fbpx

สบตาจอร์จทาวน์ เดินเท้าท่องปีนัง

คอลัมน์ Sideway เรื่องเล่ารายทางและความหลากหลายของชีวิต

1

หลังผ่านยานพาหนะที่เจ็ดของวัน เราก็สบตากับจอร์จทาวน์ครั้งแรกตอนนั่งอยู่บนเรือเฟอร์รี ตึกและบ้านเรือนเรียงตัวสูงต่ำใต้เงาสีเข้มของเมฆ ถัดไปด้านหลังคือปีนังฮิลล์ที่ทอดตัวยาวคล้ายไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นภาพธรรมชาติซ้อนทับกับอาคารบ้านเรือนทันสมัย ฉากนี้ทำให้แผ่นดินกลางทะเลนามว่าเกาะปีนังสร้างแรงกระเพื่อมในหัวใจ ไม่ต่างจากน้ำทะเลสีครามที่ซัดอยู่ใต้ท้องเรือ

วิธีเดินทางมาปีนังมีหลายแบบ แต่ถ้าเราอยากได้ฉากเหมือนหนังฮอลลีวู้ดที่มีคนตะโกนว่า “นิวยอร์ก!” เมื่อเรือใกล้ถึงฝั่งอเมริกาหลังจากเดินทางมาแรมเดือน เราควรเลือกวิธีข้ามเรือจากฝั่งบัตเตอร์เวิร์ธมาสู่จอร์จทาวน์ แม้เราจะใช้เวลาบนเรือที่สะอาดและสบายเพียงแค่ 15 นาทีก็ตาม แต่การได้เจอเมืองใหญ่บนผืนดินกลางทะเลเป็นครั้งแรก ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์เสมอ – แต่นั่นหมายถึงว่าเราต้องผ่านแท็กซี เครื่องบิน รถยนต์ รถตู้ รถไฟ มาแล้วเกือบสิบชั่วโมงก่อนจะมาถึงตรงนี้ ซึ่งขอยกให้เป็นความอดทนส่วนบุคคล ใครจะเลือกบินตรงกรุงเทพฯ-ปีนัง ก็จะยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง

จอร์จทาวน์คือเมืองหลวงของรัฐปีนัง รัฐที่มีพื้นที่บนดินเล็กที่สุดเป็นอันดับสองของมาเลเซียคือ 1,046.3 ตารางกิโลเมตร พื้นที่แห่งนี้เล็กกว่ากรุงเทพมหานคร แต่ปีนังโอบอุ้มความหลากหลายและประวัติศาสตร์เอาไว้มหาศาล ปรากฏอยู่ทั้งบนรูปทรงอาคาร อาหารบนจาน และใบหน้าของผู้คน

ในฐานะเมืองท่าเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศสำคัญและเคยถูกอังกฤษปกครองยาวนานกว่า 170 ปี (1786-1957) ส่งผลให้ผู้คนหลายเชื้อชาติมุ่งหน้ามาสู่ปีนัง ทั้งมาค้าขาย รับจ้าง เรียนหนังสือ จนตั้งรกราก ปัจจุบันปีนังจึงเป็นส่วนผสมของคนหลายเชื้อชาติทั้งมลายู จีน และอินเดีย

เมื่อเรือถึงฝั่งจอร์จทาวน์ เราสองคน ปาณิสและวจนา – คนตัวเล็กสะพายกระเป๋าเป้ใบใหญ่ สวมรองเท้าคีนและเทวา ดูจากบนฟ้าก็รู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยว เดินสะโหลสะเหลลงจากเรือ หลังจากมอเตอร์ไซค์ครึ่งร้อยพุ่งทะยานออกจากเรือไปก่อนแล้ว (ใช่ – คนที่นี่เอามอเตอร์ไซค์ข้ามมาฝั่งเกาะปีนังด้วยการซื้อตั๋วข้ามเรือ)

สิ่งหนึ่งที่ดีของจอร์จทาวน์คือ เมื่อลงจากเรือแล้ว ไม่มีใครบุกมาหาเราแล้วพูดว่า “น้อง ไปไหนครับๆๆ” ทำให้เรามีเวลาตั้งตัว แวะซื้อน้ำที่ร้านขายของชำ และยืนเปิดกูเกิลแม็ปว่าจะไปถึงที่พักได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ในแอปฯ บอกว่าที่พักอยู่ห่างจากท่าเรือ 900 เมตร พวกเรานักสู้จึงตัดสินใจเดินเท้ามุ่งสู่ที่พักด้วยร่างกายที่โรยรา แต่ใจยังแข็งแรง

ก็อย่างที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมอมา คือรถยนต์ใหญ่สุดบนถนน และการมีสิทธิข้ามถนนอย่างปลอดภัยเป็นเรื่องของโชคชะตา แม้เสียงแตรจะไม่ได้ชุกชุมเหมือนที่เวียดนาม แต่คนปีนังก็ขับรถเอาแต่ใจใช่ย่อย ข้อสังเกตนี้ได้รับการยืนยันจากช่องติ๊กต็อกของคนมาเลย์เอง มีคอมเมนต์ที่คนกดหัวใจมากที่สุดบอกว่า “ที่ปีนัง ถ้าจะไปซื้อของ ก็ขับรถเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตได้เลย หรือถ้าจะไปส่งลูกเรียนหนังสือ ก็ขับขึ้นไปส่งหน้าห้องเรียนได้เลย”

การจิกกัดที่เรียกรอยยิ้มมุมปากได้นี้ อธิบายการจะเลี้ยวก็เลี้ยว การจะจอดก็จอดของรถในเมืองจอร์จทาวน์ได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้เราหวั่นไหวอะไร เพราะเราเป็นตัวแทนของบางกอกเกี้ยน เรื่องแค่นี้ไม่คณามือ

ถ้ามองจากภายนอก ปีนังมีความ ‘จีน’ มากกว่าความเป็นมลายู อาจเพราะคนจีนมีจำนวนมากและประกอบอาชีพที่เราเห็นได้ทั่วไป เช่น เปิดร้านอาหาร ขายของชำ ไปจนถึงช่างฝีมือ ระหว่างทางก่อนจะถึงที่พัก มีคุณตาเชื้อสายจีนคนหนึ่งนั่งยองๆ ใช้เครื่องตัดเหล็กที่มีสะเก็ดไฟกระเด็นออกมาขณะที่ปากคาบบุหรี่ไปด้วย เป็นภาพสะท้อนวิถีของชาวอาเซียนได้ครบจบในฉากเดียว นอกจากคุณตาคนนั้นแล้ว ระหว่างเดินผ่านห้องแถว เราจะพบผู้คนนั่งทอดหุ่ยอยู่หน้าบ้านตามสไตล์เมืองร้อน

แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเทียบแล้ว ปีนังเป็นเมืองที่เงียบ ถนนประหยัดเสียงแตร ตลาดขาดเสียงตะโกน และมีเสียงดนตรีดังเฉพาะบาร์ตรงถนนของนักท่องเที่ยวเท่านั้น

จอร์จทาวน์ถูกขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2008 ตลอดทางไปที่พัก เราพบห้องแถวโบราณติดกันเป็นกิโลฯ ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ที่ใช้ทั้งขายของและเป็นที่อยู่อาศัย บ้างเป็นปูนเปลือย บ้างทาสีตกแต่งโดยมีส่วนผสมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างหลากหลาย มีถนนตัดผ่านกลายเป็นบล็อก และขยายออกไปจนเป็นย่านเมืองเก่าขนาดใหญ่ จอร์จทาวน์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีจำนวนห้องแถวโบราณหลงเหลืออยู่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหตุที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ใช่แค่เพราะตึกแถวโบราณเท่านั้น แต่จอร์จทาวน์ยังมีหมู่บ้านชาวประมง มีท่าเรือ มีศาลเจ้า มัสยิด วัดไทย ป้อมปราการ และหอนาฬิกา ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคใต้อาณานิคมของอังกฤษ ประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองแฝงฝังอยู่ใต้คอนกรีตไร้ชีวิตเหล่านี้

เดินผ่านตึกแถวอย่างเพลินตาไม่นาน เราก็มาถึงเกสต์เฮาส์ในโซนเมืองเก่า ที่พักตั้งอยู่ในทำเลเงียบสงบ อยู่ตรงข้ามสวนสาธารณะ และมีมัสยิดอยู่ข้างๆ ตกแต่งสไตล์บูทีกและสะอาดสะอ้าน

หลังเก็บกระเป๋าและอาบน้ำชำระความเหนื่อยล้าจนหมดสิ้น เราเดินไปกินติ่มซำเป็นมื้อเย็น เลาะดูถนนจูเลีย ซึ่งเป็นสายหลักของบาร์และร้านอาหาร สุดท้ายซมซานกลับมาห้องพัก สลบไสลตั้งแต่ก่อนสี่ทุ่มด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ก่อนจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนตีห้ากว่าๆ เพราะเสียงละหมาดที่ดังสนั่นในห้อง

2

คำว่า ‘ดังสนั่นในห้อง’ ถ้าจะให้อธิบายอย่างตรงตัวกว่านั้นก็ต้องบอกว่า ดังเหมือนมีคนติดลำโพงไว้ในห้องและเสียงละหมาดดังออกมาจากลำโพงนั้น แม้ความจริงจะเป็นเพียงเสียงละหมาดที่ดังมาจากมัสยิดข้างๆ ก็ตาม ถึงอย่างนั้น เสียงละหมาดที่ลอยทะลุผ่านหน้าต่าง ผนัง และผ้าม่านเข้ามาถึงหูเรา ก็ไม่อาจทำอะไรสองบุคคลผู้เหนื่อยล้าสุดๆ ได้ เราจึงหลับต่อโดยมีเสียงละหมาดคลอไปอีกหลายนาที

แดดเช้าส่องทะลุผ้าม่านทำให้เราลืมตาตื่น ไม่มีสายชาร์จใดจะทรงพลังเท่าการนอนหลับ ถ้าเราอยู่ในหนังซูเปอร์ฮีโร ร่างกายก็คงมีแสงวาบออกมาจากตัวเพื่อแสดงว่าพร้อมสู้รบแล้ว

หลังอาบน้ำ ระหว่างเป่าผมให้แห้ง ฉันไพล่สายตาขึ้นไปเห็นลูกศรสีดำบนเพดาน มีตัวหนังสือเขียนว่า KIBLAT ที่หมายถึงทิศที่ชาวมุสลิมต้องหันหน้าไปในยามละหมาดและขอดุอาห์ ไม่ว่าจะสวดอยู่ที่ใดในโลก กิบลัตคือทิศที่มุ่งไปยังกะอ์บะฮ์ในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ฉับพลันนั้นก็เหลือบตาลงมาสังเกตพรมตรงพื้น จะเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากพรมเอาไว้ละหมาด ฉันเข้าใจในนาทีนั้นเองว่า เสียงละหมาดที่ดังขจรขจายจากมัสยิดเมื่อเช้านี้เป็นเสียงหลักที่เอาไว้ให้มุสลิมที่ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของเมืองได้นมัสการพระเจ้าไปพร้อมกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาในปีนังสะท้อนผ่านเสียงและภาพในชีวิตประจำวันเหล่านี้

เมื่อพร้อมแล้ว เราเดินอย่างหิวโซไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านขายลักซา (Laksa) ก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ดสไตล์เปอรานากัน ที่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับมลายูในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และทางใต้ของไทย ในฐานะบุคคลที่กินก๋วยเตี๋ยวสามมื้อในเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ขอยกให้ลักซาเป็นหนึ่งในก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยสุดยอด ร้านที่เราเลือกไปชื่อร้านว่า Penang Road Famous Laksa สะท้อนให้เห็นชัดว่ามีความตั้งใจและมั่นใจอย่างมากในการขายสิ่งนี้ ป้ายหน้าร้านมีตัวหนังสือตัวใหญ่บอกว่าร้านเปิดมาตั้งแต่ปี 1970 เราเดินเข้าไปด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าต้องอร่อยแน่ๆ โดยมีคุณป้าเจ้าของร้านเดินมารับออเดอร์ที่โต๊ะด้วยตัวเอง

เราถูกทักทายด้วยภาษาจีน เมื่อคุณป้ารู้ว่าเราพูดจีนไม่ได้และมาจากไทยแลนด์ จึงกวักมือเรียกพนักงานมารับออเดอร์แทน

“รับอะไรดีครับ” เสียงพูดไทยของเด็กหนุ่มชัดแจ๋ว เสียดายที่ร้านวุ่นวายเกินกว่าจะถามความเป็นมาของเขา

“ลักซาสองค่ะ” ฉันตอบ พร้อมชูสองนิ้วคอนเฟิร์มออเดอร์ “น้ำเปล่าสอง” ฉันสั่งต่อ พนักงานพยักหน้ารับ แล้วตะโกนสั่งต่อไปที่คนทำอาหาร

รอไม่นาน ลักซาสองชามก็วางลงตรงหน้าเรา น้ำแกงสีน้ำตาลแดง มีสับปะรดหั่น ใบสะระแหน่ หอมใหญ่หั่น ผักกาดหอม วางอยู่ด้านบนเส้น ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวสีใสเหนียวหนึบดูดน้ำแกงเอาไว้กับตัวนอนอยู่ในถ้วย จังหวะซู้ดเส้นและซดน้ำทำให้นึกถึงรสชาติของแกงส้มผสมกับมะม่วงน้ำปลาหวาน เมื่อหาข้อมูลเพิ่มจึงรู้ว่า ‘ลักซาเกาะปีนัง’ เป็นหนึ่งในประเภทของลักซาเปรี้ยว ส่วนผสมหลักใช้ปลาแมกเคอเรล และได้ความเปรี้ยวมาจากมะขาม

ลักซาเกาะปีนัง

ในภาพรวม ร้านอาหารในปีนังรันด้วยคนจีน มีอาหารแบบที่คนไทยคุ้นชินอยู่จำนวนมาก เช่น บะหมี่ ติ่มซำ ขนมปังปิ้งกับไข่ลวก ไก่สะเต๊ะ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีอาหารแบบมาเลย์ขายตามร้านห้องแถวและสตรีตฟู้ด เช่น ลักซาเลอมัก, นาซีเลอมัก, นาซีโกเร็ง ฯลฯ อยู่ด้วย หากเป็นตามร้านริมทาง อาหารในจอร์จทาวน์ไม่แพงมาก แต่ก็ไม่ถือว่าถูก

หลังอิ่มท้อง เราเตร็ดเตร่ไปทั่วเมือง ดูอาคารเก่า เข้าร้านหนังสือ หาซื้อกาแฟ และเดินแช่ที่หมู่บ้านชาวประมง ก่อนที่ฝนจะกระหน่ำลงมาจนเปียกปอนในช่วงบ่าย เราวิ่งหลบฝนเข้าไปที่ฟู้ดคอร์ตตรงหัวมุมถนนใกล้ๆ มีคุณป้าคนหนึ่งยืนสูบบุหรี่อยู่ด้านหน้าอย่างสบายอารมณ์ ฟู้ดคอร์ตตอนกลางวันเงียบเหงา มีร้านอาหารเปิดอยู่ประมาณ 4-5 ร้าน และมีร้านขายของชำ (aka เบียร์) เปิดอยู่

เมื่อเราเข้าไปเลือกนั่งที่โต๊ะ หลังสูบบุหรี่เสร็จป้าก็ล้างมือและเดินกลับมาประจำหน้าเตา ฉันเดินไปสั่งบะหมี่แบบเผ็ด ป้าถามย้ำว่า “เผ็ดใช่มั้ย” ฉันพยักหน้าอย่างมั่นใจ จะไม่ยอมให้ใครมาสบประมาทลูกขอนแก่นเด็ดขาด ระหว่างนั้นก็เดินไปซื้อเบียร์ที่ร้านขายของชำ เขาให้แก้วใบเล็กๆ มาสองใบ แม้อากาศปีนังจะร้อนไม่ต่างจากที่ไทย แต่คนที่นี่ไม่กินเบียร์ใส่น้ำแข็ง

ไม่นาน ป้าก็เอาบะหมี่มาเสิร์ฟ กินเข้าไปคำแรก ลูกขอนแก่นถึงกับน้ำตาไหล เข้าใจแล้วทำไมป้าถึงถาม แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นความเผ็ดที่อร่อย – ซัดเกลี้ยงจนหมดชาม

“ที่นี่มีดนตรีสด” เตย วจนา ผู้เชี่ยวชาญด้านกูเกิลแม็ปและการสอดส่ายสายตา พูดพลางเพยิดหน้าไปที่ป้ายด้านบน “สามทุ่มครึ่งถึงเที่ยงคืนครึ่ง ทุกวัน” เตยพูดต่อราวกับเป็นพรีเซนเตอร์ของศูนย์อาหาร

ฉันมองไปที่เวทีกลมยกระดับตรงกลางฟู้ดคอร์ตก็พอจะนึกภาพออก โดยไม่ต้องพูดอะไร เราเข้าใจตรงกันว่าคืนนี้มีนัดกลับมาที่นี่

เรากลับมาถึงที่นี่อีกครั้งตอนสามทุ่ม จากฟู้ดคอร์ตเงียบเหงาตอนกลางวัน กลายเป็นร้านอาหารขนาดหลายสิบโต๊ะที่เปิดเพลงคึกคัก โต๊ะด้านหน้าเวทีกว่าสิบโต๊ะมีป้ายจองวางเอาไว้ทุกโต๊ะ เราเดินไปแถวหลังๆ เลือกที่นั่งติดผนัง สั่งเบียร์มาสองขวด และรอ

คนที่มานั่งรอฟังดนตรี ส่วนมากเป็นคนเชื้อสายจีน บุคลิกแบบคนเมืองร้อนที่สวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะมาดื่มเบียร์

ความสบายๆ นั้นพอสูสี แต่ดูแล้วเรื่องกับแกล้มยังสู้ที่ไทยไม่ค่อยได้ ฉันแอบมองไปที่กลางโต๊ะของเหล่าชายหนุ่ม มีถั่วกับของทอดสองสามจานเล็กๆ เท่านั้น

เมื่อเวลางวดเข้ามา พนักงานจากร้านขายของชำเริ่มเดินเสิร์ฟเบียร์ให้ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ฉันค้นพบวิธีการทำให้เบียร์เย็นที่แตกต่างจากไทย คือเขาวางเบียร์ไว้ในกระติกน้ำแข็ง เมื่อจะดื่มค่อยรินใส่แก้วเล็กๆ แต่จะไม่ใส่น้ำแข็งลงไปในแก้วใหญ่แล้วรินเบียร์ตามลงไปแบบไทย – ข้อเสียเดียวของวิธีนี้คือทำให้ฉลากหน้าขวดเลื่อนเพราะเปียกน้ำ นอกนั้นแล้วนับเป็นความฉลาดยิ่งของมนุษย์เมืองร้อนที่อยากดื่มเบียร์

สามทุ่มครึ่งก็ถึงเวลาสำคัญ นักร้องสามคนเดินขึ้นเวที นักร้องหญิงคนหนึ่งสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวตัวโคร่ง กางเกงยีนส์ขาสั้น ใส่รองเท้าหนังส้นสูงสีดำยาวครึ่งข้อ ตัดผมซอยสั้น ดูแล้วเป็นการแต่งตัวที่เฟี้ยวฟ้าวที่สุดเท่าที่เห็นมาในจอร์จทาวน์ ดนตรีดังขึ้นจากลำโพง นักร้องสามคนสลับกันร้องเพลงภาษาจีน อังกฤษ และมาเลย์ มีการเต้นหมุนวนรอบเวที จนสามารถเล่นกับคนดูได้ทั้งศูนย์อาหาร บรรยากาศเหมือนมีคนมาร้องคาราโอเกะที่เพราะมากๆ ให้ฟัง จนกระทั่งดนตรีเริ่มกลายเป็นเพลงเร็วขึ้น แสงไฟในร้านก็ค่อยๆ หรี่มืดลง และมีแสงวิบวับจากไฟกลมกลางเพดาน ณ ตอนนั้นเองที่ศูนย์อาหารกลายเป็นผับอย่างสมบูรณ์

ไม่มีใครลุกขึ้นเต้น แม้เพลงจะสนุกมาก แต่หากดูจากแววตา พวกเขากำลังเพลิดเพลินอย่างที่สุดแน่ๆ – วิธีแสดงออกของคนเราไม่เหมือนกัน ฉันคิดเอาเองว่า ในเมืองปีนังที่เงียบและคนเรียบร้อยนี้ ถ้าจะมีสักที่ที่ดูปลดปล่อยที่สุดก็คงต้องนับรวมฟู้ดคอร์ตแห่งนี้ไปด้วย

คืนนั้นเราอยู่จนถึงเที่ยงคืน เดินกลับที่พักด้วยความคึกใจ แต่ไม่อาจเมามายไปมากกว่านี้ เพราะยังมีเรื่องราวอีกมากให้ไปเจอ

3

นอกจากความหลากหลายที่เล่ามาก่อนหน้านี้ ที่จอร์จทาวน์มีลิตเติ้ลอินเดียตั้งอยู่ เดินมาไม่ไกลจากย่านร้านอาหารจีนก็จะเจอย่านของคนอินเดีย

ฉันบรรลุขึ้นมาว่า เราสามารถใช้เวลาไม่ถึงห้านาทีในการเดินทางข้ามประเทศไปมาในเมืองแห่งนี้ เพราะเมื่อเข้าไปในโซนลิตเติ้ลอินเดีย ทั้งผู้คน ร้านอาหาร สีสัน รูปแบบอาคาร หรือแม้แต่ตัวหนังสือก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

คนอินเดียทั้งชายหญิงเดินสวนกันขวักไขว่ในตรอกที่ขายดอกไม้สด ผงสี ซาโมซ่า เสื้อผ้า ไปจนถึงประทัด เสียงเพลงอินเดียดังออกมาจากร้านค้า ความคึกคักอยู่ในอีกระดับจากย่านอื่นๆ อาจเพราะช่วงนี้เป็นวันดิวาลี (Diwali) หรือวันปีใหม่ของอินเดีย พวกเขาจึงออกมาเดินเล่น เฉลิมฉลอง และซื้อดอกไม้ ที่น่าสนุกคือมีการตั้งซุ้มเพนต์เฮนน่าหลายซุ้ม หญิงสาวหลายคนต่อคิวเพื่อรอแต้มลายบนหลังมือตัวเอง

เราเดินซึมซับบรรยากาศ มือของทุกคนถือถุงดอกไม้ มีป้ายคำว่า Happy Diwali ติดอยู่หลายป้ายในถนนคนเดินแห่งนี้ เราแวะซื้อซาโมซ่าไก่ที่อร่อยที่สุดในชีวิตมาแบ่งกันกิน และไปแวะนั่งพักที่บาร์แห่งหนึ่งบนถนนจูเลียในช่วง happy hour มีพนักงานเชื้อสายอินเดียมาต้อนรับ เขาแนะนำเบียร์สดให้เราคนละแก้ว และนำมาเสิร์ฟอย่างชำนาญ มีคู่รักฝรั่งนั่งเล่นเกมไม้เจงก้าอยู่อย่างหวาดเสียว ป้ายไฟเลื่อนในร้านก็ยังมิวายเขียนว่า Happy Diwali!

ก่อนหน้าจะมานั่งพักที่บาร์นี้ เราเดินเท้าไปทั่วเมือง เริ่มต้นจากสุสานชาวโปรเตสแตนต์บนถนนนอร์แทม ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของหลุมศพบุคคลสำคัญหลายคน หนึ่งในนั้นคือโทมัส เลียวโนเวนส์ สามีของแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้เขียนหนังสือ The English Governess at the Siamese Court (มติชนตีพิมพ์ฉบับแปลในชื่อ อ่านสยามตามแอนนา: การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ) ที่เรื่องราวของเธอเป็นต้นแบบไปสู่นิยายเรื่อง Anna and the King of Siam และบทละครเรื่อง The King and I

สุสานตั้งอยู่อย่างเงียบสงัด ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านปกคลุมหลุมศพ หญ้าได้รับการดูแล เห็นได้จากถูกตัดสั้นไม่รกเรื้อ เพียงแต่หลุมศพอยู่กระจัดกระจาย หันหน้าคนละทิศทาง และมีขนาดรูปทรงแตกต่างกันไป ถ้าดูจากชื่อบนหลุมศพ ส่วนมากเป็นชาวอังกฤษ มีตั้งแต่ผู้ว่าการเกาะไปจนถึงข้าราชการชาวอังกฤษที่มาอยู่ปีนังในช่วงอาณานิคม ซึ่งแม้หลุมศพจะได้รับการดูแล แต่ก็ไม่อาจป้องกันยุงที่บินชุมอยู่ทั่วบริเวณ เพราะเหตุนี้เราจึงอยู่ที่นั่นได้ไม่นานนัก

ถนนนอร์แทมเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่งในประวัติศาสตร์ของปีนัง หากดูตามทำเล ถนนเส้นนี้อยู่เลียบทะเลและจะไปบรรจบกับถนนไลต์ที่ท่าเรือใหญ่และศาลาว่าการเมือง หากจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับไทยบ้างคือมีบ้านของตระกูล ณ ระนอง คหบดีที่ร่ำรวยจากการทำเหมืองแร่ดีบุกในระนอง ก่อนหน้านั้น ‘คอซูเจียง’ ต้นตระกูล ณ ระนอง อพยพจากจีนมาทำสวนผักที่ปีนัง ก่อนจะขยับขยายไปพังงาและระนอง ปัจจุบันบ้านของตระกูล ณ ระนองกลายเป็นที่ตั้งของหอศิลปะและโรงละครชื่อ ‘เดวัน ศรีปีนัง’ ตั้งอยู่บนถนนไลต์

ร่องรอยของตระกูล ณ ระนองในอดีตเหลือเพียงเรื่องเล่าในภาพถ่ายเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น บรรยากาศของอาคารบนถนนนอร์แทมก็ชวนให้นึกถึงภาพสมัยก่อนที่ผู้คนค่อยๆ ขยายเมืองจากท่าเรือเข้าไปด้านหลังลึกขึ้น จนกลายเป็นเมืองใหญ่ในปัจจุบัน

4

ในวันก่อนกลับ เราขึ้นรถเมล์มุ่งหน้าไปที่วัดปิ่นบังอร วัดไทยในปีนัง ซึ่งเป็นที่อยู่ของอนุสรณ์สถานของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ผู้เคยมาลี้ภัยที่ปีนังตั้งแต่ปี 2476 และเสียชีวิตที่นี่เมื่อปี 2491 มีการบรรจุศพที่วัดปิ่นบังอร ก่อนที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะนำร่างกลับไปทำพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดวัดมกุฏกษัตริยารามในปี 2492

วัดปิ่นบังอรตั้งอยู่ไกลออกมาจากย่านเมืองเก่า ป้ายวัดเป็นชื่อภาษาไทย ทันทีที่มองเห็นป้ายทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และยิ่งรู้สึกเหมือนอยู่บ้านกว่านั้น เมื่อเราเดินถึงหน้าประตูวัดแล้วได้ยินเสียงกลองยาวและฉาบ อันเป็นเสียงที่ไม่เคยปรากฏในจอร์จทาวน์เลยตลอดหลายวันที่ผ่านมา เมื่อเดินเข้าไปในวัด เห็นรถจอดอยู่หลายสิบคัน ผู้คนหลายสิบชีวิตกำลังฟ้อนรำอยู่ในขบวนกลองยาว โดยไม่ต้องมีใครบอกก็รู้ว่ากำลังมีงานบุญ

ถัดลึกเข้าไปหลังกุฏิ ตรงริมกำแพงวัด มีสวนร่มรื่นที่รกร้าง บริเวณที่ยุงชุกชุมตรงนั้นเองคือที่อยู่ของอนุสรณ์สถานพระยามโนฯ เป็นแท่นปูนตั้งอยู่อย่างเงียบเชียบ มีตัวหนังสือภาษาไทยสลักด้วยสีทองเขียนชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) และวันชาตะ-มรณะ ไว้ด้านหน้า สีตัวหนังสือยังคมชัด ไม่ลอกเลือน

เราเดินออกจากบริเวณอนุสรณ์ฯ ผู้คนยังคงฟ้อนรำกันอยู่หน้าศาลาวัด เราเดินข้ามสะพานลอยเพื่อหากาแฟดื่ม ฉันพกหนังสือ อ่านสยามตามแอนนา ไปอ่านด้วย ส่วนเตยอ่านลาม็องต์ (L’amant) ของมาร์เกอริต ดูราส ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยบังเอิญ เรื่องที่เราอ่านมีความเกี่ยวข้องกับปีนังหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคอาณานิคม

พอใกล้เย็น เราเดินทางกลับมาที่บาร์เดิมบนถนนจูเลียในช่วง happy hour พนักงานเชื้อสายอินเดียคนเดิมเดินยิ้มออกมาต้อนรับ วันนี้เขาหวีผมเรียบแปล้ ใช้เจลจัดทรงอย่างดี สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพูเลื่อมมีลายแบบอินเดีย ดูก็รู้ว่าวันนี้เป็นวันพิเศษสำหรับเขา

“เสื้อสวย” ฉันทักตอนที่เขาเอาเบียร์สดมาเสิร์ฟที่โต๊ะ

“ดิวาลี!” เขาตอบรับเสียงสดชื่น

“วันปีใหม่ของคุณนี่ ใช่ไหม” ฉันถามกลับ

“ใช่” เขายิ้มรับ

“สุขสันต์วันดิวาลี” ฉันพูดแล้วยิ้มให้ เขาขอบคุณถึงสองครั้ง แล้วเดินกลับไปหน้าร้าน ยืนคุยกับเพื่อนคนอินเดียอย่างสบายอารมณ์ และรอรับลูกค้าอย่างคนอารมณ์ดี

เรานั่งอยู่จนมืดค่ำ เดินเตร็ดเตร่ในเมือง และกินอาหารข้างทางร่วมกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ

ค่ำคืนนั้น เสียงพลุดังยาวนาน แตกกระเซ็นเป็นแฉกสายบนเกาะที่เงียบขรึมเช่นปีนัง – พลุนั้นถูกจุดเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลของคนเชื้อสายอินเดีย แต่ความสุขที่กระจายอยู่บนท้องฟ้าปีนังเป็นของทุกคน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save