fbpx

‘ตำนานประตูหัตถ์พระเจ้า’ ว่าด้วยฟุตบอลโลก การเมืองไทย และการโกงที่โด่งดังที่สุดในโลก

1

“Those who steal from a thief are entitled to 100 years of forgiveness.”

“คนที่ขโมยของจากขโมยมีสิทธิ์ได้รับการให้อภัยร้อยปี” -ดีเอโก มาราโดนา

การเฝ้าดูการเมืองไทยขณะนี้ก็เหมือนกำลังเล่นเก้าอี้ดนตรี ที่แบ่งข้าวแบ่งกับบนโตกสำรับกันอย่างสนุกสนาน ราวกับเป็นเกมที่เล่นกันมาจนชำนาญ นานจนผู้เล่นหน้าเดิมทุกคนรู้ทุกอย่างทั้งสูตรและทางหนีทีไล่ จนกลายเป็นผู้เล่นที่เทิร์นโปรกันหมดแล้ว คงจะมีก็แต่เซียนด้วยกันเท่านั้นที่ตามกันทัน แถมเกมนี้แม้จะมีกติกาชัดเจน แต่ก็มีช่องว่างให้ได้ซิกแซกและหาหนทางเพื่อเป็นผู้ชนะให้จงได้ เรียกว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยคน ก็คงต้อง ‘โกง’ มาให้ได้  

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงการโกงที่ถูกเรียกว่าเป็นการโกงแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นการโกงที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งของโลก นั่นคือเหตุการณ์ ‘Hand of God’ ของดีเอโก มาราโดนา (Diego Maradona) กัปตันทีมฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินา

มาราโดนาสร้างตำนานแห่งการโกงไว้ในการแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลโลกเมื่อปี 1986 ในนัดที่อาร์เจนตินาเจอกับอังกฤษ ในนัดนั้นมาราโดนาใช้มือทําประตูในลูกแรกของการแข่งขันในเกม โดยเขาทำทีเหมือนกระโดดโหม่งลูกฟุตบอล ซึ่งทุกคนมารู้ในภายหลังว่าเขาจงใจจะทำแฮนด์บอล อย่างไรก็ดี เขาหลอกกรรมการได้สำเร็จ ลูก(ที่เหมือน)โหม่งนั้นผ่านการบล็อกของนายประตูร่างใหญ่ของอังกฤษอย่าง ปีเตอร์ ชิลตัน (Peter Shilton) เข้าไปตุงตาข่าย ทำให้อาร์เจนตินาขึ้นนำก่อนและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเกม จนทำให้อาร์เจนตินาชนะไปจบการแข่งขันที่สองประตูต่อหนึ่ง 

และในท้ายที่สุด อาร์เจนตินาก็ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

เหตุการณ์ในวันนั้น อาลี เบน นาซอร์ (Ali Ben Naceur) จากตูนิเซีย ผู้ตัดสินในขณะนั้น อ้างว่าเขาไม่เห็นการแฮนด์บอล เพราะอยู่ในมุมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งสมัยนั้นกฎของฟีฟ่าไม่อนุญาตให้ผู้ตัดสินสามารถหยุดเกมเพื่อปรึกษากับผู้ช่วยผู้ตัดสินได้ และการตัดสินของหัวหน้าผู้ตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบอย่างมากต่อวงการฟุตบอล ทั้งยังเกิดคำถามขึ้นมาว่าอะไรที่ทำให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ และทำไมไม่มีใครสามารถเอาผิดหรือเปลี่ยนคำตัดสินเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่มันควรจะเป็นได้เลยหรือ แล้วอย่างนี้เราจะเชื่อใจผู้ตัดสินได้ไหม นี่เป็นการล้มบอลหรือเปล่า เลยไปถึงขั้นที่ว่าแบบนี้ฟีฟ่าจะเหลือเครติดอะไรให้เราเชื่อได้อีก

แต่ท้ายที่สุดผลการตัดสินก็จบลงด้วยความดีใจของอาร์เจนตินาและความเจ็บช้ำของอังกฤษ

ในประเทศอาร์เจนตินามีแฟนบอลจำนวนมากออกมาสนับสนุนให้กำลังใจมาราโดนา และไม่มีใครพูดถึงการขอโทษอย่างตรงไปตรงมาของเขา ตัวเขาเองในเวลานั้นก็ไม่ยอมรับว่าเขาจงใจใช้มือ แค่เพียงแต่บอกว่านี่คือโชคชะตา มาราโดนาพูดถึงการทำประตูของเขาว่า “ส่วนหนึ่งมาจากหัวของผม และอีกส่วนหนึ่งมาจากหัตถ์ของพระเจ้า (Hand of God)” เขายังย้ำว่านี่เป็น “ประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้”

ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนออกมาแก้เก้อให้กับมาราโดนา นักเขียนและนักดำเนินรายการโทรทัศน์แนวตลกชื่อดังของอาร์เจนตินา ฮวน ซัสทาเรียน (Juan Sasturain) ยังออกมาพูดทำนองว่าจริงๆ เกมฟุตบอลนั่นแหละที่ผิด เพราะมีช่องโหว่ว่า “ฟุตบอลไม่ใช่เกมที่เล่นด้วยเท้า แค่เป็นเกมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นด้วยมือ” สิ่งที่น่าเจ็บใจสำหรับแฟนฟุตบอลอังกฤษก็คือปีนั้นอาร์เจนตินาสามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศและชนะเยอรมนีตะวันตกจนคว้าแชมป์โลกสมัยที่สองได้เป็นผลสำเร็จ จึงยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลอังกฤษมากขึ้นไปอีก

จะเรียกว่านี่เป็นความน่าเกลียด ความสวยงามของการแข่งขัน อัจฉริยะส่วนบุคคลหรือเป็นความขี้โกง ผมก็บอกไม่ได้ คงแล้วแต่ใครจะนิยาม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือการที่คนชนะกลับกลายเป็นคนที่เล่นเกมแบบไม่ตรงไปตรงมา อย่างน้อยเกมนี้ก็บอกกับทุกคนว่าหากคุณฉลาดแกมโกงมากพอ คุณก็อาจประสบความสำเร็จแบบนี้ได้เช่นกัน  

การเมืองบ้านเราทุกวันนี้ก็เหมือนเกมฟุตบอลในวันนั้น กับการต้องทนดูเกมที่เห็นคนโกงแล้วกำลังจะชนะไปต่อหน้าต่อตา ช่างเป็นความรู้สึกแสนพะอืดพะอม ฝั่งที่ได้เปรียบอาจมองด้วยสายตาดูถูกไปถึงอีกฝั่งว่าอ่อนหัดไม่เก๋าเกม แต่อีกฝั่งก็มองว่าการชนะด้วยการโกงแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจและไม่เหมาะสมอีกแล้วกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง บางทีนี่เป็นภาพสะท้อนของการเมืองในประเทศที่ยังด้อยพัฒนา  

2

จอห์น บาร์นส์ (John Barnes) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อด้านกีฬา ‘GOAL’ ว่าผู้เล่นแบบดีเอโก มาราโดนา ซึ่งพื้นเพมาจากประเทศที่ยังมีปัญหาทางการเมือง บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยปัญหาสังคม และการสนับสนุนเรื่องการกีฬายังไม่พร้อม อาชีพนักกีฬาจึงไม่ใช่อาชีพที่ได้รับการสนับสนุน ความสำเร็จของนักกีฬามักผูกอยู่กับระบบอุปถัมภ์และพรสวรรค์ของตัวบุคคลมากกว่าการสร้างงานสร้างอาชีพที่เป็นระบบ ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ บาร์นส์บอกว่า “ความบ้า ห่าม มุทะลุและต้องการเอาชนะเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากแค้นเป็นแรงบีบคั้นให้นักฟุตบอลพร้อมทำอะไรคาดไม่ถึงได้เสมอ”

กรณีของมาราโดนาก็เช่นกัน เขามีคำอธิบายมากมายในการกระทำของเขา และยังเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ว่ากันว่าทันทีที่เขารู้ว่าลูกบอลเข้าไประตูไปแล้ว (และทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาทำแฮนด์บอล) เขายังตะโกนบอกเพื่อนร่วมทีมให้มากอดเขาและแสดงความยินดีเพื่อกลบเกลื่อนการทำผิดกติกาของตัวเอง

ปี 2019 ผู้กำกับหนังสารคดีมือรางวัล อซีฟ คาปาเดีย (Asif Kapadia) ได้ฤกษ์ฉายรอบปฐมทัศน์หนังสารคดี ‘Diago Maradona’ ที่อซีฟตัดต่อจากฟุตเทจความยาวกว่า 500 ชั่วโมง และยังไม่เคยออกฉายที่ไหนมาก่อน (แต่ตัวมาราโดนาเสียชีวิตในปี 2020) ใครที่เกิดทันยุคของเขา คงพอจะรู้ว่าชีวิตของมาราโดนามีสีสันขนาดไหน 

ตอนหนึ่งในสารคดี มาราโดนากล่าวไว้ว่า เขาจงใจใช้มือ แต่ไม่รู้สึกผิดเพราะไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเขาเอง แต่เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ เพราะเกมครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงสี่ปีหลังจากสงครามฟอล์กแลนด์ที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงดินแดน ‘Las Mavinas’ ระหว่างอังกฤษและอาร์เจนตินา ผู้เล่นหลายคนมีเพื่อนหรือญาติที่ถูกเกณฑ์ทหารอย่างน้อยก็ในฝั่งอาร์เจนตินาและน่าจะมีใครหลายคนเสียชีวิตจากสงครามในครั้งนั้น

มาราโดนายอมรับด้วยว่า การเอาชนะอังกฤษได้ในครั้งนั้นเป็น ‘ความรู้สึกที่สวยงาม’ และ ‘เป็นการแก้แค้นเชิงสัญลักษณ์’ สําหรับการสูญเสียดินแดน เขายังอ้างว่าเขาบอกเพื่อนร่วมทีมของเขาว่าเขาไม่รู้สึกละอายใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ผมพูดกับพวกเขาว่าคนที่ขโมยของจากขโมยมีสิทธิ์ได้รับการให้อภัย 100 ปี” มาราโดนากล่าว

ในรอบปฐมทัศน์ของการฉายสารคดีฯ ปีเตอร์ ชิลตัน ผู้รักษาประตูของอังกฤษในนัดนั้นถูกพูดถึงในสารคดีด้วย ทั้งยังได้รับคำเชิญเพื่อไปร่วมงาน แต่เขาตอบปฏิเสธและให้เหตุผลว่ายังคงรู้สึกขมขื่นกับความจริงที่ว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์การโกงที่ถูกพูดถึงที่สุดแห่งศตวรรษ และกล่าวว่า “ผมเห็นตำตา แต่ก็ไม่เคยได้รับคำขอโทษจากผู้ที่กระทำความผิด”

ตัดภาพมาที่การเมืองไทยซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เกมในสนามเลือกตั้งยังไม่จบ และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานในการต่อสู้ ไม่ใช่เพียงสัปดาห์หรือเดือน แต่อาจเป็นอีกหลายปีกว่าที่เรื่องราวทั้งหมดจะคลี่คลาย ก็เหมือนกับเกมฟุตบอลเช่นกันที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าสุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดจะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายใด 

ในท้ายที่สุด อดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็จริง แต่สิ่งที่เป็นเรื่องจริงพอกัน คือโลกเราเปลี่ยนทุกวันและไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เช่นกัน   

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save