fbpx
อยู่ในสังคมขี้โกง เราต้องโกงตาม?

อยู่ในสังคมขี้โกง เราต้องโกงตาม?

ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการยัดเงินตำรวจเวลาได้ใบสั่ง ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการทุจริตงบประมาณในโครงการของรัฐที่เห็นข่าวกันจนชิน หลายต่อหลายกรณีเป็นหลักฐานบอกกับเราตั้งแต่เด็กจนโตว่า ‘สังคมไทยน่ะ คอร์รัปชันมันกันทุกเรื่องนั่นแหละ อย่ามาโลกสวยทำตัวเป็นคนดีหน่อยเลย!’

 

พอเราจะทำตัวไม่ทุจริต ก็โดนมองว่าเป็นคนเด๋อๆ ที่ไม่รู้จักหาประโยชน์ใส่ตัวไปเสียอย่างนั้น!

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นกันเฉพาะในไทย หรือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในสังคมไทย มีการบ่มเพาะความคิดที่ว่า การโกงคือเรื่องปกติกันอยู่ไม่น้อย

 

งานวิจัยด้านจิตวิทยาในหัวข้อ “Who Doesn’t?” — The Impact of Descriptive Norms on Corruption จาก Free University Amsterdam เฉลยว่าอะไรเป็นหนึ่งในสาเหตุของนิสัยชอบคอร์รัปชันในตัวเรา โดยให้ผู้เข้าร่วมทดสอบลองเล่นเกมที่ให้ผู้เล่นเป็นหนึ่งในบริษัทที่กำลังจะเข้าร่วมประมูลงานจากรัฐบาล ซึ่งมีบริษัทคู่แข่งเข้าร่วมด้วย เป้าหมายของเกมคือต้องทำให้บริษัทของตัวเองชนะในแคมเปญประมูลนี้ โดยสามารถให้ ‘สินบน’ กับเจ้าหน้าที่รัฐได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการชนะ

ก่อนเริ่มเกม คำอธิบายสั้นๆ จะขึ้นมาบอกกับผู้เข้าร่วมการทดสอบว่าในสังคม (ของเกมที่พวกเขากำลังจะเริ่มเล่น) มองการยัดเงินใต้โต๊ะเป็นอย่างไร โดยมีทั้งคำอธิบายที่บอกว่า ในสังคมนี้มองว่าสินบนเป็นเรื่องปกติ หรืออีกอันคือบอกว่าไม่มีใครเค้าทำกันหรอก ตัวแปรควบคุมที่ว่าทำให้ผลการทดลองออกมาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากผู้เข้าร่วมทดลองได้รับการบอกเล่าว่า การคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ พวกเขาจะเลือกยัดเงินใต้โต๊ะ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกมบอกว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ทำกัน พวกเขาก็เลือกที่จะยัดเงินน้อยลง

การทดลองนี้ให้ข้อสรุปว่า พฤติกรรมการ ‘เลือก’ ที่จะคอร์รัปชันของมนุษย์ จึงขึ้นอยู่กับตรรกะที่ว่า ‘ถ้าทุกคนทำ ฉันก็ทำด้วยแล้วกัน’

ซึ่งไปสอดคล้องกับการทดลองในงานวิจัย Intrinsic honesty and the prevalence of rule violations across societies จาก University of Nottingham ที่ทดสอบความซื่อสัตย์ของผู้คนในแต่ละประเทศ เปรียบเทียบกับค่าดัชนีวัดระดับคอร์รัปชันของประเทศนั้นๆ โดยให้ผู้เข้าร่วมทอยลูกเต๋าสองครั้ง และบอกว่าทอยครั้งแรกได้เท่าไหร่ หากได้เลข 1-5 ก็จะได้เงินตามจำนวนเลขบนหน้าเต๋า (ถ้าได้ 6 จะไม่ได้เงิน) แต่ผู้วิจัยจะไม่รู้ว่าพวกเขาพูดเลขจริงหรือโกหก ดังนั้นถ้าผู้เล่นจะโกงด้วยการบอกเลขสูงสุด หรือบอกเลขจากการทอยครั้งที่สอง (ถ้ามากกว่า) ก็ย่อมทำได้

ผลปรากฎว่า ใน 23 ประเทศที่ผู้วิจัยเดินทางไปทดสอบ ทุกที่มีคนที่แอบขี้โกงหมด แต่ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีการแหกกฎและคอร์รัปชันสูง เช่นจอร์เจีย แทนซาเนีย และกัวเตมาลา ค่าเฉลี่ยของการบอกตัวเลขจากการทอยเต๋าที่ไม่ตรงกับความจริงก็มาขึ้นตามไปด้วย ต่างกับออสเตรีย สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ ที่มีอัตราการโกงน้อยมาก ผู้เข้าทดลองก็โกงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย ผลการทดลองนี้ทำให้เราสรุปได้ว่า หากเราอยู่กับสังคมที่มีการคอร์รัปชันสูง เราก็จะมีพฤติกรรมโกงมากขึ้นตามไปด้วย

พูดง่ายๆก็คือ หากสังคมโกง ผู้คนหน่วยย่อยก็จะโกงตามไปด้วย ฟังดูเหมือนจะไม่มีทางออกเอาเสียเลย แล้วอย่างนี้เราจะอยู่อย่างไรในประเทศที่มีแต่คอร์รัปชันล่ะ จะเป็นคนดี ไม่โกง ไม่คอร์รัปชัน มันไม่มีที่ยืนเลยหรือไงกัน?

คำตอบคือ ยังมีอยู่ แต่ต้องอยู่ให้เป็น!

 

องค์กรที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันส่วนใหญ่ มักตกอยู่ในวังวนของความคิดว่า ‘ใครๆ ก็โกง เราก็ต้องโกงด้วย’ เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองไปรอด แต่จริงๆ แล้วการเลือกที่จะยืนหยัดเป็นองค์กรที่โปร่งใสในดินแดนคอร์รัปชันให้ได้ คือการลงทุนเพื่อ ‘สร้าง’ โอกาสและชื่อเสียงให้กับธุรกิจอีกทางหนึ่ง

ในประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงอย่างอียิปต์ ซิมบับเว และอินเดีย หลายบริษัทเลือกที่จะมองต้นทุนในการทำตามระเบียบแบบแผน ไม่จ่ายสินบนเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า แต่การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ต้องแข็งแกร่งมาก สังคมนั้นจำเป็นต้องมีสื่อที่หลากหลายและมีศักยภาพ และเปิดกว้างในการรวมกลุ่มก้อนของประชาชน เมื่อมีองค์ประกอบครบและทำงานได้จริง ธุรกิจที่ไม่ยอมทำตามแนวคิดคอร์รัปชันของสังคมนั้นก็จะโดดเด่นออกมาจากคู่แข่ง กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจเติบโต

ข้อดีอีกอย่างของการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม คือมันจะกระตุ้นให้เหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งลูกค้าและนักลงทุน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นและถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะจริงๆ แล้วการเงียบของพวกเขาไม่ได้แปลว่าทุกคนจะพอใจ เพียงแค่ต้องการผู้ที่จะลุกขึ้นมานำการต่อสู้เท่านั้น

 

ซึ่งถ้าทำได้ นี่จะเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ทำให้ธุรกิจนั้นๆ เติบโตไปด้วย ในฐานะ ‘ผู้ริเริ่ม’ การสร้างสังคมให้ดีขึ้น!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง DESCRIPTIVE NORMS OF CORRUPTION OR “I BRIBE BECAUSE EVERYBODY ELSE DOES” ของ Nils Köbis จาก Anti Corruption Research Network

บทความเรื่อง Being an Ethical Business in a Corrupt Environment ของ S. Ramakrishna Velamuri, William S. Harvey และ S. Venkataraman จาก Harvard Business Review

บทความเรื่อง Corruption Corrupts ของ Ed Yong จาก The Atlantic, 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save