fbpx

อ่านบันไดสู่อำนาจ ผ่านปูมหลัง ครม. เศรษฐา 1

ในวันที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าสู่ ‘การเมืองใหม่’ และมีความพยายามในการเปลี่ยนภาพนักการเมืองแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นชิน เพื่อให้ผู้คนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังรู้สึกคือ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นนักการเมืองได้

การลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นเรื่องหนึ่ง แต่การจะได้เข้าไปสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีที่กุมอำนาจทางการเมืองนั้น หนทางอาจไม่ใช่แค่ชนะเลือกตั้งเท่านั้น เพราะในการเมืองไทยมีระบบนิเวศที่ซับซ้อนกว่านั้น (อาจรวมถึงการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก) คำถามสำคัญก็คือเส้นทางการเป็นรัฐมนตรีของคนหนึ่งคนต้องมีอะไรเป็นส่วนประกอบ

คุณวุฒิ วัยวุฒิ เส้นสาย เงินทอง หรือแม้แต่เรื่องเพศ ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างเงื่อนไขในการเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองของบุคคลหนึ่ง รวมถึงโอกาสในการเข้าสู่คณะรัฐมนตรีด้วยเช่นเดียวกัน  

หลังการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 2 กันยายน 2566 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า
‘ครม. เศรษฐา 1’ อย่างเป็นทางการ จากการศึกษาเบื้องต้นถึงประวัติของคณะรัฐมนตรีแต่ละท่าน กล่าวได้ว่า การจะเป็นนักการเมืองระดับชาติและหนึ่งในคณะรัฐมนตรีนั้นจำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน 2-3 ประการ บทความชิ้นนี้จึงอยากจะพาทุกท่านไปส่องเส้นทางสู่ฝัน การเดินทางในฐานะนักการเมืองระดับชาติและการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผ่านกลุ่มตัวอย่างศึกษาจำนวน 33 ท่านใน ครม. เศรษฐา 1

ต้องเรียนจบอะไร ถึงจะได้เป็นนักการเมือง?

เมื่อกล่าวถึงคุณวุฒิ หลายคนมักจะนึกถึงสาขารัฐศาสตร์เป็นหลัก แต่อย่างที่ได้กล่าวไป อาชีพนักการเมืองนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จหรือแม้แต่สถาบันการศึกษาที่ผลิตนักการเมืองมาโดยเฉพาะ สาขาการศึกษาและวุฒิการศึกษาของนักการเมืองหลายคน โดยเฉพาะในช่วงปริญญาตรีจึงไม่ได้จำกัดไว้ที่คณะรัฐศาสตร์ กลับกัน หากพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 32 คน[1] ในรัฐบาลเศรษฐา 1 คณะที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ (7 คนจาก 32 คิดเป็นร้อยละ 21.87) ตามมาด้วยคณะวิศกรรมศาสตร์ (6 คนจาก 32 คิดเป็นร้อยละ 18.75) และลำดับที่สามได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ (5 คนจาก 32 คิดเป็นร้อยละ 15.62)

แต่แน่นอนว่า เมื่อเปรียบเทียบเรื่องของสายการศึกษา (สายสังคมและสายวิทย์-คณิต) จะยังพบว่าคณะภายใต้สายสังคมนั้นได้รับความนิยมมากกว่า (22 คนจาก 32 คิดเป็นร้อยละ 68.75) อาทิเช่น ศิลปศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ในขณะที่สายวิทย์-คณิตนั้นมีจำนวนเพียง 10 คนจาก 32 (คิดเป็นร้อยละ 31.25) จากข้อมูลยังพบว่านักการเมืองส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย (28 คนจาก 32 คิดเป็นร้อยละ 87.5)

และเมื่อศึกษาลึกลงไป พบว่าส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาโท โดยมีเพียง 4 คน จาก 33 คน (คิดเป็นร้อยละ 12.12) ที่ไม่สำเร็จการศึกษาปริญญาโท และในระดับปริญญาโทพบว่าคณะยอดนิยมที่คณะรัฐมนตรีเกินครึ่งเข้ารับศึกษา คือคณะรัฐศาสตร์ (15 คนจาก 29 คิดเป็นร้อยละ 51.72) เช่นเดียวกันกับการแบ่งสาย คณะรัฐมนตรีเกือบทุกคน (28 คนจาก 29 คิดเป็น 96.55) ล้วนสำเร็จการศึกษาในสายสังคม อาทิ ศิลปศาสตร์ นิติศาสตร์ และไทยคดีศึกษา เป็นต้น มีเพียงคุณศุภมาส อิศรภักดีคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์

ประเด็นเรื่องการศึกษาจึงสามารถสรุปได้ว่า ในช่วงปริญญาตรี วุฒิหรือสายที่ร่ำเรียนนั้นอาจจะไม่มีความสำคัญ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเรียนในสายสังคมเพียงเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงระดับการศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท นักการเมืองเกือบทุกคนล้วนจบการศึกษาในระดับปริญญาโท และเลือกที่จะสานต่อการศึกษาในสายรัฐศาสตร์ (โดยเฉพาะรัฐประศาสนศาสตร์)[2] นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาอย่างการจบจากเมืองนอกก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีในความสำเร็จทางการเมือง ขัดกับความเชื่อทั่วไปที่ว่านักการเมืองจบนอกดูมีอนาคตมากกว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่มีประวัติการศึกษาทั้งตรีและโทจากภายในประเทศ

แล้วต้องรวยไหม ถึงจะเล่นการเมืองได้?

เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก การเมืองจำเป็นต้องใช้เงิน (จำนวนมาก) ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง ลงพื้นที่ พบปะประชาชน หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ไหนจะเรื่องของเวลา การจะเป็นนักการเมืองอาชีพจำเป็นจะต้องมีเวลา (ที่พร้อมจะเสียไปเฉยๆ) ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ทางด้านเวลาหรือการสนับสนุนทางด้านดังกล่าวนี้ อาจจะยากสำหรับการพัฒนาความก้าวหน้าทางสายอาชีพนักการเมือง

เช่นเดียวกันกับนักการเมืองภายใต้ ครม. เศรษฐา 1 นี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเกินครึ่งมีธุรกิจ (20 คนจาก 33 คิดเป็นร้อยละ 60.60) โดยสามารถแบ่งออกเป็นธุรกิจที่มีอยู่แต่เดิมก่อนการลงการเมือง อย่างธุรกิจครอบครัว และธุรกิจที่สร้างขึ้นหลังจากการเล่นการเมือง โดยธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็หนีไม่พ้นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและสโมสรฟุตบอล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใน 5 พรรคร่วมนี้ นักการเมืองเกินครึ่งจากแต่ละพรรคล้วนมีธุรกิจที่สร้างรายได้หลายล้านทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น มีเพียงพรรคประชาชาติที่ผู้แทนของพรรคเพียงคนเดียว หรือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นั้นมาจากสายราชการ

ฉะนั้นแล้ว จากข้อมูลที่มีจึงสามารถอุปมานได้ว่า การเป็นนักการเมืองดำเนินควบคู่กันไปกับการมีธุรกิจ (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อน หรือหลัง) ความสามารถในการส่งเสริมกันนั้นจะทำให้นักการเมืองสามารถที่จะไต่เต้าทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ด้วยความพร้อมทั้งทุนทรัพย์ ทรัพย์ทางบุคลากร และทรัพย์ทางเวลา สังคมไทยจึงยากที่จะเห็นพนักงานประจำเข้า 9 ออก 5 ในสายทางด้านการเมือง

ถ้าอย่างนั้นควรต้องประกอบอาชีพอะไรก่อนการลงการเมืองระดับชาติ?

บางคนที่เกิดมาในตระกูลการเมือง พวกเขาสามารถมีอาชีพแรกคือการเข้าสู่การเมืองระดับชาติได้โดยไม่ต้องสงสัย แต่สำหรับผู้คนที่ไม่ได้เกิดในตระกูลการเมืองนั้นกล่าวได้ว่ามี 3 สายทางที่สามารถเลือกสรรได้

1. การเมืองท้องถิ่น แน่นอนที่สุดการลงการเมืองท้องถิ่นเป็นการเปิดประตูสู่การเมืองระดับชาติอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัจจัยที่ใครสักคนจะลงการเมืองท้องถิ่นได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน จากข้อมูลเบื้องต้นของ ครม. เศรษฐา 1 พบว่า 8 คนจาก 26[3] คิดเป็นร้อยละ 30.76 ล้วนเคยลงสมัครตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่นของพวกเขามาก่อน จึงได้ตัดสินใจลงสมัครในระดับชาติในสังกัดของพรรคต่างๆ ในช่วง 2544 และ 2548   

2. รับราชการ พบว่า 8 คนจาก 26 คิดเป็นร้อยละ 30.76 ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการมาเกือบทั้งชีวิต ทั้ง 8 คนล้วนมีตำแหน่งระดับสูงในส่วนราชการจนได้รับการทาบทามหรือดึงมาเป็นที่ปรึกษาทางกาเรมือง ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนให้ลงการเมืองอย่างเต็มตัว

3. เอกชน พบว่า 9 คนจาก 26 คิดเป็นร้อยละ 34.76 เคยอยู่ในภาคเอกชนมาก่อน โดยสามารถแบ่งย่อยความเป็นภาคเอกชนได้อีก 2 ประเภท คือ

เอกชนแบบลูกจ้าง ซึ่งอาจจะผันตัวเข้าสู่การเมืองแบบเดินทางไปสมัครด้วยตนเอง

เอกชนแบบตำแหน่งระดับสูงหรือเจ้าของกิจการ รูปแบบดังกล่าวนี้เห็นได้ทั่วไปมากกว่าในรูปแบบที่หนึ่ง ผู้มีตำแหน่งนั้นได้รับการทาบทามและรับเชิญให้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของผู้มีอำนาจการตัดสินใจระดับชาติหลายๆ คน จากนั้นจึงได้มีโอกาสเข้าสู่การเมืองแบบเต็มตัว หรือในอีกกรณีคือการเป็นแหล่งทุนให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและพรรคการเมือง เรียกสั้นๆ ได้ว่าเป็นสปอนเซอร์หรือนายทุนพรรค จากนั้นจึงได้รับตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองเป็นการตอบแทนค่าสนับสนุน

จากข้อมูลชุดเบื้องต้นของ ครม.เศรษฐา 1 กล่าวได้ว่าทั้ง 3 สายมีจำนวนบุคคลที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสายไหนที่มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักการเมืองระดับชาติและคณะรัฐมนตรี แต่ข้อเท็จจริงนี้สามารถชี้ให้เห็นถึงพลวัตที่มาของแต่ละบุคคลก่อนการเข้าการเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งอีกหนึ่งข้อสังเกตที่แต่ละคนมีรวมกันคือระดับตำแหน่งทางหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือข้าราชการล้วนแต่ไม่ใช่ระดับต้นหรือกลางทั้งสิ้น

แล้วอายุกับเพศล่ะ มีผลต่อการเป็นนักการเมืองหรือไม่?

มีคำว่าเด็กเกินกว่าจะเข้าสู่การเมืองหรือเปล่า?

นอกจากประเด็นทางคุณวุฒิแล้ว ประเด็นทางวัยวุฒิเองก็เป็นที่จับตามองยิ่งในบริบททางการเมืองที่ความตึงเครียดระหว่างวัยนั้นมีเพิ่มมากขึ้น สำหรับ ครม. เศรษฐา 1 ยังพบการกระจุกตัวของตำแหน่งกับผู้ที่มีอายุมาก โดย 22 คนจาก 33 คน คิดเป็นร้อยละ 66.66 นั้นเป็นผู้มีอายุมากกว่า 59 ปี เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มาจากช่วงอายุ baby boomer และอีก 11 คนจาก 33 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 43-58 ปีหรือเจเนอเรชัน X

ดังที่ได้อธิบายในสามเส้นทางก่อนเข้าสู่การเมือง นักการเมืองส่วนใหญ่มักจะมีตำแหน่งในระดับสูงก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเมือง และการจะขึ้นตำแหน่งระดับสูงได้ หากไม่ลงการเมืองท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าของกิจการในธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัว ล้วนแต่จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการก้าวขึ้นไปสู่ระดับสูง ฉะนั้นแล้วจึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อเห็นนักการเมืองหลายคนเป็นผู้ที่มีอายุในระดับหนึ่ง

สำหรับนักการเมืองรุ่นเยาว์ก็มีสองความเป็นไปได้ ได้แก่

1. ผู้ที่มีความสนใจและสมัครเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ยังอายุไม่มากด้วยตนเอง มีแววเป็นดาวเด่นและโปรไฟล์ดี ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสังคม แต่แน่นอนว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ก็อาจจะต้องใช้เวลาจนล่วงเลยไปแก่ ถึงจะเก็บพรรษาได้มากพอที่จะรับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง

2. ทายาทตระกูลการเมือง กล่าวได้ว่าเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่พร้อมผลักดันและสนับสนุน จนสามารถที่จะเข้าการเมืองได้ตั้งแต่ในวัยเยาว์ และมีอนาคตไกลที่จะเติบโตได้รับตำแหน่งตั้งแต่พรรษายังไม่เยอะมากเนื่องด้วยการมีร่มใหญ่ของตระกูลและครอบครัวในการให้ที่พักพิง

คำว่าเด็กเกินไปสำหรับการเมืองจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงสำหรับสังคมไทยเท่าไรนัก แม้ว่าจะมีข้อกำหนดตามกฎมายระบุอายุขั้นต่ำของผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าเมื่อเข้าการเมืองไปแล้วจะสามารถไต่เต้าหาความก้าวหน้าทางอาชีพการเมืองของตนได้มากน้อยแค่ไหน และผ่านช่องทางใดวิธีไหน

การเมืองยังเป็นเรื่องของผู้ชายหรือเปล่า?

ในบริบทโลกปัจจุบัน ทุกคนหันมาให้ความสนใจทางเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น มีการพูดถึงสัดส่วนของการมีเพศที่หลากหลายในทางการเมือง แต่จากข้อมูลเบื้องต้นของ ครม. เศรษฐา 1 พบว่ามีผู้หญิงร่วมคณะรัฐมนตรีเพียง 5 คนจาก 33 คิดเป็นร้อยละ 15.15 ของทั้งหมด แบ่งเป็นพรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน และพรรคเพื่อไทยอีก 3 คน และ 3 ใน 5 คนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะที่อีก 2 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีสำนักนายก โดยมีกระทรวงเกรด A ในครอบครองอยู่ถึง 2 กระทรวง (กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม)

เมื่อเปรียบเทียบภายในคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 15.15 ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยสำหรับบทบาทของสตรีภายใน ครม. ในนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าการเมืองยังคงวนเวียนในเรื่องของผู้ชายเป็นหลัก ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตนั้นจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเพศและช่วงวัย รัฐมนตรีหญิงเกือบทั้งหมด (4 คนจาก 5 คน) ล้วนมาจากช่วงวัยเจเนอเรชัน X (ช่วงอายุ 43-58 ปี) จึงสามารถที่จะอุปมานได้ว่าการเปลี่ยนผ่านและการทดแทนของช่วงวัยในอนาคต ผู้หญิงจะสามารถเข้ามามีบทบาทได้มากยิ่งขึ้น

แต่ประเด็นสำคัญภายใต้บริบทการเมืองไทยที่จำเป็นจะต้องพูดถึง คือบทบาทของเพศและอายุของนักการเมืองหลายๆ คนอาจจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการก้าวขึ้นตำแหน่งมากเท่าผลงาน (ต่างตอบแทน) เครือข่าย และความสัมพันธ์กับทางพรรค

ทำไมเพศและอายุถึงไม่มีบทบาท? ทั้งที่จำนวนและสัดส่วนนั้นน้อยจนน่าเป็นกังวล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัดส่วนเรื่องเพศหรืออายุนั้นมีจำนวนน้อยจนน่ากังวล และสิ่งที่เรียกว่า ‘เพดานกระจก’ สำหรับผู้หญิงนั้นยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นเสมอ แต่คำว่าบทบาท เพศ หรืออายุในฐานะปัจจัยที่นำสู่ความสำเร็จทางอาชีพการเมืองนั้น ถูกกลบด้วยประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด และเป็น endgame สำหรับผู้ที่สนใจทางด้านการเมืองซึ่งหนีไม่พ้นคำว่า ‘เส้นสาย’

การลงการเมืองจำเป็นต้องมีเส้นสาย ใช่หรือไม่?

คำว่าเส้นสายอาจจะเป็นคำที่ถูกใช้ในแง่ลบจนเกิดไป แต่หากหมายถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ คำตอบก็คือใช่ เพราะในทุกประเด็นที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือแม้แต่เพศ ต่างล้วนไม่สำคัญเท่าปัจจัยทางเครือข่าย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางธุรกิจและอาชีพก่อนหน้าจะเข้าการเมืองเป็นอย่างมาก

คุณอาจจะเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลงการเมืองมาก่อน แต่ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยแรกและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง รมว. ได้ในทันทีด้วยอายุเพียง 44 ปี

คุณอาจจะรับราชการ เป็นข้าราชการระดับสูงมาเกือบตลอดชีวิตจนได้เข้ามารับตำแหน่งใน ครม.

คุณอาจจะมีธุรกิจพันล้านจนมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้นักปกครองหลายๆ ท่าน จึงผันตัวมาเป็นนักการเมืองในภายหลัง

ลักษณะของแต่ละบุคคลที่ถึงแม้จะแตกต่าง มีเส้นทางชีวิตที่ไม่แหมือนกัน แต่พวกเขาล้วนแล้วแต่มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน คือ การรู้จักใครสักคน เพราะในสังคมที่มีเป็นพันล้านคน ทำไมถึงต้องเลือกบุคคลท่านนี้ โอกาสในการที่จะถูกเลือกมาพร้อมกับการให้การสนับสนุนของผู้ที่อยู่ในวงการมาก่อน คำว่าเกื้อหนุนนั้นจึงมาพร้อมกับคำว่าเครือข่ายเสมอ

เครือข่ายหลักๆ ที่ปรากฏจึงมีด้วยกัน 2 ประเภท

1. เครือข่ายแบบ self-made เกิดขึ้นด้วยตัวบุคคลนั้นเองที่อาจจะมีศักยภาพหรือมีปัจจัยบางอย่างที่สามารถทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยน ลักษณะความสัมพันธ์นั้นเป็นไปในเชิงต่างตอบแทน ช่วยเหลือและเกื้อหนุนกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยอาจจะเริ่มจากการเป็นเพื่อน การแนะนำให้รู้จัก หรือทำธุรกิจด้วยกัน หรือการประสานงานทางการเมือง

2. เครือข่ายแบบตระกูลการเมือง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวบุคคลเอง แต่มีสัดส่วนค่อนข้างมากในบริบททางการเมืองไทย พบว่า 11 ท่านจาก 30[4] คิดเป็นร้อยละ 33.33 ของทั้งหมดที่มีเครือข่ายแบบตระกูลการเมือง โดยพบว่า 7 จาก 11 คนนี้เป็น 2nd generation หรือทายาทรุ่นที่ 2 ต่อจากบิดาและมารดา

ดังที่ได้กล่าวถึงในอาชีพก่อนการเข้าสู่การเมือง แม้จะมีอยู่ 3 เส้นทางด้วยกัน แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนหรือเชิญชวนจากผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการเมืองอยู่แล้วทั้งนั้น ฉะนั้นเครือข่ายคือใบเบิกทางแรกในการเข้าสู่การเมือง และเครือข่ายคือประตูสู่ความก้าวหน้าทางการเมืองโดยไม่ต้องสงสัย

ท้ายที่สุดนี้ ข้อมูลเบื้องต้นจาก ครม. เศรษฐา ซึ่งประกอบไปด้วย 33 คนนี้[5] (ไม่รวมนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน) อาจจะไม่สามารถเป็นข้อเท็จจริงแทนประวัตินักการเมืองทั้งประเทศกว่าหลายร้อยหลายพันชีวิตได้ แต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการการศึกษาเบื้องต้นว่าเส้นทางสู่นักการเมืองในยุคสมัยนี้นั้นมีความเหมือนและคล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย

เราสามารถสรุปโดยคร่าวได้ว่า ทางด้านการศึกษา นักการเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีข้อจำกัดของสายที่เรียนมามากนักในช่วงปริญญาตรี แต่ในระดับปริญญาโทล้วนจบทางด้านรัฐศาสตร์เกือบทั้งหมด สำหรับเรื่องอายุและเพศ ยังมีสัดส่วนที่น้อยในปัจจุบัน ทว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคว่าจะสามารถนั่งตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงได้หรือไม่ได้ (หากมีผลงานและเครือข่าย อันเป็นที่ประจักษ์มากพอ) แต่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเป็นนัการเมืองคือการมีกิจการธุรกิจ และการจะเข้าสู่เส้นทางการเมืองนั้นสามารถทำได้ผ่าน 3 เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาครัฐ โดยท้ายที่สุด สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินบทบาททางการเมืองของบุคคลหนึ่งในบริบทการเมืองไทย ก็ยังหนีไม่พ้นสายสัมพันธ์และการได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย

แหล่งข้อมูล

– ขวัญข้าว คงเดชา (2566). คลังข้อมูล คณะรัฐมนตรี คณะที่ 63 (วันที่ 1 กันยายน 2566 – ปัจจุบัน). สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า.


    [1] ไม่รวมคุณจักรพงษ์ แสงมณี เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลได้

    [2] บางท่านอาจจะเห็นแย้งว่ารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์นั้นเป็น 2 สาขาที่แยกออกจากกัน แต่ในงานชิ้นนี้ขอรวมทั้ง 2 อยู่ภายใต้สายศึกษารัฐศาสตร์เพื่อความสะดวกในการจัดกลุ่มและการทำความเข้าใจบริบทโดยสังเขป

    [3] ไม่พบข้อมูลของอีก 7 คนที่เหลือ

    [4] ไม่พบข้อมูลของ 3 ท่าน

    [5] ครม.ในปัจจุบันประกอบไปด้วย 34 คน แต่ในงานศึกษานี้ไม่ได้รวมนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงมีสัดส่วนเท่ากับ 33 คน

    MOST READ

    Thai Politics

    3 May 2023

    แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

    คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

    เอกศาสตร์ สรรพช่าง

    3 May 2023

    Politics

    23 Feb 2023

    จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

    101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

    ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

    23 Feb 2023

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • Always Active

    Save