fbpx
Nan Poesie : เมื่อบทกวีคือการทรยศ (อันงดงาม)

Nan Poesie : เมื่อบทกวีคือการทรยศ (อันงดงาม)

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ ภาพ

-1-

เมืองน่าน กลางเดือนพฤศจิกา

บรรยากาศคล้ายคนกำลังจับไข้

เย็นแต่ไม่หนาว—อบอ้าวเหมือนจะมีฝน

คนกลุ่มหนึ่งรวมตัวโดยนัดหมาย

ในบ้านไม้หลังงาม

ที่เป็นทั้งห้องสมุดและเกสต์เฮ้าส์

ธงสัญลักษณ์ชักสู่ยอดเสา

เธอและเขานั่งล้อมวง

บรรจงจิบเบียร์—บ้างจกขนมจีน

เพลงพิเศษเปิดคลอ

ภาพสีน้ำสะท้อนแดดเย็น

เห็นความงาม

กลางสนามหญ้าชอุ่ม

พุ่มชมพู่มะเหมี่ยวร่วงกราว

สวยราวจิตรกรรม

ศิลปินเอื้อนเอ่ยบางคำ

ย้ำจุดประสงค์

Poetic อยู่ในทุกองค์ประกอบศิลป์

ตะวันลับหาย

บทกวีเปล่งประกาย

ใต้แสงจันทร์นวล.

ข้างต้นคือบันทึกความรู้สึกสั้นๆ หลังผ่านพ้นคืนแรกของเทศกาล ‘Nan Poesie’ เทศกาลบทกวีเมืองน่าน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผม ในฐานะผู้ร่วมงาน และผู้ดำเนินรายการในบางช่วง มีโอกาสได้เฝ้าสังเกตและซึมซับวิธีคิด กระบวนการทำงาน ตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม จวบจนคืนสุดท้ายที่ทุกคนแยกย้ายกลับภูมิลำเนา

ตัวตั้งตัวตีในการจัดงานนี้อย่าง วรพจน์ พันธุ์พงค์ บอกจุดประสงค์แต่แรกเริ่มว่า พระเอกของงานนี้ คือการอ่านบทกวี จากเดิมที่สิ่งนี้เคยเป็นตัวประกอบเสมอมา

อย่างไรก็ดี เขาขยายความต่อว่า บทกวี อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของตัวอักษรเท่านั้น ทว่าแก่นของมันคือ ‘ภาวะกวี’ หรือ ‘Poetic’ ที่​ปรากฏอยู่ในงานศิลปะทุกแขนง แฝงฝังอยู่ในทุกสรรพสิ่ง

ในเมื่อแก่นสารของงานนี้คือบทกวี หนึ่งในคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวผมตลอดเวลา คือคำถามคลาสสิกที่ว่า บทกวีคืออะไร

“คำนี้น่าจะเป็นคำที่ถกกันยากคำหนึ่ง อาจคล้ายคำว่าความรัก เอาสั้นๆ เร็วๆ ก็คือภาวะของความละเอียดอ่อนหนึ่ง ภาวะของความรู้สึกหนึ่ง ภาวะของความจริงหนึ่ง ภาวะของความงามหนึ่ง ภาวะของความลึกซึ้งหนึ่ง ภาวะของดินแดนหนึ่ง อิสรภาพหนึ่ง ค่อนข้างจะไร้รูป เหนือกาล ไม่เกี่ยงสถานที่” นั่นคือบทกวีในแบบวรพจน์

สารภาพว่าในตอนแรกที่ได้ยินได้ฟัง ผมรู้สึกว่านี่คือนิยามของบทกวีที่ ‘งาม’ ที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา ทว่าเมื่องานเริ่ม และดำเนินไปเรื่อยๆ ผมกลับพบนิยามความหมายใหม่ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

หนึ่งในนั้น คือนิยามของ วาด รวี จากการออกมากล่าว ‘สปีช’ เปิดงาน ในหัวข้อ ‘บทกวีคือการทรยศ’

เป็นการกล่าวสปีชในท่วงทำนองของบทกวี ซึ่งสามารถสะกดผู้ร่วมงานได้อย่างชะงัดตลอดช่วงเวลาราวๆ สิบนาที

บางช่วงบางตอนว่าไว้เช่นนี้…

คนบอกว่า บทกวีคือบุคลิกภาพ คือการสร้างสรรค์จังหวะของความงาม คือสิ่งที่เกิดจากจักรวาลภายในของมนุษย์ คือความรู้สึกราวกับยอดหัวถูกตัดออก

คนบอกว่าบทกวีคือคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์คือบทกวีของตรรกะ ความรักคือบทกวีของพันธะ บทกวีคือสัจจะที่เผาไหม้จากหัวใจ คือคำโกหกที่พูดความจริง คือมิตรภาพที่แท้…

แต่ผมจะบอกว่า มันคือการทรยศ

คนบอกว่า บทกวีคือการเปิดประตู คือการพาผู้คนออกจากวิถีอันจำกัดของการเห็นและรู้สึก คือสิ่งที่เปิดผนึกความเร้นลึก คืออะไรที่เชื่อมต่อกับอารมณ์ของมนุษย์

คนบอกว่า บทกวีคือการเต้นรำของแขนขา คือภาพวาดที่เงียบงัน คือศรัทธาของศาสนา คือดอกไม้หอม คือไวน์ชโลมลิ้นกำซาบคอ คือการตั้งชื่อเด็กทารก คือปุยฝ้ายบางเบา คือโครงร่างสถาปัตยกรรมของชีวิต…

แต่ผมจะบอกว่า มันคือการทรยศ

คนคิดถึงบทกวีในความหมายของสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัส เป็นมงกุฎที่ล่องลอย ร่อนลง สวมใส่บนอะไรก็ได้ เพื่อที่จะทำให้สิ่งนั้นเป็นราชา บทกวีคือด้านที่บอกไม่ถูกของทุกสิ่งที่รู้จักเป็นอย่างดี บทกวีคือการเรียงตัวของความไร้ระเบียบ คืออารมณ์ของตรรกะ พอๆ กับที่เป็นตรรกะของอารมณ์

แต่ผมจะบอกว่า บทกวี คือการทรยศ

บทกวีคือความดิบเถื่อน คือความจริงที่จริงกว่าประวัติศาสตร์ คือสัจจะที่ไม่ต้องการเครื่องแบบ คือปรัชญาที่สวมเสื้อยืดกับกางเกงขาสั้น คือกระดูกของความคิด คือเส้นประสาทและโลหิตของความรู้สึก คือรอยเขียนบนผนังกำแพงในหัวใจของทุกคน

แต่วันนี้ผมจะบอกว่า บทกวี คือการทรยศ

คุณอาจสงสัยกันว่า ทำไมบทกวีต้องทรยศ?

ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และคนไม่ได้เกิดมาเพื่อภักดีต่อเจ้าของ คนไม่จำเป็นต้องรับใช้คน คนไม่ต้องการมีเจ้าของ คนไม่จำเป็นต้องเชื่อง

ความเชื่อง คือการยอมจำนนต่อความเป็นนาย คือการทำลาย คือการทำตามคำสั่งโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ไม่มีเจตจำนงของตัวเอง ความเชื่องคือการยกชีวิตให้กับความพึงพอใจของนาย ความเชื่องคือการว่านอนสอนง่าย ไม่ต้องมีความคิด ความเชื่องไม่ต้องการศีลธรรม เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอใจของนาย

ความเชื่องไม่รู้จักเสียงหัวเราะ ไม่รู้จักความเศร้า ความเชื่องไม่รู้จักความรัก สัตว์เลี้ยงรู้จักแต่ความภักดี

ผมกำลังจะบอกว่า บทกวี คือการทรยศ

คนไม่ต้องจงรักภักดี เพราะคนไม่ใช่สัตว์เลี้ยง คนไม่ได้เกิดมารับใช้ใคร คนจะต้องรู้จักเรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเอง คนจะต้องไม่ถูกล่ามไว้กับคน คนไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีเจ้าของ คนจะต้องไม่ถูกตีตรา คนไม่ใช่ทรัพย์สินไว้ครอบครอง นาบเหล็ก ตีตรวน กล้อนผม สักเลข นับจำนวน เกณฑ์แรง ไล่ต้อน เฆี่ยนตี กราบกรานคลานสี่ขาตาเหลือก คนไม่ใช่สัตว์เลี้ยง!

ผมกำลังบอกว่าบทกวีต้องทรยศ!

การทรยศคือคณิตศาสตร์ มันคือสมการแห่งความเท่า คือการปลดปล่อยตัวเองจากการแบ่งชั้นและแผ่นดินที่ต้องเช่า คือความเงียบงัน คือดอกไม้ป่าดิบเถื่อน กองไฟมอดไหม้จนเป็นเถ้า คือเหล้าถอนความเมา คือประตูสู่อิสระ คือการออกไปจากข้อจำกัดที่ลวงตา คือการพูดความจริงด้วยคำโกหก คือการรื้อสร้างบุคลิกภาพ คือการทรยศต่ออำนาจ คือความจริงที่จริงกว่าประวัติศาสตร์ คือฝ่าตีนบดขยี้เครื่องแบบและเหรียญตราบ้าบอด้วยเส้นประสาทและโลหิตที่ร้อนราด…

เพราะความจงรักภักดีทำคนกลายเป็นแรงงาน เป็นของแลกเปลี่ยน สินค้า เป็นกองกำลังคลั่งบ้า ไล่ฆ่าและกัดกินความเป็นคน ความภักดีทำให้คนมัวเมาในอำนาจ กลายเป็นทรราช เพราะความจงรักภักดีคือการหักหลังความเป็นคนของตัวเอง กักขังตัวเองอยู่ในภาพลวงตาโป้ปด เพราะบทกวีต้องทวงความเป็นมนุษย์ สุดแสนเลี้ยวลดเหลือกำหนด และมนุษย์ไม่อาจกำหนด เพราะมนุษย์มีบทกวี และบทกวีคือการ—ทรยศ

หากนิยามบทกวีของวรพจน์นั้น ‘งาม’ ที่สุดเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา ผมคิดว่านิยามของ วาด รวี น่าจะ ‘ทรงพลัง’ ที่สุดที่เคยได้ยินได้ฟังมาเช่นกัน—ในความหมายของการที่คุณต้อง ‘ได้ยินได้ฟัง’ และ ‘ได้เห็นกับตา’ จริงๆ

-2-

จะว่าไปแล้ว การได้มางานนี้สำหรับผม และอาจรวมถึงใครอีกหลายคน นอกจากจะทำให้ได้สัมผัสบทกวีในความหมายใหม่ๆ แล้ว ยังถือเป็นการ ‘เปิดประสบการณ์’ ใหม่ด้วย เพราะคงไม่บ่อยนัก ที่จะมีโอกาสได้ชม ‘การอ่าน’ บทกวีแบบสดๆ และเอาจริงเอาจังเช่นนี้

บทกวีที่เป็นตัวหนังสือ กับบทกวีที่ถูกอ่านออกเสียง กระทำและกระทบต่อความรู้สึกของเราคนละมิติโดยสิ้นเชิง คล้ายบทละครเวทีที่จะทรงพลังถึงขีดสุดก็ต่อเมื่ออยู่บนเวที มิใช่ในหน้ากระดาษ

อย่างไรก็ดี แม้จะประทับใจกับสปีชของ วาด รวี เอามากๆ แต่อีกมุมหนึ่งก็เกิดคำถามในใจว่า หากบทกวีคือการทรยศอย่างที่ว่าไว้จริงๆ มันทรยศต่อสิ่งใด บทกวีจำเป็นต้องทรยศเสมอไปหรือไม่ และหากว่ากันถึงที่สุด ถ้าบทกวีไม่ทรยศ มันยังควรค่าแก่การเป็นบทกวีอยู่หรือเปล่า

คำตอบของคำถามเหล่านี้ค่อยๆ คลี่คลายลงเมื่องานดำเนินต่อไป จากการได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น งานของกวีและศิลปินคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในสปอตไลท์ ไม่ใช่คนที่ใครๆ ก็รู้จัก

หากแบ่งหยาบๆ ในมุมของผู้ชม คนที่มาร่วมอ่านกวีในงานนี้ มีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ‘มืออาชีพ’ ซึ่งคนในแวดวงรวมถึงนักอ่านรู้จักกันดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงมีประสบการณ์ในการ ‘เพอร์ฟอร์ม’ บนเวทีมาพอสมควร อาทิ ซะการีย์ยา อมตยา, กฤช เหลือลมัย, วาด รวี, อรุณรุ่ง สัตย์สวี, ผการัมย์ งามธันวา, อนุชา วรรณาสุนทรไชย, คาล รีอัล, เมฆ ครึ่งฟ้า ฯลฯ

สำหรับผม กวีกลุ่มนี้เป็นเหมือน ‘ตัวชูโรง’ ที่ดึงดูดคนตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม เช่นเดียวกับตอนที่ขึ้นไปร่ายบทกวี พูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่มที่ ‘เอาอยู่’ ทั้งในแง่ตัวบทเนื้อหา และการวางตัวบนเวที

ทว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเสมือนขั้วตรงข้ามกับกลุ่มแรกทุกอย่าง คือกลุ่มที่เป็น ‘มือสมัครเล่น’ ที่มีใจรักในบทกวี ซุ่มเขียนกวีแบบลับๆ อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว และเวทีนี้เปิดโอกาสให้บทกวีเหล่านั้นได้เปล่งประกาย ผ่านปากคำของเขาและเธอเอง—เป็นครั้งแรกๆ

กวีในกลุ่มนี้ มีตั้งแต่นักเรียนมัธยม นักศึกษาแพทย์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ เอ็นจีโอ ครูสอนสังคมศึกษา บาริสต้า นักท่องเที่ยวชาวแคนนาดา นักเขียนจากพม่า ฯลฯ

แน่นอน เมื่ออยู่ต่อหน้าแสงสปอตไลท์และสายตาหลายสิบคู่ ความประหม่าย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ยังไม่นับความกดดันที่ต้องขึ้นเวทีเคียงคู่กับ ‘รุ่นใหญ่’ ทั้งหลาย บางคนจึงอ่านด้วยเสียงสั่นเครือ บ้างมือไม้สั่นเทา บ้างต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อรวบรวมสติและลมหายใจ

จุดที่น่าสนใจคือ บทกวีของพวกเขาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ตั้งแต่ภาวะบางอย่างที่อยู่ภายในจิตใจ เรื่องราวที่อยู่ในจินตนาการ ไม่ก็เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการงานที่ทำอยู่ ซึ่งถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย ไม่ประดิดประดอย ไม่ดุดัน ไม่คาดคั้น และไม่ ‘ยาก’ จนเกินไป อาทิบทกวีของบาริสต้าหนุ่ม ที่ว่า

หลังจากอ่านรวมเรื่องสั้นมีดประจำตัวของชาติ กอบจิตติ จบ

เธอก็อยากจะลองลิ้มชิมรสเนื้อสดๆ ดูบ้าง

เธอจึงปิดหนังสือรวมเรื่องสั้นมีดประจำตัว

วางลงบนหมอน

เอี้ยวคอไปทางซ้ายเล็กน้อย

ชำเลืองมองเขาด้วยหางตา

เขาซึ่งเมามายหลับอยู่ข้างกาย

เพราะดื่มคำหวานมากจนเกินขนาด

 

“มันเป็นกฎ

การที่เราจะกินคนด้วยกัน เราจะต้องไม่สงสารมัน

ไม่ต้องเห็นดวงตาอ้อนวอนของมัน

ไม่ได้ยินเสียงอ้อนวอนของมัน”

เธอจำกฎได้ดี

และตอนนี้ก็เคลียร์ทุกเงื่อนไข

 

ไม่มีความสงสาร

ไม่เห็นดวงตา

ไม่ได้ยินเสียงอ้อนวอน

ไม่มีการร้องขอชีวิต

 

เธอไม่มีมีดประจำตัว

เธอมีแต่มีดประจำครัว

ที่เธอบรรจงลับไว้อย่างดีจนคมกริบ

เพราะเธอชอบทำอาหาร

 

เธอค่อยๆ กดกรีดปลายมีดลงช้าๆ

ก่อนที่เขาจะรู้สึกตัวตื่น

กดกรีดลงบนหน้าอกของเขา

เยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย

เธอจำได้ว่า มันเป็นตำแหน่งของหัวใจ

ใครสอนเธอมาก็ไม่รู้

แต่หัวใจก็อยู่ตรงนั้น

 

เลือดกระเซ็นเลอะหมอน

เลือดเลอะผ้าปูที่นอน

เลือดเลอะผ้าห่ม

อาาห์ เลอะหมอนข้างด้วย

 

ร่างของเขากระตุกเบาๆ

หนึ่งครั้ง

สองครั้ง

และสามครั้ง

ก่อนจะเผยอยิ้มบนริมฝีปาก

 

น่าอิจฉา—น่าอิจฉา

เขาน่าจะกำลังฝันดีอยู่กระมัง-เธอคิด

เขากำลังจะตายไปช้าๆ อย่างไม่รู้สึกตัว

ตายไปพร้อมๆ กับความสุข

 

ต่างจากเรื่องสั้นของชาติ กอบจิตติ เล็กน้อย

ตรงที่—ที่ตรงนี้ไม่ใช่โต๊ะอาหาร

และเธอไม่ต้องทำการยื้อแย่งแบ่งชิ้นเนื้อกับใคร

 

เธอหยิบก้อนหัวใจ

ที่ติดอยู่ตรงปลายมีดทำครัว

หยิบขึ้นมากัดลิ้มชิมรส

กัดลงไปหนึ่งคำ

ชิ้นเนื้อสัมผัสปลายลิ้น

แล้วเธอก็สบถถ่มถุย

“เชี่ย!

ไม่เห็นแม่งจะอร่อยตรงไหน”

เธอปาหัวใจก้อนนั้นทิ้ง

ส่งร่างของเขาเข้าที่บดเนื้อ

“ช่างเถอะ

อย่างน้อยเย็นนี้

ก็ไม่ต้องซื้ออาหารหมา”

 

-3-

หากกวีมืออาชีพทั้งหลาย คือตัวชูโรงในงานนี้ แน่นอนว่ากวีในกลุ่ม ‘มือสมัครเล่น’ ก็ย่อมมีบทบาทเป็น ‘สีสัน’ หรือไม่ก็ ‘ตัวประกอบ’

ในตอนแรกผมก็คิดเช่นนั้น ทว่าเมื่องานผ่านพ้น กวีทุกคนลงจากเวที ผมกลับรู้สึกว่า กวีสมัครเล่นเหล่านี้ต่างหากที่เป็นพระเอก

เพราะหากพวกเขาและเธอไม่ ‘กล้าหาญ’ พอที่จะออกมานอกพื้นที่ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความประหม่าและความกังวลต่างๆ นานา บทกวีของพวกเขาและเธอ ก็คงไม่มีชีวิต เช่นเดียวกับงาน Nan Poesie ที่คงไม่มีชีวิต ไม่เหลือชีวา และอาจไม่ต่างจากงานปาร์ตี้ของคนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่ม

หากบทกวีคือการทรยศ คนเหล่านี้ก็ได้ทรยศต่อความหวาดกลัวของตัวเองแล้ว และนั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ผลักดันชีวิตของพวกเขาและเธอให้ก้าวไปอีกขั้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจต้องยกเครดิตให้แก่ผู้ร่วมจัดงานนี้ ที่มีจิตใจและสายตาที่กว้างขวางพอ และสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ๆ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้คนหลากหลายได้มาพบปะกัน ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก ดังที่ ‘ครูต้อม’ ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ กล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนงานเริ่มว่า

“เราอยากเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนทำงานสร้างสรรค์อิสระ พอมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนเหล่านี้มาทำงาน ก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันหลากหลาย และเราเชื่อว่ามันจะงดงามด้วย”

สุดท้ายนี้ หากจะมีสักสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดาย คงเป็นความดูดายและคับแคบหน่วยงานทั้งหลาย ที่มีส่วนผลักดันและสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรม ที่ปล่อยให้ประชาชนคนธรรมดา ต้องดิ้นรน กระทั่งกรีดเลือดกรีดเนื้อ เพื่อสร้างพื้นที่เหล่านี้ด้วยตัวเอง.

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

Nan Poesie

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save