fbpx

คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ : ชีวิตคือการต่อสู้

คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ นับเป็นผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงแกร่ง และผู้หญิงกล้าคนหนึ่งแห่งยุคสมัยที่ไม่เพียงประสบความสำเร็จด้านธุรกิจอย่างมากกับกิจการเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยา เธอยังมีบทบาทด้านการส่งเสริมสถานภาพสตรีในระดับชาติ ผ่านการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายครอบครัวของไทยอีกด้วย

‘ชีวิตคือการต่อสู้’ คือบทสรุปของชีวิตผู้หญิงคนนี้ ผู้เป็นทั้งชาววัง นักธุรกิจ นักกฎหมาย และแม่


คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ
(25 สิงหาคม 2453 – 22 พฤศจิกายน 2536)


กำเนิดและวัยเยาว์


สุภัทราเป็นธิดาคนสุดท้องของพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) มีคุณหญิงบุญปั่นเป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2453 ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี

บิดารับราชการในกรมมหาดเล็กตั้งแต่ พ.ศ.2440 จนได้เป็นมหาเสวกตรี พระยาราชมนตรี ในปี 2467 ส่วนมารดานั้นเป็นนางต้นห้องของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม ‘สุภัทรา’ เมื่อเธออายุได้ 10 ปีใน พ.ศ.2463



ครั้นอายุได้ 12 ปี มารดานำตัวไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 และได้ถวายตัวแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นข้าราชการฝ่ายใน ตำแหน่ง ‘คุณพนักงานอยู่งาน’ มีหน้าที่ตั้งเครื่องเสวย ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็น ‘นางพระกำนัล’ ตามเสด็จสมเด็จพระวรราชชายาออกงานต่างๆ

ท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช เล่าว่า “พี่สุภัทรเข้าอยู่ก่อนดิฉัน และสมเด็จฯ ทรงโปรดมาก แม้มีห้องหับของตัวเอง ก็โปรดให้นอนในพระวิสูตร ดิฉันเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยมาก่อน ก็เลยโปรดให้เข้าไปนอนในพระวิสูตรด้วย


เข้าไปอยู่ในวังหลวงเมื่ออายุ 12 ปี


ยามเยาว์นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในชีวิต เธอเล่าว่า “ชีวิตฉันต้องต่อสู้มาตลอดตั้งแต่อายุ 12…เป็นข้าหลวงในวังมาตลอด ต้องเจอกับผู้คนเยอะแยะจากที่ต่างๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัย มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ต้องช่วยตัวเอง และรู้จักเอาตัวรอด

และต่อมาเธอย้ายไปสังกัดในเสด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี   

การรับราชการฝ่ายในทำให้เธอได้รับคำนำหน้าเป็น ‘คุณ’ ตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้สตรีผู้มีตำแหน่งเป็นนางกำนัลหรือพนักงาน ที่บิดามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาขึ้นไป  ครั้นถึงปี 2512 จึงมีคำนำหน้าชื่อเป็น ‘คุณหญิง’ เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า


ออกจากวัง


ชีวิตในวัง เธอได้ศึกษาเล่าเรียนไปด้วย มีครูสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ระหว่างที่อยู่ในวัง การออกไปไหนมาไหนนั้นค่อนข้างยาก เพราะต้องมีคุณเฒ่าแก่ท้าวนางเป็นพี่เลี้ยงพาตัวไป และต้องไปรถสีเหลืองของหลวงเท่านั้น

ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเรียกใช้อีก มารดาจึงกราบบังคมทูลขอตัวมาอยู่กับพี่สาวของเธอ (สุมิตรา) ซึ่งอยู่กับพระสุจริตสุดา

จนกระทั่งคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “ทุกคนหนีกันหมด ก็เลยหนีออกมาด้วย ไม่ได้ร่ำลาใคร ทุกคนพากันหนีหมด จะไปร่ำลาใครล่ะ วิ่งออกจากวังพรวดพราดมาอยู่บ้าน สบายเลย


เป็นทั้งผู้จัดการและเสมียนในสมัยเริ่มธุรกิจใหม่ๆ


ธุรกิจเรือข้ามฟาก


เมื่อออกจากวังมาแล้ว สุภัทราก็ช่วยคุณหญิงบุญปั่น มารดา ทำกิจการเรือข้ามฟาก ผ่านไปปีเศษ เมื่อเธออายุครบ 20 ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม และมีการเปลี่ยนแปลงจากเรือจ้างข้ามฟากมาเป็นเรือยนต์ในปี 2473-2474 ซึ่งในการลงทุนครั้งแรกๆ เธอต้องขายสมบัติของมารดามาซื้อเรือ และค่อยๆ เก็บเงินเพื่อขยายกิจการเรื่อยมา

กว่าจะมีได้อย่างนี้ ต้องเขียมที่สุดเลย ก็ขี้เหนียวนะ ถูกเค้าลือกันทั่วเลย ไม่งั้นจะมีได้หยั่งงี้เรอะ จะไปซื้อของน่ะคุณ ไปรถรางชั้นสอง ชั้นหนึ่งไม่ขึ้น มันแพง เดินไปได้ก็เดิน ประหยัดทุกอย่าง อดทนเรื่อยมา จนเดี๋ยวนี้สบายแล้ว

จนถึงปี 2514 จึงได้ขยายกิจการ คือการทำเรือด่วนเจ้าพระยา โดยรับโอนจากองค์การ ร.ส.พ. ซึ่งทั้งสองกิจการนี้ ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน


เรือสุภาพรรณ (เรือ สภ. 47)


ธรรมศาสตร์บัณฑิต


เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 สุภัทราได้สมัครเข้าแสวงหาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ด้วย แม้เธอมิได้จบชั้น ม.8 แต่เข้าเรียนได้ในฐานะรับราชการ (ฝ่ายในนั่นเอง)

ขณะเรียนที่ ม.ธ.ก. ในวิชากฎหมายครอบครัว เธอเกิดความสงสัยว่า ทำไมหญิงมีสามีจึงถูกจำกัดสิทธิลง เป็นต้นว่า “หญิงมีสามี ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากสามี จะทำนิติกรรมใดๆ ผูกพันสินบริคณห์ไม่ได้ การกระทำลงฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ กฎหมายถือว่าเป็นโมฆียะกรรม

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของหญิงชายเช่นนี้อยู่ในความคิดของเธอนับแต่นั้นมา ดังเช่นที่ สุนง สินาดโยธารักษ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงรุ่นน้อง เขียนไว้ว่า รู้จักกับเธอตั้งแต่ พ.ศ.2486 ในงานเลี้ยงรับ ‘ธ.บ.’ หญิงใหม่ “เกือบจะพูดได้ว่า ตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกัน ก็ได้ฟังคุณสุภัทราพูดถึงความด้อยสิทธิสตรี และความมุ่งมั่นของเธอที่จะใช้ความรู้ด้านกฎหมายที่เธอเล่าเรียนมาเข้าแก้ปัญหานี้

สุภัทราสำเร็จการศึกษา ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ ในปี 2482 ขณะมีอายุได้ 29 ปี


ธรรมศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2482


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จนถึงปี 2490 ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง ‘คณะเนติบัณฑิตและธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิง’ โดยมีการจัดอภิปรายเรื่องสิทธิสตรีขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2491 และยังจัดงานเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย รวมถึงรับปรึกษาอรรถคดีต่างๆ เป็นบริการสาธารณกุศลด้วยตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2491

ครั้นถึงปี 2493 คณะนี้ได้ก่อตั้ง ‘สมาคมธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงแห่งประเทศไทย’ และในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย’ ซึ่งสุภัทรามีบทบาทเป็นนายกสมาคมอยู่ถึง 11 ปี (2495-2496, 2501-2503, 2513-2517)


แก้ไขกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี


ผลงานชิ้นสำคัญของเธอในสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย คือการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว ในปี 2513 ต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เรื่องการจดทะเบียนสมรส การได้รับความยินยอมจากสามีในการประกอบอาชีพ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เหตุหย่า และค่าอุปการะเลี้ยงดู


ในฐานะนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว เพื่อยกฐานะสตรีไทย ต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2513 ณ ทำเนียบรัฐบาล


ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สมาชิกของสมาคมหลายคนก็ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา จนสามารถผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายผลสำเร็จ ดังที่เธอเขียนว่า “เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ ข้าพเจ้า เพื่อนวุฒิสมาชิกหญิง และ ส.ส.หญิง ต่างช่วยกันอภิปราย แสดงความเห็น จนทำให้กฎหมายฉบับนั้นผ่านไปด้วยดีอย่างน่าพอใจ

ในการอภิปรายในวุฒิสภาครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2519 สุภัทรากล่าวว่า “ทำไมเราจึงขอสิทธิสตรี ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้หญิงไทยได้รับการศึกษาดีขึ้นกว่าเดิม ความเสมอบ่าเสมอไหล่ ควรจะได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญมาก…ดิฉันขอกราบขอบพระคุณในนามของผู้หญิงไทยทั้งหลายที่ได้รับความกรุณาให้สิทธิเสมอภาคในคราวนี้ ซึ่งแน่ใจว่า ท่านวุฒิสมาชิกทั้งหลายจะได้กรุณาให้ผ่านไป

ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครอบครัวที่สำคัญในปี 2519 ได้แก่

1. ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้ชายเป็นหัวหน้าในคู่ครอง เป็นผู้เลือกที่อยู่และเป็นผู้อำนวยการในเรื่องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู

2. ในการจัดการสินสมรส สามีภริยาต่างต้องขอความยินยอมจากกันและกันในการทำนิติกรรม

3. เพิ่มเหตุหย่าให้หญิงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ถ้าสามีอุปการะหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา

4. ให้สิทธิสามีภริยาที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากคู่หย่า และจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่มาแย่งคู่สมรสของตน และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ชำระเงินค่าทดแทนครั้งเดียว หรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ได้

5. บิดามารดามีอำนาจปกครองบุตรเท่าเทียมกัน

6. ตามกฎหมายฉบับนี้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามี 2 ชนิด คือ สินส่วนตัวและสินสมรส โดยให้แบ่งสินสมรสได้คนละส่วนเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องคำนึงว่า ฝ่ายใดมีสินเดิมมาหรือไม่

ครั้นถึงปี 2533 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มอบปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เธอ พร้อมคำประกาศเกียรติคุณ ความตอนหนึ่งว่า “คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ เป็นผู้นำคนสำคัญในการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิสตรี ด้วยการเขียนบทความลงในหนังสือทางวิชาการและหนังสือพิมพ์ทั่วไป รวมทั้งการบรรยายและปราศรัยตามสถานที่ต่างๆ เพื่อชี้ให้เกิดความตระหนักในปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่สมรส จนรัฐบาลต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สิทธิหญิงและชายมีเท่าเทียมกัน


กับบุตรีทั้งสองคน


บทบาทอื่นๆ ในสังคม


นอกจากการทำธุรกิจเรือข้ามฟาก และบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีแล้ว สุภัทรายังเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง รวม 11 ปี (2495-2500, 2513-2517) สมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี ประเภท 2 (2498-2499) สมาชิกสภาจังหวัดธนบุรี (2503-2511) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (2514-2517) นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย (2507-2511) และประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (2518-2520) เป็นต้น


ผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ช่วงปี 2495-2500

ในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลธนบุรี แจกน้ำจืดให้บริการประชาชนในช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยาเค็มจัด ใช้บริโภคไม่ได้ ในปี 2501


คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ซึ่งทำงานกับเธอทั้งที่สมาคมบัณฑิตสตรีฯ และสภาสตรีฯ เขียนถึงความประทับใจไว้ว่า “ดิฉันทำงานทุกแห่งกับคุณหญิงด้วยความสนุก มีความคล่องตัว ทั้งนี้เพราะคุณหญิงเป็นนักบริหารที่ดี ยกย่อง เอื้ออาทรผู้ร่วมงาน และเคยเดินทางไปประชุมต่างประเทศด้วยกันหลายครั้ง…ยิ่งใกล้ชิดยิ่งรักท่าน พบว่าท่านเป็นคนจริงใจ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และยุติธรรม ไม่เคยปรากฏให้เห็นว่า ท่านพูดไม่จริงแม้แต่สักครั้งเดียว ท่านเป็นคนฉลาด ปฏิภาณดีเลิศ รู้เท่าทันคน แต่ยอมเป็นผู้ให้


กลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรีเลี้ยงแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(ด้านหลัง คือ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร)


ครอบครัว


ในด้านชีวิตส่วนตัว สุภัทราสมรสกับ สอาด มีชูธน (6 ตุลาคม 2448 – 10 สิงหาคม 2514) ณ บ้านข้างวัดระฆัง ธนบุรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2485 มีธิดา 2 คน คือ สุภาพรรณ และภัทราวดี


ภาพครอบครัว พ.ศ. 2497


เธอเล่าถึงการเลี้ยงลูกเอาไว้ว่า “ฉันโชคดีที่ลูกทั้งสองคนเป็นเด็กดีด้วยกันทั้งคู่ ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อดึง…ก็อยากให้ลูกรู้จักเอาตัวรอดและต่อสู้กับชีวิตด้วยตนเองบ้าง ตอนนั้นฉันเองก็มีงานเยอะ พวกธุรกิจเรือด่วนนี่แหละ ถ้าเราเลี้ยงลูกเอง ลูกก็ต้องอยู่กับคนใช้ นี่สิสำคัญมาก เพราะคนใช้มักพูดอะไรให้ลูกเราเข้าใจผิดๆ เลยตัดสินใจส่งเค้าไปต่อสู้กับโลกภายนอกดีกว่า ส่งไปเรียนเมืองนอก ใครอยากเรียนอะไรก็เรียน…ตอนนั้นรู้จักเพื่อนฝูงหรือใครที่เมืองนอกก็เที่ยวฝากลูกไว้กับเค้า

สุภาพรรณ ลูกสาวคนโตที่ดูแลธุรกิจต่อจากมารดา เขียนถึงสุภัทราว่า “คุณแม่สั่งสอนให้ลูกเป็นคนทำงาน เพราะการทำงานจะทำให้เกิดชีวิตที่สมบูรณ์ คือ มีเพื่อนร่วมงาน มีผู้บังคับบัญชา มีลูกน้อง มีสังคมที่ดี และสำคัญที่สุด เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น…ตลอดชีวิต คุณแม่ทำงานอาทิตย์ละ 7 วัน ไม่เคยเกษียณอายุ

ขณะที่ภัทราวดีเขียนถึงมารดาของเธอว่า “ท่านเป็นนักธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่ท่านก็ไม่เคยยุยุงให้ลูกท่านทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว โดยไม่มีศักดิ์ศรี แต่ท่านสอนไม่ให้โง่ ไม่ให้คนเอาเปรียบ ท่านสอนให้สู้ แต่ไม่รังแกคนอื่น ให้เมตตาต่อผู้น้อยและผู้ที่ด้อยกว่า ท่านสอนไว้อีกว่า คนเราเมื่อตายไป ทรัพย์สินเงินทองเอาไปไม่ได้ แต่เราทิ้งคนดี งานที่ดี ไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้”


บัณฑิตสตรีทางกฎหมายที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

คุณหญิงสุภัทราถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและหลอดลมโป่งพอง ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 รวมอายุได้ 83 ปี


บรรณานุกรม

  • ชีวิตคือการต่อสู้. มูลนิธิสุภัทรา สิงหลกะ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ณ เมรุณหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ วันพุธที่ 20 เมษายน พุทธศักราช 2537.
  • ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2512 จนถึง เดือนพฤศจิกายน 2513. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2515
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสอาด มีชูธน ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save