fbpx
สมชัย จิตสุชน วัคซีน

‘เศรษฐกิจการเมืองเรื่องวัคซีน’ กับ สมชัย จิตสุชน

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นดี ต้องฟุบลงไปอีกรอบหนึ่ง เป็นวิกฤตต่อเนื่องและยาวนานที่สร้างเดือดร้อนให้กับผู้คนอย่างมหาศาล

ท่ามกลางความทุกข์ร้อน มาตรการเยียวยาของภาครัฐคือความหวังเฉพาะหน้า ในขณะที่ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ ‘วัคซีน’ ในฐานะแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์

คำถามใหญ่จากสังคมคือ รัฐเยียวยาได้ดีแค่ไหน เมื่อไหร่เราถึงจะได้วัคซีน และใครควรได้วัคซีนก่อนหรือหลัง

101 ชวน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สนทนาทั้งเรื่องการเยียวยาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐศาสตร์การเมืองของวัคซีน

 

YouTube video

 

:: วัคซีน AstraZeneca เป็นการแทงม้าตัวเดียว ? ::

 

 

เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนต้องมอนิเตอร์กันตลอด เพราะมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา การตัดสินใจที่เราคิดว่าดีที่สุดเมื่อเดือนที่แล้วอาจจะไม่ได้ดีที่สุดในเดือนนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า แผนของเรายืดหยุ่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าดีที่สุดคือพยายามยืดหยุ่นให้มาก คุยกับผู้ผลิตวัคซีนหลายๆ เจ้า

ตอนที่เราเจรจากับ AstraZeneca ยังไม่มีข่าวเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนเจ้าอื่นที่ยังไม่มีข่าวก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีข่าวไหม ซึ่งสะท้อนว่าเรากำลังทำนโยบายภายใต้ความไม่แน่นอนสูง ถ้าม้าตัวเดียวที่เราแทงได้ คือ AstraZeneca เป็นตัวที่แข็งแรงก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่แข็งแรงก็ต้องรีบดูว่าจะแทงม้าตัวอื่นได้หรือไม่ อาจจะเป็นตัวที่เราเคยพยายามแทง แต่ทำไม่ได้ ก็หาทางทะลุทะลวงกันไป

ประเด็นหนึ่งคือ เราพยายามแทงม้าหลายตัวตั้งแต่ 6-7 เดือนที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่คุยกับเรา แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ กฎระเบียบภาครัฐไม่อนุญาตให้เราแทงม้าแม้แต่ตัวเดียว ต้องอธิบายก่อนว่า การแทงม้าหมายถึงคุณเอาเงินไปลง คุณจะได้เงินคืนต่อเมื่อม้าตัวนั้นชนะ แต่ถ้าไม่ชนะก็เสียเปล่า วัคซีนก็คล้ายกัน เมื่อ 6-7 เดือนที่แล้วไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนจะสำเร็จไหม มีการพูดถึงขั้นว่า อาจจะไม่มีวัคซีนตัวไหนสำเร็จเลย เพราะในประวัติศาสตร์มีหลายโรคที่พัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ เช่น โรคเอดส์ หรือรุ่นพี่ของโควิด-19 อย่างโรคซาร์สหรือโรคเมอร์ส

จะเห็นว่า ถ้าเราไปจองซื้อวัคซีนจากบริษัทที่รีเควสให้เราลงเงินกับเขาและรับความเสี่ยงร่วมกัน แล้ววัคซีนไม่สำเร็จ เงินที่จองไปก็ไม่ได้คืน ก็จะติดระเบียบราชการของไทย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ไม่อนุญาตให้เราจ่ายเงินไปกับอะไรที่เราอาจจะไม่ได้ของ ต่อให้อยากแทงม้าหลายตัว หรือแม้แต่แทงตัวเดียวก็ยังมีปัญหา ซึ่ง AstraZeneca เป็นม้าตัวเดียวที่เราเลือกแทง คณะทำงานก็ทำงานหนัก ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไม่รู้กี่สำนัก ดูพระราชกฤษฎีกางบประมาณหลายฉบับแล้วก็ยังหาทางออกไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็เหมือนพบกันครึ่งทาง คือไม่ซื้อ แต่ใช้การจองเอา

ตอนนี้เราเริ่มเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนหลายตัว เราก็ไม่ต้องติดเรื่องพรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แล้วว่า จะซื้อแล้วไม่ได้ของ เพราะซื้อแล้วได้ของแน่ แต่ของมันใช่รึเปล่าต้องไปวัดดวงต่อ สมมติเราเปลี่ยนวัคซีน พรุ่งนี้ก็อาจจะมีข่าวคล้ายกันว่า ห้ามฉีดให้คนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ หรือมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ส่วนกฎหมายเรื่องจัดซื้อจัดจ้างก็เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว เป็นจังหวะที่ดีในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำนโยบาย ซึ่งผมเข้าใจและหวังว่า ผู้รับผิดชอบจะกำลังทำหรือพิจารณาอยู่

 

:: ความผิดพลาดของภาครัฐเรื่องวัคซีน ::

 

 

สิ่งหนึ่งที่เห็นภาครัฐควรแก้ไขคือเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ทำให้เราแทงม้าไม่ได้หลายตัว ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นเป็นข้อจำกัดในระดับคนทำงาน เช่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แต่จริงๆ ควรจะมีการทำงานในระดับที่สูงกว่านั้น เช่น ถ้าติดพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ก็เปิดสภาเพื่อออกพ.ร.บ.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. สักฉบับให้บายพาสตรงนี้ได้ หรือหาช่องทางกฎหมายให้เร็วกว่านั้น จะได้ไม่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์แบบตอนนี้ว่า ทำไมคุณแทงม้าตัวเดียว และเราจะได้แทงม้าหลายตัวตั้งแต่ตอนนั้น

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องใช้เงินเยอะ ถ้าพลาดก็อาจโดนวิจารณ์ไปอีกแบบหนึ่งว่า คุณไม่ค่อยฉลาดใช่ไหมที่แทงม้าผิดตัว แต่เราควรมีความยืดหยุ่นกันตั้งแต่ 6-7 เดือนที่แล้ว แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้เราไม่ได้ไปถึงจุดนั้น

 

:: ไทยกับขบวนวัคซีน COVAX ในอาเซียน ::

 

 

เรื่องที่บอกว่าไทยตกขบวนวัคซีน COVAX ในอาเซียน เท่าที่ผมทราบคือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีการพิจารณาว่าจะสั่งจอง COVAX ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เราเริ่มเจรจากับจีน แต่เงื่อนไขที่รายงานต่อคณะกรรมการของสถาบันวัคซีนแห่งชาติมีความซับซ้อนมาก ภาษาชาวบ้านคือเล่นยาก อย่างแรกคือคุณต้องจองก่อน ซึ่งต้องจ่ายเงินไปเหรียญกว่าๆ แล้วเพื่อสิทธิในการจอง และยังจะมีการจองแบบเลือกได้ เลือกไม่ได้ หรือเลือกได้บ้าง ก็จ่ายเงินเพิ่มไปอีก ซึ่งเงินที่จ่ายไปตรงนี้ยังไม่รวมค่าวัคซีนนะ ถึง COVAX สัญญาว่าจะคิดราคาถูก แต่มันก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นด้วย

นอกจากนี้ สิทธิในการจองที่บอกว่าให้เลือกได้บ้างก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกได้หมด ขึ้นกับว่า COVAX จะจ่ายวัคซีนเจ้าไหนให้เรา มีการเปรียบเทียบว่า ในการเจรจาแบบทวิภาคี เรายังรู้ว่าเราเจรจากับใคร แทงม้าตัวไหน แต่ถ้าเป็น COVAX เราไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาม้าตัวไหนให้เรา เราจะถูกใจไหมก็ไม่รู้

อีกปัญหาของ COVAX คือ เขาจะมีดีลเวลาไปซื้อวัคซีน ถ้าจองไปแล้วเกิดเจ๊งขึ้นมาก็ไม่คืนเงิน อีกอย่างคือเขายังแย่งซื้อสู้ประเทศใหญ่ไม่ได้ ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรก็ชิงซื้อวัคซีนได้ไวกว่า ผมเข้าใจว่า COVAX ได้วัคซีนมาน้อยมาก และต้องกระจายไปไม่รู้กี่ประเทศ ที่สำคัญคือเขาจะให้ประเทศยากจนก่อน และให้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนประเทศที่ฐานะดีขึ้นมา แม้เอาเงินไปจองไว้ก็อาจจะได้ทีหลัง อย่างไทยถูกจัดโดยธนาคารโลก (World Bank) ให้เป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูงมาหลายสิบปีแล้ว COVAX ก็จะใช้สถานะตรงนี้ เราก็จะได้วัคซีนเป็นประเทศท้ายๆ

จะเห็นว่า ถ้าเราจองกับ COVAX เราจะได้น้อย ได้ช้า และไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้พอพิจารณาแล้วจึงไม่ได้จองกับเขา อีกทั้งยังติดปัญหาเรื่องข้อจำกัดใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ด้วย เรียกได้ว่ามีปัญหาเยอะไปหมด

 

:: ผลกระทบเศรษฐกิจไทยในการระบาดระลอกสอง ::

 

 

ถ้าดูจนถึงวันนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของระลอกสองน่าจะน้อยกว่าระลอกแรก ทั้งที่จำนวนคนติดเชื้อมากกว่า เพราะมาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้แรงเท่ารอบแรก ประเภทกิจการที่ถูกสั่งปิดน้อยกว่า ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารก็ยังเปิดได้ แต่อาจถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลา นอกจากนี้ยังมีมิติเชิงพื้นที่ คือการแบ่งโซนสีต่างๆ แต่รอบที่แล้วคือสีแดงทั้งประเทศ ล็อกหมด ทำให้ผลกระทบน่าจะน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี นี่คือการพูดในวันนี้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าการระบาดนับจากวันนี้ไปจะหน้าตาเป็นอย่างไร ที่น่าห่วงคือ ระเบิดลูกใหญ่ที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งในสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ เพราะถ้าดูจากกรณีของสิงคโปร์ กว่าเขาจะเอาอยู่ก็หลายเดือน แต่ของไทยเพิ่งผ่านมาเดือนกว่าๆ เท่านั้น ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า จะมีคนติดเชื้อซ่อนอยู่เยอะไหม

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ผู้ติดเชื้อไปโผล่ตามที่ต่างๆ นอกสมุทรสาคร เช่น ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนแรงงานชาวพม่าเยอะกว่าสมุทรสาครอีก และยังกระจายกันอยู่ คนเลยอาจจะสงสัยว่า จริงๆ มีระเบิดซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เพราะไม่ตรวจเลยไม่เจอ ส่วนตัวผมมองว่า มีโอกาสเป็นแบบนั้นไม่สูง เพราะต่อให้มีระเบิดซ่อนอยู่จริง แต่ถ้าคนไทยไปสัมผัสก็ต้องติดเชื้อและเป็นข่าวอยู่ดี แต่ตอนนี้จะเห็นว่า คนไทยที่ติดเชื้อในกรุงเทพฯ จะติดมาจากการสังสรรค์มากกว่า

เพราะฉะนั้น น่าห่วงคือ การลากยาว รอบที่แล้วคือเราปิดกันสักเดือนสองเดือนและทยอยเปิดเป็นเฟสๆ แต่รอบนี้มีหลายกิจการทยอยเปิด แต่ก็ไม่รู้ว่าเปิดแล้วต้องกลับมาปิดอีกรอบไหม อาจจะต้องปิดอีกรอบถ้าการติดเชื้อยังโผล่ตรงนั้นตรงนี้และลากยาวไป ทำให้ถึงผลกระทบจะไม่หนักเท่ารอบแรก แต่ถ้าคูณไปด้วยจำนวนเวลาที่ลากยาว ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรไหม

กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มที่สายป่านสั้น รอบแรกเขาเจ็บตัวแล้ว ใช้เงินออมที่มีพยุงตัวเองไป พอรอบแรกสงบเขาก็กลับมาเปิดกิจการ หวังว่าชีวิตจะกลับมาเป็นปกติ เปิดแล้วเริ่มมีลูกค้ามา ยังไม่ทันได้กำไรด้วยซ้ำก็เจอระลอกสอง หลายคนก็ถอดใจ สายป่านขาดหมดแล้ว เราไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่เหมือนกัน

 

:: แก้วิกฤตด้วยการจ้างงาน ::

 

 

ในเรื่องการแก้วิกฤตด้วยการจ้างงาน ผมอยากให้ภาครัฐทำได้มากกว่านี้ เพราะเรายังเห็นตัวเลขคนว่างงานอยู่ ซึ่งตัวเลขคนว่างงานอาจดูไม่เยอะ ขึ้นจาก 1% เป็น 2% แต่กลุ่มคนที่เสมือนว่างงาน คือทำงานไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็นหลายล้านคน แสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ ส่วนการเสนอให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าจ้าง (wage subsidy) ที่พูดกันตั้งแต่การระบาดรอบที่แล้วรัฐก็ยังไม่ได้ทำ ซึ่งผมเข้าใจว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะไทยมีแรงงานนอกระบบเยอะ แต่ก็น่าจะพยายามหาทางออกมากกว่านี้สักหน่อย

ผมอยากเสนอให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางออนไลน์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กลุ่มรากหญ้า และถ้าเราเสนอเรื่องเน็ตฟรีแบบนี้ สิ่งที่ควรมาพร้อมกันคือ อาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้าน เหมือนที่เรามีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งอาสาสมัครกลุ่มนี้อาจเป็นเด็กจบใหม่ที่คุ้นเคยกับดิจิทัล หรือเป็นคนในพื้นที่นั้นๆ มีหน้าที่คอยดูว่าจะพัฒนาดิจิทัลในพื้นที่ได้อย่างไร สมมติคนในหมู่บ้านอยากลงทะเบียนออนไลน์แต่ทำไม่เป็น อาสาสมัครกลุ่มนี้ก็ไปสอนได้

ถ้าเราทำแบบนี้ได้ จะทำให้เกิดการจ้างงานและนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ได้เร็วขึ้น แต่มันยังไม่เกิด ส่วนหนึ่งเพราะติดเรื่องงบฟื้นฟู 4 แสนล้านจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ทำให้เงินออกได้น้อย เพราะตัวพ.ร.ก. เขียนล็อกไว้เยอะ เช่น ต้องเป็นหน่วยงานรัฐถึงจะชงเรื่องขึ้นไปได้ และที่ขาดไปคือการทำงานแบบ top-down บางทีเราต้องกล้าคิดโครงการใหม่ๆ เพื่อดึงเงินมาใช้ ไม่ต้องรอหน่วยงานราชการชงเรื่องขึ้นมา เพราะบางทีชงมาก็เป็นโครงการอะไรก็ไม่รู้ เป็นการใช้เงินสี่แสนล้านแบบไม่ค่อยได้ใช้ ที่ใช้ไปก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลสักเท่าไหร่

 

:: การติดเชื้อที่ไม่ใช่ศูนย์ ::

 

 

ผมคิดว่าเรายังหวังกับเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้ เพราะการระบาดระลอกสองก็น่าจะหน้าตาเป็นแบบนี้แหละ มีคนติดเชื้อจำนวนหลักร้อยหรือต่ำกว่าร้อย และเจอคนติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในช่วงแรกเยอะ และจะค่อยๆ ลดลง เป็นแบบนี้เรื่อยๆ แต่ไม่เป็นศูนย์ ผมว่างวดนี้การที่จำนวนคนติดเชื้อจะกลับเป็นศูนย์เลยน่าจะยาก แต่การที่จำนวนไม่เป็นศูนย์ก็ไม่เป็นไรเลย

ผมพูดมานานแล้วว่า คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการติดเชื้อที่ไม่ใช่ศูนย์ รอบที่แล้วเราพะวงกับเรื่องจำนวนคนติดเชื้อเป็นศูนย์มากเกินไป ถ้าเรียนรู้ได้และให้คนติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 40-50 คน กิจการยังเปิดได้ เศรษฐกิจก็จะไปต่อได้ อย่าลืมว่าการส่งออกเราเป็นบวกตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2020 ซึ่งก็น่าจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจได้ และถ้าเราไม่ได้ปิดกิจการมากจนเกินไป ก็พอมีหวังกับการบริโภคได้ บวกกับการเยียวยาจากรัฐบาลที่น่าจะมากระตุ้นตรงนี้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เราเคยหวังว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาในประเทศได้สักช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 แต่ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็จะฟุบกว่าที่คิด ที่เคยคิดว่าจะโตได้สัก 2% เกือบถึง 3% ก็อาจจะไปไม่ถึง ทั้งนี้ขึ้นกับวัคซีนด้วยว่าได้ผลไหม ถ้าวัคซีนสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ด้วย นั่นเป็นข่าวดีมาก และถ้าป้องกันได้นานก็ยิ่งดีใหญ่ ต่อให้ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ช้า แต่เราคุมจำนวนคนติดเชื้อให้อยู่ที่ 40-50 คนต่อวัน ถามว่าคนอเมริกันที่ได้ฉีดวัคซีนแล้วจะกล้าเข้ามาไหม ผมว่ากล้านะ เพราะเขาเคยอยู่ประเทศที่ติดวันละเป็นแสนคน เพราะฉะนั้น ต่อให้เรากระจายวัคซีนได้ช้า แต่ถ้ายังมีช่องว่างอยู่เราก็อาจจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save