fbpx
สมพร เพ็งค่ำ : เสียงของชุมชนกับผลกระทบเรื่องสุขภาพ

สมพร เพ็งค่ำ : เสียงของชุมชนกับผลกระทบเรื่องสุขภาพ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

ในโลกที่อุตสาหกรรมพัฒนาและเฟื่องฟูอย่างไม่หยุดยั้ง เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยกำลังการผลิต นั่นหมายถึงจำนวนโรงงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่ของโลกมีเท่าเดิม การค่อยๆ รุกคืบเข้าไปสู่พื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อขุดเอาทรัพยากรมาใช้ เช่น การขุดเหมืองแร่ ขุดเจาะน้ำมัน สร้างโรงงาน จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ และทุกภาคส่วนควรช่วยกันจับตา

ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่การสร้างตึกสูงในเมือง หรือก่อสร้างบ้านติดริมแม่น้ำ ทะเล หรือชายหาด ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบก่อนจะอนุมัติให้สร้าง ต้องมีการจัดทำ ‘รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) เพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งก่อสร้างจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจำเป็นต้องสนใจเรื่องของ ‘สุขภาพ’ ของผู้คนที่ต้องได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีด้วย

การทำ ‘ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ’ หรือ Health Impact Assessment (HIA) จึงเกิดขึ้นตามมา ก่อนขยับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กลายเป็น ‘การประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ หรือ Environmental Health Impact Assessment (EHIA)

ถ้าดูในเชิงระบบ ดูเหมือนว่าจะมีกลไกคัดกรองก่อนการก่อสร้างแล้ว แต่ในเชิงปฏิบัติ การจัดทำรายงาน EIA และ HIA นั้นมาจากการจัดทำของ ‘บริษัทที่ปรึกษา’ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการก่อสร้าง สิ่งที่ผิดพลาดคือ ในกระบวนการเหล่านี้ไม่มีเสียงจากคนในชุมชนเลย ทั้งที่พวกเขาเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง

สมพร เพ็งค่ำ คือคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่าสิบปี เป็นคนแรกๆ ที่เริ่มจัดทำ ‘การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน’ หรือ Community Health Impact Assessment (CHIA) เพื่อให้ชุมชนได้ส่งเสียง และนำเอาความรู้ที่พวกเขามี มาใช้ร่วมกับการประเมินทัดเทียมกันกับผู้เชี่ยวชาญ

จากเป็นพยาบาลที่ศิริราช เห็นปัญหาชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ขยับมาเป็นอาจารย์สอนพยาบาลที่อุดรฯ เพราะคิดว่า “ถ้าเราทำงานโรงพยาบาลก็ได้แค่ตัวเรา แต่ถ้าเราสร้างเด็กให้เข้าใจปัญหาสุขภาพว่าไม่ได้มาจากพฤติกรรมเท่านั้น แต่มาจากโครงสร้างทางสังคมด้วยได้ ก็น่าจะดี เราจึงคิดว่าสอนเด็กดีกว่า”

จนเมื่อเกิดเหตการณ์เหมืองแร่โปแตสที่อุดรธานี ช่วงปี 2544-2545 เธอจึงได้มีโอกาสเข้าไปช่วยชาวบ้านประเมินผลกระทบ แล้วเธอก็พบว่าตัวเองไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จึงเริ่มศึกษามากขึ้น และขยับเข้ามาทำงานเชิงโครงสร้างที่สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ปัจจุบัน สมพรออกมาทำงานอิสระใน ‘สถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน’ (Community-led Impact Assessment Institute) เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างเครือข่ายนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชา ทั้ง NGOs นักกฎหมาย และตัวแทนชุมชน

“เราตั้งใจที่จะทำงานพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการประเมินผลกระทบด้วยตนเอง แล้วใช้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลกระทบตรงนี้ เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจโครงการพัฒนาหรือนโยบายที่จะกระทบต่อชุมชน”

ใต้พรมเรื่องสิ่งแวดล้อมมีปัญหาอะไรซุกอยู่บ้าง และในฐานะคนทำงาน เธอมองเห็นความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร คำตอบอยู่ในบทสนทนาต่อไปนี้

สมพร เพ็งค่ำ ชุมนุม

ปัญหาในการจัดทำ HIA และ EIA ของไทยคืออะไร ทำไมจึงต้องมี CHIA ขึ้นมา

HIA ของประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ไม่เหมือน EIA ที่เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ HIA สามารถทำได้หลายระดับ ตั้งแต่ นโยบาย แผนงาน โครงการ  นอกจากนี้ ประชาชนยังมีสิทธิขอให้ทำ HIA และชุมชนสามารถทำได้เอง ต่างจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ที่กำหนดการทำ EIA ไว้ที่ระดับโครงการ

เราอยากให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถทำการประเมินผลกระทบด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมา EIA มีปัญหา เพราะชุมชนถูกกันออก

ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม เจ้าของโครงการจะเป็นคนจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำ EIA ขึ้นมา ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอรับใบอนุญาตการทำ EIA ส่วนโครงการไหนจะต้องทำรายงานประเมินผลกระทบหรือไม่ แบบใด ดูได้จากประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาคือ โดยระบบที่เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษา จะเห็นว่ามี conflict of interest อย่างชัดเจน คิดง่ายๆ ว่าถ้ามีบริษัทแห่งหนึ่งต้องการผลักดันโครงการนี้ แล้วมาจ้างเราซึ่งเป็นนักวิชาการให้ช่วยประเมินผลกระทบ พอเราไปศึกษา ก็พบว่าเลยมันสร้างผลกระทบเยอะ ทำไม่ได้หรอก ต้องใช้ทางเลือกอื่น คำถามคือเขาจะจ้างเราทำไม (หัวเราะ)

สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า คุณทำอย่างไรก็ได้ให้ผ่าน ระบบ EIA ของบ้านเราเป็นแบบนี้ เงินงวดสุดท้ายมักจะจ่ายหลังจากที่รายงานผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว เราถึงต้องการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ต่อให้เราโปรโมตเรื่องการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่แก้ conflict of interest ไม่แก้ไขเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การมีส่วนร่วมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในกระบวนการพิจารณารายงานด้วย

แม้ว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะวางไกด์ฺไลน์ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง แต่วิธีการทำงานจริงๆ ก็ยังมีปัญหา เพราะขึ้นอยู่กับสัญญาผู้ว่าจ้างต่อบริษัทที่ปรึกษา ต่อให้ลงไปเปิดเวทีกำหนดขอบเขตศึกษาก็ยังไม่แก้ปัญหา เพราะมันไม่ใช่งานวิชาการ มันเป็นธุรกิจ

ถึงตอนพิจารณารายงาน คณะผู้ชำนาญการถูกแต่งตั้งโดยกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งถ้าคุณไม่ไปลงพื้นที่ ไม่คุยกับชาวบ้าน หรือไม่เชิญชาวบ้านในพื้นที่มาให้ข้อมูล คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลในรายงานมันถูก ผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน มาตรการที่ออกมาเป็นไปได้ไหม

ที่ผ่านมามีความพยายามในการปฏิรูประบบตั้งแต่ปี 2535 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะมันเกี่ยวพันกับเรื่องธุรกิจ มีอำนาจซ้อนทับอยู่

ยกตัวอย่างเหตุการณ์การก่อสร้างได้ไหม ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการสร้างเหมืองโปแตส แผ่นดินอีสานเป็นทะเลมาก่อนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้มีโปแตสอยู่ใต้ดินอีสานเต็มทั้งแผ่นดิน แร่โปแตส เอาไปทำปุ๋ยเคมี เป็นแม่ปุ๋ยตัว K คือ โปแตสเซียม ซึ่งต้องเอาไปรวมกับ ตัว N คือ ไนโตรเจน และ ตัว P คือ ฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังใช้ทำยาและผลิตอาวุธได้ด้วย แต่หลักๆ คือการนำไปทำปุ๋ยเคมี

ทีนี้การทำเหมืองโปแตส จะมีผลพลอยได้คือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือมาด้วย เกลือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี  ดังเช่นโรงงานในมาบตาพุด ก็ใช้เกลือที่ผลิตจากเหมืองเกลือที่โคราช และนาเกลือที่อุดรธานี ปัญหาของการทำเหมืองแบบนี้ ข้อแรกคือการขุดลงไปใต้ดินจนเป็นโพรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินทรุด ข้อต่อมาคือเมื่อมีการถลุงแร่แล้ว หางแร่ของมันคือเกลือ ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในดิน ในน้ำ ทำให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มน้ำเค็มในพื้นที่การเกษตร แล้วอีสานมีปัญหาเรื่องดินเค็มน้ำเค็มอยู่แล้ว เป็นปัญหาใหญ่ ฟื้นฟูยาก

นอกจากเรื่องเกลือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำแล้ว ยังมีเรื่องอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการใช้เกลือเป็นวัตถุดิบด้วย เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเปลี่ยนโฉมหน้าอีสานไปเลย เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพ พื้นที่ตรงนั้นเป็นชุมชนเกษตรกรรม ถ้าเขาทำการเกษตรไม่ได้ น้ำเขาเสีย ดินเขาเสีย สุดท้ายปลายทางคือชีวิตเขาจะแย่

ปัญหาแบบนี้ควรเริ่มแก้จากจุดไหน

ในฐานะของคนที่มีบทบาทและทำงานด้านสุขภาพ คิดว่าทีมสุขภาพควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ต้องรอให้เขาป่วยแล้วมาหาเราที่โรงพยาบาล ไม่ต้องรอดินเค็ม น้ำเค็ม ทำให้เขาเป็นโรคไต หรือระบบทางเดินหายใจ แต่เราควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายตั้งแต่ต้น

เข้าไปมีส่วนร่วมแบบไหน

จากเหตุการณ์เหมืองแร่โปแตส เราได้ทุนศึกษาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการทำ HIA ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย ไม่มีไกด์ไลน์ใดๆ ทั้งสิ้น เราใช้วิธีการรีวิวแนวทางการทำงานจากหลายประเทศ โดยเฉพาะแคนาดา เพราะเหมืองโปแตสแหล่งใหญ่ของโลกอยู่ที่นั่น และบริษัทที่มาขอสัมปทานก็เป็นของแคนาดา

เราชวนประชาสังคมจากอุดรฯ มาทำงานร่วมกัน เรียกว่าเป็นการทำ Community Health Impact Assessment (CHIA) ครั้งแรกของประเทศไทยก็ได้ หัวใจของเราคือการทำงานร่วมกับชุมชน เก็บข้อมูลหลักฐานจากชุมชน แล้วเอาไปรวมกับข้อมูลจากนักวิชาการว่าจะมีผลกระทบอย่างไร แล้วเสนอทางเลือกเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องเหมืองแร่โปแตสที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เราลองผิดลองถูก ผนวกกับการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ผลักดันให้บริษัทพยายามแก้ไขข้อมูลใน EIA ใหม่ เพราะยังมีข้อมูลชุมชนที่ไม่สมบูรณ์อยู่เยอะ เช่น EIA บอกว่ามีลำห้วยที่กระทบอยู่แค่ 2 สาย แต่จากการที่เราจัดกระบวนการกับชาวบ้านเป็นปี สำรวจลำห้วยใหม่หมด ดูว่าเหมืองตั้งตรงนี้ น้ำจะแพร่กระจายไปทางไหนบ้าง ปรากฏว่าเจอลำห้วยที่ได้รับผลกระทบ 7 ลำห้วย

เราไปจัดเวทีกับชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์แต่ละที่ จากข้อมูลตรงนั้นทำให้ทางบริษัทเข้าไปแก้ เป็นประเด็นเล็กๆ แยกออกมาเป็น 7 เล่ม แต่ละเล่มก็มีข้อโต้แย้ง สุดท้ายเขาก็ถอนเล่มรายงานที่ผ่านคณะผู้ชำนาญการแล้ว บวกกับการเคลื่อนไหวกดดันจากชาวบ้านที่ไม่ยอมให้เกิดโครงการ ทำให้บริษัทของแคนาดาถอนตัวไป และอิตัลไทยเข้ามาแทน แล้วทำกระบวนการ EHIA ใหม่

เบื้องหลังของระบบที่แก้ปัญหาไม่ได้จริง เป็นเพราะภาครัฐได้ผลประโยชน์กับภาคเอกชนด้วยหรือไม่

จริงๆ เริ่มต้นไม่ได้มีเจตนาหรอก มันเริ่มที่ประเทศไทยรับเอา EIA มาใช้ ตอนนั้นเป็นเพราะว่าเราต้องกู้เงิน World Bank ADB ลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม แล้วเขาก็มีข้อกำหนดว่า ประเทศที่จะกู้เงินต้องทำเรื่อง Impact Assessment ประกอบกับปี 2518 มีปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเยอะมาก ทำให้เรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแรกปีนั้น และมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมขึ้นมา

ตัวกฎหมายสิ่งแวดล้อมบอกว่า การทำโครงการก่อสร้างควรดูเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องมีการทำ EIA เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจอนุมัติโครงการ ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยไม่มีความรู้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาช่วย โดยวิธีคิดตอนนั้น ยังอยู่แค่เรื่องมาตรการลดผลกระทบ เพราะประเทศต้องตัดถนน สร้างเขื่อน สร้างโรงงานอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ฉะนั้น EIA ในยุคนั้นจึงถูกพัฒนาเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

ยุคแรกๆ การทำ Impact Assessment จะใช้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญทำ ใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเรื่องผลกระทบต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทำเท่านั้น จนกระทั่ง มาบตาพุด แม่เมาะ มีปัญหา ก็เลยมีการร้องขอการมีส่วนร่วมมากขึ้น ต่อมาได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2535  ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้นก็มี movement พยายามเพิ่มส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบ ในปี 2540 มีรัฐธรรมนูญสีเขียว เราเริ่มพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น และยังคงพยายามที่จะผลักดันให้การประเมินผลกระทบเป็นอิสระ

หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 40 ขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพก็เริ่มต้นขึ้น  เนื่องจากปัญหาสุขภาพไม่ได้มาจากพฤติกรรมอย่างเดียว แต่หลายเรื่องมาจากโครงสร้างสังคม นโยบายสาธารณะ ที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น  นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

กระแสการตื่นตัวเริ่มขึ้นเมื่อปี 40 และชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 50 ที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้ และมีการบัญญัติ HIA ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ความรู้จากชาวบ้านที่นำมาร่วมทำรายงานประเมินผลกระทบด้วย คือความรู้แบบไหน

เวลาพูดถึงความรู้ มีทั้งความรู้ที่เป็นความรู้ชุมชน กับความรู้ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาการตัดสินใจนโยบายโครงการต่างๆ ใช้ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แต่ความรู้ชุมชนมักจะถูกนิยามว่า เป็นความคิดเห็นและข้อห่วงกังวล แต่ชุมชนคือคนที่รู้เรื่องบ้านตัวเองดีที่สุด รู้เรื่องระบบนิเวศ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกอธิบายออกมาอย่างเป็นระบบ ไม่ได้เอามาใช้ร่วมกับข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะรู้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นคือทางไหน ตรงนี้ต่างหากที่มันขาด

เราจึงต้องมาคุยกันว่า ทำอย่างไรชุมชนท้องถิ่นถึงจะเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบ องค์ความรู้ของบ้านตนเอง และรู้เท่าทันนโยบายที่จะเข้ามา รู้ว่าผลกระทบข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ทางเลือกที่เขาอยากเห็น อยากเป็น เป็นอย่างไร แล้วเขาสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ไปต่อรองกับ policy maker นั่งเคียงบ่าเคียงไหล่เสมอกัน แบบนี้ดีกว่า

เวลาทำงาน เราทำงานในเชิงให้ความรู้แก่ชาวบ้าน หรือไปเอาองค์ความรู้มา?

เราทำหน้าที่เหมือนคนออกแบบกระบวนการ เราไม่ได้ทำตัวเป็นครู หรือผู้รู้ ไปสั่งสอนชาวบ้าน แต่เราทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกัน เราใช้เครื่องมือง่ายๆ อย่างการทำแผนที่ชุมชน และเส้นเวลาการเปลี่ยนแปลง มาให้ชุมชนใช้อธิบายตัวเอง

ตอนแรกเราก็กังวลว่าการเครื่องมือแบบนี้จะใช้ได้ผลหรือเปล่า แต่พอทดลอง แค่วางกระดาษกับปากกา เขาวาดได้ เราให้เขาอธิบายเกี่ยวกับชีวิตของเขาผ่านแผนที่ชุมชน แต่ถ้าเป็นความรู้เรื่องโครงการ เราจำเป็นต้องใช้นักวิชาการหรือตัวเราเองบอก

ภาพการทำงานกับชุมชนของสมพร เพ็งค่ำ
ภาพการทำงานกับชุมชนของสมพร เพ็งค่ำ

ถ้ามีเสียงบอกว่าความรู้ของชาวบ้านไม่น่าเชื่อถือ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

มันไม่เกี่ยว เราอาจตีความว่าคนที่มีความรู้คือคนมีระดับการศึกษาสูงกว่า แต่จริงๆ ความรู้มีหลายแบบ ชาวบ้าน ชาวประมงอาจไม่ได้เรียนหนังสือเลย แต่อาจรู้เรื่องทะเลและประมงดีกว่านักวิชาการในกรมประมง เพราะมีความรู้จากประสบการณ์ เพียงแต่เขาไม่สามารถสื่อสารความรู้ที่มาจากประสบการณ์ในตัวเขาออกมาสู่ภายนอก และยกระดับไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบายได้

ฉะนั้นหน้าที่เราคือ หาเครื่องมือที่ทำให้เขาเอาความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของเขา อธิบายและสื่อสารแก่คนภายนอกได้อย่างเป็นระบบ แล้วเราจะจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ เพื่อป้อนเข้าไปสู่การตัดสินใจและพัฒนาในระดับนโยบายอีกทีหนึ่ง

จากประสบการณ์ที่ทำงานกับชาวเขาเผ่าลัวะ เขาพูดอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่เราใช้แค่เครื่องมือทำแผนที่ชุมชนออกมา เราเห็นได้เลยว่าความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับฐานทรัพยากรเป็นอย่างไร

คนในชุมชนมีความรู้เฉพาะส่วนที่เขาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ถ้าเราออกแบบพื้นที่ ใช้ความรู้ทุกคนมาประกอบกัน เราจะได้ความรู้ของชุมชน และมีการตรวจสอบกันเองในกระบวนการทำงาน การที่เขาได้เล่าเรื่อง เข้ามาเขียนร่วมกัน เขาได้เถียงกัน นั่นคือการตรวจสอบ แต่ถ้าเราใช้แบบสอบถาม เก็บเป็นสถิติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เขียนไปในแบบสอบถามนั้นเป็นความเห็นหรือความจริง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าชาวบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ปัญหาคือเราจะรู้หรือไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใครมาจากไหนบ้าง แล้วเราจะหาเครื่องมือหรือวิธีการอย่างไรไปดึงความรู้จากเขา อันนั้นเป็นปัญหาเชิงเทคนิคในกระบวนการ ซึ่งมีความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เราก็มีการปรับกระบวนการตลอด ปรับวิธีการ เทคนิค รวมถึงการใช้เครื่องมือ

ชาวบ้านให้ความร่วมมือแค่ไหน

ส่วนใหญ่เคสที่เราทำงานด้วย เราไม่ได้บังคับเขาทำ แต่เขามาขอให้เราสอนและช่วยเขาทำ ตอนนี้ชาวบ้านตื่นตัวเยอะมากเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการและมีบทเรียนอื่นๆ ให้เห็น

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการมีหลายวิธี ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นเขายื่นหนังสือ ประท้วง ชุมนุม แต่ตอนหลังเขาจะรู้สึกว่าอยากได้ข้อมูล เราจะทำงานกับชุมชนที่พร้อม แต่ชุมชนอื่นที่มีทางของเขาอยู่แล้วเราก็จะปล่อย จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับว่าต้องทำ

เราเริ่มต้นจากชุมชนที่พร้อมจะทำและอยากทำ และเราจะใช้การทำงานตรงนั้นไป inspire เคสอื่น เพื่อให้เห็นว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อบ้านของคุณต้องใช้ข้อมูล ถ้าคุณมีข้อมูล คุณมีความชอบธรรมในการไปคุยกับ policy maker เช่นเคสที่ประทับใจคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ชาวบ้านทำข้อมูลเป็นเล่มๆ ขึ้นไปนำเสนอทัดเทียมผู้เชี่ยวชาญ มีชุดข้อมูลหลายอันที่เอาไปคานได้ สู้กันตั้งแต่ปี 2554-2555 จนกระทั่งบัดนี้ยังสร้างไม่ได้ บริษัทก็พยายามแก้ใหม่ ทำใหม่

ชาวประมงอาจไม่ได้เรียนหนังสือเลย แต่อาจรู้เรื่องทะเลและประมงดีกว่านักวิชาการในกรมประมง เพราะมีความรู้จากประสบการณ์ เพียงแต่เขาไม่สามารถสื่อสารความรู้ที่มาจากประสบการณ์ในตัวเขาออกมาสู่ภายนอก  และยกระดับไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบายได้

สมพร เพ็งค่ำ ชุมชน ชาวประมง

มีคำพูดว่า NGOs ค้านทุกเรื่อง เรื่องนี้มีทางสายกลางให้นายทุนหรือเอกชนสามารถลดทอนบางส่วนลง แต่สามารถสร้างโครงการได้บ้างหรือไม่

ถ้าเราออกแบบการประเมินผลกระทบให้ดี จะเห็นทางเลือกร่วมกัน แต่ปัญหาคือ ระบบ EIA EHIA ปัจจุบัน ไม่เป็นอิสระ พอทำ CHIA แรกๆ หลายฝ่ายก็เห็นว่าดี แต่พอไปสั่นคลอนหลายๆ เรื่อง ก็เริ่มมีเสียงว่า เอาไปทำเฉพาะโครงการในชุมชน ไม่ต้องเอามาใช้ในระดับโครงการเพราะมีการทำ EIA EHIA แล้ว

ที่ผ่านมา ความรู้และการตัดสินใจถูกผูกขาดโดยผู้เชี่ยวชาญ มาวันหนึ่งมีคนบอกว่ายังมีอีกความรู้หนึ่งที่คุณดูไม่ครบ มันก็สั่นคลอนเขา

ถ้าเราทำกระบวนการการประเมินเป็นกระบวนการทางวิชาการจริงๆ จะไม่ใช่การหยุดการพัฒนา แต่จะทำให้ได้การพัฒนาที่สมเหตุสมผลและมีทางเลือก เช่น ถ้าเราพูดถึงโจทย์เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ก็ต้องไปดูเลยว่ามีทางเลือกกี่ทางที่นำไปสู่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ตัดสินใจร่วมกัน แต่ที่ผ่านมามันถูกผูกขาดอยู่แค่บางกลุ่ม ความรู้ประกอบการตัดสินใจก็ถูกผูกขาด แล้วคุณยังปฏิเสธชุดความรู้อื่นด้วย มันคือความเหลื่อมล้ำในการใช้ความรู้ในการตัดสินใจ

เราต้องการปรับระบบใหม่ ให้เป็นการประเมินผลกระทบที่นำไปสู่ความยุติธรรม สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการใช้ชุดความรู้ที่หลากหลาย นำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นธรรม

เราไม่ได้ไปปรับโครงสร้างอำนาจ เรียกร้องว่าคุณจะต้องปฏิรูประบบใหม่ สร้างกลไกใหม่ ตรงนั้นระบบ EIA ก็ต้องทำ แต่ approach ของเราคือปรับจากวิธีการประเมินผลกระทบ เพื่อบอกว่าคุณทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว มันมีแบบใหม่ที่ดีกว่า

ตอนที่เราทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พอเริ่มเป็นที่รู้จัก หลายเคสก็วิ่งมาหาเรา อย่างเช่นการลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ฉะเชิงเทรา ก็ขอให้เราไปช่วย ซึ่งเคสนั้นก็หนักหนาสาหัส เพราะเราต้องเจอแรงเสียดทานจากผู้ประกอบการเยอะ เจอขู่ ทำเคสเหมืองทองจังหวัดเลยก็เจอขู่  ถูกกล่าวหาว่าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเข้าข้างชุมชน มีอคติ ถูกเหมืองทองฟ้อง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของเราในการปกป้องเขา

เราเชื่อว่าพลังการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ชุมชน เพราะเราเริ่มต้นการทำงานจากการเป็นอาจารย์พยาบาลตัวเล็กๆ ต่างจังหวัด แล้วมีโอกาสเข้ามาทำงานนโยบาย โดยมีความหวังว่าหากมีการทำข้อมูลรอบด้านอย่างดี เสนอ ครม. จะนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นธรรม ปกป้องประโยชน์สาธารณะได้

แต่พอได้มาทำงานจริง เราก็เรียนรู้ว่ามันไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด ในกระบวนนโยบายมีการต่อรองหลายเรื่อง แม้เราจะอยู่ใน policy body แต่เปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้ว เราเลยรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการใช้ข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ความรู้สึก เราจะแปลงความรู้สึก แปลงความห่วงกังวลของเขามาเป็นข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นระบบ และใช้ข้อมูลตรงนี้ตามสิทธิ์ของเขาในกฎหมาย

เวลาเราทำงานอยู่กับชาวบ้านนานๆ ในแง่ความรู้สึกจะเกิด bias ไหม

เคยมี บางทีทำงานใหม่ๆ แล้วเราอิน เราไปฟังเขาเล่าแล้วมันจม แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นการเรียนรู้ว่าถ้าเราไปแบบนั้น ข้อมูลเราจะไม่น่าเชื่อถือ

เราจะระวังการทำงาน งานของเราเป็นงาน empowerment ทำข้อมูล ทำให้เขารู้ว่าจะใช้ข้อมูลตรงนี้เข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างไร หรือกำหนดนโยบายอย่างไร เราไม่ยุ่งเรื่องการเคลื่อนไหวของชุมชน ไม่ออกแบบการเจรจาต่อรอง แต่สร้างกระบวนการเรียนรู้กับชุมชนในการเก็บข้อมูลหลักฐาน คุณจะใช้ข้อมูลตรงนี้ influence policy อย่างไรก็เป็นเรื่องของคุณ การตัดสินใจเลือกการพัฒนาอย่างไรเป็นหน้าที่ของคุณ

คุณทำงานขับเคลื่อนมาหลายสิบปี รู้สึกเหนื่อยบ้างไหม อะไรคือแรงผลักดันให้ยังคงทำอยู่

เหนื่อย เจอบางเรื่องก็ท้อ แต่ทุกครั้งที่เราเห็นสายตาชาวบ้าน ไม่รู้ว่าพลังมาจากไหน พอเราเดินทางไปเจอเขาในชนบท ในพื้นที่ห่างไกล เวลาเราคุยกับเขา เห็นแววตาเขา เรารู้สึกว่าเขามีความสุขที่เราไป มันจะมีพลัง เหนื่อยแค่ไหนยากแค่ไหนก็จะทำ

ถ้าจะตอบคำถามว่าอะไรคือแรงฮึด ย้อนตั้งแต่ครั้งแรกว่าทำไมเราเดินออกจากวิทยาลัยพยาบาลมาทำงานชุมชน เพราะแววตาชาวบ้านที่ถามว่า “อาจารย์ มันสิเฮ็ดจั๋งใด๋นี่ มันกระทบบ่นี่” แล้วเราตอบไม่ได้ เราไปมาบตาพุด ไปเหมืองทอง ไปเขาหินซ้อน ทุกครั้งที่ชาวบ้านกุลีกุจอทำกับข้าวให้เรากิน หาที่หลับที่นอนให้ เห็นชาวบ้านป่วย เห็นไร่นา ผลผลิตเสียหาย น้ำกินไม่ได้ ตรงนี้แหละที่ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ทิ้งไม่ได้ มันจะนึกย้อนกลับไป เหมือนครั้งแรกที่เราเรียนจบพยาบาลใหม่ๆ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งท้องโดยไม่มีพ่อ บอกว่าไม่มีที่ไป ไม่เอาลูก จ่ายค่ารักษาเกือบแสนไม่ไหว จนเราต้องหาวิธีการช่วยเขาให้สามารถใช้ชีวิตอยู่สังคมได้ต่อไป

เราเห็นคนที่ถูกเบียดขับแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนเหนื่อยกว่าเราอีกเยอะ ทุกครั้งเลยมีแรงฮึดขึ้นมา

คุณช่วยแก้ปัญหาไปทีละพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเยอะมาก มีความหวังอะไรในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

เราจะเลือกทำเคสที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ตอนที่เราดีไซน์ระบบ CHIA แรกๆ เราก็เชื่อว่าถ้าดีไซน์ระบบดีๆ ก็คงไปได้ แต่สุดท้ายก็ติดล็อกโดยการเมือง พอลงมาทำเคสต่างๆ ก็รู้สึกว่าลำพังตัวเรากับทีมไม่สามารถวิ่งแก้ปัญหารายเคสได้ ต้องแก้ปัญหาที่ระบบ

พอมาปีนี้ที่ตัดสินใจเรื่องตั้งองค์กร ส่วนหนึ่งเราจะเริ่มทำเคสที่เป็นยุทธศาสตร์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น เรื่องโรงไฟฟ้าหงสาฯ ที่ลาวที่กระทบต่อประเทศไทย ทำงานกับชาวบ้านเผ่าลัวะ สร้างการเรียนรู้ empowerment ให้เขาประเมินผลกระทบได้ด้วยตัวเอง จากข้อมูลตรงนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนระบบ เช่น ระบบกฎหมายข้ามพรมแดน ระบบ EIA ในอาเซียนที่ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบเฝ้าระวัง Health Impact ไปจนถึงการสร้าง baseline data ทำงานเชื่อมต่อกับต่างประเทศมากขึ้น

ปัจจุบันที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาล คสช. กระเทือนต่อการทำงานตรงนี้ไหม

กระเทือนสิ ระบอบที่เป็นอยู่ รวมศูนย์ไปที่ราชการเป็นใหญ่ ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ในขณะที่การตัดสินใจพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เราต้องการการมีส่วนร่วม เราต้องการการกระจายอำนาจ แม้กระทั่งระบบ EIA ที่เห็นว่าเป็นระบบเล็กๆ  ปัญหาของ EIA คือการรวมศูนย์ทุกอย่าง ตั้งแต่การตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอยู่ที่คนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยลงพื้นที่ คุณไม่เห็นพื้นที่แต่อ่านแค่รายงานของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เลือกใช้แค่ข้อมูลความรู้บางอย่างในการตัดสินใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายชุดข้อมูลที่ไม่ถูกนำไปใช้ นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น

ฉะนั้นระบอบปัจจุบันที่ยิ่งรวมศูนย์อำนาจ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว ตรวจสอบอะไรไม่ได้ นี่เป็นปัญหาสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องการกำกับติดตามตรวจสอบ เราทำอะไรไม่ได้

ในช่วงที่ประเทศเปลี่ยนผ่าน เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดอยู่ที่ฐานราก เราพยายามใช้ข้อมูลหลักฐาน และควบรวมองค์ความรู้กันระหว่างความรู้ของชุมชน กับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา แล้วสร้างให้เกิด platform การทำงานร่วมกัน

ภาพฝันที่คุณอยากเห็นในท้ายที่สุด

อยากเห็นชุมชนสามารถเข้ามานั่งประชุมกับภาคส่วนอื่นๆ เวลามีการพัฒนาหรือนโยบายต่างๆ ที่จะกระทบกับชุมชนของเขา อธิบายข้อมูลอย่างเป็นระบบ เคียงบ่าเคียงไหล่

ที่ผ่านมาเวลามีปัญหาโครงการขนาดใหญ่หรือนโยบายกระทบกับชุมชน เรามักจะเห็นนักวิชาการ NGOs ที่เป็นตัวแทนของชุมชน นักวิชาการทำวิจัยไปนำเสนอ เรารู้สึกว่าเป็นระบบตัวแทน แม้ว่าเขาจะเจตนาดี แต่เราอยากให้ชุมชนมีข้อมูลของตัวเอง นักวิชาการสหสาขาวิชา รัฐ ผู้ประกอบการ policy maker ได้มานั่งคุยกัน เพราะเราคิดว่าความรู้ของชุมชนก็เป็นความรู้อีกด้านหนึ่ง ที่เสมอภาคเทียบเท่ากับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ

เราอยากเห็นการใช้ความรู้ที่เท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน ไม่ใช่ว่าความรู้ไหนเหนือกว่าความรู้ไหน ชุมชนก็มีความรู้ในท้องถิ่นชุมชนตัวเอง จากประสบการณ์ ชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์รากเหง้าของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะแชร์ ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นความรู้ชุดหนึ่ง เราควรนำมาประกอบกัน ถกเถียงกัน และตัดสินใจร่วมกันว่าการพัฒนาแบบไหนที่เราจะไปร่วมกัน นี่คือภาพฝันที่อยากเห็น

เราควรให้เกียรติความรู้ที่มาจากประสบการณ์ชีวิต เพราะเขาอยู่ตรงนั้นมาทั้งชีวิต  นี่ต่างหากคือสังคมที่เป็นธรรม ที่ให้เกียรติทุกคน ไม่ใช่ใครเหนือกว่าใคร

เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ ในบางช่วงเวลาที่เราขยับอะไรในประเทศเราไม่ได้เลย แต่ประเทศอื่นมีพื้นที่เราก็ไปทำ เพราะโลกใบนี้เชื่อมต่อกันหมด สุดท้ายถ้าจะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ ต้องเปลี่ยนทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา

สมพร เพ็งค่ำ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save