fbpx
ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ณ ห้องเล็กๆ ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ต้องขังหญิงกว่าสามสิบคนนั่งรวมกันบนพื้นเกือบจะเต็มห้อง บ้างนั่งจับกลุ่มพูดคุย บ้างนั่งพิงฝาผนังที่มีแผ่นกระดาษบรรจุลายมือ และรูปวาดแปะไว้ เนื้อหาบนกระดาษแต่ละแผ่นมีทั้งเรื่องความรู้สึก จิตใจ เรื่องเพศสภาวะ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ทุกข้อความและรูปวาดเป็นฝีมือของผู้ต้องขังในห้องเอง ห้องที่มีชื่อแช่มชื่นว่า ‘ห้องแฮปปี้’ พร้อมบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้นี้ ถูกใช้เป็นห้องเรียน สำหรับกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษในโครงการ ‘เรือนจำต้นแบบเชิงลึก’

เรือนจำต้นแบบเชิงลึก เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เรือนจำดำเนินกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูและเตรียมพร้อมสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่สอดคล้องกับลักษณะเชิงเพศภาวะ ผ่านระบบการผสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดกิจกรรมเสริมพลังผู้ต้องขังด้านจิตใจ เงิน งาน ธุรกิจ ตัวตน ชุมชน และอีกหลักสูตรที่จะเกิดขึ้นในห้องแฮปปี้วันนี้คือ การวางแผนธุรกิจและคิดแบบผู้ประกอบการ หรือ ‘SME เปลี่ยนชีวิต’

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

 

-1-

วิชา SME ไม่ใช่การจับวางสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ใส่ในหลักสูตรเพียงเปล่าๆ และไม่ได้เป็นการเรียนการสอนที่เกี่ยวโยงกับชีวิตหลังออกจากคุกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับที่มาของการกระทำผิด หรือชีวิตก่อนหน้าของผู้ต้องขังด้วย

จากการสำรวจพบว่า ปัญหาด้านการเงิน และการหาเลี้ยงครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญและมีสถิติสูงสุดที่ผลักให้ผู้ต้องขังเลือกกระทำความผิด ดังนั้นแล้ว การเรียนรู้การวางแผนธุรกิจ และสร้างวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ จึงเป็นความรู้ที่ทั้งจำเป็นและตอบโจทย์ ทั้งป้องกันและเยียวยาผู้ต้องหาในคราวเดียว

ทันทีที่การเรียนเริ่มต้นขึ้น วิทยากรประจำหลักสูตร SME เปลี่ยนชีวิต ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ก็ละลายเนื้อหาที่เข้าถึงยาก ด้วยการให้ผู้ต้องขังเล่นเกม ‘จำเลข’ เพื่อให้เข้าใจภาพง่ายๆ ของบทเรียน

เมื่อเลขกว่าสิบหลักปรากฏบนจอทีวีหน้าห้องเรียน ผู้ต้องขังที่จับกลุ่มกันเป็นทีมเล็กๆ ก็ส่งเสียงท่องจำกันระงม สายตาทุกคู่เพ่งไปยังจออย่างเอาจริงเอาจัง บ้างปิดหูไม่พูดไม่จากับใครเพื่อท่องตัวเลขเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด แต่ผลสรุปของศึกจำเลขรอบแรกก็ไม่มีใครจดจำตัวเลขได้จนครบ

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

บรรยากาศการแข่งขันถูกเร่งให้คึกคักขึ้นเมื่อวิทยากรเพิ่มแถวตัวเลขเข้าไปอีกสามแถว มีตัวเลขให้จำกว่าสี่สิบตัว คราวนี้ผู้ต้องขังแต่ละทีมเริ่มหันหน้าเข้าหากัน แบ่งหน้าที่ เธอจำแถวนั้น ฉันจำแถวนี้ นัดแนะยังไม่ทันเสร็จตัวเลขก็ปรากฏบนจอ พร้อมการจับเวลา

เมื่อเช็คคำตอบ ผู้ต้องขังแต่ละทีมก็ส่งเสียงอวดคะแนนของตัวเอง ซึ่งไม่ทิ้งห่างกันนัก ไม่มีใครจำตัวเลขได้ครบถ้วน แต่ก็มีผู้ต้องขังอยู่ทีมหนึ่งที่ได้คะแนนเกือบเต็ม จำเลขผิดไปไม่กี่ตัวจนวิทยากรต้องสอบถามวิธีการจำของทีมนี้

“แบ่งกันจำคนละเก้าตัว สามตัว บน กลาง ล่าง” ผู้ต้องขังในทีมคนแรกตอบ

“หนูชอบจำสามตัวท้าย (หัวเราะ)” อีกคนเสริมอย่างคึกคัก

วิธีการจำเลขบนล่างที่พูดล้อกันว่าคล้ายจำ ‘หวย’ ทำให้ทุกคนในห้องไม่เว้นแต่วิทยากรหัวเราะกับแผนที่แยบคายนี้ ในภายหลังวิทยากรเฉลยกิจกรรมนี้ไว้ว่า วิธีการต่างๆ ที่พวกเขาใช้ในเกมนอกจากจะสร้างความสนุกให้ทุกคนในห้องแล้ว ยังเชื่อมโยงกับบทเรียนในวันนี้ว่า การเริ่มต้นทำงานหรือกระทำการใดๆ ควรเริ่มต้นจากการ ‘วางแผน’ และออกแบบวิธีแก้ปัญหา เป็นพื้นฐานง่ายๆ ของการคิดแบบผู้ประกอบการ

“ทุกอย่างในชีวิตที่เราจะทำต่อไปนี้ อยากให้เริ่มต้นจากการวางแผน”

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

จบจากบทเรียนการวางแผน วิทยากรก็เริ่มสอนผู้ต้องขังเรื่องการเข้าใจปัญหาและเข้าใจลูกค้า ด้วยวิธีสนุกๆ เริ่มจากการเปิดฉากดังของภาพยนตร์  Wolf of Wall Street ฉากที่ตัวเอกของเรื่องท้าทายให้ผู้คน ‘ขายปากกา’ หนึ่งแท่งให้เขายอมซื้อ

เมื่อวิดีโอจบ ผู้ต้องขังได้รับโจทย์ท้าทายเดียวกันนี้จากวิทยากร หลายคนเริ่มคิดคำขายอย่างกระตือรือร้นเพื่อโน้มน้าวให้วิทยากรซื้อปากกาของตนให้ได้ “ปากกาแท่งนี้เขียนดี” “ปากกานี้เขียนแล้วรวย” หรือ “ปากกานี้เส้นเรียว เฟี้ยวฟ้าว”

บางคนพยายามใช้กลยุทธ์ว่าวิทยากรเป็นผู้ชาย ก็ต้องเอาสิ่งที่ผู้ชายน่าจะชอบมาขาย “ปากกานี้เขียนแล้วเท่” “เขียนแล้วมีแฟนสวย”

คำขายมากมายได้รับการคิดอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน  แต่คำตอบที่ถูกต้องกลับเป็นคำง่ายๆ จากผู้ต้องขังวัยสี่สิบคนหนึ่งที่เลือกถาม ดร.ณัฐนรินทร์ ว่า “ลูกค้าอยากได้ปากกาแบบไหนคะ”

เมื่อคำตอบที่ถูกต้องเฉลย ผู้ต้องขังหลายคนเริ่มร้องอ๋อ หมายมั่นปั้นมือว่าการขายคราวหน้าจะใช้วิธีเดียวกัน สอบถามความต้องการของลูกค้าก่อน ความเข้าใจแบบผู้ประกอบการถูกขยายภาพชัดขึ้น

“จะขายอะไร ต้องเข้าใจความต้องการหรือปัญหาของลูกค้า เข้าใจให้ลึกซึ้งก่อนค่อยไปคิดว่าจะขายสินค้าอะไร ไม่อย่างนั้นสินค้าดีแค่ไหน ก็อาจจะขายไม่ได้” ดร.ณัฐนรินทร์ พูดกับนักเรียนผู้ประกอบการของเขา

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

-2-

กิจกรรมยังดำเนินไปในรูปแบบเข้าใจง่าย แต่เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ต้องขังเริ่มเข้าใจวิธีคิดแบบ Design Thinking แล้ว วิทยากรก็เริ่มนำมาจับเรื่องธุรกิจมากขึ้น เริ่มจากให้ผู้ต้องขังแบ่งกลุ่มทำการวิเคราะห์ลูกค้า โดยให้แต่ละกลุ่มวาดรูปบุคคลที่ทุกคนในห้องรู้จัก เขียนอธิบายลักษณะของคนคนนี้ ทั้งลักษณะภายนอก บุคลิก ความชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อให้เข้าใจตัวตนของคนที่จะมาเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้ามากขึ้น เมื่อวิเคราะห์จบก็ออกมานำเสนอให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วร่วมกันทายว่าคนคนนั้นเป็นใคร ซึ่งบุคคลยอดฮิตที่แต่ละทีมเลือก ก็ไม่วนเวียนไปไกล เป็นเจ๊ใหญ่ พี่ๆ ของผู้ต้องขัง เป็นผู้คุมที่ทุกคนรู้จักคุ้นเคย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่จาก TIJ ที่คอยดูแลทุกคนในโครงการเรือนจำต้นแบบ

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ดร.ณัฐนรินทร์ ยังตัวอย่างง่ายๆ ของการทำธุรกิจด้วยเรื่องใกล้ตัวของผู้ต้องขัง เช่น การขายหมูปิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกองงานฝึกอาชีพที่ผู้ต้องขังหลายคนทำอยู่ในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อโยนโจทย์ว่าหากผู้ต้องขังต้องเปลี่ยนไปขายหมูปิ้งให้ผู้หญิงหุ่นดีวัยรุ่นจะทำอย่างไร ก็ได้คำตอบออกมาเป็นหมูปิ้งหลายรูปแบบ “แบบไร้มัน ไม่หวาน ผู้หญิงสวยต้องรักษาเชพ” ไปจนถึง “หมูปิ้งวาซาบิ วัยรุ่นชอบอะไรญี่ปุ่นๆ นะ”

ดูเหมือนว่าในความเข้าใจของผู้ต้องขัง ลักษณะของลูกค้าจะถูกนำมาผูงโยงกับสินค้าที่ต้องการ ค่อยๆ เป็นไปตามแนวทางของ SME เข้าทุกที แม้จะเป็นการเรียนครั้งแรก แต่ผู้ต้องขังก็พอจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ใหม่นี้ ดร.ณัฐนรินทร์ เล่าว่าการสอนเรื่อง Design Thinking เป็นจุดสตาร์ทของแนวคิดแบบผู้ประกอบการ ที่เน้นไปที่วิธีคิดและกระบวนการทำความเข้าใจลูกค้า

“รอบแรกในระยะเวลา 2 วัน เราจะสอนเรื่อง Design Thinking คือการออกแบบความคิด ปรับมายด์เซ็ตเขาก่อนว่า จะขายของเนี่ย ต้องเข้าใจลูกค้าก่อนจะพัฒนาสินค้า อย่างสิ่งที่เราใช้ยกตัวอย่างคือ การขายหมูปิ้ง ซึ่งหลายคนในนี้คุ้นเคย เราอยากทำให้เขาเห็นว่าต่อให้เป็นหมูปิ้ง แต่ถ้าเราเข้าใจลูกค้า เราก็ยังออกแบบหมูปิ้งที่ต่างไปจากเดิมได้นะ เป็นนวัตกรรมได้เลย”

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ดร.ณัฐนรินทร์ ยังไล่เรียงหลักสูตรคร่าวๆ ของ SME เปลี่ยนชีวิตในรอบต่อๆ ไปว่า หลังจาก Design Thinking หลักสูตรจะขยับไปเป็นเรื่อง Lean Business Design (การเขียนแผนธุรกิจฉบับย่อและกระชับ) โดยใช้ระยะเวลา 2 วันเช่นกัน เนื้อหาในส่วนของแผนธุรกิจฉบับย่อนี้ จะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาให้ลูกค้า แก้อย่างไร ด้วยวิธีอะไร ปัจจัยพื้นฐานของสินค้าที่ตนออกแบบคืออะไร และจะทำอย่างไรให้เกิดการสูญเปล่าน้อยที่สุด

“ในส่วนนี้เราจะมีกระบวนการทดสอบ โดยใช้คอนเซ็ปต์ของสตาร์ตอัพ ที่เรียกว่า Customer Problem Fit (การทดสอบความถูกต้องของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกับปัญหาของลูกค้า) คือ เขาจะออกแบบทำอะไรต้องแน่ใจว่า ลูกค้ากับปัญหา ตรงกันจริงๆ ไหม ไม่มโนขึ้นมาเองนะ หลังจากนั้นจึงเป็น Customer Solution Fit (การออกแบบสินค้าเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริง) ดูว่ามันเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการโดยไม่สูญเปล่าไหม ขั้นตอนนี้จะพยายามทำให้ทุกอย่างเป็น Zero Waste หรือสูญเปล่าน้อยที่สุด เป็นที่มาของคำว่า Lean Business Design

“หากผ่านขั้นตอนนี้ผู้ต้องขังจะได้ไอเดียที่เสร็จสิ้นว่า สุดท้ายสินค้าจะเป็นอะไร”

หลังจากนั้นการเรียนรอบที่ 3 จะเป็นเรื่อง Business Model Canvas (BMC) – การเขียนแผนธุรกิจอย่างละเอียดตามเทมเพลต 9 ขั้นตอน คือเมื่อคิดไอเดียสินค้าที่ตอบโจทย์แล้ว ผู้ต้องขังก็จำเป็นจะต้องรู้ว่ากระบวนการที่จะทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นสำเร็จเป็นอย่างไร ทั้งด้านการเงิน การตลาด และการประชาสัมพันธ์ ขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาทำกิจกรรม 2 วันเช่นกัน

“BMC (การเขียนแผนธุรกิจอย่างละเอียด) จะเป็นกระบวนการที่บอกว่า ถ้าเราจะทำหมูปิ้งวาซาบิ เราต้องใช้อะไรในการทำบ้าง จะต้องมีอุปกรณ์อะไร ต้องใช้ใคร และยังมีรายละเอียดที่เขาต้องใส่ใจหลายด้าน เช่น ด้านที่เกี่ยวกับพาร์ทเนอร์ ใครที่ต้องไปติดต่อ, ด้านการสื่อสารกับผู้บริโภค การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า, ด้านการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และด้านที่สำคัญมากคือ การเงิน ตรงนี้เราจะให้เขาคำนวณรายได้กับต้นทุน เพื่อเห็นภาพว่า ธุรกิจที่เขาคิดฝัน มันทำได้จริงไหม” ดร.ณัฐนรินทร์ อธิบาย

หลังจบรอบที่ 3 สิ่งที่รอผู้ต้องขังอยู่คือกระบวนการนำเสนอธุรกิจ วิทยากรจะให้ผู้ต้องขังคิดธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินทุนสูงขึ้นมา สอนการนำเสนอแผนธุรกิจให้น่าสนใจ แล้วให้แข่งกันขายไอเดียโดยเชิญนักธุรกิจจากพื้นที่ใกล้เรือนจำมาช่วยตัดสิน

“สมมติว่าออกไปแล้วต้องไปหานายทุนเขาจะทำอย่างไร ซึ่งเรามองภาพในหลายส่วน คนที่ผู้ต้องขังจะออกไปนำเสนออาจจะเป็นธนาคาร เป็นคนธรรมดา หรือพ่อแม่ก็ตามที แต่กระบวนการนำเสนอเป็นเรื่องจำเป็นทั้งนั้น คือนำเสนอยังไงให้เขาสนใจอยากทำ อยากจะลงทุนกับเรา”

ในขั้นตอนนี้วิทยากรจะเลือกผู้ต้องขังที่มีแผนธุรกิจน่าสนใจ และมีเงินรางวัลให้ผู้ชนะตามลำดับ โดยมีเงื่อนไขคือจะให้เงินรางวัลต่อเมื่อพ้นโทษออกจากคุกมา เพื่อให้เงินจำนวนนี้เป็นทุนก้อนแรกที่เขาใช้ดำเนินชีวิต

ดร.ณัฐนรินทร์ เล่าว่า ยังเคยมีโอกาสได้เจอผู้ต้องขังที่พ้นโทษที่ได้รางวัลจากการนำเสนอ เขาพบว่า เงินรางวัลและวิธีคิดแบบผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ต้องขังบางคนได้

“ตอนเจอกัน เขาเข้ามาบอกว่า หนูหางานทำได้ด้วยเงินตั้งต้นของพี่นะ เราก็รู้สึกว่าในจุดเริ่มต้นช่วงแรกๆ อย่างน้อยเงินตรงนี้อาจเป็นค่าอาหาร ค่านั่งรถไปสมัครงานให้เขาได้

“ส่วนใหญ่คนที่เข้ารอบนำเสนอ ก็คิดงานกันอย่างจริงจังเลย บางคนคิดธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวด หลากหลายมาก แต่โจทย์ของเราคือ ไม่ได้ต้องคิดธุรกิจใหญ่โต เราแค่ต้องการให้เขาเข้าใจวิธีคิดแบบ SME เข้าใจลูกค้า และเข้าใจวิธีคิดที่เหมาะกับยุคสมัยนี้”

-3-

ความท้าทายของหลักสูตร SME เปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่เพียงความยากของเนื้อหา แต่รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องขังจะออกไปทำธุรกิจของตัวเองด้วย เพราะผู้ต้องขังหลายคนอาจไม่มีทุนตั้งต้นเมื่อพ้นโทษไป ดร.ณัฐนรินทร์ ผู้เป็นวิทยากรก็เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ และอธิบายว่า หลักสูตรทั้งหมดในกิจกรรม นอกจากสร้างการเรียนรู้ในการเป็นนักธุรกิจด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทางเลือกในการเลี้ยงชีพแล้ว ยังเป็นทักษะที่สำคัญและใช้งานได้แม้จะเป็นลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอื่น

“ไม่ใช่ว่าเรียนคลาสนี้จบไปต้องเป็นนักธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่เลย ยกตัวอย่างการเรียนวันนี้ เรื่อง Design Thinking ถ้าเราไปอยู่ในภาคการค้าขาย ไปอยู่ฝ่ายขาย ไปเป็นลูกจ้าง เราก็ยังใช้วางแผนในการทำงานได้”

ดร.ณัฐนรินทร์ เล่าว่าผู้ต้องขังเรียนวิชานี้ด้วยหลายเงื่อนไข บางคนก็เรียนเพราะได้ความรู้ เรียนเพราะสนุก หรือได้เข้ามาฟังสนุกๆ ก็มี แต่วิทยากรและเจ้าหน้าที่โครงการจะพยายามพูดคุยกับผู้ต้องขังทุกครั้งว่า เรียนแล้วเป็นอย่างไร รู้สึกยังไงบ้าง อยากเรียนอยากรู้เรื่องอะไรอีก

และแม้ผู้ต้องขังหลายคนจะรู้ว่าออกไปอาจไม่ได้เป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเอง แต่ก็มีหลายคนสะท้อนเสียงว่าอยากจะเอาความรู้ในหลักสูตรนี้ไปบอกลูกหลาน

“แม่ๆ บางคนมองว่า หลักสูตรอะไร ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ดูจะเข้าใจยาก ไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่ได้ทำธุรกิจอยู่แล้ว หรือบางคนอายุเยอะก็อาจจะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่หลายครั้งคนในห้องเรียนเองนั่นแหละที่พยายามพูดคุยกันว่า เฮ้ย ก็เรียนเป็นความรู้ไง เอาติดตัวไป ไม่เสียหาย บางคนก็บอกว่า บางทีคุณแม่ไม่ได้ใช้ แต่เอาไปสอนลูกหลานได้นะ ซึ่งจริงๆ เราหวังอย่างนั้นเหมือนกัน”

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ในโจทย์ปัญหาเดียวกันนี้ น้ำ (นามสมมติ)  ผู้ต้องขังหญิงวัย 34 ปี ที่เป็นนักเรียนในห้องแฮปปี้และคลาส SME เปลี่ยนชีวิต ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนเข้ามารับโทษ เธอเคยมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายหมูปิ้ง เมื่อเข้ามาในเรือนจำแห่งนี้เธอก็ยังได้อยู่ในกองงานฝึกอาชีพขายหมูปิ้งอีก และการเรียนครั้งนี้ก็ทำให้เธอเริ่มคิดว่า จะออกไปขายหมูปิ้งเหมือนเดิม ด้วยความเข้าใจที่มากขึ้น

“ออกไปก็คิดว่าจะขายเหมือนเดิม แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเรียนเรื่องเข้าใจลูกค้าอะไรพวกนี้เลย”

เมื่อเอ่ยถามเธอว่าคิดว่าจะทำได้จริงไหม น้ำตอบด้วยท่าทีสบายๆ ว่า

“ไม่เคยคิดว่าจะทำไม่ได้ คิดว่าถ้าตั้งใจก็ทำได้ เราอาจจะไม่มีทุน แต่พอมีพื้นฐาน พอเห็นพื้นที่ เห็นคนที่จะขาย เช่น ในชุมชนหมู่บ้าน

“ตอนอยู่กองงานหมูปิ้ง เราทำกันหลายคน ของเราทำอร่อยอยู่แล้ว คิดว่าออกไปทำก็อร่อยกว่าหลายที่แน่นอน” น้ำเล่าถึงหมูปิ้งที่รสชาติไม่แพ้ใครของเธอ

ออกแบบชีวิต ลองคิดแบบผู้ประกอบการ : เปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง ด้วยวิชา SME

ตอง (นามสมมติ) เป็นผู้ต้องขังหญิงวัย 30 ปีอีกคนที่ตั้งใจเรียนตลอดทั้งวัน เธอจะคอยนั่งเรียนอยู่ข้างหน้าห้อง กระตือรือร้นตอบคำถามและเล่นเกมของวิทยากรเสมอ เธอเล่าว่าเคยรู้สึกไม่อยากมาเรียนและทำกิจกรรมในโครงการนี้ อยากจะทำงานในกองงานที่ได้เงินปันผลมากกว่า แต่เมื่อลงมาเรียนเธอกลับ ‘ติดใจ’ เพราะได้ความรู้ที่คิดว่าจะติดตัวออกไปใช้ข้างนอก

“ส่วนมากคนที่มาหลายคนก็ใกล้จะกลับบ้านแล้ว ตอนแรกก็ไม่อยากขึ้นมาเรียน กลัวเสียรายได้ที่เคยได้จากปันผลกองงาน ถ้าขึ้นมาเรียนจะได้ปันผลลดลง จาก 3,000 เหลือ 2,000 กว่า แต่พอขึ้นมาก็เริ่มไม่อยากทำงาน เพราะเรียนมันสนุก แล้วก็ได้ความรู้

“แรกๆ ทุกคนก็คงเป็นเหมือนกัน ไม่อยากจะเรียน แต่เรียนไปซักพักก็มีแต่จะถามว่า เมื่อไหร่จะมาสอนอีก”

ตองเล่าถึงบรรยากาศการเรียน และความตั้งใจเมื่อพ้นโทษว่า “บางวิชาก็ช่วยเรื่องความทุกข์ความเครียด บางวิชาก็ช่วยเรื่องอาชีพ มีความรู้ติดตัวกลับไปทำงานข้างนอก เราคิดตลอดว่าออกไปคงได้เอาไปใช้ อย่างบ้านเราเปิดร้านเสริมสวย ออกไปอาจจะรู้ว่าตรงไหนจะเอาใจลูกค้าได้”

เมื่อลองถามคำถามเดิม ถึงความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ หรือนำความรู้แบบ SME เปลี่ยนชีวิตไปใช้ ตองก็ทิ้งคำตอบสั้นๆ ที่เห็นทั้งความหวังและความมุ่งมั่นเอาไว้ ซึ่งเป็นคำตอบที่น่าจะสะท้อนความเป็นไปได้ของหลักสูตร SME เปลี่ยนชีวิตเช่นกัน

“มันก็ต้องลอง ใช่ไหม” เธอเอ่ยด้วยรอยยิ้ม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save