตตอนนี้ บอริส กรอย? ฮิโต สเตเยิร์ล? ส่วนฟูโกต์เหมือนเลิกฮิตนานแล้ว) ไอ้ประเภท “ศิลปะควรกระตุ้นให้เกิดการคิด” น่ะ เฮ้อ… มันไม่ได้สะท้อนสติปัญญาอะไรของผู้อ้าง นอกจากว่าเป็นพวก name-dropper แถมอาจจะบ้าคำคม…

สงสารนักคิดเหล่านั้นจังนะที่แบบว่าอุตส่าห์อ่านมาแล้ว นี่คือสาระที่พวกเธอได้เหรอ ฉันเขียนตั้งนาน…

เนี่ย สอนกันมาให้เป็น snob 555 (ว่าแต่แบบนี้คือ snob จริงเหรอ ไหนทุกคนบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ นี่ก็ทำอยู่ ก็ไม่เห็นว่าดีแล้วจะให้ชมยังไง?) ไม่ได้มีแต่คุณหรอกนะที่สอนอิฉันแบบนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาสมัย ป.เอกผู้สาบสูญก็สอนมาแบบนี้แหละ (อ๊า ไม่ตอบอีเมล์ซึ่งเป็นเมล์มหาลัย หรือหลังจาก early retired แล้วเลิกใช้ทุกอย่าง กลับบ้านเกิดที่ไซปรัส? แต่ป้าลอรา มัลวีย์ (นี่แน่ะ drop name บ้างซะเลย) ที่เพิ่งเจอเมื่อเดือนที่แล้วก็บอกนะว่า “No one can leave Birkbeck.” หืม? เหรอ!?!)

ครั้งแรกที่เจอกันกลางฤดูหนาวปี 2011 ในห้องทำงานที่แคบยาวเหมือนถ้ำ เขาบอกว่าการเรียน ป.เอก คือ life in solitude คือการใช้ชีวิตอันสันโดษ สี่ปีที่ทำงานด้วยกันไม่ได้สนิทอะไรกันมาก เป็นความสัมพันธ์ที่มีระยะห่าง ไม่เม้ามอยเหมือนพวกเรา

แต่สิ่งที่พ้องกันคือคำชี้แนะในการทำงาน ความสำคัญของการ engage กับวัตถุที่เราเลือกศึกษา ความระมัดระวังที่จะไม่ลดทอนงานศิลปะเป็นภาพประกอบทฤษฎี (Oh! Many people do that, but it is not right.)

 

จนกว่าเราจะพบกันอีกครั้งเมื่อโลกสงบสุข

ไม่ลงชื่อ (เหมือนเวลาเขียนอีเมล์)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save