fbpx

Skywalk ทางเดินลอยฟ้ากับเจตนาที่เปลี่ยนผัน

จากกรณี ‘บาหลีน่าน’ ที่เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมถึงต้องไปก็อปปี้สถานที่ท่องเที่ยวของต่างประเทศ อย่างปุระเล็มปุยังที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ทั้งที่น่านก็มีของดีของตัวเองอยู่แล้ว ขณะที่เจ้าของบาหลีน่านตัดพ้อว่าสถานที่ท่องเที่ยวจำลองแห่งอื่นมีตั้งเยอะตั้งแยะกลับไม่ถูกตำหนิ ซึ่งก็จริงของเขา เช่น เชียงใหม่มี Hinoki Land เมืองญี่ปุ่นจำลอง หัวหินมี The Venezia สร้างเลียนแบบเวนิสของอิตาลี เขาใหญ่มี Toscana Valley ที่มีหอเอนปิซ่าจำลอง

นอกจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างเลียนแบบแล้ว การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในไทยนิยมอิงกับสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของต่างประเทศเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย (บ้านชายเขา จ.อุทัยธานี และ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์) แกรนด์แคนยอนเมืองไทย (เคยนับได้ร่วม 20 แห่ง เช่นที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่, อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี, แกรนด์แคนยอนคีรี จ.ชลบุรี) มัลดีฟส์เมืองไทย (เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล, เกาะพยาม จ.ระนอง, เกาะผ้า จ.พังงา ฯลฯ) กุ้ยหลินเมืองไทย (เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี) ไนแองการ่าเมืองไทย (น้ำตกแก่งโสภา จ.พิษณุโลก) คุนหมิงเมืองเลย (สวนหินผางาม) ฟูจิเมืองเลย (ภูป่าเปาะ) โอตารุเชียงใหม่ (คลองแม่ข่า) พระธาตุอินทร์แขวนเมืองแพร่ (พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์) ฯลฯ

ปรากฏการณ์การเลียนแบบทางการท่องเที่ยวไม่ได้มีแต่คำเรียกขานที่ยึดโยงกับสถานที่ชื่อดังในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามสร้างแลนด์มาร์กชนิดลอกตามกันมาด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สกายวอล์ก’ กลายเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างแลนด์มาร์กใหม่สำหรับใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะไปเยือน (อีกตัวอย่างหนึ่งที่นึกออกคือสตรีทอาร์ต) อนึ่ง สกายวอล์กในที่นี้มีความหมายค่อนข้างเฉพาะเจาะจง หมายถึงทางเดินกระจกบนที่สูง

เท่าที่ผมลองรวบรวมดูมีไม่ต่ำกว่า 12 แห่งแล้ว ซึ่งพบได้ในทุกๆ ภาคอีกด้วย

ชื่อเรียกที่ตั้งเปิดเมื่อหน่วยงานดูแลมีค่าใช้จ่าย (ค่ารองเท้า, ค่าเข้าชม,  ค่ารถรับ-ส่ง)จุดดึงดูด
1. สกายวอล์กวัดผาตากเสื้อวัดผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคายเมษายน 2559วัดผาตากเสื้อ/แม่น้ำโขง
2. มหานครสกายวอล์กอาคารคิง เพาเวอร์ มหานคร กรุงเทพฯพฤศจิกายน 2561คิง เพาเวอร์/กรุงเทพฯ
3. เขาแหลมสกายวอล์กเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีมกราคม 2563การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยXเขื่อนวชิราลงกรณ
4. สกายวอล์กเชียงคานพระใหญ่ภูคกงิ้ว อ.เชียงคาน จ.เลยกรกฎาคม 2563องค์การบริหารส่วนตำบลปากตม*/แม่น้ำโขง
5. สกายวอล์กเยอร์เวงป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลากันยายน2563ป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง (กรมป่าไม้)*/ทะเลหมอก
6. สกายวอล์กวัดเขาตะแบกวัดเขาตะแบก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีธันวาคม 2563วัดเขาตะแบก/เขาตะแบก
7. สกายวอล์กเมืองกาญจนบุรีท่าน้ำหน้าเมือง อ.เมือง จ.กาญจนบุรีกันยายน 2565เทศบาลเมืองกาญจนบุรี*/แม่น้ำแควใหญ่
8. สกายวอล์กเชียงแสนวัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงรายตุลาคม 2565วัดพระธาตุผาเงา/แม่น้ำโขง
9. สกายวอล์กวัดแสงแก้วโพธิญาณวัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงรายกุมภาพันธ์ 2566วัดแสงแก้วโพธิญาณ/พระศรีอริยเมตไตรยฯ
10. สกายวอล์ก​ภูแอ่นอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภูเมษายน 2566อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ*/เขื่อนอุบลรัตน์
11. สกายวอล์กวัดพระธาตุดอยเวาวัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงรายพฤศจิกายน 2566วัดพระธาตุดอยเวา/แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก
12. สกายวอล์กคีรีชัยยามะดอยสะเก็น อ.เมือง จ.เชียงรายธันวาคม 2566เทศบาลนครเชียงรายXเชียงราย
*: ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด

ข้อมูลข้างต้นไม่รวมถึงที่กำลังสร้างอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสกายวอล์กเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าภูผาใหญ่ (พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ) นอกจากจะมีระยะทางยาวที่สุดในประเทศถึงกว่า 500 เมตรแล้ว ยังเป็นสกายวอล์กแบบไม่มีเสาค้ำแห่งแรกอีกด้วย ริเริ่มและดำเนินการโดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง หรือ อพท.อู่ทอง และยังมีทางเดินลอยฟ้าที่ไม่ใช่พื้นกระจก ซึ่งกำลังสร้างในพื้นที่อื่นๆ เช่น Canapy Walk ที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ จ.เชียงใหม่ Tree Top Walk ที่สวนแม่ฟ้าหลวงบนดอยตุง 

แน่นอน หลายๆ พื้นที่มีแนวคิดจะสร้างสกายวอล์กเช่นกัน โดยมากเป็นความประสงค์ของผู้บริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่ยังผลักดันไม่สำเร็จ เช่น บึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น, หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ, โพนพิสัย จ.หนองคาย, ผาพญากูปรี จ.ศรีสะเกษ, เขาหนองยวน จ.ตรัง, เขาคอหงส์ จ.สงขลา, และมีหลายจุดใน จ.ภูเก็ต ทั้งที่แหลมพรหมเทพ เขาแดง และหาดสุรินทร์ เช่นเดียวกับ จ.สุราษฎร์ธานี พบข้อเสนอที่เกาะลำพูกับเขาสก

ข้อค้นพบที่ได้ในชั้นนี้ หนึ่ง สองหน่วยหลักที่สร้างสกายวอล์กแข็งขันคือ วัดกับสํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สอง กรณีแรกใช้เงินของวัดเองในการจัดสร้าง ส่วนกรณีหลังมักใช้งบพัฒนาของกลุ่มจังหวัด สาม แม้สํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ทว่าเมื่อสร้างเสร็จจะส่งมอบให้หน่วยอื่นเข้ามาดูแลต่อ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้นเป็นเขตรับผิดชอบของหน่วยใด และมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่

คำที่ใช้มักใช้เป็นชื่อโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองคือ ‘ทางเดินชมธรรมชาติยกระดับ’ (ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาเชี่ยวชาญการสร้างทางจักรยานทั่วประเทศ) แม้กรมโยธาฯ ไม่ได้มีภารกิจด้านการท่องเที่ยวโดยตรง แต่สามารถเข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคมีอำนาจมาก ทว่าที่ผ่านมา ท้องถิ่นเผชิญอุปสรรคในการผลักดันโครงการลักษณะเดียวกัน

ย้อนกลับมาที่ประเด็นความหมายของสกายวอล์ก วิธีหาความหมายดั้งเดิมของคำคำนี้อย่างเร็วๆ คือลองดูใน Wikipedia บอกว่าเป็นทางยกระดับที่เชื่อมต่ออาคารสองหลังขึ้นไป (ในเขตเมือง) หรือเชื่อมต่อระหว่างภูเขา (ในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ) มักอยู่ในรูปของสะพานที่มีทั้งแบบปิดและเปิด โดยสกายวอล์กในแหล่งท่องเที่ยวบนภูเขาระยะหลังนิยมทำแบบเปิดโล่ง และใช้พื้นเป็นกระจก คำที่ใกล้เคียงมีทั้ง skyway, skybridge หรือ sky walkway ในความหมายเดียวกัน สุดแท้แต่จะเรียก

สกายวอล์กมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 พบได้ในหลายเมืองของอิตาลีเวลานั้น ปัจจุบันเครือข่ายสกายวอล์กแบบต่อเนื่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ระยะประมาณ 15 กิโลเมตร

มีข้อสังเกตคือ สกายวอล์กในอเมริกามักเป็นของเอกชน จึงไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ (เช่นเดียวกับทางเท้า) ขณะที่สกายวอล์กในเอเชียส่วนใหญ่สร้างโดยรัฐ

เหตุผลสนับสนุนการสร้างมีหลายข้อ ทั้งเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายของคนเดินเท้า ลดความแออัดและเสียงรบกวนจากการจราจร ขณะที่ผลลบก็มี ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจแนวระนาบกับพื้นดินเสียหาย สร้างความยากลำบากให้แก่คนบางกลุ่มประเภท

พูดง่ายๆ สกายวอล์กมีหน้าที่ของมันอยู่ นั่นคือ เป็นทางเดินสัญจรประเภทหนึ่ง ใช่เป็นเพียงระเบียงกระจกที่ทำยื่นออกไปในอากาศเพื่อถ่ายรูป/ชมวิว

ถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงสะพานลอยฟ้า Henderson Waves ของสิงคโปร์ สร้างด้วยวัตถุประสงค์เชิงอรรถประโยชน์เป็นหลัก เพื่อใช้เป็นสะพานให้คนเดินข้ามถนน เชื่อมต่อสองสวนสาธารณะที่ตั้งบนภูเขาสองลูกเข้าด้วยกัน (จนกลายเป็นสะพานที่สูงที่สุดของประเทศ) เพื่อบอกว่าโดยตัวของมันเองไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว และไม่ได้เกิดความหวาดเสียวจากความสูง เพราะพื้นทำจากกระจกเท่านั้น

ในอีกแง่ เราเห็นการรับรู้ที่ต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯ (รวมถึงคนในเมืองใหญ่) กับคนต่างจังหวัด (โดยทั่วไป) เวลาพูดถึงสกายวอล์ก คนต่างจังหวัดมักนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีพื้นกระจกบนที่สูง ขณะที่คนเมืองกรุงไม่ได้คิดเช่นนั้น

ครั้งหนึ่ง กทม.เองมีแนวคิดที่จะสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า (Super Sky Walk) ความยาว 50 กิโลเมตร ใช้เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ แต่ด้วยใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท จึงถูกเสียงคัดค้านจนโครงการไม่ได้ไปต่อ กระนั้นก็ตาม เคยมีผลการวิจัยยืนยันว่าการลงทุนสร้างทางเดินลอยฟ้าในกรุงเทพฯ หลายๆ แห่งมีความคุ้มค่าทางสังคมในการลงทุนอย่างมิต้องสงสัย เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งที่มีส่วนสร้างเมืองให้เดินได้เดินดี อย่างน้อยๆ เพื่อทดแทนการขาดทางเท้าที่เหมาะสม

เมื่อไล่อ่านความเห็นของเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งเห็นภาพชัด

สำหรับมิตรสหายกรุงเทพฯ นอกจากสกายวอล์กจะเป็นทางเดินยกระดับแล้วยังถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ต้องไปเบียดบังทางเท้าและไม่ต้องลงถนนให้ลำบากรถรา โดยเฉพาะตรงหอศิลป์กรุงเทพฯ บริเวณสี่แยกปทุมวัน เนื่องด้วยมีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่สาธารณะอื่น

ขณะที่มิตรสหายเชียงใหม่มักใช้คำว่าสกายวอล์กเรียกทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารจอดรถสวนดอกพาร์คกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ที่เป็นทางยาวร่วม 1 กิโลเมตร มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่จอดรถ

นอกนั้นย่อมหมายถึงสกายวอล์กที่ปรากฏอยู่ในตารางดังกล่าว ซึ่งมีนัยของจุดชมวิวมากกว่า

คำถามคือ แล้วสกายวอล์กในแบบที่คนไทยคุ้นเคยมีที่มาจากไหน ถ้าจะตอบว่าเราน่าจะได้อิทธิพลมาจากจีนก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะกับสะพานกระจกจางเจียเจี้ยที่เชื่อมระหว่างยอดเขาสูงสองลูกในจีน ถือเป็นทางเดินลอยฟ้าที่ยาวและสูงที่สุดในโลก ด้วยความยาว 430 เมตรที่ความสูง 300 เมตร เปิดเมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559)

แน่ล่ะ ความแข็งแรงทนทานของพื้นกระจกเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจที่สุด อุบัติเหตุนักท่องเที่ยวตกจากสะพานพื้นกระจกในอินโดนีเซียเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับหลายประเทศที่กำลังเห่อสร้างสกายวอล์กแบบพื้นกระจกที่อาศัยความหวาดเสียวเป็นจุดขาย รวมทั้งไทย


ข้อมูลประกอบการเขียน:

  • https://en.m.wikipedia.org/wiki/Skyway
  • “สะพานพื้นกระจกแตก นทท.ร่วงพื้น ดับ 1 ศพ เจ็บ 1 รายที่อินโดฯ,” ไทยรัฐออนไลน์ (26 ตุลาคม 2566), จาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/2735672
  • กิตตินันท์ นาคทอง, ““สกายวอล์กพื้นกระจก” จุดขายใหม่ท่องเที่ยว?,” ผู้จัดการออนไลน์ (24 กันยายน 2565), จาก https://mgronline.com/columnist/detail/9650000091729
  • รำจวน เบญจศิริ, “ความคุ้มค่าทางสังคมของการลงทุนสร้างทางเดินลอยฟ้าในกรุงเทพมหานคร,” วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย, ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558), 77-106.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save