สหรัฐฯ กับฐานทัพในไทย ระเบียบโลกใหม่ และรัฐบาลลับใต้ดิน: การเมืองเรื่องของทฤษฎีสมคบคิด

หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดยอดนิยมในไทย หากไม่นับเรื่องหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ว่าสหรัฐอเมริกาพยายามเข้ามาสร้างฐานทัพในไทย และทำให้ไทยตกเป็นหนึ่งในจักรวรรดิอันจะยังผลให้ประเทศไทยตกเป็นทาสของประเทศอื่นไปในที่สุด

ล่าสุด เราต่างได้เป็นประจักษ์พยานเห็นกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ออกไปยื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดแทรกแซงกิจการภายในประเทศ หรือกระทั่งนักแสดง จารุณี สุขสวัสดิ์ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไทยไม่ต้องการเป็นทาสของอเมริกา และไม่ต้องการเป็นทาสของใคร

ทั้งวิธีคิดเรื่องการสร้างฐานทัพ วิธีคิดเรื่องการตกเป็นจักรวรรดินิยมนั้นดูราวกับหลุดมาจากยุคสงครามเย็น ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นช่วงที่สหรัฐฯ รุกคืบทำงาน ‘การเมือง’ กับประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นยุทธภูมิชั้นดีในการรับมือกับความเครียดเขม็งของสงครามเวียดนามและการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะในแง่การเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้รองรับการขยายตัวของระบบทุนนิยมแบบอเมริกา หรือแม้แต่อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยเองก็ตามที “สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างรุนแรงเนื่องจากวิตกถึงการล่มสลายของภูมิภาคนี้ตามทฤษฎีโดมิโน ซึ่งจะส่งผลทำให้สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าจักรวรรดิสูญเสียอิทธิพลเหนือเอเชียตะวันออกไกล” (ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี, ณัฐพล ใจจริง, หน้า 127)

แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ล่วงผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ ระดับว่าประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ อาจคาดไม่ถึงว่านโยบายระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็นที่เขาผลักดันนั้น ยังทรงอิทธิพลอยู่ในความคิดของคนกลุ่มหนึ่งขนาดนี้

จะว่าไป ทฤษฎีสมคบคิดกับการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องห่างไกลกันนัก ลำพังการเมืองในสหรัฐอเมริกาเองก็ปลุกปล้ำกับทฤษฎีสมคบคิดมาไม่น้อย ไล่กันมาตั้งแต่แผนสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีมาจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของคิวอะนอน (QAnon) ที่กลายมาเป็นการบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมปี 2021

เว็บไซต์พจนานุกรม Merriam-Webster นิยามคำว่าทฤษฎีสมคบคิดไว้ว่าเป็น “ทฤษฎีที่ใช้อธิบายเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างว่าเป็นผลมาจากแผนการลับโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือเป็นทฤษฎีที่ยืนกรานว่ายังมีเรื่องสำคัญที่ถูกผู้มีอำนาจบางกลุ่มปกปิดไว้เป็นความลับจากสาธารณชน”

สัญลักษณ์ด้านหลังของมหาลัญจกรสหรัฐ (Great Seal of the United States) และธนบัตรหนึ่งดอลลาร์ พร้อมข้อความภาษิตภาษาละตินว่า ‘novus ordo seclorum’ หรือแปลได้เป็นคำว่า ระเบียบใหม่แห่งยุคสมัย (A new order of the ages) โดยทฤษฎีสมคบคิดเชื่อว่าเกี่ยวโยงกับวิธีคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่ (ที่มาภาพ)

ทฤษฎีสมคบคิดที่หลายคนเคยผ่านตามาก่อนน่าจะเป็น ‘ระเบียบโลกใหม่’ หรือ New World Order ว่าด้วยความเชื่อที่ว่ามีรัฐบาลโลกคอยปกครองและชักใยประเทศอื่นๆ อยู่ และถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกันมากที่สุดทฤษฏีหนึ่ง เดิมทีมันถูกพูดถึงอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมต่อต้าน (counterculture) อย่างการต่อต้านรัฐบาลในเวลานั้น หรือกลุ่มคริสเตียนบางลัทธิที่เชื่อว่าโลกจะมาถึงจุดจบพร้อมการอุบัติขึ้นของปฏิปักษ์ของพระคริสต์ (Antichrist)

อย่างไรก็ตาม คำว่าระเบียบโลกใหม่หรือ New World Order นั้นมีความหมายในทางการเมืองอยู่จริง กล่าวคือหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งส่งผลให้ผู้นำหลายๆ ประเทศเห็นถึงความพินาศและบาดแผลอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงมองหากติกา ระบบระเบียบการปกครองระหว่างประเทศขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำอีก นำมาสู่การตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งมีจุดประสงค์คือเพื่อปกป้องสันติภาพของโลกให้ดำรงอยู่ ก่อนจะล้มเหลวอย่างน่าเศร้าเมื่ออีกไม่กี่ปีต่อมาโลกก็ได้เคลื่อนตัวไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ฐานวิธีคิดที่เชื่อว่ามีรัฐบาลลับใต้ดินที่คอยบงการเหล่าผู้นำจากประเทศมหาอำนาจทั่วโลกนั้น มีรากมาจากสมาคมจอห์น เบิร์ช (The John Birch Society) กลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดที่ก่อตั้งขึ้นโดย โรเบิร์ต เวลช์ จูเนียร์ นักธุรกิจผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้าเส้น ช่วงที่สมาคมจอห์น เบิร์ชยังเรืองอำนาจอยู่นั้น มีบันทึกว่าพวกเขาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่ว่าด้วยภัยร้ายแรงของคอมมิวนิสต์ (รวมทั้งประกาศว่า ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เป็นสายลับจากคอมมิวนิสต์!) ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงกว่า 500 รายการ ยังไม่นับรวมจดหมายเวียนที่พูดถึงสหรัฐอเมริกาที่กำลังถูกลัทธิคอมมิวนิสต์แทรกแซง บวกกันกับที่เวลานั้นเป็นช่วงสงครามเย็นและการผลิบานของกลุ่มชนฮิปปี้ (กับยาเสพติด) ซึ่งมักต่อต้านรัฐบาลโดยธรรมชาติและหลงใหลในวัฒนธรรมต่อต้านอยู่แล้ว วิธีคิดที่ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นมีโอกาสถูกใครสักคน -ที่อาจไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ได้- ครอบงำอยู่จึงแพร่กระจายไปทั่วสังคม

สมาคมจอห์น เบิร์ช (ที่มาภาพ)

ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยระเบียบโลกใหม่ยังเชื่อว่า หนึ่งในการ ‘จัดระเบียบ’ คือการควบคุมประชากรมนุษย์ผ่านนโยบายการวางแผนครอบครัวของรัฐบาล เช่น สิทธิในการเข้าถึงการคุมกำเนิดไปจนถึงการทำแท้ง หรือการเข้าถึงวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามธรรมชาติต่างๆ ตั้งแต่โปลิโอ, บาดทะยัก ไปจนถึงโควิด-19 ขณะที่บางสายเชื่อว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการทำสงครามคือหนทางหนึ่งในการควบคุมจำนวนประชากรตามทฤษฎีมาลธูเซียนของ โธมัส มาลเธียส นักวิชาการชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต มนุษย์จะประสบมหันตภัยครั้งใหญ่เมื่อประชากรล้นโลก

แม้จะฟังเป็นเรื่อง ‘หลุดโลก’ ขนาดไหน แต่ผลจากความเชื่อทฤษฎีสมคบคิดก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าขึ้นในชีวิตได้จริงๆ ตุลาคมปี 2016 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชายสองคนข้อหาสะสมอาวุธปืน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ควบคุมและสั่งการ (!!) หรือที่รู้จักกันในชื่อโปรเจ็กต์ HAARP -ซึ่งมีอยู่จริง โดยเป็นโปรเจ็กต์วิจัยชั้นบรรยากาศของมหาวิทยาลัยอลาสกาแฟร์แบงค์- เพื่อกันไม่ให้มนุษย์สื่อสารกับพระเจ้าอันจะนำไปสู่ความยุ่งยากในการจัดระเบียบโลกใหม่

ดวงตาสัพพัญญู (Eye of Providence) ถูกหยิบมาใช้ในฐานะสัญลักษณ์ของสมาคมลับอิลลูมินาติอยู่เนืองๆ (ที่มาภาพ)

ระเบียบโลกใหม่ยังโยงไปถึงสมาคมลับอิลลูมินาติ (Illuminati) ที่ตอนนี้น่าจะกลายเป็นหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่อยู่ในแวดวงวัฒนธรรมกระแสหลักที่สุดแล้ว ตั้งแต่คอมิก The Illuminati ของค่ายมาร์เวลที่พูดถึงกลุ่มองค์กรลับซูเปอร์ฮีโร แถมไปปรากฏใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) ในฐานะยอดมนุษย์จากอีกจักรวาลคู่ขนาน, นิยาย Angels & Demons (2000) ของนักเขียนชาวอเมริกัน แดน บราวน์ ว่าด้วยกลุ่มอิลลูมินาติที่หวังระเบิดกรุงวาติกัน รวมทั้งในอุตสาหกรรมดนตรีที่หลายคนอาจเคยเห็นสัญลักษณ์มือสามเหลี่ยมของ เจย์-ซี แร็ปเปอร์ชื่อดัง (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอันใดกับอิลลูมินาติ แต่หมายถึง Roc-A-Fella ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้น โดยรูปมือสามเหลี่ยมหมายถึงเพชร ในฐานะก้อนหินประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าสูงลิ่ว) จนเจ้าตัวถูกโยงไปว่าเป็นคนที่องค์กรลับดังกล่าวส่งมา

ทั้งนี้ องค์กรลับอิลลูมินาติมีตัวตนอยู่จริงตั้งแต่สมัยยุคเรืองปัญญา โดยอิลลูมินาติเป็นชื่อขององค์กรลับที่ก่อตั้งขึ้นทางตอนเหนือของบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ก่อนจะแยกตัวจากกันในปี 1785 เมื่อรัฐบาลหวาดหวั่นว่าสมาคมลับซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฟื่องฟูในเวลานั้น จะกลายเป็นต้นธารของการล้มล้างระบอบกษัตริย์และศาสนาคริสต์ในบาวาเรีย ทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าองค์กรอิลลูมินาติในบาวาเรียมาพบเจอกันหลังจากปี 1785 ด้วย

อิลลูมินาติกลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลักอีกครั้งราวศตวรรษที่ 20 เนสตา เฮเลน เว็บสเตอร์ นักเขียนชาวอังกฤษเป็นผู้ ‘ปลุกผี’ อิลลูมินาติขึ้นมาอีกครั้งว่าองค์กรลับดังกล่าวเป็นแขนขาของชนชั้นสูงชาวยิว และหวังครอบงำทั้งโลกผ่านการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ บวกรวมกันกับเป็นช่วงเวลาที่โลกเคลื่อนตัวเข้าสู่วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต อิลลูมินาติรวมถึงความเชื่อลี้ลับต่างๆ -เยติ, เนสซี, มนุษย์ต่างดาว ฯลฯ- จึงเป็นเสมือนของหวานสำหรับนักตะลุยโลกอินเทอร์เน็ต กลายมาเป็นมีม เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักที่เห็นผ่านตากันได้รายวัน

หรือล่าสุดกับคิวอะนอน กลุ่มคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่ามีคนจำนวนมากที่เข้าลัทธิบูชาซาตาน, กินเนื้อคน หรือค้ามนุษย์ มุ่งหวังจะโจมตีโค่นล้ม โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ โดยมีหลักฐานคร่าวๆ ว่าคิวอะนอนปรากฏตัวในโลกอินเทอร์เน็ตราวปี 2017 หรือหนึ่งปีให้หลังทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เรียกตัวเองว่า คิว (Q) โพสต์ข้อความลงบนโฟร์แชน (4chan) เว็บบอร์ดอิสระว่า เขามีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามครอบงำรัฐบาลของทรัมป์ วาลเตอร์ คิม นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของเรื่อง Up in the Air (2001 -ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันปี 2009) วิเคราะห์ว่าเหตุผลที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดของคิวถูกพูดถึงและแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างนั้น ไม่เพียงแค่อิทธิพลของโลกอินเทอร์เน็ตที่ทรงพลังกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ยังรวมถึงวิธีการโพสต์ของคิว ซึ่งมักทิ้งเป็น ‘คำใบ้’ ให้คนไปตามสืบมากกว่าจะระบุเนื้อหาโดยชัดเจน หนึ่งในคำสำคัญที่คิวโพสต์คือ “ตามเจ้ากระต่ายขาวไป” (“Follow the White Rabbit”) เพื่อกระตุ้นให้คนอ่านตามปะติดปะต่อคำใบ้เอาเอง “คนบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้อยากเป็นคนอ่าน พวกเขาอยากเป็นคนเขียนเล่าเรื่อง ไม่ได้อยากได้คำตอบที่ทิ้งไว้ให้ แต่อยากได้คำตอบซึ่งพวกเขาเป็นคนหามาได้ต่างหาก” คิมบอก (ซึ่งว่าไปก็เหมือนจะจริง เมื่อพินิจจากวัฒนธรรม ‘นักสืบโซเชียล’ ที่แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าตอนนี้)

YouTube video

การบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา ก็มีรากฐานบางส่วนมาจากกลุ่มคิวอะนอน ภายหลังจากที่รีพับลิกันและทรัมป์แพ้การเลือกตั้งปี 2020 กลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ -ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มคนจากคิวอะนอน รวมทั้งกลุ่มการเมืองขวาจัดในนาม National Anarchist Movement และ America First Movement- บุกเข้ารัฐสภาเพื่อป้องกันไม่ให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรประกาศรองรับชัยชนะของ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต

พ้นไปจากนี้ ทฤษฎีสมคบคิดยังกินพื้นที่ไปถึงวัฒนธรรมกระแสหลักอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องการเมืองด้วย ลำพังในอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันก็มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายเต็มไปหมด นับตั้งแต่ พอล แม็กคาร์ตนีย์ สมาชิกวง The Beatles อันเกรียงไกรนั้นแท้จริงเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1966 (!!) ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่เพื่อจะให้วงเดินหน้าต่อไปได้ ค่ายเพลงและสมาชิกคนอื่นๆ จึงว่าจ้างชายคนหนึ่งที่หน้าตาเหมือนแม็กคาร์ตนีย์ทุกระเบียดนิ้วให้มาเป็นแม็กคาร์ตนีย์ร่างจำลอง แล้วกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับประเทศพร้อมวลี “Paul is dead” (พอลตายแล้ว) จนคนพากันจ้องจับผิดพ่อหนุ่มแม็กคาร์ตนีย์กันทั้งเมือง และแม้กระทั่งเมื่อแม็กคาร์ตนีย์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Life ในปี 1969 หลายคนก็ยังไม่ปักใจเชื่อเพราะอาจเป็นแม็กคาร์ตนีย์ร่างจำลองมาให้สัมภาษณ์ออกสื่อก็เป็นได้! (เอ่อ…)

ในทางกลับกัน ก็มีแนวคิดที่เชื่อว่าตอนนี้ เอลวิส เพรสลีย์ ราชาร็อคแอนด์โรลล์ยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง ถึงขั้นมีหนังสือ Is Elvis Alive (1988) ที่ติดอันดับขายดีอยู่พักใหญ่ บ้างก็ว่าที่เขาต้องกุข่าวเสียชีวิตขึ้นมานั้นเพราะแท้จริงเพรสลีย์เป็นสายลับให้รัฐบาลอเมริกา -ซึ่งกำลังเตรียมรับมือกับการเข้าสู่สงครามเย็น- ในเวลานั้น บ้างก็ว่าเขามีปัญหากับเจ้าพ่อมาเฟียจึงต้องปล่อยข่าวว่าเสียชีวิตแล้วหลบไปกบดาน หรือบ้างก็ว่าเขาทำงานให้ FBI และจำเป็นต้องลบตัวตนทิ้งเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลง

อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมามองยังเรื่องที่สหรัฐฯ พยายามเข้ามาครอบงำการเมืองไทย และหวังทำให้ไทยกลายเป็น ‘เมืองขึ้น’ ในศตวรรษที่ 21 ด้านหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารากฐานของมันย่อมผสมผสานมาจากสารพัดแนวคิดที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แนวคิดแบบชาตินิยมโดยรัฐไทยที่ป่าวประกาศว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้น, ความภาคภูมิใจในเอกราช หรือตำนานการกู้ชาติที่ปรุงแต่งกันมาไม่รู้กี่ด่าน ไม่มากก็น้อยน่าจะมีส่วนช่วยถักทอแนวคิดที่สร้างความ ‘เป็นอื่น’ ขึ้นมา และคายออกมาเป็นความหวาดกลัวต่อชาติตะวันตกในที่สุด

MOST READ

PopCapture

7 Dec 2021

รวันดา : การชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงบทเรียนจากการชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อการยอมรับบาดแผลและชำระประวัติศาสตร์มืดคือบันไดขั้นแรกของการก้าวไปข้างหน้า

พิมพ์ชนก พุกสุข

7 Dec 2021

PopCapture

29 Jun 2022

20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002

คอลัมน์ PopCapture ชวนย้อนกลับไปยัง 20 ปีก่อนในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 กับนัดเตะสุดจะอื้อฉาวระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี กับกรรมการ ไบรอน มูเรโน ที่ชีวิตกระโจนขึ้นลงตั้งแต่เป็นผู้ตัดสินที่ชาวอิตาลีหมายหัว, นักการเมือง ไปจนถึงคนส่งยา

พิมพ์ชนก พุกสุข

29 Jun 2022

PopCapture

14 Feb 2022

‘996’ ระบบทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มที่สร้างแผลทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้จีน

คอลัมน์ PopCapture เขียนถึงระบบการทำงานแบบ 996 หรือทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มในจีน จนเกิดการลุกฮือของเหล่าพนักงานออฟฟิศก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ที่สร้างผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม

พิมพ์ชนก พุกสุข

14 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save