fbpx
#WhatsHappeninginThailand: เมื่อการเมืองออนไลน์ลงสู่ท้องถนน – สุรัชนี ศรีใย

#WhatsHappeninginThailand: เมื่อการเมืองออนไลน์ลงสู่ท้องถนน – สุรัชนี ศรีใย

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองอันร้อนระอุบนโลกออนไลน์ ท้ายที่สุด กระแสการเมืองบนโลกทวิตเตอร์ปะทุออกมากลายเป็นคลื่นยักษ์ทางการเมือง กระหน่ำออกมาสู่รั้วมหาวิทยาลัยและท้องถนนราชดำเนินอย่างไม่ขาดสาย จนการประท้วง #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 กลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดหลังการรัฐประหาร คสช. ปี 2557

ตั้งแต่ #เยาวชนปลดแอก #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล #ม็อบแฮมทาโร่ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน จนถึง #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ พลังมวลชนทั้ง ‘ออนไลน์’ และ ‘ออฟไลน์’ ต่างขยับเพดานการต่อรองกับรัฐจนออกมาในรูปของ ‘3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน’ และ ‘10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์’

แต่บนเส้นทางแห่งความหวังครั้งนี้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในโลก ‘ออนไลน์’ และ ‘ออฟไลน์’ เดินมาถึงตรงจุดไหนของเส้นทางการต่อสู้แล้ว? โลกสองโลกทำงานอย่างไรในสนามการเมืองไทยกันแน่เมื่อเส้นแบ่งทั้งสองโลกเริ่มเลือนราง?

สำหรับ สุรัชนี ศรีใย นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาการเมืองและการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ มองว่าโลกสองโลกนี้แยกออกจากกันไม่ขาด

“…ต้องตั้งคำถามก่อนว่า การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์กับการเคลื่อนไหวบนถนนเป็นสิ่งเดียวกันหรือแยกจากกัน เรามองว่าการเคลื่อนไหวสองอย่างนี้ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว เพียงแค่ว่าเป็นสองโลกที่เกี่ยวพันกัน”

ในโมงยามแห่งการเมืองอันร้อนแรง 101 ชวน อ.ดร. สุรัชนี ศรีใย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนทนาว่าด้วยที่ทางของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการเมืองแห่งการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งชวนอ่านดุลอำนาจระหว่างม็อบและรัฐบาล

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ส.ค. และวันที่ 17 ส.ค. 2563

สุรัชนี ศรีใย

คุณทำความเข้าใจการเมืองในโลกออนไลน์อย่างไร

ก่อนหน้านั้นที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง Weaving the Web: An Analysis of Internet, Mobilization, and Contentious Political Movements เราตั้งคำถามวิจัยไว้ว่า ‘โซเชียลมีเดียมีบทบาทในการชุมนุมประท้วงอย่างไรบ้าง’ ซึ่งการชุมนุมประท้วงที่ลงไปศึกษาคือเฉพาะกรณีที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากรัฐบาล (contentious movement)

สาเหตุที่ว่าทำไมต้องเป็นโซเชียลมีเดีย เพราะข้อมูลสถิติชี้ว่าทั่วโลกมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ในขณะเดียวกันแนวโน้มการชุมนุมประท้วง การจลาจล การนัดหยุดงานทั่วโลกก็เพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน เลยสงสัยว่าทั้งสองแนวโน้มที่มีทิศทางไปในทางเดียวกันมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร

งานวิจัยเราใช้กรณีศึกษาการใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงขบวนการ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) พยายามจะทำความเข้าใจว่าขบวนการใช้ยุทธศาสตร์แบบไหนในการเคลื่อนไหว โดยมองผ่านกรอบทฤษฎีเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) อย่างเช่น Framing Theory หรือ Resource Mobilization Theory แต่เน้นการมองขบวนการผ่านทฤษฎีโครงสร้างทางโอกาส (Opportunity Structure Theory)

ทฤษฎีโครงสร้างทางโอกาสอธิบายการขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไรบ้าง

ในทางทฤษฎี โครงสร้างทางโอกาสถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดว่า ขบวนการเคลื่อนไหวจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะมันนำไปสู่การประเมินยุทธศาสตร์ของขบวนการว่าจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อรับมือและสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลอย่างไร

ทฤษฎีโครงสร้างโอกาสมีฐานมาจากทฤษฎี Rational Choice ที่มีสมมติฐานหลักว่า ก่อนคุณจะตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่าง คุณต้องประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์แล้วว่าหากลงมือทำไปจะได้อะไรกลับมาคุ้มกับที่เสี่ยงไปหรือไม่ เช่น ถ้ามองในมุมของคนที่อยากออกไปชุมนุม ก็ต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกสลายการชุมนุมไหม ถ้าประเมินแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย คุณก็จะไม่ออกไป

และเมื่อนำสมมติฐานที่ว่านี้มาผูกกับโครงสร้างทางโอกาส ซึ่งเป็นโครงสร้างภายนอกว่ากำลังต่อรองกับใครอยู่ อย่างในบริบทของการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็คือกำลังต่อรองกับรัฐ ก็ต้องประเมินแล้วว่าเรากำลังต่อรองอยู่กับรัฐที่พร้อมจะใช้กำลังกับประชาชนหรือพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอและเจรจา ซึ่งตรงนี้ยังไม่พูดถึงนะว่ารัฐที่ว่านี้มีระบอบการปกครองรูปแบบไหน สมมติเป็นรัฐที่พร้อมจะใช้กำลัง ความเสี่ยงภายนอกที่ต้องนำไปประเมินก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากออกไปเป็นแนวหน้าที่เผชิญความรุนแรง แต่สมมติว่าถ้าประเมินสถานการณ์แล้วรัฐมีท่าทีที่พร้อมจะเจรจา มีความเสี่ยงต่ำ คนอาจพร้อมออกไปชุมนุมยิ่งขึ้น

แล้วระบอบการปกครองมีผลต่อโครงสร้างทางโอกาสหรือเปล่า

ฝั่งรัฐก็มีการประเมินโครงสร้างทางโอกาสเหมือนกันว่าถ้าต้องเผชิญกับการประท้วงแล้วจะวางท่าทีอย่างไร หากเลือกแบบนี้จะเสียอะไรบ้าง หรือรักษาอะไรไว้ได้บ้าง แน่นอนว่าประเภทของระบอบการปกครองมีผลต่อเครื่องมือที่รัฐเลือกใช้ตอบสนองประชาชน

ลองคิดแค่รูปแบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการ ซึ่งเป็นสองขั้วตรงข้ามกัน แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมฟังเสียงของประชาชนมากกว่า แนวโน้มที่จะเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือก็น้อยกว่า ในขณะที่ระบอบเผด็จการที่รัฐไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงของประชาชนก็ได้ แต่การไม่ฟังเสียงประชาชนก็ทำให้ระบอบมีความเสี่ยงสูงเหมือนกันเมื่อโดนล้ม เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลังจากเผด็จการถูกโค่นล้ม ส่วนมากจะนำไปสู่การติดคุกหรือการเสียชีวิตของผู้นำ เพราะฉะนั้น รัฐเผด็จการต้องเลือกยุทธศาสตร์ที่จะรักษาอำนาจของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้กำลังก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในโลกจริงการแบ่งขั้วระบบการปกครองไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น แต่สามารถจัดเฉดได้ว่าอยู่ใกล้ทางไหนมากกว่า ก็ต้องเริ่มวิเคราะห์จากตรงนั้น เช่น ถ้าพูดระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ส่วนตัวมองว่าจริงๆ ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ต่างไปจากระบอบเผด็จการมากนัก แค่มีฉากหน้าเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

นอกจากโครงสร้างทางโอกาสภายนอกแล้ว มีเงื่อนไขภายในอะไรจากขบวนการเองที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จ

ต้องขอย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าแต่ละขบวนการนิยามว่าอะไรคือ ‘ความสำเร็จ’ ในการเคลื่อนไหว

แต่ละขบวนการนิยามความสำเร็จไม่เหมือนกัน สำหรับบางขบวนการ แค่สามารถระดมมวลชนออกมาร่วมได้ก็อาจเรียกว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่สำหรับบางขบวนการแค่นั้นอาจไม่พอ ต้องให้เกิด ‘ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง’ (political change) ด้วย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ แต่ละขบวนการก็แตกต่างกันไปอีกว่า ต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับไหน หากเป็นเพียงข้อเสนอเชิงนโยบาย โอกาสที่รัฐจะยอมเจรจาก็มากกว่า แต่ถ้าเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อย่างเช่นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจจะยากกว่าถ้าเทียบกับข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นมันเลยพูดยากว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะประสบความสำเร็จ

ถ้าให้ตอบแบบนักรัฐศาสตร์ ตัวขบวนการเองต้องสร้างข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอที่ชัดเจนว่ากำลังเรียกร้องอะไรอยู่ ต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่าความเปลี่ยนแปลงที่เรียกร้องมาจะนำไปสู่อะไร ต้องมียุทธศาสตร์ในการระดมและโน้มน้าวคนให้เห็นด้วยและออกมาเข้าร่วม และเมื่อเริ่มดึงมวลชนออกมาได้ก็ต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ร่วม เพื่อให้สารที่ขบวนการต้องการจะสื่อออกไปชัดเจนขึ้น และนำไปสู่การนัดหมายชุมนุม แต่ท้ายที่สุดแล้วข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

พอมีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามาแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเปลี่ยนโฉมไปบ้างไหม

อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยให้คนเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น ขับเคลื่อนมวลชน ระดมให้คนที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวออกมาง่ายขึ้น ประสานการนัดหมายรวมตัวกันง่ายขึ้น นอกจากนี้ก็ช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น เพราะการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ มีข้อมูลที่หลากหลาย และข้อมูลก็ถูกเซ็นเซอร์ยากขึ้นเมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ

แล้วภายใต้เงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพ?

ถ้ามองจากโครงสร้างรัฐ ปัจจัยหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ

อันดับแรกเลยคือ ประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตย การระดมมวลชนผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะทำได้ง่ายกว่า เพราะระบอบประชาธิปไตยผูกโยงกับ ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ ในหลายมิติ เช่น เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการรวมตัว ซึ่งเสรีภาพเหล่านี้จะทำให้ความเสี่ยงในการออกมารวมตัวต่ำลงเมื่อประเมินแล้ว

นอกจากนี้ ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจของฝ่ายบริหารจะถูกจำกัด มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ทำให้ไม่สามารถใช้กำลังกับประชาชนได้ คนก็จะรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าในการออกมาแสดงออก และแน่นอนว่ารัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมฟังเสียงของประชาชน ซึ่งต่างจากประเทศเผด็จการ เพราะฉะนั้น แนวโน้มที่การเคลื่อนไหวจะประสบความสำเร็จในการต่อรองกับรัฐบาลจะมีสูงกว่า

อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ สถานะของประเทศนั้นๆ ในประชาคมโลกว่าเป็นประเทศที่ประชาคมโลกจับตามองหรือไม่ (international audiences) หากมองในมุมของรัฐ รัฐย่อมต้องการยุติการชุมนุมให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด หากเป็นประเทศที่โลกไม่ค่อยจับตามองเท่าไหร่ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ความรุนแรงมากกว่าที่จะลงมาเจรจาต่อรอง เพราะฉะนั้น ถ้าประเมินแล้วว่าเสี่ยง คนก็เลือกที่จะไม่ออกมา อย่างจีนแม้ว่าจะเป็นประเทศเผด็จการ มีเครื่องมือ มีวิธีคุกคามโดยตรงหลายวิธีมาก ตามไปฆ่าคนที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศก็ทำมาแล้วในอดีต มาตอนนี้เมื่อจีนมีตำแหน่งแห่งที่ในประชาคมโลก มีเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องระวัง วิธีการที่ใช้คุกคามคนที่ต่อต้านรัฐบาลก็เปลี่ยนไป คือเลือกที่จะใช้การข่มขู่หรือใช้กฎหมายในการจัดการมากกว่า เพราะทั่วโลกจับตาจีนอยู่

ถ้าถามว่าเงื่อนไขในไทยคืออะไร ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า ตอนนี้ไทยปกครองด้วยระบอบอะไร แล้วไทยอยู่ในสถานะที่ทั่วโลกจับตามองหรือไม่ เราจึงจะสามารถประเมินกันต่อไปได้ว่าบริบทเหล่านี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างไร

สุรัชนี ศรีใย

แล้วถ้ามองปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ #เยาวชนปลดแอก #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล #ม็อบแฮมทาโร่ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน สู่การประท้วง #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ จาก ‘เงื่อนไขภายใน’ ของตัวขบวนการเอง เมื่อมองผ่านสายตาของคนที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวออนไลน์ คุณมองเห็นอะไร

ถ้าเทียบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล #ม็อบแฮมทาโร่ และจนถึง #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการประท้วง เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เราน่าจะเห็นต่างไปจากนักวิชาการท่านอื่นๆ คือ เรามองว่ายุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวยังไม่ชัดเจนพอ และเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากขั้นหนึ่งไปอีกขั้นหนึ่งเร็วไป

ถ้าให้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวในช่วงก่อนวันที่ 16 ส.ค. มองว่าอยู่ในขั้นที่พยายามประสานแล้วว่าจะไปชุมนุมกันที่ไหน แม้ว่าจุดร่วมของคนที่มาร่วมชุมนุมประท้วงอยู่ตรงที่ว่าเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการก็จริง แต่ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเองก็มีการนัดชุมนุมย่อยของกลุ่มต่างๆ ทำให้ส่งสารหลัก (key message) ได้ไม่ชัดเจนพอ และมีอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างเกาะกันเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่นม็อบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือม็อบ pop culture แต่ละขบวนการก็พยายามจะประสานให้มีการชุมนุมของกลุ่มตัวเองแยกกัน โดยที่ยังระดมพลและชักชวนให้คนนอกเห็นด้วยว่าทำไมต้องเข้าร่วมได้มากไม่พอ ซึ่งอาจเกิดจากการประเมินกระแสจากโลกออนไลน์ว่าทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันแล้ว จึงยังส่งสารออกไปว่าขบวนการโดยภาพรวมมีเป้าหมายร่วมว่าเคลื่อนไหวอะไรได้ไม่ชัดเจน รวมทั้งการที่ไม่มีผู้นำขบวนการที่คอยกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่ไปในทิศทางเดียวกัน

แต่หลังจากการประท้วง #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ทิศทางของการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นมาก การรวบรวมประเด็นและส่งสารออกไปว่าข้อเรียกร้องที่รวมอยู่ในการเคลื่อนไหวมีอะไรบ้างได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ที่ท้าทายของม็อบคือ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับสังคมไทยในภาพใหญ่ ในด้านหนึ่ง ความแหลมคมทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สื่อสารยาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนเพียงพอจะนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนซึ่งอาจส่งผลเสียหลายอย่างต่อขบวนการได้

ลองเปรียบเทียบกับประเด็นอื่นจะเห็นภาพชัดขึ้น เช่น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นเก่าที่เคยวนเวียนอยู่ในพื้นที่การถกเถียงอยู่แล้ว เวลานำเสนอเลยทำได้ง่ายและชัดเจน แต่ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีความก้าวหน้ามาก และเป็นครั้งแรกๆ ที่นำมาถกเถียงกันในที่พื้นที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา จำเป็นจะต้องวางจุดยืนและวิธีนำเสนอให้รัดกุม คนที่ติดตามการเมืองหรือคนรุ่นใหม่ที่ติดตามกระแสการเมืองโซเชียลมีเดียน่าจะเข้าใจประเด็นนี้ดีอยู่แล้วก็จริง แต่ถ้าจะนำเสนอประเด็นให้กับคนที่ไม่ได้ติดตามกระแสการเมือง คนที่ยังลังเล หรือไม่ได้มีแนวโน้มจะเห็นด้วยแต่แรกอยู่แล้ว อาจจะต้องหาวิธีส่งสารที่เข้าถึงคนได้มากกว่านี้ เพราะว่าถ้าคนเข้าใจผิดไปแล้ว ก็จะระดมมวลชนให้มาเข้าร่วมยาก คนอาจจะรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปที่จะเข้าร่วม

หากมองจากกรอบคิดทางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว การนำเสนอประเด็นนี้ต้องคิดให้ละเอียด ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารต่อกลุ่ม โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่แสดงจุดยืน (silent majority) เพราะมันส่งผลต่อตัวขบวนการ และความเป็นไปได้ในการที่จะก้าวสู่การเรียกร้องในขั้นต่อไป ตอนนี้ขบวนการพร้อมที่จะนัดหมายให้คนออกมาอย่างรวดเร็วแล้วก็จริง แต่กลุ่มคนที่ออกไปร่วมม็อบตอนนี้ก็ยังเป็นคนที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องอัตลักษณ์ร่วม เรามองว่าขบวนการสามารถสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันได้ชัดเจนกว่าก่อนหน้านี้ว่านี่คือ ‘ขบวนการเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ให้คุณค่ากับความหลากหลาย’ จะเห็นว่ามีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทางการเมืองและสังคมหลายกลุ่มมารวมกัน ทั้งกลุ่มเฟมินิสต์ กลุ่ม LGBTQ กลุ่ม PerMAS หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ก็ได้รับการทำความเข้าใจใหม่

ถ้ามองจากโครงสร้างทางโอกาสของทั้งทางฝ่ายรัฐบาลและม็อบ ตั้งแต่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะประชาชนปลดแอกจนถึงการขยับเพดานเรื่องปฏิรูปสถาบันที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ละครั้งที่ม็อบ ‘เดินหมาก’  มันเปลี่ยนโครงสร้างแห่งโอกาสอย่างไรบ้าง

ตั้งต้นก่อนว่าโครงสร้างทางโอกาสระหว่างรัฐบาลและม็อบตอนนี้ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดุลมันเอื้อไปทางรัฐบาลมากกว่า แต่แน่นอนว่าในอนาคตโครงสร้างทางโอกาสก็เปลี่ยนได้ทั้งสองฝั่ง

ถ้าลองสวมหมวกเป็นคนมีอำนาจในรัฐบาลอาจช่วยให้เห็นชัดขึ้นว่า รัฐประเมินการเคลื่อนไหวของขบวนการอย่างไร แน่นอนว่ารัฐบาลมองข้อเรียกร้องของม็อบเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อความมั่นคงของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ก็วางท่าทีตอบสนองต่อแต่ละข้อต่างกันไป

เริ่มจาก 3 ข้อเรียกร้องก่อน อย่างข้อเรียกร้องที่ให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ก็น่าจะยากแม้ว่าจะยังไม่มีท่าทีอะไรออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ข้อที่ดูเหมือนว่าน่าจะทำได้เลยอย่างหยุดคุกคามประชาชน แต่ถ้าดูจากที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐจะยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าคำว่า ‘คุกคาม’ นี่หมายถึงอะไร แค่ไหนที่เรียกคุกคาม ส่วนข้อที่ดูจะมีความหวังมากที่สุดในการเจรจาคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เปิดช่องให้ตั้งคำถามได้อีกว่าในอนาคตใครจะเป็นคนร่าง แล้วใครคือคนที่มีอำนาจในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนี้รัฐบาลเลยเลือกที่จะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งหากประเมินดูก็ทำเพื่อลดแรงกดดันมากกว่าที่จะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อเขย่าดุลของโครงสร้างทางโอกาสอย่างมาก รัฐมีแนวโน้มจะมองว่าขบวนการเป็นภัยคุกคามมากขึ้น อย่าลืมว่าด้วยกฎหมายที่รัฐมีอยู่ในมือ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังไม่ประกาศยกเลิกทำให้รัฐมีเครื่องมือที่พร้อมอยู่แล้ว แต่ตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่ทำ กลับเลือกวิธีการใช้กฎหมายเล่นงานแกนนำแทน

ส่วนทางฝั่งม็อบ โครงสร้างทางโอกาสจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อสามารถสื่อสารข้อเสนอไปยังมวลชนและสามารถดึงมวลชนออกมาให้ออกมาแล้วกดดันรัฐบาลนานๆ โจทย์ที่น่าคิดคือ การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบที่ออกมาไม่นานก็แยกย้าย แต่มากันเป็นจำนวนมาก จะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลมากขนาดไหน หากไม่ได้ผล การประท้วงยาวๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด เพราะการระดมมวลชนในแนวระนาบผ่านโซเชียลมีเดียไม่ได้เชื่อมคนที่มีความเป็นอันเดียวกันหรือมี commitment ต่อกันสูงมาก หรือพอมีเรื่องเวลาและทรัพยากรที่ต้องอยู่นานขึ้นเข้ามาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ ก็อาจทำให้คนออกมายากขึ้น

‘แฟลชม็อบ’ กับ ‘การปักหลักยาวๆ’ ให้ผลต่างกัน?

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลย ความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่จะได้กลับมาระหว่างการไปแฟลชม็อบกับลงถนนปักหลักยาวๆ นั้นไม่เท่ากัน ที่จริงความเสี่ยงขึ้นอยู่กับประเด็นที่เรียกร้องด้วย แต่ตามปกติแฟลชม็อบมีอำนาจต่อรองไม่มากเท่าการลงถนนที่ชุมนุมกดดันด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้น ซึ่งทำให้ผลตอบแทน (โอกาสที่ข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง) ที่จะได้กลับมาก็อาจมากไม่เท่าการลงถนน

แต่ถ้าถามว่าความเข้มข้นของการประท้วงตั้งแต่เดือนมีนาจนถึงตอนนี้เพิ่มขึ้นไหม แน่นอนว่าข้อเรียกร้องก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้ว การมีส่วนร่วมของมวลชนก็เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ไม่จำกัดว่าขบวนการเป็นเพียงแค่ของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

มองในเชิงยุทธศาสตร์ ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยน่าจะเสริมอะไรเข้าไปอีก

ต้องขอออกตัวว่า นี่คือการให้ความเห็นในฐานะผู้สังเกตการณ์ แล้วก็มีชุดประสบการณ์แบบหนึ่ง

ในการต่อรองข้อเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีการให้รายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ว่ามีข้อเสนออะไรในร่างรัฐธรรมนูญบ้าง แล้วใครต้องเป็นคนร่าง หากไม่ลงรายละเอียดข้อเสนอที่ชัดเจนมากกว่านี้ ก็ยากที่จะวางยุทธศาสตร์ต่อรองกับรัฐ

นอกจากการเสนอข้อเรียกร้องให้เข้าเป้า หากจะดึงคนให้เห็นด้วยและร่วมเคลื่อนไหวมากขึ้น อาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าคนที่มีค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่คนที่ไม่สมาทานประชาธิปไตยเสมอไป เขาอาจเห็นด้วยกับทั้งสองอย่างพร้อมกัน และอาจเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ต่างออกไป ต้องระวังการผลักคนกลุ่มนี้ออกไปจากการเคลื่อนไหว แทนที่จะดึงเขาเข้าช่วยกันขับเคลื่อนประชาธิปไตยและข้อเรียกร้องต่างๆ

ท้ายที่สุดแล้ว อาจคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนไม่ได้ #ให้มันจบที่รุ่นเรา อาจจะยาวนานกว่าที่คิด หรืออาจจะไม่ได้จบที่รุ่นเราเลยก็ได้ แต่เรายังสามารถมีความหวังยาวๆ ต่อไปได้

การที่ขบวนการเคลื่อนไหวแนวระนาบไม่มีผู้นำที่ชัดเจน มีข้อดีบ้างไหม

ข้อดีคือทุกคนเท่ากันหมด ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ ในทางรัฐศาสตร์ การเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขับเคลื่อนผ่านโซเชียลมีเดียนั้นเป็นขบวนการแนวระนาบที่ไม่มีผู้นำชัดเจนโดยธรรมชาติอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า loose and leaderless movement เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่จะผู้ชุมนุมถูกรัฐไล่ตามก็ต่ำลงพอสมควร

เรามองการโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียว่าไปชุมนุมหรือลงคอนเทนต์เกี่ยวกับการชุมนุมเป็นการระดมพลหรือชักชวนให้คนเห็นด้วยได้ไหม

มองได้ แต่ก็ต้องตระหนักด้วยกว่าส่วนมากเรามักจะลงในแอคเค้าท์ส่วนตัว ลงใน IG story ซึ่งก็จะเห็นอยู่แค่ในวงเพื่อน หรือหากแสดงความเห็นทางการเมืองในทวิตเตอร์ ก็จะแสดงความเห็นแบบไม่ใช้ชื่อจริง เพราะก็ต้องระวัง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น การชักชวนระดมพลผ่านช่องทางส่วนตัวอาจกลายเป็นเพียงการชักชวนอยู่ในแวดวงของคนที่คิดเหมือนๆ กันหรือเห็นด้วยอยู่แล้ว

ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้จะบอกว่าการอ้างบังคับใช้กฎหมายของรัฐเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม แต่ต่อให้ไม่ชอบธรรมอย่างไร รัฐก็ใช้ช่องว่างเชิงกลไกนี้เป็นเครื่องมือได้

สุรัชนี ศรีใย

มองเห็นอะไรใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ครั้งนี้บ้าง

มองในมุมยุทธศาสตร์การสื่อสารทางการเมือง ถ้าเทียบกับการใช้เฟซบุ๊กในการเชื่อมต่อรวมตัวของ กปปส. ปี 2013-2014 สิ่งที่พบคือการระดมมวลชนไปสู่การนัดหมายชุมนุมมีขั้นตอนดำเนินการอย่างชัดเจน คือพยายามส่งสารออกไปให้คนเริ่มสนใจว่าเริ่มมีขบวนการแล้ว จากนั้นค่อยกระจายข้อมูล ชักจูงและระดมมวลชนให้เห็นด้วยว่าต้องออกมา และใช้โซเชียลมีเดียประสานนัดหมายชุมนุม มีการสื่อสารข้อความหลักทางการเมืองอย่างชัดเจนว่าออกมาเพื่อ ‘กู้ชาติ’ ซึ่งเป็นวาทกรรมแบบชาตินิยม เข้าถึงคนได้มาก แล้วใช้เฟซบุ๊กขยายต่อยอด กระพือข่าวประเด็นการทุจริตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และวาทกรรมรัฐบาลหุ่นเชิดทักษิณจาก ASTV หรือ Bluesky อีกเงื่อนไขหนึ่งที่เอื้อให้ขบวนการและต่างจากสมัยนี้คือ สมัยนั้นรัฐบาลมีนโยบายอินเทอร์เน็ตที่เสรีกว่า

แต่ถ้าเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวออนไลน์ในต่างประเทศยุคก่อนๆ เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่านักกิจกรรมจะเลือกใช้แพลตฟอร์มตามเป้าประสงค์ที่ต่างกันไปอย่างชัดเจนว่าใช้แพลตฟอร์มแบบไหน เพื่อสื่อสารอะไร อย่างตอน Arab Spring มีนักกิจกรรมคนหนึ่งพูดไว้อย่างชัดเจนว่า เขาใช้เฟซบุ๊กเพื่อระดมมวลชนให้เห็นพ้องกับขบวนการ ใช้ทวิตเตอร์ประสานกับคนที่เข้าร่วมขบวนการและออกมาลงถนนแล้ว และใช้ยูทูบเผยแพร่วิดีโอว่ารัฐใช้ความรุนแรงอย่างไรบ้างเพื่อดึงความสนใจและสายตาจากต่างประเทศ

แต่ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นไม่ชัดแล้วว่าลักษณะของแพลตฟอร์มมีผลต่อยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหว เพราะคนรุ่นใหม่ที่แอคทีฟทางการเมืองเป็นประชากรยุคดิจิทัลโดยกำเนิด (digital natives) สามารถใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างลื่นไหล ใช้เนื้อหาเดียวกันโพสต์ข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งมีข้อดีคือมันทำให้เนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสารออกไปมีความสม่ำเสมอและตรงกัน แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์เฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์มเท่าสมัยก่อน

อีกอย่างที่ชัดเจนมากเลยคือเรื่องอารมณ์ขันของคนรุ่นใหม่ ทำการเมืองให้เป็นทั้งเรื่องตลกเสียดสีเจ็บแสบและทำให้การเมืองเข้าถึงง่ายขึ้นมาก แฮชแท็กแต่ละอันที่ปั่นขึ้นเทรนด์นี่สร้างสรรค์มาก แล้วก็เฉียบแหลมตรงที่บางแฮชแท็กคือถ้าเห็นแล้ว ‘เก็ต’ ก็จะ ‘เก็ต’ เลย อย่าง #อตอห หรือ #ผนงรจตกม บรรยากาศการประท้วงครั้งนี้ก็ไม่เหมือนภาพการประท้วงครั้งเก่าๆ ที่ดูเครียด บรรยากาศครั้งนี้มันสนุก ซึ่งถ้าเทียบกับ Arab Spring หรือฮ่องกงที่ค่อนข้างเครียด

ข้อดีของการทำการเมืองให้ ‘อร่อยย่อยง่าย’ ก็คือสามารถดึงดูดคนให้หันมาสนใจได้มากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ข้อด้อยของมันก็คืออาจจะไปลดทอนความเข้มข้นของประเด็นหรือข้อเรียกร้องไป

 

ท้ายที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกออนไลน์สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ เคยมีขบวนการเคลื่อนไหวออนไลน์ไหนในโลกที่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า?

อันดับแรกเราต้องกลับไปตั้งคำถามก่อนว่า การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์กับการเคลื่อนไหวบนถนนเป็นสิ่งเดียวกันหรือแยกจากกัน ส่วนตัวมองว่าการเคลื่อนไหวสองอย่างนี้ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว เพียงแค่ว่าเป็นสองโลกที่เกี่ยวพันกัน หากเทียบว่าเป็นแผนภาพเวนน์ ก็จะเป็นส่วนตรงกลางของวงกลมที่ซ้อนกันอยู่ 2 วง และเท่าที่ศึกษามา ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวครั้งไหนที่เคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์อย่างเดียวโดยไม่มีการระดมมวลชนออกมาในโลกจริง

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนว่า มักถูกใช้เพื่อการสร้างความตระหนักรู้ ให้ข้อมูล ระดมพล และนัดหมายการชุมนุมมากกว่าเพื่อสร้างแรงกดดันโดยตรงต่อรัฐ

ถ้าถามว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มจากโลกออนไลน์สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม หากความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าในระดับที่มากหรือน้อยก็ตาม คำตอบที่ได้จากเราอาจฟังดูสิ้นหวังคือ ยังไม่มีขบวนการไหนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างยั่งยืนเลย

ยกตัวอย่างเช่นขบวนการ Arab Spring ปี 2011 ที่เป็นต้นแบบของการนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ท้ายที่สุดก็หวนคืนสู่ระบอบเผด็จการ อย่างที่อียิปต์ก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย แต่กลับได้ประธานาธิบดี al-Sisi ที่กดปราบฝ่ายตรงข้ามเหมือนกับระบอบเผด็จการก่อนปฏิวัติ Arab Spring หรืออย่างในลิเบียก็เกิดสงครามกลางเมือง ในบาห์เรนรุนแรงถึงขั้นมีการปราบฝ่ายต่อต้านร้ฐบาล

กรณีการประท้วงในฮ่องกงปี 2019 ที่เป็นโมเดลของการประท้วงหลายๆ ที่และดูเหมือนจะมีหวังในการต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในช่วงปลายปี 2019 ท้ายที่สุดจีนก็ผ่านกฎหมายออกมาเมื่อกลางปี 2020 จนแกนนำต้องสลายตัวและลี้ภัยออกนอกประเทศ แม้ว่าอาจจะเทียบกับกรณีอื่นๆ ยากเพราะโครงสร้างทางการเมืองของจีน-ฮ่องกงเป็นแบบหนึ่งประเทศ-สองระบบ แต่กรณีนี้ก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐที่เข้มแข็งแบบจีนพร้อมที่จะเลือกกฎหมายเป็นเครื่องมือบีบบังคับขบวนการประท้วงในฮ่องกง

เราถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากประเทศเหล่านี้

อย่างหนึ่งที่ขบวนการประท้วงในฮ่องกงทำได้ดีในโลกออนไลน์ คือใช้ยุทธวิธีดึงความสนใจจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจหรือสื่อต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอำนาจต่อรอง อย่างเมื่อช่วงปลายปี 2019 เวลากลุ่มแกนนำนักศึกษาในฮ่องกงใช้ทวิตเตอร์ ก็จะ mention บัญชีทวิตเตอร์สำนักข่าวต่างประเทศ หรือสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในการผ่านกฎหมาย Hong Kong Human Rights and Democracy Act ซึ่งเป็นกฎหมายพยายามจะประกันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรจีน

พยายามใช้ spotlight จากประเทศอื่นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่แกนนำและขบวนการ ทำให้รัฐอาจจำต้องปรับท่าทีว่าควรจะตอบสนองต่อม็อบอย่างไร รัฐจึงจะไม่เสียเพราะว่าประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาร่วมจับตามองสถานการณ์แล้ว ทำให้รัฐจีนต้องประเมินในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย อย่างหลักๆ แม้ว่าจีนจะบีบฮ่องกงด้วยกฎหมายแทนอยู่ดี แต่จะเห็นว่าหลังๆ จะลดวิธีการใช้ความรุนแรงโดยตรงกับประชาชนลง (แต่ใช้วิธีคุกคามแบบอื่นแทน) เพราะจีนก็ต้องรักษาสถานภาพในการเมืองโลกและความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหมือนกัน

เมื่อหันมามองไทย เราก็เริ่มเห็นการใช้ยุทธศาสตร์แบบนี้แล้วในโลกทวิตเตอร์

 

ถ้ามองกลับมาที่บ้านเรา เราเห็นการติดแฮชแท็กต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น #saveทนายอานนท์ #saveParit #savePanusaya หรือ #WhatsHappeninginThailand อยากทราบว่าอะไรคือฟังก์ชั่นของแฮชแท็กเหล่านี้

เราว่ามองแฮชแท็ก #saveแกนนำ กับทวิตที่เล่าเหตุการณ์แบบ #WhatsHappeninginThailand มีฟังก์ชั่นต่างกัน

ไม่แน่ใจว่าความตั้งใจตั้งต้นของคนที่เริ่มปั่นเทรนด์คืออะไร แต่เรามองว่าแฮชแท็ก #saveแกนนำต่างๆ มีฟังก์ชั่นของมันอยู่ คือสร้างความตระหนักและดึงความสนใจของคนในประเทศเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ตัวแกนนำ อย่างระยะหลังเราจะเห็นว่าพอแกนนำถูกคุกคาม ก็จะเริ่มโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียว่ากำลังถูกตำรวจคุกคาม พยายามบอกว่าตัวเองอยู่ที่ไหนตลอดเวลา เพื่อที่ถ้าคนหายไปก็แปลว่าโดนรัฐจับ จนนำไปสู่กระแส #save

แต่ถ้าถามว่ามีพลังในการต่อรองอำนาจกับรัฐไหม ก็พูดยาก เพราะรัฐไทยก็ยังคงคุกคามแกนนำต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้วิธีที่ทำให้เกิดความรุนแรง แต่ใช้วิธียัดข้อหาโดยอ้างความชอบธรรมของกฎหมายอย่างเช่น แจ้งขอหาจับกุมทนายอานนท์ตามมาตรา 116 หรือแจ้งจับเพนกวินด้วยข้อหาเดียวกันแล้วพ่วงด้วยอีก 7 ข้อหา แม้ว่าท้ายที่สุดศาลจะยอมให้ประกันก็จริง (ณ วันที่ 17 ส.ค. – ผู้เขียน) แต่เราก็สรุปไม่ได้อยู่ดีว่าเป็นเพราะแฮชแท็ก #save หรือเพราะมีประชาชนไปกดดันหน้า สน. สำราญราษฎร์ ก็วนกลับไปประเด็นที่ว่ากระแสในโลกออนไลน์กับการประท้วงในโลกจริงไม่ได้แยกขาดออกจากกันเสียทีเดียว

ส่วนทวิตที่พยายามเล่าสถานการณ์เป็นภาษาต่างประเทศแล้วติดแฮชแท็ก #WhatsHappeninginThailand เป็นการดึงความสนใจจากต่างประเทศเข้ามาต่อรอง ซึ่งก็ดูจะได้ผลแล้วในระดับหนึ่งเพราะเราเห็นสำนักข่าวต่างประเทศทำข่าวแล้ว นี่นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

สุรัชนี ศรีใย

โลกออนไลน์เปลี่ยนโฉมพื้นที่ถกเถียงประเด็นสาธารณะที่เป็นส่วนสำคัญของการเมืองภาคประชาชนไปบ้างไหม

เป้าหมายตั้งต้นของโซเชียลมีเดียคือการขยาย community บนโลกออนไลน์อยู่แล้ว แน่นอนว่าก็ขยายพื้นที่ถกเถียงประเด็นสาธารณะ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งประเด็นทางการเมืองและประเด็นที่ไม่ใช่การเมืองไปด้วย ทำให้คนเริ่มสนใจประเด็นทางการเมือง และเสริมภาคประชาสังคมให้มีพลังมากขึ้น

พอประชาชนกลายเป็นคนผลิตและเผยแพร่ข้อมูลก็อาจเลือกเสนอข้อมูลที่สื่อเลือกที่จะไม่พูดถึงได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจมีข่าวปลอมหรือข้อมูลที่บิดเบือนปะปนอยู่ในข้อมูลที่ไหลอยู่ตลอดเวลาในโซเชียลมีเดีย ทำให้คนสับสนว่าข่าวไหนเป็นเรื่องจริง ข่าวไหนเป็นเรื่องไม่จริง แล้วจะเลือกเชื่ออะไร กลายเป็นว่าท้ายที่สุด คนก็เลือกเชื่อในสิ่งที่ยืนยันความเชื่อของตัวเองแทนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียช่วยให้ภาคประชาชนมีพลังมากขึ้น เสียงดังขึ้นมากกว่าที่เคย อยากทราบว่าเราหลงลืมหรือมองข้ามข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์อะไรไปบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวขบวนการไหนในโลกก็ตาม ต้องระวังการอ้างว่าเสียงของขบวนการตัวเองเป็นเสียงของคนทั้งประเทศ เพราะจากรายงาน Internet Stats ปี 2019 ครึ่งปีหลังของไทย แม้จะพบว่าประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึง 82% ก็จริง แต่ใน 82% ที่ว่ามา 60% คือคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองตามจังหวัดต่างๆ หมายความว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งของประเทศที่ไม่ได้รวมอยู่ตรงนี้ รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่ในโลกโซเชียลยังเป็นคนรุ่นใหม่

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องระวังคือ slacktivism หรือการที่มีความสุขจากการมีส่วนรวมทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ พอกดไลก์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็น รีทวีต ได้ลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ก็รู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว ‘ฟิน’ แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ออกมาลงมือจริง เพราะฉะนั้นบางครั้งการเคลื่อนไหวอาจเสียงดังแค่ในโลกออนไลน์ แต่พอออกมาจากโลกออนไลน์แล้วเสียงกลับไม่ดังเท่าที่ควรจะเป็น คนออกมาร่วมเคลื่อนไหวอาจไม่มากเท่าในโลกออนไลน์ หากฝ่ายตรงข้ามอย่างรัฐมองในมุมนี้ ก็อาจจะมองว่าแรงกดดันไม่มากพอที่จะให้รัฐมาต่อรอง

อีกเรื่องที่คนมักมองข้ามไปคือ echo chamber effect ซึ่งที่จริงแล้วเป็นไปตามธรรมชาติของการออกแบบระบบอัลกอริทึมที่จะแสดงผลสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ แต่ผลกระทบในทางการเมืองของ echo chamber ไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนก็คือ โซเชียลมีเดียจะแสดงผลแต่ความเห็นที่ตรงกับเราส่วนใหญ่จนดูเหมือนกับว่ามีคนเห็นด้วยกับเราหลายคน ซึ่งในความเป็นจริง จริงหรือไม่จริงก็ยากที่จะพูด ทำให้เราประเมินว่ามีเสียงที่เห็นเหมือนกับเราเยอะเกินไป เสียงของเราดังเกินความเป็นจริง

เมื่อเราเห็นความเห็นที่สอดคล้องกับเราซ้ำๆ บ่อยๆ ก็มีการศึกษาออกมาแล้วว่า echo chamber ส่งผลให้ความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่างทางการเมืองลดลง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ควรต้องรับฟังคนเห็นต่าง

มีทางที่เราจะทะลุออกมาจาก echo chamber ได้ไหม

หากยังอยู่ในแฟลตฟอร์มก็ยาก เว้นว่าเราเลือกที่จะออกไปจาก echo chamber เอง แต่คุณก็ต้องประเมินว่าคุ้มหรือไม่ที่จะออกไปถกเถียงเพื่อจูงใจคนอื่นให้เปลี่ยนความคิด เพราะก็อาจเจอการตอบโต้กลับมาเหมือนกัน

ข่าวลวงมักเป็นมูลเหตุในการยุยงปลุกปั่น จุดชนวนให้เกิดความรุนแรงในการเมืองภาคประชาชนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อยากทราบว่า โลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียสามารถป้องกันตรงจุดนี้ได้ไหม

ป้องกันไม่ได้! (หัวเราะ)

คำถามคือว่า เรามองโซเชียลมีเดียในทางกฎหมายเป็นแพลตฟอร์มหรือเป็นผู้ตีพิมพ์ข้อความ (publisher) ถ้าเรามองว่าโซเชียลมีเดียเป็นผู้ตีพิมพ์ โซเซียลมีเดียก็จะมีความรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ แต่ก็จะไปขัดแย้งกับสิทธิของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มที่ผลิตคอนเทนต์ เพราะก็จะนำไปสู่ปัญหาอีกว่าใครเป็นเจ้าของคอนเทนต์กันแน่ระหว่างแพลตฟอร์มและผู้ใช้แพลตฟอร์ม

สมมติว่า เจ.เค. โรว์ลิงโพสต์แฮร์รี่พอตเตอร์ลงบนเฟซบุ๊กแทนที่จะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ถ้ามองว่าเฟซบุ๊กเป็นผู้ตีพิมพ์ เฟซบุ๊กก็ได้ค่าลิขสิทธิ์ไปเลย แต่ถ้าไม่เอาแบบนั้นแล้วมองว่าเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์ม ฉะนั้นเฟซบุ๊กก็ไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยพยายามที่จะจับมือกับ AFP ตั้ง Fake News Fact-Checker แต่ก็มีคนตั้งคำถามต่ออีกว่าทำไม AFP ถึงมีความชอบธรรมที่จะมาเป็นคนตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำไมต้องเป็น AFP ทำไมไม่เป็นสำนักข่าวอื่น

อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียปั่นการเมืองให้ป่วนมากขึ้น หรือเสริมให้การเมืองเข้ารูปเข้ารอยได้ง่ายยิ่งขึ้น?

คำตอบขึ้นอยู่กับว่ายืนอยู่ฝั่งไหน หากยืนอยู่ฝั่งที่ status quo กำลังถูกท้าทาย ก็จะมองว่านี่คือความไม่สงบ แต่ถ้ายืนอยู่อีกฝั่ง คุณอาจจะมองว่านี่คือความพยายามทำให้การเมืองไปสู่เส้นทางที่มันควรจะเป็นก็ได้

ท้ายที่สุดแล้ว เราควรเข้าใจ คาดหวังและประเมินบทบาทของโซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร

จุดที่คนมักไม่เข้าใจคือ โซเชียลมีเดียเป็นเพียงแค่ neutral medium เป็นเพียงแค่เครื่องมือสื่อสารประเภทหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้งานมันอย่างไร และเราก็ควรทำความเข้าใจข้อจำกัดในการใช้

เรามีความหวังกับกระแสการเมืองในโลกออนไลน์ตอนนี้ได้ไหม

การที่กระแสการเมืองในโลกออนไลน์จุดติดจนคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาสนใจและทำความเข้าใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง นับว่าเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยที่ควรจะเคลื่อนไปข้างหน้าต่อ ไม่ว่ามันจะ #จบที่รุ่นเรา หรือไม่จบที่รุ่นเราก็ตาม ถ้าเกิดมันไม่ได้จบที่รุ่นเรา พลวัตที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยกระแสนี้ก็พอจะขีดเส้นทางในอนาคตที่ควรจะเป็น และพอจะวางใจได้ว่าคนรุ่นใหม่จะเดินไปตามเส้นทางนี้ แต่คุณก็ต้องตระหนักเหมือนกันว่าเมื่อเวลาผ่านไป เวลา ประสบการณ์ หรือปัจจัยอีกหลายอย่างรอบตัวอาจจะเปลี่ยนคุณก็ได้ในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ลืมอุดมการณ์ว่าวันนี้คุณเคยออกมาเรียกร้องอะไร

สุรัชนี ศรีใย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save