fbpx

แคปซูลกาลเวลาจากโซเวียต จดหมายจากคนรุ่นใหม่ในอดีตถึงคนรุ่นใหม่ในอนาคต “คนในศตวรรษที่ 21 คงไม่รู้จักสงครามอีกต่อไปแล้ว”

หนึ่งในวาระสำคัญของปี 2024 คือการเปิด ‘จดหมายปรีดี’ หรือเอกสารที่สถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย บันทึกช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ก่อนจะส่งกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โดยเนื้อหาในเอกสาร มีส่วนหนึ่งที่อ้างอิงถึง ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยและหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร เท่ากับว่า เอกสารฉบับดังกล่าว ถูกจัดเก็บไว้นานร่วมหกทศวรรษ โดยขวบปีที่อนุญาตให้สาธารณชนเปิดอ่านได้คือในปี 2024 นี้

สิ่งหนึ่งที่ชวนให้ครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เนืองๆ คือ มันเป็นจดหมายที่เดินทางมาไกลและนานเหลือเกิน บทบันทึกการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ข้องเกี่ยวกับตัวละครสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อย่างปรีดี ที่กว่าจะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะชนก็กินเวลารวม 60 ปี -นานเสียยิ่งกว่าที่ตัวปรีดีหรือบุคคลจากสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทยในเวลานั้น มีชีวิตอยู่จะได้เห็นเสียอีก

ลักษณะการเดินทางข้ามเวลาของจดหมายหรือเอกสารก็ชวนนึกถึงแนวคิด Time capsule หรือแคปซูลกาลเวลา ซึ่งว่าด้วยการรวบรวมข้อมูลหรือสิ่งของต่างๆ ไว้ในพื้นที่แห่งหนึ่ง แล้วกำหนดเวลาเปิดหรือเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวในอนาคต ในระดับปัจเจก หลายคนนิยมเขียนจดหมาย -หรือเก็บของที่ระลึกบางอย่าง- ถึงตัวเองในอนาคต เมื่อเวลาล่วงผ่านจึงอนุญาตให้ตัวตนในอนาคตกลับมาสำรวจตัวเองในอดีตผ่านจดหมายหรือข้าวของเหล่านั้น และในระดับที่ใหญ่ขึ้น มันก็มีนัยยะและเป้าประสงค์ให้เหล่านักประวัติศาสตร์, นักโบราณคดีหรือนักมานุษยวิทยา ได้สบตาอดีตที่มนุษย์ยุคก่อนหน้าพวกเขาตั้งใจเก็บไว้และส่งสารมาถึง

เชื่อกันว่าทั่วทั้งโลกมีแคปซูลกาลเวลาอยู่ราว 10,000 ถึง 15,000 ชิ้น แต่สูญหายไปแล้วกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ แคปซูลเวลาที่มีชื่อเสียงและหลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว คือสารจาก แฮร์มันน์ โบลเล (Hermann Bollé) สถาปนิกชาวออสเตรีย-ฮังการีที่ใช้ชีวิตในโครเอเชียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยโบลเลสร้างข้อความไว้เมื่อปี 1898 และกำหนดให้เปิดในปี 2013 -หรืออีก 115 ปีให้หลัง- ที่หอระฆังเมืองซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย

ข้อความของโบลเลระบุว่า “เมื่อเปิดข้อความนี้แล้ว ก็ขอให้ชาวโครเอเชียจงรวมชาติกันเป็นปึกแผ่นให้จงได้” รวมทั้งแคปซูลกาลเวลาจากยุคปัจจุบันที่อนุญาตให้มนุษยชาติในอนาคตเข้าถึงเท่านั้นอย่าง 100 Years (2015) หนังสั้นกึ่งทดลองที่เขียนบทโดย จอห์น มัลโควิช นักแสดงชาวอเมริกันและกำกับโดย โรเบิร์ด ร็อดริเกวซ ตัวหนังสร้างขึ้นเพื่อโฆษณาคอนยัคซึ่งใช้เวลาบ่มทั้งสิ้น 100 ปี จึงยั่วล้อด้วยการบอกว่าหนังสั้นเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนคอนยัคที่บ่มมาอย่างดี เพราะจะไม่มีใครในยุคสมัยนี้ได้อยู่ดู เนื่องจากหนังกำหนดให้ออกฉายได้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2115 ถือเป็นแคปซูลเวลาในรูปแบบภาพยนตร์ที่แม้แต่ตัวมัลโควิชหรือร็อดริเกวซก็ไม่ได้อยู่ดู มีเพียงคนในอนาคตเท่านั้น (อย่างไรก็ดี ด้านหนึ่งก็มีนักวิชาการหลายคนออกมาวิจารณ์ว่า แคปซูลเวลานั้นไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์เท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่ สิ่งที่ถูกเก็บไว้มักเป็นขยะหรือสิ่งของใช้งานไม่ได้ บอกอัตลักษณ์และเรื่องราวของคนในอดีตได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่อาจถูกพินิจว่ามีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์นั้นมักเป็นบันทึกส่วนตัว, รูปถ่ายหรือเอกสารที่ช่วยให้เห็นภาพของวิถีชีวิตและบรรยากาศในอดีตได้)

การสำรวจอวกาศของ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) ในยุค 1960s (ที่มาภาพ)

ทั้งนี้ หนึ่งในแคปซูลกาลเวลาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ แคปซูลกาลเวลาจากโซเวียต ส่วนใหญ่แล้วถูกเขียนขึ้นมาโดยคนหนุ่มสาวเมื่อปี 1967 ในวาระครบรอบ 50 ปีของการปฏิวัติรัสเซีย (1917-1923) โดยพวกเขาหวังว่า จดหมายเหล่านี้จะถูกเปิดออกในอีก 50 ปีถัดจากวันที่เขียนหรือในปี 2017 อันจะเป็นปีที่ครบรอบหนึ่งร้อยปีของการปฏิวัติรัสเซียพอดี และหลายฉบับก็เต็มไปด้วยสายตาของชาวโซเวียตที่เชื่อมั่นว่า ในอีกห้าทศวรรษข้างหน้า โซเวียตจะยังเป็นปึกแผ่นและขึ้นแท่นเป็นมหาอำนาจของโลก

จดหมายปี 1967 ฉบับหนึ่งจากแคว้นอาร์ฮันเกลสค์ เขียนพรรณาการเปลี่ยนแปลงของเมืองเล็กๆ ที่กำลังเติบโตในแคว้นให้ผู้อ่านในอนาคตว่า “เหล่าเยาวชนของเรากำลังสร้างของขวัญให้พวกคุณอยู่นะ เหล่าคนหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 21 โคเรียจมากำลังจะเปลี่ยนจากหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเมืองสมัยใหม่ในอีกสิบปีข้างหน้านี่แล้ว ทั้งเรายังสร้างแผ่นดินขึ้นมาบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นหนองบึงในเซเวรอดวินสค์ ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมค้าไม้ใหญ่ยักษ์ของทางเหนือ เมืองคอตลัส, โซลอมบัลและอาร์ฮันเกลสค์ก็มีโรงงาน เราเชื่อว่าพวกคุณจะมีชีวิตที่ดีกว่าพวกเรา

“คุณจะได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ใดก็ได้ในกาแล็กซีของเรา ขอให้ลงมือทำให้โลกของเราดีขึ้นนะ พวกเราออกจะอิจฉาพวกเธอในอนาคตอยู่ไม่น้อยเลย เพราะพวกเธอคือคนที่ได้เฉลิมฉลองขวบปีที่มาตุภูมิโซเวียตของพวกเรามีอายุครบหนึ่งร้อยปี แต่เราก็รู้ว่าคุณก็คงอิจฉาคนหนุ่มสาวในรุ่นเราที่อุทิศตนทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเช่นกัน พวกเรามีเป้าหมายชัดเจน มีอนาคตที่สดใสรอเราอยู่ มีภารกิจอีกมากมายรอให้เราบรรลุ เรามีสิ่งที่เราอยากทุ่มหัวใจ สติปัญญา พละกำลังและเรี่ยวแรงลงไปให้ และนี่ล่ะคือแหล่งความสุขของพวกเรา”

จดหมายอีกฉบับถูกขุดพบในเมืองโนโวซีบีสค์ เนื้อหานั้นระบุว่าเจ้าของจดหมายเชื่อมั่นหมดหัวใจว่าในอนาคตปี 2017 รัสเซียจะกลายเป็นหัวเรือสำคัญของการสำรวจอวกาศ “ถึงลูกหลานของเราในอนาคต พวกคุณกำลังอยู่ในวันที่พิเศษที่สุดนั่นคือวันครบรอบหนึ่งร้อยปีของสหภาพโซเวียต ขอแสดงความยินดีกับพวกคุณเนื่องในวาระโอกาสอันยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์นี้ เรารู้ว่าช่วงเวลาที่พวกเราอยู่นั้นน่าสนใจ แต่ช่วงเวลาของคุณคงน่าสนใจกว่ามากทีเดียว ถึงตอนนั้น เราเชื่อว่าคุณคงสำรวจดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราแล้วอย่างถ้วนทั่ว และคงออกเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์กับสัมผัสแผ่นดินบนดาวอังคาร เดินหน้าสานต่อภารกิจครองอวกาศกันแล้ว และยานอวกาศของพวกคุณคงกำลังเคลื่อนผ่านกาแล็กซีอยู่เป็นแน่”

อีกฉบับหนึ่งถูกขุดพบที่เมืองตีรัสปอล สาธารณรัฐมอลเดเวียพรีดเนสโตรวีซึ่งปัจจุบันอยู่ติดกับยูเครนตะวันตก เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “แด่สหายในอนาคต นี่คือข้อความที่กรรมาชีพจากศวรรษที่ 20 เขียนถึงพวกคุณ บอกลูกๆ และหลานๆ ของคุณว่าเราได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกคุณอย่างไรบ้าง พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ซึ่งเกิดการค้นพบอันแสนมหัศจรรย์มากมาย โลกทั้งใบสั่นไหวด้วยแรงปฏิวัติขณะที่สงครามทำให้ดาวทั้งดวงมอดไหม้ ถึงตอนที่ข้อความนี้ถูกเปิดอ่าน คุณคงหาทางกำจัดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นอันตรายได้หมดแล้ว และคงใช้ชีวิตโดยปราศจากความแก่เฒ่าหรือความเจ็บป่วยใดๆ แต่ก็อย่าลืมล่ะว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกคุณมาถึงจุดนี้ เมื่อเราค้นพบความลึกลับของโรคมะเร็งและศึกษาหาทางจนข้ามผ่านอุปสรรคทั้งปวงของเนื้อเยื่อจากโรคได้”

หนึ่งในจดหมายจากแคปซูลกาลเวลา (ที่มาภาพ)

และจดหมายที่ถูกอ้างถึงบ่อยที่สุดจากแคปซูลกาลเวลาของโซเวียตคือ จดหมายที่ถูกขุดค้นพบในยูเครน -ซึ่งในเวลาปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในเขตสงครามกับรัสเซีย- ในจดหมายนั้นระบุข้อความว่า “พวกคุณในอนาคตคงไม่ต้องมาตะโกนว่า ‘ขอประณามการรุกรานของอิสราเอล’ คงไม่ต้องออกมาประท้วงเรื่องอาชญกรรมสงครามเวียดนาม ไม่ต้องอ่านข่าวเจอเรื่องโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติในคิวบา เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อยู่ห่างไกลจากตัวพวกคุณแค่ไหนกันแล้วนะ […] เหล่าเยาวชนปี 2017! พวกเรามั่นใจว่าคุณได้ทำตัวควรค่าแก่สิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าพวกคุณได้อุทิศเนื้อตัวสร้างไว้ให้ ด้วยการที่คุณสร้างโลกใบใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“พวกคุณช่างเป็นคนรุ่นที่โชคดีเหลือเกิน เพราะในอนาคต สงครามจะเป็นแค่เรื่องในประวัติศาสตร์เท่านั้น”

“คนในศตวรรษที่ 21 คงไม่รู้จักสงครามอีกต่อไปแล้ว”

นอกจากนี้ แคปซูลกาลเวลาหลายฉบับยังเชื่อมั่นว่าโซเวียตในอนาคตจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านเอกภพ อันเนื่องมาจากการแข่งขันยุคสงครามเย็นที่โลกเสรีนิยมประชาธิปไตยกับโลกคอมมิวนิสต์เลือกปะทะกันด้วยเทคโนโลยี และไม่มีนวัตกรรมใดที่สำแดงความอหังการ์ของมนุษยชาติได้มากไปกว่าการออกเดินทางสำรวจนอกโลก เวลานั้น โซเวียตเพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นไปโคจรในอวกาศได้เมื่อปี 1957 ก่อนสหรัฐฯ จะประกาศชัยในอีกไม่กี่ปีให้หลังด้วยการส่งยานอะพอลโล 11 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ เนื้อหาของแคปซูลกาลเวลาหลายฉบับจึงเต็มไปด้วยการเห็นว่าช่วงวัยแห่งการสำรวจเอกภพคือหมุดหมายของยุคสมัยและเป็นสิ่งที่คนรุ่นต่อไปต้องสืบทอด แคปซูลกาลเวลาหลายชิ้นยังถูกเก็บฝังไว้มิดชิดจนยากจะนำออกมาเปิดอ่าน เช่น ถูกโบกทับไว้ใต้คอนกรีตหนาหนักหรือโลหะเหล็ก เพราะเจ้าของจดหมายเชื่อว่าโลกในปี 2017 คงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทลายเนื้อปูนหรือเนื้อเหล็กได้โดยง่าย

กระนั้น มองย้อนกลับไปแล้วก็อาจน่าเศร้า เพราะสหภาพโซเวียตไม่ได้รุ่งโรจน์ดังที่พวกเขามาดหมายไว้ โดยโซเวียตสิ้นสุดลงในปี 1991 ซึ่งเยาวชนที่เขียนจดหมายผนึกไว้ในแคปซูลเวลาหลายคนคงเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ เฝ้ามองความเสื่อมถอยของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเกรียงไกรในยุคสมัยพวกเขาล่มสลายลงช้าๆ

มิหนำซ้ำ ความคาดหวังที่พวกเขามีต่อ ‘โลกอนาคต’ อันสดใสนั้นก็ชวนให้เจ็บปวดเมื่อย้อนกลับมาอ่าน ยิ่งโดยเฉพาะกับเรื่องสงคราม เวลานั้น โซเวียตและโลกทั้งดวงเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง และยังอยู่ในระยะบาดเจ็บชอกช้ำ การคาดหวังให้อนาคตเป็นโลกที่ปราศจากการพุ่งรบก็อาจเป็นหนทางหนึ่งในการประคองให้ตัวเองมีความหวัง และแม้สงครามกับความขัดแย้งจะปะทุคู่กันกับโลกเรื่อยมา -กระทั่งปี 2017 เองก็ยังเป็นปีที่เกิดการพุ่งรบอยู่หลายจุด- แต่ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราอาจเห็นภาพของ ‘สงคราม’ ได้ชัดขึ้นกว่าที่เคย ทั้งจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครนซึ่งถือกำเนิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 และกินระยะเวลาเรื่องมาจนถึงนาทีนี้ รวมทั้งความขัดแย้งจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งหลังความขัดแย้งดำเนินอยู่ร่วมหลายปี เดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาก็เปิดฉากเป็นสงครามบทใหม่ที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกทั้งใบ และล่าสุด หลังจากที่ประเทศแอฟริกาใต้ยื่นฟ้องอิสราเอลข้อหาละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide Convention) ของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice -ICJ) ก็ระบุว่าข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยอิสราเอลนั้นอาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบและพิจารณาหลายปี กระนั้น ก็ตัดสินว่าสถานการณ์ในฉนวนกาซ่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงด้านมนุษยธรรม และให้อิสราเอลใช้อำนาจในขอบเขตของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดการโศกนาฏกรรมตามมา และกลับมารายงานผลในอีกหนึ่งเดือนให้หลัง

นับดูก็เป็นเวลาร่วมสี่เดือนแล้วหลังจากที่เกิดการปะทะกันในเดือนตุลาคม มีรายงานว่าจนถึงวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ร่วม 26,000 ราย เป็นชาวอิสราเอล 1,410 รายและชาวปาเลสไตน์ 25,105 ราย รวมทั้งมีคนที่ต้องอพยพจากพื้นที่จนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นกว่า 85 เปอร์เซ็นต์

แคปซูลกาลเวลาของโซเวียตถูกเปิดออกในปี 2017 จนถึงตอนนี้ ก็ผ่านมาเพียงเจ็ดปีเท่านั้นนับตั้งแต่เอกสารต่างๆ ถูกเปิดอ่าน

น่าเสียดายที่โลกเต็มไปด้วยความน่าหดหู่ ข้อเท็จจริงหลายประการสวนทางกับความมุ่งหวัง สดใสของคนรุ่นใหม่ในอดีตในการจะเห็นแสงสีทองผ่องอำไพในอนาคต และน่าเจ็บปวดที่สงครามแทบไม่เคยขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยแม้แต่ขวบปีเดียว

หวนกลับมาที่ ‘จดหมายปรีดี’ ก็น่าคิดว่าเอกสารที่เดินทางข้ามเวลามาร่วม 60 ปีนั้น มีข้อความใดที่เอ่ยถึงคนในอนาคตหรือไม่ และน่าครุ่นคิดว่า คนในอดีตจะจินตนาการเรื่องราวและภาพของไทยหลังยุคเปลี่ยนผ่านอย่างไร และจะมองมันด้วยสายตาแบบไหนหากเห็นสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้

MOST READ

PopCapture

29 Jun 2022

20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002

คอลัมน์ PopCapture ชวนย้อนกลับไปยัง 20 ปีก่อนในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 กับนัดเตะสุดจะอื้อฉาวระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี กับกรรมการ ไบรอน มูเรโน ที่ชีวิตกระโจนขึ้นลงตั้งแต่เป็นผู้ตัดสินที่ชาวอิตาลีหมายหัว, นักการเมือง ไปจนถึงคนส่งยา

พิมพ์ชนก พุกสุข

29 Jun 2022

PopCapture

7 Dec 2021

รวันดา : การชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงบทเรียนจากการชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อการยอมรับบาดแผลและชำระประวัติศาสตร์มืดคือบันไดขั้นแรกของการก้าวไปข้างหน้า

พิมพ์ชนก พุกสุข

7 Dec 2021

column name

29 May 2023

สหรัฐฯ กับฐานทัพในไทย ระเบียบโลกใหม่ และรัฐบาลลับใต้ดิน: การเมืองเรื่องของทฤษฎีสมคบคิด

นอกเหนือจากการ ‘หนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช’ ทฤษฎีสมคบคิดที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานเห็นจะเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ หวังทำให้ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นนี่เอง… ทำเป็นเล่นไป มีคนเชื่ออยู่นะ

ทำไมเราจึงเชื่อทฤษฎีสมคบคิด มันมีรากฐานมาจากไหน แล้วเราล่ะเคยเชื่ออะไรทำนองนี้โดยไม่รู้ตัวบ้างหรือเปล่า

พิมพ์ชนก พุกสุข

29 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save